ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เส้นทางสู่สันติภาพ : ถนนเสรีไทย และปฏิบัติการเสรีไทยในจังหวัดตาก

29
พฤศจิกายน
2565

ถนนเสรีไทย อ.แม่สอด จ.ตาก

 

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้มีการประชุมเพื่อตั้งชื่อถนนของโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยในที่ประชุมได้มีเสรีไทยและหน่วยพลพรรคของขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมฯ จนนำไปสู่การตั้งชื่อ “ถนนเสรีไทย” ณ อ.แม่สอด จ.ตาก[1] เพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเสรีไทยใน จ.ตาก ที่มีบันทึกความทรงจำบอกเล่าเรื่องราวอยู่น้อยเต็มที บทความนี้จึงจะนำเสนอความทรงจำและปฏิบัติการของเสรีไทยใน จ.ตาก เพื่อย้อนรำลึกก่อนจะมาถึงเส้นทางสายสันติภาพที่เพิ่งสร้าง

 

การก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ  

 


หนังสือโมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส โดยปรีดี พนมยงค์

 

ในหนังสือโมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ณ ขณะนั้น เล่าถึงจุดตั้งต้นของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยไว้ว่า นับจากที่ทราบการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นที่จะขอผ่านไทยครั้งแรก ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 23.00 น. จากโทรศัพท์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้มาประชุมเป็นการด่วนที่วังสวนกุหลาบ และรอจนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กลับมาเปิดประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเวลา 7.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484[2]

 


ปรีดี พนมยงค์ ขณะประชุมปรึกษางานกับเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้าง

 

การจัดตั้งขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่นของปรีดีในไทย ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นี้เอง ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีปรีดีกลับมาที่บ้านแล้วคิดชักชวนผู้รักชาติ รัฐมนตรีที่ไม่ใช่พวกญี่ปุ่น และผู้แทนราษฎรออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตั้งรัฐบาลเสรีของชาติไทยในภาคเหนือจึงให้พูนศุขภรรยาโทรศัพท์เชิญชวนมิตรบางคนมาที่บ้าน และปรึกษาวิธีการเดินทางไปภาคเหนือกับ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ อธิบดีกรมทางในขณะนั้น[3] และได้มีการขยายงานเสรีไทยออกสู่ส่วนภูมิภาคซึ่งการเดินทางไปภาคเหนือระยะแรกได้มีการประสานงานกับผู้นำในพื้นที่ จ.ตาก อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ อย่างใกล้ชิด

ส่วนวัตถุประสงค์ของขบวนการเสรีไทยในประเทศมี 3 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1 ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติ และร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร

ประการที่ 2 ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

และเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาแล้วจึงมีภารกิจเพิ่มขึ้นมาเป็นประการที่ 3 คือ ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และพยายามผ่อนหนักเป็นเบาสำหรับสถานการณ์หลังสงคราม[4]

 


หนังสือตำนานเสรีไทย โดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

 

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เล่าเรื่องราวของเสรีไทยในส่วนภูมิภาคไว้ว่า ปฏิบัติการส่วนภูมิภาคเข้มข้นขึ้นช่วงระหว่าง 12 เดือนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเดือนกันยายน พ.ศ. 2487 - สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นช่วงเวลาที่ปฏิบัติการเสรีไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยในด้านปฏิบัติการทางทหารนั้นมีปรีดีที่รับผิดชอบต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์และเป็นผู้กำหนดนโยบายกับแผนยุทธการตลอดจนเป้าประสงค์ในแต่ละเรื่องแล้วจึงแจ้งมาให้กองบัญชาการเสรีไทยรับผิดชอบในการปฏิบัติ

ต่อมาทางสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ S.O.S. ขึ้นที่เมืองแคนดี และอังกฤษได้จัดตั้งแผนกของเสรีไทยขึ้นที่กองกำลัง 136 เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ซึ่งแผนปฏิบัติการทางทหารของสัมพันธมิตรจะเน้นในด้านข่าวกรองกับการฝึกพลพรรคเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศเพื่อต่อต้านและรุกคืบญี่ปุ่นกระทั่งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ส่งทหารของตนเข้าสู่ประเทศไทยโดยสหรัฐฯ ได้ส่งผู้แทนฯ เข้ามาพบกับปรีดี และพลตำรวจเอก อดุล ราวปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2487 กระทั่งปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 ทหารอเมริกันชุดแรกก็เดินทางเข้ามาพบปรีดีที่กรุงเทพฯ เพื่อวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน ส่วนอังกฤษได้ส่งทหารเข้ามาเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 และเข้ามาพบปรีดีเช่นเดียวกัน

ณ ช่วงเวลานี้ การปฏิบัติงานเสรีไทยส่วนภูมิภาคได้แบ่งเขตปฏิบัติการฯ กันระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งทหารอังกฤษจะปฏิบัติการอยู่ในเขต จ.ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เลย สกลนคร นครพนม ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา ส่วนทหารอเมริกันจะปฏิบัติการอยู่ที่เขต จ.แพร่ เชียงราย สุโขทัย อุดรธานี อุบลราชธานี กาญจนบุรี เป็นต้น[5]

 

ปฏิบัติการเสรีไทยในจังหวัดตาก

 


พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

 

ปฏิบัติการเสรีไทยในส่วนภูมิภาคและ จ.ตาก เป็นความร่วมมือระหว่างขบวนการเสรีไทยในประเทศ กองกำลังของสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ในไทยปฏิบัติการนี้มี ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เข้ามาช่วยวางแผนการฯ โดยได้รับมอบหมายงานจากปรีดี อาทิ จัดคณะต่อต้านญี่ปุ่นและหน่วยพลพรรคขึ้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก[6]

 


พึ่ง ศรีจันทร์ ส.ส. จ.อุตรดิตถ์

 

จนกระทั่ง พ.ศ. 2487 เมื่อญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ทางขบวนการเสรีไทยในประเทศก็ขยับรุก เมื่อปรีดีได้สั่งให้พึ่ง ศรีจันทร์ ส.ส. จ.อุตรดิตถ์ เตรียมสถานที่สำหรับการฝึกอาวุธและเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดตั้งพลพรรคเสรีไทยในภาคเหนือตอนล่างยังเขต จ.พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก ทั้งคอยรับยุทธภัณฑ์ที่ทางสัมพันธมิตรจะส่งลงมากับร่มชูชีพและเดินทางไปลำเลียงอาวุธจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาทางภาคเหนือโดยพึ่งจะดูแลในฝั่งค่ายทหารอเมริกัน

 


ใหญ่ ศวิตชาติ ส.ส. จ.นครสวรรค์

 

ส่วนทางค่ายทหารอังกฤษใน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้มอบหมายให้ใหญ่ ศวิตชาติ ส.ส. จ.นครสวรรค์ เป็นผู้ดูแลงานฯ และในช่วงท้ายของสงครามฯ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ทางนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ ปฏิบัติการของกองกำลัง 136 ซึ่งมีชื่อว่า “เนโรเนียน” นั้นมีอรุณ สรเทศน์ (ไก่ฟ้า) เป็นหัวหน้า และมี ม.จ.การวิก จักรพันธ์ (รัศมี หรือ ขุนช้าง) ทำหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุของหน่วยฯ เพื่อปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบในพื้นที่ จ.ตาก และอุทัยธานี ของกองกำลังอังกฤษจนสิ้นสงคราม

 


หมัง สายชุ่มอินทร์ ส.ส. จ.ตาก

 

หมุดหมายสำคัญของสถานที่ปฏิบัติการเสรีไทยใน จ.ตาก คือ ค่ายบ้านห้วยเหลือง เป็นหมู่บ้านของชาวม้งตั้งอยู่ระหว่างอุ้มผาง-แม่สอด ซึ่งคณะพลพรรคเสรีไทยที่ร่วมเดินทางไปก่อตั้งฐานปฏิบัติการฯ ยังหมู่บ้านนี้ ได้แก่ พึ่ง ศรีจันทร์ ส.ส. จ.อุตรดิตถ์ หมัง สายชุ่มอินทร์ ส.ส. จ.ตาก โดยมีใหญ่ ศวิตชาติ ส.ส. จ.นครสวรรค์ หัวหน้าสายอังกฤษ เขต จ.ตาก-อุทัยธานี เป็นผู้นำทางพร้อมด้วยประสิทธิ์ วินิจฉัยกุล  ลิขิต อังศุสิงห์ และ ร.ต.อ.สนั่น บุณโยทยาน รอง ผกก. จ.ตาก และบุญธรรม อินทรวรรณโน ผู้ใหญ่บ้านประดาง ร่วมเดินทางจนได้ตกลงกันตั้งค่ายฝึกพลพรรคต่อสู้ญี่ปุ่นขึ้นและมีกองบัญชาการที่ผาวอกใกล้กันกับหมู่บ้านห้วยเหลือง และที่นี่ยังมีหุบเขาโล่ง มีลานที่เป็นสนามบินขนาดเล็กได้

ค่ายบ้านห้วยเหลืองแห่งนี้มีความมิดชิดดีมากเมื่อมองลงมาจากเครื่องบินจะเห็นแต่บ้านม้งธรรมดา มีน้ำใสในลำธารให้ใช้ได้ตลอดปี มีอากาศสบายโดยได้เปิดค่ายฯ ฝึกสอนเหมือนโรงเรียนเสรีไทยแห่งอื่นซึ่งใช้ไร่ข้าวโพดและชายป่ารอบๆ เป็นสนามฝึกอาวุธ และซ้อมรบทั่วไป หากสิ่งสำคัญที่สุดของการเลือกฐานปฏิบัติการเสรีไทยคือ หมู่บ้านห้วยเหลืองสามารถรับคลื่นวิทยุจากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียได้ชัดเจน[7]

 


หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์

 

ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ ทรงบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทย ณ บ้านห้วยเหลือง จ.ตาก ไว้ในหนังสือปฏิบัติการเนโรเนียนว่า

 

“ผู้ใหญ่บุญธรรม อินทรสุวรรณโณ ผู้รู้ทางในป่า นำทางพวกเราขึ้นเขาไประหว่างวังเจ้ากับแม่สอด ผ่านนาโบสถ์ ค้างในป่าหนึ่งคืน เที่ยงวันรุ่งขึ้นไปถึงบ้านม้งห้วยเหลือง เราตกลงตั้งค่ายพลพรรคเพื่อฝึกอาวุธสู้กับญี่ปุ่น มีกองบัญชาการที่ผาวอกใกล้ๆ หมู่บ้านนี้ (ปัจจุบัน บ้านห้วยเหลือง อยู่ในเขตตำบลแม่ท้อ อ.เมืองตาก)

ค่ายที่เราเลือกนี้มิดชิดดีมาก ทางหนีทีไล่ดี มีน้ำใสเย็นตลอดปี อาหารสมบูรณ์ สำคัญที่สุดคือ ทิศทางยอดเยี่ยมเหมาะสำหรับส่ง-รับวิทยุ ได้ยินเสียงต๊อดๆ จากกัลกัตตา ชัดแจ๋วเหมือนส่งมาจากระยะร้อยเมตร

ข้าวของที่เครื่องบินมาทิ้งให้ครั้งนี้ มีปืนคาร์บิน ปืนสเตน (ปืนเล็กยาวธรรมดาสำหรับยิงระยะไกล) ปืนกลเบา ลูกระเบิดมือ ลูกปืนทุกชนิด ฯลฯ

รับของจากเครื่องบินครบถ้วน และฝึกพลพรรคไปบ้างแล้ว “ค่ายห้วยเหลือง” ก็ดูเหมือนกองร้อยทหาร

จริงๆ ค่ายนี้มีกำลังไม่เกิน 500 คน ระเบียบวินัยดี และคล่องตัวดีมากพร้อมรบตั้งแต่เดือนมิถุนายน (2488) คอยคำสั่งจู่โจมเท่าไรก็ยังไม่มี คอยตีญี่ปุ่นเวลาเขาถอยจากพม่ามาตามถนนแม่สอด - ตาก ตอนนี้รี้พลชักจะคันมือคันไกปืนกันแล้ว ยากที่สุดของการรบคือ การคอย”[8]

 

ส่วนพยุง ย. รัตนารมย์ เสรีไทยใน จ.ตาก[9] บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับปฏิบัติการเสรีไทยช่วงเวลานั้นไว้เช่นเดียวกัน

 

“ท่านอาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) ได้แบ่งสายงานออกเป็นภาคๆ โดยให้ผู้แทนราษฎรที่ท่านไว้วางใจเป็นหัวหน้าภาค และให้ผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่ปฏิบัติการเป็นหัวหน้าจังหวัดนั้นขึ้นตรงกับหัวหน้าภาค โดยขอรับความร่วมมือจากทางจังหวัดบ้างพอสมควร สำหรับภาคเหนือนี้มีคุณพึ่ง ศรีจันทร์ ส.ส.อุตรดิตถ์ เป็นหัวหน้าใหญ่ มี ส.ส. ตาก เป็นหัวหน้าจังหวัดตาก คือคุณหมัง สายชุ่มอินทร์…”[10]

 

พยุง ยังเล่าถึงงานชิ้นสำคัญในปฏิบัติการเสรีไทย จ.ตาก ว่าคือการคุมงานสร้างสนามบินลับที่ ต.โป่งแดง อ.เมืองตาก จ.ตาก โดยปิดเป็นความลับด้วยการบอกว่าจะทำไร่ส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพ และเก็บกักอาหารไว้ให้ราษฎรตามนโยบายของบริษัทจังหวัด[11]

จากบันทึกความทรงจำของปฏิบัติการเสรีไทยในจังหวัดตาก ข้างต้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของขบวนการเสรีไทยในประเทศที่สะท้อนให้เห็นความร่วมมืออย่างแนบแน่นของเสรีไทยและพลพรรคแนวร่วมฯ ในภูมิภาคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยมีปลายทางเพื่อนำประเทศไทยไปสู่เส้นทางแห่งสันติภาพและสำเร็จดังความมุ่งมาดปรารถนาในเวลาต่อมา[12]

 

บรรณานุกรม

หนังสือภาษาไทย :

  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร, (กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด, 2549)
  • นายฉันทนา, X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522)
  • ปรีดี พนมยงค์, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2516)
  • ปรีดี พนมยงค์, การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย ใน ปรีดีกับสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  •  พยุง ย. รัตนารมย์, “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และ เสรีไทยในจังหวัดตาก,” ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2541, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541)
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย, (คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546)
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546)

วิทยานิพนธ์ :

  • อนุสรณ์ ไตรสังข์, “บทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ในขบวนการเสรีไทย,” (วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2548) 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

[2] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), หน้า 137-140.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 146-147.

[4] ปรีดี พนมยงค์, การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย ใน ปรีดีกับสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 99.

[5] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546), หน้า 125-126.

[6] นายฉันทนา, X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522), หน้า 264-265.

[7] พยุง ย. รัตนารมย์, “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และ เสรีไทยในจังหวัดตาก,” ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2541, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541), หน้า 71-86. และ พยุง ย. รัตนารมย์. (24 สิงหาคม 2564). ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และ เสรีไทยในจังหวัดตาก.

[8] ชรินทร์ หาญสืบสาย. (17 พฤศจิกายน 2565). เสรีไทยและการปฏิบัติการเสรีไทยในตาก.

[9] พยุง ย. รัตนารมย์ ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นกรรมการฯ บริษัท ตากฯ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ เทศมนตรี และประธานสภาเทศบาลเมืองตาก

[10] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546), หน้า 421. 

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 423.

[12] สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 สิงหาคม 2564). ประกาศสันติภาพ โดย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์.