Focus
- แม้ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 บ่งชี้ถึงความต้องการของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการเลือกพรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิม แต่ก็ยังไม่ใช่ “เสียงสุดท้าย” ที่จะบอกว่าใครจะเป็นรัฐบาลอันเป็นหลักฐานว่าบ้านเมืองเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยและยังไม่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นปกติ เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 นอกจากเปิดช่องให้วุฒิสมาชิก (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว องค์กรอิสระหลายองค์กรที่ไม่ได้มีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชนก็ยังสามารถให้คุณให้โทษต่อสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชน เช่น การถอดถอนนายกรัฐมนตรี การยุติวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน และการยุบพรรคการเมือง เป็นต้น
- กระแสประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สี่เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องเจตจำนงของประชาชนและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของประชาธิปไตย โดยหนึ่งในหลักการสำคัญคือการปกป้องตนเองของระบอบประชาธิปไตยจากภัยคุกคามที่ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (militant democracy) เช่น การกลับไปเป็นเผด็จการ
- ศาลรัฐธรรมนูญไทยย่อมตกขบวนรถไฟแห่งคลื่นประชาธิปไตย คือ ไม่เป็นไปตามแบบแผนของคลื่นประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 4 ด้วยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสายสัมพันธ์กับประชาชน และ (หาก) ทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งประชาธิปไตย เอนเอียงเข้ากับฝ่ายผู้มีอำนาจและสร้างระบอบอำนาจนิยมแบบใหม่ขึ้นมาแทน
แม้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งจะชี้ให้เห็นความต้องการของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการเลือกพรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิม จนมีการประกาศเจตนารมณ์ตั้งรัฐบาลจำนวน 312 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 7 พรรคการเมือง
แต่ดูเหมือนว่าความกังวลใจของประชาชนยังคงคุกรุ่นอยู่ว่า ผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนเช่นนี้อาจยังไม่ใช่ “เสียงสุดท้าย” ที่จะบอกว่าใครจะเป็นรัฐบาล กรณีนี้เป็นหลักฐานว่า “บ้านเมืองเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย” และยังไม่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นปกติ
กล่าวคือรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ได้เปิดช่องให้วุฒิสมาชิก (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อกังวลว่ารัฐบาลที่ได้รับเสียงเลือกตั้งกว่า 24 ล้านเสียงนี้ กำลังเผชิญอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล
โดยนอกจากความต้องการเสียงของวุฒิสมาชิกอีก 64 คน เป็นอย่างน้อย เพื่อให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี 376 เสียงขึ้นไป จากที่ประชุมทั้งสองสภาแล้ว องค์กรอิสระหลายองค์กรที่ไม่ได้มีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชน ก็ยังสามารถให้คุณให้โทษต่อสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะเผชิญปัญหาแบบที่สังคมไทยคุ้นชินมาตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 อาทิ การถอดถอนนายกรัฐมนตรี การยุติวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน ไปจนกระทั่งการยุบพรรคการเมืองที่มีจุดยืนประชาธิปไตย เป็นต้น
ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะ “Stop Gap”
หนึ่งในองค์กรที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดองค์กรหนึ่ง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางสากล ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสามารถในการทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ “stop gap” (สิ่งที่/ของที่ใช้แทนชั่วคราว) ให้แก่การเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง แม้ในสภาวะที่ท้าทายหรือเปราะบาง[1]
การมีศาลรัฐธรรมนูญที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง ได้รับการยอมรับว่าเป็นยาแก้พิษที่สำคัญที่สุดต่อการป้องกันระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 สืบเนื่องมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 โดยกระแสธารนี้แตกต่างไปจากคลื่นลูกที่สามของระบอบประชาธิปไตย (ทศวรรษที่ 1980-1990) ที่มีการต่อสู้ปลดปล่อยประเทศจากระบอบเผด็จการในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก
ในกระแสธารนี้มีความเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะคอยทำหน้าที่เป็นป้อมปราการป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบอย่าง Samuel Issacharoff เสนอว่า ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องแสดงบทบาทเชิงรุก เหตุเพราะความเปราะบางของประชาธิปไตย ศาลสามารถวินิจฉัยเรื่องต่างๆ หรือวางตัวเป็นกลางทางการเมืองได้ ขณะเดียวกันศาลก็กลายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในหลายภูมิภาค
ในแง่นี้จึงมิใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันที่สมบูรณ์แบบเพื่อที่จะมีบทบาทปกป้องและส่งเสริมประชาธิปไตย มากเท่ากับที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมที่มีทางเลือกจำกัด
มีเพื่อปกป้องคุณค่าประชาธิปไตย
กระแสประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สี่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกนี้ เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องเจตจำนงของประชาชนและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของประชาธิปไตย มิใช่การทำลาย
หนึ่งในหลักการสำคัญที่ถูกนำมาอธิบายให้ความชอบธรรมต่อการกระทำทางการเมืองดังกล่าวคือ “militant democracy” อันมีความหมายว่าเป็นการปกป้องตนเองของระบอบประชาธิปไตยจากภัยคุกคามที่ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เพราะแม้ว่าประเทศส่วนใหญ่สามารถผ่านช่วงก่อร่างสถาปนามาได้จนมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือน มีพรรคฝ่ายค้าน ฯลฯ แต่ท้ายที่สุดก็อาจจะกลับไปเป็นเผด็จการได้
จึงส่งผลให้สังคมไปไม่พ้นช่วงหยั่งรากของระบอบประชาธิปไตยเสียที ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีรัฐประหาร มีสงครามกลางเมือง หรือมีสภาวะสุญญากาศ จึงเรียกว่า “ประชาธิปไตยที่เปราะบาง” (fragile democracy)
ด้วยความจำเป็นนี้ ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ จึงทำให้ศาลมีบทบาททั้งในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมกระบวนการการเลือกตั้งเพื่อรักษาประชาธิปไตยแบบเสรีที่อาจจะถูกคุกคามจากภัยคุกคามภายในระบบเอง
สำหรับภัยคุกคามเองนับว่ามีหลายรูปแบบ อาทิ พรรคการเมืองที่เป็นกบฏต่อประชาธิปไตย (insurrectionary parties) โดยยกตัวอย่างในแอฟริกาใต้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือกลุ่มการเมืองการเมืองอิสระ เช่น แคว้นบาสก์ ชาวเคิร์ด เป็นต้น
ในบางประเทศที่ต้องเผชิญกับการเป็นเผด็จการจำแลง วิธีการปกป้องคุณค่าประชาธิปไตยอย่างหนึ่งคือ การยุบพรรคหรือกำหนดข้อห้ามการตั้งพรรคการเมือง (ซึ่งเป็นอำนาจของศาลตามหลัก militant democracy) ด้วยการใช้วิธีทางเลือกอื่น เช่น ในอินเดียใช้วิธีการตรวจสอบการหาเสียง หรือในอิสราเอล ใช้การห้ามกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยลงสมัครรับเลือกตั้ง
โดยนอกจากการยุบพรรคการเมืองแล้ว บางประเทศอาจเลือกใช้มาตรการอื่นเพื่อกีดกันพรรคการเมืองเหล่านี้จากสนามเลือกตั้งเช่นกัน อาทิ การดำเนินคดีอาญากับแกนนำหรือผู้บริหารพรรค เนื้อหาการรณรงค์ที่ผิดกฎหมายการปฏิเสธจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง การงดเงินสนับสนุนพรรคการเมืองตามกฎหมาย หรือการไม่อนุญาตให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
แต่แม้ว่า Issacharoff จะสนับสนุนบทบาทเชิงรุกของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาประชาธิปไตย เขาก็ได้เตือนไว้ระหว่างการวิเคราะห์ของเขาว่า มันอาจจะแบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ ได้แก่ มันมีประโยชน์ในบางสถานการณ์ หรือไร้ผลในบางสถานการณ์ และอาจต่อต้านระบอบประชาธิปไตยก็ได้
ศาลรัฐธรรมนูญไทยตกขบวนรถไฟคลื่นประชาธิปไตย
ตามที่เรียนไปว่าสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างจะต้องมีความสามารถป้องกันพรมแดนที่เปราะบางได้ และเพื่อรักษาประชาธิปไตย ศาลจะต้องมีความเป็นอิสระ และการจำกัดอำนาจทางการเมือง มิได้นำไปสู่ความล่มสลายของประชาธิปไตยเสมอไป
ในปัจจุบันพบว่าหลายประเทศมีแนวโน้มการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่บทบาทดังกล่าวกลับยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญไทย เนื่องจากในกรณีของไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเอียงข้างกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม
กรณีของศาลรัฐธรรมนูญไทยถูกนำไปเปรียบเทียบกับบางประเทศ ถึงการใช้อำนาจตีความเกินขอบเขตอำนาจของตัวเอง แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสังคม เช่น กรณีศาลสูงสุดสหรัฐฯ คว่ำคำตัดสินการปกป้องสิทธิยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐ
เหตุผลที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่เป็นไปตามแบบแผนของคลื่นประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 4 นั่นคือในกลุ่มประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับประชาชน จะทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งประชาธิปไตยและเอนเอียงเข้ากับฝ่ายผู้มีอำนาจ และสร้างระบอบอำนาจนิยมแบบใหม่ขึ้นมาแทน
กรณีนี้ตรงกันข้ามกับศาลรัฐธรรมนูญในเยอรมันที่เป็นจุดตั้งต้นของหลักการปกป้องประชาธิปไตย (militant democracy) อันมีบทเรียนจากพรรคนาซีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสิ่งเตือนใจ นั่นคือการชิงปกป้องประชาธิปไตยตั้งแต่เนิ่น ๆ (pre-emptive) เพื่อรักษาคุณค่าของประชาธิปไตย ตามแนวคิดที่ว่า “ไม่มีเสรีภาพสำหรับศัตรูของเสรีภาพ”
ฉะนั้นแล้ว ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจึงเป็นไปเพื่อป้องกันคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย หรือพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยเท่านั้น
หลักการทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ การเคารพสิทธิมนุษยชนตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักความรับผิดชอบของรัฐบาล หลักความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง หลักความเป็นอิสระของตุลาการ และหลักระบบหลายพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม[2]
บรรณานุกรม :
- Samuel Issacharoff. Fragile Democracies: Contested Power in the Era of Constitutional Courts. Cambridge: Cambridge University Press, 2015.