ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก คำหลวง คำลวง และความจริง

3
พฤษภาคม
2566

Focus

  • สหประชาชาติโดยคำแนะนำขององค์การยูเนสโกประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา และมีการมอบรางวัลประจำปี UNESCO/Guillermo Cano World Press Freedom Prize ให้กับบุคคล องค์กร หรือสถาบันที่มีส่วนสนับสนุนหรือส่งเสริมเสรีภาพสื่อ
  • ในประเทศไทยถือเอาวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าวไทยอันเป็นวันสำคัญเพื่อให้คนทำสื่อไทยได้พูดถึงเสรีภาพในนำเสนอ กระนั้นสื่อไทยจำนวนมากแสดงออกภายใต้ “คำหลวง” ที่ดูใหญ่โตเชิงอุดมคติ ไม่มีความหมายเชิงปฏิบัติและห่างไกลจากประชาชนสามัญผู้เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก
  • ท่ามกลางสงครามแบ่งข้างความเชื่อในสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมานับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน เสรีภาพในการนำเสนอของสื่อในประเทศไทย หากแม้สื่อจะต้องเลือกข้าง แต่ก็พึงรักษา “ความจริง” ไม่เสนอ “คำลวง” ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและยังต้องรักษาความเที่ยงธรรมในการนำเสนอเนื้อหาข่าวอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

 

วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) แต่วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้โดดเด่นยิ่งกว่าปีอื่นเพราะเป็นปีครบรอบสามทศวรรษ

องค์การยูเนสโก (UNESCO) กำหนดจัดงานเฉลิมฉลองวาระพิเศษดังกล่าวที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์กภายใต้หัวข้อประจำปีว่า “การกำหนดอนาคตของสิทธิ: เสรีภาพของการแสดงออกในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนทุกด้าน” (Shaping a Future of Rights: Freedom of expression as a driver for all other human rights)

รวมถึงมอบรางวัล UNESCO/Guillermo Cano World Press Freedom Prize ให้กับบุคคล องค์กร หรือสถาบันที่มีส่วนสนับสนุนหรือส่งเสริมเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าวผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่สาธารณชน

องค์การยูเนสโกตั้งชื่อรางวัลนี้และเริ่มมอบรางวัลนี้ในปี พ.ศ. 2540 เพื่อรำลึกถึงกิเยร์โม กาโน อิซาซา (Guillermo Cano Isaza) นักข่าวและเจ้าของหนังสือพิมพ์ เอลเลสเปกตาดอร์ (El Espectador) ชาวโคลอมเบียวัย 61 ปี ผู้ถูกลอบสังหารในโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบียเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2529 ตามมาด้วยการระเบิดอาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์การเผาบ้านพักของครอบครัวกาโน และการลอบสังหารทนายความประจำครอบครัวกาโน

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากกาโนใช้พื้นที่ในหน้ากระดาษของ เอลเลสเปกตาดอร์ รณรงค์ต่อต้าน “เจ้าพ่อ” ค้ายาเสพติดผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในประเทศโคลอมเบีย โดยอีกเกือบสิบปีให้หลัง เจ้าหน้าที่จึงสามารถจับกุมผู้กระทำผิดสี่คนซึ่งศาลตัดสินให้จำคุก 16 ปี 8 เดือนและต่อมาลดโทษเหลือ 6 ปี

มูลนิธิเพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน (Foundation for Press Freedom/La Fundación para la Libertad de Prensa - FLIP) ของประเทศโคลอมเบียให้ความเห็นเรื่องนี้ในเวลาต่อมาว่า การตัดสินคดีล่าช้าเพราะรัฐบาลโคลอมเบียและหน่วยงานยุติธรรมของรัฐละเลยการสืบสวนตลอดจนละทิ้งสมมุติฐานทางคดีจำนวนมาก

โลกรู้จักวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 จากถ้อยแถลงของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ตามคำแนะนำขององค์การยูเนสโก

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกถือกำเนิดจากงานสัมมนา “การส่งเสริมความเป็นอิสระและพหุนิยมของสื่อมวลชนแอฟริกัน” (Promoting an Independent and Pluralistic African Press) ซึ่งองค์การยูเนสโกจัดขึ้นที่กรุงวินด์ฮุก (Windhoek) เมืองหลวงของสาธารณรัฐนามิเบียระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 มีดอกผลเป็นคำปฏิญญาวินด์ฮุกเพื่อการพัฒนาสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพ อิสรภาพและมีความเป็นพหุนิยม (Windhoek Declaration for the Development of a Free, Independent and Pluralistic Press)

สาระสำคัญของคำปฏิญญานี้กล่าวถึงหลักการสื่อเสรี ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

คำปฏิญญาวินด์ฮุกเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศให้ยึดถือหลักการเสรีภาพสื่อมวลชนโดยตระหนักถึงข้อปฏิบัติว่าด้วยเสรีภาพสื่อเพื่อปกป้องคนทำสื่อซึ่งทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุจริต พร้อมทั้งย้ำเตือนรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้เคารพและยึดมั่นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกภายใต้มาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำปฏิญญาวินด์ฮุก หรือวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก และคนทำสื่อทั่วโลกที่พยายามรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้สังคมรับรู้ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ปลอดภัย

รายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders/Reporters sans frontières - RSF) องค์กรปกป้องผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists - CPJ) และสถาบันเพื่อความปลอดภัยของสื่อมวลชนนานาชาติ (The International News Safety Institute - INSI) ในปี พ.ศ. 2560 ระบุว่ามีคนทำสื่อถูกสังหารขณะปฏิบัติหน้าที่ 46 ราย และปีถัดมา 33 ราย บางรายเสียชีวิตเพราะต้องเข้าไปทำข่าวในพื้นที่สู้รบหรือพื้นที่ซึ่งถูกควบคุมโดยผู้ค้ายาเสพติดหรือองค์กรอาชญากรรม บางรายเสียชีวิตเพราะถูกสังหารโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหรือศาสนา

ปีที่ผ่านมาคือ พ.ศ. 2565 มีคนทำสื่อเสียชีวิตอย่างน้อย 67 ราย ในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากการรายงานข่าวสงครามในประเทศยูเครน และการทำข่าวอาชญากรรมรวมถึงข่าวการทุจริตในประเทศเม็กซิโกและสาธารณรัฐเฮติ ซึ่งผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ไม่ถูกจับมาดำเนินคดี

ตัวเลขผู้เสียชีวิต 67 รายเป็นสถิติรายปีที่สูงที่สุดนับแต่ CPJ เริ่มบันทึกเรื่องนี้ใน พ.ศ. 2535 และเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากตัวเลขผู้เสียชีวิตใน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ คนทำสื่ออย่างน้อย 41 รายถูกสังหารด้วยสาเหตุเกี่ยวกับงานในหน้าที่โดยตรง ส่วนอีก 26 ราย CPJ กำลังสืบสวน

ตามรายงานของ CPJ นั้น คนทำสื่ออย่างน้อย 15 คนเสียชีวิตขณะรายงานข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง และมีบางรายเชื่อว่าตัวเองเป็นเป้าหมายของกองกำลังรัสเซีย

ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา คนทำสื่อ 30 คนถูกลอบสังหารจากการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม อาชญากรรม การทุจริต และการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ใช้อาวุธในเมือง

มีรายงานการข่มขู่คุกคามคนทำสื่อเม็กซิโก 13 คนก่อนถูกลอบสังหารในสาธารณรัฐเฮติ คนทำสื่อ 7 คนเสียชีวิตเพราะรายงานข่าวความรุนแรงของกลุ่มผู้ใช้อาวุธในเมืองและวิกฤตทางการเมืองในประเทศหลังเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีโฌฟเนล โมอิส (Jovenel Moïse) 2 ใน 5 รายโดนกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนอีก 2 ราย CPJ กำลังสืบสวนสาเหตุ

ในประเทศโคลอมเบีย มีคนทำสื่อซึ่งเป็นทั้งนักข่าวและผู้อำนวยการสำนักข่าวอิสระถูกยิงเสียชีวิตคาร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่เขาเป็นเจ้าของ หลังจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันทางการเมืองและกลุ่มค้ายาเสพติด

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคนทำสื่อถูกลอบสังหารในประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล ชิลี เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปากีสถาน ด้วยสาเหตุซึ่งเกี่ยวข้องกับการรายงานข่าว

มีคนทำสื่อถูกลอบสังหารขณะรายงานข่าวความไม่สงบในสาธารณรัฐชาด และขณะกำลังรายงานข่าวการสู้รบในประเทศอิสราเอล ในดินแดนปาเลสไตน์ ในเมียนมาร์ รวมถึงการลอบสังหารนักแปลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขององค์กรสื่อสารมวลชนในสาธารณรัฐคาซัคสถาน

CPJ ระบุว่าคนทำสื่อ 19 คนที่ถูกลอบสังหารในปีที่ผ่านมาเป็นนักข่าวท้องถิ่นที่รายงานข่าวประเด็นละเอียดอ่อน เช่น การเมือง อาชญากรรม และการทุจริตในบ้านเกิด ซึ่งกรณีนี้รวมถึงนักข่าววิทยุ 4 รายในประเทศฟิลิปปินส์

เมื่อยังคงมีการต่อสู้ของประชาชนทั่วโลกเพื่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ย่อมมีรัฐที่ไม่ใส่ใจเสียงประชาชน ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง และย่อมมีคนทำสื่อทั่วโลกที่ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามของการข่มขู่ การเซนเซอร์ การกักขัง การใช้ความรุนแรง รวมถึงการถูกทรมาน เพียงเพราะพยายามรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้สังคมรับรู้ แม้แต่ในประเทศที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม บางสังคมอาจยังไม่เข้าใจหรือไม่สนใจประเด็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกมากนัก

สำหรับประเทศไทย คนทำสื่อไทยหลายคนที่กำลังสนุกสนานกับการทำข่าวหวือหวาตามกระแสสื่อโซเชียล โดยไม่รู้จักวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเท่ากับวันนักข่าวไทย 5 มีนาคม ซึ่งด้านหนึ่งเหมือนเป็นวันสำคัญให้คนทำสื่อไทยได้พูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกตามแนว “คำหลวง” แสดงความใหญ่โตเชิงอุดมคติแต่ไม่มีความหมายเชิงปฏิบัติ ทั้งยังห่างไกลจากประชาชนสามัญผู้เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกไม่น้อยไปกว่าคนทำสื่อ ซึ่งอาจไม่เคยเอ่ยถึงเสรีภาพของคนไทยหรือสังคมไทย นอกจากเสรีภาพของคนทำสื่อเอง เฉพาะเมื่อภาครัฐต้องการ “เซนเซอร์” สื่ออย่าง “เป็นทางการ”

คนทำสื่อไทยที่ต้องการตระหนักถึงความหมายและความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก อาจต้องเริ่มต้นด้วยการทบทวนวิธีคิดและวิธีทำงานของตัวเองก่อนอื่น

สงครามแบ่งข้างความเชื่อในสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมานับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันซึ่งทำให้เกิด “สื่อออนไลน์” เหมือนจะส่งผลให้คนทำสื่อไทยจำนวนมากสมาทานความเป็น “สื่อเลือกข้าง” เพียงแต่มิใช่การเลือกข้างที่เรียกว่า advocacy journalism ตามทฤษฎีสื่อ นั่นคือแม้จะเลือกสนับสนุนแนวคิดทางสังคมหรือการเมืองใดๆ ก็ต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงและยังต้องรักษาความเที่ยงธรรมในการนำเสนอเนื้อหาข่าวอย่างเคร่งครัด

แต่สื่อเลือกข้างแบบไทยๆ มักเลือกข้างในรูปแบบของ “ความดี-ความเลว” “ความแท้-ความไม่แท้” เป็นหนึ่งเดียว พร้อมปล่อยข่าวทำลายฝ่ายตรงข้ามทั้งทางออฟไลน์ ออนไลน์ โดยอย่างหลังนี้เต็มไปด้วยข่าวที่ “ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้อง” และเมื่อต้องทำหน้าที่ “เวทีถกเถียงสาธารณะ” ก็มักลืมสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันตามหน้าที่พึงกระทำของสื่อมวลชน แต่พร้อมใช้เวทีเป็นเครื่องมือ “กล่าวหา ใส่ร้าย โจมตี” ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่สื่อนั้นๆ ไม่โปรดปราน

การเลือกข้างของคนทำสื่อไทยจำนวนไม่น้อยจึงเป็นการเลือกข้างที่เสมือนสนับสนุนแนวคิดดำขาวสุดขั้ว ส่งเสริมความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อผู้คน อีกทั้งยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาสะท้อนความไม่เข้าใจ “พหุนิยม” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของสังคมโลกยุคปัจจุบัน

เมื่อเชื่อว่าคนทำสื่อไม่ใช่กระจกหรือตะเกียง หรือแม้กระทั่งคนวาดแผนที่สังคมเพื่อบอกเพื่อนร่วมสังคมว่าเส้นทางข้างหน้ามีอุปสรรคขวากหนามใดจะได้ช่วยกันหารือวิธีแก้ปัญหาเพื่อก้าวสู่อนาคตที่ดีกว่าด้วยกัน แต่เชื่อว่าคือนักรบผู้มุ่งมั่นเอาชนะคนต่างกลุ่มซึ่งคนทำสื่อลงมติตัดสินดีเลวไปแล้ว

คนทำสื่ออาจเกิด “อคติ” แล้วใช้อคตินั้นไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้คนในฝ่ายอื่นๆ หรือเรียกร้องเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกของฝ่ายตน แล้วลดทอนเสรีภาพในการแสดงออกของฝ่ายอื่น หรือข้ามเส้นเสรีภาพไปเป็นการส่งเสริมความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

เวลานี้สื่อทั่วโลกรวมทั้งสื่อไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นอกจากจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยเพิ่มการเผยแพร่ข้อมูลและเปิดช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ ก็ยังมีความท้าทายใหม่ๆ ทางธุรกิจและการตลาดซึ่งอาจกระตุ้นคนทำสื่อให้เพลิดเพลินกับความแปลกใหม่ จนลืมงานส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคนอย่างเท่าเทียมตามหน้าที่ดั้งเดิมซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของสื่อ

หากเป็นเช่นนั้น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกคงเป็นอีกวันแห่งการกล่าว “คำหลวง” ซึ่งเป็นเพียง “คำลวง” ที่ผ่านมาแล้วผ่านไปสำหรับสังคมไทย