Focus
- แบบแผนการเมืองไทยในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจรัฐสภา แม้ว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งและอำนาจบริหารหรืออำนาจรัฐบาลก็เป็นเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งเช่นกัน เนื่องจากองค์กรของรัฐมีหลายองค์กร ทั้งกว้างและลึกและเป็นอำนาจภูเขาที่อยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่ครอบครองอาวุธ คือทหารและอำนาจตามประเพณีที่ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐสภาและไม่ได้ขึ้นกับอำนาจของรัฐบาลและผลพวงจากรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ยิ่งมีกลไกวางให้อำนาจพันธมิตรทั้งสองนี้แข็งแรงยิ่งขึ้นดังตัวอย่างการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ
- ผลการเลือกตั้งใน 2 - 3 วันข้างหน้านี้แม้ว่าขั้วของฝ่ายประชาธิปไตยจะได้อำนาจทางรัฐสภา ซึ่งเป็นไปได้แต่รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยคงจะถูกบั่นทอนด้วยองค์กรจากขั้วพันธมิตร คือระหว่างอำนาจทางทหารและอำนาจทางประเพณี
- การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายอำนาจดั้งเดิมและอำนาจฝ่ายประชาธิปไตยมีหลายยกแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ แต่ก็จะต้องถูกโต้กลับเหมือนคณะราษฎร ฝ่ายประชาธิปไตยจึงสมควรนำเอาบทเรียนของคณะราษฎรที่ได้มอบพื้นฐานให้เรายืน คือเป็นอิฐก้อนแรกที่ก่อความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาและประสบการณ์และบทเรียนของคณะราษฎรมาใช้ประโยชน์ในการรักษาอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตย
ท่านจะสังเกตว่าคำว่า “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” นั้นมันมีความลึกซึ้ง น่าจะมาจากภาษาอังกฤษในคำที่ว่า Balance of Power ใช่ไหมครับ อำนาจมันจะต้องแบ่งกัน อาจารย์ไชยันต์ครับ ผมจะถามอาจารย์คนแรกนะครับ ขอเสียงปรบมือต้อนรับท่านแรก ‘รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล’ จะมาคุยกับเราในเรื่องของการไขปริศนาว่า ดุลยภาพแห่งอำนาจคืออะไร ดุลยภาพแห่งอำนาจในโลกนี้มีอย่างไร และของอาจารย์ปรีดีเป็นอย่างไร
รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล : การจะเข้าใจประเด็นนี้ ในเรื่องว่า ดุลยภาพแห่งอำนาจเป็นอย่างไร ต้องดูแบบแผนการเมืองไทยว่าแบบแผนการเมืองไทยมันเป็นอย่างไร เริ่มต้นอย่างนี้ก่อน อำนาจนิติบัญญัติ หรือ อำนาจรัฐสภาจากการเลือกตั้ง ความจริงมันเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง และอำนาจบริหาร อำนาจรัฐบาลก็เหมือนกันครับ เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง องค์กรของรัฐหลายองค์กร ไม่ขึ้นอยู่กับ 2 อำนาจนี้ครับ เพราะอำนาจรัฐนั้นมีหลายองค์กรมาก ทั้งกว้างและลึก เป็นอำนาจภูเขาที่อยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่ครอบครองอาวุธ ก็คือทหารและอำนาจตามประเพณีที่ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อำนาจ 2 อำนาจนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐสภาและไม่ได้ขึ้นกับอำนาจของรัฐบาล เราเห็นว่ามองจากการเมืองไทยในปัจจุบันนี้จากข้อคิดและบทเรียนจากการเมืองของการเมืองไทยในสมัยคณะราษฎร คือ หมายความว่าเรามองการเมืองไทยปัจจุบันจากความเข้าใจการเมืองไทยในสมัยคณะราษฎร แล้วจะพบว่าอำนาจที่ครอบครองอาวุธนี้ และอำนาจตามประเพณีที่ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นพันธมิตรกันแน่นแฟ้นมากขึ้น หลังจากการสิ้นสุดของยุคของคณะราษฎรในช่วงปี 2490 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา
ทั้งสองอำนาจนี้ยิ่งเป็นพันธมิตรกันแข็งแรงมากขึ้น ผลพวงจากรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ยิ่งมีกลไกวางให้อำนาจพันธมิตรทั้งสองนี้แข็งแรงยิ่งขึ้น เช่น พระราชบัญญัติระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551, การแต่งตั้ง ส.ว. ที่ลดทอนความหมายของเสียงของราษฎร องค์กรอิสระต่างๆ อิสระในเครื่องหมายคำพูดนะครับ การรุกเงียบของ กอ.รมน. รวมทั้งอำนาจที่เรียกว่าอิสระต่างๆ อันนี้ไม่ขึ้นต่ออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
เราอาจจะเถียงว่าดีไหมที่มีองค์กร ดี แต่เงื่อนที่ว่าจะต้องมาจากระบบประชาธิปไตย แต่เราพบว่าอำนาจขององค์อิสระหลายอำนาจมาจากผลพวงของการรัฐประหาร ผลการเลือกตั้งใน 2 - 3 วันข้างหน้านี้ แม้ว่าขั้วของฝ่ายประชาธิปไตยจะได้อำนาจทางรัฐสภา ซึ่งเป็นไปได้ และรัฐบาลก็อาจจะแต่งตั้งได้ แต่คงจะถูกบั่นทอนด้วยองค์กรจากขั้วพันธมิตรระหว่างอำนาจทางทหารและอำนาจทางประเพณีนี้อย่างหนัก
สำนวนมวยเรียกว่ามีหลายยก แบบแผนการเมืองไทยมีหลายยก ยกหนึ่งฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะชนะ แต่ก็จะต้องถูกโต้กลับเหมือนคณะราษฎร แล้วก็แพ้ได้ แต่ฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นความหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่น่าจะถูกทำลายง่ายๆ เฉกเช่นชะตาของคณะราษฎร เพราะว่าองค์กรของพลังประชาธิปไตยในปัจจุบันแข็งแรงมากกว่าเมื่อ 60 - 70 ปีที่แล้ว ก็จะแข็งแรงตั้งแต่ปี 2490 เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าการทำรัฐประหารยิ่งยากขึ้นทุกวัน ประวัติศาสตร์การรัฐประหารของไทย บางครั้งเพียงแต่ไปยึดกรมประชาสัมพันธ์ ประกาศทางวิทยุก็สำเร็จแล้ว แต่ปัจจุบันคงไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เราจะเห็นว่าการทำรัฐประหารจะต้องใช้พลังอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างครั้งสุดท้ายเราจะเห็นว่าเฉพาะกำลังทางทหารนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้กำลังมวลชนถึงจะทำรัฐประหารสำเร็จ และรัฐประหารครั้งต่อๆ ไป ก็คงจะไม่ง่ายอย่างในช่วงปี 2500 แล้ว
สมัยคณะราษฎร ตั้งแต่ปี 2475 - 2500 ไม่มีฐานกำลังทางประชาธิปไตย ไม่มีพลังราษฎรเท่ากับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นบทเรียนของคณะราษฎร คือ หนึ่ง ได้มอบพื้นฐานให้เรายืน คือเป็นอิฐก้อนแรกให้เราได้ก่อความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมา และสอง คือประสบการณ์และบทเรียน ท่านอาจารย์ปรีดีเคยพูดแล้วว่ามีทั้งบทเรียนที่น่าจะได้เรียนรู้ทั้งพ่ายแพ้และชนะ นอกจากคณะราษฎรที่วางอิฐก้อนแรกให้เราแล้ว ที่สำคัญคือเป็นบทเรียนให้ว่า ถ้าชนะในอำนาจของนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร แต่ต้องระวังอย่างยิ่งที่จะถูกอำนาจโต้กลับโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่มาจากประเพณีที่ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อีกไม่กี่วันจะเลือกตั้ง “ขอวิญญาณและปณิธานของคณะราษฎรได้ช่วยให้เรา ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ระย่อต่อฝ่ายที่คอยฉุดรั้งความเจริญของราษฎร ขอเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในปฐมรัฐธรรมนูญ มาตราหนึ่งที่ว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ ได้เป็นจริงขึ้นเทอญ”
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : ขอบคุณอาจารย์ไชยันต์เป็นอย่างสูง เราคงเห็นภาพตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มประเพณี กับกลุ่มอำนาจใหม่ คือคณะราษฎร และตั้งคำถามว่าเราเรียนรู้อะไรจากการสู้กันหลายยกระหว่างอำนาจสองกลุ่มนี้
ในฐานะเราดูการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายเวทีดีเบตหรือหลายเวทีวิชาการมักเรียกร้องเอากับประชาชนว่าต้องไปเลือกตั้ง ไปแสดงเจตจำนงเรื่องประชาธิปไตย แต่เวทีนี้เราขอเรียกร้องเอาจากคนซึ่งมีอำนาจ ทั้งคนที่คุมการเลือกตั้ง คนที่กุมอาวุธ ผมคิดว่าสังคมจะมีดุลยภาพได้ สังคมต้องไม่เรียกร้องจากคนที่ไม่มีอะไรเลยอย่างประชาชน เราต้องเรียกร้องเอาจากคนที่สามารถเสียสละอะไรเยอะแยะเลย โดยที่เขาก็ไม่ได้หลุดไปจากตำแหน่งอะไรมากมายนัก
รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง https://www.youtube.com/live/OIQWTtjRKXI?feature=share
ที่มา : ไชยันต์ รัชชกูล. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.35 น. ณ ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา อาคารอเนกประสงค์ 1 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์