ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“พรมแดนแห่งเสรีภาพ” กับคำถามว่าด้วยขอบเขตบนพื้นที่ของเสรีชน

8
กุมภาพันธ์
2566
ต้นฉบับบทความ “เสรีภาพ” โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์
ต้นฉบับบทความ “เสรีภาพ” โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

บทความชิ้นนี้มีชื่อว่า “เสรีภาพ” เขียนโดย “กุหลาบ สายประดิษฐ์” เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2487 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตีพิมพ์ลงสื่อสำนักไหน แต่ช่วงเวลานั้นเป็นห้วงแห่งการที่สังคมไทยอยู่ในความเป็น “รัฐนิยม”

“เสรีภาพ” เป็นหนึ่งในบทความที่ถูกนำมารวมเล่มในหนังสือ “มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ” ข้อเขียนการเมืองในฐานะนักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งได้บันทึกเป็นหมายเหตุบรรณาธิการของบทความนี้ว่า 

[ตัดตอนมาจากหมายเหตุบรรณาธิการ โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี]
“...ข้อเขียนเรื่อง เสรีภาพ เป็นต้นฉบับลายมือที่มีข้อความขาดหายมีร่องรอยชำรุดอยู่หลายแห่ง และไม่ทราบที่มาของแหล่งพิมพ์ครั้งแรก แต่ที่ท้ายต้นฉบับระบุเวลาว่าเขียนเมื่อ 4 กันย์. 87 ดังนั้นจึงทำให้ทราบว่า เป็นต้นฉบับที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2487 หมายความว่าระยะนั้นนายกุหลาบกำลังอยู่ท่ามกลางยุค รัฐนิยม ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปลายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และข้อเขียนที่ปรากฏชิ้นนี้คือหลักฐานที่แสดงถึงการต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการว่าด้วยเรื่อง “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์”

ในปี พ.ศ. 2487 นั้น นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 และเมื่อก่อตั้งแล้วได้เสนอให้พระยาปรีชานุสาส์น [บิดานายอานันท์ ปันยารชุน] เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ คนแรก ส่วนนายกุหลาบทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ และมารับเป็นนายกสมาคมคนที่ 3 โดยอยู่ในตำแหน่ง 2 วาระ ตั้งแต่ พ.ศ. 2487 จนถึง พ.ศ. 2489

กล่าวได้ว่า นายกุหลาบคือผู้ริเริ่มให้เกิดสมาคมของผู้มีอาชีพทำหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทำหนังสือพิมพ์ได้รวมตัวกันเป็นพลังต่อรองกับนายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์ และเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีหลักยึดว่า เสรีภาพ ของหนังสือพิมพ์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเหมือนหนึ่งมหาปราการแห่งเสรีภาพของประชาชน แต่หนังสือพิมพ์ก็ต้องมีหลักจริยธรรมของตน ซึ่งคนหนังสือพิมพ์จะต้องสังวรอยู่ทุกลมหายใจ เพราะ “ในการเป็นนักหนังสือพิมพ์นั้น เราจะต้องเป็นสุภาพบุรุษพร้อมกันไปเสมอ” [นายกุหลาบกล่าวกับนายสุภา ศิริมานนท์ : อ้างใน โลกหนังสือ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2521]

ช่วงเวลาที่นายกุหลาบเขียนบทความชิ้นนี้ถือเป็นระยะที่สังคมไทยยังตกอยู่ในแรงเฉื่อยของยุค “รัฐนิยม” ที่จอมพล ป. ได้ประกาศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2482 รวมทั้งหมดมี 12 ฉบับ แต่ประกาศ “รัฐนิยม” ฉบับที่สร้างความยุ่งยากใจให้กับนักเขียน นักประพันธ์มากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องการตัดตัวอักษรไทยและเปลี่ยนแปลงการสะกดการันต์ใหม่ รวมทั้งการใช้สรรพนามที่ให้ใช้ได้เพียง 4 คำ คือ ท่าน เขา เธอ ฉัน การปรับปรุงอักษรไทยแบบใหม่นี้มีผู้เรียกว่าเป็นแบบ “หนังสือจอมพล” เขียนด้วยตัวสะกดการันต์แบบใหม่ เช่น “ความจเรินไนทางภาสาเปนส่วนหนึ่งที่สแดงวัธนธัมของชาติ” ภาษาไทยแบบ “หนังสือจอมพล” ใช้อยู่เพียง 2 ปี คือใน พ.ศ. 2485 - 2487 เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ยกเลิกไป และกลับไปใช้การเขียนภาษาไทยตามแบบเดิม

ต้นฉบับของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อง เสรีภาพ ชิ้นนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นการใช้ภาษาไทยในสมัย “รัฐนิยม” ที่นักเขียน นักประพันธ์บางคนในรุ่นนั้นเห็นว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก และเป็นสาเหตุทำให้ภาษาไทย “วิบัติ” นักเขียน นักประพันธ์ บางคนต่อต้านโดยการไม่ยอมเขียนบทประพันธ์ บางคนเปลี่ยนวิถีไปใช้ชีวิตเป็นชาวไร่ชั่วคราว แค่สำหรับนายกุหลาบเห็นว่า ยอมเสียบางอย่าง เพื่อแลกกับบางอย่าง ดังนั้นเขาจึงยังคงต่อสู้เพื่อแสดงความคิดอิสระของตนในฐานะนักหนังสือพิมพ์ต่อไปเหมือนเดิม โดยยอมสื่อความหมายใช้หลักการเขียนตามกำหนดของทางการในยุคนั้น ซึ่งท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นการสะกดการันต์ของภาษาไทยที่ผิดแปลกตาไปจากในยุคนี้ เป็นต้นเช่นคำว่า สตวรรส ธัมดา นามธัม สมควน ทหาน สุภาพบุรุส วรรนคดี ความจิง กรนี มนุสย์ กดหมาย มูลถาน สีรสะ สึกสา กรมตำหรวด ประพรึต รัถธัมนูญ ก สัตริย์ ฯลฯ...”

ทั้งนี้ กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดทำบทความเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 (ล้อมกรอบ) เป็นการคงไว้ด้วยอักขรวิธีสะกดตามลายมือของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และส่วนที่ 2 ได้นำข้อเขียนปรับปรุงเป็นการสะกดตามอักขรวิธีในปัจจุบัน 

กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ 

 

เสรีภาพ

กุหลาบ สายประดิษฐ์

ภายหลังที่ “เสรีภาพ” ได้ถูกล่ามโซ่ไว้นานปี และได้มีผู้มาเปลื้องพันธนาการออก ประชาชนก็ได้อ้าแขนโอบกอดเชยชมเสรีภาพอีกครั้งหนึ่ง

แต่ว่าเสรีภาพนี้คืออะไรกันแน่? เราได้มาอย่างไร เราจะพึงใช้อย่างไรและเราจะรักษาไว้ได้อย่างไร?

ในบัดนี้ หนังสือพิมพ์พากันเรียกร้องรำพรรนถึงเสรีภาพสิ่งพลัดพรากจากไปนาน หนังสือพิมพ์จำเปนจะต้องเรียกร้อง และหวงแหนเสรีภาพของตนเปนธัมดา หนังสือพิมพ์จำเปนจะต้องต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งเสรีภาพเปนธัมดา เพราะว่าถ้าปราสจากเสรีภาพอันเปรียบเหมือนดวงใจของหนังสือพิมพ์แล้ว หนังสือพิมพ์ก็ไม่เปนหนังสือพิมพ์ตามความหมายอันแท้จิงอีกต่อไป หรืออย่างน้อยก็ไม่อาจทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ได้ เสรีภาพที่ไม่มีหนังสือพิมพ์นั้น ยังดีเสียกว่าหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีเสรีภาพเปนไหนๆ และถ้าหนังสือพิมพ์ต้องสูนย์เสียเสรีภาพไปแล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็จะพลอยสั่นสะเทือนไปด้วยกัน เสรีภาพของหนังสือพิมพ์จึงเปนหลักประกันเสรีภาพของประชาชนไปในตัว

ฉะนั้น เมื่อหนังสือพิมพ์หรือนักหนังสือพิมพ์เรียกร้องรำพรรนถึงเสรีภาพนั้น เขามิได้เรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเขาเอง หากเปนการเรียกร้องเพื่อเขาจักได้มีโอกาสบำเพ็ญกรนียกิจต่อประชาชน การเรียกร้องเสรีภาพของเขาเปนไปเพื่อสาธารนะประโยชน์

ในขณะเดียวกัน มีผู้กล่าวอ้างเสรีภาพอย่างพร่ำเพรื่อ เปนทางก่อความชอกช้ำให้แก่วิญญานของพระแม่เจ้าเสรีภาพ เช่นว่าเมื่อมีคนแต่งกายไม่เรียบร้อยปรากดตัวขึ้นในชุมนุมชน เขาว่าคนนั้นใช้เสรีภาพในทางที่ผิด เมื่อมีคนยืนถ่ายปัสสาวะริมถนน เขาก็ว่าคนนั้นใช้เสรีภาพในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเปนการกะทำมิชอบอันใด ซึ่งไม่อาจปรับเข้าเปนความผิดตามกดหมายได้แล้ว เขามักจะปรับเอาว่าเปนการใช้เสรีภาพในทางที่ผิดไปเสียทั้งนั้น เมื่อเปนเช่นนี้ นามธัมเสรีภาพอันสักดิสิทธินี้ จึงดูเปนของมีตำหนิไม่น้อยในสายตาของเขาผู้นั้น

แต่มันเปนความจริงหรือ ที่คนผู้นุ่งสโร่งหรือนุ่งกางเกงในออกไปเดินป๋ออยู่กถางถนนหลวง ด้วยมีความคิดอยู่ในสมองของเขาว่า เขายืนยันว่า เขามีเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้นได้? คนผู้ถ่ายปัสสาวะริมถนน กระทำเช่นนั้นด้วยประสงค์จะเน้นว่า นั่นเปนเสรีภาพที่มนุสย์คนหนึ่งจะพึงมีและพึงใช้ในกรนีเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าไม่คิดเลยว่าในเวลาประพรึตสิ่งที่ไม่สมควรจะประพรึตเหล่านั้น คนจำพวกนั้นกำลังคิดคำนึงถึงความสักดิสิทธิของเสรีภาพ

ดังที่ปรากตในคำประกาสอิสสรภาพของชาวอเมริกัน ค.ส. ๗๗๖ หรือดังที่ปรากตในคำปติญานสิทธิของมนุสยและพลเมืองของชนฝรั่งเสสในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ส. ๑๗๘๙ หรือดังที่ Patric Henry ได้ปลุกใจชาวเมืองของเขาว่า “Give me liberty or give me death” ไม่มีใครจะคิดไปว่าบุคคลเหล่านั้นเมื่อประพรึตเช่นนั้นเขากำลังคิดถึงหลักการอันสักดิสิทธิของเสรีภาพ หรือบางทีเขาก็อาจจะไม่ซาบเสียเลยว่ามีหลักการอันสักดิสิทธิเช่นนี้อยู่ในโลก

เราซาบกันอยู่ดีแล้วว่า การประพรึตดังกล่าวข้างต้นนั้นพึ่งได้รับการตำหนิติเตียน และเราจะใช้คำติเตียนอย่างใดๆ พอให้สมควรแก่เหตุก็ได้ แต่ไม่เปนการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้ซึ่งมีความปรารถนาจะเชิดชูความสักดิสิทธิของเสรีภาพอย่างจริงใจ จะนำเอาคำอันขลังนี้ไปใช้เป็นข้อกล่าวหาความประพรึตของบุคคล ซึ่งมิได้ตั้งใจจะอ้างหลักเสรีภาพขึ้นเปนข้อต่อสู้การกระทำของเขาเลย การอ้างคำนี้ออกใช้อย่างพล่อยๆ คำหนึ่งก็เสรีภาพ คำสองก็เสรีภาพ

ฉะนี้นามธัมเสรีภาพก็จะดูเปนของชั่วไป ผลก็จะเท่ากับเปนการลบหลู่ความสักดิสิทธิของเสรีภาพไปในตัว และการลบหลู่เสรีภาพนั้นเท่ากับเปนการลบหลู่ความเปนมนุสยของผู้นั้นเอง

ในขนะเดียวกัน ผู้ที่เชิดชูเสรีภาพบางท่านได้กล่าวเตือนคนทั้งหลายให้ระมัดระวังการใช้เสรีภาพ เขาว่าการใช้เสรีภาพต้องมีขอบเขตต์ การใช้เสรีภาพต้องอยู่ในความสมควร คำเตือนนี้ไม่เลว เปนคำที่รับฟังได้ และจะเปนประโยชน์ต่อคนผู้หลงงมงาย แต่ว่าขอบเขตต์ของการใช้เสรีภาพนั้นจะสิ้นสุดลงเพียงไหน? ปันหาข้อนี้ควรที่จะมีคำตอบ อย่างน้อยพอเปนหลักให้คนทั้งหลายได้ใช้ประกอบความคิดวินิจฉัยของเขา

คำว่าขอบเขตต์และความสมควนนั้น ยังเปนคำที่หลวมนัก เบื้องหลังคำทั้งสองนั้นยังเต็มไปด้วยปันหา ขอบเขตต์ของการใช้อยู่เพียงไหน? อะไร อย่างไร จึงจะเรียกว่าเปนความสมควร? ใครเปนผู้กำหนดขอบเขตต์ของการใช้เสรีภาพ? ใครเปนผู้กำหนดว่าการเช่นนั้น เช่นนี้เปนความสมควร และการเช่นนั้น เช่นนี้ ไม่เปนความสมควร? รัถบาลหรือประชาชนเปนผู้กำหนดขอบเขตต์ และความสมควร? ปันหาเหล่านี้ เราผู้รักเสรีภาพ เชิดชูเสรีภาพ และสำนึกตระหนักในหลักการอันสักดิสิทธิของเสรีภาพ ควรที่จะร่วมมือกันในการค้นคว้าหาคำตอบ

ตามคำปติญานสิทธิของมนุสยและพลเมืองของคนะปติวัติฝรั่งเสส ค.ส. ๑๗๘๙ เสรีภาพเปนสิทธิติดตัวของมนุสยมาแต่กำเนิด และสิทธิเสรีภาพนี้จะคงเปนของมนุสยทุกคนตราบกะทั่งตาย และไม่อาจที่จะถูกลบล้างได้ ตามคำปติญานข้อ ๔ เสรีภาพได้แก่สิทธิที่มนุสยทุกคนจะกะทำการใดๆ ก็ได้ถ้าการกระทำนั้นๆ ไม่เปนภัยแก่ผู้อื่น และตามคำปติญานข้อ ๕ กดหมายจะระบุห้ามการกะทำของบุคคลก็แต่เพียงเปนการป้องกันการกระทำที่เปนภัยต่อสังคม

ตามคำปติญานฉบับนั้น ได้เน้นระบุถึงเสรีภาพดังต่อไปนี้

๑. เสรีภาพในร่างกาย
๒. เสรีภาพในการเชื่อถือลัทธิหรือสาสนา
๓. เสรีภาพในการพูด
๔. เสรีภาพในการเขียน
๕. เสรีภาพในการพิมพ์หรือการโคสนา
๖. เสรีภาพในทรัพย์สิน

รัถธัมนูญของเรามาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ ได้ระบุจำแนกเสรีภาพพิสดารไปกว่าที่ปรากดในคำปติญานของคนะปติวัติฝรั่งเสส ได้แก่

๑. เสรีภาพในการถือสาสนา
๒. เสรีภาพในร่างกาย
๓. เสรีภาพในทรัพย์สิน
๔. เสรีภาพในการพูด
๕. เสรีภาพในการเขียน
๖. เสรีภาพในการสึกสาอบรม
๗. เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผย
๘. เสรีภาพในการตั้งสมาคม
๙. เสรีภาพในการอาชีพ

เสรีภาพดังที่ระบุไว้ในรัถธัมนูญนี้ ย่อมถือได้ว่า เปนเสรีภาพข้อสาระสำคันและอาจถือได้ว่า เปนสิทธิติดตัวมนุสยมาแต่กำเนิด และไม่อาจที่จะลบล้างได้ ก่อนหน้าที่ประเทสไทยจะประกาสใช้ประมวลกดหมาย อาจกล่าวได้ว่ากดหมายไทยมิได้ใส่ใจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมืองแต่อย่างได ต่อเมื่อได้ประกาสใช้ประมวลกดหมายแล้ว เสรีภาพของประชาชนในบางประการจึงได้รับความกวดขันคุ้มครองโดยกดหมายอย่างเปนที่พอใจ

ดังกรนีเสรีภาพในร่างกายนั้น ก็มีประมวลกดหมายอาญา และกดหมายวิธีพิจารนาอาญาคุ้มครองอยู่เปนอย่างดี อย่างไรก็ดีในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในร่างกายนั้น เมื่อว่าถึงผลในทางปติบัติแล้ว ใช่ว่า ประมวลกดหมายเหล่านี้จะไม่เปิดข้อบกพร่องไว้เลย ว่าตามจริงผลในทางปติบัติเกี่ยวกับการจับกุมคุมขังผู้ต้องหา ฉะเพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคดีการเมืองแล้วย่อมเปนที่ซาบกันดี ในวงการของผู้ที่สนใจว่า ประมวลกดหมายอันมีหลักการที่ดูประเสิดเหล่านี้ได้สิ้นสง่าราสรีไปหมด เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ได้นำออกปติบัติจริงๆ

เราจำเปนจะต้องค้นหาความบกพร่องนานาประการเกี่ยวกับการบริหารประมวลกดหมายเหล่านี้ และความบกพร่องบางประการอันอาดมีอยู่ในตัวบทกดหมายนั้นเองเพื่อเสรีภาพในร่างกายของประชาชนจะได้รับความคุ้มครองสมกับเจตนารมน์ของกดหมายรัถธัมนูญ และแม้เสรีภาพในประการอื่นๆ ก็ดี เราก็จะค้นหาความบกพร่องของกดหมาย และการบริหารกดหมายเช่นเดียวกัน แต่ว่าขนะนี้ยังมิใช่เวลาที่เราจะเข้าสู่รายละเอียดของการวิพากส์เสรีภาพแต่ละชนิด ในเวลานี้กิจของเรามีอยู่ว่าจะอภิปรายถึงเสรีภาพในทางที่จะกำหนดมูลถานของเสรีภาพ และพิจารนาถึงขอบเขตต์ที่จะมาหยุดยั้งการใช้เสรีภาพของประชาชนในกรนีทั่วไป

รัถธัมนูญมาตรา ๑๔ ได้กำหนดไว้ว่า การใช้เสรีภาพในประการต่างๆ นั้นบุคคลพึงใช้ภายในบังคับแห่งกดหมาย มาถึงตรงนี้เราก็อาจจะชี้ได้ชั้นหนึ่งว่า ที่กล่าวกันว่าการใช้เสรีภาพจะต้องมีขอบเขตต์นั้น หมายถึงว่าขอบเขตต์ตามที่กดหมายบัญญัติไว้ มิใช่ขอบเขตต์ตามอำเภอใจที่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองคนใดคนหนึ่งจะกำหนดลงมา เปนต้นว่า ถ้าเราชอบกินข้าวราดแกงในเวลาหยุดพักกลางวันและมีผู้มาสั่งให้เรากินก๋วยเตี๋ยวแทน หรือถ้าเราไม่ชอบสวมหมวกในเวลาเดินทาง เพราะเหตุว่าเรามีผมอันงาม ซึ่งเราต้องการจะอวดและมีผู้มาสั่งบังคับให้เราสวมหมวก คำสั่งคำบังคับเช่นนี้ เปนการรุกรานเสรีภาพของเราอย่างชัดแจ้ง และถ้าเรามิฟังคำสั่งคำบังคับเช่นนั้น ก็มิได้หมายความว่าเราใช้เสรีภาพเกินขอบเขตต์แต่ประการใด

เมื่อเรากล่าวว่า การใช้เสรีภาพ มีกดหมายเปนเครื่องกำหนดขอบเขตต์นั้น เราก็ยังมิได้รับคำตอบอันเปนที่พอใจเท่าใด กดหมายซึ่งตราขึ้นโดยคนะนิติบัญญัติ หรือคนะรัถบาลนั้น ไม่จำเปนเลยว่าจะต้องเปนกดหมายที่ชอบด้วยทำนองคลองธัมและนิติประเพนีทุกเรื่องไป คนะรัถบาลหรือคนะผู้ปกครองประกอบด้วยบุคคลเพียงไม่กี่คน และบุคคลเหล่านั้นก็ล้วนแต่เปนปุถุชนคนเดินดินเช่นคนทั้งหลายนี้เอง ใช่เปนผู้เหาะเหินเดินฟ้ามาแต่ไหน คนะรัถบาลหรือคนะผู้ปกครองจึงมีโอกาสจะทำความผิดพลาดบกพร่อง มีโอกาสจะเปนคนปลิ้นปล้อนตลบแตลง คดโกง เช่นที่มนุสยเดินดินบางคนได้ประพรึติอยู่เหมือนกัน

จริงอยู่ประชาชนมีหน้าที่ต้องเคารพกดหมาย แต่การที่ประชาชนมีหน้าที่เช่นนั้นไม่จำต้องหมายความว่า กดหมายทุกเรื่องจำเปนจะต้องเปนกดหมายที่ดีเสมอไป ดังที่เราจะเห็นอยู่แล้วว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกดหมายต่างๆ ได้กระทำกันอยู่เปนเนืองนิจมา ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องนานาประการที่มีอยู่ในกดหมายเหล่านั้น กดหมายบางเรื่อง ประกาสใช้ได้ไม่กี่เวลาก็มีการประกาสใหม่ให้เลิกล้มไป ในบางขนะก็มีกดหมายบางเรื่องซึ่งได้ตราออกมาโดยยากที่จะเข้าใจในหลักเกนฑ์ได้ ทั้งเปนกดหมายที่คุกคามเสรีภาพของประชาชนอย่างแรง ดังเช่นข้อบังคับที่ออกตามความใน พ.ร.บ.กดอัยยการสึกซึ่งประกาสใช้โดยผู้บันชาการทหานสูงสุด เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๙๕ เปนต้น ข้อบังคับนั้นได้บัญญัติไว้ว่า

ข้อ ๑ การระงับปราบปรามหรือรักสาความสงบเรียบร้อย ตามความในกดอัยยการสึกนั้น นอกจากการดำเนินการเพื่อพิจารนาพิพากสาผู้เปนปรปักส์ต่อความสงบเรียบร้อยยังสาลตามบทกดหมายในกรนีความผิดนั้นๆ แล้ว เมื่อกองบันชาการทหานสูงสุดเห็นเปนการสมควรที่จะระงับปราบปรามบุคคลผู้เปนปรปักส์ต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประเทสในกรนีใด โดยการควบคุมตัวผู้นั้นไว้ เพื่อรักสาความสงบเรียบร้อย และเพื่ออบรมทางจิตใจให้เปนคนดี ก็ให้มีอำนาดออกประกาสกำหนดกรนีนั้นๆ ได้

ข้อ ๒ เมื่อมีประกาสตามความในข้อก่อน ให้เจ้าหน้าที่ตำหรวดมีอำนาจจับกุมและควบคุมบุคคลผู้มีเหตุสงสัยว่า จะเปนผู้ก่อความไม่สงบแล้วดำเนินการสอบสวนตามคำสั่งของอธิบดีกรมตำหรวดต่อไป

ข้อ ๓ ให้อธิบดีกรมตำหรวดมีอำนาดวินิจฉัยตามการสอบสวนว่าจะสมควรควบคุมตัวบุคคลนั้นๆ เพื่อรักสาความสงบเรียบร้อยและเพื่ออบรมทางจิตใจให้เปนคนดีได้ตามที่เห็นสมควร และจะกำหนดระยะเวลาการควบคุมหรือไม่กำหนดก็ได้ แต่การควบคุมเช่นนี้มิให้เกินกว่าเวลาที่ประเทสไทยทำสงคราม เมื่ออธิบดีกรมตำหรวดวินิจฉัยเห็นควนควบคุมก็ให้ส่งตัวบุคคลนั้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาน ดำเนินการควบคุมและอบรมต่อไป

ข้อบังคับฉบับนี้ เปนข้อบังคับที่คุกคามเสรีภาพของประชาชนอย่างแรงก็เพราะว่าอำนาจวินิจฉัยความผิดและดำเนินการลงโทสผู้ผิดซึ่งควรที่จะเปนอำนาจของสาลโดยสิ้นเชิงนั้น อำนาดวินิจฉัยความผิดบางชนิดซึ่งตามข้อบังคับนี้ได้เปิดช่องไว้อย่างกว้างนั้นได้ย้ายมาอยู่ในมือของอธิบดีกรมตำหรวด อันเปนเจ้าพนักงานฝ่ายบริหารนั่นเอง

อนึ่ง ตามที่กล่าวไว้ในข้อบังคับว่า ขัดบังคับนี้ได้ประกาสใช้ โดยอาสัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งกดอัยยการสึกนั้นในวงการของนักกดหมาย ก็เห็นกันว่าเปนการกล่าวอ้างที่ปราสจากมูลถานมาตรา ๑๗ ของ พ.ร.บ.กดอัยยการสึกไม่อาจตีความไปได้ไกลถึงว่าผู้บันชาการทหานสูงสุดจะมีอำนาจประกาสข้อบังคับทำนองตั้งสาลเตี้ยขึ้นเช่นนี้ได้ จึงเปนอันว่า ผู้ประกาสข้อบังคับฉบับนี้ ได้ตราชัยบังคับอันนี้ขึ้นโดยปราสจากอำนาจอันชอบที่จะทำได้ (ดูความเห็นของ “อิสสระชน” ว่าด้วยเรื่องอำนาจของผู้บังคับบันชาการทหานสูงสุดตามกดอัยยการสึกใน “ประชามิตร-สุภาพบุรุส” ประจำวันที่ ๒๖ สิงหาคม ประกอบ)

เมื่อเปนเช่นนี้เราจะวางใจว่าผู้มีอำนาจตรากดหมายจะตรากดหมายแต่ที่ดี ที่ชอบด้วยทำนองคลองธัม ออกใช้บังคับประชาชนพลเมืองเสมอไปหาได้ไม่ และด้วยเหตุเช่นนี้ ก็เปนการจำเปนอยู่ ที่บรรดาพวกเราเหล่า “ไพร่ฟ้า” จะต้องสึกสาหลักเกนฑ์ในเรื่องนี้ไว้ตามสมควร เพื่อว่าเมื่อพวก “ชาวฟ้า” ท่านออกประกาสหรือข้อบังคับหรือกดหมายใด พวกเราเหล่า “ไพร่ฟ้า” จะมิได้หลับตาพากันจุดธูปเทียนขึ้นบูชาด้วยหลงงมงายไปว่า “โองการ” หรือ การกระทำของท่านพวกนั้นเปนของดีงามทุกเรื่อง เพราะว่าในบางขนะเราจะเห็นว่า ท่านพวกนั้นได้ออก “โองการ” หรือประกอบกิจซึ่งแม้แต่ลามันก็ไม่กระทำ!

บัดนี้ เมื่อเราจะกลับไปกล่าวถึงเรื่อง เสรีภาพภายในขอบเขตต์ของกดหมาย หรือเสรีภาพภายในบังคับของกดหมาย เราก็จะได้เข้าใจกันไว้ว่า การตรากดหมายโดยคนะรัถบาล หรือคนะผู้ปกครอง เพื่อกำหนดขอบเขตต์การใช้เสรีภาพของประชาราสดรนั้น อาจจะเปนได้ทั้งการตรากดหมายที่ดีและการตรากดหมายที่เลว ซึ่งได้แก่กดหมายที่คุกคามเสรีภาพของประชาชนโดยปราสจากหลักเกนฑ์ ดังเรื่องข้อบังคับกดอัยยการสึกที่ยกมาเปนตัวอย่างนั้นเปนต้น แต่ถึงกระนั้นก็ดีในบัดนี้เราก็ยังไม่ซาบว่า แดนแห่งการใช้เสรีภาพของประชาชนไปสุดสิ้นลงเพียงไหน หลักเกนฑ์ในการตรากดหมายกำหนดขอบเขตต์การใช้เสรีภาพ ซึ่งจะถือว่าเปนหลักเกนฑ์ที่ดีเปนที่ยอมรับนับถือกันโดยมากนั้นมีอยู่อย่างไร

การตอบปันหาข้อนี้ เปนการตอบปันหาที่ใหย่หลวงอยู่ แต่ก็เปนความมุ่งหมายของเรา ที่จะค้นคว้าหาคำตอบตามสติปัญญาที่จะทำได้ เพื่อจะได้รักสาไว้เปนเครื่องมือตรวจสอบการกระทำของคนะผู้ปกครองในการบัญญัติกดหมายต่างๆ ว่าจะเปนการบุกรุกย่ำยีล่วงแดนเสรีภาพของเราหรือไม่ เปนของแน่นอนว่าการที่จะลากเส้นพรมแดนแห่งเสรีภาพของประชาชนให้เปนการเด็ดขาดตายตัวนั้น เปนกิจที่ไม่อาจกระทำได้ แต่ก็ไม่เปนการเหลือบ่ากว่าแรงเกินไปที่เราจะค้นหาหลักเกนฑ์ใหย่ๆ เพื่อจะกำหนดลงไว้ว่า การกระทำเช่นใดอาจถือได้ว่าเปนการละเมิดเจตนารมน์ของกดหมายรัถธัมนูญ ในส่วนที่บัญญัติรับรู้เสรีภาพของปวงชนหรือไม่ เราจะอภิปรายปันหาข้อนี้ในบทต่อไป

๔ กันย์. ๘๗

เสรีภาพ

ภายหลังที่ “เสรีภาพ” ได้ถูกล่ามโซ่ไว้นานปี และได้มีผู้มาเปลื้องพันธนาการออก ประชาชนก็ได้อ้าแขนโอบกอดเชยชมเสรีภาพอีกครั้งหนึ่ง

แต่ว่าเสรีภาพนี้คืออะไรกันแน่? เราได้มาอย่างไร เราจะพึงใช้อย่างไรและเราจะรักษาไว้ได้อย่างไร?

ในบัดนี้ หนังสือพิมพ์พากันเรียกร้องรำพันถึงเสรีภาพสิ่งพลัดพรากจากไปนาน หนังสือพิมพ์จำเป็นจะต้องเรียกร้อง และหวงแหนเสรีภาพของตนเป็นธรรมดา หนังสือพิมพ์จำเป็นจะต้องต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งเสรีภาพเป็นธรรมดา เพราะว่าถ้าปราศจากเสรีภาพอันเปรียบเหมือนดวงใจของหนังสือพิมพ์แล้ว หนังสือพิมพ์ก็ไม่เป็นหนังสือพิมพ์ตามความหมายอันแท้จริงอีกต่อไป หรืออย่างน้อยก็ไม่อาจทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ได้ เสรีภาพที่ไม่มีหนังสือพิมพ์นั้น ยังดีเสียกว่าหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีเสรีภาพเป็นไหนๆ และถ้าหนังสือพิมพ์ต้องสูญเสียเสรีภาพไปแล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็จะพลอยสั่นสะเทือนไปด้วยกัน เสรีภาพของหนังสือพิมพ์จึงเป็นหลักประกันเสรีภาพของประชาชนไปในตัว

ฉะนั้น เมื่อหนังสือพิมพ์หรือนักหนังสือพิมพ์เรียกร้องรำพันถึงเสรีภาพนั้น เขามิได้เรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเขาเอง หากเป็นการเรียกร้องเพื่อเขาจักได้มีโอกาสบำเพ็ญกรณียกิจต่อประชาชน การเรียกร้องเสรีภาพของเขาเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์

ในขณะเดียวกัน มีผู้กล่าวอ้างเสรีภาพอย่างพร่ำเพรื่อ เป็นทางก่อความชอกช้ำให้แก่วิญญาณของพระแม่เจ้าเสรีภาพ เช่นว่าเมื่อมีคนแต่งกายไม่เรียบร้อยปรากฏตัวขึ้นในชุมนุมชน เขาว่าคนนั้นใช้เสรีภาพในทางที่ผิด เมื่อมีคนยืนถ่ายปัสสาวะริมถนน เขาก็ว่าคนนั้นใช้เสรีภาพในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำมิชอบอันใด ซึ่งไม่อาจปรับเข้าเป็นความผิดตามกฎหมายได้แล้ว เขามักจะปรับเอาว่าเป็นการใช้เสรีภาพในทางที่ผิดไปเสียทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นามธรรมเสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์นี้ จึงดูเป็นของมีตำหนิไม่น้อยในสายตาของเขาผู้นั้น

แต่มันเป็นความจริงหรือ ที่คนผู้นุ่งโสร่งหรือนุ่งกางเกงในออกไปเดินป๋ออยู่กลางถนนหลวง ด้วยมีความคิดอยู่ในสมองของเขาว่า เขายืนยันว่า เขามีเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้นได้? คนผู้ถ่ายปัสสาวะริมถนน กระทำเช่นนั้นด้วยประสงค์จะเน้นว่า นั่นเป็นเสรีภาพที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมีและพึงใช้ในกรนีเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าไม่คิดเลยว่าในเวลาประพฤติสิ่งที่ไม่สมควรจะประพฤติเหล่านั้น คนจำพวกนั้นกำลังคิดคำนึงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเสรีภาพ

ดังที่ปรากฏในคำประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน ค.ศ. 776 หรือดังที่ปรากฏในคำปฏิญาณสิทธิของมนุษย์และพลเมืองของชนฝรั่งเศสในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1789 หรือดังที่ Patric Henry ได้ปลุกใจชาวเมืองของเขาว่า “Give me liberty or give me death” ไม่มีใครจะคิดไปว่าบุคคลเหล่านั้นเมื่อประพฤติเช่นนั้นเขากำลังคิดถึงหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ของเสรีภาพ หรือบางทีเขาก็อาจจะไม่ทราบเสียเลยว่ามีหลักการอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้อยู่ในโลก

เราทราบกันอยู่ดีแล้วว่า การประพฤติดังกล่าวข้างต้นนั้นพึ่งได้รับการตำหนิติเตียน และเราจะใช้คำติเตียนอย่างใดๆ พอให้สมควรแก่เหตุก็ได้ แต่ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้ซึ่งมีความปรารถนาจะเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของเสรีภาพอย่างจริงใจ จะนำเอาคำอันขลังนี้ไปใช้เป็นข้อกล่าวหาความประพฤติของบุคคล ซึ่งมิได้ตั้งใจจะอ้างหลักเสรีภาพขึ้นเป็นข้อต่อสู้การกระทำของเขาเลย การอ้างคำนี้ออกใช้อย่างพล่อยๆ คำหนึ่งก็เสรีภาพ คำสองก็เสรีภาพ

ฉะนี้นามธรรมเสรีภาพก็จะดูเป็นของชั่วไป ผลก็จะเท่ากับเป็นการลบหลู่ความศักดิ์สิทธิ์ของเสรีภาพไปในตัว และการลบหลู่เสรีภาพนั้นเท่ากับเป็นการลบหลู่ความเป็นมนุษย์ของผู้นั้นเอง

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เชิดชูเสรีภาพบางท่านได้กล่าวเตือนคนทั้งหลายให้ระมัดระวังการใช้เสรีภาพ เขาว่าการใช้เสรีภาพต้องมีขอบเขต การใช้เสรีภาพต้องอยู่ในความสมควร คำเตือนนี้ไม่เลว เป็นคำที่รับฟังได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อคนผู้หลงงมงาย แต่ว่าขอบเขตของการใช้เสรีภาพนั้นจะสิ้นสุดลงเพียงไหน? ปัญหาข้อนี้ควรที่จะมีคำตอบ อย่างน้อยพอเป็นหลักให้คนทั้งหลายได้ใช้ประกอบความคิดวินิจฉัยของเขา

คำว่าขอบเขตและความสมควรนั้น ยังเป็นคำที่หลวมนัก เบื้องหลังคำทั้งสองนั้นยังเต็มไปด้วยปัญหา ขอบเขตของการใช้อยู่เพียงไหน? อะไร อย่างไร จึงจะเรียกว่าเป็นความสมควร? ใครเป็นผู้กำหนดขอบเขตของการใช้เสรีภาพ? ใครเป็นผู้กำหนดว่าการเช่นนั้น เช่นนี้เป็นความสมควร และการเช่นนั้น เช่นนี้ ไม่เป็นความสมควร? รัฐบาลหรือประชาชนเป็นผู้กำหนดขอบเขต และความสมควร? ปัญหาเหล่านี้ เราผู้รักเสรีภาพ เชิดชูเสรีภาพ และสำนึกตระหนักในหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ของเสรีภาพ ควรที่จะร่วมมือกันในการค้นคว้าหาคำตอบ

ตามคำปฏิญาณสิทธิของมนุษย์และพลเมืองของคณะปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เสรีภาพเป็นสิทธิติดตัวของมนุษย์มาแต่กำเนิด และสิทธิเสรีภาพนี้จะคงเป็นของมนุษย์ทุกคนตราบกระทั่งตาย และไม่อาจที่จะถูกลบล้างได้ ตามคำปฏิญาณข้อ 4 เสรีภาพได้แก่สิทธิที่มนุษย์ทุกคนจะกระทำการใดๆ ก็ได้ถ้าการกระทำนั้นๆ ไม่เป็นภัยแก่ผู้อื่น และตามคำปฏิญาณข้อ 5 กฎหมายจะระบุห้ามการกระทำของบุคคลก็แต่เพียงเป็นการป้องกันการกระทำที่เป็นภัยต่อสังคม

ตามคำปฏิญาณฉบับนั้น ได้เน้นระบุถึงเสรีภาพดังต่อไปนี้

  1. เสรีภาพในร่างกาย
  2. เสรีภาพในการเชื่อถือลัทธิหรือศาสนา
  3. เสรีภาพในการพูด
  4. เสรีภาพในการเขียน
  5. เสรีภาพในการพิมพ์หรือการโฆษณา
  6. เสรีภาพในทรัพย์สิน

รัฐธรรมนูญของเรามาตรา 13 และมาตรา 14 ได้ระบุจำแนกเสรีภาพพิสดารไปกว่าที่ปรากฏในคำปฏิญาณของคณะปฏิวัติฝรั่งเศส ได้แก่

  1. เสรีภาพในการถือศาสนา
  2. เสรีภาพในร่างกาย
  3. เสรีภาพในทรัพย์สิน
  4. เสรีภาพในการพูด
  5. เสรีภาพในการเขียน
  6. เสรีภาพในการศึกษาอบรม
  7. เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผย
  8. เสรีภาพในการตั้งสมาคม
  9. เสรีภาพในการอาชีพ

เสรีภาพดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ย่อมถือได้ว่า เป็นเสรีภาพข้อสาระสำคัญและอาจถือได้ว่า เป็นสิทธิติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด และไม่อาจที่จะลบล้างได้ ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะประกาศใช้ประมวลกฎหมาย อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายไทยมิได้ใส่ใจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมืองแต่อย่างใด ต่อเมื่อได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแล้ว เสรีภาพของประชาชนในบางประการจึงได้รับความกวดขันคุ้มครองโดยกฎหมายอย่างเป็นที่พอใจ

ดังกรณีเสรีภาพในร่างกายนั้น ก็มีประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาอาญาคุ้มครองอยู่เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในร่างกายนั้น เมื่อว่าถึงผลในทางปฏิบัติแล้ว ใช่ว่า ประมวลกฎหมายเหล่านี้จะไม่เปิดข้อบกพร่องไว้เลย ว่าตามจริงผลในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจับกุมคุมขังผู้ต้องหา เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคดีการเมืองแล้วย่อมเป็นที่ทราบกันดี ในวงการของผู้ที่สนใจว่า ประมวลกฎหมายอันมีหลักการที่ดูประเสริฐเหล่านี้ได้สิ้นสง่าราศีไปหมด เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ได้นำออกปฏิบัติจริงๆ

เราจำเป็นจะต้องค้นหาความบกพร่องนานาประการเกี่ยวกับการบริหารประมวลกฎหมายเหล่านี้ และความบกพร่องบางประการอันอาจมีอยู่ในตัวบทกฎหมายนั้นเองเพื่อเสรีภาพในร่างกายของประชาชนจะได้รับความคุ้มครองสมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และแม้เสรีภาพในประการอื่นๆ ก็ดี เราก็จะค้นหาความบกพร่องของกฎหมาย และการบริหารกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่ว่าขณะนี้ยังมิใช่เวลาที่เราจะเข้าสู่รายละเอียดของการวิพากษ์เสรีภาพแต่ละชนิด ในเวลานี้กิจของเรามีอยู่ว่าจะอภิปรายถึงเสรีภาพในทางที่จะกำหนดมูลฐานของเสรีภาพ และพิจารณาถึงขอบเขตที่จะมาหยุดยั้งการใช้เสรีภาพของประชาชนในกรณีทั่วไป

รัฐธรรมนูญมาตรา 14 ได้กำหนดไว้ว่า การใช้เสรีภาพในประการต่างๆ นั้นบุคคลพึงใช้ภายในบังคับแห่งกฎหมาย มาถึงตรงนี้เราก็อาจจะชี้ได้ชั้นหนึ่งว่า ที่กล่าวกันว่าการใช้เสรีภาพจะต้องมีขอบเขตนั้น หมายถึงว่าขอบเขตตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่ขอบเขตตามอำเภอใจที่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองคนใดคนหนึ่งจะกำหนดลงมา เป็นต้นว่า ถ้าเราชอบกินข้าวราดแกงในเวลาหยุดพักกลางวันและมีผู้มาสั่งให้เรากินก๋วยเตี๋ยวแทน หรือถ้าเราไม่ชอบสวมหมวกในเวลาเดินทาง เพราะเหตุว่าเรามีผมอันงาม ซึ่งเราต้องการจะอวดและมีผู้มาสั่งบังคับให้เราสวมหมวก คำสั่งคำบังคับเช่นนี้ เป็นการรุกรานเสรีภาพของเราอย่างชัดแจ้ง และถ้าเรามิฟังคำสั่งคำบังคับเช่นนั้น ก็มิได้หมายความว่าเราใช้เสรีภาพเกินขอบเขตแต่ประการใด

เมื่อเรากล่าวว่า การใช้เสรีภาพ มีกฎหมายเป็นเครื่องกำหนดขอบเขตนั้น เราก็ยังมิได้รับคำตอบอันเป็นที่พอใจเท่าใด กฎหมายซึ่งตราขึ้นโดยคณะนิติบัญญัติ หรือคณะรัฐบาลนั้น ไม่จำเป็นเลยว่าจะต้องเป็นกฎหมายที่ชอบด้วยทำนองคลองธรรมและนิติประเพณีทุกเรื่องไป คณะรัฐบาลหรือคณะผู้ปกครองประกอบด้วยบุคคลเพียงไม่กี่คน และบุคคลเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นปุถุชนคนเดินดินเช่นคนทั้งหลายนี้เอง ใช่เป็นผู้เหาะเหินเดินฟ้ามาแต่ไหน คณะรัฐบาลหรือคณะผู้ปกครองจึงมีโอกาสจะทำความผิดพลาดบกพร่อง มีโอกาสจะเป็นคนปลิ้นปล้อนตลบตะแลง คดโกง เช่นที่มนุษย์เดินดินบางคนได้ประพฤติอยู่เหมือนกัน

จริงอยู่ประชาชนมีหน้าที่ต้องเคารพกฎหมาย แต่การที่ประชาชนมีหน้าที่เช่นนั้นไม่จำต้องหมายความว่า กฎหมายทุกเรื่องจำเป็นจะต้องเป็นกฎหมายที่ดีเสมอไป ดังที่เราจะเห็นอยู่แล้วว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ ได้กระทำกันอยู่เป็นเนืองนิจมา ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องนานาประการที่มีอยู่ในกฎหมายเหล่านั้น กฎหมายบางเรื่อง ประกาศใช้ได้ไม่กี่เวลาก็มีการประกาศใหม่ให้เลิกล้มไป ในบางขณะก็มีกฎหมายบางเรื่องซึ่งได้ตราออกมาโดยยากที่จะเข้าใจในหลักเกณฑ์ได้ ทั้งเป็นกฎหมายที่คุกคามเสรีภาพของประชาชนอย่างแรง ดังเช่นข้อบังคับที่ออกตามความใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึกซึ่งประกาศใช้โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2495 เป็นต้น ข้อบังคับนั้นได้บัญญัติไว้ว่า

ข้อ 1 การระงับปราบปรามหรือรักษาความสงบเรียบร้อย ตามความในกฎอัยการศึกนั้น นอกจากการดำเนินการเพื่อพิจารณาพิพากษาผู้เป็นปรปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อยยังศาลตามบทกฎหมายในกรณีความผิดนั้นๆ แล้ว เมื่อกองบัญชาการทหารสูงสุดเห็นเป็นการสมควรที่จะระงับปราบปรามบุคคลผู้เป็นปรปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประเทศในกรณีใด โดยการควบคุมตัวผู้นั้นไว้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเพื่ออบรมทางจิตใจให้เป็นคนดี ก็ให้มีอำนาจออกประกาศกำหนดกรณีนั้นๆ ได้

ข้อ 2 เมื่อมีประกาศตามความในข้อก่อน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมบุคคลผู้มีเหตุสงสัยว่า จะเป็นผู้ก่อความไม่สงบแล้วดำเนินการสอบสวนตามคำสั่งของอธิบดีกรมตำรวจต่อไป

ข้อ 3 ให้อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจวินิจฉัยตามการสอบสวนว่าจะสมควรควบคุมตัวบุคคลนั้นๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและเพื่ออบรมทางจิตใจให้เป็นคนดีได้ตามที่เห็นสมควร และจะกำหนดระยะเวลาการควบคุมหรือไม่กำหนดก็ได้ แต่การควบคุมเช่นนี้มิให้เกินกว่าเวลาที่ประเทศไทยทำสงคราม เมื่ออธิบดีกรมตำรวจวินิจฉัยเห็นควรควบคุมก็ให้ส่งตัวบุคคลนั้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ดำเนินการควบคุมและอบรมต่อไป

ข้อบังคับฉบับนี้ เป็นข้อบังคับที่คุกคามเสรีภาพของประชาชนอย่างแรงก็เพราะว่าอำนาจวินิจฉัยความผิดและดำเนินการลงโทษผู้ผิดซึ่งควรที่จะเป็นอำนาจของศาลโดยสิ้นเชิงนั้น อำนาจวินิจฉัยความผิดบางชนิดซึ่งตามข้อบังคับนี้ได้เปิดช่องไว้อย่างกว้างนั้นได้ย้ายมาอยู่ในมือของอธิบดีกรมตำรวจ อันเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายบริหารนั่นเอง

อนึ่ง ตามที่กล่าวไว้ในข้อบังคับว่า ขัดบังคับนี้ได้ประกาศใช้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งกฎอัยการศึกนั้นในวงการของนักกฎหมาย ก็เห็นกันว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ปราศจากมูลฐาน มาตรา 17 ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกไม่อาจตีความไปได้ไกลถึงว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะมีอำนาจประกาศข้อบังคับทำนองตั้งศาลเตี้ยขึ้นเช่นนี้ได้ จึงเป็นอันว่า ผู้ประกาศข้อบังคับฉบับนี้ ได้ตราชัยบังคับอันนี้ขึ้นโดยปราศจากอำนาจอันชอบที่จะทำได้ (ดูความเห็นของ “อิสสระชน” ว่าด้วยเรื่องอำนาจของผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุดตามกฎอัยการศึกใน “ประชามิตร-สุภาพบุรุษ” ประจำวันที่ 26 สิงหาคม ประกอบ)

เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะวางใจว่าผู้มีอำนาจตรากฎหมายจะตรากฎหมายแต่ที่ดี ที่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม ออกใช้บังคับประชาชนพลเมืองเสมอไปหาได้ไม่ และด้วยเหตุเช่นนี้ ก็เป็นการจำเป็นอยู่ ที่บรรดาพวกเราเหล่า “ไพร่ฟ้า” จะต้องศึกษาหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้ตามสมควร เพื่อว่าเมื่อพวก “ชาวฟ้า” ท่านออกประกาศหรือข้อบังคับหรือกฎหมายใด พวกเราเหล่า “ไพร่ฟ้า” จะมิได้หลับตาพากันจุดธูปเทียนขึ้นบูชาด้วยหลงงมงายไปว่า “โองการ” หรือ การกระทำของท่านพวกนั้นเป็นของดีงามทุกเรื่อง เพราะว่าในบางขณะเราจะเห็นว่า ท่านพวกนั้นได้ออก “โองการ” หรือประกอบกิจซึ่งแม้แต่ลามันก็ไม่กระทำ!

บัดนี้ เมื่อเราจะกลับไปกล่าวถึงเรื่อง เสรีภาพภายในขอบเขตของกฎหมาย หรือเสรีภาพภายในบังคับของกฎหมาย เราก็จะได้เข้าใจกันไว้ว่า การตรากฎหมายโดยคณะรัฐบาล หรือคณะผู้ปกครอง เพื่อกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพของประชาราษฎรนั้น อาจจะเป็นได้ทั้งการตรากฎหมายที่ดีและการตรากฎหมายที่เลว ซึ่งได้แก่กฎหมายที่คุกคามเสรีภาพของประชาชนโดยปราศจากหลักเกณฑ์ ดังเรื่องข้อบังคับกฎอัยการศึกที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นเป็นต้น แต่ถึงกระนั้นก็ดีในบัดนี้เราก็ยังไม่ทราบว่า แดนแห่งการใช้เสรีภาพของประชาชนไปสุดสิ้นลงเพียงไหน หลักเกณฑ์ในการตรากฎหมายกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพ ซึ่งจะถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับนับถือกันโดยมากนั้นมีอยู่อย่างไร

การตอบปัญหาข้อนี้ เป็นการตอบปัญหาที่ใหญ่หลวงอยู่ แต่ก็เป็นความมุ่งหมายของเรา ที่จะค้นคว้าหาคำตอบตามสติปัญญาที่จะทำได้ เพื่อจะได้รักษาไว้เป็นเครื่องมือตรวจสอบการกระทำของคณะผู้ปกครองในการบัญญัติกฎหมายต่างๆ ว่าจะเป็นการบุกรุกย่ำยีล่วงแดนเสรีภาพของเราหรือไม่ เป็นของแน่นอนว่าการที่จะลากเส้นพรมแดนแห่งเสรีภาพของประชาชนให้เป็นการเด็ดขาดตายตัวนั้น เป็นกิจที่ไม่อาจกระทำได้ แต่ก็ไม่เป็นการเหลือบ่ากว่าแรงเกินไปที่เราจะค้นหาหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ เพื่อจะกำหนดลงไว้ว่า การกระทำเช่นใดอาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่บัญญัติรับรู้เสรีภาพของปวงชนหรือไม่ เราจะอภิปรายปัญหาข้อนี้ในบทต่อไป

4 กันย์. 87

ที่มา : กุหลาบ สายประดิษฐ์ (2548), “เสรีภาพ”, ใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ), มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ: ข้อเขียนการเมืองของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์, กรุงเทพฯ : แอล.ที.เพลส, หน้า 78-97.

หมายเหตุ :

  • คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • ตั้งชื่อบทความโดยกองบรรณาธิการ