ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วันแรงงานสากล (วันที่ 1 พฤษภาคม) : สามัคคีวัฒน์แห่งการเคลื่อนไหวข้ามศตวรรษเพื่อผู้ใช้แรงงานทั่วโลก

1
พฤษภาคม
2566

Focus

  • วันแรงงานสากลเกิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวข้ามศตวรรษ ตั้งแต่เริ่มแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อลดชั่วโมงการทำงานจาก 14-16 ชม. ต่อวัน ให้เหลือไม่เกิน 10 ชม. และต่อมา 8 ชม. ต่อวัน จากภายในประเทศอังกฤษไปสู่ระหว่างประเทศ โดยการบรรลุเป้าหมายไม่เกิน 8 ชม. ต่อวัน ที่เป็นมาตรฐานแรงงานสากลในทุกวันนี้ ได้มาอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิได้เกิดขึ้นตามที่ตั้งไว้และในวันเวลาที่กำหนด แม้ว่าจะเกิดความรุนแรงระหว่างทางของการขับเคลื่อนในชั่วขณะ แต่ความพยายามอย่างสันติในภาพรวมเป็นกระแสหลักตลอดมา
  • บทเรียนแห่งความเป็นมาในกรณีของวันแรงงานสากล ให้อุทาหรณ์เพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญๆ ในเรื่อง การกำหนดเป้าหมายที่ชอบธรรมและท้าทาย วิธีการของการบรรลุเป้าหมาย อันอยู่ระหว่างความรุนแรงกับสันติวิธี ความพยายามที่ต่อเนื่อง และความสามัคคีของผู้ใช้แรงงานในทุกประเทศและในระดับสากล
  • การต่อสู้หรือเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานทุกประเภท ยังมีอีกหลายประเด็นนอกเหนือชั่วโมงการทำงาน เช่น การรวมตัว (ในทุกภาคส่วน) ความมั่นคงทางสังคม และอื่นๆ ขบวนการแรงงานไทยควรพัฒนาการใช้ประโยชน์ของวันแรงงานสากลหรือวันแรงงานแห่งชาติเพื่อการเจรจาต่อรองระดับชาติระหว่างขบวนการแรงงานกับรัฐบาลให้ได้ผลยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยื่นข้อเสนอและการเจรจาต่อรอง เพื่อให้เกิดรูปธรรมจริงตามกรอบเวลาในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ

 

บทนำ

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตในการทำงานของแรงงานโดยขบวนการแรงงานทั่วโลกเกิดขึ้นในหลายแง่หลายมุม พัฒนาการในเรื่องดังกล่าวนี้มีมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ขยายตัวจากอังกฤษไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประวัติศาสตร์โลกในระยะเวลา 200-250 ปีที่ผ่านมา บันทึกไว้ว่าประเด็นชั่วโมง (ชม.) การทำงาน นับเป็นประเด็นแรกๆ ของการพยายามอย่างแข็งขันให้มีการปรับปรุงในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย และกระทั่งในทุกวันนี้ การลดชั่วโมงการทำงานลงอีก ก็ยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ในความต้องการของขบวนการแรงงานทั่วโลก และในอนาคตประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้ ก็จะยังคงมีคุณค่าแก่การเรียนรู้และร่วมรำลึกต่อไป

ข้อเขียนชิ้นนี้จึงต้องการนำเสนอถึงความเป็นมาของวันแรงงานสากล อันแสดงถึงความพยายามของผู้ที่เป็นมิตรกับขบวนการแรงงานและโดยขบวนการแรงงานเอง ในการขับเคลื่อนเพื่อลดชั่วโมงการทำงานของผู้ใช้แรงงานทั่วโลกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยคำถามและข้อฉงนระหว่างทางแห่งประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวว่า เป้าหมายคืออะไร การบรรลุเป้าหมายมีเพียงใด ผ่านวิธีการเช่นไร ระหว่างวิถีอันสันติกับความรุนแรง และให้บทเรียนอะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์สำหรับโลกการทำงานในปัจจุบันและอนาคต

 

ความพยายามข้ามศตวรรษของการลดชั่วโมงการทำงาน

ก่อนกำเนิดวันเมย์เดย์ (May Day) คือ วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี อันเป็นวันรำลึกถึงความมุ่งมั่นและการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการทำงานวันละ 8 ชม. ต่อวัน ในสหรัฐอเมริกาดังที่จะกล่าวต่อไปนั้น กล่าวกันว่า เรื่องระยะเวลาของการทำงานในแต่ละวันนั้น ได้เคยมีข้อกฎหมาย “Ordenanzas de Felipe II” ให้มีการทำงานวันละ 8 ชม. ในสเปนเกิดขึ้นมาก่อนใน ค.ศ. 1594 (พ.ศ. 2137) คือ สมัยพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (พระองค์ได้เป็นกษัตริย์ของโปรตุเกส และเนเปิลส์ด้วย)[1] โดยเวลาของการทำงานดังกล่าวนี้เป็นการทั่วไปในยุคศักดินาที่ไม่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสมัยต่อมา

แต่เมื่อแรกเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอังกฤษ การจ้างงานก็เกิดขึ้นและขยายตัวไปในอุตสาหกรรมต่างๆ เกิดความมั่งคั่งของชาติตามมา แต่ก็มีการใช้แรงงานให้ทำงานอย่างยาวนานอันเป็นผลเสียต่อสุขภาพ การเคลื่อนไหวในประเทศอังกฤษเพื่อลดชั่วโมงการทำงานจาก 14-16 ชม. ต่อวัน เป็นวันละ 10 ชม. จึงได้เกิดขึ้น ดังเช่น ใน ค.ศ. 1784 (พ.ศ. 2327) ในเมืองแมนเชสเตอร์ มีการเสนอวาระ (คำฟ้อง) ต่อที่ประชุมศาลเพื่อพิจารณาตัดสิน[2] ให้มีการทำงานลดลงเหลือวันละ 10 ชม.[3] หลังจากนั้น ก็มีการพยายามดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า

ในยุคสมัยที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแรกๆ ในอังกฤษ แรงงานเด็กจำนวนมากถูกเอามาใช้ให้ทำงานทั้งในเมืองและในชนบท ทำงานยาวนานกว่า 10 ชม. ต่อวัน ดังเช่นที่กล่าวแล้วนั้น เด็กในเมืองมีอายุการทำงานเริ่มต้นประมาณ 8.5 ปี โดยทำงานในโรงงานทอผ้า เหมืองถ่านหิน ทำความสะอาดปล่องไฟ เด็กในชนบทมักจะเริ่มทำงานประมาณ 10.5 ปี โดยทำงานด้วยการไล่นก การหว่านพืช และการบังคับม้า ปัญหาของแรงงานเด็กสมัยนั้น นอกจากทำงานเป็นเวลานานแล้ว ก็ยังได้รับค่าจ้างที่ต่ำมาก ทำงานที่สกปรก และอันตราย[4] การเรียกร้องจากผู้ที่เห็นใจเด็กๆ ที่ต้องทำงานเช่นนั้นจึงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ แต่ด้วยเหตุแห่งความยากจนของผู้คน การแก้ปัญหาแรงงานเด็กในสมัยนั้น ก็ไม่มีความก้าวหน้ามากนัก

ในศตวรรษใหม่ คือใน ค.ศ. 1815 (พ.ศ. 2358) วงการของการใช้แรงงานอันควรในอังกฤษ ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวผ่านการจัดประชุมกันในเรื่องชั่วโมงการทำงาน (อีกครั้ง) ดังที่เรียกกันว่า “การเคลื่อนไหว 10 ชั่วโมง” (Ten Hours Movement)[5] ให้มีการลดชั่วโมงการทำงานโดยทั่วไปให้เหลือวันละ 10 ชั่วโมง อีกสามปีต่อมาคือ ค.ศ. 1818 และต่อเนื่องยาวนาน

โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักสหกรณ์นิยม ผู้เป็นเจ้าของโรงงานทอผ้าในเมืองแมนเชสเตอร์และเมืองนิวลานาร์ค ประเทศอังกฤษ และผู้ที่ในภายหลังได้รับการเรียกขานว่าเป็น “บิดาของสังคมนิยมแห่งอังกฤษ” ก็เข้าไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในเหล่าผู้พยายามรณรงค์ให้มีการจำกัดชั่วโมงการทำงานในประเทศต่างๆ และเพื่อให้ลดชั่วโมงการทำงานทั้งเด็กและรวมถึงผู้ใหญ่ไม่เกินวันละ 10 ชม. ให้เป็นจริงเป็นจัง[6] โดยพยายามทำเป็นตัวอย่างในโรงงานอุตสาหกรรมและในระบบสหกรณ์ที่เขาพัฒนาขึ้น แต่กระนั้น คนอังกฤษก็ใช้เวลาหลายปีจึงเป็นไปได้จริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับการรับรองตามกฎหมายโรงงานใน ค.ศ. 1844 (พ.ศ. 2387) ให้การทำงานสำหรับผู้ใหญ่ไม่เกิน 12 ชม. ต่อวันหรือ 69 ชม. ต่อสัปดาห์ และ สำหรับเด็ก 6.5 ชม. ต่อวัน[7] แต่การลดเวลาทำงานเหลือ 10 ชม. ต่อวัน ได้สำเร็จเป็นจริงก็ในปี 1847 (พ.ศ. 2390) ตามกฎหมายโรงงาน (Factories Act 1847)[8] คือเกือบ 30 ปี หลังจากที่โอเวนเริ่มรณรงค์ใน ค.ศ. 1818[9]

ในระหว่างที่เวลาการทำงานในอังกฤษยังไม่ได้ลดลงเหลือ 10 ชม. ต่อวัน ระหว่าง ค.ศ. 1817-1847 (พ.ศ. 2360-2390) โอเวนก็ได้ขยับไปเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ให้มีการลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน ภายใต้คำขวัญว่า “ใช้แรงงาน 8 ชม., เรียนรู้ 8 ชม., พักผ่อน 8 ชม. (eight hours labour, eight hours recreation, eight hours rest) การรณรงค์ดังกล่าวได้ขยายออกไปนอกอังกฤษ เข้าสู่ยุโรป และไปถึงยังสหรัฐอเมริกา[10]

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเพื่อลดชั่วโมงการทำงานเพื่อให้ได้ระบบสามแปด หรือ 3 × 8 (คือ ทำงาน 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. และเรียนรู้หรือใช้เวลาเพื่อกิจกรรมอื่นๆ อีก 8 ชม. = 24 ชม.) ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลับดังกว่าการลดลงเหลือ 10 ชม. ที่เป็นมาในอดีต และได้นำไปสู่กำเนิดของวันแรงงานสากลที่ยึดถือกันในปัจจุบัน

การขยับตัวของขบวนการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศเพื่อปฏิวัติสังคมนิยมที่เรียกว่า “สากลที่หนี่ง (First International)” ภายใต้ชื่อ “สมาคมของคนทำงานระหว่างประเทศ” (International Working Men’s Association) มีผลต่อการต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงานด้วย สมาคมนี้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) ในอังกฤษ (คาร์ล มาร์กซ์ เข้าร่วมด้วย) แต่ในเวลาต่อมามีความขัดแย้งกันภายในระหว่างนักคิดสังคมนิยมที่หลากหลาย ส่งผลให้ส่วนหัวหรือสำนักงานใหญ่ของสมาคม โดยการจัดการของมาร์กซ์ ต้องย้ายไปเปิดดำเนินการและสร้างกระแสการเคลื่อนไหวสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ในสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาหนึ่ง คือในทศวรรษที่ 1870s และได้กระตุ้นความตื่นตัวของขบวนการแรงงานอเมริกันในการต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบต่อแรงงานภายใต้ระบบทุนนิยม การเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งการทำงานวันละ 8 ชม. ก็เป็นเป้าหมายประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติสังคมนิยมดังกล่าวที่ขยายตัวแบบข้ามรัฐ จากอังกฤษเข้าสู่ฝรั่งเศสและไปเข้มข้นมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา[11]

 

การเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกากับการได้มาซึ่งวันแรงงานสากล

ในสหรัฐอเมริกา การเรียกร้องให้ทำงานวันละ 10 ชม. มีในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1820-1850 หลังจากนั้น ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1860 เป็นต้นมา มีการเรียกร้องให้แรงงานทำงานวันละ 8 ชม. และเป็นไปอย่างเข้มข้นและขยายตัวมากขึ้นๆ ในหลายพื้นที่ของประเทศ[12] แกนนำของขบวนการแรงงานที่ได้ต่อสู้ร่วมกันอย่างเข้มข้นในสมัยนั้นประกอบด้วย อัศวินแห่งสหภาพแรงงาน (The Knights of Labor), สหพันธ์ผู้ประกอบอาชีพและสหภาพแรงงานแห่งอเมริกาและแคนาดา (Federation of Organized Trades and Labor Unions of the United States and Canada, FOTLU) (ต่อมาคือ The American Federation of Labor, AFL) และพรรคสังคมนิยม (The Socialist Party) ความร่วมมือดังกล่าว เรียกกันโดยรวมว่า “สมาคมการทำงานวันละแปดชั่วโมง” (8-hour Association) สมาคมแห่งการเคลื่อนไหวนี้ มีความประสงค์จะให้กรรมกรทั้งมวลทำงานวันละ 8 ชม. โดยมีกฎหมายของรัฐรับรอง การเคลื่อนไหวมีการวางแผนอย่างจริงจังใน ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) โดยตั้งเป้าหมายที่จะได้กฎหมายรับรองชั่วโมงการทำงานดังกล่าวในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) ดังมติของ FOTLU ประมาณสองปีก่อนหน้า คือ วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1884 ที่ว่า:

 

“มีมติโดยสหพันธ์ผู้ประกอบอาชีพและสหภาพแรงงานแห่งอเมริกาและแคนาดาให้การทำงานแปดชั่วโมงเป็นไปโดยกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 และเมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงขอแนะนำให้องค์กรแรงงานทั่วเขตอำนาจรัฐ ดำเนินไปสู่การมีกฎหมายของตนให้เป็นไปตามมติดังที่กำหนดเวลาไว้นั้น”[13]

 

การเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองมติดังกล่าวนี้ก็ทยอยเกิดขึ้น คือ การประท้วงของคนงานในสหรัฐอเมริกาประมาณ กว่า 200,000 คน ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องการทำงานวันละ 8 ชม. แต่ต้องเผชิญกับการปฏิเสธของนายจ้างและรัฐบาลตลอดมา และในที่สุดการเคลื่อนไหวในเมืองนี้ ก็นำไปสู่กำเนิดของวันกรรมกรหรือวันแรงงานสากล

การเคลื่อนไหวครั้งที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 ได้เป็นวันนัดหมายสำคัญของการขยายตัวของการประท้วงให้เกิดขึ้นทั่วประเทศและในเมืองชิคาโก สองวันต่อมาคือในวันที่ 3 พฤษภาคม การประท้วงที่โรงงานแมคคอร์มิค รีบเพอร์ (McCormick Reaper) ในเมืองชิคาโก มีความรุนแรงเกิดขึ้นบ้างเป็นแห่งแรก ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม ณ จัตุรัส Haymarket เมืองชิคาโก ก็มีความรุนแรงเช่นกันและเกิดขึ้นสูงสุดกลายเป็นการจลาจลและมีผู้เสียชีวิตหลายราย

 

THE HAYMARKET AFFAIR ที่มา : illinois labor history
THE HAYMARKET AFFAIR
ที่มา : illinois labor history

 

หนังสือพิมพ์ไทม์ (Time) วันที่ 9 พ.ค. 1938 (พ.ศ. 2481) รายงานรำลึกย้อนหลังถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ครั้งนั้นว่า “ไม่กี่นาทีหลัง 4 ทุ่ม ของวันที่ 4 พฤษภาคม 1886 (พ.ศ. 2429) พายุฝนเริ่มพัดโหมเข้าสู่เมืองชิคาโก เมื่อเหล่าหยาดฝนแรกๆ หยดลงมา ฝูงชนที่จตุรัสเฮย์มาร์เกต (Haymarket Square) ก็เริ่มสลายตัว ตอนสองทุ่มมีคนประมาณ 3,000 คน[14] เข้าร่วมฟังเหล่านักอนาธิปัตย์[15] ประณามความโหดเหี้ยมของตำรวจและเรียกร้องการทำงานวันละแปดชั่วโมง แต่พอสี่ทุ่มก็เหลือไม่กี่ร้อยคน นายกเทศมนตรีผู้ที่สอดส่องดูแลระวังปัญหา ได้กลับบ้านและเข้านอน ผู้ปราศรัยคนสุดท้ายกำลังจบการพูด พอดีกับที่ตำรวจ 180 นาย เดินแถวมาจากสถานีเพื่อสลายการประชุมที่เหลืออยู่ ตำรวจหยุดอยู่ตรงที่ไม่ไกลนักจากรถของผู้ปราศรัย ในขณะที่ผู้บังคับการของตำรวจสั่งให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันไป แต่ที่ผู้ปราศรัยร้องออกไปว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น การระเบิดได้เกิดขึ้นในแถวตำรวจ ตำรวจบาดเจ็บ 67 คน โดยในจำนวนนี้เสียชีวิต 7 คน ตำรวจเปิดการกราดยิง ฆ่าผู้คนตายหลายราย และบาดเจ็บกว่า 200 คน และแล้วจัตุรัสเฮย์มาร์เก็ตก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา....” (Time, May 9, 1938, No. 20, p. 67)

การประท้วงที่สงบได้เกิดความรุนแรงและกลายสภาพเป็นอนาธิปไตยในคราวนั้น เหล่าผู้ประท้วงพ่ายแพ้ แกนนำถูกตำรวจจับกุมด้วยข้อกล่าวหาปาระเบิดใส่ตำรวจ หนึ่งปีหลังจากนั้นใน ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) ผู้ประท้วงก็ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต 7 คน และจำคุก 15 ปี 1 คน ในจำนวนนั้นฆ่าตัวตายหนึ่งคน แต่ 6 ปี ภายหลัง ผู้ว่าราชการรัฐอิลลินอยส์ในสมัยต่อมา ก็ได้ประกาศสำนึกผิดต่อคำตัดสินของรัฐว่า ศาลพิพากษาไปโดยจำเลยมิได้ผิดจริง ผู้กระทำผิดเป็นมือที่สามมิใช่ผู้ที่ถูกจับ และมีการติดสินบนพยานเพื่อให้การเท็จต่อศาล[16]

 

The Haymarket Memorial ที่มา : chicaco
The Haymarket Memorial
ที่มา : chicaco

 

แม้ว่าการต่อสู้ใน ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) ในสหรัฐอเมริกาจะเข้มข้นและแปรเปลี่ยนจากความขัดแย้งเชิงสันติไปสู่ความรุนแรงสูงสุด โดยมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้นทั้งในฝ่ายของผู้ประท้วงและผู้ปราบปราม แต่ชัยชนะของผู้ประท้วงก็ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยในคราวนั้น การลดชั่วโมงการทำงานในสหรัฐอเมริกาตลอดมานั้น มิได้เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันในทันทีโดยการอาศัยกฎหมายร่วม บริษัทฟอร์ดมอเตอร์เป็นบริษัทแรกๆ ใน ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) ที่เริ่มให้มีการทำงานวันละ 8 ชม. แถมเพิ่มค่าจ้างให้อีก จนทำให้ผลิตภาพนำหน้าบริษัทอเมริกันอื่นๆ ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าภายในเวลาเพียงสองปี และนำไปสู่การเลียนแบบโดยบริษัทอื่นๆ ตามมาตรฐาน 8 ชม. ของการทำงานใหม่นี้ด้วย[17] แต่กฎหมายของรัฐบาลกลางคือ กฎหมายมาตรฐานแรงงานที่ยุติธรรม (Fair Labor Standards Act) เพิ่งรับรองการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชม. หรือวันละ 8 ชม. เมื่อปี 1940 (พ.ศ. 2483)[18] คือ 56 ปี นับจากความพยายามเมื่อเริ่มต้นของ “สมาคมการทำงานวันละแปดชั่วโมง” และ 54 ปี หลังเกิดเหตุการณ์จลาจลที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต

หลังจากเหตุการณ์ใน ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) นั้น ในระหว่าง ค.ศ. 1889 – 1890 (พ.ศ. 2432 - 2433) ขบวนการแรงงานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัศวินแห่งแรงงาน (Knights of Labors) ในสหรัฐอเมริกา และการประชุมสากลครั้งที่สอง (Second International) ของขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม ที่จัดประชุมขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ได้ตอบรับและสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องการทำงานวันละแปดชั่วโมงที่ยังมีต่อไปอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา และมีมติรับรองให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เป็นวันรณรงค์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่คนงานจะต้องทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ทำให้วันแรงงานสากล (International Workers’ Day) จึงถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีนับแต่นั้นมา[19]

ดังที่กล่าวแล้ว แม้ในที่สุด ความรุนแรงได้เกิดขึ้นท่ามกลางการประท้วงและกลายเป็นการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คน แต่การได้ระบบสามแปดที่เป็นจริง ก็มิได้เป็นไปโดยง่ายในสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ทั้งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ไม่ยอมรับให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันเดียวกับวันฉลองแรงงานแห่งชาติของชาวอเมริกัน เพราะเกรงว่าวันนี้จะเป็นการสนับสนุนต่อการปฏิวัติสังคมนิยมของขบวนการแรงงานอเมริกันไปกับเขาด้วย รัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยคำสั่งของประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนกันยายนของทุกปีต่างหาก เป็นวันแรงงานแห่งชาติที่เน้นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงานหนักที่มีมาตามประเพณี ทั้งยังเชิญชวนให้รำลึกถึงเหตุการณ์อื่นของฝ่ายแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การเสียชีวิตของแรงงาน 13 คน และบาดเจ็บ 57 คน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1894 (พ.ศ. 2391) ในรัฐอิลลินอยส์ (เช่นกัน) ในการปะทะกับทหารที่เข้าสลายการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟบริษัทพูลแมน (Pullman Strike) ด้วยเหตุของการถูกลดค่าจ้างโดยบริษัท และได้รับการสนับสนุนด้วยการนัดหยุดงานอย่างเห็นอกเห็นใจ (Sympathy Strike) จากสหภาพแรงงานคนงานรถไฟ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ยังลงนามให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็น “วันแห่งความภักดี” (Loyalty Day) เพื่อหันเหความพยายามเข้าร่วมกับขบวนการสังคมนิยมของขบวนการแรงงานอเมริกัน ให้กลายเป็นวันพิเศษ สำหรับการยืนยันความจงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา และเพื่อการยอมรับมรดกแห่งเสรีภาพของชาวอเมริกัน[20]

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศกับการลดชั่วโมงการทำงานและกฎหมายไทย

ระบบสามแปดยังคงได้รับการดำเนินการรณรงค์กันต่อไปในแต่ละประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างประเทศ ข้ามศตวรรษอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือในศตวรรษที่ 20 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ที่ถือกำเนิดใน ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง โลกกลับคืนสู่สันติภาพ ILO ก็ได้ใช้วิถีสันติภาพออกประกาศอนุสัญญาฉบับที่หนึ่งว่าด้วย “ชั่วโมงการทำงาน (อุตสาหกรรม)” ตามมาตรา 2 โดยมีใจความสำคัญ คือ ชั่วโมงการทำงานของบุคคลซึ่งทำงานในกิจการอุตสาหกรรมของรัฐหรือเอกชนหรือในสาขาใดๆ ก็ตาม เว้นแต่กิจการที่มีเฉพาะสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน จะต้องไม่เกินวันละ 8 ชม. และ 48 ชม. ต่อสัปดาห์ (ILO, C001 - Hours of Work (Industry) Convention, 1919) อันแสดงถึงว่าอาจมีการทำงานสัปดาห์ละ 5 หรือ 6 วัน แต่ไม่เกิน 8 ชม. ต่อวัน ทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา หลายประเทศสมาชิกของ ILO เอามาตรฐานนี้ไปปรับใช้กับกฎหมายของตน โดยกำหนดให้มีการทำงาน 8 ชม. ต่อวัน และหลังจากนั้น ILO ก็ได้ออกอนุสัญญาลดชั่วโมงการทำงานลงอีก โดยล่าสุด แต่ก็เมื่อ 88 ปีที่แล้ว คืออนุสัญญาฉบับที่ 47 ว่าด้วย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) (ILO, C47 - Forty-Hour Week Convention, 1935) คือ กำหนดให้เหลือ 40 ชม. ต่อสัปดาห์ จากเดิม 48 ชม. ต่อสัปดาห์ โดยยังไม่ได้ลดชั่วโมงต่อวันลงมาให้ต่ำกว่า 8 ชม. ในขณะที่บางประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี มีการทำงาน 6-7 ชม. ต่อวัน หรือ 30-35 ชม. ต่อสัปดาห์ นำหน้าไปแล้ว

สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23 กำหนดให้การทำงานทั่วไป ไม่เกินวันละ 8 ชม. และไม่เกิน 48 ชม. ต่อสัปดาห์ เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายก็ให้มีเวลาทำงานปกติไม่เกิน 7 ชม./วัน และไม่เกิน 42 ชม./สัปดาห์ ดังนั้น แรงงานในประเทศไทยส่วนหนึ่งจึงอาจทำงานในหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ วันละไม่เกิน 8 ชม. และได้หยุดงานสัปดาห์ละ 2 วัน แต่แรงงานในบริษัทเอกชนจำนวนมาก ก็อาจได้หยุดงานต่อสัปดาห์เพียง 1 วัน เพราะระยะเวลาการทำงานนานสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด คือ 48 ชม. ต่อสัปดาห์ ในขณะที่แรงงานในรัฐวิสาหกิจ ในส่วนงานราชการ องค์การมหาชนอิสระ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาของรัฐ ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชม. และ ไม่เกิน 40 ชม. ต่อสัปดาห์ กันมานานแล้วอีกส่วนหนึ่ง

 

วันแรงงานสากล/วันแรงงานแห่งชาติในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการแรงงานรณรงค์ให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับวันแรงงานสากล คือ 1 พฤษภาคม และขอต่อรัฐบาลให้เป็นวันหยุดและจัดให้มีการเฉลิมฉลอง เช่นเดียวกับในหลายประเทศ ใน พ.ศ. 2499 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยอมรับข้อเสนอให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ แต่รัฐบาลสมัยต่อมากำหนดให้เรียกว่าวันแรงงานแห่งชาติแทน และใน พ.ศ. 2517 รัฐบาลยอมรับให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นหนึ่งในวันหยุดประจำปีของผู้ใช้แรงงานที่ยังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้[21]

วันแรงงานสากลหรือวันแรงงานแห่งชาติในประเทศไทยเป็นวันเดียวกัน พิจารณาในแง่บวก ถือได้ว่าความเป็นสากลสอดคล้องกับความเป็นแห่งชาติของกรรมกรหรือแรงงานไทย เพราะไม่ได้กำหนดให้วันแรงงานแห่งชาติเป็นวันอื่น หากพิจารณาในแง่ลบ ก็ถือได้ว่ารัฐบาลพยายามจำกัดอิทธิพลจากสากลที่จะชักนำทิศทางการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน โดยไม่ยอมให้ใช้ชื่อว่าวันกรรมกรหรือวันแรงงานสากลเป็นพื้นฐาน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เมื่อ ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง

วันนี้ของแรงงานในประเทศไทยยังมีลักษณะพิเศษกว่าหลายประเทศทั่วโลก เพราะกลายเป็นวันแห่งประเพณีของการยื่นข้อเรียกร้องประจำปีของฝ่ายผู้ใช้แรงงานต่อรัฐบาล กระทำโดยสภาแรงงานระดับชาติหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน (ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี้ นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เป็นประธานการจัดงาน) มีข้อเรียกร้องสำคัญๆ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาล คือ[22] ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง (ที่มีการเรียกร้องมาเป็นเวลากว่า 30 ปี) ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง[23] ปฏิรูประบบประกันสังคม โดยปรับฐานบำนาญเริ่มต้นที่ 5,000 บาท ขยายอายุการเป็นผู้ประกันตนเริ่มต้น 15 ปี สิ้นสุดที่ 70 ปี (เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ) และเมื่อรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิประกันสังคมรักษาพยาบาลตลอดชีวิต ขอให้รัฐบาลดูแลลูกจ้างรับเหมาค่าแรงงาน บังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงาน

ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น บางเรื่องก็เป็นข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่เสนอขอกันมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นผล บางข้อก็เป็นเรื่องใหม่ แต่ทั้งหมดย่อมควรค่าแก่การติดตามกันต่อไปว่า (ควร) จะเป็นจริงในลักษณะไหน อย่างไร และเมื่อใด?

 

สรุป - เรียนรู้ - สู่อนาคต

วันแรงงานสากลของสังคมอุตสาหกรรม เกิดขึ้นอย่างเป็นกระแสธารอันสืบเนื่องของการเคลื่อนไหวข้ามศตวรรษ ตั้งแต่เริ่มแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อลดชั่วโมงการทำงานจาก 14 - 16 ชม. ต่อวัน ให้เหลือไม่เกิน 10 ชม. ในปลายศตวรรษที่ 18 และดำเนินต่อมาสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่กระแสความต้องการทั้งให้เหลือไม่เกิน 10 ชม. และ 8 ชม. ต่อวัน และสืบเนื่องสู่ศตวรรษที่ 20 ให้เหลือไม่เกิน 8 ชม. ต่อวัน จากภายในประเทศอังกฤษไปสู่ระหว่างประเทศ และเป็นประเด็นร่วมสากลตลอดมา

การบรรลุเป้าหมายจากไม่เกิน 10 ชม. เหลือไม่เกิน 8 ชม. ต่อวัน ที่เป็นมาตรฐานแรงงานสากลในทุกวันนี้ ได้มาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในระดับสากล เมื่อนับจากการขับเคลื่อนในประเทศอังกฤษไปสู่ประเทศต่างๆ กระทั่งการออกอนุสัญญาฉบับแรก (C 001) ว่าด้วย “ชั่วโมงการทำงาน (อุตสาหกรรม)” ของ ILO ใช้เวลากว่า 135 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1784 (พ.ศ. 2327) - ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) ส่วนในสหรัฐอเมริกา เป้าหมายเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชม. ของสมาคมการทำงานวันละแปดชั่วโมงได้ใช้เวลาอย่างน้อย 56 ปี หากตั้งต้นเมื่อ ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) กระทั่งถึง ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) การบรรลุเป้าหมายโดยภาพรวมจึงมิได้เกิดขึ้นตามที่ตั้งไว้และในวันเวลาที่กำหนด แม้ว่าจะเกิดความรุนแรงระหว่างทางของการขับเคลื่อนในชั่วขณะ แต่ความพยายามอย่างสันติในภาพรวมเป็นกระแสหลักตลอดมา

บทเรียนแห่งความเป็นมาในกรณีของวันแรงงานสากล อันมาจากการต่อสู้ในเรื่องชั่วโมงการทำงานที่นำเสนอมานี้ ให้อุทาหรณ์เพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างน้อยสี่ประการ คือ ประการแรก การกำหนดเป้าหมายที่ชอบธรรมและท้าทายเป็นสิ่งสำคัญ ประการที่สอง วิธีการของการบรรลุเป้าหมาย อันอยู่ระหว่างความรุนแรงกับสันติวิธี โดยความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยการกระทำของฝ่ายใด ไม่ได้เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่จะให้หลักประกันว่าความสำเร็จตามมุ่งหมายจะเกิดขึ้นจริงในทันทีแต่อย่างใด แต่สันติวิธีเป็นแม่บทและให้ผลที่ยั่งยืนกว่าสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อการแปลงเปลี่ยนประเด็นที่ประสงค์หรือสังคมในระยะยาว ประการที่สาม ความพยายามที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเพศใดและกลุ่มผู้คนใด หากไม่ละทิ้งเสียกลางคัน ก็ย่อมเป็น (มหา) วิริยะบารมีที่นำไปสู่ความสำเร็จ (ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม) และ ประการที่สี่ ความสามัคคีของผู้ใช้แรงงานเป็นเรื่องสำคัญเสมอในทุกประเทศและในระดับสากล

การต่อสู้หรือเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานทุกประเภท คงมีต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยยังมีอีกหลายประเด็นนอกเหนือชั่วโมงการทำงาน เช่น การรวมตัว (ในทุกภาคส่วน) ความมั่นคงทางสังคม วันหยุด การจ้างงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การศึกษาเรียนรู้ และอื่นๆ ให้ต้องพินิจพิจารณาดำเนินการร่วมกันต่อไป ภายใต้โลกการทำงานสมัยใหม่ที่ผสมปนเปกันระหว่างการทำงานในแบบแผนดั้งเดิม การทำงานแบบยืดหยุ่น การทำงานทางไกล การทำงานแบบกิ๊ก และการทำงานที่พึ่งพาแพล็ตฟอร์มดิจิทัล และอื่นๆ ทั้งในระดับสากลและในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยนั้น การไปสู่อนาคตของการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในหลากหลายแง่มุม ขบวนการแรงงานควรพัฒนาการใช้ประโยชน์ของวันแรงงานสากลหรือวันแรงงานแห่งชาติเพื่อการเจรจาต่อรองระดับชาติระหว่างขบวนการแรงงานกับรัฐบาลให้ได้ผลยิ่งขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่สมควรจัดระดมสมองเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ได้กระบวนการยื่นข้อเสนอและการเจรจาต่อรองที่มีสมรรถนะสูงขึ้นๆ และให้เกิดรูปธรรมจริงตามกรอบเวลาในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ

 

Thai Labour Day ที่มา : bangkok post
Thai Labour Day
ที่มา : bangkok post

 

บรรณานุกรม :

ภาษาไทย

ภาษาอังกฤษระบุชื่อผู้เขียน

ภาษาอังกฤษ (ไม่ระบุชื่อผู้เขียน)

รูปภาพ

 


[2] เรียกกันว่า “Manchester Quarter Sessions”

[3] The Federation of International Employers. History of Working Time, และ B T Ranadive, Revolutionary Traditions of May Day         .

[4] Emma Griffin. Child labour.

[6] B.L. Hutchins. (1928). Robert Owen. Social Reformer, pp. 16-19.

[8] The Federation of International Employers. อ้างแล้ว.

[9] ใน ค.ศ. 1818 (พ.ศ. 2361) โรเบิร์ต โอเวน ยื่นคำร้องต่อที่ประชุมมหาอำนาจยุโรปทั้งห้า ณ รัฐสภาแห่ง Aix-la-Chapelle เอกสารดังกล่าวเรียกร้องให้มีการจำกัดชั่วโมงการทำงานทั่วยุโรปเพื่อหยุดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ข้อเสนอของเขาในตอนนั้นถูกปฏิเสธ ด้วยเห็นกันว่าเป็นข้อเสนอที่ 'วิกลจริต' (ดูประกอบใน The Federation of International Employers. อ้างแล้ว).

[11] Alexander Trachtenberg. May Day Archive. The History of May Day.

[13] Alexander Trachtenberg. อ้างแล้ว.

[14] ข้อมูลบางแห่งระบุประมาณ 1,500 คน – ผู้เขียน

[15] คำว่านักอนาธิปัตย์ (Anarchist) มีความหมายไปในทางปรัชญาการเมืองที่ครอบคลุมกว้างขวาง อาทิ นักต่อสู้ที่ปฏิเสธอำนาจและการครอบงำของรัฐ โดยอาจใช้วิธีการที่รุนแรงหรือสันติ มักใช้ร่วมกับคำว่าอนาธิปไตย  (Anarchy) อันหมายถึงสภาพของการไร้รัฐ การไม่เชื่อฟังรัฐ การไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ และการปกครองตนเอง เป็นต้น - ผู้เขียน

[16] Christopher Thale. Haymarket and May Day, and B T Ranadive, อ้างแล้ว.

[20] เพิ่งอ้าง.

[23] เกี่ยวกับการมีเงินเพื่อจ่ายค่าแรงให้แก่แรงงานเพื่อไม่ให้เดือดร้อนทางรายได้ หากมีการเลิกจ้างเพราะธุรกิจปิดกิจการและมีปัญหาติดขัดการจ่ายค่าจ้างแก่แรงงานที่ต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด