ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พึ่ง ศรีจันทร์ : ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นแบบอย่างในระบอบรัฐสภาไทย

4
กรกฎาคม
2566

Focus

  • ระบอบประชาธิปไตยที่มีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในรัฐสภาจะพัฒนาไปได้ดีเพียงใด ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นกลาง อันถือเป็นมารยาทสำคัญที่พึงปฏิบัติในการประชุมสมาชิก แต่กระนั้น เรื่องเช่นนี้ก็ขึ้นอยู่กับสมรรถนะและลูกเล่นเฉพาะตัวบุคคลของผู้เป็นประธานสภาฯ ที่จะสามารถทำหน้าที่ให้เป็นดังที่คาดหวังได้ดีเพียงใด และจะส่งผลต่อการรังสรรค์ให้รัฐสภาเป็นสถานที่อันน่าเลื่อมใสศรัทธาได้อย่างไร 
  • ในบรรดาประธานสภาผู้แทนราษฎรหลายคนของรัฐสภาไทย นายพึ่ง ศรีจันทร์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัย พ.ศ. 2490 นับเป็นบุคคลในแบบอย่างของการวางตัวให้สมาชิกทุกพรรคเคารพยำเกรงในการทำหน้าที่ โดยแม้ว่าจะสังกัดพรรคสหชีพที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในขณะดำรงตำแหน่ง แต่ก็ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและเสมอต้นเสมอปลายในขณะประชุม แต่เมื่ออยู่นอกภารกิจการประชุมก็จะวางตนเป็นมิตรกับสมาชิกคนอื่นๆ อย่างไม่ถือตัว 
  • ในคราวการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นวันที่ตรงกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย แต่นายพึ่ง ศรีจันทร์ ก็ยังคงทำหน้าที่เปิดประชุมและเป็นประธานการประชุมสภาฯ อย่างปกติ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร เพราะถือว่าการรัฐประหารคือการกบฏและผิดกฎหมาย แต่ในที่สุดเขาก็ต้องยุติการประชุม เพราะพลโทหลวงกาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหารได้เชิญตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร “เถรตรงใจเด็ด” ผู้นี้ ไปคุมตัวไว้ที่กระทรวงกลาโหม และในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาโดยไม่สามารถตั้งข้อหาความผิดใดๆกับเขาได้

 

PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

“ทหารเก่า” กล่าวถึงประธานสภาฯ พึ่ง ศรีจันทร์ ไว้ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในฉบับที่ 19 ปีที่ 35 มีความตอน หนึ่งว่าดังนี้

“...ว่ากันถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยเรานั้น เท่าที่ผมได้เคยรู้จักมาตั้งแต่ต้น ผมเห็นว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนมีบทบาทในการปฏิบัติงานในด้านแตกต่างกัน

ทั้งนี้เพราะการประชุมสภาแต่ละครั้ง มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นเนืองๆ ในสมัยก่อนนั้นปัญหาในสภาผู้แทนราษฎรมักจะมีปัญหาระหว่างสมาชิกด้วยกัน และหรือปัญหาสมาชิกกับรัฐบาล คือรัฐมนตรี ซึ่งปัญหานั้นเป็นปัญหาที่ขัดแย้งกันต้องโต้เถียงกัน และประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหน้าที่ควบคุม ก็ใช้วิธีการของท่านระงับยับยั้งข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งนั้นได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าทั้งสมาชิกสภาและรัฐมนตรีเชื่อฟังประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยดี เพราะทั้งรัฐมนตรีและ ส.ส. นั้นต่างก็เคารพประธานสภากันทุกๆ คน

ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่ละสมัยแต่ละคนนั้น ท่านมีลูกเล่นในการควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่เหมือนกัน เท่าที่ผมจำได้ สมัยที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ท่านเคยเป็นอยู่หลายสมัย ถ้าหากเกิดปัญหาใน สภาฯ ขณะประชุมกันอยู่ โดยมีลางว่าการประชุมจะอลเวง ท่านเจ้าพระยาศรีฯ ก็มักจะตัดอารมณ์ของ ส.ส. ในสภาฯ ด้วยการจี้ให้ ส.ส. คนหนึ่งเป็นผู้อภิปราย

ส.ส. คนนั้นคือ นายฉ่ำ จำรัสเนตร ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะถ้าสภาผู้แทนราษฎรในยุคที่นายฉ่ำ จำรัสเนตร เป็น ส.ส. อยู่นั้น ถ้าหากนายฉ่ำ อภิปรายในสภาเมื่อไร เมื่อนั้นจะทำให้บรรยากาศในสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนไปทันที เพราะการอภิปรายของนายฉ่ำ ประกอบบทบาทที่แสดงออก

เรียกว่าทำให้บรรยากาศในสภาที่อึมครึมอยู่นั้นคลายไป และ ส.ส. ที่กำลังมีอารมณ์เครียดก็คลายลง เรียกว่านายฉ่ำ จำรัสเนตร เป็นตัวแปรที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนแปลงไป

ส่วน พระยามานวราชเสวี ซึ่งเคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย พระยามานวราชเสวีเป็นพระยาน้องชาย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ

พระยามานวรราชเสวี ท่านมีวิธีกำจัดความอลวนยุ่งยาก ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ด้วยการที่ท่านสั่งพักประชุมชั่วคราว หรือไม่ท่านก็จะลุกจากที่นั่งของท่าน ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อประธานลุกจากที่นั่งในตำแหน่งของท่าน การประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการประชุมต่อไปไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการยุติการอภิปรายโต้เถียงกันในระหว่าง ส.ส. ได้โดยฉับพลันทันที แต่ในบรรดาประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีมาแล้วด้วยกันทั้งหมด เห็นจะไม่มีใครปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเกิน นายพึ่ง ศรีจันทร์ ไปได้ เพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรคนนี้ มีชื่อติดอยู่ในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาไทย แม้จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่ถึงปีก็ตาม

นายพึ่ง ศรีจันทร์ เป็น ส.ส.จังหวัดอุตรดิตถ์หลายสมัย และสังกัดในพรรคสหชีพ ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ ปี พ.ศ. 2490 และถูกรัฐประหารไปในปีเดียวกันนั้นเอง

นายพึ่ง ศรีจันทร์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่พรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญเป็นรัฐบาล โดยมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์เสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ ซึ่งนายพึ่ง ศรีจันทร์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรควบคุมการประชุมในครั้งนั้น

การควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระสำคัญครั้งนี้ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ได้แสดงบทบาทของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

คือในการอภิปรายโต้ตอบระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านตอนหนึ่ง เมื่อ ส.ส. ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลโดยรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจะต้องเป็นฝ่ายโต้ตอบ รัฐมนตรีผู้ที่จะเป็นผู้อภิปรายโต้ตอบนั้น คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีและเป็นเลขาธิการพรรคสหชีพที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสังกัดอยู่ด้วย

เมื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายจบไป รัฐมนตรีทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ก็ยกมือแสดงความหมายที่จะขออภิปราย แต่ในขณะเดียวกันก็มี ส.ส. ในพรรคฝ่ายค้านได้ยกมือแสดงความหมายที่จะอภิปรายเช่นเดียวกัน

ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพึ่ง ศรีจันทร์ ไม่สบตากับรัฐมนตรีทองอินทร์ฯ แต่กลับไปพยักหน้าให้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านอภิปรายแทน ปรากฏว่ารัฐมนตรีทองอินทร์ฯ โกรธจัดได้ลุกขึ้นประท้วงประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพึ่ง ศรีจันทร์ ทันที โดยอ้างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประกอบว่า ตามข้อบังคับนั้น เมื่อ ส.ส. ฝ่ายค้านอภิปรายไปแล้ว ก็ต้องเป็นโอกาสของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องอภิปรายโต้ตอบ เป็นการสลับกันไปตามข้อบังคับ เมื่อประธานสภาไปให้โอกาส ส.ส. ฝ่ายค้านอภิปรายซ้ำ จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นายพึ่ง ศรีจันทร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งให้รัฐมนตรีทองอินทร์นั่งลงและชี้แจงว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาที่ท่านรัฐมนตรีอ้างถึงนั้น ก็เป็นความจริงตามนั้น แต่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฉบับเดียวกัน ก็ได้ให้อำนาจแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยไว้ว่า ควรจะให้ใครเป็นผู้อภิปราย ฉะนั้นจึงขอใช้อำนาจของประธานสภาตามข้อบังคับให้ ส.ส. (ผู้นั้น) อภิปรายได้

คำโต้ตอบในลักษณะการชี้แจงของประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพึ่ง ศรีจันทร์ ทำให้รัฐมนตรีทองอินทร์ซึมไป ไม่กล้าแสดงโวหารมาโต้ตอบกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นลูกพรรคที่ตนเป็นเลขาธิการอยู่อีกต่อไป และแล้วก็เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

เผอิญวันที่คณะทหาร (ชุดจอมพลผิน ชุณหะวัณ บิดาของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ทำการรัฐประหาร เป็นวันตรงกับวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสียด้วย

นายพึ่ง ศรีจันทร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐสภาตามปกติ พอถึงเวลา 10.00 น. (สมัยนั้นสภาประชุม 10.00 น.) ก็เรียกประชุม ซึ่งมี ส.ส. บางคนมาร่วมประชุมด้วย แต่ไม่มีคณะรัฐมนตรี เพราะคณะรัฐมนตรีหนีการรัฐประหารไปหมด

นายพึ่ง ศรีจันทร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามเวลา โดยไม่คำนึงถึงว่ามีรถถังจอดตั้งปืนจังก้าอยู่หน้ารัฐสภา และไม่คำนึงถึงว่าจะมีทหารแต่งเครื่องสนามมีอาวุธพร้อมมาควบคุมรัฐสภาอยู่

นายพึ่ง ศรีจันทร์ ทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมไปอย่างปกติ ไม่ยอมรับรู้ต่อสถานการณ์รัฐประหาร เพราะถือว่าการรัฐประหารนั้นคือการกบฏ (ต่อรัฐบาล) เป็นการผิดกฎหมาย

แต่ประธานสภา นายพึ่ง ศรีจันทร์ ประชุมสภาไปไม่ตลอด เพราะพอใกล้เที่ยง พลโทหลวงกาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร ก็นั่งรถถังเข้ามาเชิญตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรเถรตรงใจเด็ดผู้นั้น ไปคุมตัวไว้ที่กระทรวงกลาโหม แต่ถึงกระนั้น นายพึ่ง ศรีจันทร์ ก็ถูกปล่อยตัวออกมาโดยตั้งข้อหาความผิดใดๆ ไม่ได้

นายพึ่ง ศรีจันทร์ ก็ยังไม่รับรู้ต่อการรัฐประหารในครั้งนั้น ยังถือว่าเป็นการกบฏอยู่

นี่คือบุคลิกลักษณะของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทยเราคนหนึ่ง”

“เกียรติ” นามปากกาของผู้รายงานเบื้องหลังสภารุ่นเก๋ากึก ได้เขียนถึงประธานสภา พึ่ง ศรีจันทร์ ไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 14 มิถุนายน 2519 มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“อดีตประธานสภาฯ พึ่ง ศรีจันทร์ เป็นประธานสภาที่วางตัวดีที่สุด ขณะทำหน้าที่ประธานฯ ในที่ประชุม ไม่วอแวกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใด ไม่เอาใจหรือโอนเอียงไปทางฝ่ายรัฐบาล แม้ว่าทางฝ่ายรัฐบาลนั้นจะเป็นพรรค (สหชีพ), ที่ประธานสังกัดอยู่หรือเป็นลูกพรรคก็ตาม แต่ในเวลาประชุมสภาฯ แล้ว อดีตประธานสภาฯ พึ่ง ศรีจันทร์ ให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมแก่สมาชิกทุกๆ คน และทุกๆ พรรคเสมอ ยอมรับรู้มติของพรรคในการกำหนดตัว ส.ส. ให้อภิปราย ไม่ยอมรับโน้ตเป็นใบสั่งของสมาชิกในพรรคของตัวเองหรือพรรคอื่นว่าจะให้ ส.ส. คนใดพูด

อดีตประธานสภา พึ่ง ศรีจันทร์ จะตัดสินด้วยสมองของตนเอง ในฐานะที่รู้จักคบค้าสมาคมกับ ส.ส. รู้ทั้งคารมและนิสัยใจคอของสมาชิก ชี้ให้ ส.ส. คนใดอภิปรายโดยไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับ และแม้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในพรรคของตนเองก็ตาม เมื่อยังไม่ถึงรอบจะอภิปราย แม้จะยกมือขออภิปรายก็ไม่ยอมให้ออกมาอภิปราย และแม้รัฐมนตรีผู้นั้นจะขอร้องว่าเป็นสิทธิ แต่สิทธิในการอนุญาตของประธานสภาย่อมเหนือกว่า

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตลอดจนสมาชิกต่างเกรงกลัวต่ออำนาจอันเป็นธรรมและเด็ดขาด ตลอดจนความเกรงใจต่อการใช้จรรยาบรรณของประธานฯ อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมายิ่งนัก สมาชิกไม่กล้าอภิปรายละลาบละล้วง ไม่กล้าอภิปรายเล่นหัวหรือเสียดสีอดีตประธานสภาฯ พึ่ง ศรีจันทร์เลย แต่เมื่อเลิกประชุมแล้วก็เป็นกันเองกับสมาชิก กินข้าวด้วยกัน โต๊ะเดียวกันและพูดจาสัพยอกหยอกล้อกันเหมือนกับเพื่อน แต่บนบัลลังก์ในที่ประชุมสภาฯ แล้ว อดีตประธาน พึ่ง ศรีจันทร์จะเปลี่ยนสภาพของตัวเองและเปลี่ยนนิสัยให้เข้ากับบรรยากาศในที่ประชุมได้สมฐานะและตำแหน่ง…”

อีกตอนหนึ่ง “เกียรติ” ได้เขียนเล่าไว้ว่า

“อีกครั้งหนึ่ง จำได้ว่าสมาชิกในพรรคประชาธิปัตย์ (รุ่นโกฮับเก่าขนานแท้ดั้งเดิม) คนหนึ่ง คือ นายสุวิช พันธุเศรษฐี ซึ่งในสมัยนั้นเป็นดาราอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามยกมือหลายครั้งในการประชุมรอบเช้า แต่ไม่มีโอกาสอภิปราย จนกระทั่งหยุดพักกลางวัน ในตอนรับประทานอาหารกลางวันที่สโมสรสภาฯ นั่นเอง นายสุวิชได้ร่วมรับประทานโต๊ะเดียวกับประธานสภาฯ พึ่งฯ ในระหว่างรับประทานอาหารนั้น ก็พูดจาเล่นหัวกันเหมือนเพื่อนสมาชิกร่วมสภาเดียวกัน นายสุวิชฯ ได้ตัดพ้อต่อว่าประธานสภาฯ พึ่งว่า ไม่ให้โอกาสตนเองอภิปรายบ้างเลยทั้งๆ ที่ยกมือมาตั้งแต่เช้า ประธานสภาฯ พึ่งขอโทษเพราะมองไม่เห็น แต่ให้คำมั่นสัญญาว่าในการประชุมรอบบ่ายนี้จะให้โอกาสนายสุวิชได้อภิปราย ขอให้ยกมือและรอเวลานั้นเถอะ

ครั้นเมื่อมีการประชุมรอบบ่าย นายสุวิชก็ยกมือเป็นคนแรก แต่ประธานสภาฯ พึ่งผ่านไปไม่ยอมชี้ แต่กลับไปชี้สมาชิกคนอื่น พอสมาชิกคนแรกอภิปรายจบลง นายสุวิชยกมืออีก ประธานฯ พึ่งก็ยังไม่ชี้นายสุวิชอีกตามเคย จนกระทั่ง ส.ส. คนที่สองอภิปรายจบลง นายสุวิชยกมืออีก คราวนี้ประธานสภาฯ พึ่งอนุญาตให้นายสุวิชออกมาอภิปรายทันที

เมื่อออกมาอภิปราย แทนที่นายสุวิชจะอภิปรายถึงเรื่องราวของสภาฯ กลับอภิปรายนอกเรื่อง ตัดพ้อต่อว่าประธานสภาฯ พึ่ง เป็นทำนองว่า เมื่อตอนกินข้าวกลางวันด้วยกัน ก็ได้ตกลงกันแล้วว่า ประธานฯ จะอนุญาตให้พูดเป็นคนแรก ทำไมประธานฯ จึงไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ต่อกันไว้ ทั้งๆ ที่พึ่งสัญญากันมาหยกๆ เมื่อตะกี้นี้เอง

ท่านลองทายซิว่าประธานสภาฯ พึ่งทำอย่างไร

ประธานสภาฯ พึ่งบอกให้นายสุวิชหยุดอภิปรายทันทีและนอกจากบอกให้หยุดแล้ว ยังสั่งให้นั่งไม่ยอมให้อภิปรายต่อไป แต่นายสุวิชไม่ยอมจะขออภิปรายต่อไป ประธานฯ พึ่งออกคำสั่งเด็ดขาดว่า

“ข้าพเจ้าขอให้ท่านนั่ง อภิปรายต่อไปอีกไม่ได้”

เท่านั้นเอง นายสุวิช ก็กลับไปนั่ง และตลอดสมัยประชุมทั้งสมัย แม้นายสุวิชจะยกมือแสดงตนว่าจะอภิปราย แต่ประธานฯ พึ่งไม่เคยชี้ให้อภิปรายเลยสักครั้งเดียว สมัยประชุมสมัยนั้นนายสุวิชยกมือค้างไม่มีโอกาสได้พูดเลยเหตุผลในการที่ประธานฯ พึ่งไม่ยอมให้นายสุวิชอภิปรายตลอดสมัยประชุมนั้น ก็ถือเป็นการลงโทษสมาชิกที่นำเอาเรื่องส่วนตัวอันเป็นความลับระหว่างประธานสภาฯ และสมาชิก มาอภิปรายในที่ๆไม่ควรจะอภิปราย และไม่สมควรที่จะเอาข้อตกลงที่แสดงให้เห็นถึงความกรุณาปรานีมาขยายให้สมาชิกฟังในที่ประชุม จนกระทั่งทำให้สมาชิกทั้งหลายเห็นว่าประธานสภาฯ ไม่ยุติธรรม

ในสมัยนั้น สมาชิกทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือฝ่ายค้านทั้งเกรงทั้งกลัวต่อการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดด้วยเป็นธรรมและยุติธรรมของประธานสภาฯ พึ่งไปตามๆ กัน ไม่มีใครหือ เพราะอำนาจประธานสภาฯ ในสมัยนั้น ประธานสภาฯ พึ่งใช้ทั้งอำนาจที่เปิดเผยและอำนาจลับ แต่สมาชิกทุกคนก็เห็นใจและพอใจต่อการใช้อำนาจนั้น

เคยมีผู้ถามประธานฯ พึ่ง ศรีจันทร์ ว่า ถ้าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง สมาชิกเกิดดื้อรั้นรวนกวนโทสะจนที่ประชุมเกิดอลเวง ประธานสภาฯ จะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหานั้นได้

อดีตประธานสภาฯ พึ่ง ศรีจันทร์ ตอบว่า

“อ๋อ ง่ายนิดเดียว ประธานสภาฯ ก็ลุกจากเก้าอี้ที่ประชุมเดินลงจากบัลลังก์ไป เพราะเมื่อไม่มีประธานสภาฯ การประชุมสภาฯ ก็ยุติ เป็นการปิดประชุมหรือเลิกประชุมโดยอัตโนมัติ และต่อจากนั้นสมาชิกจะทำอะไรก็เชิญ เพราะไม่ใช่เรื่องของการประชุมสภาฯ ประธานสภาฯ ไม่รู้ไม่เห็นด้วยทั้งสิ้น”

นี่แหละคือ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีชื่อว่านายพึ่ง ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นประธานสภาฯ ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในยุคประชาธิปไตยของเมืองไทย เท่าที่เคยมีประธานสภาผู้แทนฯ มา”

ที่มา : สุพจน์ ด่านตระกูล, พึ่ง ศรีจันทร์ นักประชาธิปไตยผู้ทรหด อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2490 (กรุงเทพฯ: ครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง, 2536), น. 312-322.

หมายเหตุ : 

  • ปรับการใช้คำบางแห่งโดยกองบรรณาธิการ
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ