ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพิธีสวนสนามขบวนการเสรีไทย พ.ศ. 2488
วันนี้ เมื่อ 77 ปีที่แล้ว (16 สิงหาคม 2488) นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” อันมีใจความสำคัญว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น “เป็นโมฆะ” ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง
ย้อนกลับไปก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น ปรีดีในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เล็งเห็นว่า “ลัทธิเผด็จการทหาร” กำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้น เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพ และคัดค้านการทำสงคราม ผ่านไปยังนานาประเทศ ด้วยพุทธสุภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” (ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี) และคำกล่าวที่ว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด” นอกจากนี้ ปรีดียังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้ เพื่อต่อต้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี
ครั้นเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตกลงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่นดินไทย และในที่สุดก็ได้ ประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลาง
ปรีดีไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตย จึงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” และไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้น ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย ดังนั้น ปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและผู้รุกรานจึงต้องเป็น “งานใต้ดิน” ที่ปิดลับ
ปรีดีต้องทำงานในสองบทบาทตลอดสงคราม ทั้งเบื้องหน้า ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเบื้องหลัง คือ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในรหัสนามว่า “รู้ธ” โดยถือความลับสุดยอดเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคนไทย
ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โดยมีใจความสำคัญว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น เป็น “โมฆะ” ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม
ภายหลังจากการประกาศสันติภาพ ตัวแทนพลพรรคเสรีไทยจากทั่วประเทศกว่า 8,000 นาย ได้เดินสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อประกาศชัยชนะและแสดงให้เห็นถึงเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย
เมื่อสิ้นสุดภารกิจลงแล้ว ปรีดีได้ประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย โดยกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้ามหาชนว่า
“…การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล…เมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือมิตรภาพอันดี ที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง
ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระ คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น
ขอให้สหายทั้งหลาย จบพร้อมใจกันเปล่งเสียงชโย เพื่อสดุดีคนไทยทั้งปวง ขอให้คนไทยทั้งปวง เสวยความสุขเกษมสำราญในสันติภาพอันถาวร และอวยพรให้ชาติไทย ตั้งมั่นเป็นเอกราชอยู่ชั่วกัลปาวสาน”
อีก 50 ปีต่อมา…ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันสันติภาพไทย” โดยมีฐานะเป็นวันสำคัญของชาติประเภทที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ