ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐประหาร : อำนาจจากปลายกระบอกปืน

23
กุมภาพันธ์
2566

“อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน”

ประธานเหมา เจ๋อ ตุง

นิยาม

แม้สังคมไทยจะมีความเข้าใจผิด เพราะเรามักจะเรียกการรัฐประหารที่เกิดขึ้นว่า “การปฏิวัติ” (revolution) ซึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างสำนวนที่เรียกว่า “พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน” คือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวระบบทั้งระบบ และอาจมีนัยหมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างหนักและอย่างมากด้วย (คือสภาพที่ในภาษาอังกฤษอธิบายว่าเป็น radical change) และโดยทั่วไปแล้ว การปฏิวัติเกิดขึ้นโดยมีกระบวนการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือการปฏิวัติจีน ก็ตาม ฉะนั้นการยึดอำนาจของทหารในความเป็นจริงแล้ว จะต้องเรียกว่า “การรัฐประหาร” ไม่ใช่ “การปฏิวัติ” อย่างที่เราเรียกขานกันโดยทั่วไป

 

“รัฐประหาร” หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลโดยไม่เป็นไปตามกติกาหรือข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ และการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดจากการใช้อำนาจทางทหาร (หรือเครื่องมือทางทหาร) ที่อยู่ในลักษณะของการใช้จริง หรือขู่ว่าจะใช้จริงก็ตาม

ในช่วงระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รัฐประหารเป็นปรากฏการณ์ของการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย อัฟริกา และละตินอเมริกา การเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองมักจะเป็นไปโดยวิธีการของการยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิม และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น ซึ่งรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากการยึดอำนาจนั้น อาจจะอยู่ในรูปแบบที่กองทัพเป็นผู้ควบคุมรัฐบาลโดยตรง หรืออาจจะอยู่ในลักษณะของการที่กองทัพเป็นพันธมิตรกับพลเรือนบางส่วน และใช้พลเรือนเหล่านี้ในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบังหน้า

 

ปัจจัย

สาเหตุการเกิดของรัฐประหารนั้น อาจอธิบายได้จากปัจจัยต่างๆ ใน 3 ประเด็น คือ

1) ปัจจัยภายนอกสถาบันกองทัพ

สาเหตุในประเด็นนี้เชื่อว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกของทหาร หรือมองว่าสภาวะแวดล้อมภายนอกกองทัพเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การยึดอำนาจของทหาร (หรือที่เรียกว่าปัจจัยสภาพแวดล้อม - Environmental Factors)

ปัจจัยเช่นนี้ ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาสังคมการเมือง เช่น กรณีความรุนแรงภายใน หรือปัญหาสงครามภายใน เป็นต้น และปัญหาเช่นนี้ยังรวมถึงเรื่องของความแตกแยกด้านชาติพันธุ์อีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่อาจไปสู่การตัดสินใจของผู้นำกองทัพที่จะใช้กำลังเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจได้ เพราะมองว่ารัฐบาลไม่เข้มแข็ง / ไม่มีประสิทธิภาพพอในการแก้ไขปัญหา สาเหตุในระดับนี้อาจจะเรียกในอีกลักษณะหนึ่งว่าเป็น ปัจจัยภายในประเทศก็ได้

2) ปัจจัยภายในสถาบันกองทัพ

ประเด็นในเรื่องของปัจจัยในสถาบันทหารเป็นสิ่งที่จะต้องใจนำมาพิจารณาอย่างมาก เพราะปัญหาในเรื่องของผลประโยชน์เชิงสถาบัน (Corporate Interest) หรือความไม่พอใจส่วนตัวของผู้นำทหาร (Personal Grievances) มักจะเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การยึดอำนาจอยู่เสมอ เช่น ทหารมักไม่พอใจรัฐบาลพลเรือนที่ตัดงบประมาณกองทัพ หรือไม่พอใจต่อความพยายามในการขยายองค์กรที่เป็นกองกำลังกึ่งทหาร (Paramilitary Forces) เพราะกองทัพมองว่า เป็นการสร้างหน่วยกำลังขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับทหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ความไม่พอใจส่วนตัวของผู้นำทหารก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่าในหลายๆ ครั้งที่การรัฐประหารเกิดเพราะปัญหาความไม่พึงพอใจส่วนตัวของผู้นำกองทัพที่มีต่อผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือในบางกรณีความไม่พอใจเช่นนี้ขยายตัวไปสู่ทัศนะที่มองว่า ผู้นำพลเรือนเป็น “ภัยคุกคาม” ซึ่งอาจจะใช้อำนาจในการโยกย้ายผู้นำทหารได้ การยึดอำนาจจึงเกิดขึ้นที่ด้านหนึ่ง คือ หลักประกันของการอยู่ในอำนาจของผู้นำทหาร และอีกด้านหนึ่งก็เป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดในการกำจัดผู้นำพลเรือนซึ่งมีฐานะเป็นภัยคุกคามทางการเมืองให้หลุดออกไปจากการเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ

3) ปัจจัยระหว่างประเทศ

ปัจจัยสุดท้ายเป็นเรื่องของสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ หรือเป็นประเด็นของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดนอกเหนือจากตัวระบบการเมืองและเศรษฐกิจภายในของประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจระหว่างประเทศในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลกในช่วงปี พ.ศ. 2472/73 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซีในเยอรมนี พรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี 2475 ก็เช่นเดียวกัน ล้วนแต่ถูกกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในระบบระหว่างประเทศทั้งสิ้น

 

กระบวนการ

กระบวนการทำรัฐประหารมักจะเกิดจากการรวมตัวกันในลักษณะของการจัดตั้งของนายทหารกลุ่มเล็กๆ โดยพวกเขาจะต้องมีความเชื่อมั่นว่า ทุกคนจะต้องมีวินัยในการรักษาความลับอย่างยิ่งยวด เพราะหากแผนการทำรัฐประหารหลุดออกไปถึงมือเจ้าหน้าที่รัฐบาลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่า ไม่มีรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจใดจะยอมปล่อยให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น และข้อหาของผู้ทำรัฐประหารที่ล้มเหลวก็มีแต่เพียงประการเดียวคือ “กบฏ”

ดังนั้น นอกจากจะต้องมีลักษณะจัดตั้งแล้ว นายทหารเหล่านี้ยังจะต้องทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างของตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะต้องทำให้การยึดอำนาจประสบความสำเร็จ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ในเบื้องต้นก็คือ กำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตน และในบางกรณีก็ยังจะต้องรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย เพราะการทำรัฐประหารย่อมไม่ประสบความสำเร็จ หากขาดความสนับสนุนของกลุ่มทุนที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล

กลุ่มทุนจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านการเงินในการเคลื่อนไหวของฝ่ายทหาร ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้มักจะมีอยู่กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ เพราะการเคลื่อนไหวของทหารในการต่อต้านรัฐบาลพึ่งพิงอยู่กับงบประมาณตามปกติของหน่วยย่อมเป็นไปไม่ได้และในขณะเดียวกันก็อาจจะถูกตรวจสอบได้ง่ายจากรัฐบาล

การตัดสินใจสุดท้ายในการเคลื่อนกำลังจะต้องเป็นการกระทำอย่างรวดเร็ว เพราะการใช้กำลังทหารเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ในเมืองหลวง อาจจะประสบปัญหาการต่อต้านจากกองทหารของฝ่ายรัฐบาลได้ง่าย เพราะเมืองหลวงของทุกประเทศจะต้องมี “แผนเผชิญเหตุ” รองรับไว้เป็นปกติ เพื่อป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดการจลาจล หรือการมีกองกำลังส่วนอื่นบุกเข้ายึดเมืองหลวง ดังนั้นการตัดสินในใจการใช้กำลังจะต้องมีลักษณะของ “ความเร็ว” และทั้งยังจะต้องให้เป็นไปในลักษณะของ “การจู่โจม” เพื่อไม่ให้กองกำลังของฝ่ายรัฐสามารถออกมาปฏิบัติการตอบโต้

ฉะนั้น “ยุทธการยึดเมือง” จึงเป็นหัวใจที่นักรัฐประหารทุกคนจะต้องคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า ความสำเร็จในการยึดจุดยุทธศาสตร์ของเมืองหลวง มีส่วนทำให้กองกำลังที่ยังไม่ตัดสินใจร่วมฝ่าย อาจจะยอมเป็นกลาง หรือในที่สุด อาจจะเข้าร่วมด้วยเพราะไม่มีนายทหารคนไหนต้องการอยู่กับ “ผู้แพ้”

 

ปัญหา

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่นักรัฐประหารในทุกกรณีจะต้องเผชิญก็คือ ปัญหาความชอบธรรม เพราะเป็นเรื่องปกติที่เมื่อการรัฐประหารสิ้นสุดลง ก็จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นแทนที่รัฐบาลที่ถูกโค่นลง ซึ่งรัฐบาลใหม่เช่นนี้อาจจะอยู่ในรูปแบบของรัฐบาลทหารเต็มรูป หรืออาจจะเป็นในรูปของรัฐบาลผสมระหว่างทหารกับพลเรือน โดยมีทหารเป็นผู้นำรัฐบาล หรืออาจจะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่ถูกหยิบขึ้นมาให้เป็นผู้นำ แต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายทหาร

ในสภาพเช่นนี้ คณะรัฐประหารและรัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากการรัฐประหาร จึงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากกับปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใช้วิธีการล้มรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะพอสร้างความชอบธรรมได้บ้างในยุคสงครามเย็น โดยอาศัยการสนับสนุนของรัฐมหาอำนาจใหญ่ แต่ในสถานการณ์การเมืองโลกแบบโลกาภิวัตน์ความชอบธรรมของการยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศไม่ให้การยอมรับ

ผู้นำทหารอาจจะแก้ไขด้วยการสร้างความเป็นประชานิยมเพื่อให้เกิดความชอบธรรม (Popular Legitimating) แก่การขึ้นสู่อำนาจของตน หรืออาศัยประเทศมหาอำนาจเป็นเครื่องช่วยพยุงภาพลักษณ์ แต่ก็คงจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ยิ่งสังคมมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใด อุปสรรดที่จะทำให้ผู้นำกองทัพต้องเผชิญกับปัญหาความชอบธรรมจากการยึดอำนาจก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ปัจจัยเช่นนี้มีส่วนอย่างมากต่อการทำให้กองทัพในหลายๆ ประเทศต้องลดบทบาททางการเมืองลง เพราะกระบวนการสร้างความชอบธรรมของการนำเอากองทัพกลับเข้าสู่เวทีการเมืองนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะความเป็นการเมืองที่เป็นสากล อันมีนัยหมายถึงกระบวนการทางการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกา และมีการเลือกตั้งเป็นปัจจัยชี้ขาดสำหรับการขึ้นสู่อำนาจในการเป็นรัฐบาล

 

สรุป

หากกล่าวโดยสรุป “รัฐประหาร” ก็คือสิ่งที่ประธานเหมาได้กล่าวไว้ในข้างต้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ กระบวนการตัดสินชี้ขาดอำนาจทางการเมืองด้วย “อำนาจปืน” นั่นเอง !

 

ที่มา : สุรชาติ บำรุงสุข, รัฐประหารคืออะไร, ใน “ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และ การเมืองไทย”, (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส, 2551), หน้า 42 - 48.

หมายเหตุ : ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ