วันที่ 10 ธันวาคม (วานนี้) เนื่องในวาระ “วันรัฐธรรมนูญ” สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย จัดงานเสวนาวิชาการ ภายใต้ชื่อ PRIDI Talks #18 x SDID “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวเปิดงานโดย ศาสตราจารย์ ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวนำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมเสวนาโดย กล้า สมุทวณิช นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw ดำเนินรายการโดย วิโรจน์ อาลี
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำในหัวข้อ “การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ” ถึงการสถาปนาระบอบปกครองโดยมีหลักการสำคัญคือประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ อันจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
กล้า สมุทวณิช ในหัวข้อ “ทฤษฎีอำนาจกับการสถาปนารัฐธรรมนูญ” อำนาจสถาปนาของรัฐธรรมนูญ ที่มีจุดกำเนิดนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม อำนาจดังกล่าวได้ก่อกำเนิด “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม” ให้แก่ประชาชนในทางทฤษฎี ตลอดจนเส้นทางแห่งรัฐธรรมนูญไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงฉบับปัจจุบัน พร้อมทั้งเน้นย้ำข้อพึงระวังเพื่อปิดช่องโหว่และลดอุปสรรคให้ได้มากที่สุดสำหรับให้หนทางสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญในมุมมองรัฐศาสตร์” โดยวิพากษ์สถานะของวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 อีกทั้งยังระบุว่ารัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ที่สุด หากแต่ควรจะเป็นพื้นที่ที่ให้สังคมได้เรียนรู้และพัฒนาให้กลไกดังกล่าวนี้ดียิ่งขึ้นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญในมุมมองของนิติศาสตร์” กล่าวถึงความป่วยไข้ของระบบการเรียนการสอนในแวดวงนิติศาสตร์ที่นำมาซึ่งทัศนคติและค่านิยมในหมู่นักกฎหมายอันก่อให้เกิดการลดทอนคุณค่าของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ พร้อมทั้งเน้นย้ำบทบาทของรัฐที่พึงกระทำ คือ การพิทักษ์รัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน
รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับประชาชน” กล่าวถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่มีต่อประชาชน อันจะเป็นหลักการและกติกาสำคัญที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมืองอย่างเสมอภาค นอกจากนี้ยังได้เสนอถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ด้วยข้อเสนอว่ารัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องเป็นตั้งอยู่บนการออกแบบที่ยืดหยุ่นและพร้อมที่จะถูกแก้ไขเพื่อรองรับต่อพลวัตทางสังคม
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กับ “การเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” บอกเล่าถึงเส้นทางการเคลื่อนไหวเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดจากการผลักดันของภาคประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมตั้งคำถามต่อนักการเมืองในประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง
พร้อมกันนี้ ในช่วงท้ายได้มีการเปิดตัวหนังสือ “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” โดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ซึ่งเป็นปาฐกถาในวาระ 90 ปีแห่งการอภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เนื้อหาภายในเล่มกล่าวถึงการขยายเพดานความรู้และอธิบายถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส
หลังจากนั้นได้มีการนำเสนอรายงานการวิจัย เรื่อง ความคิดทางรัฐธรรมนูญและความมุ่งหมายทางการเมืองในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ : ศึกษาผู้ร่วมออกแบบร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550, 2558 และ 2560 โดย ดร.ชาย ไชยชิต และ และดร.เอกลักษณ์ ไชยภูมี นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นอกจากงานเสวนาภายในหอประชุมฯ บริเวณหน้างานได้มีการจัด “งานหนังสือของราษฎร” โดยมีสำนักพิมพ์ชั้นนำเข้าร่วม อาทิ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย มูลนิธิโครงการตำราฯ สำนักพิมพ์มติชน สำนักพิมพ์สมมติ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ และ iLaw เป็นต้น
สามารถรับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ :