ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จุดตั้งต้น “ประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม” ของปรีดี พนมยงค์ ในรัฐธรรมนูญ 2489

9
พฤษภาคม
2565
พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

 

ในวาระ 122 ปีชาตกาลของ ‘ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์’ ขอนำเสนอผลงานสำคัญของท่าน เรื่องการเสนอแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2475 และร่วมยกร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่แนวทางการสร้างหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ และระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม[1]

 

ความเป็นมา​ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของไทย ตราขึ้นเป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ของปีเดียวกัน[2]

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ปรารภกับควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ว่าถึงเวลาแล้วที่จะได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ที่ใช้กันอยู่นั้นเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป[3]

ต่อมาควง จึงนำความของปรีดี ไปปรึกษาหารือกับสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองพร้อมกับสมาชิกคณะราษฎร แล้วจึงเสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 โดยขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมประการใดบ้าง เช่น สมควรยกเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่ได้หรือยัง หรือควรมีสภาเดียวหรือสองสภา เป็นต้น คณะกรรมการชุดนี้ได้ทำหน้าที่ตลอดสมัยรัฐบาลของควง อภัยวงศ์ สมัยแรก รัฐบาลของทวี บุณยเกตุ และรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กระทั่งในรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อรวบรวมและเรียบเรียงบทบัญญัติที่เสนอไว้ขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ[4]

หลังจากนั้นจึงมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารับหลักการในวาระแรก เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 7 นาย เช่น พระยามานวราชเสวี  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  นายดิเรก ชัยนาม และ นายทองเปลว ชลภูมิ

 

ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอในสภาฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489
ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอในสภาฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489

 

จากรายงานของของคณะกรรมการวิสามัญปรากฏว่า มีความสมเหตุสมผลที่จะต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ในหลักการ 7 ประการ ได้แก่

  1. ให้ยกเลิกสมาชิสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง
  2. ยกเลิกบทบัญญัติซึ่งกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง
  3. กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติมีสองสภา คือสภาอาวุโส และสภาผู้แทน
  4. สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งโดยตรง
  5. สภาอาวุโสประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรได้เลือกตัวแทนของตนมาทำการเลือกตั้ง
  6. คณะรัฐมนตรีนั้นพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง โดยประธานสภาผู้แทน และประธานสภาอาวุโส เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้น ไม่จำต้องเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  7. รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกสภาอาวุโส จะเป็นข้าราชการประจำมิได้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489 ประกาศใช้ในราชกิจจจานุเบกษา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489 ประกาศใช้ในราชกิจจจานุเบกษา

 

จากการประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งนี้ได้รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระต่อไปจำนวน 15 นาย โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ[5] เมื่อถึงการอภิปรายในวาระที่ 3 ของการประชุมสภาฯ ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2489 จึงมีการขอปรึกษาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้นตกลงเห็นสมควรประกาศใช้ฯ ได้หรือไม่ และมีการลงมติจากสมาชิกสภาฯ จำนวน 190 นาย มีผู้เห็นชอบด้วยกันกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จำนวน 165 นาย และมีผู้ไม่เห็นชอบด้วยเพียง 1 นาย คือ หลวงกาจสงคราม ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในผู้นำของการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490[6]

 

สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

ในทางทฤษฎี วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489 ไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักความเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะยังคงรักษารูปของรัฐแบบเดิม รักษารูปแบบการปกครองเดิม เพียงมีการกำหนดองค์กรในรัฐธรรมนูญบางองค์กรใหม่ และจัดความสัมพันธ์เชิงองค์กรใหม่[7]

ส่วน หยุด แสงอุทัย มองเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเดิม ไม่ได้แก้ไขจนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง[8] หากในมุมของนักกฎหมายรุ่นใหม่มีข้อสังเกตว่า ควรพิจารณามาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ประกอบด้วย[9]

ในทางหลักการและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489[10] สรุปได้ดังนี้

ข้อเด่นที่สุดซึ่งสะท้อนหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจนิติบัญญัติ คือ มีระบบ 2 สภา ได้แก่ พฤฒสภา และสภาผู้แทน  ที่มาจากการเลือกตั้ง[11] โดยพฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร จำนวน 80 คน  ยกเว้นในวาระแรกตามบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ทั้งนี้จะอยู่ในวาระ คราวละ 6 ปี และเมื่อครบ 3 ปี ให้จับฉลากออกกึ่งหนึ่ง

“พฤฒสภา” มีหน้าที่ในการยับยั้งพระราชบัญญัติและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี  ส่วนสภาผู้แทน ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

และสาระสำคัญอื่น คือ เปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์กลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ ห้ามข้าราชการประจำเป็น ส.ส.  ให้เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง และให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติเป็นครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วยประธานฯ หนึ่งคน และตุลาการฯ จำนวน 14 คน มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489

 

"ประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม" อุดมคติในรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์

 

ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489
ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489

 

อุดมคติเรื่องหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ และระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม ปรากฏครั้งแรกในสุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ ณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489 เดิมมุมมองต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มักเสนอความโดดเด่นในเรื่องการแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง การให้ชนชั้นนำกลับเข้ามามีบทบาททางการเมือง หรือเสนอเรื่องพฤฒสภา รวมถึงล่าสุดที่มีการเสนอว่า เป็นจุดตั้งต้นของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง[12] หากยังไม่มีการพิจารณาแนวคิด หลักการ และมุมมองของระบอบประชาธิปไตย หลัง พ.ศ. 2475 ของปรีดี พนมยงค์ ผ่านสุนทรพจน์ในการปิดวาระฯ ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างจริงจัง

“แนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์” เมื่อ พ.ศ. 2489 นั้น อยู่ในบริบทที่ผ่านยุคการเมืองภายในที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลคณะราษฎร ปีกทหาร ซึ่งปกครองแบบอำนาจนิยม มีการเจรจาปรึกษาหารือน้อย และขาดการประนีประนอมกับหลายฝ่ายดังเช่นที่เคยทำในช่วงต้นของการอภิวัฒน์สยาม จึงส่งผลให้ปรีดี เสนอแนวคิดและหลักการประชาธิปไตยในบริบทดังกล่าว ไว้ดังนี้

1. ประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต

ปรีดี อธิบายแนวคิดประชาธิปไตยของคณะราษฎรในทศวรรษ 2480 ว่า

“...หมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม”

และยกตัวอย่างซึ่งสะท้อนเป็นนัยของการปกครองโดยรัฐบาลอำนาจนิยมก่อนหน้านี้ว่า

“...การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชะนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย…”

นอกจากนี้ ปรีดี ยังยกตัวอย่างการปกครองแบบฟาสซิสต์ของอิตาลีว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไร้ระเบียบ ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ป้องกันการกลับมาของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในไทยไว้อีกด้วย

2. ระบอบประชาธิปไตย อันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ

แนวคิดของปรีดี เรื่องระบอบประชาธิปไตย ในยุคนี้ได้ถูกอธิบายอย่างหนักแน่นผ่านข้อมูลการเมืองเปรียบเทียบ ผสานปรัชญาการเมือง และประวัติศาสตร์สยามยุคโบราณอย่างแยบคาย หากที่สำคัญคือปรีดี อธิบายหลักการของระบอบประชาธิปไตยไว้ว่า

“ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต หรือในครั้งโบราณกาลเรียกว่าการปกครองโดยสามัคคีธรรม…”

ปรีดี มองว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองโดยสามัคคีธรรมคือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และชี้ให้เห็นว่า ในทางการเมือง การใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตยควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมุ่งหวังผลต่อส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว ดังนี้

“ในทางการเมือง การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยาอันเป็นมูลฐานเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอโกนิสม์) ความสามัคคีธรรมหรือระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง จึงจะเป็นไปได้…”

ในการนี้ ปรีดี ยังอธิบายขยายความว่า เช่นแนวทางของตนกับเจ้านายหลายพระองค์ เดิมนั้นเดินคนละแนวทางของระบอบการปกครอง หากเมื่อมีจุดหมายเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติแล้วก็สามารถร่วมมือทำงานด้วยกันมาได้เป็นอย่างดี

ช่วงท้ายของสุนทรพจน์ฯ ปรีดี ได้สรุปแนวคิดประชาธิปไตย ความคิดต่อชาติ และผสานทุกฝ่ายไว้

“...โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการและปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม…เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ…”[13]

 

สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ แสดงในสภาผู้แทนราษฎร 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และอ่านได้ที่ https://pridi.or.th/th/libraries/1587044950
สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ แสดงในสภาผู้แทนราษฎร 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และอ่านได้ที่ https://pridi.or.th/th/libraries/1587044950

 

สุนทรพจน์ของปรีดีครั้งนี้ ชี้ให้เห็นที่มาและหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 อย่างแยบยล เพราะไม่เพียงเพื่อนำเสนอแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลของปรีดี ส่งให้กรมโฆษณาการเผยแพร่สุนทรพจน์ฉบับนี้ไปยังทุกส่วนราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 300 แผ่น อีกด้วย

 

กรมโฆษณาการส่งสุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เผยแพร่ไปยังทุกส่วนราชการ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
กรมโฆษณาการส่งสุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เผยแพร่ไปยังทุกส่วนราชการ
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

หากชีวิตทางการเมืองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 กลับมีระยะเวลาบังคับใช้เพียง 1 ปี 6 เดือน​ ก็ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พร้อมกับการสิ้นสุดลงของยุคคณะราษฎร

 

ที่มาของภาพ : ราชกิจจานุเบกษา, สถาบันปรีดี พนมยงค์, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2489, เล่ม 63, ตอนที่ 30, หน้า 118-168. สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/030/318.PDF
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.2.1/61 กล่อง 2 กรมโฆษณาการส่งใบโฆษณาการสุนทรพจน์ของนายปรีดี พนมยงค์ แสดงในสภาผู้แทนราษฎร 7 พฤษภาคม 2489 มาเพื่อเผยแพร่ [พ.ศ. 2489]
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7/2489 วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2489  ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2489 วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489  ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php

หนังสือภาษาไทย :

  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535)
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535)
  • ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563)
  • สิริ เปรมจิตต์, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย ฉบับแรก พ.ศ. 2475 ถึงฉบับปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, มปป.) 
  • หยุด แสงอุทัย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยคำอธิบาย, (พระนคร : สำนักงานประชานิติ, 2489)

วิทยานิพนธ์ :

  • ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, “การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ,” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)
  • วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
  • กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490,”  (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)  

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • ปรีดี พนมยงค์. (21 ตุลาคม 2563). วิธีร่างรัฐธรรมนูญแบบปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก   https://pridi.or.th/th/content/2020/10/465
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (4 พฤศจิกายน 2563). รัฐธรรมนูญ 2489 กับการต่อสู้จากฝ่ายอำนาจนิยม. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2020/11/485
  • สมคิด เลิศไพฑูรย์. (9 ธันวาคม 2563). รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดี พนมยงค์ : กลไกการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2020/12/530


[1] ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม เป็นถ้อยคำของปรีดี พนมยงค์ โปรดดูเพิ่มเติม หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.2.1/61 กล่อง 2 กรมโฆษณาการส่งใบโฆษณาการสุนทรพจน์ของนายปรีดี พนมยงค์ แสดงในสภาผู้แทนราษฎร 7 พฤษภาคม 2489 มาเพื่อเผยแพร่ [พ.ศ. 2489]

[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (4 พฤศจิกายน 2563). รัฐธรรมนูญ 2489 กับการต่อสู้จากฝ่ายอำนาจนิยม. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2020/11/485

[3] กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490,”  (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 154.

[4] ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, “การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ,” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530), น. 85-86.

[5] เรี่องเดียวกัน, หน้า 91-99.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 173.

[7] วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)

[8] หยุด แสงอุทัย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยคำอธิบาย, (พระนคร: สำนักงานประชานิติ, 2489)

[9] กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490,”  (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 160-161.

[10] ปรีดี พนมยงค์. (21 ตุลาคม 2563). วิธีร่างรัฐธรรมนูญแบบปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก   https://pridi.or.th/th/content/2020/10/465

[11] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 187-188.

[12] ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), น. 38.

[13] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.2.1/61 กล่อง 2 กรมโฆษณาการส่งใบโฆษณาการสุนทรพจน์ของนายปรีดี พนมยงค์ แสดงในสภาผู้แทนราษฎร 7 พฤษภาคม 2489 มาเพื่อเผยแพร่ [พ.ศ. 2489]