ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองโดยประชาชน แต่ประชาชนไม่ได้ดำเนินการปกครองด้วยตนเองโดยตรง เพราะมีจำนวนมากมายด้วยกัน จึงได้เลือกผู้แทนไปดำเนินการปกครองรัฐบาลซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนดำเนินการปกครองบ้านเมือง จึงต้องคอยสดับตรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่าต้องการให้ทำอะไร และไม่ต้องการให้ทำอะไร เมื่อความคิดเห็นของประชาชน ได้รวบรวมขึ้นเป็นกลุ่มก้อน พอที่จะถือได้ว่าเป็นสาธารณมติแล้ว รัฐบาลก็รับเอาสาธารณมตินั้นไปดำเนินการให้เป็นที่ต้องใจประชาชน
ตามนี้ ความคิดเห็นของประชาชนหรือสาธารณมติจึงนับว่าเป็นสารัตถะแก่ระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นได้ก็ต่อเมื่อได้ทราบข้อความจริง ถ้าประชาชนไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ประชาชนก็ไม่อาจจะออกความเห็นได้ และเมื่อประชาชนออกความเห็นไม่ได้แล้ว รัฐบาลก็ไม่รู้ว่า รัฐบาลดำเนินการโดยชอบด้วยสาธารณมติหรือไม่ ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องได้รู้ความจริง ในการเป็นไปของบ้านเมืองอย่างเป็นที่พอใจ และใครเล่าที่จัดหาข้อความจริงให้แก่ประชาชนได้อย่างดีที่สุด ถ้าไม่ใช่หนังสือพิมพ์ ปราศจากหนังสือพิมพ์แล้ว ประชาชนที่ยากที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรในบ้านเมืองของเรา หรือในโลกนี้ และเมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถจะแสดงความคิดเห็นออกมาได้
การเสาะแสวงหาความเป็นจริงมาเสนอแก่ประชาชนนี่แหละเป็นหน้าที่สำคัญของหนังสือพิมพ์ เพื่อที่จะให้ประชาชนได้แสดงความเห็น อันประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผล หนังสือพิมพ์จะต้องซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญนี้ เหตุการณ์ตามความเป็นจริงที่หนังสือพิมพ์นำเสนอนั้นอาจไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้นั้นผู้นี้หรือแก่คณะนั้นคณะนี้ แต่ไม่ใช่กิจกังวลของหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีขึ้น เพื่อที่จะทำความพอใจให้แก่ท่านผู้นั้นผู้นี้ หนังสือพิมพ์จึงไม่ต้องไปพะวงถึงใครผู้ใดทั้งนั้น หนังสือพิมพ์จะพะวงอยู่แต่หน้าที่ของตนเท่านั้น
รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่ปรารถนาจะให้หนังสือพิมพ์บำเพ็ญตนเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเลย เพราะรัฐบาลในระบอบเช่นนี้มิใช่รัฐบาลถาวร บุคคลในคณะรัฐบาลย่อมมีการเปลี่ยนตัวอยู่เสมอ เมื่อออกมาอยู่นอกวงการรัฐบาลแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็จะมาแสดงความเห็นติชมรัฐบาลใหม่ในฐานะที่เป็นราษฎรคนหนึ่งเหมือนกัน ดั่งเช่นที่มิสเตอร์ฮาเบลิชาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกลาโหมของอังกฤษ เมื่อมานั่งในตำแหน่งสมาชิกสภา ก็ได้ออกความเห็นวิพากษ์รัฐบาลตามหน้าที่ของสมาชิก ตามที่เราได้ทราบข่าวกันแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ฉะนั้นไม่ว่าใคร ถ้าเป็นผู้ที่รักประชาธิปไตยจริงแล้ว ย่อมปรารถนาจะให้หนังสือพิมพ์ได้ดำรงอยู่ด้วยมีอิสรภาพเต็มที่ หนังสือพิมพ์จะได้บำเพ็ญกรณียกิจเพื่อสาธารณชนโดยแท้จริง
หนังสือพิมพ์และผู้ทำหนังสือพิมพ์จึงต้องรักเกียรติและภักดีต่อหน้าที่ของตน หนังสือพิมพ์จะต้องไม่เสนอข่าว หรือความเห็นอันประกอบด้วยอคติ คือจะต้องไม่จงใจทำอะไรที่ผิดความจริง โดยทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ และได้ทำโดยทางหนังสือพิมพ์นั้น นับว่าเป็นการประกอบกรรมอันชั่วร้ายอย่างที่สุด เพราะจะทำให้ประชาชนเป็นอันมากเกิดความเข้าใจผิด และรัฐบาลจะอาศัยใช้หนังสือพิมพ์เช่นนั้นเป็นเครื่องส่องสาธารณมติก็ไม่ได้ รัฐบาลก็จะเป็นเหมือนคนตาบอด ถ้าหนังสือพิมพ์เป็นกันเช่นนั้นหมด
หนังสือพิมพ์จึงมีส่วนร่วมอยู่ด้วยอย่างสำคัญ ในการสร้างสรรค์ความวัฒนาสถาพรให้แก่ระบอบประชาธิปไตย ตราบเท่าที่หนังสือพิมพ์ได้ตระหนักในหน้าที่ของตน และไม่ละเลยหน้าที่ของตน
ที่มา : กุหลาบ สายประดิษฐ์, หนังสือพิมพ์ในประเทศประชาธิปไตย, ใน, การเขียนหนังสือพิมพ์ของฉัน, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา, 2549), หน้า 49 - 51.
หมายเหตุ :
- คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น