ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ฆาตกรรมทางการเมือง: จาก เตียง ศิริขันธ์ ถึง วันเฉลิม ผ่านได้หรือยัง? กับ พรบ. ซ้อมทรมาน อุ้มหาย

30
สิงหาคม
2564

รัฐประหาร 2490 จนถึง ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 จุดเริ่มต้นของการอุ้มหาย และ อุ้มฆ่า

ภายหลังเหตุการณ์ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” สิ้นสุดลง ในเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปฏิบัติการกวาดล้างและจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองได้เริ่มต้นขึ้น ภายใต้การบังคับบัญชาของ ‘พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์’ ซึ่งได้ตั้งกองบัญชาการปราบปรามขึ้นที่วังปารุสกวัน มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนซึ่งล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายนายปรีดี พนมยงค์ แทบทั้งสิ้น

 

27 กุมภาพันธ์ 2492: พ.ต. โผน อินทรทัต

 

‘พ.ต. โผน อินทรทัต’
‘พ.ต. โผน อินทรทัต’ 

 

‘พ.ต. โผน อินทรทัต’ อดีตเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 ในเหตุการณ์ขบวนการประชาธิปไตยฯ พ.ต. โผนทำหน้าที่เป็นโฆษกของคณะและเป็นแกนนำผู้ก่อการ

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 พ.ต. โผนถูกจับกุมที่กรมโฆษณาการ และถูกยิงจนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน โดยตำรวจรายงานว่า พบศพชายไม่ทราบชื่อที่อำเภอดุสิต จึงนำส่งโรงพยาบาล สภาพศพนั้นมีร่องรองการถูกยิงที่หน้าผากและท้ายทอย 

 

28 กุมภาพันธ์ 2492: พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492 ‘ร.ต.อ. อรรณพ พุกประยูร’ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกไปยังบ้านของ ‘พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข’ และได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมโดยอ้างว่า พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ทำการต่อสู้และขัดขืนขณะจับกุม แต่ลักษณะของศพที่ปรากฏนั้นคือนอนเสียชีวิตอยู่ที่หน้าตู้กระจกแต่งตัว โดยมือข้างหนึ่งยังคงกำมีดโกนแน่น ซึ่งในเวลาต่อมา ศพนั้นก็มิได้ผ่านกระบวนการการชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนจากแพทย์ในโรงพยาบาลแต่อย่างใด

นอกจากกระทำการสังหารอย่างโหดเหี้ยมแล้ว พนักงานสอบสวนยังได้ใช้วิธีการข่มขู่ผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ ดังกรณีของ ‘พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต’ ที่ให้การในชั้นศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ‘พ.ต.ต. ประชา บูรณธนิต’ บังคับขู่เข็ญให้ฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น ยิงตัวตาย และกินยาตาย จากความกดดันที่ได้รับในขณะนั้นพลตรี สมบูรณ์จึงตัดสินใจที่จะกินยาตาย โดยที่ พ.ต.ต. ประชาได้ผสมยาพิษลงไปในกาแฟ พร้อมทั้งได้บังคับให้พลตรี สมบูรณ์เขียนจดหมายลาบุตรและภรรยาด้วย แต่ยังไม่ทันที่พลตรี สมบูรณ์จะกินยาพิษที่ผสมอยู่ในถ้วยกาแฟ ก็ปรากฏว่าได้รับการขัดขวางจาก ‘พ.ต.ต. ศิริ คชหิรัญ’

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ ‘พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข’ จะเสียชีวิตนั้น ได้ทำการจับกุมฝิ่นล๊อตใหญ่เป็นจำนวน 5 ตันที่ลำปาง ซึ่งการจับกุมในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากกับผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนมีคำสั่งให้ต้องโยกย้าย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ด้วยความเป็นนายตำรวจที่ซื่อตรง ยอมหักไม่ยอมงอ ตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะเปิดโปง จึงพยายามสืบสาวที่มาที่ไปจนได้หลักฐานประจักษ์แจ้งว่า ฝิ่นดังกล่าวเป็นของ รองอธิบดีกรมตำรวจ ‘พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์’

จนในที่สุด ความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะเปิดโปงเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ‘พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข’ ถูกสังหารเสียก่อน

 

4 มีนาคม 2492: 4 อดีตรัฐมนตรีอีสาน

 

ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และ ทองเปลว ชลภูมิ

 

อีกหนึ่งความฉาวโฉ่ของวงการสีกากีเมืองไทย คือการสังหารเหยื่ออีก 4 ราย ซึ่งมิได้เข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยฯ แต่กลับถูกจับกุมและยิงทิ้งอย่างทารุณแถวทุ่งบางเขน คือ 4 อดีตรัฐมนตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และ ทองเปลว ชลภูมิ การฆาตกรรมสังหารนี้นำโดยหัวหน้ากองปราบปราม ‘หลวงพิชิตธุระการ’

หลังจากที่ 4 อดีตรัฐมนตรีถูกจับกุม ต่างถูกควบคุมตัวอยู่ต่างสถานที่กัน อันได้แก่สถานีตำรวจทั้ง 4 แห่ง คือ ปทุมวัน ยาวนาวา นางเลิ้ง และ สามเสน 4 มีนาคม 2492 วันเกิดเหตุ พ.ต.อ. หลวงพิชิตธุระการ ได้ไปยังสถานีตำรวจทั้ง 4 แห่งและเบิกตัวอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 ขึ้นรถ โดยอ้างว่าจะพาไปคุมขังที่เดียวกันคือ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน

รถจิ๊ปสเตชั่นเวกอนของตำรวจสันติบาล หมายเลข ก.ท. 10371 มุ่งหน้าไปยังทุ่งบางเขน ถนพหลโยธิน เมื่อถึงประมาณหลักกิโลเมตรที่ 14-15 หลวงพิชิตธุระการจึงได้กระทำการลั่นไกไปยังบุคคลทั้งสี่ เสียชีวิตในทันที 

 

1 เมษายน 2492: ดร.ทวี ตะเวทีกุล 

 

‘ดร.ทวี ตะเวทีกุล’ ดอกเตอร์อังดรัว ฝรั่งเศส อดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทย และเป็นคนสนิทของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’
‘ดร.ทวี ตะเวทีกุล’ ดอกเตอร์อังดรัว ฝรั่งเศส
อดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทย และเป็นคนสนิทของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ 

 

ภายหลังเหตุการณ์ขบวนการประชาธิปไตยฯ ‘ดร.ทวี ตะเวทีกุล’ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกออกหมายจับ และได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามกับเพื่อน เพื่อเตรียมตัวลงเรือหลบหนีไปยังประเทศสิงคโปร์ 

วันที่ 1 เมษายน 2492 ดร.ทวีกับเพื่อนๆ ถูกตำรวจเข้าจู่โจม ด้วยเหตุเพราะญาติของเพื่อนดร.ทวีไปแจ้งตำรวจว่ามีผู้ก่อการกบฏหนีมาซ่อนตัว ขณะที่ดร.ทวีกระโดดขึ้นแพลูกบวบเพื่อลงเรือในคลองฝรั่งซึ่งไหลไปสู่แม่น้ำแม่กลอง ได้ถูก ‘สิบโททองม้วน คงถาวร’  ยิงเข้าที่คอและหน้าอก ล้มคว่ำ สิบโททองม้วนยิงซ้ำอีกสองนัดจนดร.ทวีสิ้นใจ 

คำไว้อาลัย โดย ‘ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์’ ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ ดร.ทวี ตะเวทีกุล ได้เขียนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า 

“ข้าพเจ้าเห็นเลือดพุ่งอย่างกับน้ำพุจากคอพี่วี ข้าพเจ้าขนลุกเกรียว เขยิบจะเข้าช่วยก็พอได้ยินเสียงขู่สำทับว่า ‘มึงอยากตายอีกคนรึ’ ข้าพเจ้าต้องนั่งตัวเย็น เพราะปืนคารไบน์กระบอกเดียวกันนั้น จ่ออยู่ที่ขมับข้าพเจ้าเย็นเยือก 

ข้าพเจ้ามาทราบที่หลังว่ากระสุนหมด และร่างพี่วีพรุนไปทั่วตัวเพราะลูกปืนคาร์ไบน์รัวไปทั้งตับ พอดีตำรวจที่ดีนอกเครื่องแบบมาถึง จึงดึงข้าพเจ้าให้พ้นจากห้วงมรณะรอดมาได้ ผู้ที่มีความรู้สติปัญญาพร้อม ต้องดับอยู่บนแพลูกบวบ…”

 

12 ธันวาคม 2495: เตียง ศิริขันธ์, ชาญ บุนนาค, เล็ก บุนนาค, ผ่อง เขียววิจิตร และ สง่า ประจักษ์วงศ์

 

‘เตียง ศิริขันธ์’ ครูสามัญชน ผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และเป็นอีกกำลังสำคัญของขบวนการเสรีไทย
‘เตียง ศิริขันธ์’ ครูสามัญชน
ผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และเป็นอีกกำลังสำคัญของขบวนการเสรีไทย

 

ภายหลังรัฐประหาร 2490 เตียงและพวกถูกเล่นงานจากคณะรัฐบาล จึงหนีไปหลบซ่อนอยู่ที่ภูพาน ถิ่นเก่าที่เคยใช้ตั้งเป็นฐานลับปฏิบัติงานเสรีไทย โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในพื้นที่ ถึงแม้ทหารและตำรวจจะพยายามตามล่าตัวเตียงมากเพียงใด แต่ปฏิบัติการมักจะล้มเหลวในทุกครั้ง แม้แต่การตั้งค่าหัวที่สูงลิบก็ไม่เป็นผล เพราะเตียงเป็นที่รักและนับถือของชาวสกลนครเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของสมญานาม “ขุนพลภูพาน”

เตียงออกมามอบตัวกับทางการเนื่องจากทนไม่ได้ที่เห็นชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มเหงต่างๆ นานา เขาถูกฟ้องในข้อหาแบ่งแยกดินแดนและกบฏภายในราชอาณาจักร แต่ในที่สุดศาลได้พิพากษายกฟ้อง

บ่ายสองโมง วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ขณะที่นายเตียง ศิริขันธ์กําลังประชุมกรรมการนิติบัญญัตินัดพิเศษอยู่ที่บ้านมนังคศิลา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตํารวจและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ตํารวจมาเชิญตัวไปพบ จากนั้นนายเตียง ศิริขันธ์ก็หายสาบสูญไป เช่นเดียวกับ นายชาญ บุนนาค, นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ ซึ่งหายไปอย่างลึกลับในช่วงเวลาเดียวกันต่อมา

หลายปีต่อมา หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ถูก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้ว มีการรื้อคดีขึ้นมาสะสางใหม่โดย พล.ต.อ.ไสว ไสวแสนยากร ความจริงจึงปรากฏขึ้นมาว่า บุคคลทั้ง 5 ถูกตํารวจหลายนายร่วมกันสังหารอย่างโหดร้ายทารุณ แล้วนําศพทั้งหมดไปเผาและฝังในป่าเชิงเขาโล้น จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากทางแยกถนนลาดหญ้าที่กิโล เมตรที่ 9 ประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อทําลายหลักฐาน โดยรายละเอียดปรากฏในคำพิพากษาคดีย่างสด นายเตียง ศิริขันธ์ กับพวก (20 ตุลาคม 2502) คำพิพากษาระบุว่า

"ระหว่างคืนวันที่ 13 ต่อเนื่องถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2495 นายเตียง ศิริขันธ์ นายชาญ บุนนาค, นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ ถูกสังหารอย่างทารุณ จนถึงแก่ความตาย แล้วนำศพไปเผาเพื่อทำลายหลักฐาน" 

 

9 มีนาคม 2496: อารีย์ ลีวีระ 

 

นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้อำนวยการบริษัทไทยพาณิชย์ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ สยามนิกร และ พิมพ์ไทย อดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2494
นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้อำนวยการบริษัทไทยพาณิชย์
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ สยามนิกร และ พิมพ์ไทย
อดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2491 - 2494

 

‘อารีย์ ลีวีระ’ อดีตสมาชิกเสรีไทย เป็นหนึ่งในผู้ถูกจับกุมในข้อหา “กบฏสันติภาพ” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 และถูกปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา ภายหลังการปล่อยตัวได้ราว 1 เดือน ในวันที่ 9 มีนาคม 2496 อารีย์ถูกยิงเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 40 ปี ขณะที่ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ที่บ้านพักหนองแก หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตำรวจยศสิบโท และพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ ‘พ.ต.ท. ศิริชัย กระจ่างวงศ์’ หนึ่งในนายตำรวจผู้ใกล้ชิดกับ ‘พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์’

 

23 มีนาคม 2497: พร มะลิทอง ถูกบังคับให้สูญหาย

‘พร มะลิทอง’ ลูกศิษย์คนสนิทของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ นักการเมืองฝีปากกล้าที่สร้างความไม่พอใจให้แก่คณะรัฐประหาร และเคยวิพากษ์วิจารย์การทำงานของ ‘พล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์’ ถึงขั้นชี้หน้าด่ากลางสภาอย่างไม่กลัวอิทธิพลที่จะตามมา 

บ่ายวันที่ 22 มีนาคม 2497 ส.ส.พรได้ขับรถออสตินสีเขียวออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปพบกับนายตำรวจยศพันตำรวจเอกซึ่งเป็นคนสนิทของพล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์ ที่กองตำรวจสันติบาล ก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับ

คดีการหายตัวไปของส.ส.พร ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่มีแม้กระทั่งการตั้งทีมเพื่อสอบสวน เสมือนกับเป็นการรับรู้กันภายในว่าเกิดอะไรขึ้นกับบุคคลผู้นี้ หรืออาจจะเป็นใบสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไม่ต้องมีใครต้องเข้ามายุ่งกับการหายตัวไปของบุคคลผู้นี้ คดีของส.ส.พร จึงถูกปิดตาย และถูกทำให้ลืมเลือนออกไปสารบบของตำรวจในยุคนั้น 

3 ปีต่อมา เมื่อหมอกในยุคทมิฬเริ่มเบาบางลง อำนาจรัฐตำรวจที่อยู่ในมือของผู้สั่งการถึงคราวต้องจบลง เมื่อ พล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์ ถูกเนรเทศไปยังสวิตเซอร์แลนด์ คดีต่างๆ ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในยุคของรัฐบาล ‘จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ 

‘พร มะลิทอง’ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารด้วยการฆ่ารัดคอ และถูกนำร่างที่ไร้วิญญาณไปถ่วงทิ้งที่แม่น้ำเจ้าพระยา

 

13 สิงหาคม 2497: หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา 

‘หะยีสุหลง’ ผู้นำและปัญญาชนของชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ปี 2490 ได้เสนอข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีของชาวมุสลิมในพื้นที่ 7 ข้อ ในรัฐบาลของ ‘พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ เมื่อเกิดรัฐประการ 2490 ข้อเรียกร้องเหล่านั้นจึงถูกมองว่าเป็นกบฏสร้างความไม่มั่นคงต่อราชอาณาจักร เขาถูกจำคุกข้อหากล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายให้กับประชาชนในท้องถิ่น ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 8 เดือน เมื่อพ้นโทษออกมายังถูกคุกคามจากอำนาจของรัฐ

วันที่ 13 สิงหาคม 2497 หลังจากละหมาดเสร็จในตอนเช้า ‘หะยีสุหลง’ และ ‘อาหมัด โต๊ะมีนา’ (ลูกชาย) ได้เดินทางออกจากบ้านพักที่จังหวัดปัตตานี เดินทางไปยังกองบังคับการตำรวจสันติบาล จังหวัดสงขลา พร้อมผู้ติดตามอีก 2 คน และตั้งแต่วันนั้น ทั้ง 4 คนได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าทั้งหมดได้ถูกบังคับให้สูญหายโดยเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้การบังคับบัญชาของ ‘พล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์’

การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของหะยีสุหลงเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไกลออกไปจนถึงประเทศมาเลเซีย แต่การติดตามความคืบหน้าก็ยังคงเป็นดังเช่นกรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น คือไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่มีหน่วยไหน กองไหน กรมไหนเข้ามาทำการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง และในที่สุด คดีนี้จึงถูกปิดตาย ดังเช่นคดีการหายตัวไปของบุคคลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ซ้ำรอยเดิม 

จนเมื่อปี 2500 ภายหลังการปฏิวัติได้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดย พลตำรวจตรี ฉัตร หนุนภักดี และในที่สุด ตำรวจที่ลงมือสังหารจึงได้สารภาพว่าได้นำตัวทั้ง 4 คนไปยังบังกะดลริมทะเลสาบสงขลา และลงมือฆ่ารัดคอจนทุกคนถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะคว้านท้องศพทั้งหมด และอำพรางด้วยการนำศพไปผูกไว้ยังแท่งซีเมนต์กลางทะเลใกล้กับเกาะหนู เกาะแมว 

‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’ ได้เขียนถึงกรณีการสังหารหะยีสุหลงและพวกไว้ในหนังสือ ชีวิต มุมมอง ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ดังมีใจความต่อไปนี้ 

“ครอบครัวของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ได้จัดงานรำลึกครบรอบ 62 ปีการสูญหายของหะยีสุหลงที่บ้านของเขาในจังหวัดปัตตานี สมาชิกครอบครัวของหะยีสุหลงซึ่งมีความสนิทสนมกับตน โดยเฉพาะพี่เด่น โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาช่วงเดียวกับตนและเป็นบุคคลที่ตนเคารพนับถือมาก คือ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา เชิญตนไปร่วมงานด้วย 

ตนก็เลยใช้โอกาสนี้ขอโทษครอบครัวของหะยีสุหลงในนามของครอบครัวชุณหะวัณ เพราะหะยีสุหลงหายตัวไปภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศหลังการรัฐประหารปี 2490 ที่นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ และอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้นก็คือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลุงเขยของตน 

ช่วงเวลานั้นมีนักการเมือง ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นสูญหายหรือเสียชีวิตหลายคน รวมทั้งหะยีสุหลงด้วย และตนก็เชื่อว่าลุงเขยของตนเป็นคนออกคำสั่ง

ผมกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสมาชิกครอบครัวของหะยีสุหลงราว 80 กว่าคน ผมยอมรับว่าครอบครัวผมมีส่วนในเรื่องนี้ แล้วก็เล่าข้อมูลเท่าที่ผมรู้ให้ฟัง ครอบครัวเขาต้องอยู่กับความเศร้าโศกมานานหลายสิบปี ทุกปีก็จะจัดงานรำลึกกัน ผมเชื่อว่าการได้รับรู้ข้อมูลและคำขอโทษจากปากผมจะทำให้ทายาทของหะยีสุหลงสบายใจขึ้น ตัวผมเองก็รู้สึกสบายใจด้วยที่ได้ขอโทษออกไป และถ้ามันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมก็พร้อมจะไปขอโทษครอบครัวอื่นๆ อีกที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของบุคคลในครอบครัวผมในอดีต”

 


สารคดี “คำขอโทษ”
จัดทำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563 

 

จากอดีตถึงปัจจุบัน ในวันที่โลกก้าวเดินไปข้างหน้า แต่อุ้มฆ่า อุ้มหาย ยังคงอยู่

 

ที่มา: https://www.amnesty.or.th/
ที่มา: https://www.amnesty.or.th/

 

70 กว่าปี จากเหตุการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีการอุ้มหายและซ้อมทรมานบุคคลเห็นต่างทางการเมืองเรื่อยมา ด้วยการลงมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ดดยตำรวจ โดยทหาร มีการสังหารโหดอย่างทารุณ บางรายพบศพด้วยความบังเอิญ แต่ส่วนใหญ่ หายไปอย่างไร้ร่องรอบ ไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง 

หากผู้ใดลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับพื้นที่หรือชุมชน เรียกร้องหาความเป็นธรรมที่ถูกอำนาจรัฐเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหง พวกเขาเหล่านั้นจะถูกทำให้สูญหาย 

จากข้อมูลผู้สูญหายในประเทศไทยตั้งแต่ปีพศ. 2534 - 2563 ประมวลโดย ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เกิดกรณีสูญหายของบุคคลที่พบหลักฐานว่าสูญหายทั้งสิ้น 75 กรณี เป็นจำนวน 101 ราย 

 

เมื่อรัฐประหารมาพร้อมกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย 

ตั้งแต่การรัฐประหารโดยคณะคสช. (22 พ.ค. 2557) โดย ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ จนถึงวันนี้ในปี 2564 มีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในรัฐบาลนี้เป็นจำนวน 9 ราย โดยรายสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 คือ ‘วันเฉลิม ศักดิ์สัตย์สิทธิ์’ ที่ประเทศกัมพูชา จนถึงวันนี้ผ่านเวลามากว่า 1 ปี ยังคงไร้วี่แววของวันเฉลิม คดีความไม่คืบหน้า ไม่มีหน่วยงานใดของรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษา ไม่ว่าญาติผู้เสียหายจะเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรม ต่างก็ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมเลยสักครั้ง 

 

ภาพ: แผ่นป้ายระบุข้อความ "ตามหาคนหาย MISSING" พร้อมรูปภาพของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกนำมาติดไว้ริม ถ.พหลโยธิน ย่านอารีย์ ที่มา: สำนักข่าว BBC
ภาพ: แผ่นป้ายระบุข้อความ "ตามหาคนหาย MISSING"
พร้อมรูปภาพของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกนำมาติดไว้ริม ถ.พหลโยธิน ย่านอารีย์
ที่มา: สำนักข่าว BBC

 

การนิ่งนอนใจของภาครัฐ กลับชี้ให้เห็นและเข้าใจว่า การหายตัวไปของวันเฉลิมหรือบุคคลอื่นๆ ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐ เพราะการไม่ได้รับความร่วมมือเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังถูกปิดสวิทซ์ทุกช่องทางที่มีทางจะสามารถหาหลักฐาน ความเป็นไปได้ในการออกตามหาวันเฉลิม

 

การผลักดัน พรบ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พรบ. ฉบับนี้ จะไม่ถูกอุ้มหายในสภา

 

ที่มา: The Matter
ที่มา: The Matter

 

มีความจำเป็นแค่ไหนกับพรบ. ฉบับนี้ ต้องตอบว่า “จำเป็นมาก” และถึงแม้จะยื่นกันไปกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ต่างก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไม หรือเพราะเหตุใด พรบ. ฉบับนี้ถึงถูกจับไปวน จนเรื่องนั้นถูกทำให้ลืมเลือนและเหมือนจะถูกทำให้สูญหายไป...ในรัฐสภา

สาระสำคัญของ พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย มีอยู่ว่า 

1. ให้การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ที่กระทำและผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นหรือละเลยต้องถูกลงโทษ

2. ให้คดีทรมานและอุ้มหายไม่มีอายุความ ต้องสอบสวนจนกว่าจะรู้ชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหาย 

3. มีกลไกป้องกันและตรวจสอบ เช่น ญาติ ทนาย หรือกรรมการมีสิทธิพบผู้ถูกควบคุมตัว ให้บันทึกสถานที่และสภาพร่างกายระหว่างควบคุมตัว

4. ให้ศาลตรวจสอบถ่วงดุลการใช่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และอำนาจหน้าที่กำหนดวิธีเยียวยาความเสียหาย

5. มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน เยียวยาความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

6. ให้พนักงานอัยการการควบคุมการสอบสวน ไม่ต้องส่งคดีให้ ป.ป.ช และ ป.ป.ท. ให้ศาลพลเรือนเป็นผู้พิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน

7. ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเรียกร้อง กำหนดนโยบายเยียวยาและป้องกันการละเมิด โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนผู้เสียหาย ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ พิสูจน์หลักฐาน และสิทธิมนุษยชน

8. ให้สามี ภรรยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน และ ผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียน เป็น “ผู้เสียหาย” สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยา

9. คุ้มครองผู้เสียหายที่ร้องเรียนและพลเมืองดี ที่แจ้งกรณีทรมาน หรือ อุ้มหาย หากกระทำโดยสุจริต 

10. ให้การทรมานอุ้มหายเป็นความผิดสากล โดยไม่มีเหตุยกเว้น ห้ามส่งบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย รวมทั้งไม่ให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการทรมาน 

อ่านจบทั้ง 10 ข้อ สาระสำคัญแล้ว จึงพอนึกออกแล้วว่า เพราะเหตุอันใด เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่สามารถให้พรบ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เสียที  

 

แหล่งข้อมูล: