ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จากต้นกล้าเฟมินิสต์สยาม สู่การสลายเส้นแบ่งใหม่ในปัจจุบัน

4
มกราคม
2566

ผู้ที่ได้อ่านบทความเรื่องต้นกล้าเฟมินิสต์ทั้ง 2 ตอน คงพอจะเห็นความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของสิ่งที่ Scot Barme เรียกว่า “ต้นกล้าเฟมินิสต์”[1] ในสังคมไทยระหว่างช่วงรอยต่อของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้

การรับเอามโนทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ ไม่ว่าจะแสดงผ่านสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย สิทธิทางการศึกษา ไปจนถึงกฎหมายภายใต้ระบบผัวเดียวเมียเดียว สิ่งเหล่านี้คือดอกผลจากการต่อสู้ของผู้หญิงในยุคสมัยก่อน 24 มิถุนายน 2475 ราวๆ 2-3 ทศวรรษ คำถามคือ มรดกแห่งการต่อสู้จากยุคนั้นจนถึงวันนี้ควรพิจารณาใหม่อย่างไร?

 

ชายเป็นใหญ่ในฐานะระบบทางสังคม

การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แม้ว่าจะกระทำผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองได้ แต่โครงสร้างทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ยากลำบากยิ่งกว่านั้น กล่าวคือในสังคมสยามต่อเนื่องถึงไทย ระบบชายเป็นใหญ่ได้กำหนดรหัสทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่ทำให้แม้ในทางกฎหมายและการเมืองของรัฐบาลคณะราษฎรเปิดกว้างมากขึ้น แต่ยังพบอุปสรรคจำนวนไม่น้อย สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศมาปรากฏตัวในรัฐสภา ผ่านผู้แทนราษฎรที่เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมาหลังจากที่ประเทศสถาปนาระบอบประชาธิปไตย

จากการศึกษาของสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ[2] พบว่า มโนทัศน์ว่าด้วยเสรีภาพและความเสมอภาคได้รับการเน้นย้ำความหมายในระดับชาติทั้งระบอบใหม่นี้ก็ยอมรับความต้องการและผลประโยชน์ของราษฎรทั่วไปอย่างน้อยก็ในทางหลักการ ดังปรากฏในมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ว่า

“ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้”

การตรากฎหมายฉบับอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ต่างมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญต่อการสร้างบรรทัดฐานทางเพศใหม่ เช่น ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะบรรพ 5 ซึ่งต้องการทลายการแบ่งแยกทางเพศไว้ในส่วนครอบครัว อันสัมพันธ์กับมโนทัศน์ลำดับศักดิ์ที่ตกทอดมาจากสังคมจารีต การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นเพียงการสร้างพานรัฐธรรมนูญขึ้นมาบูชา ได้ถูกยกระดับการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงในครอบครัว

ชุดกฎหมายครอบครัวคือตัวอย่างที่สำคัญ ดังที่ได้มีการรับเอาหลักผัวเดียวเมียเดียวมาใช้เป็นครั้งแรก จากเดิมที่ผู้หญิงเคยมีฐานะเป็นเพียงสินทรัพย์ที่ใช้ขัดดอกได้ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสามี-ภรรยาในครอบครัว จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ผู้เอาใจใส่ศึกษาช่วงเวลาแห่งการอภิวัฒน์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เราคงได้เห็นแล้วว่าการพยายามสร้างความเสมอภาคทางเพศของคณะราษฎร ไม่สามารถกระทำได้อย่างโดดเดี่ยว หากไม่มีพลังของผู้หญิงชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นมาในช่วงปลายระบอบเก่าแล้วสื่อสารผ่านสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ก็ยากที่จะสำเร็จในเวลาต่อมา มรดกเหล่านี้ยังส่งทอดมายังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามัญชนในทศวรรษ 2470-2480

ถึงตรงนี้ ความตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ ไม่จำกัดอยู่ภายในรัฐสภาเท่านั้น ข้าราชการกรมป่าไม้บางคน เช่น พระยาพนานุจร (เปล่ง สาครบุตร) ข้าราชการกรมป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ได้แสดงความเห็นว่า สยามควรจะเปลี่ยนแปลงขนบครอบครัวให้ตอบสนองต่อระบอบการเมืองใหม่ที่ยึดหลักความเสมอภาคด้วย ดังข้อความที่จับใจบางช่วงบางตอนว่า

“เห็นได้ชัดทีเดียวว่า เพราะเหตุว่าชายชาวสยามทุกๆ ชั้น ได้มีสิทธิ์ฟุ่มเฟือยมากเกินไปในเรื่องการมีภรรยาได้ตามความพอใจโดยไม่มีข้อจำกัดจำนวนนั้นหาใช่อื่นไม่ บ้านเมืองของเราจึงต้องล้าเต้อยู่ ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าอยากจะว่าชายเหล่านี้เองโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามได้ช่วยกันถ่วงฐานะของชาติให้ต่ำลงแทนที่จะส่งเสริมให้สูงขึ้นอันเป็นหน้าที่… เพื่อความก้าวหน้าของประเทศในยุคนี้ เราพากันเห็นแล้วว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่เราต้องมี และโดยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมาแล้วนี้ เรายังมองไม่เห็นหรือว่าเราจำเป็นจะต้องมีกฎหมายจำกัดสิทธิ์ชายด้วย”[3]

จากทัศนะของ เปล่ง สาครบุตร เราจะพบความเชื่อมต่อกันระหว่างสิทธิทางการเมืองกับสิทธิทางเพศ นี่คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองไปพร้อมๆ กับโครงสร้างระบบวัฒนธรรมที่ฝังลึกยิ่งกว่า ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังการเปลี่ยนระบอบจะพลิกฟ้าคว่ำโครงสร้างที่กดขี่ทางเพศได้ทันที เช่นเดียวกับหนังสือความเห็นของ อัมพร ศรีกาฬสินธุ์ กำนันในจังหวัดขอนแก่น ที่มีการบันทึกคำร้องขอให้รัฐบาลออกกฎหมายลงโทษชายที่หลอกลวงหญิงไปเสียเนื้อเสียตัวแล้วปฏิเสธไม่รับหญิงเป็นเมีย

ท่าทีตอบสนองต่อความเสมอภาคทางการเมืองและทางเพศเป็นสิ่งที่สอดประสานกันอย่างน้อยที่สุดเกิดขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่รัฐของระบอบการเมืองแบบใหม่

ข้อเขียนของ “พริกไทย” เรื่อง “ชายไทยควรมีเมียคนเดียว” (ภาพถ่ายโดย สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ)
ข้อเขียนของ “พริกไทย” เรื่อง “ชายไทยควรมีเมียคนเดียว” (ภาพถ่ายโดย สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ)
ข้อเขียนของ “พริกไทย” เรื่อง “ชายไทยควรมีเมียคนเดียว” (ภาพถ่ายโดย สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ)
ข้อเขียนของ “พริกไทย” เรื่อง “ชายไทยควรมีเมียคนเดียว” (ภาพถ่ายโดย สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ)
ข้อเขียนของ “พริกไทย” เรื่อง “ชายไทยควรมีเมียคนเดียว”
(ภาพถ่ายโดย สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ)

 

จากการแยกส่วนตัวออกจากสาธารณะสู่ยุคสลายเส้นแบ่ง

ขณะที่การเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาว่าด้วยสิทธิผู้หญิงของสิ่งพิมพ์หลังการเปลี่ยนระบอบ ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หลายกรณีพวกเธออาศัยวันสำคัญของชาติ เช่น วันรัฐธรรมนูญ เขียนถ้อยแถลงติดตามความคืบหน้าของกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวนี้ สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ ประเมินว่าการเคลื่อนไหวยังไม่เข้มข้นนัก เมื่อเปรียบกับประเทศในอาณานิคม ตัวอย่างเช่น ในพม่ามีองค์กรในรูปแบบขบวนการเรียกร้องพ้องไปกับขบวนการชาตินิยมที่กำลังก่อตัว หญิงสาวที่พม่าในเวลาเดียวกันกับสยามหลัง 2475 เคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ อาทิ กฎหมายสมรส การศึกษา และสิทธิการเลือกตั้ง เป็นต้น ข้อสังเกตของสุรเชษ์ฐ คือ เกิดจากสภาวะที่สยามไม่ได้ผ่านประสบการณ์ต่อต้านอาณานิคมโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการต่อสู้จะเกิดขึ้นอย่างว่างเปล่า ดังที่เราได้เห็นในบทความชุดเรื่องเฟมินิสต์สยาม แม้การเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นในแวดวงจำกัด หมายความว่าในหมู่ผู้หญิงที่อ่านออกเขียนได้ผ่านนิตยสารและสิ่งพิมพ์ แต่ผลกระทบจากนั้นยังส่งผลต่อผู้แทนหน้าใหม่ที่มาจากสามัญชน นักการเมืองหญิง ข้าราชการหญิงที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น เหล่านี้ส่งทอดมรดกการต่อสู้ของผู้หญิงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

เราจะเห็นกรอบคิดเช่นนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจาก ศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เมดิสัน สหรัฐ ได้กล่าวในปาฐกถา “ผู้หญิง ก่อน-หลัง การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475” เธอกล่าวถึงพลังของบทบาทผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จาก ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของ นายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎร อันเป็นแรงบันดาลใจถึงคนรุ่นถัดมา อาทิ องุ่น มาลิก, ระคน จุลลภมร, รัตนา สกุลไทย, วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, จินตนา แก้วขาว, จิตรา คชเดช, พะเยาว์ อัคฮาด, สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ฯลฯ ซึ่งรายชื่อเหล่านี้สมควรถูกบันทึกไว้ถึงตำนานประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สังคมที่ดูถูกผู้หญิง[4]

หากเรารับข้อคิดที่มาจากฮาเบอร์คอร์น เพื่อมาพิจารณาต่อการต่อสู้ในปัจจุบัน เราจะไม่เพียงพบด้านที่ทรงพลังของการไม่มีชื่อและชีวิตของผู้หญิงเหล่านั้นในหน้าประวัติศาสตร์ หากยังเป็นวิธีการของการสลายสิ่งที่เคยถูกยอมรับมาโดยตลอดว่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ชาย

ในปัจจุบัน ที่การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางการเมืองและความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกัน ข้อคิดการสลายเส้นแบ่งเดิม สมควรถูกนำมาพิจารณา นักคิดสายเฟมินิสต์อย่าง Nancy Fraser เสนอเรื่องนี้ไว้ในงานเรื่อง “What's Critical about Critical Theory? The Case of Habermas and Gender?”[5] ว่า สาระสำคัญของวิธีวิทยาแบบเฟมินิสต์ คือ การปลดปล่อยชนชั้นผู้หญิงจากสังคมชายเป็นใหญ่ สิ่งที่ Fraser เน้นย้ำ คือ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมแบบไหน ล้วนต่างมืดบอดกับมิติทางเพศ โดยประเด็นที่ถูกละเลย เกิดขึ้นตั้งแต่ประเด็นเรื่องแรงงาน การบริโภค พลเมือง (Citizen) ซึ่งที่สุดแล้วแม้แต่ผู้หญิงจึงมีฐานะเป็น “ตัวบทย่อย” (subtext) อันเป็นเรื่องเล่าภายใต้การครอบงำทางเพศ

ฉะนั้น ทางออกของการต่อสู้แบบนี้มีความแตกต่างไปจากยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นความพยายามแยกปริมณฑลส่วนตัวจากสาธารณะ ทว่า ในการต่อสู้ยุคปัจจุบันกรอบคิดเรื่องเพศได้พัฒนามาสู่การสลายการคิดแบบคู่ตรงข้ามหรือการแยกปริมณฑลสาธารณะกับปริมณฑลส่วนตัว ซึ่งการแบ่งคู่ตรงข้ามเช่นนี้นำไปสู่การกดขี่ทางเพศอย่างมากและเปิดให้มีการใช้ความรุนแรง

ข้อเสนอของเฟมินิสต์จึงเป็นการยกระดับปริมณฑลส่วนตัวให้เป็นประเด็นทางสังคมและต้องสร้างให้เกิดการยอมรับความแตกต่าง ท้ายที่สุดแล้ว เส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในปัจจุบัน แม้ว่าอาจจะเห็นหน้าตาแตกต่างไปบ้างจากเมื่อ 90 กว่าปีที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยไม่เคยขาดแคลนคือผู้หญิงในฐานะผู้ถูกกดขี่ ได้ออกมาต่อสู้ในฐานะพลังหลักของขบวนการประชาธิปไตย

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

 

[2] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561, หน้า 116.

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 118-119.

[5] Nancy Fraser. 1989. What's Critical about Critical Theory? The Case of Habermas and Gender ?. in Unruly Practices: Discourse and Gender in Contemporary Social Theory. Cambridge Polity, pp.113-143.