ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สรุปประเด็นงานเสวนา PINTO TALK 8: 46 ปี 6 ตุลา 19 ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ “เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย”

8
ตุลาคม
2565

 

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ในวาระ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (PBIC) ร่วมกับ สำนักข่าว The Standard จัดเสวนา PINTO TALK 8 : 46 ปี 6 ตุลา 19 ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ “เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย” ขึ้น ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยร่วมเสวนา ได้แก่  พริษฐ์ วัชรสินธุ, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และดำเนินรายการ โดย ธนกร วงษ์ปัญญา พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ชวนคุย ชวนคิด ในหัวข้อ “A Reflection on the Moment of Silence” หนังสือที่ได้รับรางวัลจาก Europa Association of Southeast Asian Studies 

 

 

ช่วงกล่าวเปิดงาน ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงความสำคัญของการก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงผู้ประศาสน์การ ตลอดจนหมุดหมายของการจัดเสวนาเพื่อเป็นแสงสว่างนำทางสติปัญญา พร้อมคิดทบทวนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 หาทางออกให้แก่สังคม อันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่เสรีภาพ สันติภาพ และความเสมอภาค สมดังเจตนารมณ์ของ ‘ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์’ โดยภายในงาน สุดา - ดุษฎี พนมยงค์ ทายาทผู้ประศาสน์การได้เข้าร่วมรับฟังเสวนาในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

สรุปประเด็นเสวนา :

 

 

รื้อฟื้นความยุติธรรม ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประกอบไปด้วย 3 เหตุผลสำคัญ คือ หนึ่ง เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สะท้อนความล้มเหลวในการคืนความยุติธรรมเพื่อผู้สูญเสียทางการเมือง สอง ปัจจัยทางการเมืองระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เริ่มมีความคล้ายคลึงกัน จะมีทางออกอย่างไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำรอยดังเช่นอดีต และสาม มรดกของระบบเผด็จการนับตั้งแต่ยุค 6 ตุลาฯ 19 ที่เหลือรอดและปรากฏร่องรอยในปัจจุบัน

การคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อ คือ ความจำเป็นในการสะสางความอยุติธรรมในอดีต โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ หนึ่ง ปฏิเสธการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน สอง กระบวนการค้นหาความจริง โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายและเป็นอิสระจากคู่ขัดแย้ง โดยตั้งอยู่บนการยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สังคมอยู่บนพื้นฐานของชุดความจริง สาม เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยนำผู้กระทำความผิดเข้ารับการพิจารณาคดีทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องปราศจากการแทรกแซง และสุดท้าย กระบวนการยุติธรรมภายนอก หรือ ICC (The International Criminal Court) จะเกิดขึ้นหาก 3 ขั้นตอนข้างต้น หรือกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ ฉะนั้น ICC จะเป็นกระบวนสุดท้ายซึ่งเป็นกลไกเสริมเพื่อพิจารณาคดี

พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวถึงความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่นอกเหนือไปจากกระบวนการทางกฎหมายแล้วนั้น คือ “ความจริง” ที่เหยื่อควรได้รับ เมื่อสังคมยังไม่ได้รับชุดความจริง การใช้ความรุนแรงโดยรัฐจึงได้ส่งผ่านและฉายซ้ำในเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งต่อๆ มา เช่น พฤษภาทมิฬ การสังหารหมู่คนเสื้อแดง เมษาฯ 53 ดังนั้น สังคมควรที่จะรับรู้จากบทเรียนประวัติศาสตร์ สร้างการจดจำ และรำลึก โดยเฉพาะ “รัฐ” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยอมรับต่อสังคมว่าได้เคยใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันซ้ำ

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังคงเป็นผู้ที่ครองอำนาจทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน การยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแม้ในเชิงปฏิบัติจะไม่สามารถทำได้ หรือนำกลุ่มคนเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทว่าในทางหลักการสิ่งที่สังคมสามารถทำได้ คือ “การสังคายนาอดีต” เพื่อขุดคุ้ยหาชุดความจริง ยิ่งค้นหามากเท่าไหร่สังคมก็จะยิ่งพบปัญหาที่แท้จริง ตลอดจนโครงสร้างทางการเมืองแบบใดที่นำไปสู่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย และ จุดร่วมทางการเมืองในปัจจุบัน

 

 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐยังคงมิเคยถูกดำเนินคดี แม้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หรือกระทั่งสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นการปะทะที่แยกดินแดง กลุ่มผู้ประท้วงต้องเจอกับการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้สร้างบาดแผลในจิตใจให้แก่ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก แม้อุดมการณ์จะยังเหมือนเดิม ทว่า บางคนเปลี่ยนจากคนที่เข้มแข็งและกล้าหาญ กลายเป็นคนที่มีเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของตนเองลดน้อยลง รวมไปถึงอัตราโทษทางกฎหมายของ มาตรา 112 ที่ได้ถูกเพิ่มความรุนแรงภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ข้อกล่าวหาและมายาคติที่เคยถูกใช้แปะป้ายกลุ่มนิสิตนักศึกษาในครั้งนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยในปัจจุบัน

พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รัฐใช้ความรุนแรงอย่างดิบโหดในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วจึงใช้ข้อกฎหมายสำหรับควบคุมในเวลาต่อมา ขณะสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน รัฐใช้กฎหมายนำแล้วจึงตามด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวสะท้อนไปถึงหลัก “นิติรัฐ” ในรัฐสมัยใหม่ที่มนุษย์อยู่ภายใต้กฎหมายยุติธรรมเดียวกัน รวมไปถึงการดำเนินคดีก็ควรเป็นพื้นที่สำหรับการพิสูจน์ความจริง

พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวว่า มีมรดกจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่สืบทอดจนถึงปัจจุบันอันเป็นสิ่งทำลายประชาธิปไตยมีด้วยกัน 3 ประการ คือ หนึ่ง รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อันมีการขยายอำนาจผู้นำที่มาจากการแทรกแซงทางการเมือง ไปพร้อมๆ กับสืบทอดการรัฐประหาร ซึ่งเป็นโมเดลที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ที่เกิดภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สอง กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง หลัง 6 ตุลาฯ มีการเพิ่มอัตราโทษของบทกฎหมายที่สามารถถูกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมกับออกกฎหมายเพื่อป้องกันเสรีภาพของประชาชนและคุ้มครองเสรีภาพสื่อ และยกเลิกกฎหมายที่ปิดกั้นเนื้อหา และสาม กองทัพที่มีอำนาจเหนือพลเรือน ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างของกองทัพ เพื่อให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของพลเรือนอย่างแท้จริง ป้องกันมิให้เกิดการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร โดยวางกลไกเพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองทั้งในทางศาลและทางกฎหมาย อีกทั้งการดำเนินงานจะต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และสามารถถูกตรวจสอบได้

วาระทางการเมืองที่ส่งผ่านถึงอนาคต และ แนวทางการขับเคลื่อนข้อเรียกร้อง

พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวว่า ท้ายที่สุดความแตกต่างระหว่างวัยและความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการออกแบบโครงสร้างที่โอบรับความเห็นที่แตกต่างระหว่างคนทั้งสองรุ่น โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้แก่คนทุกรุ่น ตลอดจนทุกคนจะต้องมีกระบวนการตัดสินใจ 1 สิทธิ์ 1 เสียง เท่าเทียมกัน

บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรจะต้อง “ตามให้ทัน นำให้เป็น” ตามให้ทัน — ส.ส. จะต้องรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง หลังจากนั้นนำความฝันหรือความต้องการของประชาชนเข้าสู่รัฐสภา นำให้เป็น — ผลักดันข้อเรียกร้องให้นำไปสู่แนวทางการแก้ไข การพูดในสภาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้จริง ฉะนั้น การชุมนุมหรือการเลือกตั้งยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือก แต่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวว่า หากเชื่อว่าประเทศไทยเป็นของทุกคน ประชาชนจะต้องมีสิทธิพูดและมีพื้นที่สำหรับถกเถียงโดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงทางกายภาพหรือความรุนแรงทางกฎหมาย สังคมไทยขาดกติการ่วม ขาดพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อให้เกิดเสรีภาพในการถกเถียง การสู้เพื่อประชาธิปไตยคือการต่อสู้ระยะยาวที่ส่งไม้ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นแนวทางใดที่ทำให้ประชาชนแสดงเจตจำนงของการเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนสามารถขับเคลื่อนได้ทุกวิธีการ

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่า ประชาชนจะต้องยืนหยัดเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่าต่อไป หากจะไปสู่จุดนั้นได้ สิ่งที่ต้องทำคือการทลายกรอบที่จำกัดสิทธิการแสดงความคิดเห็นของประชาชน กฎหมายมาตรา 112 เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย

สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงและการชุมนุม จะต้องดำเนินควบคู่กันไป โดยขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใส มีกติกาที่แน่นอนและปราศจากการแทรกแซง หากทั้งสองสิ่งสามารถเกิดขึ้นอย่างสอดรับกัน สิ่งนี้จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง และท้ายที่สุดประชาชนจะสามารถรื้อถอนระบอบเผด็จการได้สำเร็จ

 

A Reflection on the Moments of Silence

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล 

 

 

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงเบื้องหลังและความเป็นมาซึ่งก่อให้เกิดหนังสือวิชาการเล่มสำคัญ คือ Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok โดย ศ.ดร.ธงชัยอธิบายว่าหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากผสมผสานระหว่างความทรงจำของผู้ร่วมเหตุการณ์ซึ่งล้อไปกับงานวิชาการ แม้จะไม่ได้เป็นงานวิชาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยตรง แต่เป็นหนังสือเล่มนี้เป็นงานที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงว่าด้วยความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยความท้าทายอย่างยิ่งในการเขียนหนังสือเล่มนี้ คือเกิดจากคำถามที่ว่า “เหตุใดผู้ที่เกี่ยวข้องในปัญหานั้นๆ จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการผลิตงานวิชาการที่แข็งแกร่งไม่ได้”

หนังสือเล่มนี้มิได้พิพากษาว่าใครคือตัวการที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เป็นงานศึกษาที่ตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ สถาบันสงฆ์ สื่อมวลชน และพรรคคอมมิวนิสต์ และความพยายามทำความเข้าใจต่อ “ความเงียบ” ภายใต้ระยะเวลาราว 40 ปี เกี่ยวกับความทรงจำทางสังคมเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทั้งในแง่มุมความเงียบของผู้กระทำการ หรือแม้กระทั่งความเงียบของเหยื่อ โดยความเงียบนั้นมีในลักษณะอย่างไร ความเงียบเกิดจากสาเหตุอะไร และความเงียบสื่อสารอย่างไร ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมอิทธิพลทางศาสนา วัฒนธรรม และการเมือง

ช่วงท้าย ศ.ดร.ธงชัย ได้กล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมให้เกิดหนังสือวิชาเล่มดังกล่าว อีกทั้งผู้ที่มีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เหยื่อจากความรุนแรงโดยรัฐ นี่คือหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงทางความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

 

 

 

 

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=617652510062107

 

 

ที่มา : งานเสวนาทางวิชาการ PINTO TALK 8: 46 ปี 6 ตุลา 19 ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ “เหลียวหลัง 6 ตุลา แลหน้าสังคมไทย” วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์