Focus
- ครอบครัว “สวัสดิวัตน” เป็นครอบครัวที่มีชีวิตชีวามิใช่น้อย ทั้งการที่สมาชิกในครอบครัวได้เข้าร่วมและสัมผัสกับสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เข้าร่วมและรับรู้กิจกรรมของขบวนการเสรีไทย อยู่อาศัยในอังกฤษ และท่องเที่ยวไปในบางประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองและหลังจากนั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
- “หนิ่ง” หรือ ม.ร.ว. สายสิงห์ สวัสดิวัตน ลูกสาวที่ดูฉลาดและมีอารมณ์ขัน สะท้อนในข้อเขียนชิ้นนี้ว่า “พ่อ” คือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ผู้เป็นพี่ชายของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีนั้น เป็นผู้มีอารมณ์ขัน รักในการสร้างสรรค์ทางการละครทั้งของไทยและต่างประเทศ และการทำอาหาร และใส่ใจความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัว
- ในความทรงจำของ “หนิ่ง” ที่เขียนถึง “พ่อ” สะท้อนถึงสัมพันธภาพที่อบอุ่นของพ่อแม่และลูกๆ แม้จะมีการแข็งข้อกันบ้างระหว่างพ่อและแม่ของ “หนิ่ง” บ้างนั้น ก็เป็นภาพที่น่ารัก หาใช่ความรุนแรง และเป็นไปภายใต้ความพยายามรักษาความเป็นไทยเอาไว้อย่างเต็มที่
- ครอบครัว “สวัสดิวัตน” ยังเป็นตัวอย่างหนึ่งของครอบครัวชนชั้นสูงแบบสมาชิกราชวงศ์ที่ในที่สุด ก็ปรับตัวเข้ากันได้อย่างกลมกลืนกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
วันหนึ่ง ตอนปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสิ้นสุดลง โรงเรียนราชินี เพิ่งพานักเรียนอพยพกลับจากวัดชีโพน อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ไม่นาน หนิ่ง กำลังวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณลานบ้านวัดสามปลื้ม ก็มีคนมาตามบอกว่า คุณยายให้หา ให้ขึ้นไปที่ห้องนอนคุณยาย
หนิ่งก็รีบวิ่งตื๋อไปหาคุณยายตามคำสั่ง ก็พอดีพบพี่หน่อยลงมาจากบนตึกใหญ่ พี่หน่อยก็สงสัยว่า คุณยายเรียกตัวทำไม
เราทั้งสองเข้าไปในห้องนอนคุณยาย เห็นผู้ชายตัวสูงใหญ่ยืนอยู่กับคุณยาย เสียงคุณยายบอกว่า มาหาพ่อซี
จำได้ว่า ไม่ได้ดูหน้าดูตาพ่อเลย วิ่งโผเข้าหาเลย แต่ก็คงให้พี่หน่อยหาก่อน
เสียดายจังเลยที่ตอนนั้นยังไม่รู้จักเขียน diary เลยไม่รู้ว่าวันที่ได้พบพ่อครั้งแรก หลังจากที่เราจากกัน 11 ปีครึ่งกว่า ตั้งแต่เมื่อหนิ่งอายุ 4 เดือนนั้น ตรงกับวันที่เท่าไหร่ของเดือนสิงหาคม
ที่จริง หนิ่งจำเหตุการณ์อะไรอื่นอีกไม่ได้เลย เข้าใจว่าเราคงนั่งเงียบกริบ จ้องดูพ่อคุยกับคุณยาย นึกแปลกใจว่าตอนพ่อมาถึง ทำไมเราไม่เห็น
คุณยายเล่าให้ฟังภายหลังว่า พ่อเล็ดลอดเข้ามาในประเทศ เพื่อช่วยรบญี่ปุ่น และบอกว่าพ่อเป็นเสรีไทย แต่เราก็ไม่เข้าใจเรื่องราว
จำได้แต่เพียงว่า ต่อมากี่วันก็ไม่รู้ พ่อให้พี่หน่อยกับหนิ่งไปพักกับพ่อ ที่บ้านคุณประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ ซึ่งทำงานเสรีไทยเหมือนกัน และได้พบ อาแสวง กุลทองคำ กับพี่แต๋ว (คุณหญิงสมจิตร กุลทองดำ) ซึ่งเป็น เสรีไทยด้วย และอาอู (ประสิทธิ์ วินิจฉัยกุล) ซึ่งคุยสนุก ตลก และเป็นผู้ให้นาฬิกาข้อมือเรือนแรกแก่หนิ่ง ยี่ห้ออะไรจำไม่ได้ จำได้แต่เพียงว่าเป็นนาฬิกาเก่า หน้าปัดสีเหลืองด้วยความเก่า แต่หนิ่งก็รักและทะนุถนอมใช้อยู่หลายปี จนได้เรือนยี่ห้อ Jaeger-leCoultre เมื่อพ่อแม่ซื้อมาฝากจากประเทศสวิสส์
วันสำคัญที่จดจำไม่มีวันลืมอีกวันหนึ่ง ก็คืองานวันเกิดครบ 12 ปีของหนิ่ง เมื่อพ่อพาคุณยาย พี่หน่อยและหนิ่ง ไปเลี้ยงข้าวมื้อพิเศษที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เข้าโรงแรม ใช้ส้อมใช้มีดไม่เป็น แต่ก็ตื่นเต้นที่สุด
เหตุการณ์สำคัญอีกครั้ง ก็เมื่อคุณยายพาพี่หน่อยและหนิ่งไปยืนดูสวนสนามพลพรรคเสรีไทย ได้เห็นพ่อเดินนำแถวเสรีไทยจากอังกฤษ เสียดายจนทุกวันนี้ว่าเราไม่มีรูปถ่ายพ่อเดินแถววันนั้นเลย
หลังจากการเดินสวนสนามแล้ว เข้าใจว่าพ่อคงไปพักกับเราที่บ้านบางกะปิของคุณยาย (คือบ้านซอยบรรณสาร ปัจจุบัน) มาถึงตอนนี้ พ่อคงบอกข่าวดีแก่เราแล้ว ว่าอังกฤษอนุญาตให้พ่อพาพี่หน่อย หนิ่ง และคุณยาย ไปอังกฤษพร้อมครอบครัวของทหารอังกฤษอื่นๆ ได้
คุณยายต้องพาเราตัดเสื้อผ้า เตรียมเดินทาง
แล้ววันที่เท่าไรก็จำไม่ได้ ของเดือนธันวาคม 2488 เข้าใจว่าเป็นระยะต้นๆ เดือน เราก็ได้ออกเดินทางด้วยเครื่องบินทหาร ไปเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียใช้เวลาเดินทางนานเท่าไรจำไม่ได้ แต่ต้องแวะเมืองร่างกุ้ง สงสารพี่หน่อย เมาเครื่องบินไม่มีดี
เมื่อไปถึงกัลกัตตา หนิ่งตื่นเต้นตลึงกับสภาพ “เมืองนอก” ตึกรามบ้านช่องสวยงาม โก้หรู ได้พักแฟลตของ Uncle Peter (Colonel Peter Pointon แห่ง Force 136) มีชายรับใช้ชาวอินเดียแต่งชุดโก้ คอยดูแลพวกเรา แต่พ่ออยู่กับเราได้ไม่กี่วัน ก็มีโทรเลขตามตัวให้กลับเมืองไทย อาป๋วย (ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ซึ่งอยู่ที่กัลกัตตาขณะนั้น ต้องรับภาระดูแลพวกเรา จนกว่าจะส่งเราขึ้นรถไฟไปลงเรือที่เมืองบอมเบย์ได้ แต่ก็เผอิญว่า เราต้องอยู่ต่อที่กัลกัตตาถึง 2 อาทิตย์ อาป๋วยไม่รู้จะทำอะไรกับพวกเราดี ก็เลยพาดูหนังเสีย 8 เรื่องใน 2 อาทิตย์ สนุกมาก อาป๋วยคงจะโล่งอกเมื่อรู้กำหนดเรือจะออกจากท่าเมืองบอมเบย์แล้ว และสามารถจับพวกเราส่งขึ้นรถไฟไปเสียได้
หนิ่งจำไม่ได้แล้วว่าพ่อกลับถึงอังกฤษเมื่อไหร่ เข้าใจว่าประมาณเดือนสิงหาคม 2489 เมื่อพ่อกลับมาแล้ว เราก็ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกันนัก เพราะพ่อมีงานราชการต้องทำ ส่วนพวกเราเด็กๆ ก็ไปโรงเรียน อยู่โรงเรียนประจำ ที่จริง เมื่อพ่อพ้นภาระหน้าที่ราชการแล้ว เราจึงได้รวมกับพ่อแม่ลูกอย่างใกล้ชิด
สงสารพ่อที่ว่า พ่ออยากให้เราเล่นกอล์ฟ พยายามสอนพวกเรา แต่เราไม่เอาไหน จนพ่อต้องเลิกสอนไปเอง พ่อพยายามสอนให้เราเล่นบริดจ์ เพราะบอกว่าเรามี 4 พี่น้องพอดี แต่เราก็ไม่เอาไหนอีก จะเล่นแต่ Whist, Canasta หรือตีต๊อก
เราเป็นลูกที่ไม่น่ารัก ไม่ค่อยเอาใจพ่อ คอยแต่จะเอาใจแม่ เวลาพ่อเข้าครัวแต่ละที ทุกคนหัวหมุน เพราะพ่อมักใช้หม้อไหเป็นพะเนินเทินทึก ครั้งหนึ่งพ่อตำน้ำพริกกะปิให้พวกเรา พ่อทดลองใส่เหล้าเชรี่เสียครึ่งครก ผลก็คือ ต้องเทน้ำพริกถ้วยนั้นทิ้ง เพราะรสชาติประหลาดมาก
พ่อมักพูดเสมอว่า เลือดสุจริตกุลชอบแสดงละคร ตัวพ่อเองชอบจัดละครตั้งแต่สมัยทำรีวิววังไกลกังวล งานชุมนุมนักเรียนสามัคคีสมาคมที่อังกฤษ พ่อเป็นผู้จัดการแสดงอยู่หลายปี หลังจากที่กลับมาอยู่เมืองไทยแล้วใน พ.ศ. 2495 เวลามีงานคชสิงห์รีวิว ซึ่งเป็นงานบันเทิงประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ สมเด็จอามักจะพระราชทาน 1 ฉาก พ่อก็จะเป็นผู้ควบคุมการแสดง แต่งานแสดงที่ยิ่งใหญ่มาก เห็นจะได้แก่งานแสดงหน้าพระที่นั่ง วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย H.R.H. Princess Alexandra of Kent เสด็จพระราชดำเนินมาเสวยพระกระยาหารค่ำที่สวนเสมา ประมาณ พ.ศ. 2506-2507 ค่ำวันนั้น แม่จัดอาหารตามพระราชนิพนธ์เห่เรือในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ระหว่างที่เสวย พ่อจัดให้คนงานสาวๆ พายเรือในสระใหญ่หน้าแพที่ประทับ และพ่อขอให้ภริยากรมการจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ภริยาท่านผู้ว่าราชการจัดหวัง ลงมาเป็นผู้ร้องเพลงเห่เรือพระราชนิพนธ์ อันที่จริง ก่อนเริ่มเสวยพระกระยาหาร พ่อจัดให้คนงานทั้งหลายของสวนเสมา แห่คบเพลิง รำกลองยาว นำพืชผลของสวนเสมา ได้แก่ มะพร้าว ผัก สลัดต่างๆ และแตงแคนทาลูป มาถวาย พ่อจัดให้ขบวนแห่นี้เดินเลี้ยวลดคดเคี้ยวเป็นทางไกล ให้ได้ยินเสียงโห่ร้อง เสียงกลอง เสียงเพลง และแสงระยิบระยับของคบเพลิงมาแต่ไกล ผู้ที่นั่งอยู่ที่แพพระที่นั่งเล่าว่า สวย สนุก และตื่นตาตื่นใจมาก เผอิญหนิ่งไม่ได้เห็น เพราะพ่อมอบหน้าที่ให้เป็นผู้กำกับเวที วิ่งกำกับให้ทุกคนทำตามที่พ่อได้ซ้อมไว้ เสียดายที่สุด พวกเราหารูปงานที่แสนสำคัญนี้ไม่ได้เลย เพราะพี่ต้อต้องช่วยรับแขก และช่างภาพประจำครอบครัว คือ ปิ๋ง ก็เพิ่งอายุ 5-6 ขวบเท่านั้น
พ่อชอบเขียนบทละคร มีอยู่เรื่องหนึ่งที่แม่ชมว่าพ่อแต่งดีมาก พ่อแต่งตั้งแต่พ่อยังเป็นทหารปืนใหญ่ แต่งให้พวกทหารลูกน้องแสดง แม่บอกว่าแต่งดีกว่าเรื่อง “Journey’s End” ของฝรั่งอีก ตอนนี้ หนิ่งก็จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว และหนิ่งก็เป็นคนทำบทละครเรื่องนั้นหาย พ่อดัดแปลงละครเรื่อง “Ten Minutes Alibi” เป็นภาษาไทย แล้วเรียบเรียงเป็นฉบับภาษาอังกฤษด้วย จัดแสดงทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อหารายได้ตั้งกองทุนประชาธิปก ถวายสมเด็จอา ภาคภาษาไทย มีคุณประโพธ เปาโรหิตย์ เป็นผู้ร้าย หม่อมวิภา ตัวพันธุ์ เป็นนางเอก ส่วนภาคภาษาอังกฤษ มีคุณวิลาศ บุนนาค เป็นผู้ร้าย และพี่หนุ่น เป็นนางเอก และพ่อยังเริ่มดัดแปลง เรื่อง “The Little Hut” เป็นภาษาไทย แต่เสียดายที่ทำไม่เสร็จ บทละครที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นผลงานของพ่อ ได้แก่เรื่อง “อริยวิถี” ซึ่งเป็นละครพุทธประวัติ ประกอบการร่ายรำ เรียบเรียงในรูปทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง พ่อขออาจารย์มนตรี ตราโมท ช่วยกำหนดเพลงให้ แต่ละครเรื่องนี้ แม้แต่พ่อก็ไม่กล้าจัดแสดงบนเวที เพราะยากมาก ได้แต่พิมพ์บทละครเผยแพร่ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของคุณยาย
เมื่อคุยเรื่องพ่อ ต้องนึกถึงอาหารอร่อยควบคู่ไปด้วย เพราะพ่อ enjoy อาหารจริงๆ สมัยอยู่ Bridge House ที่อังกฤษด้วยกันตอนหลังสงคราม เมืองอังกฤษยังมีปันส่วนอาหารตลอด ถึงแม้แม่จะพยายามทำอาหารอร่อยๆ ให้พวกเรากินอย่างสุดฝีมือ แต่ก็ย่อมไม่ได้อย่างที่พ่อเคยกินก่อนสงคราม สำหรับหนิ่งไม่รู้สึกเดือดร้อนเลย เพราะเราก็ไม่รู้จักอะไรที่ดีกว่านี้ แต่เมื่อตอนเราจะกลับเมืองไทยสิ ตอนเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 พ่อแม่พาพี่หน่อยกับหนิ่งขับรถเที่ยวยุโรป ก่อนที่พ่อแม่จะลงเรือกลับเมืองไทยที่ Genoa (ตอนนั้น พี่ต้อกลับเมืองไทยแล้ว และพี่หนุ่นต้องฝึกงาน) เป็นครั้งแรกที่เราได้ออกนอกประเทศอังกฤษ สมัยนั้น มีการกำหนดจำนวนเงินที่อนุญาตให้นำออกนอกประเทศได้ ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากแม่เป็นผู้ถือกระเป๋าเงิน และคอยระมัดระวังการใช้เงินอย่างที่สุด แต่พ่อลืมตัว พอถึงเวลากิน พ่อก็จะไปตามร้านที่พ่อเคยไปสมัยก่อนซึ่งแพงมาก พ่อก็สั่งอาหารอย่างลืมตัวเพื่อให้ลูกๆ ได้รู้จักอาหารฝรั่งเศสอร่อยๆ และพ่อก็จะบอกว่า คนฉลาดต้องรู้จักชิม รู้จักลองอาหารแปลกๆ เสมอ
เวลาพ่อเห็นเรากินอร่อยก็มีความสุข แต่จริงๆ แล้ว พ่อควรให้เราลิ้มลอง 2-3 มื้อก็พอ แต่พ่อไม่ทำอย่างนั้น แม่ก็เดือดร้อน กลัวว่าเงินจะไม่พอ เพราะออกจากปารีสแล้ว พ่อแม่ต้องการพาเราไปเที่ยวแถวเมืองที่พวก French Impressionist artists เขียนรูป ต้องการพาเที่ยว สวิสส์ อิตาลี ไปจนถึงเวนิส ฟลอเรนซ์ โรม เพราะฉะนั้น พอถึงเวลากิน มักเป็นเวลาที่หมดสนุก เพราะแม่จะทำหน้าไม่พอใจ พ่อก็เลยพลอยหมดสนุกไปด้วย ส่วนเราก็เห็นใจทั้งพ่อทั้งแม่ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง แต่ขนาดกระเหม็ดกระแหม่เรื่องอาหาร หนิ่งยังจำได้ ตอนค้างที่โรงแรม Beau Rivage อันแสนโก้หรูที่ Geneva หนิ่งปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แทบทั้งคืน เพราะท้องร้องทุกข์ว่าทนไม่ไหวแล้ว กินเข้าไปมากเกินไปแล้ว หลังจากนั้น จำต้องลดปริมาณอาหารโดยปริยาย
พ่อเป็นพ่อที่รักและหวงลูกมาก พ่อรู้สึกโล่งใจที่เห็นพี่ต้อกลับเมืองไทย หมดปัญหาเลือกคู่เป็นฝรั่ง แต่วันหนึ่ง ก่อนที่พ่อแม่และหนิ่งจะกลับเมืองไทย พี่แกรี่ขออนุญาตมาหาพ่อแม่ที่ Bridge House แม่ก็เชิญให้พี่แกรี่อยู่รับประทานอาหารกลางวันด้วย พ่อรู้ทันทีว่าที่พี่แกรี่จะลงมาหานั้น เพราะสนใจและรักพี่หน่อย ซึ่งพ่อเรียกว่า “อีคุณหญิงสดิ้ง” ของพ่อ และความที่พี่หน่อยมีความเป็นกุลสตรีไทยมากที่สุด พ่อก็หวังฝากผีฝากไข้ แต่นี่อะไร “อีคุณหญิงสดิ้ง” ของพ่อคิดจะแต่งงานกับฝรั่งหรือ พ่อหน้าตูมมีความทุกข์อย่างที่สุด มิหนำซ้ำ ยังเอาดาบซามูไรมาวางพาดตักและก็พูดว่า “Over my dead body” ซึ่งพวกเราเห็นขำที่สุด หนิ่งจำไม่ได้แล้วว่าในที่สุดพ่อพูดว่ายังไงบ้างกับพี่แกรี่ แต่ในที่สุดพี่แกรี่ก็ตามมาแต่งงานกับพี่หน่อยที่เมืองไทยจนได้
คุณยายและแม่กำหนดจัดงานแต่งงานให้ที่สวนเสมา ในวันที่ 24 สิงหาคม 2497 หนึ่งวันหลังวันเกิดพ่อ จัดเป็นงานเล็กๆ มีทำบุญเลี้ยงพระเพล คุณยาย พ่อแม่รดน้ำ แล้วก็จดทะเบียนสมรส พี่หนุ่นกับหนิ่ง เราสนุกกันมาก เราช่วยกันจัดดอกไม้หน้าพระ เตรียมอะไรๆ กันเอง แต่พ่อนั่งหน้าตูมไม่ยอมพูดยอมจาเลย นอกจากบอกว่า “This is the most miserable birthday I've ever had” ซึ่งเราก็เห็นตลกชะมัด นอกจากพี่แกรี่กับพี่หน่อย ซึ่งพลอยใจห่อเหี่ยวไปด้วย
งานแต่งงานที่สนุกที่สุดเห็นจะได้แก่งานแต่งงานของศิริและหนิ่ง พ่อแม่จัดให้ที่สวนเสมา แม่อ่านหนังสือไม่รู้กี่เล่มเกี่ยวกับประเพณีงานแต่งงานของไทยทั้งในส่วนกลาง ของภาคเหนือ ภาคอิสาน ฯลฯ แล้วแม่ก็เลือกพิธีกรรมที่แม่ชอบ ส่วนพ่อก็นึกในแง่การจัดแสดง เช่น แม่จะให้มีแห่ขันหมาก พ่อก็ต้องให้จัดเป็นขบวนใหญ่ยิ่งเดินเข้ามาจากถนนใหญ่ เอาคนงานช่วยกันแห่ มีเกวียนเข้าขบวนด้วย ตอนส่งตัวพ่อก็ต้องให้มีแห่คบเพลิง แม่นึกสนุกถึงกับสร้างเรือนไทยเล็กริมสระน้ำให้เป็นเรือนหอ พอพ่อเห็นเรือนหอใกล้จะเสร็จ พ่อก็นึกสนุกเข้ามาช่วยแม่ แม่ต้องการทำรั้วไม้สูงเหมือนเรือนไทยแท้ๆ แต่พ่อเกรงว่าจะไม่สะดวกกับการถ่ายรูป จะให้ทำรั้วเตี้ยๆ แม่ก็โกรธว่าทำไมต้องมายุ่งกับแผนของแม่ พ่อก็น้อยใจกระโดดลงสระน้ำ หนิ่งไปจากกรุงเทพฯ ไปถึงตอนพ่อกระโดดลงสระน้ำพอดี ก็รีบกระโดดตามลงไปปลอบพ่อ พอถึงวันงาน ทุกอย่างเรียบร้อยสวยงาม พ่อเป็นช่างภาพทั้งภาพนิ่งและภาพยนตร์ 8 มม. ตามเรื่องว่า National Geographic Magazine เขาจะขอภาพจากพ่อไปลงในนิตยสารว่าเป็นงานแต่งในชนบท พอจบงานแล้ว พ่อจึงพบว่า พ่อลืมเปิดหน้ากล้อง เราก็เลยไม่มีรูปงานแต่งงานของเราเลย
มาถึงตอนนี้ มองย้อนกลับไปเมื่อสมัยพ่อยังทำสวนเสมา อดโกรธตัวเองไม่ได้ ที่ไม่ยอมสนใจงานของพ่อ ทั้งๆ ที่พ่ออยากให้ลูกๆ มีส่วนช่วยพ่อเหลือเกิน บ่อยครั้ง พ่อคงอดคิดไม่ได้ ว่าทำไมพ่อถึงไม่มีลูกชายมาเป็นพวกพ่อมั่ง หนิ่งทำแต่งานวิทยุ และก็บอกแก้ตัวกับตัวเองว่า ไม่เป็นไร มีพี่ต้อ พี่ปรกช่วยพ่อแล้ว แต่ถึงแม้หนิ่งจะไม่ได้ช่วยพ่อทำงานเลย แต่อยากให้พ่อรู้ว่า หนิ่งยึดคติทำงานของพ่อมาเสมอ คือ ทำงานเพื่อประโยชน์ของงาน
เมื่อตอนก้านเกิด ก้านหน้าตาเหมือนตาตอนอายุ 60 กว่า ยิ่งโตขึ้น ก้านก็เหมือนตาตอนหนุ่มขึ้น ตาเคยบอกว่ายกหลานตัวนี้ให้ตาเถอะนะ ตาจะส่งเสียเรียน และจะให้รับช่วงงานสวนเสมา ถ้าตายังมีชีวิตอยู่ตอนก้านโตแล้ว ก้านจะรับช่วงทำสวนเสมาตามที่ตาต้องการได้ไหมหนอ หรือก้านอาจจะได้รับการส่งเสริมให้ได้เป็นทหารอย่างตา อย่างที่ก้านใฝ่ฝัน
ที่มา : สายสิงห์ สวัสดิวัฒน, ม.ร.ว., “พ่อ” ใน 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์: 23 สิงหาคม 2543. (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543). หน้า 42-46.
หมายเหตุ : อักขรวิธีสะกดตามต้นฉบับเดิม