ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เจตจำนงเสรีแห่งชีวิต … วัน-เลือก-ตาย “PLAN 75”

20
ตุลาคม
2565

 

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีวินัยต่อการใช้ชีวิตที่วิ่งสวนทางกับอุดมคติแบบสุขนิยม เมื่อประเทศเข้าสู่ฐานะการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจจนได้สมญา เสือแห่งเอเชีย ที่เติบโตแบบวิ่งแข่งกับมหาอำนาจตะวันตก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้บทเรียนที่โลกต้องจดจำ จนถึงวิกฤตโควิด-19 มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมาก นำมาซึ่งความกดดันหลายด้านและมีจำนวนคนฆ่าตัวตายที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันประชากรมีอายุเฉลี่ยที่ 48 ปี จำนวน 1 ใน 4 คนมีอายุมากกว่า 65 ปี ภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้ ประชากร 1 ใน 5 คนจะมีอายุ 75 ปี ปัจจุบันญี่ปุ่นจึงเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มที่ โดยมีประชากรอายุเกิน 100 ปี มากเป็นประวัติการณ์

เมื่อทุนนิยมข่มอุตสาหรรมให้ใช้แรงงานคนหนุ่มสาวเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบแทนมนุษย์สูงวัยที่ใกล้โรยรา ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญในเมืองซางามิฮาระ โดยชายหนุ่มอายุ 27 ปี (ขณะนั้น) เจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราฆ่าหมู่ผู้สูงอายุตาย 19 ศพ บาดเจ็บ 26 คน เมื่อปี 2016 ศาลแขวงโยโกฮามะ นัดอ่านคำพิพากษา[1] มีคำสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เขาไม่ต้องการอุทธรณ์ เหตุผลกล่าวอ้างของเขา คือ เพื่อกวาดล้างภาระของสังคมที่ต้องแบกรับซากทรุดโทรมเหล่านี้ และมั่นใจว่าตัวเองได้ทำเพื่อบ้านเมืองอย่างถูกต้องสมศักดิ์ศรีแล้ว จึงยอมรับความผิดนี้โดยดี

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของภาพยนตร์ “PLAN 75” ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับโครงการรัฐที่ใช้แก้ปัญหาประชากรเกินสมดุล ต้องกำจัดคนแก่อายุเกิน 75 ปีของญี่ปุ่น ผลงานกำกับภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของ จิเอะ ฮายากาวะ ผู้กำกับหญิงชาวญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลพิเศษ “ผู้กำกับหน้าใหม่” (Caméra d’Or – Special Distinction) จาก “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 75” (2022 Cannes Film Festival) เป็นภาพยนตร์ที่ถูกเลือกเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศในปีนี้ 2023

“PLAN 75” โดดเด่นด้วยประเด็นที่เป็นปัญหารุนแรงร้ายลึกของโลกซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นจริงได้ในเร็ววันนี้ ผ่านเรื่องราวของ 4 ชีวิตที่ต่างโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา และบอกเล่าความไร้หวังที่เป็นเหตุแห่งการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ บนความแตกต่างในการใช้ชีวิตของแต่ละคน ด้วยกลการเล่าเรื่องอย่างประณีตละเอียดอ่อนต่อทุกองค์ประกอบของภาพยนตร์ จนมีคำถามตามมาว่ายุติธรรมไหมกับการการุณยฆาตต่อมนุษย์ แต่กับอีกวิธีคิดสำหรับลูกพระอาทิตย์ที่เชิดชูเลือดบูชิโดรักชาติเข้มข้นจนเข้าข่ายความตายเพื่อบ้านเมืองจึงกลายเป็นเรื่อง “หน้าที่” ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่ยังมีหัวใจในความเป็นมนุษย์คือที่สุดของคำถามตามมาจากชาวโลก อะไรคือตัวกำหนดให้ต้องปลดปล่อยปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีฆ่า เพราะคิดว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด และ เรามีสิทธิ์ที่จะสามารถเลือกจบชีวิตด้วยตัวเองได้จริงหรือ?

 

 

หนังถูกออกแบบงานสร้างในแนว Semi Documentary ที่มีบุคลิกลึกนิ่งแนว ZEN เน้นความสมจริงเชิงสารคดีด้วยการจำลองโลกส่วนตัวที่คับแคบ บีบมุมภาพแทนสายตาความรู้สึกของคนดูให้ซึมซับกับบรรยากาศซึมเซาและเศร้าหมอง ที่ได้เฝ้ามองความเป็นไปในอนาคตของตัวเองด้วยสายตาพล่ามัวผ่านตัวละครหลัก คาคูยะ มิจิ หญิงไร้ญาติอายุ 78 ปี ผู้สันโดษ เธอมีลักษณะเด่นของผู้ดีญี่ปุ่นรุ่นเก่าที่นุ่มนวลอ่อนโยน ให้ความเคารพต่อทุกคนบนฐานวัฒนธรรม (Miji อาจมาจาก mamy + fuji ก็เป็นได้ หนังเปิดโอกาสให้คิดค้นความหมายผ่านสัญลักษณ์เชิงลึกมากมายตลอดเรื่อง ตั้งแต่การออกแบบชื่อชัดที่ PLAN แต่ตัวเลข 75 พร่าเลือนเหมือนจงใจจะบอกนัยของวัยในแสงตะวันรอนอ่อนแรงที่ฉากหลัง)

หนังเปิดเรื่องก็ช็อกคนดูตั้งแต่ฉากแรกด้วยชายหนุ่มยิงตัวตายอย่างเด็ดเดี่ยวในห้องพักสภาพโดดเดี่ยว แต่หนังกลับเหนี่ยวอารมณ์คนดูด้วยเสียงเปียโนที่สดใสรื่นเริง เสมือนจะร่วมยินดีกับคนที่สามารถการุณยฆาตให้ตัวเองได้สำเร็จ เป็นเกริ่นนำที่ยืนยัน direction ของเรื่องได้ชัดเจนมาก สื่อถึงสังคมที่สิ้นหวังผู้คนทุกข์ทนทับทวีอยากหลบหลีกจากโลกไม่เลือกวัย นับประสาอะไรกับคนชราไร้อนาคตหมดที่พึ่ง

 

 

หนังร้อยเรียงภาพชีวิตประจำวันในสังคมของผู้สูงวัยกลางเมืองใหญ่ นำแสดงโดย จิเอโกะ ไบโซะ วัย 80 ปี ดาราอาวุโสมากฝีมือที่ทำให้เชื่อสนิทใจว่านี่คือชีวิตจริง คุณยายตกงาน ไร้ญาติ ขาดที่อยู่ รายรอบด้วยผู้คนในวัยใกล้เคียงกันที่ล้วนรอวันตาย คุณยายมิจิตัดสินใจสมัครเข้าโครงการ PLAN 75 ฆ่าประชากรอายุเกินของรัฐอย่างเด็ดเดี่ยว แม้กติกาสามารถเปลี่ยนใจได้ตลอดก็ตาม เพราะมาจากความต้องการของคนที่รู้สึกตัวตนไร้ค่าหาประโยชน์ไม่ได้ และถูกด้อยค่าในสังคมที่อุดมไปด้วยการใช้คนทำงานหนักประหนึ่งมนุษย์เป็นเครื่องจักร เมื่อหมดแรงตกรุ่นก็ต้องโละไม่ให้รั้งระบบจบที่ตัวเลขบอกอายุ

การพยายามหางานเลี้ยงชีพถึงทางตันเมื่อต้องรับหน้าที่ยืนให้สัญญาณไฟริมถนนในกลางดึกที่หนาวเหน็บ เป็นภาระที่เหนื่อยหนักเกินจะรับไหว หันไปของานทางไหนก็ได้รับการปฏิเสธ มีเพียงหญิงสาวอายุราว 20 กว่า ชื่อ โยโกะ (ยูมิ คาวาอิ) พนักงานผู้ช่วยให้คำปรึกษาเท่านั้น ที่พอจะเป็นเพื่อนคลายเหงาเข้าใจ “โทรมาได้ตลอดเลยนะคะ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่คุณอยากคุย” เมื่อรู้สึกเคว้งและไม่มีใคร การโทรไปหาคนแปลกหน้าที่ยินดีรับฟังหลังถูกฝึกมาเป็นอย่างดีก็ช่วยให้สบายใจขึ้น เกิดเป็นความผูกพันทางใจแม้ให้เวลาคุยเพียงสั้นๆ ตามกำหนดกฎโครงการ แต่ทุกวินาทีคือความสุขค่ามหาศาลสำหรับคนที่มีความหวังสุดท้ายคือความตาย

หลังจากนั้นไม่นานนัก ความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อก็นำสองชีวิตแหวกกฎมาพบกันเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้พบได้ดูแลซึ่งกันและกัน คุณยายจิตใจดีเมตตาต่อผู้น้อย มอบเงินชดเชยจากโครงการ 1 แสนเยน ให้เธอผู้อบอุ่นอาทร ไม่ใช่เพียงเพราะไม่มีทายาทจะส่งต่อเมื่อใกล้วันเลือกตาย แต่เป็นการตอบแทนน้ำใจและความมีหัวใจ ทั้งสองคนใช้เวลาร่วมกันด้วยกิจกรรมของคนต่างวัยที่ไม่ไร้ความหมาย โบว์ลิงคือเกมท้าทายที่ต้องการความมีสติ สมาธิต้องนิ่งจริงๆ ลูกจึงจะวิ่งได้ตรงราง คุณยายสามารถวินแบบ clean game จบครบ 10 ช่อง บอกศักยภาพที่แน่นจากภายในแต่ต้องจากไปเพราะระบบกำจัดส่วนเกินของสังคม เป็นความสุขท่ามกลางความสิ้นหวังของวัย (กับเพื่อนๆ ของคุณยาย บทขยี้รายละเอียดด้วยการเสพเศษความสุขผ่านแอปเปิลสีแดงที่แบ่งปัน แฝงมากับช่วงสังสรรค์ในบทเพลงคาราโอเกะ ที่เงินชดเชยให้โอกาสสนานสนุกเป็นครั้งสุดท้าย…)

“แม้เราจะมีลูกแต่ก็ยังโดดเดี่ยว สุดท้ายชีวิตก็มีแค่ตัวเรา” สัจธรรมที่คุณยายพร่ำเตือนหลังเพื่อนๆ ทยอยเดินทางไกลอย่างเงียบๆ และเยียบเย็น ทิ้งให้คนที่ยังอยู่ต่อสู้กับความโหดร้ายของโลกใหม่ในวัยชราต่อไป ก่อนวันสุดท้ายของโครงการคุณยายโทรขอบคุณโยโกะที่คอยดูแลเป็นเพื่อนคุย เพราะมันเป็นสิ่งมีค่าเหลือเกินสำหรับคนที่ไม่มีใครให้ผูกพันสั้นๆ ไม่ฟูมฟายแต่คนดูใจสลายไปกับถ้อยคำจากใจในวันอำลา

 

 

หนังให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย กระจายบทอย่างมีความรับผิดชอบต่อภาพพจน์ของประเทศ กำหนดขอบเขตตัวละครเป็นคนหนุ่มสาววัยสดใสมาดูแลผู้สมัครใจพลีชีพ บีบให้สะท้อนใจในความอบอุ่นอ่อนโยนที่ปฏิบัติต่อกันอย่างญาติมิตร มีไมตรีจิตทั้งจากสีหน้า แววตา กริยา และการแสดงออก ทุกคนมีความรู้สึกลึกรันทดในบทของตัวเอง สะเทือนใจในงานที่ต้องทำเหมือนคนอำมหิต จิตใจไม่ปกติสุขที่ต้องสนับสนุนการตายก่อนกำหนด (ทั้งที่ไม่มีใครรู้กำหนดจริงวันไหน)

พนักงานอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของโครงการ ชายหนุ่มนัยน์ตาโศกเศร้าอายุราว 30 กว่า รับบทโดย ฮิโรมิ (ฮายาโตะ อิโซมุระ) เขาเปิดรับสมัครสมาชิกโครงการท่ามกลางความคิดขัดแย้งจากผู้คนในสังคม ค่านิยม และศีลธรรม ด้วยกฎที่ไม่ให้พนักงานรับดูแลญาติสามช่วงอายุคน แต่เขาได้ดูแลลุง (พี่ของพ่อ) ที่ขอเข้าโครงการ ลุงเป็นพนักงานเก็บขยะในลานจอดรถ ในวันที่เขาเดินทางไปเยี่ยมเพื่อดูแลเตรียมงานที่บ้าน ค้นพบบัตรโดยสารที่ลุงเก็บสะสมไว้หลังเดินทางไกลเพื่อไปบริจาคเลือดตามที่ต่างๆ ฮิโรมิขำแต่ก็ให้ความเห็นว่าบัตรรุ่นเก่ามีดีไซน์ที่ได้อารมณ์สะสมไมล์มากกว่าแบบใหม่ (คงจะเป็น smart card)

ลุงทิ้งบัตรรุ่นใหม่ลงในถังทันทีเพื่อที่จะบอกหลานว่า ถ้ายังเลือกได้ รักชอบสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น เพราะมันคือตัวตนของเรา โดยที่คนอื่นไม่จำเป็นต้องเข้าใจในเหตุผลของการกระทำ ขอแค่เป็นความสุขของเราและยังประโยชน์ต่อคนอื่นเท่านั้นก็เพียงพอ เพราะชีวิตไม่ได้ติดเข็มสะสมไมล์ให้รู้ล่วงหน้า ถึงเวลาก็ต้องไป เดินทางไกลไม่มีวันกลับคืน…

 

 

หนังส่ง มาเรีย (Stefanie Arianne ลูกครึ่งญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์) มารับบทแรงงานต่างด้าวที่รับจ้างทำงานสารพัดเพื่อส่งเงินให้ลูกสาวรักษาตัว และหนึ่งในนั้นคืออาชีพพนักงานจัดการศพ เมื่อลำบากได้รับการสงเคราะห์จากสังคมทั้งปัจจัยและให้โอกาสทำงาน เป็นการสื่อว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้มีจิตใจโหดร้าย แต่โครงการนี้เป็นเพียงมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรเท่านั้น แม้คนต่างชาติเขายังแบ่งปันช่วยเหลือกันตามอัตภาพ

ในวันที่มาเรียได้งานเป็นพี่เลี้ยงเด็กดูแลรับส่ง สารสื่อสะเทือนใจทำให้คิดถึงลูกที่ห่างอกแม่ แม้วันที่ต้องไปรับเด็กหญิงกลับบ้าน งานภาพสวยด้วยความหมายร้ายลึก เป็นฉากเดียวของเรื่องที่เน้นมุมกว้างเวิ้งว้างบนทางเปลี่ยว มาเรียถีบจักรยานมาคนเดียวบนถนนสูงภาพระยะไกลที่ไร้รถคนสัญจรผ่าน ที่นั่งด้านหลังมองดูไกลๆ ในองศาย้อนแสงเหมือนมีเด็กนั่งซ้อนมา แต่ไม่มี ภาพย้ำความจริงที่ต้องสู้อยู่เพียงลำพังบนโลกกว้างใบเก่า เป็นภาพเหงารันทดที่งดงามนัก

งานหลักมาเรียทำหน้าที่ดูแลคนตายภายในห้องดับจิต แล้วจัดคัดแยกสมบัติไว้ภายในห้องแคบๆ แต่เต็มไปด้วยข้าวของที่ติดตัวมากับคนตาย ชายเพื่อนร่วมงานเก็บแว่นตาที่ชอบไปใช้ เขายื่นนาฬิกาสวยหรูดูดีมีราคาแพงของคนตายให้เธอ ด้วยความคิดที่ควรใช้ของให้คุ้ม บทตั้งใจบอกว่าจงใช้วันเวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มทุกนาทีอย่าให้สูญเปล่า ข้าวของทั้งหมดทั้งมวลควรทำประโยชน์ได้ตามหน้าที่ ไม่ใช่มีไว้โชว์ สมบัติทั้งหลายตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอย่าโลภหรือบริโภคเกินพอดี แม้กับสิ่งที่จำเป็นต้องมีก็ควรมีอย่างพอดี ใช้ชีวิตสมถะคือสรณะที่พึงสังวรณ์ก่อนตาย

 

 

วันสุดท้าย ทุกคนต้องมานอนรมควันรอความตายในห้องรวมที่มีสภาพบรรยากาศเหมือนห้องดับจิต (ทุกคนจะถูกจัดแยกนอนบนเตียงเรียงแถวยาว ถ้าเลือกตายรวมเป็นกลุ่มจะเผารวมกันฟรี ถ้ามีญาติขอรับไปก็ให้สิทธิ์) มีเครื่องรมควันปิดครอบจมูกไว้แล้วนอนรอเวลา คุณยายมิจิกับคุณลุงได้เตียงติดกันเพราะเป็นวันที่มีสองคน หนังส่งสารด้วยเสียงโทรศัพท์ของพนักงานที่ประสานกับส่วนอื่นว่าเครื่องมือมีปัญหา ทำให้คุณยายมิจิรอดชีวิตจากการุณยฆาต เพราะคุณยายเปลี่ยนใจถอดเครื่องครอบควันออกขณะมองเห็นคุณลุงเตียงใกล้จากไปต่อหน้าต่อตาอย่างสงบ เหลือเพียงหลานพนักงานเจ้าของเคสอาวรณ์ย้อนกลับมารับด้วยอาลัย

เขาพยายามนำคุณลุงกลับบ้านด้วยความทุลักทุเล มาเรียผ่านมาพบช่วยนำศพไร้ญาติขึ้นรถ ขณะผ่านด่านตรวจฮิโรมิบอกกับตำรวจว่าพาคุณลุงกลับบ้าน อาการปกติเหมือนคนแก่นั่งหลับ หรือลุงเพียงสลบไปเพื่อให้คุณยายพบคำตอบและการตัดสินใจใหม่ หรือบทจะบอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่ชะตากำหนดไว้ เพราะว่าแท้จริงแล้วเราต่างเลือกวันตายตัวเองไม่ได้ และมีสิ่งเหนือคำอธิบายมากมายเป็นตัวกำหนด

หนังเปิดโอกาสให้คิดตีความได้ตามทัศนะประสบการณ์ ทั้งในมุมของปัจเจกและประเด็นทางสังคม แม้หนังจะพูดถึงปัญหาในทุกมิติแต่ก็ทิ้งคำถามไว้ตามติดทุกคน “ถ้าเป็นคุณ จะเลือกอยู่หรือตาย?” บางคนบอกความเหงาน่ากลัวกว่าความตาย มันทำร้ายคนได้อย่างเลือดเย็นมากกว่าความตาย จึงมีความหมายไม่ต่างกัน สุดท้ายต้องปล่อยไปตามยถากรรม ถ้าคำตอบยังเดินทางมาไม่ถึง… และจากการสอบถามผู้คนมากมายก่อนชม PLAN 75 ได้คำตอบที่ไม่ต่างกันมาตลอดว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดทำให้รับไม่ได้สู้ไม่ไหว คือการกลายเป็นภาระของคนอื่น เพราะหมดสมรรถภาพและศักยภาพในการดูแลช่วยเหลือตัวเองในทุกด้าน ที่ไม่ใช่เพียงป่วยติดเตียง หรือสติเลอะเลือน เป็นความรู้สึกที่หมดคุณค่าไม่น่ามีชีวิตอยู่อีกต่อไปคือคำตอบชัดเจน

“ความรู้สึกที่ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นภาระของสังคม และพวกเขาอับอายที่ต้องไปขอสวัสดิการจากรัฐ บรรยากาศตอนนี้ทำให้ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นคนไร้ค่า สิ้นหวัง และที่หนักหนาที่สุดคือ กลายเป็นคนมองไม่เห็นความเจ็บปวดของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันตั้งใจเล่าในหนัง” ผู้กำกับฯ หญิง จิเอะ ฮายากาวะ กล่าวโดยไม่กลัวการตีกรอบทางความคิด เพราะหนังได้ยืนยันความจริงด้วยตัวเองอย่างชัดเจนแล้ว [2]

เหตุผลของการเลือกตายกับเหตุผลของการใช้ชีวิตเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ในหนัง 5 รางวัลประกันคุณภาพเรื่อง “The Burial Society” แนว Dark Comedy ชี้ประเด็นการใช้ทรัพยากรระหว่างคนตายกับคนเป็น โดยมีพื้นที่อยู่อาศัยแสดงความเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนต่อปัญหาที่มีมานานแล้ว และในหนังยอดนิยมอกเรื่อง “Me before You” ให้เหตุผลของการเลือกตายจากโจทย์ที่ต่างกัน แต่เป็นประเด็นเดียวกันคือเรื่องสิทธิในการใช้ชีวิตของมนุษย์

หนังสร้างจากหนังสือขายดีของ Jojo Moyes เมื่อปี 2012 เธอรับหน้าที่เขียนบทด้วย เป็นหนังใหญ่เรื่องแรกของผู้กำกับหญิง Thea Sharrock หนังเล่าชีวิตของ วิล เทรย์เนอร์ (Matthew Lewis) ชายหนุ่มในตระกูลผู้ดีอังกฤษที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบในความเป็นเทพบุตรของหญิงสาว วันหนึ่งเขาประสบอุบัติเหตุร้ายแรงทำให้กลายเป็นคนพิการ ความเจ็บป่วยรังควานให้เขาทรมานกับการมีชีวิตอยู่ แล้วโลกน่าเบื่อก็เปลี่ยนไปเมื่อมี ลูอิซ่า คล้าก (Emilia Clarke) หญิงสาวสวยผู้ช่วยดูแลเข้ามาโอบกอดความงดงามของชีวิต เป็นความรักใหม่สดใสอ่อนหวานสราญชีวา แต่ว่าไม่ได้เติมเต็มให้เขามีชีวิตที่สมบูรณ์เหมือนเดิมได้

เขายังเลือกที่จะตายอย่างเด็ดขาดโดยใช้สิทธิการุณยฆาตอย่างปราศจากความอาวรณ์อาลัย แล้วมอบทุนการศึกษาไว้ให้คนรักได้ร่ำเรียนในสาขาที่ชอบ เพื่อใช้เป็นไปเบิกทางไปสู่การมีชีวิตตามที่ใฝ่ฝัน นั่นจึงจะหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าตามอุดมคติของเขา… เป็นคำตอบสุดท้ายต่อความหมายของการมีชีวิตในแบบ perfectionist ที่เงื่อนไขคือความสมบูรณ์แบบ เป็นความขมขื่นไม่ต่างจากการจำยอมที่จำใจต้องเลือกเพราะไม่เหลืออะไรให้เลือกแล้วเช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นตรรกะของความ “คุ้มค่า” หรือ “ไร้ค่า” สิทธิในการเลือกที่จะมีชีวิตอยู่หรือตายต่างมีความหมายที่เป็น PLAN เดียวกัน เพราะมันคือ เจตจำนงเสรีของชีวิต

 

[1] ศาลสั่งประหารหนุ่มญี่ปุ่นแทงคนแก่ 19 ศพ, สำนักข่าวอมรินทร์ ข่าวต่างประเทศ 17 มีนาคม 2563, 17 มีนาคม 2563, สืบค้น 21 กันยายน 2565 , https://www.amarintv.com/news/detail/23273

[2] ข่าวล่าสุด : Breaking News, PLAN 75 สูงวัยเลือกอยู่หรือตาย ในวันที่สังคมญี่ปุ่นขาดความเห็นใจ,  paisehipaise.com, 8 กันยายน 2565, สืบค้น 18 กันยายน 2565, https://paisehipaise.com/plan75สูงวัยเลือกอยู่หรือตา/