ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

8
มิถุนายน
2566

Focus

  • คณะราษฎร ซึ่งมีสมาชิก 99 คน ประกอบด้วยสายทหารบก 32 คน สายทหารเรือ 21 คน และสายพลเรือน 46 คน ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้เป็นการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์ผู้เป็นประมุข
  • คำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรกที่อ่านโดยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ในเช้าวันนั้น ต่อหน้าแถวทหารที่มารวมตัวกัน โดยมีใจความสำคัญที่แสดงถึงปัญหาต่างๆ ในการปกครองราษฎรโดยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 อาทิ กษัตริย์ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการทุจริต การเก็บและใช้เงินภาษีจากราษฎรอย่างเป็นปัญหา ราษฎรมีความทุกข์ยากลำบากในหลายด้าน รวมถึงการไม่มีงานทำ คณะราษฎรจึงต้องการแก้ไขปัญหาทั้งหลายให้แก่ราษฎร ด้วยการจัดการปกครองใหม่ ในระบอบประชาธิปไตยที่มีสภาผู้แทนราษฎร
  • คณะราษฎรวางหลัก 6 ประการ ที่จะทำการบริหารบ้านเมือง คือ (1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง (2) จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก (3) ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกๆ คนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก (4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) (5) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น และ (6) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก จุลศักราช 1294 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลนั้น และนับเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 ในพระราชวงศ์จักรี มีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายทหารบก ทหารเรือ พลเรือน และราษฎร ซึ่งใช้นามว่า “คณะราษฎร” ได้ร่วมทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ บุคคลคณะนี้มีจำนวน 99 นาย ประกอบด้วยผู้มีรายชื่อดังต่อไปนี้[1]

 

สายทหารบก

  1. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา            (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าสายทหารบก
  2. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช                       (เทพ พันธุมเสน)
  3. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์                      (สละ เอมะศิริ)
  4. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์              (วัน ชูถิ่น)
  5. พันตรี หลวงพิบูลสงคราม                              (แปลก ขิตตะสังคะ)
  6. พันตรี หลวงสฤษฎิ์ยุทธศิลป์                          (เพียร พิริยะโยธิน)
  7. พันตรี หลวงอำนวยสงคราม                          (ถม เกษะโกมล)
  8. ร้อยเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์                      (เชย รมยะนันทน์)
  9. ร้อยเอก หลวงกาจสงคราม                            (เทียน เก่งระดมยิง)
  10. ร้อยเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต              (ค้วน จินตะคุณ)
  11. ร้อยเอก หลวงชาญสงคราม                           (พาน ชาลีจันทร์)
  12. ร้อยเอก หลวงเชวงศักดิ์สงคราม           (ช่วง ขวัญเชิด)
  13. ร้อยเอก หลวงทัศไนยนิยมศึก               (ทัศนัย มิตรภักดี)
  14. ร้อยเอก หลวงพรหมโยธี                      (มังกร ผลชีวิน)
  15. ร้อยเอก หลวงรณสิทธิพิชัย                            (เจือ กาญจนพินทุ)
  16. ร้อยเอก หลวงสวัสดิ์รณรงค์                           (สวัสดิ์ ดาระสวัสดิ์)
  17. ร้อยเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์                    (จรูญ รัตนกุล)
  18. ร้อยเอก หลวงอดุลเดชจรัส                            (บัตร พึ่งพระคุณ)
  19. ร้อยโท ขุนสุจริตรณการ                       (ผ่อง นาคะนุช)
  20. ร้อยโท ขุนจำนงภูมิเวท                        (จำนง ศิวะแพทย์)
  21. ร้อยโท ขุนนิรันดรชัย                                     (สเหวก นีลัญชัย)
  22. ร้อยโท ขุนพิพัฒน์สรการ                     (เท้ง พัฒนศิริ)
  23. ร้อยโท ขุนปลดปรปักษ์                        (ปลด ภานุสะวะ)
  24. ร้อยโท ขุนเรืองวีรยุทธิ์                                   (บุญเรือง วีระหงส์)
  25. ร้อยโท ขุนวิมลสรกิจ                                     (วิมล เก่งเรียน)
  26. ร้อยโท ขุนศรีศรากร                                      (ชลอ ศรีธนากร)
  27. ร้อยโท ไชย ประทีปะเสน
  28. ร้อยโท ทวน วิชัยขัทคะ
  29. ร้อยโท น้อม เกตุนุติ
  30. ร้อยตรี จำรูญ จิตรลักษ์
  31. ร้อยตรี สมาน เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  32. ร้อยตรี อุดม พุทธิเกษตริน

สายทหารเรือ

  1. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย                 (สินธุ์ กมลนาวิน) หัวหน้าสายทหารเรือ
  2. นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย                         (บุง ศุภชลาศัย)
  3. นายพันตรี หลวงวิจักรกลยุทธ                        (เศียร สู่ศิลป์)
  4. นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์                 (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)
  5. นายเรือเอก หลวงนาวาวิจิต                           (ผัน อำไภวัลย์)
  6. นายเรือเอก หลวงนิเทศกลกิจ                        (กลาง โรจนเสนา)
  7. นายเรือเอก หลวงสังวรยุทธกิจ                       (สังวรณ์ สุวรรณชีพ)
  8. นายเรือเอก สงบ จรูญพร
  9. นายเรือเอก ชลิต กุลกำม์ธร
  10. นายเรือเอก สงวน รุจิราภา
  11. นายเรือโท จิบ ศิริไพบูลย์
  12. นายเรือโท ทองหล่อ ขำหิรัญ
  13. นายเรือโท ทิพย์ ประสานสุข
  14. นายเรือโท ประเสริฐ สุขสมัย
  15. นายเรือโท วัน รุยาพร
  16. นายเรือโท หลี สินธุโสภณ
  17. นายเรือตรี กุหลาบ กาญจนสกุล
  18. นายเรือตรี ชั้น รัศมิทัต
  19. นายเรือตรี ทองดี ระงับภัย
  20. นายวนิช ปานะนนท์
  21. นายจำรัส สุวรรณชีพ

สายพลเรือน

  1. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม                (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าสายพลเรือน
  2. อำมาตย์ตรี หลวงศิริราชไมตรี                        (จรูญ สิงหเสนี)
  3. รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์              (ควง อภัยวงศ์)
  4. เสวกตรี หลวงนฤเบศร์มานิตย์                       (สงวน จูฑะเตมีย์)
  5. รองอำมาตย์เอก หลวงชำนาญนิติเกษตร        (อุทัย แสงมณี)
  6. รองอำมาตย์เอก หลวงอรรถสารประสิทธิ์        (ทองเย็น ห์ลีละเมียร)
  7. รองอำมาตย์เอก หลวงอรรถกิติกำจร              (กลึง พนมยงค์)
  8. รองอำมาตย์เอก หลวงสุนทรเทพหัสดิน          (สพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
  9. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์      (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์)
  10. รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม
  11. รองอำมาตย์เอก ประจวบ บุนนาค
  12. รองอำมาตย์เอก ม.ล. อุดม สนิทวงศ์
  13. นายแนบ พหลโยธิน
  14. รองอำมาตย์โท ทวี บุณยเกตุ
  15. นายร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี
  16. นายวิลาส โอสถานนท์
  17. รองอำมาตย์โท จรูญ สืบแสง
  18. นายเล้ง ศรีสมวงศ์
  19. นายดิเรก ชัยนาม
  20. นายวิเชียร สุวรรณทัต
  21. รองอำมาตย์โท ชุณห์ ปิณฑานนท์
  22. นายสวัสดิ์ โสตถิทัต
  23. นายจิตตะเสน ปัญจะ
  24. นายยงค์ เยอร์เกนส์
  25. นายเอก สุภโปฎก
  26. นายสุรินทร์ ชิโนทัย
  27. นายศิริ ชาตินันทน์
  28. นายเฉลียว ปทุมรส
  29. นายบรรจง ศรีจรูญ
  30. นายประเสริฐ ศรีจรูญ
  31. นายแช่ม มุสตาฟา
  32. นายการิม ศรีจรูญ
  33. นายสงวน ตุลารักษ์
  34. นายซิม วีระไวทยะ
  35. นายหงวน ทองประเสริฐ
  36. นายบุญล้อม พึ่งสุนทร
  37. นายเจริญ ปัณฑโร
  38. นายทองเปลว ชลภูมิ
  39. นายบุญจือ อังศุวัฒน์
  40. นายชุบ ศาลยาชีวิน
  41. นายกลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  42. นายสอน บุญจูง
  43. นายยล สมานนท์
  44. นายยิน สมานนท์
  45. นายร้อยตำรวจโท เชย กลัญชัย
  46. นายร้อยตรี เที่ยง เฉลิมศักดิ์

(รายชื่อผู้ก่อการนี้ ได้ตรวจและรับรองโดยผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เก็บอยู่ ณ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา)

 

เวลาเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรได้วางแผนและนัดหมายกันไว้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้มีกำลังทหารบก ทหารเรือ และหน่วยรถถังพร้อมด้วยอาวุธตั้งแถวเพื่อรอฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้เพราะกรมยุทธศึกษาทหารบกได้มีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยไปพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนเวลา 6 นาฬิกา เพื่อรับการฝึกยุทธวิธีแผนใหม่ ซึ่งจะอำนวยการฝึกโดยนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบก

ครั้นถึงเวลา 6 นาฬิกาตรงตามที่นัดหมาย นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้แสดงตนต่อหน้าแถวทหาร และได้อ่านประกาศคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรก ต่อหน้าแถวทหารนั้น ความในประกาศฉบับนั้นมีว่าดังนี้

 

“ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการแลกเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรมดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้เพิ่มขึ้นได้

การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้านบาท ส่วนราษฎรสิกว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงิน รัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอร์มัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎร ผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้น ไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้ว และทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยๆ ไป เงินเหลือเท่าใดก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จะต้องวางโครงการ อาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเสมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกๆ คนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอารยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”

 

เมื่อนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านแถลงการณ์จบลง ทหารทุกเหล่า ตลอดจนประชาชนที่อยู่ ณ ที่นั้น ก็เปล่งเสียงไชโยโห่ร้อง ให้การสนับสนุนคณะราษฎร ต่อจากนั้นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่างก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ตกลงนัดหมายกันไว้ อาทิเช่น ผู้ก่อการซึ่งเป็นทหารต่างก็แยกย้ายกำลังทหารในบังคับบัญชา ไปปฏิบัติงานตามคำสั่งที่ได้มีการเตรียมกันไว้ ส่วนผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนบางคน ก็นำแถลงการณ์ของคณะราษฎรนั้นแยกย้ายกันไปอ่านให้ประชาชนฟัง ณ ที่ชุมนุมชน และตามห้องประชุมของมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ ประชาชน นักศึกษา เป็นจำนวนมาก ต่างก็ได้สมัครเข้าร่วมช่วยเหลือคณะราษฎรในครั้งนี้

 

นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เชษฐบุรุษ นายกรัฐมนตรี 21 มิถุนายน 2476 - 16 ธันวาคม 2476 16 ธันวาคม 2476 - 13 กันยายน 2477 22 กันยายน 2477 - 27 กรกฎาคม 2480 9 สิงหาคม 2480 - 20 ธันวาคม 2480 21 ธันวาคม 2480 - 16 ธันวาคม 2481
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
หัวหน้าคณะราษฎร
เชษฐบุรุษ
นายกรัฐมนตรี
21 มิถุนายน 2476 - 16 ธันวาคม 2476
16 ธันวาคม 2476 - 13 กันยายน 2477
22 กันยายน 2477 - 27 กรกฎาคม 2480
9 สิงหาคม 2480 - 20 ธันวาคม 2480
21 ธันวาคม 2480 - 16 ธันวาคม 2481

 

“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” หมุดนี้เป็นจุดที่หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านแถลงการณ์ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งฝังอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเบื้องซ้ายของพระรูป หน้าประตูสนามเสือป่า
“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” หมุดนี้เป็นจุดที่หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านแถลงการณ์ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งฝังอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเบื้องซ้ายของพระรูป หน้าประตูสนามเสือป่า

 

ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่บัญชาการ

เมื่อคณะราษฎรได้แยกย้ายกันไปปฏิบัติงานตามที่มอบหมายแล้ว นายพันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนาและผู้ก่อการชั้นผู้ใหญ่ ได้เข้าไป ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อดำเนินงานในขั้นต่อไป

เชิญผู้ที่เห็นสมควรมาไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

คณะราษฎรได้เชิญพระราชวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เห็นสมควรบางท่าน มาควบคุมไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระตำหนักราชฤทธิ์ และในตึกกองรักษาการณ์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร

ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร

คณะราษฎรได้ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารขึ้นรวม 3 นาย เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองประเทศซึ่งประกอบด้วย

  1. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า
  2. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
  3. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์

คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่บัญชางาน

อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับอยู่ ณ สวนไกลกังวล หัวหินคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเพื่ออัญเชิญให้เสด็จกลับสู่พระนครทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป หนังสือกราบบังคมทูลนั้น มีความดังต่อไปนี้

 

“พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน

ถ้าหากคณะราษฎรนี้ ถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่คุมไว้เป็นการตอบแทน

คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่ง ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.อ. พระยาทรงสุรเดช
พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์”

 

คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ให้ นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย นำเรือหลวงสุโขทัยไปหัวหิน เพื่อกราบบังคมทูลให้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครด้วย

ประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลอง

ในวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 16.00 นาฬิกา คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้เชิญบรรดาเสนาบดีและปลัดทูลฉลองของทุกกระทรวงมาประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการประชุมครั้งนี้ ทางฝ่ายคณะราษฎรนั้นนอกจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารทั้ง 3 ท่านแล้ว มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่วมด้วย ส่วนฝ่ายเสนาบดีและปลัดทูลฉลอง ก็มี

  1. พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย     เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
  2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ         เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
  3. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เข้าศุภโยคเกษม    เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
  4. เจ้าพระยาพิชัยญาติ                                เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
  5. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ                         เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
  6. พระยามโหสถศรีพิพัฒน์                          ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุติธรรม
  7. หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ ระพีพัฒน์                  ปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ
  8. พระยาราชนิกูล                                       ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย
  9. พระยาวิทยาปรีชามาตย์                           ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ
  10. นายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม      ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม
  11. พระยาศรีวิสารวาจา                            ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ
  12. พระยาพิพิธสมบัติ                              ปลัดทูลฉลองกระทรวงพานิชย์และคมนาคม

นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรได้กล่าวเปิดประชุม แล้วได้มอบให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม แทนคณะราษฎร

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กล่าวชี้แจงถึงความประสงค์ที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ และชี้แจงกิจการต่างๆ ที่คณะราษฎรจะดำเนินการต่อไปในระยะแรกนี้ สรุปมีใจความสำคัญๆ ดังนี้

 

  1. คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้แล้ว
  2. ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองประเทศชั่วคราว
  3. ได้เชิญอภิรัฐมนตรี พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ และข้าราชการบางท่านมาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร
  4. ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน มากรุงเทพฯ ทูลขอให้เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
  5. ได้เตรียมสร้างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไว้แล้ว จะทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นหลักการปกครองประเทศต่อไป
  6. ต่อไปจะมีสภาผู้แทนราษฎรขึ้น สมาชิกของสภา จะต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร แต่ในชั้นต้น จะตั้งจากบุคคลที่ได้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งได้รับการศึกษามีความรู้ในระบอบการปกครองนี้บ้าง และจะได้เชิญท่านผู้ใหญ่ในราชการและผู้ประกอบอาชีพอื่นที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมาร่วมเป็นสมาชิกสภาเป็นการชั่วคราว ชั่วระยะอันเร็ววัน

ขอให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลอง ไปชี้แจงต่อข้าราชการในกระทรวง ให้ปฏิบัติราชการไปตามปกติ สิ่งใดที่เป็นงานปกติ ก็ให้ปฏิบัติงานนั้นไปตามระเบียบที่เคยกระทำมา แต่ถ้าปัญหาใดเป็นปัญหานโยบาย ก็ให้ขอความเห็นชอบจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก่อน

 

ก่อนเลิกประชุม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กล่าวย้ำว่า สำหรับความสงบเรียบร้อยภายในประเทศนั้น ขอให้ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับกรุงเทพฯ นั้นให้กำชับกรมตำรวจให้กวดขันดูแลโดยเคร่งครัด ทางฝ่ายหัวเมือง ก็ให้กำชับให้รักษาความสงบอย่างเต็มที่ ส่วนด้านการต่างประเทศนั้นขอให้เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศรีบชี้แจง แก่ทูตทุกสถานทูตให้ทราบความประสงค์ของคณะราษฎรที่กระทำครั้งนี้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงกิจการภายในประเทศ คณะราษฎรจะไม่กระทำกิจการใดๆ ให้กระทบกระเทือนชีวิตและทรัพย์สินของคนบังคับต่างประเทศเป็นอันขาด สัญญาทางพระราชไมตรีมีอยู่อย่างใด คงถือตามนั้นต่อไป ทั้งขอให้ระวังการแทรกแซงของต่างประเทศด้วย

ในวันนั้นเองก็ได้มีประกาศของ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร มีความดังนี้

 

“คำประกาศ

ของผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร

ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น

ข้าพเจ้าขอให้ ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบอย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็น

(ลงพระนาม) บริพัตร

 

ต่อจากนั้นหัวหน้าคณะราษฎรก็ได้มีประกาศอีกฉบับหนึ่ง ความว่า

 

“คำประกาศ

แก่บรรดาข้าราชการ

ตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ได้ลงพระนามรับรองคณะราษฎรแล้ว ผู้รักษาพระนครจึงสั่งข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรม ให้มาปฏิบัติราชการตามเคย ผู้ใดละทิ้งหน้าที่จะต้องมีความผิด

ประกาศมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน พ. ศ. 2475

(ลงนาม) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

 

โปรดเกล้าฯ ทรงรับคำเชิญของคณะราษฎร

วันที่ 25 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ดังต่อไปนี้

 

“สวนไกลกังวล หัวหิน
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ถึง ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร

ด้วยได้ทราบความตามสำเนาหนังสือที่ส่งไปยังกระทรวงมุรธาธร คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่า ได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่ยอมรับรองรัฐบาล ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพพลภาพและไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์และความสามารถ ที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ

(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.”

 

วันที่ 25 มิถุนายน ได้รับโทรเลขนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย จากเรือหลวงสุโขทัยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พร้อมด้วยกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินจะเสด็จกลับจากหัวหินโดยทางรถไฟ ไม่มีกองทหารติดตาม” ดังนั้นหัวหน้าคณะราษฎรจึงสั่งให้กระทรวงการเจ้าหน้าที่ถวายความสะดวกทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จจากหัวหินกลับกรุงเทพโดยขบวนรถไฟพิเศษในวันที่ 25 มิถุนายน เวลา 19.45 น. เสด็จลงที่สถานีรถไฟจิตรลดา วันที่ 26 มิถุนายน เวลา 0.37 นาฬิกา แล้วเสด็จตรงไปประทับที่วังสุโขทัย ในวันที่ 26 มิถุนายน โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย เวลา 11.00 น.

 

ที่มา : ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, “ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕,” ใน รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๑๕๑๗) พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: กลุ่ม “รัฐกิจเสรี”, 2517), น. 1-14.


[1] การสะกดรายชื่อ ยึดตามต้นฉบับผู้เขียน - ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ (2517)