ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปาฐกถาปลูกนิสัยให้รักรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481 ของ พุทธทาส

8
กรกฎาคม
2565

“ข้าพเจ้าใคร่ที่จะกล่าวด้วยความรู้สึกอันแท้จริงอีกอย่างหนึ่งว่า พร้อมกับที่เราชื่นชมยินดีในรัฐธรรมนูญอันเปนที่รักของเรานี้ เราควรมีความรู้สึกขอบคุณ ‘คณะราษฎร’ ผู้พลีชีพเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนได้รัฐธรรมนูญอันนี้มาสมตามความประสงค์ ด้วย.”

พุทธทาสภิกขุ

ข้อความข้างต้นนี้ท่านพุทธทาสได้แสดงปาฐกถาไว้ในนามของนักเรียน ณ โรงเรียนประชาบาล ตำบลพุมเรียง เพื่อบรรยายข้อความสำคัญในพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาบทนี้ประกอบด้วยตัวอักษรพิมพ์ดีดจำนวน 3 แผ่น ปรากฏต่อท้ายจากเอกสารจำนวน 6 แผ่นก่อนหน้าชื่อว่า “รัฐธรรมนูญของเรา.”[1] ที่มีลายมือจารึกไว้หัวมุมซ้ายบนว่า “เขียนเมื่อวันที่ ๒๗ ธัน.๘๑ ให้โรงเรียนสารภีอุทิศ.” สันนิษฐานว่าเอกสารทั้งสองชุดในหอจดหมายเหตุพุทธทาสนี้คงถูกใช้ในวาระเดียวกันเนื่องด้วยรูปแบบและเนื้อหามีความสอดคล้องกัน

 

 

ถัดจากการแสดงปาฐกถาดังกล่าว เป็นเวลาล่วงเลยว่าเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ในวัยสนธยาของพระมหาเถระท่านนี้นอกเหนือจากบันทึกในหนังสืออัตชีวประวัติที่ท่านเคยย้อนรำลึกไว้ว่า “เทศน์ครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง”[2] ยังพบว่าครั้งหนึ่งในรายการเวทีชาวบ้านก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (หรือที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ให้เลือกเรียกว่า “พฤษภาเลือด”) เมื่อ พ.ศ. 2535 ยังพบหัวข้อสนทนา “ประชาธิปไตยในสายตาพุทธทาส” ที่พระท่านให้สัมภาษณ์พิธีกร เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และผู้ร่วมวงสนทนา อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พระท่านได้แสดงทัศนะต่อหลักการประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 อันผู้เขียนเห็นว่ามีค่าสมควรแก่การถอดความแบบคำต่อคำไว้ดังต่อไปนี้[3]

 

เจิมศักดิ์ : “ท่านอาจารย์พูดถึงประโยชน์ต้องมีต่อสังคมต่อประชาชน ท่านอาจารย์มองการปฏิวัติรัฐประหารของประเทศไทยที่ผ่านมายังไงครับ?” 

พุทธทาส : “ก็แล้วแต่ ว่าทำแล้วประโยชน์อยู่กับใคร ถ้าประโยชน์อยู่กับประชาชนโดยบริสุทธิ์ก็เรียกว่าธรรมิกสังคมนิยมได้” 

ส. ศิวรักษ์ (พูดแทรก) : “มีไหมครับ มีสักครั้งไหมครับตั้งแต่ 2475 มา (หัวเราะ)”

พุทธทาส : “ไม่เคยทราบเลยนิ ไม่เคยทราบ เท่าที่เห็น ไม่เห็น” 

ส. ศิวรักษ์ : “อาจารย์ไม่เคยเห็นใช่ไหม”

พุทธทาส : “ไม่เคยเห็น”

ส. ศิวรักษ์ : “แต่อย่างน้อย 2475 ก็เป็นความปรารถนาดีไม่ใช่หรือ ที่ต้องการ อย่างน้อยให้กฎหมายเป็นใหญ่เหนือให้ทุกคนเท่าเทียมกัน”

พุทธทาส : “อ่านดูตามตัวหนังสือก็นับว่ามีเหตุผล”

ส. ศิวรักษ์ : “และผู้ที่มาปกครองบ้านเมืองเวลานั้นก็พยายามไม่ใช่หรือ ก็ยกตัวอย่างอาจารย์ปรีดี ก็พยายามมาศึกษาความรู้จากสวนโมกข์  พยายามไปฟังเวลาตอนอาจารย์ไปพูดที่พุทธธรรมสมาคม ซึ่งยังไม่เห็นว่านายกรัฐมนตรีรุ่นหลังๆ เห็นใครทำเช่นนั้น อาจารย์เห็นใช่ไหมว่าอย่างน้อยมีความปรารถนาดีในเวลานั้น”

พุทธทาส : “ถ้านักการเมืองมีเจตนาดีอย่างนั้นก็วิเศษ”

ส. ศิวรักษ์ : “แต่หลังจากนั้นอาจารย์ก็ไม่เห็นเลยใช่ไหม”

พุทธทาส : “ไม่ได้ดู”

...

พุทธทาส : “2475 ที่ว่า มันมีเหตุผล ถ้าตามที่เขาประกาศออกมามันมีเหตุผล อาตมายังได้ช่วยเอามาเทศน์ เจตนารมณ์ของประชาธิปไตย ตอนนั้นเรามีคณะธรรมทานแล้ว”

ส. ศิวรักษ์ : “อาจารย์เทศน์ว่าอย่างไร”

พุทธทาส : “ก็พูดว่ามีประโยชน์ ก็ตรงกับเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนาหรือของคณะสงฆ์ เทศน์ให้อุบาสกอุบาสิกาฟัง”

ส. ศิวรักษ์ : “แล้วเขาฟังเป็นอย่างไร ชาวบ้านรู้สึกรับได้ไหม?”

พุทธทาส : “ไม่มีใครแสดงความคิดเห็น ก็ชาวบ้านธรรมดาทั้งนั้น”

เจิมศักดิ์ : “ตอนนั้นสร้างสวนโมกข์พอดีใช่ไหม”

พุทธทาส : “สร้างแล้ว สร้างแล้ว สร้างคณะธรรมทานแล้ว มีสมาชิกเป็นหมู่ สำหรับมาฟังเป็นคราวๆ แล้ว สวนโมกข์สร้างปี พ.ศ. 2475 ปีเดียวกัน ก่อนหนึ่งเดือน เราเดือนพฤษภาฯ เข้าเดือนมิถุนาฯ”

เจิมศักดิ์ : “ถ้าอย่างนั้นอายุความตอนนี้ก็ใกล้เคียงกันมากเลย ก็คือย่างเข้าปีที่ 60 ของปีของประชาธิปไตย ท่านอาจารย์มองว่าประเทศไทยเคยมีช่วงไหนที่เป็นประชาธิปไตยไหม”

พุทธทาส : “อย่างนี้ตอบไม่ได้แน่ เพราะว่าหลายๆ ครั้ง หลายๆ คราว อาตมาไม่ได้สนใจเลย แต่เมื่อแรกมีขึ้นมาหยกๆ ก็ช่วย ช่วยสนับสนุนมา อันนี้เป็นสิ่งที่เข้ากันมากับหลักพระพุทธศาสนา”

ส. ศิวรักษ์ : “คือตอนนี้เขาก็อยากให้มีประชาธิปไตยอีก อาจารย์อยากจะช่วยอย่างไรให้มีประชาธิปไตยขึ้นมา ตามหลักพระพุทธศาสนา”

พุทธทาส : “ก็จัดให้เป็นประโยชน์เป็นของประชาชน (พูดซ้ำ)”

ส. ศิวรักษ์ : “แล้วควรจะให้ประชาชนมีส่วนแสดงความคิดความเห็นไหมครับ ในเรื่องการปกครองบ้านปกครองเมือง”

พุทธทาส : “ก็แล้วแต่วิธีไหน ต้องใช้หลายๆ วิธี ให้สวัสดิการมีแก่ประชาชน เหมือนในโลกพระศรีอริยเมตไตรย (หัวเราะ) สวัสดิการมีแก่ประชาชนมาก เหมือนในศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย ไม่มีใครขาดแคลน”

ส. ศิวรักษ์ (พูดแทรก) : “หมายความว่าอย่างน้อยปัจจัยสี่ ทุกคนจะต้องมีปัจจัยสี่ใช่ไหมครับ?”

พุทธทาส : “มีสวัสดิการใครไปเบิกได้”

ส. ศิวรักษ์ : “แต่เวลานี้มันปรากฏว่าคนเป็นโรคขาดอาหารมากขึ้นทุกที จำนวนโสเภณีมากขึ้นทุกที”

พุทธทาส : “ก็มันไม่มีนิ (พูดซ้ำ)”

ส. ศิวรักษ์ : “นั่นซิครับ ถ้าจะให้มีเช่นนี้ ผู้ที่ต้องการแสวงหาประชาธิปไตย อาจารย์ควรจะแนะนำอย่างไรบ้าง?”

พุทธทาส : “ประชาธิปไตยแห่งความไม่เห็นแก่ตัว”

ส. ศิวรักษ์ : “คือหมายความว่าทุกคนจะต้องมีดำริความไม่เห็นแก่ตัวใช่ไหมครับ?”

พุทธทาส : “มีหลักธรรมความไม่เห็นแก่ตัวเป็นรากฐาน ประชาธิปไตยมันกำกวม เห็นแก่ตัวก็ได้นิ ประชาธิปไตยมันกำกวมนิ เห็นแก่ประโยชน์ของตัวก็ได้นิ”

 

ธรรมสากัจฉาเมื่อ 30 ปีก่อนนี้นั้นได้ฉายภาพช่วงสุดท้ายชีวิตในวัย 86 ปีของสมณะเลื่องชื่อท่านนี้ก่อนที่จะละสังขารอีกเพียงปีเศษถัดมา ผู้ชมจะพบคีย์เวิร์ดอยู่ 2 คำที่น่าสนใจ คือ “ธรรมิกสังคมนิยม” และ “โลกพระศรีอริยเมตไตรย”

โดยคำแรกของท่านพุทธทาสนี้ มักจะถูกหยิบยกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์ตีความไว้มากมายในวงวิชาการ ต่อทัศนะการเมืองการปกครองที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ขณะที่คำที่สองย่อมไม่ใช่ของใหม่เพราะแสดงอุดมคติที่ให้ความคล้องจองกับย่อหน้าสุดท้ายของ “ประกาศคณะราษฎร” ที่เขียนไว้ว่า

“ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”

ด้านวัยวุฒิของท่านพุทธทาสเมื่อเทียบเคียงกับ 3 แกนนำสำคัญของคณะผู้ก่อการ 2475[4] พบว่าอ่อนกว่าพระยาพหลฯ 19 ปี หลวงพิบูลฯ 9 ปี และ หลวงประดิษฐ์ฯ 6 ปี ตามลำดับ หากนับเฉพาะระยะเวลาที่ทั้งสามท่านยังครองอำนาจทางการเมือง 15 ปีระหว่าง พ.ศ. 2475 - 2490 พุทธทาสภิกขุยังอยู่ในช่วงริเริ่มเผยแผ่ธรรมด้วยวัย 26 - 41 ปี

เมื่อไล่เรียงกาลานุกรมหลักฐานชั้นต้นที่ถูกจัดเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของท่านพุทธทาสที่ท่านแสดงไว้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่นาน จะพบเอกสารสำคัญไล่เรียงจาก “ป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหลฯ” พ.ศ. 2479[5], “รัฐธรรมนูญของเรา” พ.ศ. 2481[6], “เรื่องรัฐนิยม” พ.ศ. 2482 - 2484[7] จนถึง “บันทึกรายวัน” พ.ศ. 2485[8] ทั้งหมดทั้งมวลนี้พอจะวินิจฉัยได้ว่าในเบื้องต้นท่านพุทธทาสสนับสนุนแนวทางการปกครองระบอบใหม่อย่างแข็งขัน

ในอีกด้านหนึ่ง วิถีแห่งประชาธิปไตยเองก็เกื้อกูลต่อพระมหาหนุ่มไฟแรงจากปักษ์ใต้ ผู้ใฝ่หาโมกขธรรมและกระตือรือร้นในการเผยแผ่ธรรมะ ตามวิถีใหม่แม้จะประดับวุฒิปริยัติเพียงเปรียญธรรม 3 ประโยค ต่างจากสังคมระบอบเก่าที่ไม่เกื้อหนุนสถานะของพระหัวก้าวหน้าแนวขบถให้เป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชนได้ง่ายนัก

ด้านปรัชญาการดำเนินงานสวนโมกข์ของท่านพุทธทาส ยังนับได้ว่าประสบความสำเร็จถึงระดับที่มันสมองผู้ก่อการ 2475 อย่าง ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์ ต้องนิมนต์พระมหาหนุ่มวัย 36 ขวบ อายุพรรษา 16 ปี จากแดนใต้ผู้นี้ขึ้นมาพระนครเพื่อปรึกษาการพระศาสนา ทั้งที่ในปี พ.ศ. 2485 นั้นสวนโมกขพลารามเพิ่งก่อนตั้งได้เพียง 10 ปี เท่ากับอายุกาลของระบอบใหม่พอดิบพอดี

ในวาระอภิสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 90 ปีนี้ ผู้เขียนขออัญเชิญปาฐกถาบทสำคัญ[9] ที่ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) เคยแสดงไว้ขณะยังเป็นพระมหาหนุ่มวัย 32 ขวบปีก่อนตั้งฉายาให้กับตัวเองว่า “พุทธทาส”

เนื้อหาปาฐกถาบรรยายถึงแนวทางปลูกนิสัยประชาชนให้รักในระบอบใหม่และแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อเหล่าผู้ก่อการ “คณะราษฎร” ผู้ได้มอบประชาธิปไตยแด่ประเทศไทยที่เมื่อถึงกาลปัจจุบันนี้ได้ดำเนินล่วงเข้าสู่ปีที่ 90 พร้อมไปกันกับอายุพรรษาของสวนโมกขพลาราม

 

 

สำเนาปาฐกถา
ขยายข้อความในรัฐธรรมนูญ
เพื่อปลูกนิสสัยให้ประชาชนรักรัฐธรรมนูญ.

ข้าแต่ท่านผู้เปนประธาน และท่านที่เคารพนับถือทั้งหลาย.

ข้าพเจ้าได้รับฉันทะ เปนผู้พูดแทนในนามของนักเรียน โรงเรียนประชาบาล ตำบลพุมเรียง เพื่อบรรยายข้อความสำคัญในพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ. ข้าพเจ้ารู้สึกเปนเกียรติยศอย่างยิ่ง แต่ขอแถลงเสียก่อนว่า ข้าพเจ้าจะได้บรรยายไปตามที่ได้เห็นได้ฟังมา. ถ้ามีข้อความตอนใดบกพร่อง ขอได้กรุณาให้อภัยแก่ข้าพเจ้าผู้เยาว์วัย และอ่อนความสามารถในการนี้ด้วย. ใจความสำคัญที่ข้าพเจ้าจะบรรยายก็คือข้อที่ว่า รัฐธรรมนูญเปนมิ่งขวัญอันประเสริฐสุด ของปวงชนชาวสยามอย่างไร, หน้าที่ปวงชนชาวสยามจะพึงพลีทุกๆ อย่างเพื่อรักษาไว้ให้มั่นคงถาวรเพียงใด. ถ้าหากสำนวนโวหารไม่สละสลวยอย่างใดแล้ว พึงถือเอาแต่ใจความ.

คำว่า รัฐ แปลว่าแว่นแคว้น ได้แก่ประเทศ. คำว่า ธรรมนูญ หมายถึง กฎบัญญัติที่เปนระเบียบแห่งการปกครอง. รวมทั้งสองคำเข้าด้วยกัน ก็ได้ความว่าระเบียบสำหรับการปกครองประเทศ, และเราเรียกรัฐธรรมนูญของประเทศเราว่า พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, สำหรับปวงชนชาวสยามยึดถือเปนหลักเสมอหน้ากัน ในการบำเพ็ญหน้าที่พลเมือง เพื่อยังประเทศให้เจริญและตั้งมั่นถาวรสืบไป

สยามรัฐธรรมนูญนี้ เปนสิ่งที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงประทานให้ตามความประสงค์ของราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งปรากฏเกียรตินามอยู่ในบัดนี้ว่า “คณะราษฎร”,  เมื่อวันที่ ๒๔ ๑๐ มิถุนายน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ๗๕ อันเปนวันที่ชาวเราจะลืมเสียมิได้ เพราะเปนวันที่ปวงชนชาวสยามได้รับอิสสรภาพ และเสรีภาพอย่างสมบูรณ์. สิทธิอันเสมอภาคได้เปนของพวกเราตั้งแต่วันนั้นมา. และข้าพเจ้าใคร่ที่จะกล่าวด้วยความรู้สึกอันแท้จริงอีกอย่างหนึ่งว่า พร้อมกับที่เราชื่นชมยินดีในรัฐธรรมนูญอันเปนที่รักของเรานี้ เราควรมีความรู้สึกขอบคุณ “คณะราษฎร” ผู้พลีชีพเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนได้รัฐธรรมนูญอันนี้มาสมตามความประสงค์ ด้วย.

ก่อนหน้านี้ ประเทศสยามเราไม่มีรัฐธรรมนูญ เพราะมีการปกครองอย่าง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คือพระมหากระษัตริย์ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดของพระองค์เอง ในการทรงบัญชาการของประเทศ ทั้งนี้โดยถือกันเสียว่า ประชาชนชาวสยามยังหย่อนในการศึกษา ยังไม่มีความคิดอ่านมากพอที่จะให้มีการปกครองตนเองตามแบบแห่งประชาธิปตัย ยังไม่ควรได้รับอิสสระและสิทธิเสมอภาคเต็มที่ในการพูด ความคิดเห็น และการโฆษณาเปนต้น. ต่อมาการศึกษาได้เจริญขึ้น จนประชาชนส่วนมากสามารถเข้าใจและปฏิบัติหน้าที่ในการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ. ก็เปนการสมควรแล้วที่เราทั้งหลายควรได้รับโอกาศเพื่อใช้ความคิดความเห็น กำลังกายกำลังใจ สิทธิและหน้าที่ เพื่อความสุขของตัวเราและความรุ่งเรืองถาวรของประเทศ. แต่เราไม่อาจได้รับโอกาศอันนี้เลย ถ้าเราไม่มีรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้รัฐธรรมนูญ หรือถ้าเราจะได้โอกาศอันนั้นมาโดยพละการไม่ก่อรูปให้เปนรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้แล้ว เราต่างก็จะใช้สิทธิและหน้าที่ของตนไปคนละทางสองทาง  ในที่สุดก็แตกแยกกันคุมกันไม่ติด ไม่สามารถที่จะพร้อมเพรียงกัน ทำประเทศให้เข้มแข็งถาวร. นี่เราจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะให้สิทธิแก่เราโดยเสมอภาคกันแล้ว ยังเปนเครื่องยึดเหนี่ยวสมานพวกเราให้รวมกันเปนกลุ่มก้อนแห่งมหาภราดรภาพอันเข้มแข็ง เพื่อความตั้งมั่นของตัวเองอีกด้วย. เมื่อพูดถึงสิทธิและหน้าที่ เราเดี๋ยวนี้กับเมื่อก่อนผิดกันเปนคนละคน นี่ก็เพราะอานุภาพแห่งรัฐธรรมนูญ.

รัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่ปวงชนในการเข้าควบคุมคณะรัฐบาลที่บริหารการประเทศ, ให้สิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นที่ถูกต้องดีงาม เพื่อรัฐบาลจะได้รับเอาไปจัดการให้เปนไปตามนั้น, และให้ราษฎรเปนเจ้าของอำนาจสูงสุด แม้แต่พระมหากระษัตริย์ ก็จะทรงใช้พระราชอำนาจเฉภาะที่ได้มาจากปวงชนชาวสยามเท่านั้น, และทุกคนอยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยเสมอหน้ากัน ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมายอันศักดิสิทธินี้.

รัฐธรรมนูญให้สมรรถภาพและกำลังน้ำใจแก่ปวงชน โดยถือว่าประชาชนชาวสยามเปนกลุ่มก้อนอันเดียวกัน จะแบ่งแยกกันมิได้, ไม่ว่าผู้ใดจะมีเหล่ากำเนิดเชื้อชาติภาษาใด หรือนับถือสาสนาไหน เมื่อเปนชาวสยามแล้ว ย่อมอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญโดยเสมอหน้ากัน.

รัฐธรรมนูญก่อให้เกิดหน้าที่ที่ราษฎรจะต้องปกครองตัวเอง. เมื่อราษฎรทุกๆ คนไม่อาจเข้าไปนั่งประชุมเปนสภาได้ ก็ได้ให้อำนาจที่ราษฎรส่วนหนึ่งๆ จะเลือกผู้แทนของตนส่งไปในนาม เข้าไปสู่สภาราษฎรอันเปนสภาควบคุมการบริหารประเทศ มีหน้าที่และสิทธิที่จะพูด จะถาม จะตรวจสอบแทนในนามของราษฎรทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติของตน, ตามที่ตนปราถนาและควรจะได้รับตามสิทธิอันชอบธรรม ในเมื่อความคิดหรือความปราถนาอันนั้นไม่เปนปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่ขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือสีลธรรมอันดีของประชาชน.

รัฐธรรมนูญเปนร่มไม้ใบบังอันมีเงาเย็นเยือกแก่ปวงชนชาวสยาม ปกป้องภัยอันตรายทั้งภายในและภายนอก. ที่เปนภายใน คือความร่มเย็นอันเกิดจากความเสมอภาค, ความรักใคร่กลมเกลียวเปนอันหนึ่งอันเดียวกัน  และความเปนอิสสระสดวกกายสบายใจ ด้วยอานุภาพรัฐธรรมนูญอันทรงไว้ซึ่งประสิทธิภาพที่ก่อให้ชาติประเทศเพียบพร้อมไปด้วยอำนาจทั้งสาม คืออำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจการบริหาร, และอำนาจตุลาการ. ที่เปนภายนอกคือเกี่ยวกับวิเทโศบายกับต่างประเทศนั้น รัฐธรรมนูญเปนเครื่องหมายอันแสดงให้เห็นว่า ชนชาติสยามได้ละแล้วจากความเปนป่าเถื่อน เหยียบย่างขึ้นสู่ความเปนอารยะประเทศดังเช่นที่ประเทศอื่นๆ หลายประเทศได้เปนกันมาแล้ว. อีกประการหนึ่ง อิสสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพที่เราได้รับด้วยอำนาจรัฐธรรมนูญ เปนปัจจัยอันสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดความเจริญแก่ประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและทางแสนยานุภาพ. เมื่อเปนเช่นนี้ ประเทศก็จะเข้มแข็งยิ่งขึ้นเปนเงาตามตัว จนนานาประเทศมีความสำนึกว่า สยามเปนประเทศที่เจริญแล้วเยี่ยงประเทศทั้งหลาย และไม่รังเกียจที่จะเชื่อมมิตรภาพ หรือส่งเสริมมิตรภาพที่มีอยู่แล้วให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปด้วยความสนิทใจ. จึงเปนอันกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญสยาม เปนเหมือนร่มโพธิไทรมีเงาอันเย็นสนิท เปนที่พึ่งพิงของปวงชนชาวสยามได้จริง ควรจะเทอดไว้ในฐานเปนยอดแห่งสิ่งที่ควรสักการะบูชาเช่นเดียวกับชาติ สาสนา และพระมหากระษัตริย์.

ก็แต่ว่ารัฐธรรมนูญนั้น จะเปนสิ่งที่มีชีวิตอยู่คู่ประเทศ และเปนที่พึ่งพิงแก่ชาวเราได้แท้จริงและตลอดกาลนาน ได้อย่างไรเล่า. ข้อนี้ต้องอาสัยของอย่างเดียวเท่านั้น คือ ความรักรัฐธรรมนูญ ของพวกเราทั้งหลาย. ความรักรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมหมายถึงความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ แล้วและพยายามกระทำให้ถูกต้องตามระบอบที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด ด้วยความเคารพและยอมเสียสละได้ทุกๆ ประการ. เมื่อเปนเช่นนี้ รัฐธรรมนูญก็จะมั่นคงถาวร ประดิษฐานอยู่เพื่อประโยชน์สุขสวัสดีแก่ปวงชนชาวสยาม ชั่วดินฟ้า.

ที่สุดนี้ขอให้ท่านทั้งหลายผู้รักรัฐธรรมนูญโดยนัยที่กล่าวมา จงประสพสุข, และสามารถเทอดทูนรัฐธรรมนูญได้ด้วยการยอมพลี, ทุกๆ คน. และ

ขอให้รัฐธรรมนูญสยาม จงถาวรคู่หล้าเทอญ.ฯ

 

 

 

 

 

หมายเหตุ :

  • สำเนาปาฐกถา ขยายข้อความในรัฐธรรมนูญเพื่อปลูกนิสสัยให้ประชาชนรักรัฐธรรมนูญ สะกดตามอักขรวิธีตามเอกสารชั้นต้นของพุทธทาสภิกขุ
  • รูปภาพสำเนาปาฐกถาฯ จาก เอกสารจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ
 

[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, “รัฐธรรมนูญของเรา (พ.ศ. 2481)” เทศนาเทอดระบอบใหม่ ของ พุทธทาสภิกขุ จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2022/05/1114

[2] พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม 3, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2529, (เคล็ดไทย), น. 564 - 565.

[3] พุทธทาส, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เวทีชาวบ้าน นาทีที่ 15.50 - 20.20 ประชาธิปไตยในสายตาพุทธทาส-2535 จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=9O3bqlZoUq0

[4] นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และ สุกัญญา เจริญวีรกุล, พุทธทาส กับ คณะราษฎร, ปาจารยสาร ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2564, น. 84 - 137 และในรูปแบบออนไลน์ จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/buddhadasa-bhikkhu-revoluiton-2475/

[5] ป้ายคำบาลีในคราวรับเจ้าคุณพหลฯ พระครูโสภณขอให้แต่ง, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.2/1 กล่อง 1 [323] จุดเชื่อมต่อ https://shorturl.asia/VbLxM

[6] บทความบันทึก  พ.ศ. 2473 ถึง พ.ศ. 2481 เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.1/2 กล่อง 1 [14]-[19] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/qCoa5

[7] เรื่องรัฐนิยม, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.2/1 กล่อง1 [146]-[147] จุดเชื่อมต่อ https://shorturl.asia/97S8r

[8] บันทึกรายวัน พ.ศ. 2485 เล่ม 1-2, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA4.1/1 กล่อง 1 [1]-[183] จุดเชื่อมต่อ https://shorturl.asia/bFthq และ https://shorturl.asia/ZArUf หรือ ดูเพิ่ม พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน, พิมพ์ครั้งแรก 2550 (สำนักพิมพ์มติชน).

[9] บทความบันทึก  พ.ศ. 2473 ถึง พ.ศ. 2481 เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.1/2 กล่อง 1 [20]-[22] เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/qCoa5