ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย

3
สิงหาคม
2565

ตอนที่ 2 

ส่วนที่ 4 

การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย 

 

4.1 

จิตสำนึกของคนไทยส่วนมากที่ประสบแก่ตนเองและที่ทราบว่าชาติถูกญี่ปุ่นรุกราน

ส่วนมากของคนไทยรักชาติซึ่งอยู่ในประเทศไทยที่ประสบแก่ตนเองว่าชาติถูกญี่ปุ่นรุกรานก็ดี และส่วนมากของคนไทยรักชาติซึ่งอยู่ในต่างประเทศที่ทราบว่าชาติไทยถูกญี่ปุ่นรุกรานก็ดีนั้น ย่อมเกิดจิตสำนึกที่จะต่อสู้ผู้รุกรานเพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติ

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าประชุม ค.ร.ม. ตอนบ่ายของวันที่ 8 ธ.ค. กองทหารญี่ปุ่นจากพระตะบองก็ได้เคลื่อนเข้ามากรุงเทพฯ แล้ว ในคณะ ร.ม.ต. ได้บันทึกไว้ซึ่งข้าพเจ้าได้นำลงพิมพ์ไว้ใน ส่วนที่ 2 นั้น เมื่อเสร็จดังปรากฏความที่รายงานการประชุม ค.ร.ม. เวลา 17.55 น. แล้ว ข้าพเจ้าได้นั่งรถยนต์กลับบ้านสังเกตเห็นประชาชนไทย 2 ฟากถนนได้ยืนชุมนุมกันอยู่เป็นจำนวนมากด้วยน้ำตาไหลอันเป็นสภาพตรงกับที่หนังสือพิมพ์อเมริกัน Washington Times Herald (วอชิงตันไทมส์ ฮีราลด์) ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. ได้ลงพิมพ์จากรายงานของผู้สื่อข่าว น.ส.พ. นั้นที่ได้เล็ดรอดออกจากประเทศไทยส่งไปให้ มีความดังต่อไปนี้

                    “The Thailanders, shocked by news of the surrender, wept as they stood dazed in the streets.”

แปลเป็นไทยว่า

                    “ชาวไทยได้ทราบข่าวยอมจำนนญี่ปุ่นด้วยความตกตะลึง และพากันยืนงงงันในถนนด้วยน้ำตานอง”

 

เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก), นายสงวน ตุลารักษ์, นายจำกัด พลางกูร, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อุดล, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) ฯลฯ เพื่อนที่มาพบนั้นก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเองและของราษฎรส่วนมาก ที่ได้ประสบเห็นภาพที่กองทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นทหารต่างด้าวได้เข้ามารุกรานประเทศไทย และการที่ราษฎรไทยได้หลั่งน้ำตานั้น มิใช่เพราะความขลาดหรือกลัวตาย หากหลั่งน้ำตาเพราะ “เจ็บใจ” และ “แค้นใจ” 

ที่ว่า “เจ็บใจ” นั้นก็เพราะถูกต่างชาติรุกราน ที่ว่า “แค้นใจ” นั้นก็เพราะรัฐบาลไม่ทำตามที่ได้โฆษณาเรียกร้องทั้งทางหนังสือพิมพ์และทางวิทยุกระจายเสียงให้ราษฎรเสียสละต่อสู้ผู้รุกราน คือ เมื่อสู้ทางอาวุธไม่ได้ ก็ให้เผาอาคารบ้านเรือน ยุ้งฉางก่อนที่ศัตรูเข้ามารุกให้เหลือแต่ผืนดินเท่านั้นที่ศัตรูจะยึดเอาไปได้ ดังที่รัฐบาลตั้งคำขวัญว่า “ให้ศัตรูยึดได้แต่ปฐพี” อีกทั้งโฆษกของรัฐบาลโฆษณาให้ใช้อาวุธทุกชนิดที่พลเมืองมีอยู่ เช่น ปืน, ดาบ, หอก, หลาว, ฯลฯ รวมทั้งสัตว์และพืชที่มีพิษ เช่น งู, ตะขาบ, แมลงป่อง, ฝักหมามุ่ย ฯล ฯ (ผู้ที่มีชีวิตอยู่ปัจจุบันนี้ซึ่งฟังวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลสมัยนั้นคงระลึกถึงได้) แต่เมื่อถึงคราวญี่ปุ่นรุกรานเข้ามาจริงๆ ทหารตำรวจและราษฎรที่ชายแดนก็ได้พร้อมกันเสียสละชีวิตต่อสู้ญี่ปุ่นแต่รัฐบาลก็ยอมญี่ปุ่นโดยไม่ทำตามที่ตนชักชวนเรียกร้องให้ราษฎรต่อสู้

เพื่อนที่ร่วมปรึกษาหารือขณะนั้นเห็นว่าราษฎรไม่อาจหวังพึ่งรัฐบาล ว่าจะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยให้สมบูรณ์อยู่ได้ คือ จะต้องยอมตามคำเรียกร้องของญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งนำประเทศชาติเข้าผูกพันกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว

เมื่อได้ปรึกษาหารือกันพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติเพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป



4.2

ภารกิจ 2 ด้านขององค์การต่อต้านญี่ปุ่น

องค์การฯ มีภารกิจที่จะต้องปฏิบัติ 2 ด้าน ประกอบกันคือ

(1) ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังของคนไทยผู้รักชาติ และร่วมกับสัมพันธมิตรสมัยนั้น

(2) ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่า เจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร

ภายหลังที่รัฐบาลซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามและก่อสถานะสงครามต่อสัมพันธมิตรแล้ว ภารกิจขององค์การด้านนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นว่า “ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามและการผ่อนหนักเป็นเบา”

ถ้าต่อสู้ญี่ปุ่นทางอาวุธด้านเดียวโดยไม่ทำความเข้าใจกับสัมพันธมิตร ประเทศไทยก็จะถูกสัมพันธมิตรถือว่าเป็นศัตรูต่อเขา อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นฝ่ายแพ้สงครามได้ แต่ถ้าจะใช้เพียงคำพูดเจรจากับสัมพันธมิตรด้านเดียวโดยไม่มีการปฏิบัติทางอาวุธต่อญี่ปุ่นภายในประเทศไทย สัมพันธมิตรก็คงไม่ยอมให้ฝ่ายไทยใช้เพียงคำพูดแก้ปัญหาที่ไทยเข้าพัวพันในสงครามนั้นได้

 

4.3

วินัยและการระมัดระวังตัวของสมาชิกภายในประเทศไทย

ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย และผู้ที่เป็นสมาชิกของขบวนการนี้ต่อไปนั้น ระลึกอยู่เสมอว่าการปฏิบัติงานจะสำเร็จได้และไม่เกิดความเสียหายแก่องค์การนั้น ก็จำเป็นที่ผู้ก่อตั้งและสมาชิกทุกคนต้องรักษาความลับและปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด และป้องกันศัตรูมิให้ทำลายขบวนการได้ โดยขอให้คำนึงอยู่เสมอว่า เขตปฏิบัติการของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทยนั้น คือ ดินแดนของประเทศไทยที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นและของรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เพราะกองทหารญี่ปุ่นที่รุกรานเข้ามาในประเทศไทยนั้น มิได้มีแต่ทหารหน่วยรบและหน่วยพลาธิการของญี่ปุ่นเท่านั้น หากญี่ปุ่นได้มีหน่วยสารวัตรทหารพิเศษซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า “เคมเปไต” อันมีลักษณะเช่นเดียวกับที่สารวัตรทหารพิเศษของฮิตเลอร์เยอรมันที่เรียกว่า “เกสตาโป” สารวัตรทหารพิเศษนี้มีอำนาจจับคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูกับญี่ปุ่นไปกักขังทรมานและเข่นฆ่าได้ ดังที่ญี่ปุ่นเคยทำมาแล้วในดินแดนจีนที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น

นอกจากนั้น สารวัตรทหารไทยและตำรวจไทยที่ยังมิได้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านของเรานั้น ก็เอาใจใส่ที่จะปราบปรามบุคคลที่กระทำการหรือสงสัยว่าเตรียมการต่อต้านญี่ปุ่นอันเป็นผิดความประสงค์ของรัฐบาลไทย บุคคลเหล่านั้นก็อาจถูกสารวัตรทหารหรือตำรวจไทยจับกุมไปคุมขังไว้ได้ ฉะนั้น ตราบใดที่สมาชิกองค์การต่อต้านยังคงอยู่ในวงล้อมของญี่ปุ่นและของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของญี่ปุ่นดังกล่าวนั้น ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการโดยวิธี “อำพราง” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Cover Story”

แต่ถ้าเมื่อใดองค์การสามารถยึดพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ได้แล้วตั้งรัฐบาลต่อต้านขึ้น ผู้ที่ไปร่วมกับรัฐบาลต่อต้านญี่ปุ่นก็ไม่ต้องอำพรางประการใด คือ ต่อสู้ญี่ปุ่นได้โดยเปิดเผยและประกาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ และสนับสนุนรัฐบาลต่อต้านได้อย่างเปิดเผย

ถ้าสมาชิกองค์การฯ ผู้ใดได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการขององค์การฯ ให้ไปปฏิบัติในประเทศสัมพันธมิตร และให้ปฏิบัติการเปิดเผยในดินแดนสัมพันธมิตรนั้นได้แล้ว สมาชิกดังกล่าวก็พ้นจากการคุกคามของ “เคมเปไต” หรือ “เกสตาโป” ญี่ปุ่นหรือของสารวัตรทหารและตำรวจไทยส่วนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลญี่ปุ่นได้

 

4.5

แผนการยึดภาคเหนือเพื่อตั้งรัฐบาลต่อต้านญี่ปุ่น

เมื่อผู้ที่มาประชุมก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ได้ปรึกษาสนทนาทำความเข้าใจดังกล่าวมาแล้วในข้อ 4.4.1 และ 4.4.2 ข้าพเจ้าได้ขอให้ทุกท่านกลับไปบ้านและช่วยกันพิจารณาสถานการณ์, ความรู้สึกนึกคิดของราษฎรโดยทั่วไป และใช้ความคิดแล้วปรึกษาหารือกันต่อไป

ปิดประชุมเมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคมนั้น

ข้าพเจ้าขอให้ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นนายช่างใหญ่กรมทางและเป็นผู้กว้างขวางในภาคเหนือ (มารดาภรรยาเป็นเจ้าแห่งตระกูลเจ้าเชียงราย) นั้น ปรึกษาหารือกับข้าพเจ้าต่อไปถึงความเหมาะสมที่องค์การต่อต้านจะยึดภาคเหนือ เพราะมีหลังยันกับพม่าของอังกฤษสมัยนั้น ม.ล.กรีฯ เห็นชอบด้วยจึงแนะนำว่า เราต้องรีบยืดชุมทางรถไฟที่ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) ไว้ให้ได้ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยึด ส่วนทางรถยนต์สายเหนือสมัยนั้นก็มีเพียงไปถึงสระบุรีและลพบุรีเท่านั้น

ขณะที่ข้าพเจ้าปรึกษากับ ม.ล.กรีฯ อยู่เกือบ 24.00 น. ของวันที่ 8 ธ.ค. นั้น นาวาอากาศเอก กาจ เก่งระดมยิง (หลวงกาจสงคราม) ได้มาที่บ้านข้าพเจ้าขอพบเป็นการด่วน ข้าพเจ้าจึงให้ ม.ล.กรีฯ หลบอยู่ในห้องหนึ่ง แล้วข้าพเจ้าก็พบกับ น.อ.อ.กาจฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อการฯ 24 มิถุนายน น.อ.อ.กาจฯ กราบข้าพเจ้าแล้วกล่าวว่าเขามองไม่เห็นใครแล้วที่จะช่วยชาติได้ เขาขอปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อข้าพเจ้าและขอปฏิบัติตามคำสั่งของข้าพเจ้าที่จะกอบกู้เอกราชของชาติไทย 

ครั้นแล้วเขาได้เสนอว่าเขาพร้อมแล้วที่จะใช้ทหาร 1 กองร้อยนำข้าพเจ้ากับเขาและเพื่อนที่ไว้ใจได้ออกเดินทางจากกาญจนบุรีเข้าไปในเขตพม่าของอังกฤษสมัยนั้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นต่อต้านญี่ปุ่น เขาหวังว่ารัฐบาลอังกฤษคงให้ความสนับสนุน ข้าพเจ้ากล่าวขอบใจ น.อ.อ.กาจฯ แล้วชี้แจงกับเขาว่า การที่จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในพม่านั้นยังไม่ถึงเวลา เพราะเราอาจจะตั้งรัฐบาลต่อต้านญี่ปุ่นได้ในดินแดนของเราเองโดยเฉพาะในภาคเหนือหรือภาคอีสาน แต่ภาคเหนือนั้นเหมาะกว่าเพราะจะได้หลังยันกับพม่าของอังกฤษสมัยนั้น อีกทั้ง น.อ.อ.กาจฯ ก็เป็นคนเชียงใหม่ คงจะช่วยแผนการณ์นั้นได้

น.อ.อ.กาจฯ จึงกล่าวว่าเห็นชอบด้วยตามแผนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงถาม น.อ.อ.กาจฯ ว่ามีเพื่อนนายทหารที่ไว้ใจได้ซึ่งประจำการอยู่ที่กองทหารนครสวรรค์หรือไม่ น.อ.อ.กาจฯ ตอบว่ามีเพื่อนที่ชอบพอและไว้ใจได้ ข้าพเจ้าจึงถามว่าจะเต็มใจเดินทางไปโดยเรือยนต์ด่วนที่สุดเพื่อไปยังปากน้ำโพ (นครสวรรค์) และติดต่อกับทหารเพื่อนของ น.อ.อ.กาจฯ ให้เห็นแก่ชาติโดยร่วมมือกันยึดทางรถไฟที่ปากน้ำโพและบริเวณนั้น และต่อต้านมิให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งพวกเราจะเล็ดรอดไปตั้งรัฐบาลต่อต้านญี่ปุ่น น.อ.อ.กาจฯ จึงเดินทางโดยเรือยนต์ไปในตอนเช้ามืดของวันที่ 9 ธ.ค. ครั้นถึงวันที่ 11 ธ.ค. น.อ.อ.กาจฯ ก็กลับมารายงานต่อข้าพเจ้าว่าเมื่อไปถึงนครสวรรค์นั้นญี่ปุ่นได้ยึดทางรถไฟที่นครสวรรค์ไว้ได้แล้ว ฉะนั้นจะต้องหาทางอื่นต่อไป

ข้าพเจ้าเห็นว่าแม้แผนยึดทางรถไฟที่นครสวรรค์ที่ไม่สามารถทำได้ในขณะนั้น แต่ก็มิได้ทำให้เสียแผนการจัดตั้งกองกำลังในต่างจังหวัด โดยวิธีจัดตั้งหน่วยกำลังต่างๆ เป็นการลับในหลายท้องที่ ดังปรากฏตามรายงานลงวันที่ 7 พ.ค. 2489 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร สอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งข้าพเจ้าได้นำลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึง พระพิศาลสุขุมวิท เรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี, นิวเดลีและสหรัฐอเมริกา กับภาคผนวกเรื่องเสรีไทยบางประการ” ฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาอังกฤษแล้ว

หมายเหตุ

  • อักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้นของนายปรีดี พนมยงค์
  • มีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นบันทึกของนายเตียง ศิริขันธ์ ในเดือนมิถุนายน 2564 พันเอก ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ได้นำมาเผยแพร่เป็นหนังสือชื่อว่า จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด : เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA) โดยเอกสารนั้นได้ระบุว่านายเตียง มิได้อยู่ที่บ้านของนายปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 สามารถอ่านบันทึกของเตียง ศิริขันธ์ได้ ที่นี่ 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. “บทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่ 4 การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย”, ใน, “อนุสรณ์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์, เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก” (กรุงเทพฯ: วัฒนาพานิช. 2525), หน้า 46-51.