ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

มหรสพเรื่องนี้ชื่อ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ”

13
ตุลาคม
2565

 

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องทำอย่างไรเพื่อส่งต่ออุดมการณ์ให้คนรุ่นใหม่ปฏิบัติการได้สำเร็จ คือ โจทย์ที่เป็นหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวในแต่ละก้าวของคนรุ่นต่อรุ่นและ ศิลปะ ยังคงทำหน้าที่เป็นส่วนประสานผ่านหลายแขนงอย่างเข้มแข็งตลอดมา

ครั้งนี้ภาพประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปจากรัฐจารึก ได้ถูกรวบรวมขึ้นเพื่อให้ศิลปะภาพถ่ายได้ทำหน้าที่รับใช้สังคมอย่างเต็มประสิทธิภาพ จากการทุ่มเทอย่างเต็มศักยภาพของกลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้รวบรวมข้อมูลของ “โครงการบันทึก 6 ตุลา” และ “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา - October 6 Museum Project” ร่วมกับคณะก้าวหน้า - Progressive Movement และ Common School ทำการขุดคัดเลือกภาพที่ถูกฝังอย่างตั้งใจของรัฐที่ต้องการลบกลบหลักฐานความรุนแรงที่กระทำต่อประชาชน จากฟิล์มภาพต้นฉบับขาวดำคุณภาพสูงทั้งหมด 14 ม้วน กว่า 750 ภาพ โดยกลุ่มช่างภาพชาวไทยผู้กล้าหาญจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์, ประกิต เหล็งสกุล (กิเลนประลองเชิง) และ ประวิตร โสรจชนะ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์  จัดทำนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons” ณ Kinjai Contemporary จุดแสดงงานศิลป์แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนราชวิถีบางพลัด จัดร้อยเรียงเหตุร้ายผ่านศิลปะภาพถ่ายของคืนวันที่ 5 จนถึงรุ่งเช้าเข้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

บนพื้นที่ตึกแถว 1 คูหา 4 ชั้น เต็มทุกตารางเซ็นต์เป็นงานสร้างสรรค์แบบ ZOOMING ให้เห็นมากกว่าที่ช่างภาพตั้งใจจะให้เป็นเพราะ “ความจริง” ยืนยันตัวเองตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการ zoom in เก็บรายละเอียดจาก content ของภาพ หรือ zoom out จากการเฝ้ามองภาพขนาดใหญ่ที่ถูกขยายชัดฉุดมโนทัศน์ให้กว้างไกลไสวสว่างได้มากกว่าที่ตาเห็น หากเรามองให้ทะลุ ไม่เพียงมองผ่านม่านหมอกการเมือง พร้อมพิจารณาสาเหตุแห่งรัฐประหารที่ถูกสั่งการให้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

วัฏแห่งรัฐประหาร เวียนมาทุกกว่าสิบปีเหมือนเป็นหน้าที่ต้องกำจัดผู้เห็นต่างตามแนวทางการปกครองให้หมดไปจากบ้านเมือง แต่เรื่องสังหารหมู่เมื่อรัฐเห็นราษฎร์เป็นศัตรูไม่ให้อยู่ร่วมแผ่นดิน ไม่เคยสิ้นไปจากใจคนไทยผู้พิทักษ์ความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย คือ ที่มาของการเผชิญหน้ากับปีศาจบ้าอำนาจ (ทั้งภายนอกและภายใน) โปรดเดินทางไปกับนิทรรศการอย่างมีวิจารณญาณทุกก้าวย่าง บนเส้นทางประวัติศาสตร์ “16 ตุลา ภาคประชาชน” 

 

ภาพความจริง ที่ไม่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

 

รูปแบบของการจัดนิทรรศการเป็นงานศิลปะจัดวางภาพถ่าย (Photo Installation) ที่สะดุดและดึงดูดความสนใจได้ด้วยความเด่นของ content ในภาพเป็นหลัก เมื่อรวมกับศิลปะในการออกแบบจัดวางอย่างที่ถูกคิดมาอย่างละเอียด จึงทำให้การส่งสารถึงผู้ชมมีประสิทธิภาพ และการใช้คำบรรยายเพียงเล็กน้อยแต่ตรงในความหมายและชัดเจนต่อความจริง ลึกซึ้งสะเทือนใจในอาชญากรรมแม้กับคนที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมก็เอื้อต่อการศึกษา สืบค้น และต่อยอด แบ่งออกเป็น 4 ชั้นครึ่งตามโครงสร้างของพื้นที่

คัดสรรภาพ : ธนาพล อิ๋วสกุล, สุภาภรณ์ อัษฎมงคล, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม และ ภัทรภร ภู่ทอง
บทนิทรรศการและคำบรรยายภาษาอังกฤษ : ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, ปัณณ์ ศิริพากย์, ภัทรภร ภู่ทอง

 

วิทยากรนำชม โดย ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2565

 

 

ชั้นที่ 1 ตากอากาศกลางสนามหลวง

เริ่มที่ชั้น 1 ออกแบบให้เป็นโถงโล่งที่รายรอบไปด้วยภาพเหตุการณ์ในท้องสนามหลวงขนาดใหญ่พื้นจรดเพดาน ให้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นหนึ่งในหมู่ผู้คนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น เปิดงานด้วยการแนะนำหนังสือพิมพ์สื่อที่ทรงอิทธิพลในสมัยนั้น โปสเตอร์ของงานนี้ก็ถูกออกแบบให้เป็นปกหนังสือพิมพ์ล้อไปกับงานด้วยเช่นกัน ทุกเล่มรายงานข่าวความโหดเหี้ยมเป็นจุดขาย ใช้ภาษากระชากขวัญสั่นประสาทวางซ้อนบนราวเก็บเป็นส่วนประกอบของนิทรรศการ

ภาพเหตุการณ์ในท้องสนามหลวงมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธร้ายแรงเหมือนอยู่กลางสนามรบ และประชาชนที่มีส่วนร่วมเอาใจช่วยการกวาดล้างปราบปรามประหนึ่งเป็นผู้ชมมหรสพแบบไทยๆ บรรยายภาพแบบมีนัยว่า 6 ตุลาฯ คือ การกลับไปสู่ภาวะปกติด้วยรัฐประหาร 

 

“การฆาตกรรมที่ธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ประชาชนจำนวนไม่น้อยออกมาชื่นชม ปรบมือ โห่ร้อง หรือร่วมกระทำการ ไม่ต่างจากการดูมหรสพ และจบลงด้วยการเคลื่อนขบวนรถถังออกมารัฐประหารในเย็นวันเดียวกัน”

 

 

ชั้นลอย เริ่มขึ้นบันไดประวัติศาสตร์ไปเผชิญหน้ากับปีศาจ 

ภาพแรกที่พบบนพื้นผืนใหญ่ขนาดเท่าคนจริง แต่เป็นศพหน้าหอประชุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรอยกระสุนมากมายทลายกำแพงเป็นประจักษ์พยานความรุนแรงของการใช้อาวุธ ต้องหยุดพิจารณาข้อความ 

 

“ทุกสังคมมนุษย์มีปิศาจซ่อนอยู่ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง พวกเขาและเธอยอมรับการกระทำที่ผิดศีลธรรมและกฎหมายเพื่อผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ได้ … ภาพ 6 ตุลาฯ ในนิทรรศการนี้เป็นประจักษ์พยานว่า มีปิศาจปรากฏอยู่ในโฉมหน้า และรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปิศาจถืออาวุธ ปิศาจเชิงสัญลักษณ์ ทางศีลธรรม หรือแม้กระทั่งในรอยยิ้มของผู้กระทำการและผู้ชมในวันนั้น”

 

นิทรรศการภาพ “ตัดมุม” ออกแบบโดย เบญจมาส วินิจจะกุล, ณชาภณ รุจิราโสภณ, พลวัฒน์ เกตุจินากูล และ รติมา ประภาสวัสดิ์
นิทรรศการภาพ “ตัดมุม” ออกแบบโดย เบญจมาส วินิจจะกุล, ณชาภณ รุจิราโสภณ, พลวัฒน์ เกตุจินากูล และ รติมา ประภาสวัสดิ์

 

อีกด้านใต้บันไดก่อนขึ้นชั้นสองถูกออกแบบให้เป็นลักษณะภาพมุงดู (โค้งครึ่งวงกลมลบเหลี่ยมผนัง เป็นภาพต้นฉบับเต็มไม่ตัดย่อส่วน) มีเก้าอี้นั่งแดงดำวางไว้ให้ท่านผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในท้องสนามหลวงฝั่งพระแม่ธรณี มีการเผาเหยื่อรวมกับขยะยางรถยนต์ที่ใช้ปนเป็นเชื้อเพลิงฌาปนกิจ เราจะเห็นภาพรวมกว้างใหญ่ในความคับแคบของพื้นที่ มีผู้คนมากมายมุงดูรายรอบขอบเหล็กกั้น มีรองเท้ากระเด็นตกอยู่ข้างๆ ไม่รู้ของใคร คนในกองไฟหรือเปล่า? เป็นปริศนาที่ต้องค้นหากันต่อไป

ด้านซ้ายเป็นอีกภาพที่ย่อจากชั้นหนึ่งนำมาต่อกัน มีการล้อมกรอบให้เห็นภาพชายถอดเสื้อถูกสันนิษฐานว่าอาจเป็นผู้นำในการเผาหรือไม่? ในรายละเอียดจะเห็นผู้ชมเป็นเด็กตัวเล็กปีนต้นไม้ขึ้นไปนั่งในมุมสูง มีคำสัมภาษณ์เด็กผู้ร่วมเหตุการณ์เล่าความทรงจำ 

 

“ผมไปดูเขาเผากันด้วย มีประมาณ 4-5 คนบนกองไฟยังไม่ตายมือไม้ก็สั่น เขาเอายางรถยนตร์จากรถเมล์สาย 6 ที่ถูกยึดแถวพระแม่ธรณีแล้วมีการเรี่ยไรเงินคนละบาทไปซื้อน้ำมันเบ็นซิน ผมมีเงินหกสลึงตอนนั้นไม่ได้ให้ไป พอราดน้ำมันลงในกองคนก็เฮปรบมือกันลั่นแล้วมันก็เหม็นมาก”

 

 

หน้าบันไดทางขึ้น มีคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยยืนยันปีศาจในใจคนได้ชัดเจนมากขึ้นเป็นลักษณะปีศาจที่แสดงออกมาในแต่ละคน อะไรคือแรงขับแรงดึงดูดให้ผู้คนกระทำการได้ขนาดนั้น คือ ปริศนาที่ต้องตรวจสอบกันต่อไป

ผู้ชมนิทรรศการถามว่า ทำไมถึงใช้คำว่า DEMON ไม่ใช้คำอื่นที่มีความหมายว่าปิศาจเหมือนกันในภาษาอังกฤษ วิทยากรเป็นหนึ่งในผู้คัดสรรภาพยืนยันเจตจำนงด้วยบริบทที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของคำว่า “ปิศาจ” ซึ่งเป็นคำที่ฝ่ายตรงข้ามเคยใช้เรียกกลุ่มหัวก้าวหน้า (อ้างอิงจากวรรณกรรมเรื่อง ปิศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์) แต่ในความหมายของผู้จัดนิทรรศการ คือ “ปิศาจที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียด”

เราจะมองเห็นชัดเจนเมื่อขยายหรือใส่สีภาพ จึงตั้งใจใช้ “ปิศาจ” ในความหมายแย่ ถ้าเป็น SPECTER (อสูรกาย) ยังเกรงว่าอาจจะมีความนัยที่ดีเกินไปกว่าที่ต้องการสื่อ

 

 

ชั้นที่ 2 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1, 3

บนพื้นเต็มไปด้วยใบปลิวเกลื่อน นั่นคือแถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 1 และ 3 ล้อมรอบภาพขนาดใหญ่ชัดเจนเต็มผนังทั้งสามด้านและตรงกลางทางเดิน “คือแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารนั่นเอง ข้ออ้างเดิมๆ จบแบบเดิมๆ” หนึ่งในห้าเป็นภาพวินาทีที่รถเมล์ไม่มีคนขับดับเครื่องชนประตู มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเจ้าหน้าตำรวจ 2 นายบุกเข้ามาก่อนกับช่างภาพ 7 คน (ปี 2519 บริบทของสังคมยุคนั้นตรงกับสงครามเวียดนาม นักข่าวหลายคนคือนักข่าวสงครามจะคุ้นเคยกับอาวุธ มีจมูกที่รู้กลิ่นว่าจะมีเหตุรุนแรงแน่ๆ จึงมีการเตรียมตัวอย่างดีทั้งอุปกรณ์และความปลอดภัยของตัวเอง) 

 

 

รายละเอียดในภาพที่นักศึกษาถูกกวาดต้อนมานอนเต็มลาน มีคนหนึ่งกระโดดกระทืบตัวลอย ห้อมล้อมด้วยผู้ชมในเช้าวันที่ 6 ตุลา ผู้ทำร้ายบางคนถือขวดน้ำอัดลม เก้าอี้นั่ง โยงใยไปถึงภาพอื่นๆ ในเหตุการณ์เดียวกัน บางคนมาในชุดพลเรือนทำไมถึงถือปืนไรเฟิล? เป็นสไนเปอร์? เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญขนาดไหนมาได้อย่างไร ขยายเพิ่มให้เห็นชัดในอีกภาพ 

 

 

ภาพเด่นดิบ “ตอกอก” ซึ่งเป็นภาพที่ติดตาและกล่าวถึงกันมากของเหตุการณ์ 6 ตุลา โดย ปรีชา การสมพจน์ ช่างภาพข่าวอาชญากรรม สำนักพิมพ์เดลินิวส์ ได้รับรางวัล อิศรา อมันตกุล ปี 2519 เคยถูกตัดบางส่วนไปใช้ในหนังสือพิมพ์ แต่ที่นี่คือภาพเต็มเฟรมต้นฉบับ จึงให้ความหมายเชิงลึกได้ทั้งหมด เมื่อถูกชี้ให้เห็นชายคนที่กำลังตอกอกถือขวดน้ำอัดลมกระหน่ำลงบนไม้แหลมที่ถูกเหลามาแล้ว บอกถึงการเตรียมการมาก่อน

ด้านหลังคือวัดพระแก้วสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาและพระบรมมหาราชวัง ทั้งศาสนาและพระมหากษัตริย์ ตีความถามว่าทำไมคนโหดร้ายได้ถึงเพียงนี้ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลหรือลักษณะทั่วไปของสงครามเย็น นอกจากฆ่าแล้วมีการทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความสะพรึงกลัว การตอกอกอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ นอกจากฆ่าแล้วเอามาแขวนหรือไม่ ในประเทศอื่นมีการทำอย่างไรชวนให้สืบหาปิศาจต่อไป

 

 

ชั้นที่ 3 ห้องฉาย 2 ห้องวิทยุ 2 ภาพใส่สี วิดีโอสาดแสงความแรงจากเบื้องหลัง

โซนข้างหลังช่างภาพ โดย สมบูรณ์ เกตุผึ้ง จัดแสดงกล้องที่ใช้ในการทำงานของช่างภาพ 6 ตุลา Nikon zoom 80-200 mm จัดแสดงภาพขนาดใหญ่ให้เห็นการปฏิบัติงานภาคสนามของช่างภาพ หนึ่งในนั้นเป็นภาพของ ไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ ช่างภาพของ UPI ถ่ายรูปตำรวจขณะยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในภาพคือ ร.ต.ท. วัชรินทร์ เนียมวณิชกุล) หลังถ่ายภาพตำรวจคนนี้เพียงไม่ถึง 10 นาที ช่างภาพถูกยิงกลายเป็นหนึ่งในผู้บาดเจ็บ มีเพื่อนช่างภาพช่วยชีวิตไว้ เป็นภาพหลักฐานขั้นต้นที่นำมาสู่การค้นพบฟิล์ม 14 ม้วนในครั้งนี้โดย สุภาภรณ์​ อัษฎมงคล ผู้ประสานงานนิทรรศการ  “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons” 

 

 

 

อีกด้านเป็นห้องฉายวิดีโอ “ชวนอ่าน 6 ตุลาในภาพถ่าย” สารคดีเบื้องหลังการทำงานของอดีตช่างภาพที่ให้สัมภาษณ์อย่างละเอียด เชิญชวนคนต่างรุ่นต่างความคิดมาแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้สึก ทั้งกลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า เช่น ตะวัน จากกลุ่มทะลุวัง ฯลฯ

 

 

ใต้บันไดอีกด้านแสดงภาพ ชายปริศนา เรียงร้อยลงมาตามเหตุการณ์ คนนี้คือใครไม่มีใครทราบ เขาใส่เสื้อดำ เขาอยู่ใน 4 เหตุการณ์เป็นอย่างน้อย อยู่กับตำรวจพลร่มและปืนไร้แรงสะท้อน เริ่มจากด้านหน้าประตูจนถึงบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ 

 

 

ใต้บันไดในโถงใหญ่จัดแสดงภาพชุด “ป้ายสี 6 ตุลา” เป็นเทคนิคการนำภาพขาวดำมาใส่สีเพิ่มเข้าไป เป็นภาพที่นักศึกษาถูกจับกุมโดยมีกลุ่มกระทิงแดงล้อมไว้ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นฉบับขาวดำจะทำให้เห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้น เช่น สีแดงของโดมธรรมศาสตร์, คนที่อยู่รวมกับเจ้าหน้าที่แต่ไม่ได้สวมชุดเครื่องแบบเขาเป็นใคร?, รองเท้าดิสโก้ของชายที่โดนทำร้าย, นักศึกษาเป็นแฟชั่นนิสต้ากางเกงขาบานของยุค 70 มองคล้ายผู้หญิง หรือเห็นกระทั่งรอยเหงื่อของแต่ละคน

 

 

ในโถงใหญ่ตรงกลางถูกแบ่งเป็นสามส่วน ซ้ายเป็นพลเรือน ขวาฝ่ายปฏิบัติการ และตรงกลางจัดฉายหนังสารคดีที่ต้องใช้เวลานั่งชม มีทั้งหมด 6 เรื่องๆ ละ 5-8 นาที ฉายวนทั้งวัน

 

ภาพยนตร์ โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล
ภาพยนตร์ โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

 

ฝั่งซ้ายพลเรือนเป็นภาพถ่ายและวัตถุจัดแสดงเกี่ยวกับปฏิบัติการของลูกเสือชาวบ้าน ตรงกลางโถงเป็นจุดฉายหนังสารคดีฝ่ายพลเรือนเกี่ยวกับการปลูกฝังทัศนคติให้ลูกเสือชาวบ้านและลูกหลานถวายความจงรักภักดีต่อสถาบัน และอิทธิพลกลเกียรติยศที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนไทย จึงพร้อมใจเป็นกองหนุนได้ทุกเมื่อเพื่อประเทศชาติ

 

 

อีกด้านผนังติดกับบันไดทางขึ้นเด่นที่ดีไซน์และความหมายช่วยให้ภายในไม่ทึบ มีภาพติดผนังขนาดใหญ่จากพื้นจรดเพดานเจาะตรงกลางเป็นวงกลม ออกแบบให้เป็นหน้าหนังสือพิมพ์มีรายชื่อผู้เสียชีวิตและคนที่ถูกจับในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มองทะลุหน้าต่างวงกลมจะพบภาพขนาดใหญ่ของรถถังเต็มผนังพร้อมกับทหารถือปืนเตรียมพร้อม มีเด็กๆ ป่ายปีนรถเหมือนเป็นของเล่นวันเด็กที่ชวนตื่นเต้นไม่ตกใจ ไม่ต่างจากเวลาเกิดอุบัติเหตุจะมีไทยมุงเป็นเรื่องปกติในสังคม

ออกแบบกราฟิกนิทรรศการ : ธนาพล อิ๋วสกุล และ พรเฉลิม รัตนไตรภพ

 

 

ปริศนาตำรวจพลร่ม และปากคำผู้ปฏิบัติการ

ไฮไลท์ของห้องนี้คือ “ปฏิบัติการ 6 ตุลา” ข้อเท็จจริงที่เป็นเส้นเวลาของฝ่ายปฏิบัติการในวันนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น มีเอกสารคำให้การเป็นข้อมูลยืนยันจากพยานโจทย์ในเหตุการณ์ มีตำรวจพลร่ม 3 นายที่หัวหินให้การตรงกันว่า ช่วงเวลาตีสองได้รับคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีสามสั่งพลร่มชุดที่สองและสามตามไปอีก

ในช่วงเวลาเดียวกัน วิทยุยานเกราะก็เริ่มโหมปลุกปั่นว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องกวาดล้าง ระเบิดลูกแรกลงกลางสนามฟุตบอลเวลา 05.30 น. ลำดับเวลาและระดับของการเตรียมงานของวันที่ 6 เป็นการยืนยันชัดเจนว่าตั้งใจวางแผนใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้น เพราะต้องใช้เวลาเตรียมกองไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ไม่ใช่เพราะนักศึกษาก่อเหตุทำให้ต้องปกป้องสถาบัน เพราะข่าวการแสดงละครของนักศึกษาในธรรมศาสตร์ออกมาเย็นวันที่ 4 ต่อวันที่ 5 ตุลาคม ต่อให้ไม่มีการแสดงละครแขวนคอก็จะมีการใช้อาวุธรุนแรงระดับเดียวกัน เป็นบทสรุปจากการประมวลผลข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาเพื่อค้นคว้ากันต่อไป

แม้ภาพสำคัญจากการแสดงละครของนักศึกษาธรรมศาสตร์ จำลองการแขวนคอ 2 พนักงานการไฟฟ้า ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา ผู้ติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับเข้าประเทศของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่คุ้นตาตามประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกนำมารวมไว้ ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นชนวนให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างปราบปรามผู้คิดล้มล้างสถาบันฯ (อาฆาตมาดร้ายจงใจใช้คนถูกแขวนคอหน้าเหมือนองค์มกุฎราชกุมาร)

เสียงเรียกร้องของผู้เสียหายที่ถูกกล่าวหายังปรารถนาได้รับความเป็นธรรมจากปากคำของ อภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษาปี 2 ขณะนั้น ผู้แสดงเป็นคนถูกแขวนคอ 

 

“แค่อยากมีส่วนร่วมในการต่อต้านเผด็จการเท่านั้น เราทำอีกอย่างแต่กลายเป็นอีกอย่าง อยากพิสูจน์ ไม่รู้สึกผิดเพราะเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่ความผิด แต่รู้สึกโกรธคนที่หลอกคนไทยทั้งประเทศให้เข้าใจพวกเราผิด คนนี้ต้องถูกลงโทษเพราะเป็นตัวร้ายสุดของเรื่องนี้ที่ทำให้คนไทยเกลียดชังกันเอง เป็นสาเหตุให้คนจำนวนมากถูกฆ่าถูกทารุณกรรม คือคนผิดอย่างแท้จริง ผมว่าเป็นสื่อมวลชนของรัฐ”

 

เพราะสื่อมีบทบาทสูงต่อการชักจูงประชาชน และช่างภาพยืนยันว่าไม่มีการตกแต่งภาพเพื่อให้หน้าเหมือนใครแต่อย่างใด จนเวลาล่วงเลยมา 46 ปีผ่านไปยังไร้คำตอบ คลุมเครือและถูกมองข้ามเพราะไม่มีใครอยากขุดคุ้ย จึงไม่มีใครรับผิดชอบต่อความตายที่เกิดขึ้น จนวันนี้ถูกเยาวชนคนรุ่นใหม่นำละครมาย้อนรอยร่วมรำลึก “6 ตุลามหาวิปโยค” (ปี 2519) ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อย้อนถาม …

เยื้องกันอีกด้านเป็นภาพการเคลื่อนกำลังพลบนถนนราชดำเนิน ทหารหาญบนรถยิ้มแย้มทักทายผู้คนจากสองฝั่งถนนร่วมส่งกำลังใจให้ไปฆ่า… 

 

 

ชั้นที่ 4 ด้วยพระบารมีปกเกล้าชาวประชา โชคดีถ้วนหน้า ผู้คนถูกฆ่าเพราะใคร

ชั้น 4 พื้นที่แห่งการประนีประนอม หลัง 6 ตุลา ความตึงเครียดของบริบทสังคมการเมือง เริ่มจากบันไดทางขึ้นลำดับขั้นของความรุนแรงกับกรรมกร ชาวนา จากปี 2516 - 2518 ฝ่ายขวาส่งเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ช่วยกู้ชาติ เริ่มจาก ธันวาคม 2518 มีการชุมนุมต่อต้านก่อนนำไปสู่รัฐประหาร ในโถงแสดงงานแบ่งออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก มีความรุนแรง มีรัฐประหาร มีการชุมนุม และมีการสลายตัวของผู้ชุมนุมฝ่ายขวา สรุปด้วยภาพขนาดใหญ่ของมกุฎราชกุมารปรากฏตัวในที่ชุมนุมของลูกเสือชาวบ้าน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าและหน้าทำเนียบรัฐบาลก่อนการสลายตัวเพราะ “พระบารมีปกเกล้าการเมืองไทย”

ภาพและบทบรรยายมีความหมายที่ซ่อนนัยถึงพระบารมีมากล้นรำพันบันดาลความสงบสุขได้ทุกครั้งหลังรัฐประหาร ในขณะที่อีกฝ่ายทั้งล้มตายและบาดเจ็บ กว่าสามพันคนถูกจับกุม ไม่โชคดีตามที่อวยพร และหลายคนไม่ได้กลับบ้านอีกเลย …โปรดอย่าละเลยข้อความสำคัญ 

 

“ความเชื่อที่ว่า สังคมไทยเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ผู้คนถ้อยทีถ้อยอาศัยไม่มีความขัดแย้งใดๆ ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่แบบเรียนชั้นประถมจนถึงละครหลังข่าว หรือหากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ก็จะลงมาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง จึงกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมไทย และสามารถแลกด้วยการกระทำเลวร้ายเพื่อยุติเรื่องราว” 

 

สั้นๆ แต่สั่นสะเทือนไปทั้งแผ่นดิน อยู่ที่ใครได้ยินแล้วจะตีความตามประสบการณ์ 

 

 

ส่วนที่สอง “6 ตุลาที่คุ้นเคย” เป็นภาพ 5 คู่ เปรียบเทียบต่างวันเวลาแต่สถานการณ์แทบไม่ต่างกันระหว่าง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนตายริมถนนกับพฤษภาคม 2553, เมษายน 2556 การชุมนุมทำร้ายคนเสื้อแดงบนรถเมล์ของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) หน้าสนามราชมังคลาหน้ารามคำแหง, รถถังก่อการ M 1 ในปี 2519 และ 2549, การชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลในบรรยากาศที่ต่างกันระหว่างกลุ่มพันธมิตร กับการชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านทวงคืนเขาพระวิหารสองร้อยวัน และชุดสุดท้าย ปราบปรามผู้ชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 6 ตุลาคม 2519 และ ตุลาคม 2547 “ภาพบนเราแทบไม่เห็นหน้าผู้คนเลย แต่สัมผัสได้ถึงความหวาดกลัว 

“ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอย แต่เป็นการผลิตซ้ำจนกลายเป็นความคุ้นเคย จนกลายเป็นความปกติไป” ธนาพลกล่าวก่อนปิดการนำชม

 

 

ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

บทกวีลอยลมมา … “บนโลกใบนี้ หากเหลือเวลาเพียง 30 นาที เธอจะเลือกทำสิ่งใด ร้อยบทกวีแสนหวาน จารึกตำนานชีวิตคน….” เสียงเพลงพัดบรรทัดต่อไปให้ลอยหายไปกับสายลม … “บนโลกใบนี้ หากเหลือเวลาเพียง 10 นาที เธอจะเลือกทำสิ่งใดฯ ….” เสียงบนเวทีที่ฟังไม่ได้ศัพท์กลบทับเสียงอ่านบทกวี … “บนโลกใบนี้ หากเหลือเวลาเพียงเสี้ยววินาที เธอจะเลือกทำสิ่งใดฯ ….” เสียงอ่านบทกวีเกรี้ยวกราดหนักขึ้นแทรกเสียงรบกวนจนชัดเจน เป็นประโยคที่เสียงลมพาล่องลอยไปกระทบใจคนฟังจนต้องตั้งคำถามกับตัวเอง…

แม้ไม่ได้ยินชัดอีกหลายบรรทัด เพราะถูกซัดหายไปกับสารพัดเสียงจากคอนเสิร์ตกลางลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นวันที่คนรักประชาธิปไตยหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวรำลึกและเรียกร้องอธิปไตยกระจายออกไปทำกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศ ที่กรุงเทพฯ ปีนี้มีหลากรูปแบบ จากหลายกลุ่ม อย่างเช่น Deadline Always Exists, Free Art, ยินดีคลับ และ Market Man ที่รวมตัวกันในชื่อ October to Remember จัดงาน ‘6 ตุลา หวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป’ ด้วยความตั้งใจที่จะพาผู้ชมวัยรุ่นไปร่วมรับรู้เรื่องราวในอดีตผ่านบทเพลงจากศิลปินผู้รักประชาธิปไตย ได้แก่ Cocktail, ไททศมิตร, Polycat, Greasy Cafe, Safe Planet, Beagle Hug และ Dead Flower

ในวันเดียวกัน 6 ตุลาคม 2565  ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักศึกษาจัดกิจกรรม ‘รำลึก 46 ปี 6 ตุลาฯ ตามหาอยุติธรรม’ ล้วนหลากหลายกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงลึก อาทิ ‘ล้อมวงเล่า’ โดย October to remember สนทนาถึงประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในตำราเรียนจากปากคำของคนเดือนตุลาฯ ในหลากหลายหัวข้อ ทั้งขบวนการนักศึกษา ศิลปะเพื่อประชาชน การต่อสู้ของนักเรียน สิ่งพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้า สามประสานและเฟมินิสต์ และสามประสานกับโซตัส

เสวนาเข้มขลังกับ “เ(สื่อ)มสั่งตาย” ในประเด็นความพยายามของรัฐในการบิดเบือนข่าว จนเกิดการสังหารหมู่ในแง่มุมของสื่อ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าควรปฏิรูปสื่อหรือไม่ เพราะในวันเดียวกันนี้ 6 ตุลาคม 2565 เวลา 12.30 น. เกิดคดีสะเทือนขวัญ ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ กราดยิงที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำพู มีผู้เสียชีวิต 37 คน แล้วฆ่าตัวตายพร้อมครอบครัว ทำไมต้องเป็นวันนี้?

เขาเคยมีอำนาจในระบบตำรวจที่พัวพันกับผลประโยชน์และยาเสพติด และรับข้อมูลข่าวสารจากทุกทิศที่มีฤทธิ์กดดันชีวิตอย่างไรจึงก่อเหตุโหดเหี้ยมได้ขนาดนั้น แต่ตรวจไม่พบสารเสพติด ที่ต้องวิเคราะห์คือเขามีฮีโร่ในใจเป็นผู้ร้ายโคราชที่กราดยิงในห้างผ่านทาง LIVE มีสื่อเป็นเครื่องมือเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ไม่ต่างจากการใช้สื่อของวิทยุยานเกราะทำโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ที่ปลุกระดมให้ประชาชนใช้กำลังเข้าเข่นฆ่านักศึกษาก่อนเกิดเหตุ 6 ตุลา เป็นบทเรียนที่ต้องจดจำนำมาปฏิรูป นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่มีกลยุทธที่แยบยล เพราะปัจจุบันทุกคนคือสื่อภาคประชาชนที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรสื่อ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความจำเป็นต้องปฏิรูปให้เป็นกลางไม่เลือกข้างเลือกสี เสนอเฉพาะข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณ เพื่อไม่ให้การสื่อสารผิดพลาดสร้างประวัติศาสตร์โหดร้ายซ้ำรอยเดิม 

 

 

Modern History of Thailand 

ขณะกำลังจะกลับพบ ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มาร่วมชมนิทรรศการจึงรบกวนขอความรู้ ท่านกรุณาให้สัมภาษณ์ควบข้อคิดคมทุกคำ 

“มาชมนิทรรศการแล้วประทับใจมากเพราะเป็นการจัดแสดงทั้งภาพและคำบรรยายที่ลึกซึ้งละเอียดละออ เป็นสิ่งใหม่ที่มาปรากฏในสังคม ตัวเองแม้อยู่ในช่วง 6 ตุลา 2519 ก็ไม่เคยทราบหรือเคยเห็นทั้งภาพทั้งเรื่องราวที่มีรายละเอียดมากกว่านี้…

ผมทำงานกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เป็นรองอธิการบดีในขณะนั้น รู้จักนักศึกษาเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นคนรุ่นนั้น แต่เมื่อเราผ่านอดีตครั้งนั้นไปแล้วกลับมาศึกษามาดูมัน ในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมืองเราก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ ลึกซึ้งมากๆ มีสิ่งซึ่งเรียกว่า “ข้างหลังภาพ” มากมายมหาศาล…

ผมอยากให้งานเช่นนี้เป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้างกว่านี้ ผมไปชมมิวเซียมสมิธโซเนียนที่วอชิงตันดีซี (SMITHSONIAN NATIONAL MUSEUM OF NATURAL HISTORY) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่โตมโหฬารมาก เขาได้สร้างตึกใหม่และเรื่องใหม่ที่เกี่ยวกับอาฟริกันอเมริกัน พูดถึงคนอเมริกันเชื้อสายอาฟริกาซึ่งส่วนใหญ่ถูกจับมาเป็นทาส มันมีเรื่องซึ่งลึกล้ำมากๆ เลยว่าประวัติศาสตร์ที่คนต่างสีผิวต้องผ่านอะไรมา ตั้งแต่สมัยทาสถึงสงครามกลางเมืองในอเมริกา ที่ต่อสู้มาจนเกิดคนรุ่น มาร์ติน ลูเธอร์คิง จนถึงรุ่นเราที่รับรู้เรื่อง Black Lives Matter...

นิทรรศการนี้ผมอยากให้เป็นประวัติศาสตร์ที่รับรู้โดยคนไทย รวมทั้งผู้คนในโลกใบนี้ด้วย เป็นนิทรรศการที่ดูไม่ง่าย ถึงแม้ว่าจะไม่ยากก็ตามตั้งแต่ขึ้นบันไดมาทีละขั้น ดูแต่ละห้อง แต่ละภาพ เราต้องให้ความสนใจมากทีเดียว เหมือนพิพิธภัณฑ์ของสมิธโซเนียนน่ะผมไปดูอยู่ครึ่งวัน ต้องถ่ายภาพมาดู ซื้อสูจิบัตรกลับมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก นิทรรศการ 6 ตุลานี้ก็เช่นเดียวกัน…

ผมเชื่อว่าการมีผู้นำชมมีวิทยากรนี่สำคัญมากๆ เลย ก่อนขึ้นมาผมเจอนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรหลายสิบคน (45 คน) มันต้องอย่างนี้ มีการนำชม ต้องมีคำอธิบาย ต้องมีการชี้ให้เห็นจุดบางจุด ประเด็นบางประเด็น ถ้าเราดูอย่างฉาบฉวยมันก็ดีกว่าไม่ได้ดูเลย แต่จะเกิดปัญญาได้ต้องศึกษา ถ้าต้องการแสงสว่างก็ต้องมีปัญญา มาครั้งเดียวก็ยังไม่พอ…

 

 

6 ตุลาคม เป็นส่วนหนึ่งใน long history ของเมืองไทยสมัยใหม่ เป็น Modern History of Thailand คนรุ่นใหม่เป็นความหวังของราษฏรและประเทศชาติ ผมไม่ค่อยห่วงคนรุ่นใหม่ในแง่ความคิดกับเจตจำนง ผมห่วงเพียงสุขภาพของเขาที่ถูกจับแล้วถูกจับอีก ถูกขังคุก ถูกติดข้อเท้า ผมมีความหวังกับเขาอยากให้รักษาชีวิตเอาไว้เพื่อชาติและราษฏร เราต้องศึกษาเรื่อง 6 ตุลา เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยืดยาว เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ…

เรื่องนี้ไม่ใช่ม้วนเดียวจบ ผ่านคนมาหลายรุ่นแล้ว รุ่นก่อตั้งตัวอย่างเช่นกลุ่มชนชั้นนำเล็กๆ เพียงสิบกว่าคนที่กราบบังคมทูลเจ้านายเพราะอยากเห็นบ้านเมืองมีประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 7 เรื่องกบฏ ร.ศ. 130 ที่เรารู้จักกันดี ซึ่งต้องการทั้งประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญระบอบใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จเอาในรุ่นคณะราษฎร ปี 2475 (1932) ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากๆ มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น มีการเลือกตั้ง…

แต่ในขณะเดียวกันเราก็อาจลืมไปว่าคำประกาศของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งเชื่อกันว่าผู้เขียนคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ตอนสุดท้ายมีพูดถึงเรื่อง หลัก 6 ประการ ของคณะราษฏร แต่ว่าเนื้อใหญ่ใจความของคำประกาศฉบับนี้ที่เผยแพร่ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เปรียบเสมือน แมกนา คาร์ตา (Magna Carta) ที่เป็นมหากฎบัตรของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเรื่องของการจำกัด (limit) อำนาจของพระมหากษัตริย์โดยกลุ่มขุนนาง เมื่อประมาณกว่า 700 ปีที่แล้ว ของเราจะช้ากว่าบริเตน  เราเคยหลงเชื่อจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่าคือ แมกนา คาร์ตา ซึ่งไม่ใช่หรอก ผมว่าแมกนา คาร์ตา ของไทยคือคำประกาศของคณะราษฏรฉบับที่ 1 ที่เผยแพร่เป็นใบปลิว แจกกันในวันยึดอำนาจเมื่อ 24 มิถุนายน 2475”

 

 

“โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเส้นทางที่ยาวนาน จากปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ด้วยความมุ่งมั่นต่ออุดมการณ์ของคนรักประชาธิปไตยที่ต้องการความยุติธรรมในระบอบอย่างชอบธรรม แม้บางคนเกิดไม่ทันหรือไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์โศกนาฏกรรม แต่ความโหดเหี้ยมจากการทำรัฐประหารที่ทารุณกรรมเกินอารยชนคนปกติจะรับได้ จึงเกิดการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

แม้เรื่องยังไม่คลี่คลาย รัฐไม่ยอมรับในความผิด คิดแต่จะนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด และปกปิดบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อฟอกอาชญากรรมไม่ให้มัวหมอง แต่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่โดยคนไทยเจ้าของประเทศได้เกิดขึ้นยืนยันความจริงกับชาวโลกแล้วว่า ใครบ้าอำนาจก่อฆาตกรรมอำมหิตเข่นฆ่าชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งต่อสู้ด้วยมือเปล่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้แผ่นดิน หน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติ คือ การร่วมจารึก “ความจริง” อันเป็นแก่นแท้ของประวัติศาสตร์ในแนวทางของชาติเสรี ชีวิตสั้นแต่ประชาธิปไตยจะยืนยงหากเราไม่ยอมถูกกดด้วยเผด็จการนานนิรันดร์

นิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons” 
โดย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา- October 6 Museum Project ร่วมกับ มูลนิธิ คณะก้าวหน้า - Progressive Movement  และ Common School เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้ - 13 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 - 21.00 น. (ปิดทำการทุกวันจันทร์) ณ KINJAI CONTEMPORARY 

 
ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ คณะทำงาน “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา”
ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ คณะทำงาน
“โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา”