Focus
- ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน มีเชื้อสายราชสกุล โดยบิดาคือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ท่านชิ้น) เป็นพระเชษฐาต่างมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และเป็นผู้ทำงานให้เสรีไทยในอังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่ในภายหลังมีความเป็นกัลยาณมิตรกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
- ความเป็นผู้ที่ให้คุณค่าในเรื่องมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมในสังคม อันเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย จึงทำให้ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน สนับสนุนฝ่ายนักศึกษาและผู้บริสุทธิ์ ในกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาของบุคคลในโอกาสต่างๆ ทั้งในทางพุทธศาสนาและวงการดนตรี
- ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน เป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ หนึ่งปีที่ผ่านไป (19 กรกฎาคม 2565) “โลกได้ขาดผู้หญิงที่มีชีวิตชีวาไปคนหนึ่ง สังคมไทยได้ขาดคนที่พร้อมสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชนไปคนหนึ่ง และคนที่รู้จักเธอเป็นส่วนตัวย่อมจะขาดผู้ใหญ่คนสำคัญและที่พึ่งทางใจ ไปอย่างไม่มีวันหวนคืน”
“คุณหน่อย...จะมีความฝันมากน้อยแค่ไหนผมไม่รู้ แต่เป็นความฝันที่มองนึกถึงคนอื่น มองเห็นแต่กระจกของสังคม เดือดร้อนที่คนตกยาก เดือดร้อนที่เห็นคนขาดโอกาส เดือดร้อนที่คนถูกแกล้งทางการเมือง เดือดร้อนในเรื่องของความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย คุณหน่อยเดือดร้อนที่คนไทยไม่ได้รับความสนใจเพียงพอเกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรม หรือสิทธิมนุษยชน” นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวรำลึกถึงเธอเอาไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2565
ในวาระครบรอบ 1 ปีแห่งการจากไปของ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมความหมาย และมีคุณค่า ขอรำลึกถึงเธอผ่านบทความชิ้นนี้
ลูกเจ้า
ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2473 เป็นธิดาของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน กับหม่อมเสมอ เมื่อสำเร็จชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนราชินีแล้ว ในวัย 14 ปี เธอไปเรียนต่อระดับมัธยมที่ประเทศอังกฤษ จนจบชั้นอุดมศึกษาด้าน Food Science และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษ
“ท่านชิ้น” บิดาของเธอ เป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับ ม.ร.ว.เสงี่ยม (สกุลเดิม สนิทวงศ์ - ธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ทั้งนี้จึงนับเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
เข้าใจว่า ชื่อของเธอมาจากการรวมคำว่า “สาย” จากพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (ซึ่งเดิมเป็นหม่อมเจ้าสาย) ผู้เป็น ‘ทวด’ กับคำว่า “สวัสดิ์” จากสมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ผู้เป็น ‘ปู่’ ของเธอนั่นเอง
ในวัยเด็กเธออยู่ห่างจากบิดา เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปรักษาพระวรกายที่ประเทศอังกฤษ ต้นปี 2477 ได้นำท่านชิ้นตามเสด็จด้วย เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะเล่นงานจากกรณีกบฏบวรเดช กว่าที่เธอจะได้พบหน้าบิดาอีกครั้ง ก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
“กว่าที่พ่อจะกลับเมืองไทยก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จำได้ว่าหลัง 16 สิงหาคม 2488 ไม่กี่วัน พ่อมาปรากฏตัวที่บ้านคุณยายแถววัดสามปลื้ม เป็นครั้งแรกที่หน่อย[1] ...ได้พบกับพ่อ แทบจะพูดได้ว่าเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะเมื่อพ่อไปอังกฤษเมื่อ 12 ปีก่อนนั้น เรายังเล็กเกินกว่าจะจำหน้าได้”
ก็การที่ท่านชิ้นทำงานเสรีไทยในอังกฤษนี่เอง ที่ทำให้ได้ปรับความเข้าใจกับแกนนำคณะราษฎรอย่างนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย จนเป็นเพื่อนกันต่อมาจนถึงรุ่นลูก (สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับท่านชิ้น อ่านต่อได้ที่บทความ “ชีวิตของพ่อ : ท่านชิ้น ผู้อาภัพ” – ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน”)
ชีวิตเพื่อความยุติธรรมในสังคม
เธอเป็นคนสนใจเรื่องความยุติธรรมในสังคม เป็นต้นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศไทย เธอก็สนับสนุนฝ่ายนักศึกษาและผู้บริสุทธิ์อย่างเต็มที่ ในฐานะสภานายกสามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และรับหน้าที่เป็นรองประธานมูลนิธิมิตรไทยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยให้โลกได้รับรู้ ทั้งนี้เพราะ “เพราะข้าพเจ้ามีเชื้อสายเจ้า ฉะนั้นการมีชื่อข้าพเจ้าในคณะคงจะช่วยไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมูลนิธิคอมมิวนิสต์ และประชุมกันที่แฟลตของข้าพเจ้าเอง”
แม้ในยามชรา เธอก็ยังสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง เมื่อ 10 ปี ก่อน ในปี 2555 ปรากฏข่าวราชนิกุลกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีชื่อเธอเป็นคนแรก) ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับปรุง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เนื่องจากมองว่าส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์
มิพักต้องกล่าวถึงการที่คนมีฐานะดีอย่างเธอ ได้ให้โอกาสสนับสนุนการศึกษาของบุคคลอื่นๆ ในทางส่วนตัวอีกไม่น้อย ทั้งในทางพุทธศาสนาและวงการดนตรี
จึงไม่น่าแปลกใจที่เพื่อนเก่าอย่างนายอานันท์ ปันยารชุน จะกล่าวรำลึกถึงเธอเอาไว้ว่า “คุณหน่อยเป็นคนไม่มีจริต ทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ และอยู่ในโลกความจริง จะมีความฝันมากน้อยแค่ไหนผมไม่รู้ แต่เป็นความฝันที่มองนึกถึงคนอื่น มองเห็นแต่กระจกของสังคม เดือดร้อนที่คนตกยาก เดือดร้อนที่เห็นคนขาดโอกาส เดือดร้อนที่คนถูกแกล้งทางการเมือง เดือดร้อนในเรื่องของความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย คุณหน่อยเดือดร้อนที่คนไทยไม่ได้รับความสนใจเพียงพอเกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรม หรือสิทธิมนุษยชน”
ผู้ใหญ่ที่น่านับถือ
ในทางส่วนตัว ผมรู้จักเธอ (ต่อไปจะใช้คำว่า “ป้าหน่อย” ตามที่เคยเรียกกัน) เป็นครั้งแรกในงานวันสันติภาพไทย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 12 ปีก่อน โดยผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมอภิปราย จบงานแล้วป้าหน่อย ในฐานะทายาทเสรีไทย ก็เป็นผู้มอบของที่ระลึกให้ และหลังจากนั้นก็มีโอกาสได้พบกันเรื่อยมา ทั้งงานวันสันติภาพไทย และวันปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อคุ้นเคยกันมากขึ้นก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์ป้าหน่อยเรื่อง “ท่านชิ้น” มาลงในหนังสือ 73 ปี วันสันติภาพไทย รวมถึงได้ขออนุญาตนำหนังสือ บันทึกลับของพันโท อรุณ เสรีไทย 136 ของท่านชิ้นมาให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาส 74 ปี วันสันติภาพไทยด้วย
อีกคราวหนึ่งเป็นการขอร้องให้ป้าหน่อยรับมาเป็นวิทยากรในงานเสวนารำลึก 42 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “6 ตุลาฯ กับอาจารย์ป๋วย” ในฐานะที่ป้าหน่อยเคยทำงานมิตรไทยร่วมกับอาจารย์ป๋วยในช่วงหลัง 6 ตุลาฯ ทีแรกป้าหน่อยปฏิเสธว่า พูดไม่เก่ง ไม่ค่อยได้พูดในที่สาธารณะ และเมื่อรับมาพูดให้แล้ว ก็ตั้งใจมาก ถึงกับเขียนร่างคำกล่าวไว้ด้วยลายมืออย่างสวยงามเป็นระเบียบถึง 5 หน้ากระดาษ
ในช่วงที่รู้จักกัน ป้าหน่อยพักอยู่ที่เชียงใหม่เป็นหลัก เมื่อมากรุงเทพฯ คราวใด ก็มักจะชวนอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับวุฒิสมาชิกท่านหนึ่ง มารับประทานอาหารเย็นกัน ผมมีโอกาสได้ติดตามไปด้วย จึงได้สนทนากันอยู่สม่ำเสมอ ที่น่าทึ่งก็คือ ป้าหน่อยสนใจข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างมาก พบกันคราวใด ก็ให้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ต่อประเด็นต่างๆ ในช่วงเวลานั้น
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 ที่เราพบกันนั้น เป็นห้วงเวลาไม่นานนักก่อนจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีปัญหากันอยู่ทุกวันนี้ ตอนนั้นเธอเล่าให้ผมว่า คนรุ่นเธอบอกว่าให้ “รับ” บ้านเมืองจะได้สงบ การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปได้ราบรื่น แต่ฝ่ายคนรุ่นหลังเธอชวนให้ “ไม่รับ” เพื่อปฏิเสธผลงานของเผด็จการทหาร แล้วเธอชวนผมคุยว่า จะตัดสินใจอย่างไรดี
และเป็นปกติที่เวลาพบกันคราวใด ผมจะต้องรู้สึกอยู่เสมอว่า ตนเองสนใจความเป็นไปของบ้านเมืองน้อยเกินไป เพราะเวลาป้าหน่อยซึ่งอยู่ในปัจฉิมวัยถามเรื่องต่างๆ ให้วิเคราะห์ให้ฟังนั้น ผมยากที่จะตอบได้ทั้งสิ้น
แม้ป้าหน่อยเป็นเพียงหม่อมราชวงศ์ ซึ่งไม่ใช่ “เจ้า” แต่เธอก็มีสง่าราศี บุคลิกภาพดี สง่างาม ชนิดที่ใครได้พบเห็นเธอจะรู้สึกได้ทันทีว่าเป็นคนที่ไม่ธรรมดา อย่างไรก็ดี เธอมิใช่คนหยิ่งในชาติกำเนิด หากเป็นผู้ใหญ่ที่มีเมตตา โอบอ้อมอารี และมีชีวิตอยู่อย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม
ในฐานะคนทำหนังสือ เป็นบรรณาธิการหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งไม่แน่ใจนักว่าจะมีคนอ่านเพียงใด และไม่ค่อยจะได้รับการพูดถึงเสียเท่าใด ป้าหน่อยเป็นคนหนึ่งซึ่งมักจะโทรศัพท์มาหาอยู่เสมอเมื่ออ่านหนังสือเล่มนั้นๆ จบแล้ว เป็นต้นว่า บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียบเรียงมาจากคำฟ้องที่นายปรีดี พนมยงค์ เขียนฟ้องนายรอง ศยามานนท์ นั้น ป้าหน่อยโทรมาชื่นชม และเอ่ยอย่างเป็นธรรมชาติว่า “ฉันนับถือเธอจริงๆ เลย” เป็นคำพูดธรรมดาๆ ที่ทำให้คนฟังชุ่มชื่นหัวใจ มีกำลังใจก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป
1 ปีที่จากไป
ราวต้นปี 2565 ป้าหน่อยโทรศัพท์มาหาว่า ป่วยเป็นโรคร้าย ผมก็ซื่อเกินไป เพราะเห็นว่า ในวัย 90 ปีแล้ว เธอยังเดินตัวตรง เดินเหินอย่างกระฉับกระเฉง แม้ในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม ศกนั้น ป้าหน่อยก็ยังมาร่วมงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดูแข็งแรง เมื่อมีคนชวนขึ้นรถตู้จากตึกโดม ไปฟังอภิปรายที่คณะนิติศาสตร์ เธอก็ปฏิเสธ ขอเดินไปกับหลาน อย่างดูไม่เหมือนคนป่วยเลย
แต่แล้วเมื่อการรักษาพยาบาลไม่ได้ผล เธอก็ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะกลับบ้าน เพื่อจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ผมไม่ได้ไปเยี่ยมเธอที่เชียงใหม่ แต่โทรศัพท์คุยกันอยู่คราวหนึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ด้วยความเกรงใจอย่างมาก เธอพูดว่า “ว่ายังไงจ๊ะ กษิดิศ...ป้าหน่อยยังไม่ค่อยสบาย เพลียมาก ขอบใจที่เยี่ยม...หวังว่าไม่นานนักกว่าจะตาย (หัวเราะ)...เท่านั้นนะจ๊ะ สวัสดีจ้ะ”
ป้าหน่อยจากไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 จัดงานประชุมเพลิงที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นธรรมชาติและงดงาม และมีการจัดงานรำลึกที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสนุก เป็นกันเอง แต่กินใจ และชวนให้คิดถึงคนที่จากไป
1 ปีที่ผ่านไป โลกได้ขาดผู้หญิงที่มีชีวิตชีวาไปคนหนึ่ง สังคมไทยได้ขาดคนที่พร้อมสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชนไปคนหนึ่ง และคนที่รู้จักเธอเป็นส่วนตัวย่อมจะขาดผู้ใหญ่คนสำคัญและที่พึ่งทางใจ ไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ถ้าป้าหน่อยทราบได้โดยญาณวิถีใด วันนี้ก็คงจะชวนใครคุยอยู่ว่า “พิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปหรือไม่?” เป็นแน่
ที่มา :
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. 90 ปี ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน เจ้าผู้ไม่ธรรมดา. [ออนไลน์].
- ThaiPublica. ระลึกถึง “ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน” ราชนิกุล ผู้อ่อนน้อมและรักความเป็นธรรม. [ออนไลน์].
- ประชาไท. 8 ราชนิกุล ยื่นจม.ถึงนายกฯ แก้ไขม.112 ยิ่งลักษณ์ปัด ยังไม่ทราบเรื่อง. [ออนไลน์].
[1] ชื่อเล่นของ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน