ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การพัฒนาวินัยและประชาธิปไตย

6
สิงหาคม
2566

Focus

  • การศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยเป็นสามเรื่องที่สหประชาชาติได้ทบทวนให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ และกำหนดให้มีแผนดำเนินการด้านการศึกษาทั้งสามเรื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยประเทศไทยได้พยายามปฏิบัติตาม และพึงกระทำอย่างมีวินัยโดยตนเองและในสังคม
  • เป้าหมาย 3 ประการของการศึกษาทั้งสามเรื่องคือ (1) สันติสุข หมายถึง ความผสมกลมกลืนระหว่างคน สังคม และธรรมชาติแวดล้อม และการใช้กระบวนการศึกษาเพื่อสร้างสันติธรรม การอดทน อดกลั้น รวมถึง การผ่อนปรนและการยอมรับความเห็นต่าง (2) สิทธิมนุษยชน อันเป็นเรื่องของเสรีภาพและความรับผิดชอบตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องกับประชาธิปไตย คือ การเปิดโอกาสให้ได้รับข้อมูลข่าวสารและให้มีทางเลือก  และ (3) ประชาธิปไตย ประกอบด้วยสิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ
  • การศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ควรมีลักษณะและการจัดการศึกษาดังต่อไปนี้ เช่น เป็นองค์รวม คำนึงถึงความแตกต่างของระดับและรูปแบบการศึกษา และบริบท เป็นต้น โดยสามารถประยุกต์เรื่องสิทธิ ความรับผิดชอบ ความรู้สึก ทัศนคติ และค่านิยมหรือคุณธรรม เข้าไปในเนื้อหาหลักสูตร การอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และโดยเพิ่มทักษะการแก้ไขข้อขัดแย้งเพื่อลดการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว เสริมสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน จัดกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับค่านิยม สร้างความตระหนัก ฝึกการคิดวิพากษ์วิจารณ์ และใช้นวัตกรรมและการทดสอบ รวมทั้งอาศัยความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน

 

ความหมายของการศึกษาประชาธิปไตยและวินัย

การพัฒนาคือการพ้นทุกข์ ซึ่งตรงกับคำว่า development ความหมายของการพัฒนาคือ การขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุข้อเท็จจริงแห่งธรรมชาติให้หมดไป การศึกษามีความหมายคล้ายๆ กับการพัฒนา คือ นำคนสู่เสรีภาพ นำคนสู่การพัฒนาเต็มศักยภาพ นำคนสู่โอกาสของชีวิต นำออกจากอุปสรรคที่ทำให้คนไม่สามารถไปสู่เสรีภาพ และการพัฒนาตามศักยภาพ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษากับการพัฒนามีความหมายคล้ายกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผน 8 เน้นให้เห็นว่าการศึกษา คือ การพัฒนาคน

ประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนทราบดีว่าหมายความว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยคล้ายๆ กับโลกาธิปไตย คือ ความเห็นของคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เที่ยงแท้ กล่าวคือถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเช่นนี้ มีลักษณะสัมพัทธ์ ไม่มีสิ่งใดถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องอาศัยคนส่วนใหญ่อภิปรายหาข้อสรุป ทั้งความหมายประชาชนเป็นใหญ่และในความหมายว่าประชาชนช่วยตัดสิน จึงนำไปสู่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ส่วน “ประชาธิปไตยในวิถีชีวิต” และ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” มีการเผยแพร่ประชาธิปไตยให้ประชาชนตื่นตัว ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจึงต้องอาศัยสิทธิและหน้าที่ การที่ประชาชนไปใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนแต่ละครั้งแล้วคิดว่าหน้าที่ของตนสิ้นสุดแล้วจึงไม่เพียงพอ ต้องมีหน้าที่โดยต่อเนื่องทั้งต่อตนเอง ชุมชน เมือง ธรรมชาติ และโลกด้วย แล้วยังหมายถึงความตื่นตัวอยู่เสมอที่จะตรวจสอบ เนื่องจากเรามีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ ต้องสร้างระบบตรวจสอบดูแลตนเอง มิใช่การมอบหน้าที่ให้ผู้อื่นมาดูแลปกครองเราตลอดระยะเวลา 4 ปี ของการมีผู้แทนราษฎร

วินัยภายนอก หมายถึง การเคารพกฎกติกาต่างๆ ที่มีการบังคับใช้ การเคารพเชื่อถือ ผู้นำที่มีอำนาจ ฯลฯ

วินัยภายในจะจำแนกเป็น 2 ระดับ คือ

  1. ระดับปัจเจก
  2. ระดับสังคม

ในระดับปัจเจก หมายถึง วินัยในตนเอง คือสติ วิจารณญาณ จิตสำนึก ความละอาย ต่อบาป ฯลฯ ส่วนวินัยระดับสังคม (civic commitment) มีความรู้สึกเป็น citizen ล้วนมีความหมาย แปลว่า เมือง พลเมือง คนทุกคนมีหน้าที่ ถ้าจะทำให้เป็นวินัยภายนอก ก็ด้วยการบอก การให้เรียน ให้ท่อง เพื่อนำไปปฏิบัติ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความผูกพันต่อหน้าที่เหล่านั้น คือวินัยในตนเองซึ่งมีความจำเป็นมากกว่า

จากความหมายของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สมาชิกต้องมีวินัยในตนเองและ มีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

การศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

การศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยเป็นผลจากการประชุมระหว่างประเทศที่กรุงเจนีวาใน พ.ศ. 2537 สหประชาชาติได้ทบทวนให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาสากล ว่าด้วยการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ และแผนดำเนินการด้านการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยรับรองทั้ง 2 แผนนี้ แผนด้านการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยได้นำมาดำเนินการในระดับนโยบาย

การกล่าวถึงประชาธิปไตยเฉยๆ จะไปเน้นหนักเรื่องการเมือง แต่ต้องมองว่าคือสิทธิมนุษยชน และหน้าที่ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการอยู่รอดของมนุษยชาติอันหมายถึงสันติภาพ ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องจัดทั้ง 3 ประการ คือ เพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ไปพร้อมๆ กัน และถือเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาการศึกษา แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ใคร่มีผลเท่าใดนัก เป้าหมาย 3 ประการของการศึกษา คือ

  1. สันติสุข (peace) หมายถึง ความผสมกลมกลืนระหว่างคน สังคม และธรรมชาติแวดล้อม ใช้กระบวนการศึกษาสร้างสันติธรรม ซึ่งมิได้หมายถึงการอดทน อดกลั้น แต่รวมถึงการผ่อนปรนและการยอมรับผู้อื่น ในปี ค.ศ. 1995 นี้ เป็นปีแห่งสันติธรรม (National year of tolerance) การยอมรับผู้อื่นนี้เป็นการยอมรับทั้งความแตกต่างทางความคิด พฤติกรรม ค่านิยมที่แตกต่างไปจากตนเอง ไม่กีดกันสีผิว เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่สันติสุข นอกจากนี้สันติสุขยังรวมถึงการแก้ไขข้อขัดแย้งโดยวิธีสันติ (non-violent conflict resolution) เป็นการตัดสินข้อขัดแย้งโดยเหตุผล ไม่ต้องใช้อำนาจหรือความรุนแรง สังคมทุกวันนี้ยังมีความรุนแรงจากความขัดแย้ง วิถีทางประชาธิปไตยช่วยลดความขัดแย้งได้ เช่น การเลือกตั้งเป็นวิธีการสืบทอดอำนาจโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
  2. สิทธิมนุษยชน (human right) เป็นเรื่องของเสรีภาพและความรับผิดชอบ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่ดี ซึ่งมีความสอดคล้องกับประชาธิปไตย คือ การเปิดโอกาสให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร (information) และให้มีทางเลือก (choices) กล่าวคือ ถ้าผู้นำเผด็จการจะปิดกั้นข่าวสาร ทำให้ขาดข้อมูลและทางเลือก ทำให้ไม่รู้เท่าทัน ผู้อยู่ใต้การปกครองขาดการไตร่ตรอง จึงพบว่ามีบ่อยครั้งที่ประชาชนในประเทศเผด็จการเลือกผู้นำ หรือผู้แทนคนนั้น เพราะไม่มีทางเลือกอื่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน
  3. ประชาธิปไตย (democracy) ซึ่งประกอบด้วยสิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ (solidarity) คือ ความสมานฉันท์ เป็นหนึ่งเดียวกัน มีการช่วยเหลือกัน ซึ่งในสังคมไทยมีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังต้องมีความภูมิใจในพื้นฐานวัฒนธรรม มนุษย์อยู่ด้วยความเคารพในตนเอง ภาคภูมิใจในแนวทางการดำเนินชีวิตของตนอีกด้วย วินัยจึงรวมอยู่ในเป้าหมายของการศึกษาด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

 

 

ลักษณะของการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

การศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ควรมีคุณลักษณะดังนี้

  1. เป็นองค์รวม (holistic) หมายถึง การมองเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างกว้าง เช่น ในเรื่องประชาธิปไตยต้องมองทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
  2. ต้องคำนึงถึงระดับและรูปแบบการศึกษาต่างๆ กัน ทั้งประถมศึกษา และมัธยมศึกษา การศึกษาในและนอกระบบโรงเรียนที่มีความต่อเนื่องและประสานสัมพันธ์กัน (continuity and consistency) เช่น การอบรมเลี้ยงดูจากทางบ้าน การเรียนรู้จากโรงเรียนและสังคม
  3. มีความเกี่ยวข้องกับบริบท (relevance) การจัดการศึกษาโดยอาศัยรูปแบบของสังคมอื่นที่นำมาใช้โดยไม่ปรับ หรือวิจัยความสอดคล้องกับสังคมไทย นำมาซึ่งความขัดแย้ง
  4. เป็นการจัดการศึกษาแบบแนวนอน เป็นทีม (interactive) เช่น ให้นักเรียนร่วมกันศึกษาและนำเสนอมากกว่าการสั่งจากครู
  5. เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับองค์กรสถาบันที่เกี่ยวข้อง โดยการวางแผนพัฒนาการศึกษาร่วมกับองค์กรที่มีการขัดเกลาทางสังคม

 

การดำเนินงานการจัดการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

การจัดการศึกษาเพื่อสิทธิ (right) และความรับผิดชอบ (responsibility) ซึ่งเป็นพื้นฐานการศึกษาด้านความรู้สึก ทัศนคติ ค่านิยมหรือคุณธรรม ต้องจัดโดย

 

 

  1. ประยุกต์เข้าไปในเนื้อหาหลักสูตร ซึ่งยังแบ่งออกเป็นด้านความรู้และด้านค่านิยม การจัดการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยนี้ ความรู้จะนำมาซึ่งค่านิยม เช่น ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นวิชาสามัญ อาจสอนในลักษณะพัฒนาการของสิทธิ พัฒนาการทางด้านประชาธิปไตย ให้นักเรียนเกิดความเข้าใจทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน เช่น การเลิกทาส การแบ่งสีผิวในประวัติศาสตร์ต่างประเทศ การให้สิทธิสตรี ฯลฯ เป็นต้น
  2. เพิ่มทักษะการแก้ไขข้อขัดแย้ง โดยปกติมีหลายวิธีการ เช่น โดยการบังคับ โดยความพึงพอใจ สถานะของคู่กรณีมักมี 3 ประเภท คือ ประเภทแรก ชนะทั้งคู่ (win-win position) ประเภทที่สอง คนหนึ่งแพ้คนหนึ่งชนะ หรือคนหนึ่งชนะอีกคนหนึ่งแพ้ หรือแพ้ทั้งคู่ ประเภทที่สาม อาจไม่แพ้ทั้งคู่ หมายถึง ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์จากข้อขัดแย้ง 
  3. จริยธรรมและปทัสถาน เป็นองค์ความรู้ที่จำเป็น เช่น เสรีภาพคืออะไร กฎหมายคืออะไร องค์ความรู้เกี่ยวกับปทัสถาน เรื่องของสถาบันทางกฎหมายและทางการเมือง การยอมรับความแตกต่างของมนุษยชนเรื่องสีผิว ปลอดจากการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ อคติ เพศ ฯลฯ เอกสารประกอบการเรียนปลอดจากการเสนอบทบาทที่ตายตัวของแต่ละฝ่ายแต่ละส่วน เช่น บทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ บางประเทศตั้งโจทย์ปัญหาว่าทหารยิงศัตรูที่เป็นเชื้อชาติ ฝ่ายตรงข้ามตาย จำนวน 7 คน จาก 30 คน จะเหลือทหารฝ่ายตรงข้ามกี่คน บางกรณี รูปถ่ายประกอบหนังสือเรียนจะเจาะจงให้หญิงมีบทบาทด้อยกว่าชาย ซึ่งเป็นแนวคิดตามปทัสถานเดิม บางกรณีเสนอภาพศัตรูของประเทศเพื่อนบ้านในฐานะผู้บุกรุกในประวัติศาสตร์ ฯลฯ แนวทางการปลูกฝังความคิดเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงควรระวังมิให้สิ่งเหล่านี้สอดแทรกไป เนื้อหาที่นำเสนอในการเรียนการสอนจึงควรเป็นแนว interactive ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้รู้ เป็นผู้ไม่รู้ ให้การเรียนเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ครูอาจต้องลดอำนาจแต่คงไว้ซึ่งแบบอย่างพฤติกรรมเกี่ยวกับการยอมรับฟังเหตุผล ความคิดเห็น ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ซึมซับค่านิยมประชาธิปไตย

    การถ่ายทอดค่านิยมด้านสิทธิและความรับผิดชอบจะเป็นกิจกรรมในชั้นเรียน มีลักษณะเป็นกิจกรรมกลุ่มเพื่อพัฒนาความคิดและค่านิยม

    นอกจากนี้ยังอาจจัดเป็นกิจกรรมนอกชั้นเรียน เพื่อศึกษาด้านวัฒนธรรมทั้งของประเทศตนเองและประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างเสริมทัศนคติและความเข้าใจระหว่างประเทศ
  4. การใช้เทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร การใช้สารสนเทศเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลมากขึ้นเพื่อตัดสินใจ การใช้ข้อสนเทศในการเรียนการสอน เพิ่มเนื้อหา องค์ความรู้ และทัศนคติ
  5. สถาบันการศึกษา ซึ่งร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดี (Associated School Program A.S.P.) แต่ขณะนี้ยังไม่มีการริเริ่มหลักสูตรในด้านนี้มากนัก
  6. ควรมีโครงการอบรมพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถถ่ายทอดสู่นักเรียนได้
  7. ควรมีการวิจัยและพัฒนาการศึกษาในเชิงสังคมวิทยา เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงอันเกิดจากการปฏิบัติ
  8. ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เช่น วัด สื่อมวลชน มูลนิธิของเอกชน เพื่อการพัฒนาภาคธุรกิจ ฯลฯ โดยประสานหลายๆ ด้าน ไม่แบ่งแยกการทำงาน

แนวคิดในการปฏิบัติรูประบบการจัดการศึกษาของ David Osborne ในการจัดการศึกษาเชื่อว่าการปรับระบบจะมีผลดี คือ

  1. เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของผู้เกี่ยวข้อง
  2. ชุมชนเป็นเจ้าของ มอบอำนาจการจัดการศึกษาแก่ชุมชน
  3. มีการแข่งขันนำไปสู่บริการที่ดีขึ้น
  4. พิจารณางานจากผลผลิต มีการสร้างกฎเกณฑ์ที่มากขึ้น
  5. ให้นักเรียนเป็นหลักเพื่อจัดการศึกษาสนองตอบความต้องการ
  6. กระจายอำนาจทางการศึกษา

กล่าวโดยสรุป การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ต้องจัดโดยลดการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว ขณะเดียวกัน ก็เสริมสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน มีการผสมผสานในหลักสูตร ทั้งด้านเนื้อหาวิชาและทัศนคติ จัดกระบวนการเรียนการสอน สอดคล้องกับค่านิยม สร้างความตระหนัก และฝึกการคิดวิพากษ์วิจารณ์ ตัดสินใจ ใช้นวัตกรรมและการทดสอบให้เด็กรู้จักตนเอง รวมทั้งอาศัยความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน

 

ที่มา : โคทม อารียา. “การพัฒนาวินัยและประชาธิปไตย,” คำบรรยายเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่เน้นความมีวินัยและความเป็นประชาธิปไตย. ม.ป.ท. : กระทรวงศึกษาธิการ. กรมวิชาการ; (2541). (ทำการเผยแพร่ซ้ำโดยได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)