ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

๙๐ ปี ส. ศิวรักษ์ : “ก่อน (ทุกคน) จะลืมเลือน”

17
เมษายน
2566
ที่มา : Sulak Sivaraksa
ที่มา : Sulak Sivaraksa

 

“๙๐ ปี ส. ศิวรักษ์”

๐ เสาหลักประเทศไทยให้ความรู้
ปลอบนักสู้ชูช่วยด้วยหนังสือ
ความทรงจำความเป็นจริงสิ่งใช่คือ
คนนับถือสืบทอดตลอดมา

๐ รักประชาธิปไตยไม่เลือกข้าง
แจ้งกระจ่างทั้งสิ้นดินจรดฟ้า
เป็นตำนานลึกซึ้งหนึ่งตำรา
ปรารถนาสันติประชาธรรม

๐ รักลูกศิษย์เหมือนลูกปลูกสำนึก
เชื่อมผนึกความหมายคลายเหลื่อมล้ำ
ผู้ชี้ชัดขัดเกลาขาวและดำ
จารถ้อยคำตรงจริงสิ่งไม่ตาย

๐ เตือนสติหยุดยั้งคนคลั่งขวา
แผ่เมตตาไปสู่ผู้หลงซ้าย
ทำให้เห็นสายกลางทางง่ายดาย
ไม่ให้ร้ายมวลชนคนเสรี

๐ จากอีกรุ่นสู่อีกรุ่นหมุนเชื่อมต่อ
ขยายข้อเข้าใจไทยวิถี
เยาวชนหนุ่มสาวเข้าถึงดี
ให้ศักดิ์ศรีความเป็นคนละตนตัว 

๐ เชิดชูศิลปะศาสตร์ไม่ขาดตก
จรรโลงโลกชัดเจนเห็นดีชั่ว
สอนให้รู้ความกล้าฝ่าความกลัว
คลายมืดมัวชนชั้นด้วยปัญญา

๐ ปรมาจารย์แห่งปาจารยสาร
ปรมาจารย์ประวัติศาสตร์และศาสนา
รักพระเจ้าทุกพระองค์คงศรัทธา
ทรงคุณค่าแห่งอาจารย์ที่แท้จริง

๐ ๙๐ ปี อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ผู้ฟูมฟักปัญญาชนคนยอดยิ่ง
สานุศิษย์ทั้งหลายได้พึ่งพิง
ถือเป็นสิ่งดีงามความจีรัง

๐ วันทิตะวา ศิระสาปาเท
อาจาริเย สิทธิเมธัง
วันทิตะวา โลกะนาถัง
มาลาบุบผัง อะหังวันทามิ สรรพโส      

ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรงอายุยืนยาว ด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
รักและเคารพ อ.สุลักษณ์ ตลอดกาล
สีแพร เมฆาลัย ๔ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ. บางขุนพรหม

 

ที่มา : สีแพร เมฆาลัย กวีประชาชน และ หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ
“๙๐ ปี ส. ศิวรักษ์”
ที่มา : สีแพร เมฆาลัย กวีประชาชน และ หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ

 

ทันทีที่ก้าวเข้าประตู สยามสมาคม ยามเย็นย่านสี่แยกอโศก เสียงอ่านบทกวีที่หนักแน่นนุ่มนวลของ สีแพร เมฆาลัย กวีประชาชน ก็ลอยมาให้สะดุดต้องหยุดฟัง เพียงขึ้นต้นบทที่สองก็ทำให้ผู้คนทั้งที่อยู่ภายในงาน และผ่านไปมาภายนอกร่วมรับรู้ได้ทันทีว่าเนื้อหากลอนกล่าวถึงใครในใจความว่า “รักประชาธิปไตยไม่เลือกข้าง แจ้งกระจ่างทั้งสิ้นดินจรดฟ้า” ผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งลูกศิษย์ มิตรรัก ผู้คนที่นับถือศรัทธา “ปัญญาชนสยาม” มาร่วมกันจัดงาน “90 ปี ส. ศิวรักษ์ ก่อน (ทุกคน) จะลืมเลือน” ภายนอกห้องประชุมใหญ่ล้อมรอบไปด้วยซุ้มอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มที่ถูกนำมาบริการเหมือนงานรวมญาติ ในสนามมีเวทีกลางแจ้งจัดแจงที่นั่งหลายแบบให้เลือกตามอัธยาศัย ภายในเป็นเวทีหลัก ที่กำลังเปิดงานด้วยปาฐกถาธรรมโดย พระเนติวิทย์ จรณสมฺปนฺโน (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) นักเคลื่อนไหว นักเขียน นักคิด นักกิจกรรม ผู้นำคนรุ่นใหม่ที่หายไปเกือบปี การกลับมาในวาระนี้จึงถูกจับตาหาความหมายที่มากกว่าการเคลื่อนไหวในกิจสงฆ์ดำรงธรรม

เพียง 5 วัน หลังงานมุทิตาคารวะเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 เปลว สีเงิน[1] คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์” ได้ตั้งข้อสังเกตที่กลายเป็นประเด็นทางสังคม จากข้อความที่กล่าวถึง พระเนติวิทย์ ว่า “เนติวิทย์กำลังเหมือนนักวิ่งร้อยเมตรพุ่งนำจากจุดสตาร์ท แล้วจู่ๆ ก็แหกลู่ ‘หายเงียบไป’ ชนิดเฉียบพลัน!

เนติวิทย์หายไปไหน? … ‘ข้างหน้าคือหุบเหว กลับหลังหันคือฟากฝั่ง’ ในโลกนี้ ไม่มีอะไรบังเอิญ แล้วบุญ-กรรมอันใดเล่า ‘กำหนดทิศ-ชี้ทาง’ อันผมมิเคยคิดมาก่อนได้เช่นนี้ … ไม่ว่าอยู่สถานะไหน ต่อจากนี้ พระเนติวิทย์ คือ.... ผู้คนพบวิธี ‘ปฏิวัติสังคม’ ด้วยการ ‘ปฏิวัติตัวเอง’ ในเส้นทาง ‘แสวงหา’ ของคนรุ่นใหม่แล้ว!” ทำให้มวลชนร่วมตั้งคำถามถึงองค์ปาฐกในวันนั้น ว่าใครกันที่มีอิทธิพลต่อการแหกลู่หักหลบจนพบเส้นทางใหม่ในการแสวงหา เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบที่ไปที่มา

เพราะหลายคนยังไม่ทราบว่าพระเนติวิทย์ฯ มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นอาจารย์ผู้นำทางความคิดมาตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์สุลักษณ์ก็มีเนติวิทย์เป็นเสมือนศิษย์เอกในรุ่นเดียวกัน เพราะท่านให้ความเคารพคนรุ่นใหม่ นับถือหัวใจเปี่ยมอุดมคติ ซึ่งแสดงออกด้วยอุดมการณ์ผ่านงานเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองวาระต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ แม้กระทั่งเมื่อมีการสร้างจามจุรีสแควร์ เนติวิทย์ขณะยังเป็นนักศึกษา ได้เจรจากับสถาปนิกผู้ก่อสร้างตึก เพื่อจารึกแผ่นป้ายประกาศคุณูปการของร้านหนังสือ ศึกษิตสยาม ตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน 20 เมษายน 2510 จนถูกจุฬาไล่ที่ไป ลงในแผนภูมิของพื้นที่แห่งนั้น ว่าเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นี่เคยเป็นศูนย์ปัญญาชน ให้ปรากฏอย่างเห็นคุณค่า ความเชื่อมั่นในศักยภาพและความคิดของคนรุ่นหลาน มีเหตุการณ์ที่สังคมตั้งคำถามในประเด็นสำคัญ ท่านจะออกมายืนยันอย่างกล้าหาญ เพื่อส่งสัญญาณเป็นลมใต้ปีกปกป้อง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมพระเนติวิทย์คิดออกบวชและได้มาแสดงธรรมในวันนั้น

“ถูกทางหรือผิดทางเอาอะไรมาตัดสิน ผู้ใหญ่เป็นอันมากนึกว่าหนทางของตัวเองเท่านั้นที่ถูก เนติวิทย์ถูกอาจารย์ 20 คน รุมสอบสวนที่จุฬาฯ ผมในฐานะผู้ปกครองนั่งอยู่ด้วยเขาถาม ‘ผมทำความผิดอะไร’ ไม่บอก ตัดสินเบื้องหลัง ตัดคะแนน 20 คะแนน มีกรรมการอุทธรณ์ตัดสิน เคราะห์ดีที่เนติวิทย์ฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองตัดสินให้ชนะ ยังพอเป็นที่พึ่งได้บ้าง เพราะคนอย่างเขาจะต้องสู้ทุกขั้นตอนที่ถูกกฎหมาย ต้องชมคนอย่างนี้ครับ แต่ ไผ่ ดาวดิน เสียเปรียบเพราะอยู่ขอนแก่นไกลปืนเที่ยง ผมไปประกัน เอาตัวผมเป็นประกันด้วย ใช้เงินหกแสนเพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้ประกัน เพราะฉะนั้นคนระดับศาล ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ครูบาอาจารย์ ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มันน้อยครับ นิมิตดีคือคนรุ่นใหม่มีความกล้าหาญมากขึ้น ผมชื่นชมคนรุ่นใหม่ครับ เขาไม่ได้ต้องการเห็นด้วยกับเรา ต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่ เนติวิทย์เขานับถือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ใจ อึ๊งภากรณ์ นั่นน่ะศาสดาของเขา ผมเป็นเบอร์สามเท่านั้นเอง เขาบอกกับผม”[2]

เนติวิทย์เคยให้สมญาตัวเองเป็นชื่อเดียวกับหนังสือที่เขาเขียนว่า “นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี” และเขามีความรักความฝันที่อยากจะเป็นครูมาตลอดชีวิตไม่เคยเปลี่ยน จึงวันนี้ พระเนติวิทย์ จรณสมฺปนฺโน อยู่ในสถานะของพระอาจารย์แล้ว ท่านได้ทำหน้าที่ครู สู่สังคมอย่างที่ตั้งใจไว้ โดยให้วิชาผ่านพุทธธรรมและการเทศน์แทนการเขียนหนังสือที่สอนจากประสบการณ์ผ่านชีวิต ปาฐกถาธรรมครั้งนี้ จึงมีความเป็นตำราที่ว่าด้วยประวัติชีวิตและการทำงาน ซึ่งผ่านการต่อสู้อย่างช่ำชองบนสนามการเมืองการปกครอง ของ ส. ศิวรักษ์ ในช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 90 ปี นับเป็นลายลักษณ์ที่สรุปบทบาทของนักปราชญ์หลายสาขาออกมาได้อย่างลงตัว ทั้งในมิติของความเป็นปัจเจก บุคคลสาธารณะ และวิถีแห่งพุทธธรรม ประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญที่ฉายชัดถึงอัตลักษณ์ครบทุกด้าน ผู้เขียนจึงเห็นสมควรนำมารวบรวมไว้ เป็นบันทึกของยุคสมัย เพื่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคต

 

ที่มา : Sulak Sivaraksa
ที่มา : Sulak Sivaraksa

 

ปาฐกถาธรรม วรรณกรรมในคำเทศน์

‘วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา — บุรุษพึงพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ : เกือบศตวรรษชีวิตปัญญาชนไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม’

นโมตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (สามครั้ง) ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ขอโอกาสเพื่อนสหธรรมิกทุกท่าน

วันนี้อาตมาได้รับเชิญให้มากล่าวปาฐกถาเนื่องในโอกาสวันเกิดปีที่ 90 ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชื่อปาฐกถาคือ ‘วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา – บุรุษพึงพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ : เกือบศตวรรษชีวิตปัญญาชนไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม’ ชื่อนี้มาจากตัวเลือกที่พี่ กษิดิศ อนันทนาธร ช่วยเสนอ ที่อาตมาเลือกชื่อนี้ก็เพราะพุทธศาสนสุภาษิตข้างต้นเป็นที่ชื่นชอบของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิโกมล คีมทอง ตราบถึงอนิจกรรม และเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อนของอาจารย์สุลักษณ์ อีกทั้งใกล้เคียงกับภาษิตประจำโรงเรียนอัสสัมชัญที่ว่า LABOR OMNIA VINCIT อาตมาโชคดีว่าได้มีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ ตอนฉลอง 100 ปีชาตกาลอาจารย์ป๋วย จำได้ว่าอาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้ริเริ่มตระเตรียมงานล่วงหน้าหลายปี ก่อนที่อาจารย์ป๋วยจะครบร้อยปี (ใน พ.ศ. 2559) ก่อนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะคิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาเสียอีก พุทธภาษิตนี้จึงสะท้อนความมุ่งมั่นของอาจารย์ป๋วย และก็น่าจะเป็นคติที่สะท้อนชีวิตของอาจารย์สุลักษณ์ด้วย

ส่วนชื่อขยาย ‘เกือบศตวรรษชีวิตปัญญาชนไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม’ นี่ล้อชื่อหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ที่ชื่อ “ค่อนศตวรรษประชาธิปไตยไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม” ซึ่งเข้าใจว่าไม่มีวางจำหน่ายโดยทั่วไป เพราะตำรวจยึด เนื่องมาจากตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ฉลองครองราชย์ 60 ปี คนเห็นท่านทรงมีน้ำพระเนตรหลั่ง แทนที่อาจารย์สุลักษณ์จะมองว่าท่านน่าจะดีใจว่ามีคนมาร่วมงานมากมายเหมือนคนอื่นๆ ก็ไปตั้งคำถามว่า ในวันดังกล่าวตรงกับวันที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต ท่านกำลังเสียพระทัยเรื่องสมเด็จพระเชษฐาธิราชอยู่หรือเปล่า และท่านอาจจะคิดถึงหลานสี่คนที่อยู่ในอเมริกาที่ไม่มีโอกาสกลับประเทศมางานนี้ได้หรือเปล่า นี่ทำให้สันติบาลยึดหนังสืออาจารย์ จนเป็นเรื่องต่อสู้ในศาลปกครอง ตอนศาลตัดสินตอนนั้นอาตมาก็ติดตามอาจารย์ไปฟังคำพิพากษาด้วย ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอาจารย์

การสงสัยถามแบบนี้เกิดขึ้นก่อนการมีม็อบราษฎร ที่การพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นมาตรฐานยอมรับได้กว้างขวางกว่าที่ผ่านมา โดยคนกลัวที่จะพูดน้อยลง คำถามแบบนี้ของอาจารย์ในยุคนี้คงไม่หนักหนาถึงขั้นถูกยึดหนังสือ เพราะมีคนแรงกว่าเยอะ แต่อาจารย์ก็มาก่อนยุคสมัย ตั้งแต่การพูดตั้งคำถามถึงในหลวงว่า เล่นเรือใบ กัปปิตันเรือใบ ตั้งแต่ 2510 จนเกือบถูกฟ้อง ม.112 จนถูกฟ้อง ม.112 จริงๆ สามสี่ครั้ง แม้ในวัย 90 ปี อาจารย์ก็ยังคงเป็นอันตรายอยู่เหมือนกัน นอกจากในยูทูบจะถูกคนล้อเลียนว่าเป็น ส.ศิวลึงค์ ไปจนถึงอาฆาตแล้ว ก็เป็นวายร้ายของเพจ IO จำนวนมาก ล่าสุดอาตมาเห็นเพจหนึ่งเพิ่งด่าหนังสือ ‘สอนสังฆราช’ ของอาจารย์ ซึ่งเขียนเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว แล้วก็โยงกับอาตมาไปด้วย ชีวิตของอาจารย์จึงเต็มไปด้วยขวากหนามจริงๆ

และหากจะมองไกลกว่านั้น ตัวตนอาจารย์สุลักษณ์ก็สะท้อนชีวิตของปัญญาชนชาวไทยโดยทั่วไป อาจารย์อาจเคยมีบทบาทในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ตำรา’ จนเกิดมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ใกล้ชิดกับมูลนิธิต่างประเทศ และอาจารย์ก็ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจต่างๆ บรรดาเพื่อนและลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ก็มีหลายคนที่ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย หรือในทางการเมือง หรือคณะสงฆ์ หรือแม้ทางธุรกิจ แต่อาจารย์สุลักษณ์กลับยังคงอยู่ในที่เดิม 50 ปีที่แล้วสถานะของอาจารย์เป็นอย่างไร 50 ปีหลังก็ไม่ได้ต่างออกไป อาจารย์ไม่ได้หยุดนิ่งหรือวางท่าให้คนมากราบไหว้เคารพนับถือ ถ้าอาจารย์ทำเป็นลอยตัวเหนือปัญหาสังคมไปเลยในฐานะปรมาจารย์ อาจจะถูกคนด่าบ้าง แต่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยก็พร้อมจะให้อภัยอาจารย์ แต่อาจารย์ก็ยังคงกล้าพูด และนั่นทำให้ผู้มีอำนาจซึ่งอาจเป็นคนรุ่นใหม่ไปแล้วและสาวกรู้สึกถูกสะกิดและยังจ้องเล่นงานอาจารย์

นอกจากการเกี่ยวข้องกับคนมีอำนาจได้แล้ว อาจารย์สมาคมกับคนธรรมดาสามัญที่เดือดร้อน ซึ่งหลายกรณีก็เป็นที่รับรู้ดี เช่น สมัชชาคนจน หรือการต่อสู้ที่บ่อนอก-หินกรูด เป็นต้น แต่ก็มีเรื่องเร็วๆ นี้อยู่เหมือนกัน ก่อนหน้าอาตมาจะมาบวช ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เรื่องพิทักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองที่ถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไล่ที่ ซึ่งกรณีนี้ต้องพิพาทกับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ โดยตรง อาตมาพยายามติดต่อบอร์ดทรัพย์สินจุฬาฯ ทุกทาง เพื่อให้พวกเขาเห็นใจ จนอาตมาไปพบว่าบอร์ดคนหนึ่ง สมัยเป็นนิสิตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไปช่วยเรียกร้องให้ชาวบ้านตลาดสามย่านที่ถูกรังแกจากการไล่ที่จากทางมหาวิทยาลัย แต่เมื่ออาตมาติดต่อไปเขาก็ไม่ได้สนใจไยดีอะไร ทุกวันนี้จุดยืนของเขาอยู่กับมหาวิทยาลัยไปแล้ว

ต่างกับอาจารย์วัย 89 ปี ยังไปที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง บอกกับผู้ดูแลศาล ขอให้ยืนหยัดต่อไป เมื่อ 40 ปีหรือ 50 ปีที่แล้ว ขณะที่บอร์ดจุฬาฯ คนนี้ยังเป็นนิสิตหรือนักเรียนไฟแรงอยู่ อาจารย์สุลักษณ์ซึ่งก็อยู่ในวัยสี่สิบห้าสิบ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว แต่จุดยืนของอาจารย์ก็ยังคงเหมือนเดิมมาตลอด การเห็นอกเห็นใจคนเล็กคนน้อย underdog คนที่ถูกเอาเปรียบ ความที่อาจารย์เป็นแบบนี้จึงทำให้อาจารย์ไม่เรียกว่าเป็น establishment ได้เต็มปาก อุดหนุนคนหนุ่มสาว ความคิดนอกกระแสอยู่เนืองๆ ใครจะไปคิดเห็นภาพอาจารย์สุลักษณ์ไปร่วมเดินขบวนกับไผ่ ดาวดิน ดังนั้น ชีวิตของปัญญาชน ซึ่งอาจจัดพวกนักเคลื่อนไหว รวมถึงคนแสวงหาความหมายชีวิตอื่นๆ อยู่ในนี้ด้วย ก็เกี่ยวข้องกับอาจารย์

โดยคนที่อาจารย์อุดหนุนนอกจากเป็นเลิศแล้ว จำนวนมากที่มาหาอาจารย์ก็เพราะพวกเขาผิดหวังกับสังคม ของความไร้น้ำใจและถูกกลั่นแกล้ง พวกปัญญาชนที่มีสถานะมั่นคงไปแล้ว อาจไม่ได้ให้คุณค่ากับอาจารย์มากนัก แต่คนรุ่นใหม่ยังคงเข้าหาอาจารย์ ไม่ใช่ในฐานะเชื่อสิ่งที่อาจารย์บอกแต่ต้องการแรงสนับสนุนจากอาจารย์ ชีวิตของอาจารย์เลยเป็นตัวแทนให้เห็นถึงความพยายามของปัญญาชนไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ของคนที่ถูกรังแก ซึ่งเต็มไปด้วยขวากหนามนั่นเอง

 

ที่มา : Sulak Sivaruksa
ที่มา : Sulak Sivaruksa

 

บางทีอาตมาก็คิดสงสัยเหมือนกันว่า อะไรกันที่หล่อหลอมให้อาจารย์สุลักษณ์เติบโตมาจนเป็นแบบนี้ได้ ในทางพุทธศาสนาทุกอย่างมีเหตุปัจจัย และหลายเหตุปัจจัยอาตมาก็ไม่รู้ แต่เท่าที่สังเกตและอาจจะเป็นประโยชน์กับทุกคนได้ก็คือ

1. อาจารย์มีกัลยาณมิตร คำนี้อาจารย์สุลักษณ์พูดบ่อย โดยเฉพาะเวลาพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ บางทีลูกศิษย์ก็อาจจะหมั่นไส้ เพราะอาจารย์พูดคำว่ากัลยาณมิตรมาก แต่ถ้าใครไปเผลอเป็นกัลยาณมิตรแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว อาจจะมองหน้ากันไม่ติด พระไพศาลเคยบอกว่า “คนนอกวิจารณ์ได้ ลูกศิษย์วิจารณ์ อาจารย์โกรธเลย” แต่กัลยาณมิตรก็มีความหมายกับอาจารย์จริงๆ ชีวิตของอาจารย์งอกงามได้เพราะอาจารย์มีกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรต้องเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนก็ได้ จะเป็นผู้ล่วงลับไป จะเป็นหนังสือก็ได้ ดังนั้นอาจารย์ได้อย่าง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  สมเด็จกรมพระยานริศฯ ที่อาจารย์ติดตามงานหนังสือ ‘สาส์นสมเด็จ’ ของท่าน ในครอบครัว พ่อของอาจารย์ซึ่งเป็นคนสมัยใหม่สอนให้อาจารย์กล้าตั้งคำถามกับประเพณี พระภัทรมุนีสอนให้อาจารย์เทศน์มหาชาติ ให้คาถาตอนแสดงธรรม ให้ถือกุญแจกุฏิ ทำให้อาจารย์มีความภาคภูมิใจ และเห็นพุทธศาสนาในมุมที่คนในรุ่นอาจารย์ก็อาจจะไม่เห็นกันแล้ว หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ท้าทายอาจารย์ว่าถ้าไม่รู้จักชาวนา ก็เป็น intellectual mastarbution หรือขณะที่อาจารย์โต้เถียงกับท่านนัทฮันห์ ท่านก็เตือนอาจารย์ให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ

ดังนั้น ในแง่หนึ่ง อาจารย์โชคดีว่าเติบโตโดยมีกัลยาณมิตรเป็นพื้นฐาน มีผู้ใหญ่ที่คอยเจือจุน แม้จะไม่แน่ใจว่าอาจารย์จะเปิดรับคำแนะนำของบุคคลกว้างขวางและลึกซึ้งแค่ไหน แต่อาจารย์ก็เห็นคุณค่าของกัลยาณมิตร และพร้อมถ่ายทอดบอกต่อให้คนอื่นเห็นถึงความสำคัญขององค์ธรรมข้อนี้ โดยที่นี้ยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงป้านิลฉวี ภรรยาของอาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตรสำคัญในชีวิตของอาจารย์ก็ยังได้ เรากล่าวถึงกัลยาณมิตรเชิงบุคคลไปแล้ว ก็ต้องพูดถึงกัลยาณมิตรที่เป็นสภาพแวดล้อมด้วย หรือกล่าวอีกอย่างคือ ไม่เพียงอาจารย์จะมีส่วนกำหนดยุคสมัย ยุคสมัยก็มีส่วนกำหนดความเป็นอาจารย์ด้วย

อาจารย์สุลักษณ์เกิดในปี 2475 เติบโตในยุคการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยของขั้วปรีดี-แปลก อาจารย์เป็นวัยรุ่นในสมัย 2490 ที่ทหารและเจ้ามีอำนาจทางการเมือง อาจารย์ไปเรียนที่อังกฤษในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองของระเบียบโลกแบบเสรีนิยม กระแสความนิยมของสังคมนิยม รวมถึงการคิดตั้งคำถามว่าสังคมยุโรปจะมุ่งหน้าอย่างไร ขณะเดียวกันก็เกิดลัทธิปลดแอกอาณานิคมในที่ต่างๆ ในช่วง 2500 - 2510 เป็นช่วงรุนแรงของสงครามเวียดนาม ทั้งอเมริกาและคอมมิวนิสต์ต่างบีฑาประเทศนั้น ปัญญาชนในโลกที่สามซึ่งสำเร็จการศึกษาในประเทศเจ้าอาณานิคม ตั้งคำถามกับแนวทางการพัฒนาต่อไปว่าควรจะเป็นอย่างไร รัฐได้เอกราชใหม่อยู่ใต้การแย่งชิงเป็นพันธมิตรของชาติมหาอำนาจ

อาจารย์สุลักษณ์ไม่ต่างกับคนในยุคนั้น ที่แม้ไม่มีเครื่องมือสื่อสารทันสมัยแบบคนยุคนี้ แต่ก็เติบโตมาด้วยความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ชี้เป็นชี้ตาย ความเป็น cosmopolitan จึงเป็นเรื่องธรรมชาติของคนรุ่นนี้เลย การกระหายอยากเรียนรู้โดยมีฉันทะว่าจะพัฒนาชาติออกมาในแนวทางอย่างไร จะเป็นไปตามอเมริกาที่เข้ามาเป็นมหาอำนาจ หรือจะไปทางโซเวียตรัสเซีย หรือจีน หรือเดินตามทางสายกลาง หรือจะหาพุทธศาสนา หรืออื่นๆ คือคำถามสำคัญ อาจารย์ซึ่งเป็นนักเรียนนอกก็ถือว่ายังมีไม่มาก อาจขาดแคลนมากกว่าล้นตลาดแบบในวันนี้ อาจารย์จึงรู้จักกับบรรดานักเรียนนอกด้วยกัน และพวกนี้จำนวนมากก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆ ของประเทศไทยในเวลาต่อมา

 

ที่มา : กวินพร เจริญศรี
ที่มา : กวินพร เจริญศรี


2. แม้จะมีกัลยาณมิตร แต่ก็ต้องคิดเองเป็น คือ อาจารย์มีโยนิโสมนสิการ หรือการคิดอย่างแยบคาย อาจารย์สุลักษณ์ได้วิธีคิดโยนิโสมนสิการผ่านฐานวัฒนธรรมที่เข้มแข็งคือ เข้าใจวัฒนธรรมไทยผ่านพุทธศาสนา ขณะเดียวกันก็เรียนในต่างประเทศซึ่งครูอาจารย์สอนให้แสวงหาความงาม ความดี และความจริง การเรียนวิชาที่เรียกว่า Liberal Arts โดยเฉพาะกรีกและละตินนั้น มุ่งแสวงหาสัจจะมากกว่าลาภยศสรรเสริญในโลก แน่นอนว่า การศึกษาของอาจารย์ไม่ได้เหมือนนักเรียนคนอื่นสักเท่าไหร่ด้วย เพราะยุคที่อาจารย์ไปเรียนนั้น มนุษยศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นคติแห่งการพัฒนาที่ชนชั้นนำไทยเวลานั้น (และเวลานี้) ต้องการสักเท่าไหร่ ในอังกฤษเอง ลัทธิประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจก็กำลังเข้ามามีอำนาจนำยิ่งขึ้นทุกที

อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า “อาจารย์รู้สึกผิดหวังกับคนรุ่นอาจารย์เอง” ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะนักเรียนนอกชาวไทย โดยเฉพาะที่มีพื้นฐานฐานะที่ดีจนถึงดีกว่าอาจารย์ กำลังเห่อค่านิยมตะวันตกโดยขาดพื้นเพวัฒนธรรมแบบที่อาจารย์มี โดยอาจารย์อาจมีอคติกับพวกที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก โดยเฉพาะคณะราษฎร และในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ผู้คนกำลังช็อกกับอารยธรรมตะวันตก ที่ได้เดินหน้าไปสู่ลัทธิอาณานิคมและเอาช์สวิทช์ (Auschwitz) จนเกิดกระแสวัฒนธรรมเชิงต่อต้าน และสนใจวัฒนธรรมเอเชีย อาจารย์ก็อาจจะได้ข้อสรุปตั้งแต่นั้นมา มีทัศนะที่จะคิดเชิงเปรียบเทียบโดยรักษารากเหง้าไว้ แต่ก็ไม่ยึดติดจนละเลยการแสวงหาความจริง หรือความหมายของชีวิต วิธีคิดของอาจารย์บางคนมองว่าเป็น moralist ที่ตัดสินว่า คนนั้นดี คนนี้เลว แต่บางทีเราก็อาจจะเห็นว่าอาจารย์ไปให้กำลังใจฝ่ายซ้าย มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ฝ่ายขวาก็แยะ ขึ้นเวทีได้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา

ก่อนหน้านี้อาตมาก็แปลกใจว่า อาจารย์มีจุดยืนยังไงกันแน่ สมัยเพิ่งรู้จักอาจารย์ใหม่ๆ เคยถามอาจารย์ อาจารย์พูดเล่นๆ ว่า อาจารย์มีสองมือ บางทีก็ใช้มือซ้าย บางทีก็ใช้มือขวา แต่อาตมาก็คงสงสัยไม่หายว่ามีคนมีวิธีคิดแบบนี้ด้วยหรือ นี่คือคนมีหลักการจริงๆ หรือไม่ จนเมื่อเร็วๆ นี้ อาตมาได้ศึกษาเรื่อง Engaged Buddhism ในหนังสือเล่มหนึ่งพูดน่าสนใจ ซึ่งเขาพูดว่าพวกชาวพุทธเพื่อสังคมที่อาจารย์อยู่ในขบวนการด้วย มีความเข้าใจเรื่องทุกข์และสัมมาทิฏฐิแตกต่างกับชาวพุทธอื่นๆ ในทางพุทธศาสนาแบบเถรวาททั่วไปนั้น สัมมาทิฏฐิมีสองระดับคือ แบบโลกียะคือเชื่อเรื่องกรรม เรื่องชาตินี้ชาติหน้า และแบบโลกุตตระคือการได้เข้าถึงสภาวธรรม แต่สัมมาทิฏฐิของชาวพุทธเพื่อสังคม ซึ่งได้อิทธิพลจากท่านนัทฮันห์ ไม่ได้เห็นว่าความเห็นที่ถูกต้องหมายความว่าเราต้องยึดกับทัศนะใดทัศนะหนึ่งว่าถูกต้อง ตัวท่านนัทฮันห์เผชิญการถูกเล่นงานจากทั้งคอมมิวนิสต์และฝ่ายเสรีในเวียดนาม เห็นความพินาศของการยึดในทัศนะว่าถูกต้อง จนบดบังความทุกข์ของผู้คนและเกิดโศกนาฏกรรม

 

ที่มา : Sulak Sivaruksa
ที่มา : Sulak Sivaruksa

 

ดังนั้นศีลข้อแรกซึ่งเป็นเสมือนสัมมาทิฏฐิของชาวพุทธเพื่อสังคมที่ท่านนัทฮันห์ให้ไว้ อาจารย์สุลักษณ์แปลออกมาว่า “อย่าเคารพนับถือเชื่อฟังหรือยึดติดอยู่กับคำสั่งสอนใดๆ ทฤษฎีใดๆ หรืออุดมการณ์ใดๆ แม้จนสิ่งซึ่งอ้างว่าเป็นพุทธ ควรตรึกตรองอยู่อย่างแยบคายก่อนว่า นั่นเป็นระบบพุทธหรือไม่ กล่าวคือช่วยแนะแนวทางให้เราได้เป็นไทหรือไม่ อย่ายึดเอาว่านั่นเป็นปรมัตถสัจจ์อย่างง่ายๆ” (พิธีกรรมสำหรับพุทธศาสนิกร่วมสมัย, น. 36)

ชาวพุทธเพื่อสังคมยังมีมุมมองต่อความทุกข์ในอริยสัจ ที่ไม่ได้หมายถึงความทุกข์เกิดในใจของตนเท่านั้น แต่สภาพสังคม โครงสร้างสังคมก็มีส่วนผลิตซ้ำความรุนแรงในสังคมด้วย โดยเฉพาะซ้ำเติมต่อคนที่ถูกเอาเปรียบทางสังคม การดับทุกข์เชิงสังคมจึงจำเป็น และในแง่ความเป็นศีลที่สัมพันธ์มนุษย์ก็ต้องแก้ไขทุกข์นี้ ดังนั้นในศีลอีกข้อหนึ่งที่นัทฮันห์รจนา จึงกล่าวด้วยว่า “เธอไม่ควรหลบหนีจากการสัมพันธ์กับความทุกข์หรือทำเป็นเมินเฉย อย่าได้หลงลืมความทุกข์ของสรรพชีวิตในโลก หาทางออกไปสู่ผู้ทุกข์ยากเหล่านั้น ไม่ว่าโดยการพบปะ เยี่ยมเยียนเป็นส่วนตัว การติดต่อทางภาพที่แลเห็นหรือเสียงที่ได้ยิน เธอควรปลุกสำนึกของตัวเองและผู้อื่นให้ตื่นขึ้น เพื่อรับรู้ต่อความทุกข์ของผู้คนในโลก”

ลักษณะวิธีคิดที่ได้อิทธิพลจากพุทธศาสนา (ทั้งจากเถรวาทและจากขบวนการพุทธแนวใหม่) ทำให้อาจารย์สุลักษณ์พิจารณาแบบเปรียบเทียบ ขณะเดียวกันก็ไม่ยึดมั่นในทัศนะ และลงมือปฏิบัติธรรมผ่านการลงมือกระทำการต่างๆ แก้ปัญหาทุกข์ โดยไม่ยึดว่าทัศนะนั้นจะถูกมองเป็นซ้ายหรือขวา

ที่กล่าวมานี้คือปัจจัยบางส่วน และจากปัจจัยนี้จะเห็นว่าแกนกลางของอาจารย์สุลักษณ์อยู่ที่พุทธศาสนา หากไม่ใช่พุทธศาสนาแบบโบราณ แน่นอนว่าพุทธศาสนาก่อนการรวมศูนย์อำนาจศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกมิติของสังคม ธัมมจักรกับอาณาจักรหมุนไปพร้อมกัน ขณะที่อาณาจักรต้องใช้อาชญา ธัมมจักรใช้ธรรม ธัมมจักรคอยคุมอาณาจักรให้คิดถึงความเป็นอยู่ดีมีสุขของประชาชน พระราชาในรากศัพท์ก็คือผู้ทำให้ประชาชนยินดี และเมื่อพระราชาทำหน้าที่ไม่ได้ ประชาชนก็ขอให้พระราชาออกได้ การศึกษานั้นเรียนที่วัดไม่ได้แยกขาดจากสัมพันธ์ วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและความสามัคคี ภาพแบบนี้คือสิ่งที่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งอยากให้เกิดขึ้นอีกครั้งจนเรียกว่ากลับไปอดีตได้ก็จะไป

อย่างไรก็ดี อาจารย์สุลักษณ์เข้าใจถึงมิติความซับซ้อนมากกว่านั้น อาจารย์ศึกษาชีวิตของชนชั้นนำพอที่จะเห็นถึงสังคมพระและสังคมเจ้าที่ไม่ได้สวยงาม และอาจารย์ก็เป็นคนในโลกสมัยใหม่สร้างขึ้น จนถึงถูกภัยพาลในการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก จึงเห็นการมีกติกาที่เป็นธรรม การได้รับความคุ้มครองสิทธิพลเมือง และกลไกตรวจสอบชนชั้นปกครอง และระบบยุติธรรม เป็นเรื่องจำเป็น ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นพุทธศาสนาที่ไม่ตัดขาดจากรากฐานเดิมคือพุทธศาสนาที่เป็นปัญญาให้กับชนชั้นนำและสังคมด้วย พุทธศาสนาแบบของอาจารย์จึงเป็นพุทธศาสนาแบบใหม่ที่พัฒนาพร้อมกับคำสอนของนัทฮันห์ พระผู้ผ่านประสบการณ์สงครามเวียดนามทะเลเพลิง ทะไลลามะที่ต้องหนีออกจากธิเบตมาพร้อมกับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แบบสังฆรักษิตะที่มีส่วนช่วยอัมเบดการ์ให้คนอินเดียหันมาสมาทานพุทธศาสนา พุทธศาสนาของอาจารย์สุลักษณ์เป็นพุทธศาสนาภาวนาเชิงกระทำการกับโลก เป็นเถรวาทจากรากเหง้าที่ผสมผสานความเป็นมหายาน ท้าทายอธรรมของชนชั้นปกครอง เป็นปากเสียงให้กับคนกลุ่มน้อย คนชายขอบ โดยที่เน้นฆราวาสมากขึ้น แต่ก็รักษาอุดมคติของเถรวาทที่ให้บทบาทของพระสงฆ์เป็นตัวแทนในทางศีลของสังฆะในทางอุดมคติของสังคมที่ควรจะเป็น

 

ที่มา : กวินพร เจริญศรี
ที่มา : กวินพร เจริญศรี

 

อาจารย์อาจถูกจดจำว่าเป็นนักคิด นักเคลื่อนไหว จนถึงภาพลักษณ์ของปัญญาชนฝีปากกล้า วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม หรือเป็นนักสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ แต่ใจกลางสำคัญของชีวิตอาจารย์ คือการพยายามทำหน้าที่ชาวพุทธในแบบที่อาจารย์เชื่อให้ดีที่สุด ซึ่งท่าทีนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการทำคนเดียวได้ แต่ต้องทำและเรียกร้องให้คนอื่นๆ ทำด้วย ดังที่อาจารย์มักจะมีจดหมายบอกบุญหรือโครงการต่างๆ ไปให้ลูกศิษย์ลูกหาเสมอ แม้ในวัยเกือบเก้าสิบ อาจารย์ก็เพิ่งสร้างมหาวิทยาลัยพุทธขึ้น สิ่งที่อาจารย์กำลังสื่อให้ทุกคนเห็นคือแบบอย่างของชาวพุทธไม่ควรละเลยปัญหาสังคม ชาวพุทธควรเผชิญทุกขสัจจ์ และที่เด่นของอาจารย์ในเรื่องวิจารณ์สถาบันก็กำลังบอกว่าบทบาทของชาวพุทธนั้นต้องเป็นกัลยาณมิตรให้แก่สังคม เป็นผู้สนับสนุนประชาธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

ด้วยความคิดที่ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแบบประยุกต์มากกว่าแบบคัมภีร์ด้วย ขวากหนามที่อาจารย์ต้องเจอก็ไม่น้อยหน้าปัญญาชนรุ่นใหม่หรือนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่อาจารย์ไปช่วยเลย ขณะที่พวกเขาต้องเจอปัญหาโดยละทิ้งความคาดหวังหรือหันกลับไปหาพุทธศาสนาแล้ว แต่อาจารย์ยังคงให้ความสำคัญไปที่พุทธศาสนา พุทธศาสนาเพื่อสังคมจึงเป็นที่สงสัยและเป็นปริศนาของคนรุ่นใหม่ และในบรรดาคนที่เชื่อพุทธศาสนา พุทธศาสนาเพื่อสังคมก็ยังคงเป็นกระแสส่วนน้อยที่ต้องต่อสู้แย่งชิงนิยามและที่ยืนในท่ามกลางพุทธศาสนาในไทย ที่เอนเอียงรับใช้บริโภคนิยมและทุนนิยม รวมถึงศักดินามากกว่า หรือไม่ก็ละความสนใจเชิงสังคมไปเสียสิ้น

แม้จะเน้นบทบาทฆราวาสมากขึ้น แต่ด้วยความเป็นเถรวาท เชื่อว่าลึกๆ อาจารย์ก็ให้ความสำคัญกับพระสงฆ์ พยายามขับเคลื่อนคณะสงฆ์ แต่ทุกวันนี้จะมีสักกี่คนที่ยังต้องการปรับเปลี่ยนวงการสงฆ์อีก แม้คำโตๆ เช่น เราต้องปฏิรูปสงฆ์นั้นอาจจะมีอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่มีคนมองลึกไปพ้นจากอภิสมาจารของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแค่ไหน สมัยก่อน แม้แนวคิดพุทธศาสนาเพื่อสังคมของอาจารย์สุลักษณ์จะไม่ได้เป็นกระแสหลัก แต่ก็อาจจะมีแนวร่วมอยู่มากจากชาวพุทธพวกอื่นในสังคม ส่วนหนึ่งก็มาจากความบีบคั้นของสังคมการเมือง ที่พุทธศาสนาต้องพิสูจน์ว่ามีคุณค่าและเหนือกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องดิ้นรนพิสูจน์ความไม่ด้อยกว่ามหาวิทยาลัยทางโลก เพื่อได้รับการรับรองเป็นมหาวิทยาลัย พระสงฆ์หรือปัญญาชนที่อิงพุทธศาสนา เช่น พุทธทาส สุชีพ ปุญญานุภาพ กระทั่งสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) พยายามอธิบายพุทธศาสนาในแง่มุมที่ตอบโจทย์กับสังคม สามารถเป็นโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

หากทุกวันนี้ ภัยคุกคามต่างๆ ได้หมดลงไปแล้ว คณะสงฆ์ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษามากกว่าที่แล้วมา และเทคโนโลยีพรั่งพร้อมกว่าเมื่อก่อน แนวร่วมที่เคยจินตนาการพุทธศาสนาแบบที่พัฒนาสังคมดูจะกระจัดกระจายมากกว่ารวมพลัง สิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์เคยคิดจะแปรเปลี่ยนพิธีกรรมหรือการภาวนาเพื่อมาประยุกต์ใช้ช่วยคนยากไร้นั้นห่างไกลจากงานที่คณะสงฆ์สนใจมาก ไม่ต้องพูดถึงว่าในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองหรือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีพระสงฆ์เพียงน้อยรูปเท่านั้นที่กล้าออกมาพูด แนวร่วมของอาจารย์ เช่น พระปัญญานันทะ หรือพระมหาบัว ก็กลายเป็นพระที่มีอิทธิพลโดยสยบยอมกับอำนาจรัฐไป ความคิดของอาจารย์สุลักษณ์อาจจะยังโดดเด่น แต่อิทธิพลดูจะน้อยลงไปเต็มที หากไม่นับเรื่องธรรมกายและการวิจารณ์เรื่องวินัยเล็กน้อย ที่สื่อสารมวลชนและคนทั่วไปเข้าใจง่ายกว่าและมันกว่า

ที่ฉายมานี้เน้นหนักไปพูดเรื่องความท้าทายของปัญญาชนที่เต็มไปด้วยขวากหนาม โดยไม่ได้พูดถึงความสำเร็จของอาจารย์ที่เกิดขึ้นซึ่งก็มีมากทีเดียว ตอนอาจารย์ได้รางวัลนิวาโนเพื่อสันติภาพ อาจารย์ได้แสดงสุนทรพจน์เปรียบเทียบผลงานตัวเองได้อย่างดี โดยกล่าวอุปมาว่า “เวลาต้นไม้เจริญเติบโตนั้นไม่มีเสียงดังเหมือนตอนมันโค่นล้ม” หลายอย่างที่อาจารย์ทำและสำเร็จอาจจะไม่ได้เสียงดัง หรือคนก็อาจจะลืมไปแล้วว่าเป็นงานที่อาจารย์ทำเช่น การอนุรักษ์หอไตรวัดระฆัง การผลักดันให้มีสวนจตุจักร การทำ ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ที่มีส่วนสำคัญ นำไปสู่ 14 ตุลาฯ จนกระแสความคิดทั้งหลาย และผลักดันให้พระยาอนุมานราชธน, ปรีดี พนมยงค์, กุหลาบ สายประดิษฐ์, พุทธทาส ได้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก เราอาจกล่าวได้ว่า ความโดดเด่นและความสำเร็จของอาจารย์ไม่ได้มาจากการเป็นนักปลูกต้นไม้ที่โตไปเงียบเชียบเท่านั้น แต่ความสำเร็จของอาจารย์ก็มาจากการพยายามปลูกต้นไม้แต่ก็ล้มเสียงดังปังด้วย ดังที่ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ หรือเรียกร้องต่างๆ กับผู้คน แต่เจอแรงต้านต้องตอบโต้ อุปสรรคที่อาจารย์ต้องเจอ เหมือนต้นไม้ที่โตแล้วก็ล้มมีเสียงดัง

ทว่าชีวิตอาจารย์ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ ต้นที่ล้มเสียงดังก็แสดงว่าต้นใหญ่แล้ว และมันก็ได้มีลูกพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ก็งอกงาม และแม้ต้นต่างๆ จะล้มอีก ดังที่ตอนนี้หลายๆ คนคงรู้สึกผิดหวังกับบ้านเมือง พยายามอะไรก็ดูไม่สัมฤทธิ์ผล แต่แสดงว่าความคิดนั้นโตได้เต็มที่แล้ว มันอาจจะต้านทานกระแสลมแรงยังไม่ได้และเจอพวกนักตัดไม้ แต่ต้นไม้เหล่านี้ก็แกร่งขึ้น ไม่มันก็ลูกๆ พวกมันที่ยังไงก็จะมีชีวิตยืนยาวกว่าพวกนักตัดไม้ แสดงว่าความสำเร็จก็ใกล้เข้ามาอยู่เหมือนกัน

 

ที่มา : Sulak Sivaruksa
ที่มา : Sulak Sivaruksa

 

ขอย้อนกลับมาที่พุทธศาสนสุภาษิตข้างต้น “วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา — บุรุษพึงพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์”

จริงๆ ถ้อยคำที่ยกมานั้นตัดมาจากคาถาท่อนหนึ่ง หากเราจะยกบริบททั้งหมดมาจะเห็นภาพ และก็ได้คติธรรมสำคัญชวนคิดที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น ที่มาของคาถานี้มาจากพระสูตรวิโรจนอสุรินทสูตร ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ในฉบับภาษาบาลีกล่าวถึง สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ท้าวสักกะจอมเทพกับท้าวเวโรจนะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วทั้งสองคนก็กล่าวคาถา ในฉบับภาษาบาลี เรื่องจบแค่นี้เลย แต่ถ้าไปดูในฉบับอาคมะที่อยู่ในภาษาจีนได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมน่าสนใจ กล่าวคือ ตอนแรกอสูรกล่าวก่อนว่า “บุรุษพึงพยายามเรื่อยไปจนกว่าเป้าหมายจะสำเร็จ เมื่อบรรลุธรรมะแท้จริงแล้วย่อมได้ซึ่งสันติและความสุข” ส่วนท้าวสักกะกล่าวว่า “บุรุษพึงพยายามเรื่อยไปจนกว่าเป้าหมายจะสำเร็จ การจะสำเร็จนั้น จำเป็นต้องมีความอดทน” ทั้งสองคนถามพระพุทธเจ้าว่าถ้อยคำใครดีกว่ากัน พระพุทธเจ้าบอกว่าทั้งคู่ก็พูดถูก แต่พระองค์ก็ตรัสคาถาขึ้นมา เรียกว่ารวมถ้อยคำของสองคนนี้เป็นหนึ่งคือ “สรรพสัตว์ล้วนหาประโยชน์ตน ล้วนปรารถนาสุขและสันติภาพ บุรุษพึงพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จด้วยความอดทน เมื่อนั้นปัญหาทั้งปวงย่อมหมดไป” (พระสุตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, เวโรจนอสุรินทสูตร)

พุทธภาษิตในที่นี้ การให้พึงพยายามเรื่อยไป หาใช่การพยายามแบบคติสมัยใหม่ที่เน้นทำงานหนัก แสวงหาผลกำไรสูงสุด เพิ่มโลภะ โทสะ โมหะ แต่พึงพยายามในที่นี้คือเพื่อกำจัดซึ่งทุกข์ ทุกข์ในท่าทีแบบชาวพุทธเพื่อสังคม ไม่เพียงในใจแต่โครงสร้างอยุติธรรมด้วย แต่การดำเนินการก็ต้องไม่ลืมเป้าหมายสูงสุดที่อยากให้เกิดมีคือความสุขและสันติภาพ และที่สำคัญมันใช้เวลานานบุรุษจึงต้องพยายามเรื่อยไปด้วยความอดทน ซึ่งเราจะอดทนไม่ได้เลยหากปราศจากสันติภายใน การเจริญภาวนา การมีพรหมวิหารธรรม ความเพียรในที่นี้สอดคล้องกับพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งด้วย ที่กล่าวว่า “(ที่เราตรัสรู้นี้) ได้ประจักษ์คุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ ๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ๒. ความเพียรไม่ระย่อ” ความเพียรจึงควบคู่กับความไม่สันโดษในกุศลธรรม

พระพุทธเจ้าจึงให้เราเพียรทำ ละอกุศลธรรม ทำกุศลธรรม เพื่อเป้าหมายคือสันติภาพและความสุข ทั้งภายในและภายนอก แต่ก็ไม่ง่ายเลย และก็ไม่มีคำตอบใดๆ จะให้ นอกจากจงเพียรพยายามเรื่อยไป และสิ่งสำคัญที่สุดในงานนี้ ไม่ใช่ความสำเร็จ เพราะถ้าคิดถึงความสำเร็จ บางทีเมล็ดพันธุ์นั้นก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเกิด ดังเรื่องการเลิกทาส หรือการต่อสู้ใต้อาณานิคม บางทีก็ใช้เวลาหลายชั่วอายุคน หรือที่เนลสัน เมนเดลลา ต้องติดคุกถึง 27 ปี ถ้าคิดแต่ผลจะเกิดก็คงไม่เสี่ยงแล้ว แต่ถ้าคิดถึงความไม่สันโดษในกุศลธรรม โดยมีขันติธรรมเป็นแกน อดทนทำต่อไป เรื่อยไป ผลอาจจะไม่ได้เกิดในชาตินี้ก็ได้ แต่ก็เหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆ โต มันเป็นร่มเงาให้ผู้คน และเมื่อถึงเวลาก็จากไป ทิ้งให้เมล็ดพันธุ์งอกงามต่อไป

ในโอกาส 90 ปีของอาจารย์ อาตมาขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัยให้อภิบาลอาจารย์ ขอให้อาจารย์ยังคงพากเพียรตั้งตัวอยู่บนความไม่ประมาทในการประกอบกุศลธรรม มีขันติธรรมเป็นฐานสำคัญ ผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรม ย่อมเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ขอให้อาจารย์เป็นไม้แผ่ร่มเงาแก่บรรดาลูกศิษย์ ครอบครัว และผู้ทุกข์ยากทั้งหลาย ตราบนานเท่านาน และขอให้อาจารย์พยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์สูงสุด หรือปรมัตถประโยชน์ มีใจเป็นอิสระ มีจิตหลุดพ้น ปลอดโปร่งไปจากกิเลส หรือพูดง่ายๆ ว่า นิพพาน เทอญ “วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา — บุรุษพึงพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์” เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

ที่มา : วรณัน สุทธิโอภาส
ที่มา : วรณัน สุทธิโอภาส

 

แสงสัจจา ตาสว่าง หนทางใหม่

อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ร่วมสร้างสรรค์ให้งานน่าติดตามและรอคอยกันทุกปีคือ การแสดงละครเวที โดย ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินคู่ใจเจ้าเก่า เขียนบทและกำกับการแสดง นำชาวคณะ อนัตตาเธียเตอร์ 20 ชีวิต ร่วมกันสร้าง “แสงสัจจา” ด้วยศรัทธา ออกมาเป็นละครร้องแนวขนบมีลูกคู่ร้องรับ บรรเลงสดด้วยปี่พาทย์เต็มวง ซึ่งผ่านการเตรียมงานนานกว่า 3 ปี (ต้องงดช่วงโรคระบาด โควิด-19) เป็นเรื่องราวจากอัตชีวประวัติของ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเรียนนอกวัยหนุ่มเพิ่งกลับจากอังกฤษใหม่ๆ ไฟแรง จับช่วงที่เกิดความเข้าใจผิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 กับการเขียนบทความโจมตี ปรีดี พนมยงค์ จนกระทั่งได้อ่านหนังสือ “คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต” ซึ่งจัดพิมพ์ในวาระ 80 ปี ปรีดี พนมยงค์ ที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มอบให้ จึงตาสว่างและมองเห็นหนทางใหม่ในความจริง ละครสะท้อนความกล้าหาญในการยอมรับผิดอย่างสุภาพบุรุษผ่านการกระทำของ ศิวา เมื่อพบความจริงว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ถูกต้อง และขัดกับสัจจะที่ยึดถือ จึงยอมขอขมาต่อผู้เสียหายในที่สาธารณะ อันเป็นคุณลักษณะที่ผู้เจริญแล้วพึงกระทำ

 

“ศิวา นามปากกานักเขียนหนุ่มนักเรียนนอกไฟแรงที่เจิดจรัสอยู่ในพระนคร เขาเป็นนักเขียนฝีปากกล้า ปากกาคม สามารถวิจารณ์ปัญหาต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา และเขาเชื่อว่าความจริงเท่านั้นที่จะนำแสงสว่างสู่สังคมไทย ในช่วงรอยต่อของยุคสมัย” (สุกัญญา สมไพบูลย์ ร้อง และบรรยาย)

“ปลายปากกาแหลมคมสมคำพูด คืออาวุธป้องกันประจันหน้า ล้างโมหะอคติ อวิชา ด้วยสัจจาคือหลักธรรมประจำใจ ทุกอักษรที่ส่งสารนั้นคือเสียง แกร่งกล้าเพียงพลังแสงแรงไสว ทุกความจริงต้องกระจ่าง ไม่จางใจ อำนาจร้ายย่นระย่อไม่ตอแย” (เพลงเขมรขอทาน เอ) (เกรียงไกร ฟูเกษม ร้อง)

“แต่คำพูดของคนพาลอันต่ำช้า ไร้สัจจายกมาอ้างอย่างแท้ๆ ดั่งคมมีดกรีดหูขู่รังแก ต้องโต้กลับให้ยับแย่แก่คนพาล” (เพลงเขมรขอทาน บี) เกรียงไกร ฟูเกษม ร้อง (แม้อยู่คนละทวีปยังได้ข้อมูลเท็จ ที่หลอกให้เขาเข้าใจผิดมีมากมาย)

 

หลังเขียนตอบโต้กันจนแตกหักระหว่างศิวากับอาจารย์ปรีดี ศิวาไปอังกฤษได้พบกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านให้ข้อคิดอย่างผู้ใหญ่ที่มากเมตตา ทำให้ศิวารู้คิดผิดถูก

อ.ป๋วย - “สำหรับผมถ้าคุณตอบโต้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน คุณจะได้แต้มมากกว่านะ สำหรับผมแล้วท่านอาจารย์ปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์กรณีสวรรคต ส่วนคุณจะเชื่อยังไงก็ได้มันเป็นสิทธิ์ของคุณ ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องบนโลกใบนี้หรอก เราอาจจะรู้ในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่รู้ก็ได้ ” … ร้อง — “ ใครที่เห็นเดือนเด่นเสี้ยว แค่เห็นอยู่ด้านเดียว กลางหาว อีกด้านหนึ่งมืดมิด ปิดบังเงา บิดเบือนเค้ารูปทรง ของวงจันทร์ เรื่องบางเรื่องก็รู้อยู่เพียงเสี้ยว แต่ด้านเดียว ดังที่เขาเล่าขาน เรื่องจริงมีมากมายแสนประมาณ อย่าหมายมั่นเลยว่ารู้กว่าผู้ใด แม้ความคิดความเห็น จะเป็นต่าง แต่ก็ยังเป็นเพื่อนเตือนได้ ความเห็นต่าง เรายังมี เรายังมีอีกมากมาย เรื่องทั้งมวลสมควรได้ เปิดใจฟัง”

“แสงสัจจา” มีประเด็นที่เป็นปัญหาหนัก คือการต่อสู้ทางความคิดระหว่างผู้ที่ได้รับข้อมูลเท็จ กับความจริงที่รอการค้นพบ แม้ว่าความจริงจะยืนยันตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็ตาม และระหว่างที่รอการค้นพบความทุกข์ก็รุมเร้าเผาใจผู้ใฝ่รู้ที่ต้องต่อสู้กับการพิสูจน์เช่นกัน ผู้กำกับประดิษฐได้ประดอยเขียนบทให้ค่อยๆ คลี่คลาย ด้วยการส่งใครก็ไม่รู้มาประกบคู่กับ ศิวา (เกรียงไกร ฟูเกษม) มีเฉลยตอนหลังว่าเขาชื่อ อารักษ์ (ประดิษฐ ประสาททอง) ให้ความหมายตรงตามความจริงว่าเทวดาอารักษ์ ล้อไปกับพฤติกรรมปีศาจแสนซน ที่มักวนมาป่วนกวนสติให้ศิวาตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่ควรจะทำ หลังจากเขียนโจมตี ปรีดี พนมยงค์ ให้เสียหายไปหลายบทความแล้ว อารักษ์ยื่นหนังสือเล่มสำคัญให้ ก่อนไล่ไปขอขมาท่านปรีดีที่ฝรั่งเศสเพียงลำพัง (หวังให้เรียนรู้และเติบโตได้ด้วยตัวเอง) ตามที่ศิวาตั้งใจไว้

 

ภาพ ศิวา - อารักษ์ ที่มา : Photo by Anatta Theatre
ภาพ ศิวา - อารักษ์
ที่มา : Photo by Anatta Theatre

 

บทส่งตัวละคร อารักษ์ มาแสดงเป็นจิตใต้สำนึก (Subconscious Mind)[3] ของศิวา ที่แม้เขาจะเข้าใจผิดคิดว่าท่านปรีดีคือผู้ก่อการตามข้อมูลเท็จที่ได้รับ แต่วิธีคิดอย่างแยบยลของคนปัญญาดี ก็มีอีกด้านที่ค้านเตือนอยู่ตลอดเวลา เราทุกคนต่างมีหลายด้าน และหลากหลายสายธารทางความคิด เพราะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่หลอมตัวตน ต้องตั้งสติไว้เป็นเพื่อนเพื่อเป็นคนคอยเตือนคอยค้าน เมื่อต้องต้านกับศัตรู

อารักษ์ — แสงมันแยงตาสินะ แต่ถ้านายกล้าที่จะเพ่งฝ่าแสงนั้นไปได้นะ นายอาจจะได้เจออะไรอีกหลายอย่างกลางแสงนั้นก็ได้ (อารักษ์ โผล่มาตอนสาย ใช้แสงเป็นสัญลักษณ์ที่จะผลักสาร “ตาสว่าง” นำสู่หนทางใหม่)

ศิวา — นี่นายยังไม่ไปผุดไปเกิดอีกเหรอ ฉันไม่สน ฉันไม่ว่าง ฉันจะนอน

อารักษ์ — นายนอนไม่หลับหรอก จนกว่าจะลุกไปทำอะไรบางอย่างที่ง้ายง่าย แต่นายทำย้ากยาก มาเขียนคำสารภาพขอขมาอาจารย์ปรีดีซะ เขียนด่าท่านไว้เยอะกี่ฉบับแล้วล่ะ ด่าซ้ำด่าซ้อน แล้วตอนนี้เป็นไงเจอความจริงที่มันทิ่มหูทิ่มตาตำใจเนี่ย กล้าไหมล่ะที่จะเขียนขอขมาท่านให้เป็นเรื่องเป็นราวให้โลกรู้ อ๋อฉันลืมไป คนที่ทิฐิเยอะอย่างนายไม่มีทางหรอก เฮอะฝันเกินไปรึเปล่า

อารักษ์ เล่นจิตวิทยาเหนือมานพหนุ่ม ทำให้ศิวาผวาลุกขึ้นมาเขียนทันใด เสียงในใจของสองคนประสานกัน บางช่วงฟังไม่รู้ชัดถูกจัดให้ทับซ้อน บอกความสับสนอลวนสอนตัวเอง มีมโหรีบรรเลงสลับขับกล่อมเป็นระยะในจังหวะที่ลงตัว ไล่ความมืดมัวในใจ

ศิวา — กราบเรียนท่านรัฐบุรุษอาวุโส ที่เคารพอย่างสูง กระผมต้องขอสารภาพกับท่านอย่างหน้าชื่นว่า ตัวเองได้เคยล่วงเกินท่านทั้งโดยมโนกรรม และวจีกรรม ทั้งนี้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงขออโหสิจากท่าน และถ้าหากเป็นไปได้กระผมอยากขออนุญาตไปกราบเท้าท่านเมื่อมีโอกาสอันควร

อารักษ์ — พูดแทรกประสาน / ในกรณีสวรรคตนั้นสารภาพว่า ได้เคยอคติเลวร้ายต่อท่านมาก่อน ครั้นภายหลังต่อมา ข้าพเจ้าก็ใคร่รู้ที่จะค้นหาความจริงในเรื่องนี้อยู่บ้าง ทั้งจากปากคำและเอกสารหลักฐาน ทำให้ตาสว่างมากขึ้น ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

เพลงไพเราะในแต่ละช่วงท้วงลึกให้นึกถึงความสัมพันธ์ที่อยู่บนความคิดต่าง บอกแนวทางประนีประนอมให้ยอมรับ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หนังสือ “คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘” คือบทเรียนและจุดเปลี่ยนชีวิตวัยคะนองของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มวัยเติมวุฒิภาวะ มีสถานะใหม่ในชีวิต เพื่อเตือนกัลยาณมิตรด้วยความปรารถนาดีว่า การยอมรับความผิดอย่างคนที่คิดดี มีความสัตย์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น คือการเรียนรู้ที่จะแก้ไขให้เกียรติ และปกป้องทั้งสองฝ่าย เป็นเครื่องหมายของผู้เจริญแล้ว …

“เราแลจ้องมองไกลไปข้างหลัง เพื่อแก้ไขความพลาดพลั้ง ของข้างหน้า ถ้าไม่รู้เหตุป่วยไข้ ให้เยียวยา จะรักษาโรคร้ายอย่างไรกัน เพียงยอมรับความหลัง ที่พลั้งผิด แล้วเรียนรู้อดีตที่บิดผัน เงยหน้าสู่อนาคตสดใสพลัน จงกล้าหาญยืดอกรับกับความจริง” เพลงบุเหรง — อารักษ์ ร้อง

ชีวิตของคนเรานั้นมีขั้นตอนของการเจริญเติบโตที่บอกพัฒนาการในแต่ละช่วงอย่างชัดเจน และมีจุดเปลี่ยนสำคัญช่วงหนึ่งคือ วัยห่าม (ไม่ใช่วัยรุ่นช่วง 12-25 ปี) แต่เป็นช่วง ห่าม ที่ยังไม่ สุก ซึ่งจะมีช่วงอายุอยู่ประมาณ 25-45 ปี อัตวิสัยที่แสดงถึงความ ห่าม ตามธรรมชาติของทุกคนเกิดจากความภาคภูมิใจในตัวตน หลังจากที่ผ่านการทำงานแล้วประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จึงได้รับการยอมรับเพราะบทบาทเด่นเป็น ดาวดวงใหม่ ที่แจ้งเกิดด้วยผลงานให้เป็นที่ประจักษ์น่าไว้ใจ มีแววอนาคตไกลสดใสแน่นอน เมื่อนั้น ปีศาจอหังการ จะก้าวเข้ามาสิงสู่อยู่ภายในโดยไม่รู้ตัว ทั้งดีชั่วเปื้อนปนกลายเป็นความมั่นใจล้นจนหลงผิด จิตมีอาการ OVERCONFIDENT เป็นกันแทบทุกคน อยู่ที่ใครจะสำนึกตนยอมรับดีชั่วอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม น้อมรับบทเรียนจากประสบการณ์ชีวิต ที่สอนให้คายพิษก่อนจึงจะยอมอ่อนโยนกับผู้คนและทุกสรรพสิ่ง สู่การเป็นคนจริงที่สุกด้วยวุฒิภาวะสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เหมือนรวงข้าวที่สุกแล้วจึงจะโน้มรวงลงสู่ดิน ฉันใดก็ฉันนั้น...

 

ที่มา : Bhanuwat Jittivuthikarn (ภาณุวัฒน์ จิตติวุฒิการ)
ที่มา : Bhanuwat Jittivuthikarn (ภาณุวัฒน์ จิตติวุฒิการ)

 

ก่อนงานเลี้ยงเลิกราทุกคนได้รับพรเป็นสิริมงคลดลชีวิต “ผมรู้สึกว่าคุ้มแล้วครับที่อยู่มาจนถึงอายุ 90 หลายต่อหลายเรื่องในวันนี้ให้ความรื่นเริง ให้ความสนุกสนานหลายคนทำอาหารมาด้วยตัวเอง เอาเครื่องดื่มมาให้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพื่อผมนะครับ ผมเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่รับส่วนกุศลอันนี้ ผมถือว่าท่านทั้งหลายทำงานร่วมกันเพื่อความยุติธรรมในทางสังคม เพื่ออนาคตของบ้านเมือง แม้ละครที่ท่านเพิ่งชมจบไป ละครเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นนี้ ชนชั้นปกครองเวลานี้ยังโจมตี ปรีดี พนมยงค์ ว่า 2475 เป็นการฉวยอำนาจชิงอำนาจ ผมว่าเราต้องกลับมาหาความจริง แล้วความจริงจะปรากฏ เมื่อความจริงนั้นประกอบไปด้วยความดีและความงาม

ละครแสดงออกถึงความงาม ให้เราพยายามเข้าหาความดีและความจริง ผมหวังว่าคงจะได้ถ่ายวิดีโอไว้ หวังว่าจะไปฉายให้โรงเรียนต่างๆ ได้ชม เด็กนักเรียนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่นักเรียนควรจะได้เห็นว่ามันมีอะไรแตกต่างไปจากกระแสหลักที่เขามอมเมา ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งในรอบ 90 ปีมานี้ ผมพยายามจะแสดงออกให้เห็นว่า มันมีสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่ากระแสหลัก เป็นสิ่งมีค่าที่จะได้เข้าหาความจริง และความจริงนั้นต้องประกอบไปด้วยความงาม

ผมใคร่ขอบคุณท่านทั้งหลายที่สละเวลามาร่วมงานกับเราเป็นเวลาหลายชั่วโมง หวังว่าท่านทั้งหลายคงไม่เบื่อ หวังว่าคงมีความสุขสำราญ และถ้าท่านทั้งหลายยังจำผมได้นะครับ อีก 6 ปีมาฉลองผมอายุ 96 ครบ 8 รอบนักษัตรครับ และผมเชื่อว่าคุณอานันท์ ปันยารชุน จะอยู่กับผม เพราะที่มาวันนี้มีคุณอานันท์คนเดียวที่แก่กว่าผม และมีความสามารถมากกว่าผม เป็นคนเดียวที่ผมอิจฉาครับ เมื่อถึง 96 แล้ว ผมตั้งใจจะต้องดีกว่าคุณอานันท์ให้ได้ และต่อจากนั้นอีกเพียง 4 ปี ทั้งคุณอานันท์และผมจะมีอายุครบ 100 อายุครบร้อยไม่ได้แปลกประหลาดนะครับ คุณแผน วรรณเมธี (อดีตเลขาธิการสภากาชาดไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสภากาชาดไทย และประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2466) เพิ่งอายุครบ 100 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 นี่เอง คุณแผนยังไม่หลงไม่ไหล รับใช้กระทรวงการต่างประเทศ รับใช้สภากาชาด ผมเชื่อว่าคุณอานันท์จะเข้มแข็งไม่แพ้คุณแผน ถึงคุณอานันท์จะไม่แพ้คุณแผนแต่ก็จะแพ้ ส. ศิวรักษ์นะครับ

ผมขอขอบคุณท่านทั้งหลายด้วยความเคารพ ด้วยความรัก ด้วยความปีติ ด้วยความปลาบปลื้ม ท่านทั้งหลายกลับจากนี้ไปขอให้เดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพนะครับ คนที่นุ่งโจงกระเบนผมอยากให้มาถ่ายรูปกับผมเป็นที่ระลึก เพราะว่าการนุ่งโจงกระเบนนั้น เรานุ่งมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จอมพลแปลกหาว่าเราเอามาจากเขมร ไม่ใช่ครับ บางอย่างเราเอาจากเขมร บางอย่างเขมรเอาจากเรา เป็นพื้นภูมิเดิมของเรา ถ้าเผด็จการไม่ได้บังคับให้เลิก ผมก็ยินดีที่การแต่งโจงกระเบนจะเลิก แต่นี่เผด็จการบังคับ ผมต้องขืนเผด็จการ กลับมานุ่งโจงกระเบน ผมอยากจะเรียนท่านทั้งหลายที่นุ่งโจงกระเบนกรุณาขึ้นมาถ่ายรูปกับผมเป็นที่ระลึก ขอบคุณครับ สวัสดีครับ” ทิ้งท้ายไว้ลายนักประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า แม้ว่าวันนี้ 90 ปีแล้ว.

 

ที่มา : Kiew Nongluk Sukjai
ที่มา : Kiew Nongluk Sukjai