พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดย นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
“...เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รัชกาลที่ 8 ได้ทรงตรารัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคมโดยใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม ทุกประการ ดังนั้น ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 จึงเป็นระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นโดยสืบต่อมาจากธรรมนูญการปกครองฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475”
[นายปรีดี พนมยงค์]
“...รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย เพราะพฤฒสมาชิก (หรือต่อมาคือ วุฒิสภา — ผู้เขียน) และสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา จึงไม่ใช่ ‘อำมาตย์’ และมาตรา 24 กับ 29 กำหนดไว้ว่าพฤฒสมาชิกและสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ”
[นายปรีดี พนมยงค์]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ถือกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับใดๆ ที่เคยมีมา แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในระยะเวลาอันสั้นประมาณ 18 เดือน ระหว่างวันประกาศใช้ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 กระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะใช้บังคับเพียงไม่นาน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยหลายด้าน เช่น แม้จะมีสองสภา คือ สภาผู้แทนกับพฤฒสภา แต่สภาทั้งสองก็มาจากการเลือกตั้ง (โดยตรงและโดยอ้อม ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังปรากฏความพยายามในการแยกข้าราชประจำออกจากการเมือง คือ รัฐมนตรีจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังบัญญัติให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก อันประกอบไปด้วยประธาน 1 คน และคณะตุลาการอีก 14 คน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตุลาการรัฐธรรมนูญมาจากอำนาจของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง มิใช่การแต่งตั้งของรัฐบาลดัง ที่นายปรีดีกล่าวว่า “มวลราษฎรย่อมต้องการตุลาการรัฐธรรมนูญที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ปัญหาสำคัญอยู่ที่การตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น จะใช้วิธีใดจึงจะได้ตุลาการที่ให้ความเป็นธรรมในการตีความรัฐธรรมนูญได้”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
- รัฐธรรมนูญ 2489 กับการต่อสู้จากฝ่ายอำนาจนิยม โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- จุดตั้งต้น “ประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม” ของปรีดี พนมยงค์ ในรัฐธรรมนูญ 2489 โดย วัลยา