ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ชาวเมืองแพร่ผู้ปิดทองหลังพระ

17
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • ในคราวสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2482 – 2488 ประเทศร่วมสงครามแบ่งเป็นฝ่ายอักษะ คือ ประเทศเยอรมันนี-อิตาลี-ญี่ปุ่น และฝ่ายสัมพันธมิตรคือ ประเทศอังกฤษ-ฝรั่งเศส-โซเวียต (รัสเซีย) -จีน-ออสเตรเลีย-อเมริกา ส่วนประเทศไทยประกาศวางตัวเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด
  • ในปลาย พ.ศ. 2484 ประเทศไทยโดยรัฐบาลขณะนั้น ไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้ แต่เข้าสู่สงครามโดยประกาศร่วมรบกับญี่ปุ่นเข้ากับฝ่ายอักษะ และได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ) ก็ได้ตอบรับคำประกาศสงครามกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการเช่นกัน
  • นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีคลัง ในปลายปี 2484 คัดค้านการ่วมรบกับญี่ปุ่น และร่วมก่อตั้ง “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ขบวนการเสรีไทย” (Free Thai Movement) และแนวคิดขบวนการเสรีไทยตรงกับแนวคิดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และหัวหน้านักเรียนไทยในอังกฤษ คือนายป๋วย อึ้งภากรณ์
  • เสรีไทยสายเหนือมีนายทอง กันทาธรรม ลูกศิษย์ใกล้ชิดกับนายปรีดีเป็นหัวหน้า และตั้งฐานกำลังที่ จ.แพร่ มีผู้เข้าร่วมเสียสละเพื่อประเทศชาติประมาณ 500 คน เสมือนเป็นการทำงาน “ปิดทองหลังพระ” โดยทำงานร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรแบบลับๆ ต่อต้านญี่ปุ่นในทางภาคเหนือ จนได้รับความเสียหาย กระทั่งสิ้นสุดสงคราม

 

บรรพบุรุษชาวแพร่ ผู้ปิดทองหลังพระ ผู้ช่วยประเทศไทยไม่ให้ถูกควบคุมและไม่ให้ถูกชดใช้ค่าเสียหายและแพ้สงคราม

สืบเนื่องมาจากวันที่ 2 กันยายน 2482 (เวลาในประเทศไทย) อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ ผู้นำประเทศเยอรมันนีและ มุสโสลินี ผู้นำประเทศอิตาลี ได้นำกำลังทหารบุกยึดประเทศโปแลนด์ ทำให้ผู้นำประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสไม่พอใจ จึงได้ทำการประกาศสงครามกับเยอรมันนีและอิตาลี ขยายวงกว้างออกไป มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมรบอีกหลายประเทศจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แบ่งฝ่ายเป็นฝ่ายอักษะ ได้แก่ ประเทศเยอรมันนี-อิตาลี-ญี่ปุ่น และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรได้แก่ประเทศอังกฤษ-ฝรั่งเศส-โซเวียต (รัสเซีย)-จีน-ออสเตรเลีย-อเมริกา ระยะ 2 ปีแรก ฝ่ายอักษะเป็นผู้ชนะ สามารถยึดครองได้หลายประเทศ ขณะนั้นประเทศไทยได้ประกาศวางตัวเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด

 


เครื่องบินรบของญี่ปุ่น มุ่งสู่ฐานทัพเรืออเมริกา อ่าวเพิร์ล

 

ต่อเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 (เวลาในประเทศไทย) กองทัพญี่ปุ่น ส่งฝูงบินจำนวน 360 เครื่อง บินขึ้นจากเรือรบบรรทุกเครื่องบินในทะเล มุ่งสู่ฐานทัพเรือของอเมริกาที่อ่าวเพิร์ลทำการโจมตีทางอากาศ จนทำให้ฐานทัพเรือเสียหายยับเยิน เรือรบที่จอดอยู่ถูกโจมตีจมลงก้นอ่าวเกือบทั้งหมด ทหารอเมริกันเสียชีวิตประมาณ 3,600 นาย อาคารต่างๆ เสียหาย สาเหตุที่ฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) เสียหายอย่างหนักเช่นนี้ จะว่าประมาทก็ไม่เชิง ระบบป้องกันตัวเองก็วางไว้อย่างรัดกุมแต่ก็ยังมีช่องโหว่จนได้และคาดไม่ถึงเนื่องจากเครื่องเรดาร์ไม่สามารถตรวจจับเครื่องบินที่บินมาเข้ารัศมีได้ เพราะญี่ปุ่นได้วางแผนการมาดีกว่า คือเมื่อเครื่องบินรบที่บรรทุกลูกระเบิดทำลายมาเต็มอัตราศึก บินมาเข้าใกล้รัศมีที่จะถูกตรวจจับได้จากเรดาร์ เครื่องบินทุกลำได้ลดเพดานบินลงมาต่ำสุด ชนิดบินเลียบผืนน้ำทะเลจึงทำให้เรดาร์ตรวจจับไม่ได้ เรดาร์ตรวจจับระยะสูงจึงเห็นแต่ท้องฟ้าว่างเปล่าพอรู้สึกตัวเครื่องบินญี่ปุ่นจำนวน 360 เครื่องเข้าถึงตัวเสียแล้วไม่รู้ตัวหรือเตรียมต่อสู้ป้องกันตัวเลย ทหารบางคนกำลังเล่นกีฬา (เทนนิส) บางคนพักผ่อนนอนเล่น บางคนอ่านหนังสือในห้องสมุดบางคนขี่จักรยานเล่น บางคนว่ายน้ำในสระ ตอนแรกเป็นเป้านิ่งให้ถูกโจมตีอย่างเดียว จึงเกิดความเสียหายมากมาย ตอนท้ายมีทหารหนุ่มๆ บางคนที่มีความกล้าตายกลุ่มหนึ่งที่ยังตั้งสติได้ วิ่งขึ้นขับเครื่องบินรบได้บ้าง (ส่วนที่ยังไม่เสียหาย) ทั้งที่อยู่ในชุดกีฬา บางคนอยู่ในชุดกางเกงขาสั้น บางคนอยู่ในชุดนอนเล่น บินขึ้นต่อสู้ได้บ้าง สามารถยิงเครื่องบินรบของญี่ปุ่นได้ถึง 33 เครื่องตกลงสู่ทะเล หลังจากการโจมตีฐานทัพเรือของอเมริกาประสบความสำเร็จทำให้กองทัพญี่ปุ่นทหารมีกำลังใจเกิดความฮึกเหิมมากจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้อเมริกาโดดเข้าสู่สงครามชนิดเต็มตัว

ระยะ 2 ปีแรกของสงครามอเมริกาเห็นว่าตัวเองอยู่ห่างไกลจึงไม่ค่อยจริงจังเท่าใดนัก เพราะเป็นการสู้รบของประเทศในแถบทวีปยุโรป จึงทำให้การสู้รบในทวีปยุโรปเมื่อ 2 ปีแรกฝ่ายอักษะเป็นผู้ชนะ ยึดครองได้หลายประเทศ เมื่ออเมริกาเข้าสู่สงครามสู้รบเต็มรูปแบบ หลังจากฐานทัพเรือถูกโจมตีจึงสามารถยึดครองประเทศต่างๆ กลับคืนได้หมดทั้งยุโรปจนถึงเผด็จศึกญี่ปุ่นได้โดยทิ้งระเบิดปราณูลงที่ญี่ปุ่นจำนวน 2 ลูก จนญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 14 สิงหาคม 2488

 


แผนที่แสดงการบุกของกองทัพญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2484

 

ด้านทวีปเอเชีย วันเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพเรืออเมริกาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 (เวลาในประเทศไทย) ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกของประเทศไทยด้านอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี, สงขลา, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ชุมพร,ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ ได้เกิดการสู้รบกับทหารไทยในที่สุดก็ยุติตามคำสั่งรัฐบาลไทย (สู้รบได้ 2 วัน) โดยญี่ปุ่นขอเสนอเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังพม่า-อินเดีย มุ่งสู่ทวีปยุโรปเพื่อสมทบกับเยอรมันนีและอิตาลี ไม่มีความประสงค์จะรบกับประเทศไทยเพียงแค่ขอผ่านเท่านั้น รัฐบาลไทยขณะนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จำใจต้องยินยอมตามข้อเสนอของญี่ปุ่น และในที่สุดเหมือนถูกบีบบังคับด้วยกำลังและแสนยานุภาพที่เหนือกว่าทุกด้าน

ให้ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโดยทำการร่วมรบกับญี่ปุ่นเป็นฝ่ายอักษะและได้ประกาศสงคราม ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการด้วยประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร และฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ) ได้ตอบรับคำประกาศอย่างเป็นทางการด้วยลายลักษณ์อักษรเช่นกันเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 จึงนับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามตามรูปแบบเต็มตัว

อีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าฝ่ายอักษะจะเป็นผู้ชนะสงคราม กล่าวคือก่อนหน้านี้เล็กน้อยกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีประเทศจีนโดยทหารจีนเสียชีวิตประมาณ 400,000 นาย และญี่ปุ่นบุกโจมตีมลายู (มาเลเซีย, สิงคโปร์ ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอาณานิคมปกครองโดยอังกฤษสามารถจมเรือรบปริ๊นส์ออฟเวลล์ ที่มีอานุภาพและทันสมัยที่สุดในโลกของอังกฤษที่ส่งมารักษาแหลมมลายูจมลงได้และข่าวล่าสุดวันเดียวกัน (8 ธ.ค. 2484) ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ได้รับชัยชนะประกอบกับเหมือนถูกบีบบังคับ จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นแต่ขณะเดียวกันมีคนบางกลุ่มในคณะรัฐบาลได้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่นและนำประเทศไทยเข้าสู่สงคราม

บุคคลผู้นั้นคือนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีคลัง แต่ไม่อาจทัดทานมติในที่ประชุมได้ และต่อมาญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอขอกู้เงินจากรัฐบาลไทย เพื่อใช้จ่ายในสงคราม นายปรีดีฯ ได้ทำการคัดค้านอีก ญี่ปุ่นจึงได้พิมพ์ธนบัตรไทยออกใช้เอง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ญี่ปุ่นทราบดีว่า นายปรีดีฯ เป็นผู้ต่อต้าน จึงหาทางบีบนายกรัฐมนตรีให้ปลดนายปรีดีฯ ออกจากคณะรัฐมนตรีไม่ให้มีอำนาจในคณะรัฐบาล ด้วยเหตุนี้นายปรีดีฯ จึงถูกทำให้พ้นทางของญี่ปุ่น และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แทนตำแหน่งเดิม

 

จุดเริ่มต้นของงานเสรีไทยในประเทศ

หลังจากญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองประเทศไทย ได้มีการประชุมลับที่บ้านนายปรีดี พนมยงค์ (วันที่ 8 ธันวาคม 2484)ประกอบด้วยนายทอง กันทาธรรม, นายพึ่ง ศรีจันทร์, นายสงวน ตุลารักษ์, นายเปา จักกะพาก, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อุดล, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ทั้งหมดเห็นพ้องกันพร้อมพลีชีพ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยของชาติไทย คืนมาจากผู้รุกราน

 


นายปรีดี พนมยงค์

 

เป้าหมายการดำเนินการของเสรีไทย

คณะทำงานกู้ชาติกำหนดให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าวางแผน ปฏิบัติงานเป็นขั้นตอน...(ปลายปี 2484)

  1. ก่อวินาศกรรมต่อญี่ปุ่นทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และญี่ปุ่น
  2. เผยแพร่งานของเสรีไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ฝ่ายสัมพันธมิตร
  3. และติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อได้มาซึ่งความเป็นเอกราชของชาติ

 

กำเนิดขบวนการเสรีไทย (FREE THAI MOVEMENT)

หลังเสร็จจากการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับบ้าน ได้พบกับบุคคลหลายคนมาคอยการกลับรออยู่ที่บ้าน บุคคลเหล่านั้นต่างมีแนวความคิดคล้ายกับตน คือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่น จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทำการต่อต้านญี่ปุ่นหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ นายทอง กันทาธรรม ส.ส.แพร่และเพื่อนส.ส.สายเหนือและสายอีสานอีกหลายคนซึ่งล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดกับนายปรีดีฯ (นายปรีดีฯ เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีตนักศึกษามีจำนวนไม่มากเหมือนปัจจุบันอาจารย์กับลูกศิษย์จึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก) โดยตั้งชื่อว่า “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ขบวนการเสรีไทย” (FREE THAI MOVEMENT) และได้รวมบุคคลอีกหลายวงการที่มีแนวคิดทางเดียวกัน กระทำการทุกอย่างที่จะต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยปฏิบัติการในทางลับ จากแนวความคิดนี้ได้ตรงกับแนวคิดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย ม.ร.ว.เสนีย์ฯ รวบรวมคนไทยในอเมริกาได้ราว 50 คน ส่วนมากเป็นนักเรียนไทยที่ได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาโท ทำการฝึกอาวุธยุทธวิธีต่างๆ และประสานงานกับรัฐบาลอเมริกา คอยส่งข่าวสารความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยให้ฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ทราบตลอดเวลา ทางด้านประเทศอังกฤษ หัวหน้านักเรียนไทยคือนายป๋วย อึ้งภากรณ์ มีแนวคิดเช่นเดียวกับนายปรีดีฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ฯ จึงรวบรวมนักเรียนไทยในอังกฤษได้ 50 คน ปฏิบัติงานเช่นเดียวกับเสรีไทยสายอเมริกา

ในที่นี้จะเน้นบทบาทของเสรีไทยในประเทศไทย โดยเฉพาะเสรีไทยสายเหนือที่มีนายทอง กันทาธรรมเป็นหัวหน้า มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่ จ.แพร่ เหตุที่นายปรีดีฯ ได้กระทำการแต่งตั้งให้นายทอง กันทาธรรมเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายเหนือและให้ตั้งฐานที่ จ.แพร่ แล้วให้รับแผนงานมาดำเนินการเป็นเพราะว่า นายทองฯ เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดมีความไว้วางใจและเป็น ส.ส.แพร่ ส่วนการให้ตั้งฐานอยู่ที่ จ.แพร่ เนื่องจากแพร่เป็นเมืองเล็กๆ ญี่ปุ่นมองข้าม คงมุ่งไปที่เมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย หรือลำปาง (สายภาคเหนือญี่ปุ่นตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บ้านนาก่วมใกล้สถานีรถไฟสบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง)[1]

 

ชาวเมืองแพร่ผู้ปิดทองหลังพระ
 


นายทอง กันทาธรรม
(หัวหน้าเสรีไทยแพร่) เนติบัณฑิต
สส. จังหวัดแพร่

 

เมื่อนายทอง กันทาธรรม ส.ส.แพร่ รับแผนงานจากนายปรีดีฯ มาปฏิบัติได้เริ่มจากการรวบรวมญาติพี่น้องเพื่อนฝูงชาวบ้านจาก ต.หนองม่วงไข่ (ปัจจุบัน อ.หนองม่วงไข่) ก่อน ซึ่งเป็นบ้านเดิมแล้วขยายวงกว้างออกไปได้ประมาณ 500 คน โดยตั้งค่ายฝึกอยู่ในป่าแพะเปียง ต.หนองม่วงไข่ ทำการฝึกอบรมด้านยุทธวิธีการสอดแนมหาข่าว ฝึกอาวุธการต่อสู้ ทยอยเป็นรุ่นๆ ไปและทุกคนต้องสาบานทุกอย่างเป็นความลับ การเสียสละครั้งนี้ทำเพื่อบ้านเมืองจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น หากเสียชีวิตก็ต้องเสียไปโดยไม่ได้รับเกียรติหรือสิ่งชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการเสียสละเพื่อประเทศชาติเสมือนเป็นการทำงานชนิด ปิดทองหลังพระ ทุกคนต่างเข้าใจดี และยอมปฏิบัติงานเพื่อประเทศชาตินับเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติ ความเสียสละแม้ชีวิต บางรายเสียชีวิตในขณะปฏิบัติงาน (ไม่ได้เกิดจากการสู้รบ) เนื่องจากสภาพร่างกายสู้กับการตรากตรำทำงานในป่า ซึ่งมีอากาศหนาว และฝนตกซุก เช่น นายแปง ชมภูมิ่ง และอีกหลายคน

 


ภาพจำลองเหตุการณ์ของคณะเสรีไทยเมืองแพร่

 

การปฏิบัติงานของขบวนการเสรีไทยแพร่ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและให้การสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) จากการประสานงาน ของ ม.ร.ว.เสนีย์ฯ ที่ได้ติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลของอเมริกาและกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) โดยฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ได้ส่งนายทหารอเมริกันจำนวน 3 นายให้มาปฏิบัติการตามแผนนิวเมอรัล (OPERATION NUMERAL) ได้แก่ ร.ท.วอลเทอร์ พี.คูสมัค (WALTER P.KUZMUC) เป็นหัวหน้าและผู้ช่วย จ่าสิบตรี วิลเลียม ซี แกรนท์ (W.C.GRANT), สิบเอกสตีเว่น ชีสโค (STEVEN SYSKO) ทำหน้าที่ครูฝึก บุรุษพยาบาล และเป็นพนักงานสื่อสารรับ-ส่งวิทยุ พร้อมคนไทยอีกหลายคนแต่ที่โดดเด่นและอยู่นานจนสงครามยุติคือ นายชโรช โล่ห์สุวรรณ นักเรียนไทย ศึกษาระดับปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ล่ามแปลเอกสารจากรายงานต่างๆ โดยกระโดดร่มจากเครื่องบินของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรที่ส่งมาจากฐานทัพเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา โดยทิ้งร่มลงที่ป่าแพะเปียง บ้านหนองม่วงไข่ (อ.หนองม่วงไข่ปัจจุบัน) ในเวลากลางคืนทั้งหมดจำนวน 29 ร่ม

โดยชาวบ้านขบวนการเสรีไทยแพร่ไปคอยรับได้ก่อกองไฟเป็นรูปตัวที (T) ให้เป็นเครื่องหมายแก่นักบินได้สังเกต ร่มที่ทิ้งลงมามีทั้งบุคคลและหีบห่อสัมภาระต่างๆ ได้แก่อาวุธปืนสั้น-ยาว,กระสุน, เครื่องมือสื่อสารวิทยุรับ-ส่ง, เสบียงอาหารกระป๋อง, เครื่องเวชภัณฑ์ยารักษาโรคตลอดจนของใช้อื่นๆ ชาวบ้านขบวนการเสรีไทยแพร่ต้องไปคอยรับโดยใช้ล้อ (เกวียน) และช้างไปบรรทุกสิ่งของนำมาเก็บซ่อนไว้ในหมู่บ้าน

 


สะพานรถไฟแม่ต้า ถูกทำลายโดยเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร
(ขวา) เหลือแต่ฐานตอม่อ
(ซ้าย) สร้างขึ้นมาใหม่ หลังจากสงครามสงบ

 

บางส่วนนำไปใช้ในค่ายป่าแพะเปียง เมื่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ส่งนายทหารมาอยู่เป็นพี่เลี้ยงให้กับขบวนการเสรีไทยแพร่จึงได้มีการติดต่อส่งข่าวสารทางวิทยุ รายงานความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นที่กระจายกันอยู่ทั่วไปใน จ.แพร่และค่ายใหญ่ จ.ลำปาง ไปให้กองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรที่ตั้งฐานอยู่ที่เมืองแคนดี้ประเทศศรีลังกา

ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงทราบความเคลื่อนไหวและฐานที่ตั้งตลอดถึงการเดินทางของทหารญี่ปุ่นดีจึงส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดยังความเสียหายต่อกองทัพญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก นับเป็นผลงานขบวนการเสรีไทยแพร่ที่เห็นผลงานชัดเจนคือที่สะพานรถไฟข้ามน้ำ ห้วยแม่ต้า (อยู่ระหว่างสถานีรถไฟเด่นชัย อ.เด่นชัย กับสถานีรถไฟบ้านปิน อ.ลอง) ได้รับความเสียหาย เป็นการสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่นจากจุดนี้ได้เกิดตำนานเมืองแพร่แห่ระเบิด

ซึ่งนายณรงค์ จันทรางกูรได้เขียนเรื่องนี้ไว้อีกต่างหาก และผลงานอีกชิ้นหนึ่งคือสะพานรถไฟบ้านนาก่วมรวมถึงค่ายทหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟสบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งหน่วยสอดแนมของขบวนการเสรีไทยแพร่ (นายสุรินทร์ โสภารัตนานันท์) เป็นผู้ไปสืบและทำแผนที่แผนผังที่ตั้งของค่ายทหารญี่ปุ่นโดยปลอมตัวเป็นพ่อค้าขายยาขื่น (ยาสูบอย่างฉุนพื้นเมืองของ อ.สอง) ไปขายให้กับทหารญี่ปุ่น แล้วกลับมาเขียนรายงานส่งให้นายชโรชฯ ล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งต่อให้พนักงานวิทยุสื่อสาร เพื่อส่งรหัสไปยังฐานทัพฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกาให้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ณ จุดที่ทำพิกัดไว้ให้

นี่เป็นผลงานของขบวนการเสรีไทยแพร่ สงครามได้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไปจนถึงวันเผด็จศึก ฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ได้นำระเบิดปรมาณไปทิ้งที่ญี่ปุ่นจำนวน 2 ลูก เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 ที่เมืองฮิโรชิมา และวันที่ 9 สิงหาคม 2488 ที่เมืองนางาซากิ พอถึงวันที่ 14 สิงหาคม ญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการ ขอยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข สงครามได้ยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดสมบูรณ์ วันที่ 16 สิงหาคม 2488 ประกาศเป็นวันสันติภาพ

ตั้งแต่เกิดขบวนการเสรีไทย โดยเฉพาะขบวนการเสรีไทยแพร่ได้ร่วมปฏิบัติงานใกล้ชิดผูกพันกับนายทหารอเมริกัน 3 นาย ที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ส่งมาร่วมงานอยู่จนเสร็จสิ้นสงคราม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอเมริกาจึงให้การรับรองไทยว่าอยู่ฝ่ายเดียวกัน

 

บทแทรก

(เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2และขบวนการเสรีไทย แต่เชื่อมโยงหลังจากเสร็จสิ้นสงคราม เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษและฝรั่งเศส) ผู้ชนะสงครามได้เรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามให้ชดเชยค่าเสียหายสงครามจากผู้แพ้)

เมื่อ 233 ปีมาแล้ว (พ.ศ.2329) ประเทศไทย (THAILAND) ขณะนั้นชื่อประเทศสยาม (SIAM) มีพื้นที่ทั้งหมด 1,296,877 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบัน (พ.ศ.2553) เหลือพื้นที่เพียง 514,000 ตารางกิโลเมตรไม่ถึงครึ่งจากที่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากขณะนั้น ฝรั่งชาติยุโรปได้ออกล่าอาณานิคม ยึดครองประเทศในแถบทวีปเอเชียเอาเป็นเมืองขึ้น ตักตวงกอบโกยเอาทรัพยากรไปเป็นจำนวนมาก เหลือที่ยึดครองไม่ได้ทั้งหมด ก็เหลือแต่ประเทศสยามเท่านั้นที่ยังคงเป็นเอกราชอยู่ได้ แต่ก็ต้องสูญเสียพื้นที่ดินแดนไปบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย เหลือไม่ถึงครึ่งกับส่วนที่เสียไป พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมาที่ยังคงรักษาไว้ได้ ชนิดว่ายอมเสียนิ้วมือเพื่อรักษามือ ยอมเสียมือเพื่อรักษาแขน ยอมเสียแขนเพื่อรักษาลำตัว เสียดินแดนให้ฝรั่งยุโรปชาติอังกฤษและฝรั่งเศสถึง 13 ครั้ง ในระยะเวลา 200 กว่าปี ครั้งที่ 14 สูญเสียครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2504 ให้แก่ชาติเขมร (กัมพูชา) โดยการแพ้คดีเขาพระวิหาร เราจะสูญเสียแผ่นดิน ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

 

 

สยามประเทศ-ประเทศไทย

เมื่อ 223 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2329) เดิมชื่อประเทศสยาม (SIAM) มีพื้นที่อยู่ 1,296,877 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันชื่อประเทศไทย (THAILAND) มีพื้นที่เหลืออยู่เพียง 514,000 ตารางกิโลเมตร เราเสียดินแดนไป 14 ครั้ง ดังนี้

  1. เสียเกาะหมาก (ปีนัง) ให้อังกฤษ (สมัย ร.1) พื้นที่ 375 ตร.กม. เมื่อ 11 ส.ค. 2329
  2. เสียมะริด ทวาย ตะนาวศรีให้พม่า (สมัย ร.1) พื้นที่ 55,000 ตร.กม. เมื่อ 13 ม.ค. 2313
  3. เสียบันทายมาศให้ฝรั่งเศส (สมัย ร.2) ไม่ปรากฏหลักฐาน เมื่อ พ.ศ.2363
  4. เสียแสนหวี, เชียงตุง, เว้ ให้พม่า (สมัย ร.3) พื้นที่ 60,000 ตร.กม. เมื่อ พ.ศ.2368
  5. เสียเปรักให้อังกฤษ (สมัย ร.3) ไม่ปรากฏหลักฐาน เมื่อ พ.ศ. 2369
  6. เสียสิบสองปันนาให้จีน (สมัย ร.4) พื้นที่ 90,000 ตร.กม. เมื่อ 1 พ.ค. 2369
  7. เสียแคว้นเขมรให้ฝรั่งเศส (สมัย ร.4) พื้นที่ 124,000 ตร.กม. เมื่อ 15 ก.ค. 2410
  8. เสียสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศส (สมัย ร.5) พื้นที่ 87,000 ตร.กม. เมื่อ 22 ธ.ค. 2431
  9. เสียดินแดนฝั่งช้ายสาละวินให้อังกฤษ (สมัย ร.5) พื้นที่ 30,000 ตร.กม. เมื่อ 27 ต.ค. 2435
  10. เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ลาว) ให้ฝรั่งเศส (สมัย ร.5) พื้นที่ 143,000 ตร.กม. เมื่อ 3 ต.ค. 2436
  11. เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ลาว) ให้ฝรั่งเศส (สมัย ร.5) พื้นที่ 62,500 ตร.กม. เมื่อ 12 มี.ค. 2446
  12. เสียพระตะบอง, เสียมราฐ, ศรีโสภณให้ฝรั่งเศส (สมัย ร.5) พื้นที่ 51,000 ตร.กม. เมื่อ 23 มี.ค. 2449
  13. เสียกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี, ปะลิส ให้อังกฤษ (สมัย ร.5) พื้นที่ 80,000 ตร.กม. เมื่อ 10 มี.ค. 2451
  14. เสียเขาพระวิหารให้เขมร 2 กม.2 แพ้คดี เมื่อ 15 มี.ค. 2504

รวมถูกยึดครอง 13 ครั้ง แพ้คดี 1 ครั้ง เป็น 14 ครั้ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงไม่มีโอกาสเกิดครั้งที่ 15

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สงบลงโดยฝ่ายอักษะเป็นผู้แพ้สงคราม ทันทีที่ญี่ปุ่น (ฝ่ายอักษะ) ได้ประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2488 ฝ่ายชนะสงครามคือ ฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษและฝรั่งเศส) ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ฝ่าย อักษะชดใช้ค่าเสียหายของสงคราม ไทยในฐานะผู้แพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้ไทยก็ต้องแพ้ด้วย เพราะไทยเคยประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการด้วยลายลักษณ์อักษร และฝ่ายสัมพันธมิตรโดยอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตอบรับเป็นทางการเช่นกัน ข้อเรียกร้องเดิมมี 21 ข้อ ต่อมาขยายเป็น 51 ข้อ เช่น ให้ล้มเลิกองค์กรการทหาร, กึ่งทหาร, การเมือง, มอบการคมนาคม, วิทยุสื่อสาร, การบริหารราชการ, มอบสิ่งอุตสาหกรรม, การคมนาคมขนส่ง, เรือไทย, ห้ามจำหน่าย สินค้าหลัก เช่น ข้าว, ดีบุก, ยางพารา, ไม้สัก การจัดเงินตราตามคำแนะนำของฝ่ายสัมพันธมิตร ให้มอบอาชญากรสงคราม, ให้ส่งข้าวสารจำนวน 1.5 ล้านตัน ทุกเรื่องต้องอยู่ในความควบคุม ดูแลของฝ่ายสัมพันธมิตร

แต่ความคิดและข้อเรียกร้องของอังกฤษและฝรั่งเศสต้องเป็นหมัน ไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาได้คัดค้านแล้วแจ้งต่ออังกฤษและฝรั่งเศสว่า ไทยไม่อยู่ในฐานะประเทศที่แพ้สงคราม เพราะเหตุที่มีไทยบางส่วน คือขบวนการเสรีไทยได้คอยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ในเรื่องการข่าวรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ของญี่ปุ่นในประเทศโดยเฉพาะขบวนการเสรีไทยแพร่ ให้ความร่วมมือและมีผลงานและทางฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) ได้มีการติดต่อประสานงานกันตลอดเวลา จึงถือว่าขบวนการเสรีไทยแพร่ได้ทำงานร่วมกับอเมริกาเพื่อสู้รบกับญี่ปุ่น จึงให้คำประกาศสงครามของรัฐบาลไทยเป็นโมฆะ

หลังจากญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการถึงการยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข ฝ่ายสัมพันธมิตร (อเมริกา) สั่งการหน่วยงานขบวนการเสรีไทยแพร่ ให้กระทำพิธีการยอมแพ้ของญี่ปุ่น ได้กระทำกันที่จวนผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง (จวน หมายถึงที่พัก) โดยหัวหน้านายทหารญี่ปุ่นประจำค่ายใหญ่ใน จ.ลำปางทำพิธีมอบดาบซามูไรให้กับนายชโรช โล่ห์สุวรรณ ตัวแทนฝ่ายไทย ต่อหน้านายทหารอเมริกันที่ถูกส่งมาร่วมปฏิบัติงานกับขบวนการเสรีไทยแพร่ เป็นสักขีพยานและรัฐบาลอเมริกันสั่งผ่าน ผู้บัญชาการรบของฝ่ายสัมพันธมิตรด้านเอเชียคือ พลเรือเอกลอร์ด หลุยส์เม้าท์แบทเท่น ให้แจ้งต่อไทย ให้ไทยประกาศอิสรภาพการชนะส่งครามร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ซึ่งถือเป็นวันสันติภาพ

ฐานข้อมูลได้จาก :

  1. จากการศึกษาค้นคว้า
  2. จากข้อมูล พิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่
  3. จากการซักถาม บอกเล่าของสมาชิกขบวนการเสรีไทยแพร่ที่ยังมีชีวิตอยู่
  4. จากหนังสือการเสียดินแดนของไทย ในยุคล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ของกรมยุทธการทหารบก พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2545

 

ที่มา : ณรงค์ จันทรางกูร. ชาวเมืองแพร่ผู้ปิดทองหลังพระ. ม.ป.ท. : ม.ป.พ. 2554.


[1] ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์เสรีไทยแพร่