ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ถวัติ ฤทธิเดช : กรรมกรที่ก้าวหน้า กับ มโนทัศน์ของปรีดี พนมยงค์ และนโยบายคณะราษฎรต่อกรรมกรไทย

1
พฤษภาคม
2565

ความคิดเรื่องกรรมกรของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ และนโยบายต่อกรรมกรของคณะราษฎร ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกันมากนัก เช่นน้อยคนที่จะทราบว่า ปรีดีเป็นผู้สนับสนุนให้มีวันกรรมกร ขึ้น ครั้งหนึ่งยังเคยมอบหมายให้ หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ไปแสดงสุนทรพจน์เนื่องในวันกรรมกร[1]

ส่วนทรรศนะต่อกรรมกร และ ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรไทยคนสำคัญ ปรีดีมองว่า กรรมกรรถรางเป็นกรรมกรที่ก้าวหน้า โดยขณะนั้นมีกลุ่มกรรมกรอยู่ในวิสาหกิจของรัฐ 4 ประเภท คือ การรถไฟ โรงงานยาสูบ โรงงานช่างแสง และ สมาคมรถราง ดังที่ปรีดีเคยกล่าวไว้ว่า

“4. กรรมกรรถรางเป็นกรรมกรที่ก้าวหน้า นำโดย ถวัติ ฤทธิเดช คุณเคยได้ยินชื่อหรือเปล่า แต่ทว่าบางพวกอ้างแต่นายวาศ สุนทรจามร ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายวาศ ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่ถวัติ ทำนั้น นายวาศเป็นนายตำรวจ ยศร้อยตำรวจตรี ผมยังเป็นนักเรียนอยู่ในฝรั่งเศส ยังไม่ได้กลับไป

กรรมกรรถรางสไตร๊ค์ ถวัติเป็นคนทำ ถวัติก็ได้จัดตั้งกรรมกรไว้ได้ดี เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดี หรือกรณีกบฏบวรเดชก็ดี กรรมกรรถรางได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี…”[2]

 

ถวัติ ฤทธิเดช
ถวัติ ฤทธิเดช

 

“วันกรรมกรสากล” หรือ “วันแรงงานสากล” ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ในแง่มุมของประวัติศาสตร์ ในวันนี้เป็นการรำลึกถึงหยาดเลือดและหยดน้ำตาของกรรมกรผู้ยากไร้ รวมถึงความสำเร็จจากการต่อสู้เพื่อให้ได้ความเสมอภาค ให้ได้ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมจากการผสานความร่วมมือด้วยกันกับหลายฝ่าย จึงควรย้อนกลับไปมองจุดเริ่มต้นของแนวคิดเรื่องสิทธิกรรมกร และนโยบายของคณะราษฎรในระยะแรกว่ามีกลวิธีแยบคายอย่างไร

 

มโนทัศน์แรงงานของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ และนโยบาย ‘รัฐบาลคณะราษฎร’

หากจะเปรียบเทียบนโยบายของกรรมกรก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยามนั้น ปรีดีเคยกล่าวถึงการปรับค่าจ้างแรงงานของกรรมกรไว้ว่า

“...กรรมกรทั่วไปค่าแรงเดือนละ 15 บาท เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เราก็ได้ปรับขึ้นให้เป็น 20 บาท…”[3]

และภายหลังระบอบใหม่ ได้มีการตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิของกรรมกรหรือแรงงานมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการก่อตั้งสมาคมรถรางที่มีกรรมกรสังกัดขึ้น การเผยแพร่ข้อเขียนผ่านหนังสือพิมพ์ การร้องทุกข์  มีการขยายตัวของการประท้วง การนัดหยุดงาน และการถวายฎีกา ในหมู่กรรมกรรถราง กรรมกรรถไฟมักกะสัน กรรมกรปูนซีเมนต์ กรรมกรโรงสี กรรมกรโรงเลื่อย กรรมกรรถลาก และกรรมกรโรงพิมพ์

นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาแรงงานเป็นประเด็นสาธารณะที่ได้รับความใส่ใจจากรัฐบาลคณะราษฎรอย่างยิ่ง

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475
พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475

 

นโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลคณะราษฎรเริ่มต้นครั้งแรกด้วยการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หัวใจของกฎหมายฉบับนี้ ว่าด้วยสำนักงานจัดหางานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกกรรมกร มีหน้าที่คิดสินจ้างในการเป็นคนกลาง ระหว่างนายจ้างผู้ต้องการลูกจ้างกับลูกจ้าง หรือเสมียน คนใช้ หรือกรรมกรอื่นๆ ผู้ต้องการหางานทำ โดยระบุไว้ในมาตรา 11 ดังนี้

“มาตรา 11 กิจการของสำนักงานจัดหางาน คือช่วยเหลือให้นายจ้างกับลูกจ้างได้ติดต่อกันได้ เพื่อการทำสัญญาจ้างเท่านั้น

การงานกิจธุระทั้งหลายของสำนักงานนี้ ห้ามมิให้เป็นไปเพื่อหรือเกี่ยวข้องแก่การเมือง หรือการทางศาสนา[4]

และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2477 ปรีดี พนมยงค์ ยังได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกร ในคณะกรรมการชุดนี้มี ‘ถวัติ ฤทธิเดช’ ในฐานะของผู้นำกรรมกรรถราง ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ กับอีก 10 ท่าน ได้แก่ พระยาสุนทรพิพิธ  พันตรีหลวงอดุลเดชจรัส  ขุนสมาหารหิตะคดี  นายไต๋ ปาณิกบุตร  นายร้อยโททองคำ คล้ายโอภาส  นายร้อยโทเณร ตาละลักษณ์  นายชุณห์ ปิณฑานนท์ นายฟัก ณ สงขลา นายกสมาคมกรรมกรโรงพิมพ์ และนายกสมาคมประชานุกูล

หน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมแรงงาน คือ พิจารณาปัญหาของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ ด้วยการศึกษาปัญหากรรมกรในประเทศสยาม (Commission of Study) จนกว่าจะมีการตรากฎหมายแรงงานขึ้น และมีวาระทำงานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2479 ราวสองปีกว่า แม้จะไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาโดยตรง[5] แต่การจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกรของคณะราษฎรนี้ เป็นการรับฟังปัญหา ศึกษาวิธีการแก้ไข และผสานแนวร่วมกรรมกรกับคณะราษฎรอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก

จากการตรากฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475 ของรัฐบาลคณะราษฎร และการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกร จากข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ แสดงให้เห็นการปรับปรุงวิธีการแก้ไขปัญหากรรมกรให้เป็นระบบและให้กรรมกรเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาปัญหากรรมกรเองด้วย ส่งผลให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย มีงบประมาณสนับสนุน ดำเนินการตามระเบียบเวลาซึ่งแตกต่างจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหากรรมกรอย่างเป็นรูปธรรม และขาดการรับฟังปัญหากรรมกรเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง

 

แรงงานในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

ใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ปรากฏทรรศนะเรื่องแรงงานและเศรษฐกิจของปรีดี อย่างละเอียดขึ้น และมีเป้าหมายเพื่อบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจตามหลัก 6 ประการ อย่างเด่นชัด ซึ่งในเค้าโครงฯ นี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนแรก เป็นคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจมี จำนวน 11 หมวด

ส่วนที่ 2 เป็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร มีจำนวน 5 หมวด

ส่วนที่ 3 เป็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ จำนวน 5 หมวด[6]

 

เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง
เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง

 

หลักอันเป็นกรอบพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจใหม่ในเค้าโครงฯ นี้คือ แนวคิดที่ให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง และประเภทแรงงานที่ปรีดี เสนอไว้ในช่วงเวลานั้น จะหมายถึงกลุ่มแรงงาน 3 ประเภท ได้แก่ ชาวนา กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม และข้าราชการ[7]

มโนทัศน์ของปรีดี ในเรื่องแรงงานที่เสนอต่อรัฐบาลคณะราษฎรในเค้าโครงฯ ฉบับนี้ คือ รัฐบาลจำต้องดำเนินวิธีละม่อม คือ ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมีกับคนจน รัฐบาลต้องไม่ประหัตประหารคนมี[8] และการจัดเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ ตามที่ปรีดี กล่าวไว้ว่า

ผู้ที่อ่านโดยมีอุปาทานร้ายมักจะเหมาทันทีว่า การที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองนี้ จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ กล่าวคือผู้หญิง จะมิเป็นของกลางไปหมดหรือ ชีวิตในครอบครัวจะไม่มี คนจะหมดความมานะพยายามในการที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญ คำกล่าวนี้ ถ้ามีผู้กล่าว ก็คงจะใส่ร้ายโดยไม่ตรึกตรอง[9]

ส่วนการควบคุมแรงงานนั้น ปรีดี เสนอให้แบ่งงานออกเป็น “สหกรณ์” เพราะในขณะนั้น สยามมีพลเมือง 11 ล้านคน ถ้าการประกอบเศรษฐกิจขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางอาจจะตรวจตราไม่ทั่วถึงจึงเสนอให้แบ่งเป็นสหกรณ์ โดยให้ราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ จะได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์นั้นตามอัตรา และต้องทำงานตามกำลังตามความสามารถ โดยสหกรณ์นี้จะดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ[10]

“เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ฉบับนี้ ปรีดีได้ต่อยอดและวางแผนเรื่องแรงงานให้ชัดเจนขึ้นกว่าในพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน และจากเดิมที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่า รัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยากนั้น ปรีดียังชี้ว่า ถ้าดำเนินการตามเค้าโครงฯ นี้จะบรรลุเป้าหมายของหลัก  6 ประการได้โดยเฉพาะแนวคิดหลักในการประกันสิทธิแรงงาน ดังนี้

1. ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง ราษฎรทุกคนจะมีงานทำ โดยเหตุที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการ

2. เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลที่พอเพียงที่จะซื้อหรือแลกเปลี่ยนกับปัจจัย 4 ตามความต้องการของราษฎร[11]

 

‘ถวัติ ฤทธิเดช’ คณะราษฎร และ พรรคการเมืองกรรมกร

 

ถวัติ ฤทธิเดช
ถวัติ ฤทธิเดช

 

‘ถวัติ ฤทธิเดช’ คือ ผู้นำกรรมกรรถรางที่ต่อมาเป็นผู้นำกรรมกรคนสำคัญนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2460 ถวัติเป็นผู้ก่อตั้ง หนังสือพิมพ์กรรมกร (พ.ศ. 2465-2467) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสำนึกทางการเมืองให้แก่กรรมกร โดยมี “คณะกรรมกร” หรือ คณะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประกอบด้วย ถวัติ ฤทธิเดช, สุ่น กิจจำนงค์, ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร, ถวัลย์ ชาติอาษา และขุนสมาหารหิตะคดี (โประ โปรคุปต์)

 

หนังสือพิมพ์กรรมกร ที่มา : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
หนังสือพิมพ์กรรมกร
ที่มา : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

 

ความคิดของ ถวัติ ฤทธิเดช ที่สนับสนุนคณะราษฎรนั้นปรากฏชัดเจน ในบทความเรื่อง ชาติ, คืออะไร? อยู่ที่ไหน? โดยมองว่าคณะราษฎร ได้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ และยังสละชีพเพื่อชาติเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา และยังเรียกร้องให้ราษฎรไทยที่หวังความสุขส่วนรวมต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนคณะราษฎรให้ดำเนินงานไปตามหลัก 6 ประการ จนถึงจุดที่หมาย[12]

ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของกรรมกรนี้เองจึงทำให้ถวัติ สนับสนุนคณะราษฎรอย่างเต็มกำลัง และสาเหตุประการสำคัญ น่าจะเป็นเพราะนโยบายต่อกรรมกรในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่แม้จะมีแรงงานหลายกลุ่มพยายามยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสมาคมกรรมกรใดได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงสามารถจดทะเบียนสมาคมกรรมกรได้[13]

 

เอกสารก่อตั้งสมาคมรถราง ที่มาของภาพ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
เอกสารก่อตั้งสมาคมรถราง
ที่มาของภาพ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

 

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏบวรเดช ถวัติและกลุ่มกรรมกรร่วมเป็นกองกำลังหนุนช่วยปราบปรามกบฏจนสำเร็จ ภายหลังเหตุการณ์ รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้มอบเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้กับผู้ที่เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลปราบปรามกบฏบวรเดช ซึ่งถือเป็นการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มกรรมกร และถวัติ ก็ได้รับมอบเหรียญฯ นี้ด้วย 

 

เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลคคณะราษฎรมอบให้แก่ถวัติ ฤทธิเดช
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลคคณะราษฎรมอบให้แก่ถวัติ ฤทธิเดช

 

ต่อมา ถวัติ ฤทธิเดช และ สุ่น กิจจำนงค์ รวมทั้งกรรมกรภายใต้การจัดตั้งจำนวน 3,000 คน ได้ขอเป็นอาสาสมัครไปรบกับกำลังฝ่ายขบถต่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ท้ายที่สุดได้ถูกขอกำลังกรรมกรช่วยทำหน้าที่รักษาความสงบภายในพระนครและธนบุรีแทน[14]

กระทั่ง พ.ศ. 2477 ถวัติ และแนวร่วมกรรมกรได้ก่อตั้ง สมาคมอนุกูลกรรมกร เพื่อให้กรรมกรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยมีกรรมกรที่ยุบองค์กรมารวม อาทิ สมาคมกรรมกรรถราง กรรมกรเรือเอี้ยมจุ๊น ราว 2,000 คน เศษ กรรมกรรถลาก ราว 8,000 คน เศษ กรรมกรโรงสีไฟ ราว 5,000 คน เศษ กรรมกรตัดผม ราว 2,000 คน กรรมกรรถยนตร์ ราว 5,000 คน กรรมกรที่ทำสวนพลู สวนผัก และหาบขน ราว 12,000 คน และกรรมกรเรือเดินทะเล ราว 700 คน โดยมีค่าสมัครที่ตั้งไว้เบื้องต้นคือ คนละ 1 บาท อัตราบำรุงเดือนละ 50 สตางค์ และยังมีการเตรียมก่อตั้งพรรคการเมืองกรรมกร อีกด้วย[15]

 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2477
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2477

 

“วันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม” จึงมีความสำคัญไม่เพียงแค่กรรมกรผู้ใช้แรงงาน แต่สำคัญกับแรงงานที่ทำงานในสังคมทุกชนชั้น และควรตระหนักถึงความหมาย ที่มา ความคิด และการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ ทั้งทางนโยบาย และการก่อตัวของสมาคมกรรมกรเพื่อให้ราษฎรไทยได้รับความเสมอภาคทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่สมัยรัฐบาลคณะราษฎร อันเป็นหมุดเริ่มต้นที่สำคัญ

 

ที่มาของภาพ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, ราชกิจจานุเบกษา, ประชาไท และหอสมุดแห่งชาติ

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475  วันที่ 31 สิงหาคม 2475, เล่ม 45, หน้า 315-322. สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/315.PDF
  • ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน ประจำท้องถิ่น พุทธศักราช 2475 วันที่ 26 ตุลาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 457-460. สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/457.PDF
  • ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง ตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องกรรมกร, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 พฤษภาคม 2477, เล่ม 51, หน้า 602-603.
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 10/2477  วันที่ 27 เมษายน พุทธศักราช 2477 เรื่อง คณะกรรมการควบคุมกรรมกร, อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า ประวัติศาสตร์ราษฎร ผู้ชาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), หน้า 86.
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 38/2477 เรื่อง การพิจารณาเรื่องกรรมกร, อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า ประวัติศาสตร์ราษฎร ผู้ชาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), หน้า 86.
  • รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 39/2477 เรื่อง การพิจารณาเรื่องกรรมกร, อ้างใน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า ประวัติศาสตร์ราษฎร ผู้ชาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), หน้า 87.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.1.1/3 กล่อง 1. นายถวัติ ฤทธิเดช ขอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาการครองชีพของพลเรือน. (พ.ศ. 2477-2479), หน้า [1]-[8].

หนังสือพิมพ์ :

  • ประชาชาติ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2477

หนังสือภาษาอังกฤษ :

  • Thompson, Virginia, Labour Problem in Southeast Asia, (New Haven: Yale University Press, 1947)

หนังสือภาษาไทย :

  • ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า ประวัติศาสตร์ราษฎร ผู้ชาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565)
  • ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะฯ, ประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 2541)
  • ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะฯ, ประวัติศาสตร์แรงงานไทย กุลีจีน-14 ตุลาฯ-วีรบุรุษกรรมกร, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 2542)
  • ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2542)
  • สังศิต พิริยะรังสรรค์, ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกรไทย, (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • เกษียร เตชะพีระ. (19 มิถุนายน 2563). ปรีดี พนมยงค์ นักอภิวัฒน์ประชาธิปไตยแห่งระบบราชการไทย. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2020/06/308
  • พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย. เอกสารก่อตั้งสมาคมรถราง. สืบค้นจาก https://www.thailabourmuseum.org
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (12 มิถุนายน 2564). ‘ถวัติ ฤทธิเดช’ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในความคำนึงของ ‘ปรีดี พนมยงค์’. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/06/736
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ. (6 พฤษภาคม 2564). ข้อเสนอนโยบายแรงงาน และมาตรฐานแรงงานต่อรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤติเลิกจ้าง และเศรษฐกิจหดตัวภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกสาม. สืบค้นจาก https://thepeople.co/pridi-banomyong-and-his-printing-house/
 

[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2542), น. 71.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 64.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[4] ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475  วันที่ 31 สิงหาคม 2475, เล่ม 45, หน้า 319.

[5] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า ประวัติศาสตร์ราษฎร ผู้ชาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2565), น. 86-87.

[6] ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะฯ, ประวัติศาสตร์แรงงานไทย กุลีจีน-14 ตุลาฯ-วีรบุรุษกรรมกร, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 2542), น. 143.

[7] โปรดดูเพิ่มเติม เรื่องปรีดี และระบบราชการ ใน กษียร เตชะพีระ. (19 มิถุนายน 2563). ปรีดี พนมยงค์ นักอภิวัฒน์ประชาธิปไตยแห่งระบบราชการไทย. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2020/06/308

[8] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 37.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 50.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 51-52.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 63-64.

[12] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.1.1/3 กล่อง 1. นายถวัติ ฤทธิเดช ขอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาการครองชีพของพลเรือน. (พ.ศ. 2477-2479), หน้า [7]-[8].

[13] พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย. เอกสารก่อตั้งสมาคมรถราง. สืบค้นจาก https://www.thailabourmuseum.org

[14] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกรไทย, (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529)

[15] ประชาชาติ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2477