Focus
- การปกครองแผ่นดินในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 กระทั่งถึงรัชกาลที่ 7 มีพัฒนาการจากง่ายไปซับซ้อนมากขึ้นแต่ก็เป็นการสร้างระบบการปกครองจากรัฐบาลกลาง โดยในสมัยก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะทรงแก้ไขการปกครองแผ่นดินนั้นสยามมีการแบ่งอำนาจการปกครองภายใต้อัครมหาเสนาบดี 2 ฝ่าย/ตำแหน่ง คือ (1) สมุหนายก ดูแลด้านพลเรือน และ (2) สมุหพระกลาโหม ดูแลด้านทหารแต่ต่อมาทั้งสองฝ่ายปรับเปลี่ยนเป็น สมุหนายกบังคับการหัวเมืองภาคเหนือ สมุหพระกลาโหมบังคับหัวเมืองภาคใต้ โดยรับผิดชอบรวมกันทั้งพลเรือนและทหารและมีเสนาบดี 4 ตำแหน่งหรือจตุสดมภ์ คือ เวียง (เมือง) วัง คลัง นา แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดตั้งกระทรวงและกรมใหม่ๆ ที่จัดแบ่งหน้าที่ต่างไปจากจตุสดมภ์แบบเดิมรวมถึงโยกย้ายกรมบางแห่งไปสังกัดกระทรวงที่เหมาะสม
- สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงปรับปรุงการจัดแบ่งอำนาจบริหารในรูปกรมและกระทรวงต่อไป แต่เน้นความเป็นทบวงการเมืองอันเป็นองค์การของรัฐที่จัดแบ่งเป็นสาขาของอำนาจธุรการหรืออำนาจบริหารที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น ด้วยการจัดตั้งกรมและกระทรวงขึ้นใหม่หรือปรับปรุงกระทรวงเดิมโยกย้ายกรมจำนวนหนึ่งไปสังกัดกระทรวงที่เหมาะสมและมีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาในส่วนอำนาจบริหารบางอย่าง เช่น สภาป้องกันพระราชอาณาจักร (ร.ศ. 129) และ สภาเผยแผ่พาณิชย์ (พ.ศ. 2463)
- สมัยรัชกาลที่ 7 ทรงสืบทอดรูปแบบทบวงการเมือง ได้แก่ (ก) กระทรวง (ที่มีกรมในสังกัด อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัง กระทรวงเกษตร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ) (ข) กรมซึ่งมีฐานะเท่ากระทรวง คือ กรมราชเลขาธิการ และ (ค) ทบวงการอิสระ คือ ราชบัณฑิตยสภา และคงคณะที่ปรึกษาในส่วนอำนาจบริหารบางอย่างต่อไป
- การบริหารงานของรัฐถือว่าทบวงการเมืองเป็นนิติบุคคล โดยกิจการของกระทรวงและกรมตามหลักทบวงการเมืองย่อมมีกิจการอันเกี่ยวด้วยธุรการกลาง หรือการบัญชาการกลางไปในท้องถิ่นต่างๆ หรือตามส่วนแห่งอาณาเขตของประเทศ ตามความจำเป็นหรือประโยชน์แห่งระเบียบของกระทรวงทบวงการเมืองต่างๆ เหล่านั้น
หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์คำอธิบายกฎหมายปกครอง
เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแค่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น
“คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง
(พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513)
รัฐบาลกลาง (มัธยภาค, Centralisation)
อำนาจบริหารซึ่งรวมอยู่ในรัฐบาลกลางนี้คือ อำนาจที่จะใช้ในกิจการซึ่งพลเมืองทั่วพระราชอาณาเขตมีส่วนได้เสียเหมือนกัน อำนาจที่รวมอยู่ในรัฐบาลกลางนี้ ก็ยังมีวงกว้างอยู่นั่นเอง เหตุฉะนั้นอำนาจนี้จึงแบ่งแยกออกตามประเภทต่างๆ ของอำนาจนั้น เช่นแบ่งแยกออกเป็นกระทรวงทบวงการต่างๆ หัวหน้ากระทรวงทบวงการเหล่านี้ ต่างทำงานของตนรับผิดชอบโดยตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในประเทศสยาม มิได้มีอัครมหาเสนาบดี เป็นผู้รวบรวมเสนาบดีต่างๆ เข้าเป็นคณะรับมอบหมายอำนาจรวมกันไปเหมือนดังในประเทศอื่นๆ
การแบ่งแยกอำนาจบริหารออกตามชนิดต่างๆ ของการงานนั้นได้มีมาแต่ในสมัยโบราณแล้ว เหตุฉะนั้นการศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลง การแบ่งแยกอำนาจเช่นนี้ ตั้งแต่ในสมัยโบราณมาจนถึงสมัยปัจจุบันจึงเป็นประโยชน์ในกฎหมายปกครอง
ส่วนที่ 1
การแบ่งแยกประเภทอำนาจบริหารสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดินในรัชกาลที่ 5
ในสมัยนี้อำนาจบริหารหรืออำนาจธุรการได้แบ่งแยกมอบแก่เสนาบดี ซึ่งรวมด้วยกันมี 6 ตำแหน่ง ยกเป็นอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง
อัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ
- สมุหนายก
- สมุหพระกลาโหม
แต่เดิมดูเหมือนจะให้สมุหนายกบังคับการพลเรือนและสมุหพระกลาโหมบังคับการทหาร แต่ในสมัยต่อมาสมุหทั้ง 2 นี้มิได้บังคับทบวงการฝ่ายทหารหรือฝ่ายพลเรือนแยกกันเด็ดขาด เป็นแต่มีหน้าที่รวบรวมจำนวนคนฝ่ายพลเรือนคนหนึ่ง ฝ่ายทหารคนหนึ่ง แต่ในเวลาทำสงครามก็ใช้ทั้งทหารและพลเรือนออกรบต่อสู้ข้าศึก นอกจากนี้สมุหทั้ง 2 ยังมีอำนาจในทางชำระความเก็บภาษีอากร หน้าที่จึงก้าวก่ายกัน
มาภายหลังสมุหทั้ง 2 นี้ได้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน แต่แบ่งแยกอาณาเขตกัน สมุหนายกบังคับการหัวเมืองภาคเหนือ สมุหพระกลาโหมบังคับหัวเมืองภาคใต้ ครั้นต่อมาสมุหพระกลาโหมคนหนึ่งมีความผิดโปรดเกล้าฯ ให้เอาหัวเมือง ซึ่งสมุหพระกลาโหมเคยว่ากล่าวนั้นไปขึ้นในกรมท่าคือเสนาบดีคลัง มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ จึงคืนหัวเมืองให้สมุหพระกลาโหม คงให้กรมท่าบังคับการแต่หัวเมืองปากอ่าว หัวเมืองจึงแยกกันขึ้นอยู่ 3 กระทรวง จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดินในรัชกาลที่ 5
เหตุฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าตำแหน่งพระสมุหพระกลาโหม และสมุหนายกมีหน้าที่ทั้งการมหาดไทย ทหาร ยุติธรรม คลัง
เสนาบดี 4 ตำแหน่งหรือจตุสดมภ์ ซึ่งเรียกตามสามัญว่า เวียง (เมือง) วัง คลัง นา
- เวียง (เมือง) คือกรมเมืองหรือกรมพระนครบาล มีหน้าที่บังคับกองตระเวร อำเภอ กำนัน เขต กรุง บังคับศาลพิจารณาความฉกรรจ์มหันตโทษ บังคับการคุก (ต่อมาได้ว่าภาษีเรือ โรงร้าน ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ แต่ภายหลังการภาษีนี้ตกเป็นหน้าที่กรมอื่น)
- วัง คือกรมวังมีหน้าที่รักษาพระราชมณเฑียร และพระราชวังชั้นนอก ชั้นใน จัดการพระราชพิธีชั้นนอกชั้นใน จัดการพระราชพิธีทั้งปวง ตั้งศาลชำระความเกี่ยวด้วยจำเลยเป็นสมใน
- คลัง คือกรมท่า เดิมบังคับการเงินภายหลังมีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศ เช่นซื้อขายของแก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาค้าขาย และแต่งสำเภาไปค้าต่างประเทศ ควบคุมคนต่างด้าว จึงได้กลายไปเป็นผู้ว่าการต่างประเทศด้วย ต่อมาได้บังคับหัวเมืองภาคใต้ ซึ่งได้โอนมาจากสมุหพระกลาโหม ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ว่าแต่เพียงหัวเมืองปากอ่าว จึงมีหน้าที่หลายอย่าง คือ คลัง ต่างประเทศ ทหาร มหาดไทย ยุติธรรม
- นา คือกรมนา มีหน้าที่รักษานาหลวง เก็บหางเข้าค่านาจากราษฎร ซื้อเข้าขึ้นฉางหลวง ตั้งศาลพิจารณาความเกี่ยวกับที่นาโคกระบือให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว
ทบวงการต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับบางกรมมีงานทำน้อย บางกรมมีงานทำมากจนเกินไป ต่อมาจึงได้ตั้งกรมแยกหน้าที่ไปจากจตุสดมภ์
ในหนังสือพระราชดำรัสรัชกาลที่ 5 เล่มที่ได้เคยอ้างมาแล้วได้แยกกรมต่างๆ ออกเป็นจำพวก 4 จำพวก
จำพวกที่ 1 กรมที่มีหน้าที่พลเรือน และถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายพลเรือนโดยแท้
จำพวกที่ 2 กรมที่มีหน้าที่ฝ่ายทหาร และถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหารโดยแท้
จำพวกที่ 3 กรมที่มีหน้าที่ฝ่ายทหาร แต่ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายพลเรือน
จำพวกที่ 4 กรมที่มีหน้าที่ฝ่ายพลเรือน แต่ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหาร
กรมซึ่งมีหน้าที่ฝ่ายพลเรือน และถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายพลเรือนโดยแท้นั้น คือกรมพระสุรัสวดี กรมลูกขุน กรมธรรมการ กรมหมอ กรมพระอาลักษณ์ กรมพระคลังต่างๆ กรมภูษามาลา
ส่วนกรมที่มีหน้าที่ฝ่ายทหาร และถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหารโดยแท้นั้น คือกรมอาสา 8 เหล่า กรมพระตำรวจ กรมกองมอญ เป็นต้น
ส่วนกรมที่มีหน้าที่ฝ่ายทหาร แต่ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายพลเรือนนั้น คือกรมล้อมพระราชวัง กรมแสงปืนโรงใหญ่ กรมช้าง กรมม้า เป็นต้น
ส่วนกรมที่มีหน้าที่ฝ่ายพลเรือน แต่ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหารนั้น คือกรมช่าง 10 หมู่ เป็นต้น
ในจำพวกที่ 1 “กรมพระสุรัสวดี” เป็นพนักงานที่จะรักษาทะเบียนหางว่าว บัญชีไพร่พลทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนในกรุงและหัวเมือง เป็นบัญชีกลางที่สำหรับจะกำกับมหาดไทย กลาโหม จ่ายเลข มีศาลสำหรับพิจารณาความในคดีที่แบ่งสังกัดหมู่หมวดไพร่พล เป็นพนักงานที่สำหรับจะเก็บเงินแทนราชการซึ่งไพร่ไม่ได้ทำ เป็นพนักงานที่จะออกโฉนดบัตรหมาย ในข้าราชการทั้งปวงที่จะให้รู้ทั่วไป
“กรมลูกขุน” มีหน้าที่ชี้ขาดในคดี แต่ไม่ใช่เป็นผู้พิจารณา ให้ดูข้อความโดยละเอียดในคำอธิบายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
“กรมธรรมการ” มีหน้าที่พิจารณาพระสงฆ์ต่อพระสงฆ์ หรือพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ ส่วนการศึกษาขึ้นอยู่ในกรมราชบัณฑิต
“กรมหมอ” แต่เดิมมี 2 แผนก คือหมอสำหรับว่าความ และหมอโรงพระโอสถ แต่พวกแรกนั้นเลิกเสีย เหลือแต่หมอรักษาโรค เป็นหมอสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ
“กรมพระอาลักษณ์” มีหน้าที่รักษากฎหมายฉบับหลวงหนึ่งจบ เป็นผู้จารึกสุพรรณบัตร์ หมายตั้งขุนนาง เขียนพระราชสารกับคัดเขียนหนังสือต่างๆ มีบทกลอนเป็นต้น
“กรมพระคลัง” ต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับเรียกเร่งพระราชทรัพย์ รับของส่วนบรรณาการ ภาษีอากรต่างๆ
“กรมภูษามาลา” มีหน้าที่เกี่ยวด้วยเครื่องต้น เครื่องทรงของพระเจ้าแผ่นดิน รวมทั้งกรมแสง ต่อมากรมแสงได้มีเจ้านายไปควบคุม จึงได้แยกกิจการออกจากกรมภูษามาลา
จำพวกที่ 2 กรมซึ่งมีหน้าที่ฝ่ายทหารและถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหารคือกรมอาสา 8 เหล่า อาสาใหญ่ซ้ายขวา อาสารองซ้ายขวา เขนทองซ้ายขวา ทวนทองซ้ายขวาทั้ง 8 กรมนี้เป็นทหารหน้าสำหรับรักษาพระนครและพระราชอาณาเขต นอกจากนี้ยังมีกรมทหารอื่นๆ ถ้าจะทราบโดยละเอียดให้ดูหนังสือพระราชดำรัสหน้า 46 ถึง 55
จำพวกที่ 3 กรมที่มีหน้าที่ฝ่ายทหาร แต่ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายพลเรือน เช่นกรมล้อมพระราชวังที่ไม่ได้ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหารนั้น เพราะคนพวกนี้ ไม่ต้องไปราชการทัพ คือมีหน้าที่แต่จะรักษาพระราชวังอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีกรมแสงปืนโรงใหญ่ กรมช้าง กรมม้า ถ้าจะทราบโดยละเอียดให้ดูหนังสือพระราชดำรัสหน้า 44 ถึง 46
จำพวกที่ 4 กรมซึ่งมีหน้าที่ฝ่ายพลเรือน แต่ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหารนั้น คือกรมช่างสิบหมู่ ที่ถือว่าเป็นทบวงการฝ่ายทหาร ก็คงจะเป็นด้วยช่างเกิดขึ้นในหมู่ทหารเหมือนทหารช่างเดี๋ยวนี้ แต่ภายหลังมาเมื่อทำการต่างๆ มากขึ้นจนถึงเป็นการละเอียด เช่น เขียน ปั้น แกะ สลัก ก็เลยติดอยู่ในฝ่ายทหาร ให้ดูพระราชดำรัสหน้า 55 ถึง 56
กรมต่างๆ ที่ได้ตั้งขึ้นใหม่นี้แม้จะเป็นกรมอิสระ ผู้บังคับบัญชากรมก็ไม่มีตำแหน่งประจำในที่ประชุมเสนาบดี หรือลูกขุน ณ ศาลา ผู้ที่มีตำแหน่งประจำในที่ประชุมเสนาบดีเช่นนี้ก็คือ อัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง และเสนาบดี 4 ตำแหน่ง รวมเป็น 6 ตำแหน่งตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
ส่วนที่ 2
การแบ่งแยกประเภทแห่งอำนาจบริหารตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ในรัชกาลที่ 5 จนสิ้นรัชกาลที่ 6
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใหม่ การแบ่งแยกอำนาจบริหารได้มีเหมือนดังที่ได้กล่าวแล้วในส่วนที่ 1 แต่การแบ่งแยกเช่นนั้นยังไม่เหมาะสมแก่กาลสมัย จึงได้ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเริ่มแต่การแยกกระทรวงพระคลังออกจากกระทรวงการต่างประเทศตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น ขอให้ดูประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี ลงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 111 ซึ่งในตอนกลางมีความว่าดังนี้
“จะกล่าวตั้งแต่เสนาบดี 6 ตำแหน่ง ที่มีอยู่แต่แรกได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมา มีอัครมหาเสนาบดี คือ (1) เสนาบดี กรมมหาดไทย ที่สมุหนายกได้บังคับบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง (2) เสนาบดีกรมพระกลาโหม ที่สมุหพระกลาโหม ได้บังคับบัญชาการหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวง แลการทหารบกทหารเรือ จตุสดมภ์ 4 คือ (1) เสนาบดีที่พระคลัง ได้บังคับบัญชาการต่างประเทศ แลกรมพระคลัง (2) เสนาบดีกรมเมือง ได้บังคับบัญชาการรักษาพระนคร แลความนครบาล (3) เสนาบดีกรมวัง ได้บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง (4) เสนาบดีกรมนาที่เกษตราธิบดี ได้บังคับบัญชาการไร่นารวมเป็น 6 ตำแหน่ง นับว่าเป็นตำแหน่งประจำในที่ประชุมเสนาบดี ฤาลูกขุน ณ ศาลา แลในที่ประชุมนี้ บางทีมีพระบรมวงษานุวงษ์บางพระองค์ แลขุนนางผู้ใหญ่บางท่าน อย่างเช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ แลเจ้าพระยาทิพากรวงษ์นั้นเป็นต้น อยู่ในที่ประชุมนี้ด้วย ครั้นต่อมาในปีกุนสัปตศกจุลศักราช 1237 (ร.ศ. 94) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกระทรวงพระคลัง ออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น แลในปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 ( ร.ศ. 102) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เติมกระทรวงโทรเลขแลไปรษณีย์ขึ้นใหม่ แลในปีกุนนพศก จุลศักราช 1249 (ร.ศ. 106) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมทหารบกทหารเรือออกจากกรมพระกลาโหม ตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น แลในรัตนโกสินทรศก 109 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการโยธาต่างๆ ที่อยู่ในกระทรวงต่างๆ มาตั้งเป็นกระทรวงโยธาธิการขึ้น แลรวมกรมโทรเลขไปรษณีย์ เข้าในกระทรวงโยธาธิการ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมธรรมการแลสังฆการีย์ที่ขึ้นอยู่ในกรมมหาดไทยมารวมกับกรมศึกษาธิการ เป็นกระทรวงหนึ่งต่างหากแล้ว บัดนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่ากระทรวงเมือง ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการเป็นกอมมิตตี บังคับการมาแต่ปีจออัฐศก จุลศักราช 1248 (ร.ศ. 105) นั้นได้จัดการแก้ไขเป็นแบบแผนขึ้นใหม่ ควรให้เลิกกอมมิตตีนั้นเสีย ให้คงเป็นเสนาบดีไปตามเดิม แลกระทรวงเกษตราธิการที่ได้บังคับการโรงภาษีสินค้าเข้าออกนั้น ให้ยกไปขึ้นกระทรวงคลัง ให้คงแต่เกษตรพานิชการ แลการเกษตรากรที่จะจัดขึ้นใหม่ต่อไป แลกระทรวงยุติธรรม ที่จะได้รวบรวมผู้พิพากษา แลตระลาการพิจารณาคดีความนั้น ก็ได้จัดการชั้นต้นพอจะให้ราชการเป็นไปได้ในแห่งเดียวแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นกระทรวงใหญ่ขึ้น แลกรมพระอาลักษณ์มีราชการหน้าที่มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นกระทรวงใหญ่ เรียกว่ากระทรวงมุรธาธร แลกระทรวงยุทธนาธิการนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่าราชการจัดลงเป็นแบบแผน แลควรให้แก้กระทรวงเป็นกรมยุทธนาธิการ บังคับบัญชากรมทหารบกทั้งปวง มีผู้บัญชาการให้มียศเสมอเสนาบดี แลให้เข้าในที่ประชุมเสนาบดีด้วย แต่การบาดหมายราชการทั้งปวงนั้น ให้กรมพระกลาโหมเป็นเจ้าหน้าที่ไปตามธรรมเนียมเดิม แลกรมทหารเรือ กรมช้าง กรมแสง ซึ่งยกไปกระทรวงยุทธนาธิการนั้น ให้ยกมาขึ้นกรมพระกลาโหม เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการมีกระทรวงใหญ่ ให้ประชุมกันปรึกษาราชการตามหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกันเป็นที่ประชุมเสนาบดี 12 ตำแหน่ง เรียกว่าเสนาบดีสภา ฤาลูกขุน ณ ศาลาอันจะมีหน้าที่รวมกันแลต่างกันโดยแผนก ซึ่งมีพระราชบัญญัติต่างหาก จะประกาศต่อไปภายหลังแล้วดังนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าให้บรรดาเสนาบดีทั้งปวงนี้ ให้มียศเสมอเหมือนกันทั้งสิ้นไม่ให้ถือว่าเป็นอัครมหาเสนาบดี ฤาเป็นจตุสดมภ์ ฤาเป็นเสนาบดีตำแหน่งใหม่ แลพนักงานหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ทั้งปวงนี้ จะได้มีพระราชบัญญัติออกต่อไปในภายหลังด้วย”
ในสมัยเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองใน ร.ศ. 111 เสนาบดีจึงรวมด้วยกันมี 12 ตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
ก) 6 ตำแหน่งเดิม
- มหาดไทย
- กลาโหม
- การต่างประเทศ
- วัง
- นครบาล
- เกษตร
ข) 6 ตำแหน่งใหม่
- คลัง
- ยุติธรรม
- ยุทธนาธิการ
- ธรรมการ
- โยธาธิการ
- มุรธาธิการ หรือ มุรธาธร
ให้พึงสังเกตว่าที่จะเห็นได้จากประกาศตั้งเสนาบดี ร.ศ. 111 นี้ว่า ในครั้งนั้นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหม ยังหาได้แบ่งแยกชนิดแห่งหน้าที่จากกันไม่ คงแบ่งแยกแต่อาณาเขตแห่งการบังคับบัญชาในประเทศ
ครั้นต่อมาใน ร.ศ. 113 จึงได้มีประกาศจัดปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมและมหาดไทย คือ ให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการภายในพระราชอาณาเขต เว้นแต่ใน กรุงเทพมหานครเป็นหน้าที่กระทรวงนครบาล ส่วนกระทรวงกลาโหมเปลี่ยนมามีหน้าที่รักษาการภายในเหมือนดังแต่ก่อน ส่วนกรมยุทธนาธิการให้ขึ้นกระทรวงกลาโหม แต่ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการคงมียศเสมอเสนาบดีเป็นสมาชิกในเสนาบดีสภา
ใน ร.ศ. 115 ได้ยกเลิกกระทรวงมุรธาธรสมทบงานกระทรวงนี้เข้ากับกรมราชเลขาธิการ
ส่วนที่ 3
การแบ่งแยกประเภทแห่งอำนาจบริหารในรัชกาลที่ 6
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม การแบ่งแยกประเภทแห่งอำนาจบริหารดังต่อไปนี้
บทที่ 1
ทบวงการเมือง
- ใน ร.ศ. 129 ให้แยกกรมทหารเรือออกจากกระทรวงกลาโหม ตั้งเป็นกระทรวงทหารเรือ ส่วนกระทรวงกลาโหมคงมีหน้าที่เกี่ยวเฉพาะทหารบกและการเกณฑ์คนเข้ารับราชการทหาร
- ใน ร.ศ. 130 ได้ทรงแยกราชการกรมพระอาลักษณ์ออกจากกรมราชเลขาธิการตั้งขึ้นเป็นกระทรวง เรียกว่ากระทรวงมุรธาธร มีหน้าที่เกี่ยวแก่การรักษาทะเบียนฐานันดรศักดิ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ รักษาทะเบียนดวงตรา
- ในปี ร.ศ. 130 นี้ยังได้ทรงจัดราชการกระทรวงโยธาธิการใหม่ คือยกกรมคลองจากกระทรวงเกษตรมาขึ้นอยู่ในกระทรวงโยธา ให้ยกเลิกกรมโยธาในกระทรวงโยธา แยกแผนกการช่างก่อสร้างส่วนหนึ่งมาขึ้นกระทรวงนครบาล ให้กระทรวงโยธามีหน้าที่เกี่ยวแก่การสื่อสาร การคมนาคม คือ การรถไฟ ไปรษณีย์ โทรเลข ทาง และเปลี่ยนนามกระทรวงโยธาธิการว่า “กระทรวงคมนาคม”
- ใน พ.ศ. 2462 ได้แยกกรมธรรมการมาขึ้นในพระราชสำนักเปลี่ยนนามกระทรวงธรรมการเดิมว่า กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่เกี่ยวแก่การศึกษา
- ใน พ.ศ. 2463 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ ยกกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ในกระทรวงพระคลังขึ้นสู่ฐานะกระทรวง อยู่ในบังคับบัญชาสภาเผยแผ่พาณิชย์ให้มีหน้าที่เกื้อหนุนการพาณิชย์
ใน พ.ศ. 2464 ได้มีประกาศเพิ่มเดิมว่าด้วยสภาเผยแผ่พาณิชย์หรือกระทรวงพาณิชย์แบ่งกิจการออกเป็นสองส่วน
ก. คิดและปรึกษาการตกเป็นหน้าที่ของสภาเผยแผ่พาณิชย์
ข. กระทำการ คือ ปฏิบัติการตามที่คิดและปรึกษาการตกเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์
- ใน พ.ศ. 2465 ได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนราชการในกระทรวงนครบาลมารวมในกระทรวงมหาดไทย เว้นแต่กรมราชทัณฑ์ให้โอนมาขึ้นกระทรวงยุติธรรม และให้โอนกรมอัยการในกระทรวงยุติธรรมไปขึ้นกระทรวงมหาดไทย
บทที่ 2
คณะที่ปรึกษาในส่วนอำนาจบริหารบางอย่าง
นอกจากการแบ่งแยกประเภทแห่งอำนาจบริหารดังได้กล่าวมาแล้ว คณะหรือสภาฝ่ายที่ทรงปรึกษาก็คงมีเสนาบดีสภา ซึ่งสืบเนื่องมาแต่ในครั้งก่อนๆ อันเป็นสภาที่ปรึกษาในส่วนอำนาจบริหารโดยทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังได้ทรงสถาปนาคณะที่ปรึกษาในส่วนอำนาจบริหารบางอย่าง (ซึ่งเราไม่จัดเข้าอยู่ในสภาการแผ่นดิน) คือ
- สภาป้องกันพระราชอาณาจักรซึ่งได้ทรงตั้งขึ้นใน ร.ศ. 129 เมื่อคราวแยกกรมทหารเรือออกจากกระทรวงกลาโหมตั้งเป็นกระทรวงทหารเรือ ซึ่งจะได้ปรึกษาในการดำริจัดการป้องกันพระราชอาณาจักร (ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรัชกาลปัจจุบัน)
- สภาเผยแผ่พาณิชย์ซึ่งได้ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2463 เพื่อคิดแลปรึกษาการเผยแผ่พาณิชย์
- สภากรรมการรถไฟมีหน้าที่กำกับตรวจตราการรถไฟ ( ดูพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ. 2464)
- สภาการคลังตั้งใน พ.ศ. 2465 มีหน้าที่พิจารณาปัญหาทั้งปวงในเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดิน
ส่วนที่ 4
การแบ่งแยกประเภทแห่งอำนาจบริหารในรัชกาลปัจจุบัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ในปี พ.ศ. 2468 นั้นเองได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมการแบ่งแยกประเภทแห่งอำนาจบริหารดังต่อไปนี้
บทที่ 1
ทบวงการเมือง
- ได้ประกาศเลิกกระทรวงมุรธาธร ยกการงานทั้งปวงไปรวมกับกรมราชเลขาธิการ เหมือนดังในรัชกาลที่ 5
- รวมหน้าที่ราชการกระทรวงคมนาคมและพาณิชย์ การตั้งเป็นกระทรวงคมนาคมและพาณิชย์การ ภายหลังเปลี่ยนนามเป็น “กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม”
- รวมกรมธรรมการกับกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป็นกระทรวงธรรมการตามเดิมเหมือนดังในรัชกาลที่ 5
- ใน พ.ศ. 2469 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งราชบัณฑิตยสภาตามข้อ 1 แห่งประกาศตั้งแห่งสภานี้ มีความอยู่ตอนหนึ่งว่า บรรดาการซึ่งกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครได้ทำอยู่แต่ก่อนก็ดี อำนาจหน้าที่กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร อันมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายที่ได้ตั้งไว้ก็ดี และหน้าที่ของกรมราชบัณฑิตซึ่งยังคงมีอยู่ก็ดี ให้รวมมาเป็นอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาทั้งสิ้น
อนึ่งในพระราชปรารภมีความว่า ควรจะพื้นหน้าที่กรมราชบัณฑิต ซึ่งเป็นกระทรวงราชการฝ่ายพลเรือนแต่โบราณ
เหตุฉะนั้นราชบัณฑิตยสภาจึงเป็นกระทรวงการเมือง หาใช่เป็นแต่เพียงที่ประชุมสำหรับปรึกษากิจการเท่านั้นไม่ กล่าวคือ มีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติในทางธุรการหรือในทางบริหาร แต่จะมีฐานะเป็นกระทรวงหรือไม่นั้นไม่มีตัวบทได้กล่าวถึง ส่วนสภานายกของราชบัณฑิตยสภาในทุกวันนี้ก็ได้เป็นองค์อภิรัฐมนตรี และซึ่งเข้าในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีสภาตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
- ใน พ.ศ. 2474 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมราชการกระทรวงทหารเรือเข้ากับกระทรวงกลาโหม
นอกจากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่สำคัญดังได้กล่าวมาแล้ว ยังได้มีการแก้ไขระเบียบภายในของกระทรวงต่างๆ และโอนการงานสับเปลี่ยนในระหว่างกระทรวง ทบวงการเหล่านั้น
ในปัจจุบันนี้กระทรวงทบวงการเมืองอันเป็นสาขาของอำนาจธุรการ หรือ อำนาจบริหาร ซึ่งได้แบ่งแยกออกมานั้นจึงคงเป็นดังนี้
ก. กระทรวง
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงกลาโหม
- กระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงวัง
- กระทรวงเกษตร
- กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
- กระทรวงยุติธรรม
- กระทรวงธรรมการ
- กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม
ข. กรมซึ่งมีฐานะเท่ากระทรวง คือ กรมราชเลขาธิการ (ดูประกาศเลิกกระทรวงมุรธาธร พ.ศ. 2468)
ค. ทบวงการอิสระ คือ ราชบัณฑิตยสภา
นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีกรมหรือกระทรวงการ ซึ่งขึ้นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่มีหน้าที่ส่วนพระองค์ เช่นกรมพระคลังข้างที่ กรมราชองครักษ์เป็นต้น
บทที่ 2
คณะที่ปรึกษาในส่วนอำนาจบริหารบางอย่าง
คณะที่ปรึกษาในส่วนอำนาจบริหารบางอย่างที่ได้มีมาแล้ว แต่ในรัชกาลที่ 6 ก็ได้มีอยู่ต่อมา แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบการบ้าง เช่นเปลี่ยนระเบียบสภาการคลัง ใน พ.ศ. 2468 และเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบสภาป้องกันอาณาจักร
นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสภากรรมการรักษาพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน ใน พ.ศ. 2471 มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้น (พระราชบัญญัตินี้จะได้กล่าวต่อไปในหมวดที่ 4)
ส่วนที่ 5
ระเบียบการปกครองของกระทรวงและทบวงการอิสระ
ข้อความทั่วไป
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในส่วนต่างๆ ซึ่งว่าด้วยการแบ่งแยกประเภทแห่งอำนาจบริหารออกเป็นกระทรวงและทบวงการอิสระนั้น ได้เกิดมีขึ้นโดยจารีต ประเพณี หรือโดยบทกฎหมายซึ่งอาจรวมเรียกได้ว่า มีขึ้นโดยกฎหมาย (คำว่ากฎหมายในที่นี้ให้เทียบดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4)
แต่ระเบียบของกระทรวงทบวงการ จะพึงเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่นั้นควรดูคำอธิบายของกรมหลวงราชบุรี ในหนังสือว่าด้วยพระราชบัญญัติในปัจจุบัน เล่ม 1 ในคำซึ่งว่าด้วยกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีความอยู่ตอนหนึ่งว่า
“ตามธรรมดาเสนาบดีส่วนธุรการมีอำนาจที่จะเป็นเจ้าพนักงานเป็นหมู่เป็นกรมได้ต่างๆ รับผิดชอบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ถึงหมู่กรมในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจะได้เป็นไปเหมือนในพระราชบัญญัติก็ดี บางทีเสนาบดีชั้นหลังจะได้จัดแบ่งแปลงไปแล้วบ้าง ซึ่งมหาชนหาทราบได้ไม่ จึงเป็นการยากที่จะทราบว่า ทุกวันนี้พระราชบัญญัตินั้นๆ จะตรงกับความจริงอย่างไร เพียงไร ทั้งนี้ก็ไม่เป็นการสำคัญ เพราะโอกาสที่พระราชบัญญัติเหล่านี้จะเป็นข้อโต้เถียงกันในโรงศาลนั้นน้อยนักน้อยหนา ตามธรรมดาก็คงจะว่ากันในสภาที่ว่าราชการแผ่นดินทั้งสิ้น”
แต่ในทุกวันนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72-73 ได้สมมุติให้ทบวงการเมืองเป็นนิติบุคคล
ตามธรรมดากระทรวงและทบวงการก็ย่อมแยกประเภทแห่งการงานของตนออกเป็นหลายสาขา เรียกว่ากรมบ้าง กองหรือแผนกบ้าง สาขาเหล่านี้จะพึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่นั้นนอกจากปัญหาที่จะทุ่มเถียงกันในเรื่องคำว่าทบวงการเมือง และกรมในรัฐบาลตามมาตรา 73 แล้ว ก็ยังจะต้องพิจารณาในเบื้องต้นเสียก่อนว่า กรมหรือสาขาของทบวงการเมืองมีระเบียบถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ ได้ตั้งขึ้นหรือได้เริ่มสภาพนิติบุคคลโดยถูกต้องหรือไม่ เหตุฉะนั้นการศึกษาถึงระเบียบแห่งการปกครองของกระทรวงและทบวงการอิสระจึงควรอาศัยหลักกฎหมาย
บรรดากระทรวงและทบวงการตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมวางระเบียบที่คล้ายกัน คือได้จัดแบ่งแยกชนิดแห่งการงานของกระทรวงทบวงการเหล่านั้นออกเป็นสาขาต่างๆ เช่นแบ่งออกเป็นกรม และในกรมหนึ่งแยกออกเป็นกรมย่อย หรือแยกออกเป็นกองเป็นแผนก และมีหัวหน้าเป็นผู้บังคับบัญชาสาขาแห่งกิจการซึ่งได้แบ่งแยกออกมานั้น
อีกประการหนึ่งกิจการของกระทรวงทบวงการย่อมมีกิจการอันเกี่ยวด้วยธุรการกลาง หรือการบัญชาการกลางอย่างหนึ่ง ซึ่งบังคับบัญชากิจการของกระทรวงทบวงการนั้นๆ และยังมีการปฏิบัติตามคำบังคับบัญชากลางไปในท้องถิ่นต่างๆ หรือตามส่วนแห่งอาณาเขตของประเทศ ซึ่งได้แบ่งแยกออกไป ในการนี้ก็ได้มีสำนักงานหรือผู้แทนของกระทรวงทบวงการเหล่านั้นไปประจำอยู่ แต่ทั้งนี้อาจมีข้อที่แตกต่างกัน กล่าวคือ บางกระทรวงทบวงการได้มีผู้แทนอยู่ในทุกส่วนแห่งอาณาเขตของประเทศที่ได้แบ่งแยกออกไปนั้น แต่บางกระทรวงทบวงการก็ไม่มีสำนักหรือผู้แทนไปประจำอยู่ในทุกส่วนแห่งอาณาเขต ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความจำเป็นหรือประโยชน์แห่งระเบียบของกระทรวงทบวงการต่างๆ นั้น
รายการพิสดารแห่งการแยกสาขาต่างๆ ของกระทรวงนั้น จะงดไว้ไม่กล่าวเพราะคงทราบได้จากหนังสือที่เกี่ยวกับระเบียบ หรือทำเนียบกระทรวงทบวงการต่างๆ อยู่แล้ว
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “รัฐบาลกลาง (มัธยภาค Centralisation),” ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พระนคร: สำนักงานทนายพิมลธรรม, ม.ป.ป.) น. 89-106.
หมายเหตุ :
- ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
- ปรับอักขรวิธี (โดยส่วนใหญ่) เป็นปัจจุบัน