ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์ แนะให้ศึกษาการอภิวัฒน์ 2475 จากเอกสารแท้จริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่อิงประวัติศาสตร์

23
มิถุนายน
2566

 

การเปลี่ยนระบบสังคมในประเทศไทย คือการเปลี่ยนจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้น ก็ไม่ควรที่จะใช้วิธีเสกสรรปั้นแต่งเรื่องเล่าให้เด็กๆ ฟัง หรือใช้วิธีอิงประวัติศาสตร์ เพราะว่าอย่างที่ท่านประธานก็ได้กล่าวมาแล้ว ว่าสังคมของมนุษย์รวมทั้งสังคมของในยุคนั้น จะคงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยสัจจะ

ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมถึงสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือในการทำอภิวัฒน์ 24 มิถุนายนนั้น ต่างกันกับการไปทัศนาจรหรือว่าไปแสดงภาพยนตร์ ซึ่งจะได้เตรียมกล้องถ่ายรูปหรือสมัยนี้ก็เตรียมการเซตไว้ แล้วก็แอ็กท่ากันต่างๆ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าการยึดอำนาจนั้น เราต้องทำเป็นความลับ การเตรียมก็เป็นความลับ ก่อนจะเข้าทำการกระทำก็ต้องเป็นความลับ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้เตรียมตัวมา ที่ว่าเราทำอย่างนี้เพื่ออวดใคร ผมก็ขอให้ท่านเห็นในเจตนาบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นก็หลักฐานเอกสารก็ถือเป็นความลับ เอกสารเราก็ไม่ทำให้มีขึ้น เพราะเราก็รู้ไม่ได้ว่าการที่เราได้เตรียมชีวิตทำนั้น จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ การกระทำเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่จะไปหาหลักฐานเหมือนดั่งที่ในยามปกติที่เขาไปทัศนาจร หรือไปแสดงภาพยนตร์ หรือไปแสดงกีฬานั้น นั่นมันคนละอย่าง

ที่นี้ตอนเมื่อทำสำเร็จแล้ว เมื่อข่าวได้ปรากฏขึ้นแล้วในวันที่ 24 เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ บางฉบับก็ไม่ใช่ทั้งหมด ที่เขาหูไวตาไว ก็มาถ่ายภาพกันบ้าง และนอกจากนั้นเมื่อเปิดเผย เรามีเอกสารเปิดเผย เมื่อเราได้ประกาศว่าได้ยึดอำนาจการปกครองแล้ว ก็มีเอกสารที่เราได้โต้ตอบหรือได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า และท่านก็ทรงตอบมาเป็นโทรเลขบ้าง บันทึกผ่านพระราชเลขาบ้าง หรือว่าได้นัดประชุม เสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ถ้าอย่างนี้แล้วเอกสารก็มี แล้วกลายเป็นเอกสารทางราชการไป สิ่งเหล่านี้ก็มีเก็บไว้ในทางราชการ แต่อีกส่วนหนึ่งฝากทางราชการไว้ก็สูญหายไป แล้วก็ทางคณะราษฎรก็ได้รวบรวมหลักฐานที่ได้จารึกเป็น authentic document ที่แท้จริง ก็ได้ฝากไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ นี่เพราะเหตุว่า แต่ละคนรักษาไว้ไม่ดี นอกจากนั้นก็มีอยู่ที่คณะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็มี ข้างนอกเขาก็โยกย้ายไป ก็หาลำบาก เมื่อผมได้จากประเทศจีนมาอยู่ในฝรั่งเศสนี้ ในปี ค.ศ. 1970 ก็ปรารถนาที่จะได้เอกสารที่ฝากหอสมุดแห่งชาติไว้เพื่อจะได้มาเรียบเรียง ไม่ใช่ชนิดบอกเล่า ชนิดที่เป็นเอกสารแท้จริงเกี่ยวกับคณะราษฎรและเกี่ยวกับเหตุการณ์ 24 มิถุนายน

ผมได้ให้ตัวแทนไปขอคัดทางหอสมุดแห่งชาติ ก็ได้รับคำตอบว่า เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจสมัยนั้น เขายืมเอาไปและก็ยังไม่ได้คืน ถ้าจะอย่างนี้แล้วผมก็ตกใจ ผมก็ได้ไปเสาะแสวงหา ส่วนสำหรับของผมนั้นก็ทราบอยู่แล้ว ผมต้องโยกย้ายที่อยู่หลายแห่ง  ระหว่างทางที่ผมย้ายไปบ้าง มันก็สูญหายบ้าง ผมและภรรยาผมก็ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยตลอดไป มันสูญหายไปเสียเป็นอันมาก

แต่ข้อที่เป็นเอกสารแท้จริง ไว้ใจเอกสารที่ทำขึ้นให้เหมือนกับว่าจะเป็นแท้จริง แต่ที่แท้มันไม่ใช่แท้จริงก็มีเหมือนกัน อย่างเช่นผมจะยกตัวอย่าง คือว่า หลายท่านก็คงจะได้เห็นภาพสำเนาจารึกเอกสารที่พระปกเกล้าท่านสละราชสมบัติ ที่ท่านได้รับสั่งว่า

 

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละราชอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

 

แล้วก็มีลายพระหัตถ์ลงพระปรมาภิไธย ประชาธิปก ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

อันนี้ผมก็เคยเห็นเมื่อมาที่นี่ ก็เห็นว่าไม่ใช่ลายนี้ ลายก่อน ผมก็เห็นแปลกอยู่ ที่แปลกนั้นก็คืออย่างนี้ พระปกเกล้าท่านสละราชสมบัติที่ประเทศอังกฤษ การสละราชสมบัตินั้นท่านจะทำช้าๆ คือส่งมาทางเมล์ทางเรือ แต่ว่าข่าวก็รั่วแล้ว เพราะการสละราชสมบัติจะต้องมีประกาศในหลวงองค์ใหม่ขึ้นแทนที่ รู้ว่าจะใช้เมล์อากาศ ก็เมล์อากาศมันไม่ใช่อย่างนี้ เพราะเครื่องบินเดินแต่เวลากลางวัน ขอให้ทราบ ถ้าปี 75 76 77 นี่ ที่มาเดินตอนกลางคืนนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็ต่อมาอีก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองแท้ๆ ก็ไม่ใช่เดินกลางคืน ยิ่งครั้งนั้นถ้าต้องเมล์แล้ว ก็ต้องใช้เวลา ถ้าเฉพาะเวลาเครื่องบินนี่ ก็ตั้ง 4 คืน ปรากฏว่าปลายทางจากนี่ ก็ไปที่เอเธนส์ จากโน่นก็ไปกาลาจี แล้วก็ต้องไปกัลกัตตา กัลกัตตาบางทีก็พ่วงถึงกรุงเทพฯ ได้ บางทีก็ต้องไปลงร่างกุ้งก่อน เพราะฉะนั้นทำไม่ได้ หลักฐานมันไม่มี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศผู้แทน ท่านก็ได้ส่งโทรเลข โทรเลขนั้นเป็นภาษาอังกฤษ มีไหมอยู่ฝรั่งเศสเอาทูตที่สถานทูต ไปรษณีย์มารับ เขียนเป็นคำไทยเป็นคำสุดท้าย ขอกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ไปรษณีย์รับไม่ได้ ใช่ไหม ออฟฟิศโทรเลข ก็ต้องรับเป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นคำแปล

 

“เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ถึงนายกรัฐมนตรี ส่งจากลอนดอนวันที่ 5 เดือนที่ 12 และ 77 เวลา 05.18 น. ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 5 12 77 เวลา 19.00 น.”

 

การสละราชย์ของท่านนี้ ทำเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ทางรัฐบาลก็ได้มอบให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งต่อมาท่านเป็นกรมหมื่นนราธิปฯ ท่านเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ท่านก็เป็นผู้แปล เพราะท่านก็เป็นผู้ชำนาญ มีความรู้ทั้งภาษา ทั้งคุณวุฒิ แล้วท่านก็เป็นพระบรมวงศ์ ส่วนผมเวลานั้น ผมอยู่ตึกกระทรวงมหาดไทย ผมไม่ใช่เป็นผู้แปลอันนี้ และนี่ก็แสดงให้เห็นต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ แต่ว่าทางรัฐบาลก็ต้องรีบแปลเป็นภาษาไทย ไม่ใช่เขียน ถูกแล้วคือว่า ประชาธิปก ป.ร. ท่านก็เซ็นไว้หลายแห่ง เราไปพบที่ไหนก็ได้ แล้วก็อัด แล้วก็ใส่

ถ้าหากว่าเป็นผู้ซึ่งได้รู้ระเบียบราชการ ก็จะเห็นว่าเมื่อเซ็นประชาธิปก ป.ร. แล้ว ท่านไม่ใช้คำว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหรอก ข้างท้าย ต่างด้วยทุกวันนี้ ทุกวันนี้มันเป็นระเบียบราชการใหม่

ในสมัยหลังๆ ตอนนั้น ท่านเจ้าคุณพหลฯ ท่านยังอยู่ แล้วก็พระองค์วรรณฯ กรมหมื่นนราธิปฯ เวลานั้น ท่านยังเป็นหม่อมเจ้าวรรณฯอยู่ ก็ออกระเบียบจดหมายราชการใหม่ คืออย่างเก่าเขาไม่เป็นเช่นนี้ จึงมีว่าเซ็นชื่อ แล้ววงเล็บชื่อจริงข้างใต้

แต่สำหรับโดยตัวพระองค์ท่านเซ็นข้างท้ายด้วยเรื่องอะไร คือเมื่อท่านเซ็นแล้วราษฎรทุกคนต้องรู้ ท่านจะไปต่อท้ายว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ๆ เขาได้ลงนี่ แต่ว่าเขาก็ตั้งใจดี ผมไม่ได้ว่าตั้งใจไม่ดี พวกงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย… แล้วที่เขาได้มาจากนี่ ก็ไม่ใช่เพราะเขาสร้างขึ้นเอง ขอให้เข้าใจนะ คือว่าพวกที่เป็นฝ่ายปรปักษ์ต่อคณะราษฎรก็ได้ทำเอกสารอันนี้ แล้วก็ได้ลงข้อความที่พระปกเกล้าท่านสละราชสมบัตินั้นไม่เต็ม ก็เอาแต่ตอนนี้มาเท่านั้นเอง

ผมถึงบอกว่า ถ้าหากว่าสมาคมจะค้นต่อไปในวันข้างหน้า การหาเอกสารอะไรก็ดี … แต่ว่าต้องขอให้เป็นเอกสารที่เรียกว่า … document authentique หรือ authentic document นั้น อันนี้ไม่ใช่ นี่ที่พิสูจน์กันได้ อย่างที่ผมได้กล่าวมาแล้ว

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ใน ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส.

หมายเหตุ :

  • (…) หมายถึง ข้อความที่ไม่สามารถถอดความได้