ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

1 พฤษภาคม : วันแรงงานแห่งชาติ

1
พฤษภาคม
2566

ภายหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 ภารกิจสำคัญของคณะราษฎรในปฏิญญาว่าด้วยหลัก 6 ประการด้านเศรษฐกิจ ในข้อที่ 3 ดังความว่า “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” อันเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข

เพื่อให้บรรลุนโยบายตามที่ระบุไว้นี้ รัฐบาลจึงได้ตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475” ขึ้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจแก่รัฐบาลเพื่อเข้าดูแลสำนักงานจัดหางานของเอกชน และต่อมา “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ว่าด้วยการกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกลางจัดหางานขึ้นในจังหวัดพระนคร และธนบุรี เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ว่างงานและประสงค์จะทำงานหาเลี้ยงชีพ

พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นนโยบายการมีงานทำฉบับแรกของประเทศไทย หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน แนวทางดังกล่าวของคณะราษฎรถือเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รุดหน้าเป็นอย่างมาก

การพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวยังปรากฏใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ซึ่งเล็งเห็นว่าเมื่อแรงงานคือบ่อเกิดของความไพบูลย์ของชาติแล้ว จึงเห็นสมควรให้รัฐเป็นผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลเป็นของประชาชนทั้งปวง ก็เท่ากับราษฎรได้เป็นเจ้าของการเศรษฐกิจทั้งปวง ดังความว่า “แต่ละคนทำงานตามความสามารถ และแต่ละคนเอา (ผลตอบแทน) ไปตามผลของงาน” และ “ราษฎรทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นกรรมกรหรือข้าราชการประเภทใด เมื่อได้ทำงานตามกำลังและความสามารถ เหมือนกับกรรมกรและข้าราชการประเภทอื่นแล้ว ก็จะได้รับผล เช่นเดียวกันเป็นการเสมอภาค ตามกำลังและความสามารถ” เพื่อป้องกันความระส่ำระสายจากการเติบโตของระบบทุนนิยมที่อาจแทรกแซงและกดขี่ราษฎร

ในเวลาต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2479 เมื่อนายปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ผลักดันให้มีการตรา ‘พระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พ.ศ. 2479’ ขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตรวจตราดูแลสภาพการทำงานของกรรมกรอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดแรกการกำเนิดงาน “สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” ของสยาม

‘นายปรีดี พนมยงค์’ ให้ความสำคัญกับแรงงาน และ การมีงานทำของราษฎรเป็นอย่างมาก ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “แรงงานนั้น เป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์” หมายถึง การทำงาน หรือ แรงงานเป็นบ่อเกิดของความไพบูลย์ จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมอีกเช่นเดียวกัน ที่จะลงแรงร่วมใจกันก่อให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติและราษฎร โดยละเว้นการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ [เรียบเรียงจากบทความ “จดหมายท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงหลานชาย”]

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง