ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 : สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ “ของใคร” จาก “อะไร”

27
กรกฎาคม
2566

Focus

  • การที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็นผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ จะสิ้นสุดลงหรือไม่ ในเรื่องการถือหุ้นสื่อซึ่งเป็นกรณีต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญก็ดี และการที่ศาลกำลังพิจารณาว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่ก็ดี กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงของการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง
  • น้ำหนักของคดีมาตรา 112 รุนแรงกว่าคดีการถือหุ้นไอทีวีหลายเท่า เพราะหากมีความผิดคดีถือครองหุ้น ก็จะมีแนวโน้มว่ามีโทษเฉพาะตัวของพิธาเพียงคนเดียวที่ต้องพ้นจากสมาชิกภาพความเป็น สส. แต่กรณีที่พรรคการเมืองถูกกล่าวหาว่า “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น หากศาลพิจารณาว่าผิดจริง ก็จะส่งผลถึงขั้นยุบพรรคการเมือง
  • การให้สิทธิบุคคลร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดหรือศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสามารถมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองได้ เพราะเหตุบุคคลหรือพรรคการเมืองมีการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คือล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัตินั้น มีแนวคิดที่สอดรับกับมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 อันได้รับอิทธิพลจาก “หลักประชาธิปไตยที่ป้องกันตัวเองได้” ในทางรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี โดยแสดงให้เห็นจากประสบการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันในการยุบพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคนาซีใหม่
  • แต่กระนั้น สำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยตัวอย่างในอดีตในเรื่องเช่นนี้ที่ใกล้เคียงกันแล้ว ทั้งการรับคำร้องและออกคำวินิจฉัย และการไม่รับคำร้อง อันควรค่าแก่การวิจารณ์ การวินิจฉัยในครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมเผชิญกับความกระจ่างชัดอีกครั้งหนึ่ง ถึงการพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อการปกป้องประชาธิปไตยด้วยว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ“ ของใคร” และจาก “อะไร”

 

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) มาตรา 49

 

ท่ามกลางความตื่นเต้นและลุ้นระทึกของผู้สนใจการเมือง ในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 หรือหนึ่งวันก่อนกำหนดนัดที่รัฐสภาจะประชุมกันเพื่อเลือกบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ปรากฏว่า มีข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจจะส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็นผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ นั้นต้องสิ้นสุดลงเพราะถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นสื่อซึ่งเป็นกรณีต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวด้วย (ซึ่งในที่สุด วันที่ 19 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำสั่งรับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)

หากในวันดังกล่าว ความตื่นเต้นและความสนใจพุ่งตรงไปแต่ที่กรณีนั้น กระทั่งเมื่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวฉบับลงวันที่วันนั้นออกมา ก็ปรากฏว่า ผู้สื่อข่าวก็พุ่งความสนใจไปที่การแถลงความคืบหน้ากรณีคำร้องของ กกต. ในเรื่องดังกล่าวที่อยู่ในย่อหน้าท้ายสุด จนไม่มีใครสนใจข่าวลำดับที่ 1 ที่อยู่ตอนต้นของเอกสารแถลงข่าวนั้น

ได้แก่กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “รับคำร้อง” ที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 อันเป็นเรื่องพิจารณาที่ 19/2566 โดยมีมูลเหตุกล่าวอ้างว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็น ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ถามความคืบหน้ากรณีที่ผู้ร้องได้อ้างว่ายื่นคำร้องดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีหนังสือตอบกลับมาว่าอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการยื่นคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าเมื่ออัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการยื่นคำร้อง ภายใน 15 วัน จึงเข้ากรณีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้แจ้งผู้ร้องทราบ รวมถึงให้ผู้ถูกร้องทั้งสองทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง พร้อมแจงอัยการสูงสุดว่าหากอัยการสูงสุดได้รับพยานหลักฐานใดเพิ่มเติมให้จัดส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

แม้ในภายหลังจะมีสื่อสังเกตเห็นกรณีคดีดังกล่าวและนำเสนอข่าวก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้รับความสนใจเท่ากับกรณีหุ้นไอทีวี

ทั้งที่ความจริงแล้ว “น้ำหนัก” ของคดีดังกล่าวนั้นรุนแรงกว่าคดีการถือหุ้นไอทีวีของพิธาหลายเท่านัก เนื่องจากกรณีการถือหุ้นสื่อที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น หากจะเป็นความผิด ก็จะมีโทษแก่ตัวของพิธาเพียงคนเดียว คือต้องพ้นจากสมาชิกภาพความเป็น สส.

แต่กรณีการถูกกล่าวหาว่าพรรคการเมืองนั้น “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หากศาลพิจารณาว่าผิดจริง จะส่งผลไปได้ถึงขั้นยุบพรรคได้เลย

ในโอกาสนี้ เราจึงควรมาทำความรู้จักกับ “รัฐธรรมนูญ มาตรา 49” กันไว้ล่วงหน้า เพราะเรื่องนี้น่าจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ในทางการเมือง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจะเป็นใครก็ตาม

 

ที่มาของ “รัฐธรรมนูญ มาตรา 49” คือแนวคิด “ประชาธิปไตยที่ป้องกันตัวเอง”

เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แล้ว จะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าว มีลักษณะเป็นทั้ง “บทจำกัดสิทธิ” และ “บทให้สิทธิ” ไปในตัว

โดยส่วนที่เป็น “บทจำกัดสิทธิ” ของมัน อยู่ในวรรคแรกของมาตรานี้ ที่บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ซึ่งหมายถึงว่า การใช้สิทธิเสรีภาพประการใดก็ตาม ไม่ว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ก็มีข้อจำกัดหรือ “เพดาน” ว่า สุดท้ายแล้วการใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้น จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้

ทั้งนี้ เพื่อการป้องกันไม่ให้ผู้ใดใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันต้องห้ามดังกล่าว รัฐธรรมนูญก็กำหนด “บทให้สิทธิ” อยู่ในวรรคสองและวรรคสามของมาตรานี้ว่า “ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้” และ “ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้” ซึ่งหมายถึงว่า หากผู้ใดเห็นว่าผู้อื่นกำลังใช้หรือจะใช้เสรีภาพที่อาจเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็สามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกให้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการได้ โดยให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยสั่งห้ามการกระทำ โดยมีกระบวนการขั้นตอน คือต้องยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาก่อน หากอัยการสูงสุดยื่นเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเรื่องก็จะเข้าสู่กระบวนการ แต่ถ้าอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จะใช้สิทธิในการเรียกร้องให้อำนาจรัฐสั่งห้ามผู้อื่นใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองนั้น ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

หลักการในลักษณะเดียวกับมาตรา 49 ข้างต้นนี้เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และเคยถูกจัดไว้ในหมวดหมู่ของ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้กันต่อไป โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก “หลักประชาธิปไตยที่ป้องกันตัวเองได้” (Das Prinzip der streitbaren Demokratie und Mittel der streitbaren Demokratie) อันเป็นหลักเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ที่ได้รับบทเรียนมาจากการล่มสลายของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์โดยการเถลิงอำนาจของพรรคนาซีอันนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

การสรุปบทเรียนความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญไวมาร์ จึงนำมาสู่แนวความคิดของ “รัฐธรรมนูญที่มีกลไกป้องกันตนเอง” เพื่อไม่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการก่อตั้งพรรคการเมืองหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือเป็นภัยต่อการดำรงอยู่แห่งสหพันธรัฐเนื่องจากปัญหาหนึ่งของการเถลิงอำนาจของพรรคนาซีนั้น นอกจากกลไกทางการเมืองคือความบกพร่องของรัฐธรรมนูญไวมาร์ ที่มีช่องทางให้อำนาจสภาแห่งจักรวรรดิใช้เสียงสองในสามก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง เป็นผลให้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถึงระดับหลักการพื้นฐานอันเป็นโครงสร้างของระบอบสาธารณรัฐแล้ว แต่การที่พรรคการเมืองดังกล่าวเรืองอำนาจขึ้นมาได้ ก็เกิดจากการที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองดังกล่าวสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมตัวเป็นสมาคม และการตั้งพรรคการเมือง สามารถเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์ระบอบเผด็จการนาซีอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้โดยเสรี จนกระทั่งเข้ามามีอำนาจรัฐ[1] รัฐธรรมนูญของเยอรมันจึงมีบทบัญญัติที่เป็นกลไกป้องกันตนเองจากการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญไว้ ในกฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธรัฐ (ซึ่งเป็นชื่อเรียกของรัฐธรรมนูญของเยอรมนี) มาตรา 18 การสูญเสียสิทธิพื้นฐาน ว่า “ผู้ใดก็ตามที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพของสื่อมวลชน (มาตรา 5 (1)) เสรีภาพในการสอน (มาตรา 5 (3)) เสรีภาพในการชุมนุม (มาตรา 8) เสรีภาพในการสมาคม (มาตรา 9) สิทธิส่วนบุคคลในการติดต่อทางจดหมาย ไปรษณีย์ และโทรคมนาคม (มาตรา 10) สิทธิในทรัพย์สิน (มาตรา 14) หรือสิทธิในการลี้ภัย (มาตรา 16A) เพื่อต่อต้านระบอบพื้นฐานเสรีประชาธิปไตย ต้องสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านั้น ทั้งนี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเป็นผู้ประกาศการสูญเสียสิทธิและขอบเขตแห่งการสูญเสียสิทธินั้น

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน ยังมีบทจำกัดเสรีภาพในการจัดตั้งหรือดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองโดยห้ามกรณีที่พรรคการเมืองมีเจตนารมณ์ในการก่อตั้งหรือมีพฤติกรรมการแสดงออกของสมาชิกอันมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนหรือล้มล้างระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือมีลักษณะเป็นภยันตรายต่อความคงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ไว้ในมาตรา 21 โดยให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐที่จะเป็นผู้ชี้ว่าการก่อตั้งหรือพฤติกรรมการดำเนินงานของพรรคการเมืองใดมิชอบหรือต้องห้ามตามมาตรานี้ โดยรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ตลอดจนการสั่งห้ามก่อตั้งพรรคในลักษณะเดียวกันขึ้นอีกเพื่อทดแทนพรรคเดิมขึ้นอีกในอนาคตด้วย

ในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรานี้ของประเทศเยอรมันนั้น ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเคยมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายของพรรคการเมืองที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองเสรีประชาธิปไตยมาแล้วสองพรรค คือ กรณีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (Kommunistische Partei Deutschlands หรือ The Communist Party of Germany) และพรรคนาซีใหม่ (Sozialistische Reichspartei Deutschlands หรือ Socialist Reich Party)

โดยสาเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีคำสั่งยุบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีนั้น มิใช่เพียงเพราะพรรคการเมืองดังกล่าวยึดถือแนวทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งสรุปได้ว่า แม้พรรคการเมืองใดจะมีความเชื่อในทฤษฎีมาร์กซิสต์และเลนินนิสต์ (Marxism and Leninism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ปฏิเสธระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตราบจนกระทั่งพรรคการเมืองดังกล่าวลงมือใช้กำลังเข้าต่อสู้หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองที่เป็นอยู่จึงจะถือว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยกรณีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีที่ถูกยุบไปนั้น ก็ด้วยเพราะมีเป้าหมายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น ได้แก่ การสร้างระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ (Dictatorship of the Proletariat) ซึ่งจำเป็นต้องล้มล้างระบอบเสรีประชาธิปไตยลงเสียก่อนแล้วการสถาปนาระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวและนำไปสู่ระบอบเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ อันจะเป็นการทำลายระบบหลายพรรคการเมืองซึ่งถือเป็นหัวใจของระบอบเสรีประชาธิปไตย

แต่กรณีของพรรคอื่นๆ ที่มีแนวทางของมาร์กซิสแต่ก็สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปได้ เช่น พรรค SPD อันพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ ช่วงเวลาเริ่มต้นก่อตั้งพรรคขึ้นมานั้นก็ได้ยึดถืออุดมการณ์มาร์กซิสต์ เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (German Communist Party – Deutsche Kommunistische Partei [DKP] ซึ่งเป็นคนละพรรค KPD กับที่โดนยุบ) และพรรคสังคมประชาธิปไตย (Party of Democratic Socialism – Partei des Demokratischen Sozialismus [PDS]) ก็มิได้ถูกยุบไปเพราะเหตุที่เคยยึดถืออุดมการณ์มาร์กซิสต์แต่อย่างใด ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งยุบพรรค KPD ซึ่งยึดถืออุดมการณ์เดียวกันไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายและวิธีการของพรรคให้สอดคล้องใกล้เคียงกับหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งสมาชิกพรรคก็มิได้มีพฤติกรรมในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด

ส่วนกรณีของพรรคนาซีใหม่หรือพรรค SRP นั้นทั้งตามข้อบังคับพรรคและในทางปฏิบัติก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการจัดโครงสร้างและการบริหารงานภายในพรรคการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยการตัดสินใจขึ้นอยู่กับตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดในพรรค การตัดสินใจต่างๆ เป็นแบบบนลงล่าง (Top-down) และตั้งอยู่บนหลักการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างถึงที่สุด (Absolute Obedience) โดยมิได้เปิดให้สมาชิกพรรคมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ สมาชิกไม่มีสิทธิคัดค้านหรือปฏิเสธ คล้ายๆ กับเป็นสายการบังคับบัญชาของทหาร อีกทั้งยังการจัดตั้งกองกำลังของพรรคในทำนองเดียวกับ SA หรือ SS ของพรรคนาซี นอกจากนี้บุคคลที่เป็นสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำพรรค ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือสมาชิกอย่างเปิดเผยเป็นทางการ หรือเป็นแบบลับๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอดีตสมาชิกกองกำลัง SS และ SA อีกทั้งข้อบังคับพรรคระบุว่า บุคคลที่จะเป็นสมาชิกพรรค SRP ได้นั้นต้องสาบานตนว่าจะต่อสู้เพื่อพรรคและสงวนไว้แต่เฉพาะผู้ที่จงรักภักดีต่อแนวชาติสังคมนิยมของฮิตเลอร์เท่านั้น หรือความพยายามติดต่อชักชวนอดีตสมาชิกพรรคนาซีให้เข้าร่วมงานกับพรรค เมื่อการจัดโครงสร้างและการบริหารงานภายในพรรคสะท้อนลักษณะอำนาจนิยมที่ปกคลุมพรรคการเมือง ที่เมื่อประกอบกับอุดมการณ์และเป้าหมายของพรรคการเมืองแล้วก็นำไปสู่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า พรรคการเมืองดังกล่าวมุ่งที่จะนำโครงสร้างแบบอำนาจนิยมนี้ไปใช้ในโครงสร้างการบริหารรัฐด้วย จึงถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายของพรรคการเมืองที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองเสรีประชาธิปไตย และต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไปในที่สุด

 

สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญไทย

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น บทบัญญัติในลักษณะเดียวกับมาตรา 49 นี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 63 โดยบัญญัติไว้ดังนี้

 

มาตรา 63 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

 

เมื่อพิจารณาจากตัวบทดังกล่าว จะเห็นได้ชัดเจนว่า มาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น คล้ายจะเป็นการนำเอาบทบัญญัติของมาตรา 18 และมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมันมาบัญญัติไว้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญไทยไม่ได้บัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ในเรื่องใดที่ต้องห้ามมิให้ใช้เพื่อ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ” หรือ “เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” และรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการประกาศให้สูญเสียสิทธิและขอบเขตแห่งการสูญเสียสิทธิเช่นกรณีของรัฐธรรมนูญเยอรมัน แต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญ “สั่งห้าม” ดังกล่าว ซึ่งจุดเล็กๆ สองประการนี้ กลับกลายเป็นปัญหาต่อไปในครั้งที่มาตราดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ในเวลาต่อมาอย่างคาดไม่ถึง

ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 68 ด้วยข้อความที่เกือบตรงกันทั้งหมด เว้นแต่กรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจะมีผู้ใดกำลังใช้หรือจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในทางที่มิชอบดังกล่าว โดยเปลี่ยนจากคำว่า “รู้เห็น” ที่เคยใช้ไว้ในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นคำว่า “ทราบ” และเพิ่มวรรคสี่ซึ่งบัญญัติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบเนื่องจากกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วย

 

บทเรียนของไทย “มาตรา 68” ในรัฐธรรมนูญปี 2550

มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นเคยเป็นบทบัญญัติเชิงหลักการหรืออุดมการณ์ที่อยู่อย่างสงบในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จนกระทั่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2555 ที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้มี หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพิ่มเติมมาตรา 291/1 ถึงมาตรา 291/16 ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้างต้นนั้นได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปแล้ว 2 วาระ แต่ก่อนที่รัฐสภาจะได้พิจารณาในวาระที่สาม ได้มีกลุ่มบุคคลไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น ถือเป็น “การใช้เสรีภาพ” เพื่อ “ล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 พร้อมมีหนังสือถึงประธานรัฐสภาให้รอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน ออกไปก่อน

การรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการที่ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 68 นี้เพื่อขยายอำนาจตัวเองไปพิจารณาวินิจฉัยตรวจสอบกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวไว้

ข้อโต้แย้งสำคัญในทางวิชาการ คือ “วัตถุแห่งคดี” ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ จะต้องเป็นการมุ่งหมายที่จะตรวจสอบและสั่งห้ามการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หากปัญหาของเรื่องนี้ คือการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภานั้นเป็นการ “ปฏิบัติหน้าที่” ตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่น่าถือเป็นการ “ใช้สิทธิและเสรีภาพ” ไปได้ อีกทั้งการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ จะถือเป็น “การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ไปได้อย่างไร

แม้ว่าผู้ถูกร้องจะได้ตั้งประเด็นข้อต่อสู้ดังกล่าวไว้ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ยกข้อโต้แย้งดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาหรือแยกแยะว่าการใช้อำนาจของรัฐสภานั้นถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพไปได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งในเชิงกระบวนการเงื่อนไขของการยื่นคำร้องด้วย เนื่องจากมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น ให้สิทธิแก่ผู้รู้เห็นว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการที่เป็นการล้มล้างการปกครองหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศโดยมิชอบนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ผู้รู้เห็นการกระทำนั้น “เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว” ซึ่งข้อความดังกล่าวเข้าใจได้ชัดเจนว่า ผู้ที่มีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นอัยการสูงสุด หลังจากที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเท่านั้น ดังนั้นการที่มีบุคคลไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงจึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องนั้นไม่มีอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

สำหรับข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องและอำนาจของผู้ยื่นคำร้องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำตอบไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 สรุปได้ว่า มาตรา 68 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวที่จะใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิทั้งเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวก็ได้ โดยสิทธิในการเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่ได้ตัดสิทธิของผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลสนับสนุนต่อไปด้วยว่า การแปลความข้างต้นนอกจากจะสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เองแล้ว ยังได้รับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ที่ให้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย และหลักการของมาตรานี้โดยสภาพถือเป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองและการล้มล้างรัฐธรรมนูญมิให้เกิดขึ้นได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องกำลังดำเนินอยู่และยังไม่บังเกิดผล หาไม่แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวก็จะพ้นวิสัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับในคดีที่มีผู้กล่าวหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับถือเป็นการล้มล้างการปกครองนั้น ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภา จึงไม่เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่ศาลก็ได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติของประชาชน ดังนั้น การที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มี “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แม้ผลของคำวินิจฉัยจะเป็นการ “ยกคำร้อง” คือเท่ากับ “ไม่ได้สั่งห้ามการกระทำ” ซึ่งโดยหลักแล้ว รัฐสภาย่อมสามารถที่จะดำเนินกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไปได้ แต่ก็ปรากฏว่า ทางฝ่ายรัฐสภาได้ยอมยุติกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ครั้งนั้นไปโดยปริยาย

แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้อาศัยช่องทางของบทบัญญัติมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ในการวินิจฉัยสั่งห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถึงสองครั้ง คือ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้ง สว. โดยตรงทั้งสภา โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง สว.. ได้ดังกล่าวเป็นการทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา เพราะการที่ให้ สว. มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับ สส. นั้นย่อมเป็นเสมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันของทั้งสองสภา รวมถึงการแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของ สว. ให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ สส. ได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของระบบสองสภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15 – 18/2556) และการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์ของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่จะต้องนำมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 วรรคสอง นั้นเป็นการลิดรอนอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภาให้ลดน้อยลง และเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มมากขึ้นอันส่งผลกระทบต่อหลักการแบ่งแยกดุลคานอำนาจและการรักษาดุลยภาพระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2557)

 

คดี “ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตาม มาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

จากที่เป็นแนวคิดเรื่องหลักประชาธิปไตยที่ป้องกันตัวเองได้ที่รับมาจากรัฐธรรมนูญของเยอรมัน และ “ประสบการณ์” จากการนำมาตราในลักษณะดังกล่าวมาใช้ในช่วงการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นส่งผลสองประการสำคัญต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ประการแรก คือ ปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องและอำนาจการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ว่า ประชาชนที่รู้เห็นหรือทราบการกระทำอันอาจเป็นการล้มล้างการปกครองนั้นจะมีอำนาจยื่นคำร้องด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ เป็นที่มาให้มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ชัดเจนในวรรคสองและวรรคสาม ว่า ให้บุคคลผู้ใดทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว และถ้าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ก็ให้ผู้ทราบการกระทำนั้นยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เช่นในกรณีล่าสุดนี้

นอกจากนี้เพื่อตัดปัญหาที่กำกวมในการตีความ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้นำข้อความที่ต้องห้าม “การใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ออกไป เหลือเพียงการห้าม “ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น

อนึ่ง แม้ว่ามาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะไม่ปรากฏข้อความเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ นั้นเป็นพรรคการเมือง ที่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 63 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคได้ก็ตาม แต่หลักการดังกล่าวก็ไม่ได้หายไปไหน หากไปปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แล้ว จะมีบทบัญญัติมาตรา 92 ที่กำหนดเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้นอาจยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองได้ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใด (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมาตราดังกล่าวกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวน ถ้าเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการดังกล่าวจริง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย

ดังนั้น กรณีที่พรรคการเมืองใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญนั้น แม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ก็เป็นกรณีที่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่แล้ว ดังนั้น ในทางปฏิบัติ พรรคการเมืองใดที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ และถูกดำเนินการตามมาตรา 49 วรรคสองและวรรคสาม และหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองดังกล่าวใช้เสรีภาพอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นไปได้ที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วนั้น เนื่องจากถือว่า

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 211 วรรคสี่ และด้วยเหตุเดียวกันนั้นเอง หาก กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็แทบจะสามารถวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ทันทีเพราะผลผูกพันจากคำวินิจฉัยในคดีเดิม เว้นแต่ในคำวินิจฉัยนั้นจะพิจารณาว่าเป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของ “บุคคล” มิใช่ในฐานะของ “พรรคการเมือง” แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนจนกว่าจะมีกรณีดังกล่าวเกินขึ้นจริง

ประการที่สอง กรณีการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยมีกระบวนการอันชัดเจนไว้ ในมาตรา 256 (9) ด้วย โดยให้เป็นอำนาจของ สส. หรือ สว. หรือ สส. และ สว. รวมกัน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาแล้วแต่กรณีเป็นผู้มีสิทธิเสนอเรื่องและยื่นคำร้อง ในกรณีที่เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเป็นกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องที่ต้องนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน ได้แก่การแก้ไขบททั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์หรือหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ แต่มิได้นำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน

มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เคยถูกนำมาใช้ยื่นคำร้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญไปจนศาลมีคำวินิจฉัยสั่งห้ามการกระทำที่ศาลเห็นว่าเป็นการ “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาแล้ว ในกรณีที่มีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 นั้น มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผู้ร้อง ได้แก่ นายณฐพร โตประยูร ส่วนผู้ถูกร้อง ประกอบไปด้วย นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นางสาวสิริพัชระ จึงธีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนางสาวอาทิตยา พรพรม

การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้อง ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการ “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น ได้แก่การจัดการชุมนุมขึ้น เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 และอีกหลายเวทีต่อมา โดยผู้ถูกร้องปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการ

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในส่วนแรกก่อนว่า หลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิของบุคคลในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 นี้ ก็ด้วยเป็นการสร้างหลักประกันและธำรงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสำคัญแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อใดที่ปรากฏการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้กระทำในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกกล่าวหาเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

นอกจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆ ที่อัยการสูงสุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังได้แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยมีคำสั่งให้ผู้กำกับการ สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคง ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ที่เคยวินิจฉัยวางหลักคำว่า “ล้มล้าง” ว่าไว้ว่าการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนได้ นอกจากนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะทำลาย หรือล้างให้สูญสลายหรือสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยต่อไปว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

จากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้อ้าง “ประวัติศาสตร์” ชาติไทยว่า นับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดถึงกรุงรัตนโกสินทร์ การปกครองของไทยนั้นอำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดเวลาหลายร้อยปี ดังนั้น แม้จะมีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2475 ให้อำนาจการปกครองเป็นของราษฎรทั้งหลายหรือมาจากปวงชนชาวสยาม คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงและประชาชนชาวไทยยังคงเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เพื่อทรงเป็นสถาบันหลักที่จะต้องคงอยู่คู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและทรงใช้อำนาจอธิปไตยนั้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอดเป็นเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของชาติ

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ให้การรับรองพระราชสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ว่าทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม ทั้งยังมีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน มีลักษณะเป็นขบวนการที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำ และกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของบุคคล จนถึงกับล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความจริง ผลของการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อประกอบเหตุผลปลีกย่อยอื่นๆ (ผู้สนใจอาจลองหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มของเรื่องนี้มาอ่านได้จากลิงค์ท้ายบทความนี้) ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยและสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ในท่อนท้ายก็ค่อนข้างจะเป็นปัญหา เนื่องจากมีการสั่งให้ “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” เลิกกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่า “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” ในความหมายของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ได้แก่กลุ่มองค์กรใด มีลักษณะและองค์ประกอบอย่างไร ทั้งยังเป็นปัญหาว่า ในเมื่อ “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” นั้นก็มิได้ถูกร้องเข้ามาในคดีนี้ด้วย เช่นนี้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถเอื้อมเงื้อเข้าไปบังคับใช้กับ “กลุ่มองค์กรเครือข่าย” ที่ไม่มีตัวตนปรากฏชัดนี้ได้หรือไม่ และได้อย่างไร

 

ข้อวิพากษ์และบทส่งท้าย

แม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ จะเป็นบทบัญญัติที่ได้รับการสืบทอดเจตนามาจากบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็น “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ตามหลักการเรื่องประชาธิปไตยที่ป้องกันตัวเองได้ ที่อาจจะมีที่มาจากหลักการที่ค่อนข้างเป็นสากล แต่เมื่อเราพิจารณาจาก “สภาพการบังคับใช้จริง” ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าว ตั้งแต่มาตรา 68 สมัยรัฐธรรมนูญ 2550 จนถึงมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ว่าบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าว เคยถูกนำมาบังคับสั่งห้าม “การกระทำ” ใดบ้าง และด้วยเหตุผลอย่างไร เมื่อเทียบกับแนวทางคำวินิจฉัยและการใช้บังคับบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันของรัฐธรรมนูญในประเทศต้นตำรับที่ประเทศไทยเราไปเอาเขามาเป็นต้นแบบ ก็อาจจะทำให้ได้คำตอบขึ้นมาแบบไม่ต้องเขียนลงสมุดเล่มไหนว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่อาจจะต้องย้อนกลับไปถึงมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 นั้น แท้จริงแล้วมันถูกใช้เพื่อ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ของ “ใคร” จาก “อะไร” กันแน่

นอกจากนี้ สิ่งที่สมควรต้องบันทึกไว้อย่างยิ่ง คือ ในที่สุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้อาศัยการตีความมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญเพื่อรับพิจารณาวินิจฉัยคำร้องว่า การเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น ถือเป็นการกระทำเพื่อ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ ถึงสามครั้ง และก็ไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะสามารถแก้ไขได้อีกเลย นับแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่าการที่รัฐสภาเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นอาจถือเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อาจถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมันถูกฉีกลงโดยคณะรัฐประหาร คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ข้อเท็จจริงในขณะนั้นก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การรัฐประหารดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เชื่อกันว่าเป็นการสร้างความโกลาหลวุ่นวายในระดับที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่สามารถควบคุมได้ เปิดทางให้เกิดการรัฐประหารดังกล่าว

ในระหว่างนั้น มีผู้พยายามไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การชุมนุมของนายสุเทพ และกลุ่ม กปปส. นั้น ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

ใคร่ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยท่อนวินิจฉัยของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 50/2557 ระหว่างนายสิงห์ทอง บัวชุม และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ ลงวันที่ 23 เมษายน 2557 ก่อนการรัฐประหาร คสช. ประมาณหนึ่งเดือน โดยไม่ตัดทอนหรือสรุปใดๆ ดังต่อไปนี้

 

พิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมของประชาชนและผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ สำหรับการปราศรัยหรือแถลงการณ์ของผู้ถูกร้องตามที่ผู้ร้องนำมากล่าวอ้าง เป็นเพียงข้อคิดเห็นที่มุ่งหวังให้รัฐบาลลาออกเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ส่วนกรณีการกระทำของผู้ถูกร้องจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายใดนั้น เป็นเรื่องซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงไม่มีมูลกรณีว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”.

 

บรรณานุกรม :


[1] การเข้าสู่อำนาจของพรรคนาซีนั้นมีรายละเอียดมากทั้งในส่วนของการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ในการทำกิจกรรมทางการเมือง และในการเข้าสู่การมีอำนาจในรัฐสภาด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญไวมาร์ แต่อย่างไรก็ตาม การเถลิงอำนาจของพรรคนาซีและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ไม่อาจกล่าวได้เลยว่ามาจากกลไกการเลือกตั้งหรือประชามติที่ชอบธรรมจากประชาชน รายละเอียดอาจศึกษาได้จาก ภาณุ ตรัยเวช . ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (กรุงเทพฯ: ปลาทูพับลิชชิ่ง. 2566)