สวัสดีครับทุกๆ ท่าน
ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้เชิญผมมาพูดในวันนี้ ทำให้ผมได้มาตอบแทนบุญคุณของผู้ที่ผมเห็นว่า มีคุณประโยชน์ต่อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีไทย และผู้นำเสรีไทย คือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และต้องขอขอบคุณให้ผมได้มีโอกาสกลับมาสู่วงวิชาการอีกครั้ง ได้ไปค้นคว้าหนังสือ และขอบคุณอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพราะผมไปยืมหนังสือหลายเล่มจากมุมหนังสือที่ท่านบริจาคให้หอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาค้นคว้าเพิ่มเติม สำหรับเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ของปาฐกถานี้ ผมเอามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม เรื่อง “Thai Foreign Policy 1932-1946” ที่ทำเมื่อ ๔๐ ปีมาแล้วนะครับ
ในห้วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ กว่าที่พวกเราจะได้สันติภาพมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย วันประกาศสันติภาพต่อสัมพันธมิตร คือ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ใจความว่า สงครามครั้งนั้นเป็นโมฆะ และไทยกลับสู่สถานะเดิม ก่อนวันที่ญี่ปุ่นรุกรานไทย คือ ก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยกฎหมายที่มีผลปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกาบริเตนใหญ่ และเครือจักรวรรดิจะถูกพิจารณายกเลิก ความเสียหายจากกฎหมายเหล่านั้น ไทยจะชดใช้ให้โดยชอบธรรม จะส่งคืนดินแดนที่ไทยได้มาหลังวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จะมีการเจรจาเรื่องอื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นกล่าวได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ เราได้ประกาศมีสันติภาพแล้ว และการร่วมสงครามเป็นโมฆะ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าประเทศใดประเทศหนึ่ง อยู่ๆ ก็จะมาประกาศแล้วทุกฝ่ายจะยอมรับ เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่ว่า สันติภาพนี้ได้มาอย่างไร และสันติภาพเฉยๆ สำหรับผม ไม่น่าจะมีความหมายอะไร ถ้าเราไม่มีเอกราชและอธิปไตยของชาติอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น สองเรื่องนี้ก็จะเป็นความสำคัญเรื่องเดียวกันสำหรับผม
เอกราชของชาติ
ผมขอเริ่มจากหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร เมื่ออภิวัฒน์ปี ๒๔๗๕ ข้อแรก คือ “จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางการศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง”
เรื่องการรักษาสันติภาพและเรื่องของเอกราช โดยเฉพาะทางศาลและทางเศรษฐกิจนั้น มีที่มาตั้งแต่เราถูกบังคับให้ทำสัญญาที่ไม่เสมอภาคต่างๆ เช่น สนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ท่านคงรู้จักกันดี ประเทศไทย (สยาม) ได้พยายามที่จะแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายของเราให้ทันสมัยมากขึ้นมาตลอด เพื่อที่จะแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาล โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้เป็นผู้เริ่มอบรมรากฐานการศึกษานิติศาสตร์ ปรับปรุงกฎหมายไทยและการศาลให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ท่านพยายามวางรากฐาน แต่ก็ยังได้แค่วางรากฐานในการที่จะเดินต่อ
ต่อมาเมื่อคณะราษฎรอภิวัฒน์แล้ว ในช่วงต้น หลังปี ๒๔๗๗ เป็นต้นไป โดยเฉพาะในรัฐบาลที่มี พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พยายามแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ และ ๖ ในขณะเดียวกัน บางประเทศก็ยังคงมีสิทธิที่จะผูกขาดสินค้าต่างๆ ของเรา นั่นก็คือ ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
เมื่อท่านอาจารย์ปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านได้พยายามผลักดันสิ่งเหล่านี้จนกระทั่งสำเร็จออกมา แต่ก็ไม่ได้ทำเพียงคนเดียว คงมีคนอื่นช่วยด้วยหลายคน ท่านเห็นว่าเรื่องเอกราชนี้เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากความเป็นอยู่ที่เป็นสุขของประชาชนแล้ว ท่านก็มุ่งในเรื่องนี้
ต่อมาในปี ๒๔๗๙ ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนพระยาศรีเสนา จึงได้ถือโอกาสว่าจะต้องแก้สนธิสัญญา นโยบายหลักที่ท่านปรีดีพยายามจะผลักดัน คือ สยามต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับชาติอื่นใด ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงคำพูดเฉยๆ ท่านได้อ้างถึงพระพุทธศาสนาและศาสนาคริสต์ด้วย ที่ว่า “อย่าทำแก่ผู้อื่นในสิ่งที่ไม่อยากให้ผู้อื่นกระทำแก่ตน” ความข้อนี้อ่านรายละเอียดได้ในหนังสือ โมฆสงคราม ของท่าน
ในการแก้ไขสนธิสัญญา จุดใหญ่ คือ ต้องไม่ให้ต่างชาติมีข้ออ้างได้ว่า กฎหมายไทยมีรูโหว่ มีรอยรั่ว มีความไม่เสมอภาค ความไม่ยุติธรรม กล่าวคือ ถ้าเราแก้กฎหมายต่างๆ ให้เป็นประมวลกฎหมายที่ถูกต้อง ทั้งแพ่ง อาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอย่างยุติธรรมและชัดเจนแล้ว ต่างประเทศซึ่งได้บังคับว่าจะต้องให้คนของตัวขึ้นศาลของตนที่เราเรียกกันว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางด้านการศาล” ก็จะไม่มีข้ออ้างใดๆ ได้ว่า ศาลเราไม่ยุติธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาเหมาะสมแล้ว ท่านเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ก็ได้เริ่มการเจรจาบนพื้นฐานของความพร้อมด้านกฎหมาย
อนึ่ง ขออธิบายเพิ่มเติมว่า ในการเจรจานี้ ภายหลังท่านได้เขียนขอบคุณ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เป็นพิเศษ โดยท่านบอกว่า ไม่ได้ให้ที่ปรึกษาที่เป็นคนต่างประเทศซึ่งช่วงนั้น คือ นายโดลแบร์ ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน เข้ามาร่วมในการเจรจาหลัก เพราะว่าเขาเป็นคนต่างชาติแต่ก็ให้เขาไปเจรจาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเทศหลักๆ และให้ไปช่วยในเรื่องอื่นๆ
หลักวิธีการ : พอดีผมอยู่ในกระทรวงต่างประเทศ ผมจึงสนใจเรื่องหลักวิธีการเจรจาเป็นพิเศษ ท่านเจรจาเป็นกลุ่มพร้อมๆ กันไปเลย มีเงื่อนไขเดียวกัน บนพื้นฐานของความเท่าเทียม และผลประโยชน์ร่วม ต่างตอบแทนหรือถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ และเสนอให้เป็นแบบเดียวกันหมด สนธิสัญญาฉบับใหม่จะต้องเริ่มจากความเท่าเทียมกันหมดทุกประเทศ ฉะนั้น ก็จะไม่มีใครได้เปรียบใครหรือสามารถเรียกร้องมากกว่าใคร
วิธีปฏิบัติ คือ ท่านส่งหนังสือยกเลิกสนธิสัญญาเดิมเป็นทางการก่อนเลย เมื่อ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ และให้มีผลบังคับใช้ใน ๑ ปีถัดไป ใครจะบอกเลิกก่อนนั้นก็ไม่ว่า แต่หนังสือยกเลิกนี้แจ้งแล้วว่าทุกอย่างพร้อมที่จะเริ่มเจรจา เมื่อส่งหนังสือยกเลิกสนธิสัญญาเดิมแล้ว ก็ส่งร่างสนธิสัญญาใหม่ให้เลย โดยส่งให้ที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ โดยตรง เวลาเจรจา ท่านจะเลือกให้ประเทศที่สำคัญฯ มาเจรจาที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ไม่อย่างนั้นเขาก็เรียกทูตเราไปสั่ง ซึ่งก็จะมีแต่เสียเปรียบ ท่านอัครราชทูตของเราก็คงจะไปถูกตีหัวอยู่ต่างประเทศ นี่เป็นวิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศ
ท่านอ่านสถานการณ์โลกแล้วว่า ขณะนั้นเป็นอย่างไร ผู้ที่กำลังจะรุ่งขึ้นมามีอำนาจใหม่ กำลังจะเป็นดาวดวงเด่นในภูมิภาค คือ ญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสกำลังเพลี่ยงพล้ำ กำลังจะถูกบีบมาก รวมถึงได้รับความเสียหายจากสงครามด้านยุโรป เมื่อเราเริ่มที่จะเจรจากับฝรั่งเศสหรือกับอังกฤษ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ดีนัก เพราะทำสงครามอยู่ในยุโรป ความสนใจในภูมิภาคนี้ก็น้อยลง แค่พยายามรักษาสถานะของตนก็ยากแล้ว ทำให้ทั้งสองประเทศนี้ต่างอยู่ในฐานะที่ลำบาก เราก็พยายามที่จะเจรจาพร้อมกันทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกาซึ่งกำลังเริ่มรุ่งและญี่ปุ่น
อเมริกาไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเขายังไม่ได้มีผลประโยชน์ในประเทศไทยและภูมิภาคนี้มากมายนักในช่วงนั้น อังกฤษกับฝรั่งเศสเขามีผลประโยชน์มาก เขาก็พยายามจะรักษาผลประโยชน์และความได้เปรียบที่เขาบังคับเอาจากเรามาตลอด ส่วนญี่ปุ่นนี้ผลประโยชน์ต่างไปอีกอย่างหนึ่ง คือ เขาอ้าง “เอเชียนิยม” และอยากจะไล่พวกเจ้าอาณานิคมนี้ ออกไปจากภูมิภาคให้ได้เพื่อเป้าประสงค์อะไรก็แล้วแต่ เราก็อ่านออก และนำมาใช้ประโยชน์ในการเจรจาต่อรอง เพราะต่างคนต่างแย่งกันที่จะเป็นประเทศแรกที่จะได้ลงนามกับไทย
การเป็นประเทศแรกที่เจรจาและลงนามสำเร็จ (kudos) มันทำให้ดูเป็นผู้มีอำนาจและดูดี อันนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลในการต่างประเทศของท่านอาจารย์ปรีดี และในที่สุดเราก็สามารถให้ทุกประเทศลงนามได้หมด การตกลงนี้ทำให้ไทยมีสภาพที่เป็นเอกราชทางด้านการศาลโดยแท้ และในการเจรจานี้ นอกจากยกเลิกความไม่ทัดเทียมด้านการศาลแล้ว เราก็ยกเลิกการเอาเปรียบด้านเศรษฐกิจด้วย จากเดิมที่บางประเทศมีสิทธิผูกขาดโภคภัณฑ์บางชนิด จากนี้ไทยเองต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดว่าจะผูกขาดสินค้าอะไร อย่างไร
ต่อมาในเดือนธันวาคมปี ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๙๓๘) จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์ปรีดีซึ่งในรัฐบาลเดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กำลังหันมาพยายามจะเจรจาเรื่องดินแดนต่างๆ หลังมีสนธิสัญญาเสมอภาคกันแล้วก็จะเจรจา รวมทั้งเรื่องของเขาพระวิหาร ซึ่งท่านเห็นว่าควรจะเจรจามากกว่าไปรบแย่งชิงกัน อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ท่านคิดว่าจะทำต่อ แต่ท่านได้รับการขอร้องให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะไม่มีใครรับ เรื่องเขตแดนก็เลยพับไป จากนั้นท่านก็ไม่ได้มีโอกาสตามเรื่องนั้นต่ออีก
เมื่อมาอยู่ที่กระทรวงการคลัง เพื่อให้เห็นว่า ประเทศไทยมีเอกราชจริงจึงบำรุงพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องใหญ่ๆ ก็มีเรื่องประมวลกฎหมายรัษฎากร คือ ทำให้ภาษีทั้งหลายเข้ามาเป็นหมวดเป็นหมู่เรียบร้อยชัดเจนอ้างอิงได้
ท่านได้ยกเลิกภาษีที่นาซึ่งเป็นภาษีที่ทำให้ชาวนาเสียเปรียบมาก ต้องเสียภาษี เสียอะไรต่ออะไรเยอะแยะ อันนี้ก็ต้องไปดูว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมื่อยกเลิกภาษีที่นาแล้วสิ่งที่ได้มาทดแทนเพื่อทำให้งบประมาณเราสมดุลขึ้น ก็คือการได้รับภาษีจากการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น เพราะเราเลิกให้สิทธิผูกขาดแล้ว ดังนั้น ภาษีทางการค้าระหว่างประเทศเราก็จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นเยอะ เนื่องจากผู้ที่ทำการค้าในช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ เช่น คนจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งเคยได้เปรียบ ตอนนี้ไม่สามารถจะเรียกให้เก็บภาษีเพียงร้อยชักสามแต่ต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากรของไทยว่าร้อยละเท่าไหรในสินค้าแต่ละชนิด และไทยก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะไม่ขายสินค้านั้นๆ ได้ เช่น น้ำตาล กระดาษ ดีบุก บุหรี่ น้ำมัน ข้าว หรืออะไรก็แล้วแต่
ในช่วงเดียวกันนี้สิ่งที่ตามมา คือ ท่านได้ตั้งสำนักงานธนาคารชาติเพื่อให้เห็นว่า การเงินการคลังของไทยต้องเป็นของไทยจริงๆ ไม่ใช่ให้ผู้อื่นหรือธนาคารต่างชาติมากำหนดไม่ใช่เป็นไปตามสนธิสัญญาเดิม
นี่คือสิ่งที่ชี้ชัดว่า เราเป็นเอกราชทางด้านการเงินและการศาลแล้ว เรื่องนี้ที่ปรึกษาต่างชาติ คือ นายดอลล์ ชาวอังกฤษ ก็พยายามคัดค้านเพราะธนาคารอังกฤษจะเสียการควบคุมด้านการเงินไป
ในช่วงรัฐบาลพระยาพหลฯ ระหว่างที่ท่านยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ อาจารย์ปรีดีก็ได้เริ่มผลักดันเรื่องการเป็นกลางของประเทศไทย ซึ่งต่อมาก็มี Neutrality Act แต่การเป็นกลาง ท่านก็ได้อธิบายในภายหลังว่า ไม่ได้หมายความว่าเป็นการอยู่เฉยๆ ระหว่างความผิดและความถูก (neutral but not indifferent) ต้องพิจารณาให้ดีๆ ว่า ถ้าคนที่ถูกต้องถูกรังแก เราวางเฉยก็เท่ากับเราเข้ากับผู้ที่รังแก ก็ต้องคิดให้ดีๆ ว่าควรจะหนุนใคร เราต้องเป็นผู้เลือกข้างเอง ไม่ใช่ถูกบังคับในเมื่อเรามีเอกราช เราก็เลือกว่าจะทำอย่างไร แล้วเราจะให้ความสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ ได้อย่างไร
การเป็นกลางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม” ซึ่งนั่นก็เป็นฐานอันหนึ่งที่พระองค์ท่านได้ประกาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพราะรู้ว่ามีใครมารุกรานใครโดยไม่เป็นธรรมก็ต้องเข้าข้างผู้ที่ถูกรุกราน แต่จนบัดนี้ผมก็ยังไม่เคยเห็นที่ไหนรุกรานโดยเป็นธรรมเลยนะครับ
ในช่วงที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านเน้นเรื่องความเป็นกลาง ได้เขียนหนังสือและสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้นมา ซึ่งประกาศในตอนจบไว้ว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพมิได้มีชื่อเสียงบันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงคราม” ทำไมท่านต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็เพื่อที่จะบอกให้ประเทศอื่นๆ ได้รับทราบเอาไว้ว่าคนไทยเวลานั้นคิดอย่างไร จะเป็นวิธีการหรืออะไรก็แล้วแต่ นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๘๒ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลางตามมาเพื่อจะยืนยันว่าเราวางตัวอย่างไร และแล้วเหตุการณ์มันก็คับขันเข้าเรื่อยๆ
สงคราม
แม้ว่าไทยลงนามสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกันกับฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น ทั้ง ๓ ประเทศพร้อมกันในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๔ แต่ฝ่ายที่ท่านอาจารย์ปรีดีเรียกว่า แสนยานิยมหรืออำนาจนิยมในปัจจุบัน (militarism) ก็ได้โน้มเอียงเข้าข้างญี่ปุ่นขึ้นเรื่อยๆ โดยมีข้อมูลว่า คราวหนึ่ง จอมพล ป. ได้พูดกับ นายโตริโก้ ซึ่งเป็นทูตทหารญี่ปุ่นว่า สิ่งที่ นายวนิช ปานะนนท์ พูดกับทูตทหาร คือ สิ่งที่จอมพล ป. ปรารถนา ก็เหมือนกับเป็น commitment บางอย่างว่า ถ้าญี่ปุ่นทำอะไรในภูมิภาคแล้ว ท่านก็คงจะเห็นด้วย แต่อันนี้ต้องไปดูจาก source ของทางญี่ปุ่นให้มากกว่านี้ว่า มันเป็นจริงหรือเปล่า และลึกซึ้งเพียงใด เพราะมีการอ้างว่า จักรพรรดิญี่ปุ่นเคยรับสั่งว่า ไม่ให้ทำการ (รุก) หากไทยไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้น คำพูดว่าเห็นตามนายวนิช ซึ่งใกล้ชิดกับจอมพล ป. และกับญี่ปุ่นมาก ก็คงเป็นสัญญาณที่ญี่ปุ่นต้องการนั่นเอง
พวกท่านไม่ต้องเชื่อสิ่งที่ผมพูดนะครับ ท่านไปหาข้อมูลเอาเอง ดูว่ามันมีเหตุมีผลไหม แล้วก็ไปดูว่า มันมีเอกสารอะไรซึ่งจะอ้างอิงตามนี้หรือไม่ แล้วถ้าเอกสารที่ท่านเจอไม่ตรงกับที่ผมพูด กรุณาให้ผมทราบบ้างนะครับ ผมจะได้ผิดพลาดน้อยลง หรือจะพูดง่ายๆ คือโง่น้อยลง ยินดีเสมอนะครับ ไม่จำเป็นต้องเชื่อเลย เอาไปคิดและค้นหาความจริงกันเอาเองนะครับ
จากช่วงนี้ก็เกิดสงครามอินโดจีนขึ้น ไทยเห็นว่า ฝรั่งเศสกำลังเสียเปรียบ ก็จะไปยึดเอาดินแดนในอินโดจีนซึ่งฝรั่งเศสยึดไปจากไทยคืน ผมเชื่อว่า ญี่ปุ่นก็คงยุยงให้ทำอย่างนั้น ในที่สุดเราก็รบกับฝรั่งเศส คงรบกันไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารนักหนา เพราะพอเราเพลี่ยงพล้ำ ญี่ปุ่นก็กระโดดเข้ามาเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ย สัญญาสงบศึกให้ไปเซ็นกันบนเรือประจัญบานของญี่ปุ่นที่ทอดสมออยู่ในอ่าวไซ่ง่อน ถึงตอนนี้ก็เห็นได้ว่า อิทธิพลของญี่ปุ่นคืบมาขนาดไหน ตอนนั้นไทยได้ดินแดนมาส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มาทั้งหมดตามที่ปรารถนา และฝรั่งเศสก็เจ็บแค้นไทย แต่ฝ่ายที่ได้มากสุด คือ ญี่ปุ่น
ในเรื่องนี้ อาจารย์ปรีดี เคยเล่าไว้ว่า ท่านไม่ค่อยเห็นด้วยเลยที่จะต้องไปรบราฆ่าฟัน เราควรจะใช้วิถีทางที่เป็นสันติ โดยใช้วิถีทางกฎหมายเข้าว่า จะเอาดินแดนจากฝรั่งเศสก็ต้องเจรจา โดยที่ต้องอ้างว่า ฝรั่งเศสยึดดินแดนเหล่านั้นไป เพื่อเป็นดินแดน protectorate หรือดินแดนในความคุ้มครอง แต่ในเมื่อฝรั่งเศสไม่สามารถ protect ไม่อยู่ในฐานะที่จะสามารถปกป้องคุ้มครองพวกนี้ได้แล้ว ก็ควรจะคืนดินแดนเหล่านั้นให้ผู้ที่เคยเป็นเจ้าของอยู่ แต่ข้อเสนอนี้ก็ตกไปในคณะรัฐมนตรี ไม่มีทางได้ เพราะว่าตอนนั้นลัทธิแสนยานิยมเป็นใหญ่ขึ้นมาแล้ว ไม่สามารถจุดรั้งได้แล้ว
จนถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้ามา ช่วงนั้นรัฐบาลมีโทรเลขไปถามอังกฤษ ถามอเมริกา เขาก็ตอบมาว่า “defend yourself” ถ้าเกิดว่าถูกบุก เขาไม่สามารถให้อาวุธหรืออะไรเข้ามาในไทยเพื่อที่จะต่อสู้ได้ เพราะเกรงว่า ถ้าญี่ปุ่นยึด ญี่ปุ่นก็จะใช้อาวุธเหล่านี้เป็นหอกทิ่มแทงเขาต่อไป
เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม ได้มีการทำข้อตกลงกันว่า (๑) ญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ว่าห้ามรุกไปมากกว่านั้น (๒) ทหารญี่ปุ่นต้องไม่อยู่ในกรุงเทพฯ และ (๓) ญี่ปุ่นจะไม่ขออะไรเพิ่มเติม แต่เมื่อถึงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ได้มีเหตุการณ์ต่อเนื่อง คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในนามของรัฐบาลขณะนั้น ได้ไปลงนามสนธิสัญญาร่วมรุกร่วมรบกับญี่ปุ่นที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันนี้ก็คือเราเอาขาเข้าไปร่วมกับญี่ปุ่นข้างหนึ่งแล้ว
ในช่วงเดียวกัน เมื่อญี่ปุ่นรุกรานเข้ามาแล้ว ทางญี่ปุ่นเริ่มมาบีบเราเรื่องการเงิน จะขอยืมเงินเพื่อใช้ในการสงคราม อาจารย์ปรีดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ยืนยันว่า ถ้าจะขอยืมเงิน ก็ให้ผูกหูทองเอาไว้ที่คลังญี่ปุ่น ไม่เช่นนั้นถ้าอยากจะใช้เป็นเงินที่รุกราน ก็ให้พิมพ์ invasion note หรือว่าเงินสำหรับผู้ยึดครอง เมื่อเลิกสงครามจะได้ยกเลิกกันไปเลย ไม่ต้องยุ่ง แต่ถ้าจะมาขอยืมเงินให้ผูกหูทอง (earmark) ไว้ที่ญี่ปุ่นว่าทองส่วนไหนเป็นของไทย ซึ่งทำให้หลังสงครามแล้ว เราได้ทองบางส่วนกลับคืนมา เพราะเมื่อสัมพันธมิตรเขาไปยึด มัน earmark ไว้แล้วว่ามันไม่ใช่ของญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยพอใจที่อาจารย์ปรีดี ขัดขวาง จึงพยายามผลักดันทางรัฐบาลจอมพล ป. ให้อาจารย์ปรีดีขึ้นไป เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อออกจากการเป็นรัฐมนตรี และหมดอำนาจสั่งการต่างๆ
วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ สภามีมติให้นายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นไป เป็นผู้สำเร็จราชการ และคนใกล้ชิดก็ถูกย้ายด้วย เช่น นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถูกปรับไปเป็นทูตอยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งทีแรกท่านไม่ค่อยอยากไป แต่เมื่อหารือกับนายปรีดี แล้วก็เห็นช่องทางที่อาจจะเป็นคุณ จึงยอมไป นายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ขณะนั้น ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องออกจากตำแหน่ง แล้วเอาคนอื่นที่เอื้อต่อญี่ปุ่นเข้ามาแทน
ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยไปอีกก้าวหนึ่ง โดยการประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร กับอังกฤษ เครือจักรภพ และกับอเมริกาด้วย นี่เป็นจุดที่รัฐบาลไทยหันเข้าหาญี่ปุ่นเต็มตัว และต่อต้านสัมพันธมิตร เข้าสู่สงครามเป็นทางการ
ขบวนการเสรีไทย
นายจำกัด พลางกูร และ นายทวี บุญยเกตุ
การก่อตั้งขบวนการต่อต้านการรุกรานเกิดขึ้นในเย็นวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ที่บ้านท่านอาจารย์ปรีดี ถนนสีลม เมื่อท่านกลับจากไปประชุมคณะรัฐมนตรี มีเพื่อนฝูงหลายคน มารอคอยอยู่ที่บ้าน เช่น คุณจำกัด พลางกูร, หลวงบรรณกรโกวิท, คุณเตียง ศิริขันธ์, คุณถวิล อุดล ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ คือ แกนนำของเสรีไทยในเวลาต่อมา ทุกคนมาด้วยความเสียใจว่า ไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดน หลังการหารือแล้วไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้จึงร่วมกันตั้งขบวนการเพื่อต่อต้านการยึดครองโดยญี่ปุ่น ทุกคนที่ไปร่วมหารือในวันนั้นได้ตกลงด้วยว่าพร้อมสละทรัพย์สินหรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อกู้ประเทศชาติ โดยยกให้อาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการ
ประเด็นแรกที่คิดจะทำ คือ อยากจะให้ออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นให้อยู่ห่างไปจากกรุงเทพฯ ก็สนใจว่าทางเหนือจะทำได้ไหม อาจารย์ปรีดีปรึกษากับ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งดูแลเรื่องรถไฟ เรื่องคมนาคมอยู่ หลวงกาจสงคราม ก็เข้ามาบอกว่า ทำไมไม่ขึ้นไปที่มณฑลพายัพ ท่านก็เลยบอกงั้นไปดูซิว่าเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้ต้องพับไปก่อน เพราะพบว่าญี่ปุ่นได้ตั้งด่านทางรถไฟไปภาคเหนือแล้ว จึงต้องพิจารณาช่องทางอื่น การต่อต้านก็ได้ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ได้มีการรวบรวมพลพรรคต่อต้านญี่ปุ่นขยายไปในที่ต่างๆ แต่พอถึงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ สถานะก็เปลี่ยนไปเมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร
ภารกิจของเสรีไทย นอกจากจะต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นแล้ว กลายเป็นว่าต้องให้สัมพันธมิตรทราบด้วยว่า ไทยมิได้เต็มใจเข้าข้างญี่ปุ่น การประกาศสงครามไม่ใช่เจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย การประกาศสงครามนั้นควรจะเป็นโมฆะ แต่อยู่ๆ จะไปประกาศเฉยๆ นั้นไม่ได้ คงไม่มีใครยอมรับจึงต้องหาทางว่าจะผ่อนหนักเป็นเบาได้อย่างไร นี่คือ ภารกิจหลักอันที่ ๒ ของเสรีไทยเพิ่มเติมเข้ามาในต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๕
ผมใช้คำว่า “เสรีไทย” แม้ว่าตอนนั้นก็ยังไม่ได้ใช้ชื่อเสรีไทย คงเป็นเพียงขบวนการต่อต้าน แต่ตอนนี้การต่อต้านไม่ได้ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่ต่อต้านสงครามอันไม่ถูกต้องด้วย พูดภาษาปัจจุบันก็ว่าต้องทำสองเด้ง มิฉะนั้นก็ไม่มีทางที่จะได้ผลคือเอกราชกลับคืนมา
โดยที่การประกาศสงครามยังมีเงื่อนงำอยู่บางประการ เช่น จอมพล ป. ลงนามก่อน แล้วค่อยไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนาม/นาม และประกาศไปโดยที่ไม่ครบองค์ของคณะผู้สำเร็จฯ เป็นต้น อันนี้เป็นทางด้านเทคนิคที่อาจารย์ปรีดีหรือทางฝ่ายเสรีไทยพยายามยกขึ้นมาโดยตลอดว่า การประกาศสงครามมิได้ครบองค์ประกอบที่สมบูรณ์ และมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย
ในต่างประเทศต้องขอชื่นชมว่า ท่านอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะทูตที่นั่นรวม ๓-๔ คน รวมถึงท่านผู้ช่วยทูตทหาร พันตรี ม.ล.ขาบ กุญชร กล้าหาญมากและตัดสินใจว่าไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง และสั่งให้คนไทยเดินทางกลับประเทศ เริ่มจากวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ คณะทูตและนักเรียนไทยจำนวนหนึ่ง จึงได้รวมตัวกัน ไปขอให้สหรัฐฯ ยอมรับว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ยังเป็นอัครราชทูตของไทยประจำสหรัฐฯ และได้บอกว่าจะไม่รับคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลเป็นต้นไป เรื่องนี้มันก็มาเรื่อยๆ จนถึงหลังประกาศสงครามแล้ว ไทยควรจะถูกถือว่าเป็นประเทศคู่สงครามกับสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย กลับยังยืนยัน recognize ว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ยังเป็น Minister of Thailand ก็เลยสามารถที่จะให้เอาเงินหลวงบางส่วนที่ธนาคารสหรัฐฯ จะยึด มาใช้ได้
อันนี้ก็อีกเรื่อง คือ ตอนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านอาจารย์ปรีดีได้แบ่งเงินและทองจำนวนหนึ่งที่ฝากไว้ที่อังกฤษ ให้ไปฝากไว้ที่อเมริกาด้วย ก็ไม่ทราบว่าเป็นโชคดีหรือว่าเป็นการมองการณ์ไกลหรืออย่างไร เราเลยมีทรัพย์สินอยู่ในสองประเทศใหญ่ คือ ไม่พึ่งอังกฤษอย่างเดียว แต่หันมาฝากที่สหรัฐอเมริกาด้วย
เสรีไทยในอเมริกาก็เริ่มได้รับการฝึก สองปีต่อมาก็มีการส่งกำลังที่ฝึกแล้วเข้ามาที่จุงกิง แล้วย้ายมาที่ซือเหมา พยายามหาทางจะเข้ามาติดต่อขบวนการในไทย แต่ก็ยังติดต่อกับเสรีไทยในเมืองไทยไม่ได้
ในปี ๒๔๘๖ ในอังกฤษ นักเรียนไทยได้เริ่มรวมตัวกันที่เคมบริดจ์ โดย นายเสนาะ ตันบุญยืน, นายเสนาะ นิลกำแหง, นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นแกนกลาง อาจารย์ป๋วยเรียนอยู่ที่ LSE แต่ช่วงนั้นเขาปิดลอนดอนก็ต้องไปเรียนต่อกันที่เคมบริดจ์ จึงได้รู้จักสนิทสนมกันหลายคน นอกจากนั้นก็มี นายสว่าง สามโกเศศ, คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร และนักเรียนอีกหลายคนก็ได้ไปร่วมมือร่วมใจกันว่า จะต้องต่อสู้การรุกรานของญี่ปุ่น แต่ท่านอัครราชทูตไทยและเจ้าหน้าที่หลายคน เดินทางกลับประเทศตามคำสั่งของรัฐบาลไทย ไม่ได้ขัดคำสั่ง ทางอังกฤษก็เลยขาดหัวหน้าใหญ่จนทาง ม.ร.ว.เสนีย์ ต้องส่ง นายมณี สาณะเสน จากอเมริกามาช่วย
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน และ นายปรีดี พนมยงค์
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐา ได้มาสมัครเป็นเสรีไทยด้วย แต่ในชั้นต้นทางการอังกฤษและพวกนักเรียนเองก็ไม่กล้าที่จะรับให้เป็นหัวหน้า เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาทางด้านการเมืองต่อไป ไม่มีใครไว้ใจอะไรใคร พวกที่มาสมัครเข้าขบวนการก็มุ่งเสียสละ ยอมไปเป็นทหารอังกฤษ หรือช่วยเหลือในการต่อต้านแบบพลเรือนบ้าง ออกข่าว หาข่าวช่วยโน่นนี่ไปก็มีเยอะ ส่วนผู้ที่แข็งแรงเป็นทหารที่ได้รับการฝึกแล้วก็ส่งเข้ามาที่แคนดี แล้วพยายามส่งเข้ามาในเมืองไทย ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ (ท่านชิ้น) เองก็เริ่มจากการช่วยเรื่องแผนที่อยู่นานจนอังกฤษไว้ใจในที่สุด และได้รับยศพันตรี เป็นหัวหน้ากลายๆ
ในส่วนของเสรีไทยภายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ อาจารย์ปรีดีได้ส่งคุณจำกัด พลางกูร เดินทางเท้าออกไปเมืองจีน ไปจุงกิง โดยมุ่งหมายให้ติดต่อสัมพันธมิตร เรื่องนี้ก็มีที่มาที่ไป คือ ช่วงก่อนสงคราม ท่านได้ให้ความสนิทสนมและพูดคุยเรื่องบ้านเมืองกับนายโดลแบร์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ นายดอลล์ ที่ปรึกษาการคลัง นายฟิตส์เจอรัลด์ ผู้จัดการแบงก์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ผ่าน หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ โดยหวังว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดเรื่องขึ้น ก็จะได้พึ่งพวกนี้ต่อไป เพราะพวกต่างชาตินี้ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นเชลยถูกควบคุมอยู่ในธรรมศาสตร์ก่อนส่งตัวกลับ ได้รู้ว่า อาจารย์ปรีดีและคณะคนไทยส่วนหนึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับสงครามนี้ รวมถึงการประกาศสงครามของรัฐบาลด้วย
เมื่อพวกนี้ถูกส่งตัวกลับประเทศไปแล้ว ท่านอาจารย์ปรีดี ก็พยายามส่งคุณจำกัดออกไป ตามด้วยคณะของ คุณสงวน ตุลารักษ์ ไปอยู่ที่จุงกิง เพื่อจะให้ไปติดต่อสัมพันธมิตร ทั้งที่อังกฤษและในอเมริกา โดยตอนที่หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ไปที่อังกฤษ ก็ให้ไปบอกกับบุคคลเหล่านี้ว่า ถ้าขบวนการเป็นของนายปรีดีที่จะส่งออกไป จะให้ใช้ชื่อรหัสว่า X.O. Group นั่นคือที่มาของหนังสือ X.O. Group : เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย ที่ นายฉันทนา หรือ คุณมาลัย ชูพินิจ เขียน ท่านไปหารายละเอียดต่อได้นะครับ
แต่นายจำกัดโชคร้าย ไม่ได้รับการต้อนรับ แม้จะไปถึงจุงกิงก็ไม่แน่ใจว่า ใครเป็นตัวร้ายที่ไม่ยอมให้ติดต่อ อาจจะเป็นฝ่ายจีนที่ก็คงมีหน่วยต่อต้านของเขาเองในไทยก็ได้ หรือว่าทางอัครราชทูตที่วอชิงตัน ไม่ยอมให้ติดต่อด้วย ด้วยเหตุอะไรก็ตาม ก็ไม่สามารถติดต่อสัมพันธมิตรเต็มๆ ได้ ได้เจอแต่คนของ ท่านจอมพลเจียงไคเช็ก ซึ่งเป็นรัฐบาล ในช่วงนั้น ต่อมาคุณจำกัดก็เสียชีวิต คุณสงวน ตุลารักษ์ เป็นคณะต่อไปที่จุงกิง และคุณสงวนเริ่มโชคดีสามารถติดต่อกับฝ่ายอังกฤษและอเมริกาได้ ก็ได้ไปต่อที่วอชิงต้น ได้รับการต้อนรับอย่างจริงจัง ทุกอย่างก็เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเมื่อขบวนการภายในประเทศสามารถติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้โดยตรง
ส่วนเสรีไทยที่อยู่ที่ทางซือเหมา ภายใต้ ม.ล.ขาบ กุญชร ซึ่งเป็นทูตทหาร ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาเมืองไทยได้ ถูกหลอกใช้บ้างอะไรบ้างที่ต้องกล่าวไว้ คือ การะเวก ศรีวิจารณ์ กับ สมพงษ์ ศัลยพงษ์ นักเรียนที่ฝึกเป็นทหารเสรีไทย ไปเสียชีวิตระหว่างที่เดินทางด้วยเท้าจะเข้ามาเมืองไทย เสียชีวิตขณะข้ามแม่น้ำโขง ต่อมามีอีกหลายคนที่ตามเข้ามาซึ่งก็ค่อยๆ ประสบความสำเร็จเรื่อยๆ เพราะพอคุณสงวนได้พบกับสัมพันธมิตรและเสรีไทย ทางโน้นก็เริ่มรู้แล้วว่าข้างในก็มีขบวนการ ใครทำอะไรอยู่บ้าง แม้เขาอาจจะปิดบังกันเป็นความลับสุดยอดก็ตาม
ทางอังกฤษได้พยายามส่งคนเข้ามาโดยทางเรือบ้าง ทางเครื่องบินบ้าง ทางเรือดำน้ำบ้าง ในที่สุดหลังจากที่ซ้อมค้างสองสามหน อาจารย์ป๋วยกับเพื่อนชื่อ คุณประทาน เปรมกมล ก็สามารถกระโดดร่มเข้ามาในประเทศไทยได้ หลังจากนั้นก็มีคนอื่นๆ ในขบวนการเข้ามาเรื่อยๆ และในที่สุดสามารถติดต่อวิทยุกับกองบัญชาการสัมพันธมิตรได้ และเมื่อติดต่อทางวิทยุได้ เสรีไทยในประเทศกับนอกประเทศก็เริ่มมีสัมพันธภาพสามารถติดต่อกับทางแคนดี ทาง ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน (ผู้บัญชาการสัมพันธมิตรภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - SACSEA) การทั้งหลายดำเนินไปด้วยดี เสรีไทยได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนจริง เราก็ได้พยายามช่วยเหลือกองกำลังสัมพันธมิตรตามที่ได้รับการร้องขอ ทางด้านเสรีไทย ก็ได้ตั้งพลพรรคในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะทางอีสานซึ่ง ส.ส. หลายๆ คน ก็ได้ศรัทธาอาจารย์ปรีดี และก็ได้ปวารณาตัวว่าจะดำเนินการทุกอย่าง ได้มีการรับส่งผู้คน รับส่งอาวุธจากฝ่ายสัมพันธมิตร สร้างลานบิน ดูแลนักโทษ ให้ข้อมูลทางการทหารทางยุทธศาสตร์ ให้ข้อมูลทางกฎหมาย แต่ทางอังกฤษก็ไม่ยอมขยับเขยื้อนอะไรทั้งสิ้นในด้านการเมืองระหว่างประเทศ และยืนยันว่า ไทย “work her passage home” เสียก่อน
ครั้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๗ เราได้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว คือ หลังจากแพ้โหวตเรื่องพระราชบัญญัติพุทธบุรีมณฑล และพระราชบัญญัตินครบาลเพชรบูรณ์ สุดท้ายจอมพล ป. ก็ลาออก เอา นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นายควงรู้เรื่องเสรีไทยเล็กน้อย แต่ก็เป็นคนบอกว่า ถ้าเรื่องเสรีไทยจะปฏิบัติอะไร อย่าไปบอกให้ทราบ ท่านจะได้ตอบกับญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น ก็เล่นหน้าไปทางโน้น ส่วนคนที่สั่งราชการจริงๆ คือ นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสั่งราชการสำนักนายกฯ ด้วย ก็ได้นายทวี ซึ่งเป็นมือขวาของหัวหน้าเสรีไทยไปอยู่ที่นั่น ดังนั้น การช่วยเหลือต่างๆ แม้เป็นเรื่องลับ ก็ทำได้ง่ายขึ้น รัฐบาลตอนนั้นก็ปรับแล้ว ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่ต่อต้านญี่ปุ่น แต่ในฐานะรัฐบาลก็ไม่ได้ออกมาว่าต่อต้านญี่ปุ่น
จนวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ สงครามใกล้จะยุติแล้ว แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครทราบว่า มันจะใกล้ยุติหรือไม่ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ท่านอาจารย์ปรีดีมีโทรเลขไปถึงทั้งอเมริกาและอังกฤษพร้อมกัน แจ้งว่า ประเทศไทยถูกญี่ปุ่นบีบจะขอยืมเงินอีก ๑ ล้านบาท ซึ่งไทยจะไม่ยอม และบอกว่า ไทยพร้อมแล้วที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยเร็ว และถ้าเราเปิดฉากต่อสู้เต็มตัว ขอให้สัมพันธมิตรให้การรับรองรัฐบาลใหม่นี้ ว่าไม่เกี่ยวหรือผูกพันกับรัฐบาลเดิม จึงขอให้สนับสนุน และจะขอถือว่าไทยกลับไปสู่สถานะเดิม คือ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ก่อนญี่ปุ่นรุกราน อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่า อาจารย์ปรีดีพร้อมที่จะเปิดหน้าสู้กับญี่ปุ่นจริงหรือเปล่า แต่มันก็ได้ผลทางการต่างประเทศ
วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๘๘ คือ หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นทางอเมริกาก็มีโทรเลขตอบเข้ามา คงปรึกษากับทางลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน แต่ผมไม่เห็นข้อความจากเมานท์แบทเทน ตอบมาว่าอย่าเพิ่งเปิดตัว เพราะว่าไทยอยู่ภายใน SACSEA เวทีสงครามภายใต้ลอร์ดหลุยส์เมานท์แบทเทน จึงขอให้สมานนโยบายด้วยกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปิดตัวออกมาสู้ต้องเปิดพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นจะเสียรูปของยุทธศาสตร์ใหญ่ แต่ไทยได้พยายามแล้ว ก็จะถือว่าไทยได้ “work her passage home” แล้ว อันนี้ก็เป็นคุณกับไทยอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อวันที่ ๖ กับวันที่ ๙ สิงหาคม มีระเบิดลงที่ฮิโรชิม่ากับนางาซากิแล้ว วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นยอมแพ้ ลอร์ดเมานท์แบทเทนได้รับคำสั่ง ผ่านนายเดนนิ่ง ซึ่งเป็น Political Advisor ให้มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม มาถึงอาจารย์ปรีดี บอกให้ประกาศได้ว่า “การประกาศสงครามเป็นโมฆะ” ประเทศไทยก็จะกลับไปสู่สถานะวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ และยังกล่าวว่า ไทยได้ช่วยเหลือภารกิจของสัมพันธมิตรมามากด้วย
วันสันติภาพ
ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศสันติภาพตามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองมา ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คือ ที่มาของการได้มาซึ่งสิ่งนี้ มันไม่ใช่ว่าจู่ๆ เราคิดอยากจะประกาศว่า “สงครามเป็นโมฆะ” ก็ประกาศได้ เพราะฉะนั้น การประกาศสงครามนี้มีเงื่อนไข อยู่ดีๆ ไปตีหัวเขาแล้วจะบอกว่าไม่ต้องเจ็บได้ไหม มันก็คงไม่ได้ ก็จะต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรเขาจะดีขึ้น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องศึกษาดูว่ากฎหมายอะไรที่มันทำร้ายเขาจากการประกาศสงครามก็จะต้องยกเลิกแล้วก็จะต้องชดใช้ แต่อันนี้เป็นการบอกว่า ต่อไปนี้ไทยจะเป็นเอกราชแล้ว วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ จึงยิ่งใหญ่มากสำหรับชาติไทย ตามตัวหนังสือแล้ว เรามิใช่ผู้แพ้สงคราม แต่เอกราชสมบูรณ์หลังสงครามมันมีมากกว่านั้นครับ ผมจะยกประเด็นสำคัญสักสองสามประเด็น
สิ่งแรกที่เราขอจากอเมริกา คือ เวลาสัมพันธมิตรมาปลดอาวุธ ขอให้ประเทศไทยทั้งประเทศอยู่ในเวทีสงครามภายใต้เมานท์แบทเทนเพราะเราเกรงว่า ถ้าทางเหนือซึ่งเดิม theater of war ถูกแบ่งว่าในอินโดจีน ถ้าเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป อยู่ใน theater ของจอมพลเจียงไคเช็ก วันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๘ ประธานาธิบดีทรูแมน ก็เลยออก ประกาศ General Order หมายเลข ๑ คำสั่งอันแรกว่าให้ไทยทั้งประเทศอยู่ใน theater ของ SACSEA เมื่อมาปลดอาวุธก็จะมีแต่สัมพันธมิตรด้านของอังกฤษผู้ที่อยู่ใต้ SACSEA ไม่อย่างนั้นก็ต้องแบ่งประเทศออกเป็นสองส่วนตั้งแต่เหนือเส้นระหว่างอุ้มผางไปบางมูลนาก คือ เส้นขนานที่ ๑๖ จีนจะเข้ามาปลดอาวุธ และอาจจะไม่ออกไปง่ายๆ แล้วมันก็จะเกิดปัญหาแบ่งประเทศหลังสงครามต่อไป อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการได้มาซึ่งเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนจริงๆ
เมื่อสงครามยุติ อังกฤษก็เริ่มรักษาสภาพได้เปรียบ เรียกร้องว่าจะต้อง reorganize ทหาร คือจะยุบและปรับรูปแบบกองทัพไทยใหม่ให้สัมพันธมิตรเข้ามาช่วยดูแล อันนี้มันเท่ากับเป็นการเสียเอกราชทางการทหาร เราก็ไปเจรจาไม่ยอมรับโดยนำไปปรึกษาผ่านสหรัฐฯ ในที่สุด ข้อเรียกร้องก็ตกไป ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นหอกมาทิ่มแทงพวกเสรีไทยหรือพวกอื่นในภายหลังก็แล้วแต่ แต่เราต้องรู้ว่า เป้าหมายสูงสุดในตอนนั้นคือ เอกราช อันสำคัญยิ่ง เราต้องมีอธิปไตยของไทยทางทหาร อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญ
ส่วนเรื่องอาชญากรสงคราม สัมพันธมิตรเขามีคำสั่งว่า เราต้องช่วยจับ จัดการ เราก็รีบจับ จัดการกับอาชญากรสงคราม โดยรีบตั้งศาลอาชญากรสงครามของไทยขึ้นพิจารณาผู้ที่สัมพันธมิตรเห็นว่าต้องจัดการ แล้วก็ในที่สุดเราก็ได้ปล่อยออกไป เพราะว่าใช้กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ ผมเชื่อว่า นักกฎหมายชั้นอาจารย์ปรีดีน่าจะทราบดีว่า มันย้อนหลังไม่ได้แต่ก็ต้องทำตามที่สัมพันธมิตรเขาเรียกร้อง อันนี้เป็นการแสดงว่า เรามีเอกราชทางการศาลเต็มที่แล้ว ถ้าปล่อยให้อาชญากรสงครามของไทย ไปขึ้นศาลสัมพันธมิตร ก็แสดงว่าเราแพ้ เราเสียเอกราช ต้องใช้ทุกวิถีทางว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเราได้มีเอกราชที่สมบูรณ์
ต่อไป เราก็พยายามเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เราก็ต้องเจรจากับหลายประเทศและยอมในบางเรื่อง เช่น ต้องสถาปนาความสัมพันธ์กับรัสเชีย ต้องยอมฝรั่งเศสเรื่องดินแดน เป็นต้น ซึ่งเราเข้าได้ในปลายปี ๒๔๘๙ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ก่อนที่เราจะเซ็นสัญญาสมบูรณ์แบบกับอังกฤษด้วย เมื่อเป็นสมาชิกแล้วก็เจรจากับอังกฤษต่อไป ไทยอยากเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เพราะจะเป็นการยืนยันว่า เราเท่าเทียมกับประเทศอื่น และไม่ได้เป็นผู้แพ้สงคราม มีเอกราชแน่นอน
ในช่วงนั้น สหรัฐอเมริกากลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ซึ่งเราได้พึ่งมากมายมหาศาล ในการเจรจากับอังกฤษ เมื่อเราคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมหรือมีวิธีการของเจ้าอาณานิคมเอาเปรียบไทย เราก็ไปหาอเมริกาอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น หลังสงครามแล้ว อาจารย์ปรีดีได้ขอร้องให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับจากสหรัฐอเมริกา มาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศด้วย เพื่อจะนำในเรื่องการเจรจามีอะไรอังกฤษก็ต้องเกรงใจ เพราะรู้ว่ามีอเมริกาหนุนอยู่ นี่คือบทบาทที่ทำให้เสรีไทยได้ค่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อรักษาเอกราชสมบูรณ์ให้ได้
การมอบข้าวให้อังกฤษก็เช่นกัน ต้องไปเจรจาว่า ที่เรียกร้อง ๑.๕ ล้านตันให้ฟรีๆ ไทยคงจะลำบากมาก ก็มีการเจรจา ซึ่งเรื่องค่าเสียหายจากสงครามในประเด็นนี้ อเมริกาไม่พร้อมจะบีบอังกฤษให้โอนอ่อนตามที่ไทยต้องการ โชคดีที่อาจารย์ป๋วยหรือพันตรี เข้ม สมาชิกเสรีไทย กลับไปเรียนต่อที่อังกฤษ ไปเขียนหนังสือถึง Professor ลัสกี้ อาจารย์ป๋วยอ่านออกว่า พรรค Labour คงขึ้นครองอำนาจแน่ Professor ของอาจารย์ป๋วย คือ ลัสกี้ เป็นประธานพรรค Labour อยู่ด้วย และต่อมาก็จริง คือพรรค Labour ได้เป็นรัฐบาล
การวิเคราะห์เรื่องการให้ข้าวฟรีไม่น่าจะเหมาะสมของอาจารย์ป๋วยก็คงไปถึงคณะรัฐมนตรีอังกฤษ และก็ได้ช่วยเหลือเราพอสมควร แต่อันนี้จะเป็นผลจากอาจารย์ป๋วยแค่ไหนบอกไม่ค่อยได้ เอกสารเหล่านี้ในฉบับภาษาอังกฤษได้นำมาพิมพ์แล้วในเล่ม A Siamese for All Seasons และฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยรวมพิมพ์อยู่ใน อัตชีวประวัติ : ทหารชั่วคราว ซึ่งทั้งสองเล่มนี้ พิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ ในคราวฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลของอาจารย์ป๋วย หาอ่านกันได้นะครับ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงรับการสวนสนามของเหล่าทหารสัมพันธมิตรพร้อมด้วยลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน ณ ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๙
อนึ่ง ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ มีการเดินขบวนของเสรีไทยที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดย Ruth หรือท่านปรีดี ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย ขึ้นแท่นรับความเคารพ มีทหารเสรีไทยที่ต่างๆ มาร่วมกันตัวแทนมา ๘,๐๐๐-๙,๐๐๐ คน เดินขบวนกันเรียบร้อย การเดินขบวนนี้ก็เพื่อให้เห็นด้วยว่า อาวุธที่สัมพันธมิตรส่งมาอยู่ครบถ้วนอีกทั้งมีการแจงบัญชีรายรับรายจ่ายของเสรีไทยด้วย ในวันนั้นได้มีการเลี้ยงรับรอง หัวหน้าเสรีไทยได้ประกาศยุบเลิกเสรีไทย คงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่ดี เสรีไทยไม่ใช่พรรคการเมือง ไม่เอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยว ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ก็มีงานสโมสรขอบคุณ ท่านกล่าวว่าสมาชิกมีที่มาหลากหลาย มีทุกชนชั้น หลากหลายอุดมการณ์ทางการเมือง แต่อุดมการณ์เดียวที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาเอกราชและอธิปไตยของไทย
ต้นปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๘ นิวัตพระนครแล้ว ก็มีการสวนสนามของสัมพันธมิตรที่เข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นเราจะเห็นภาพรัชกาลที่ ๘ ทรงยืนประทับบนแท่นรับความเคารพสูงสุดแล้วก็มีธงมหาราชอยู่ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน ยืนอยู่ข้างขวา ท่านอาจจะสูงเท่ากัน แต่เพราะท่านลอร์ดตัวสูงมาก ท่านไม่ได้ยืนอยู่บนแท่นรับความเคารพสูงสุด แต่ยืนอยู่บนแท่นเดียวกับหัวหน้าเสรีไทยซึ่งยืนอยู่ข้างซ้าย นี่ชี้ให้เห็นว่า เอกราชไทยเป็นที่สมบูรณ์ ธงมหาราชอยู่สูงสุด
เพราะฉะนั้น มาวันนี้ ผมถึงดีใจที่ได้มาพูดเพื่อรำลึกถึงวันสันติภาพของไทย ได้มีโอกาสเล่าให้ฟังในแง่ของคนกระทรวงการต่างประเทศจริงๆ เราเห็นว่า อะไรมันเกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามจะเอาประวัติศาสตร์มาใช้เป็นประโยชน์ให้ได้มากที่สุดว่า เราจะสามารถร้อยเรียงเรื่องต่างๆ อย่างไรแต่อย่างที่ผมบอกนะครับ ไม่จำต้องเชื่อผม และถ้ามีอะไรที่ผิดพลาดกรุณามาบอกผมด้วย
ผมขอจบโดยสดุดีเสรีไทยและการต่อสู้เพื่อเอกราช ผมเคยเขียนเนื้อเพลงในชื่อว่า “คนดีมีค่า” เพื่อจะฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ผมเคารพรักยิ่ง พี่ ดุษฎี พนมยงค์ และคณะได้เอาไปใส่ทำนองและร้องครั้งแรกโดยคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ซึ่งเนื้อเพลงท่อนหนึ่ง คือ “ใครคือคนดีคนนั้น สร้างสรรค์พิทักษ์ศักดิ์ศรีเพื่อประชาชีพพร้อมยอมพลี รักเสรีพร้อมสู้กู้ไทย” อันนี้ก็คือการสดุดีโดยรำลึกถึงขบวนการเสรีไทย ซึ่งต้องรักเสรี ต้องพร้อมสู้กู้ไทย ต้องพิทักษ์ศักดิ์ศรี เพื่อประชาต้องพร้อมเสียสละแม้ชีวิต ผมเชื่อว่าเสรีไทยทุกท่านเป็น “คนดีมีค่า”
ผมขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จัดงานรำลึกถึงความสำคัญของวันสันติภาพไทย ๑๖ สิงหาคม และกรุณาเชิญผมมารำลึกถึงสาระสำคัญอันยิ่งใหญ่ในวันนี้ ซึ่งก็ตรงกับพุทธภาษิตที่ว่า “อโถ สุจิณฺณสฺส ผลํ น นสฺสติ” คือ ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย ขอบคุณครับ
ปรับปรุงจากการแสดงปาฐกถาในหัวข้อเดียวกันนี้
เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๓๐-๑๑.๐๐ น.
ณ ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ที่มา : จริย์วัฒน์ สันตะบุตร. เอกราชและการประกาศสันติภาพ, ใน, 76 ปี วันสันติภาพ : 8 ทศวรรษ “พระเจ้าช้างเผือก” สารสันติภาพเหนือกาลเวลา, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564), น. 80-102
- พระเจ้าช้างเผือก
- จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
- ปรีดี พนมยงค์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ขบวนการเสรีไทย
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- วนิช ปานะนนท์
- ดิเรก ชัยนาม
- วิลาศ โอสถานนท์
- จำกัด พลางกูร
- หลวงบรรณกรโกวิท
- เตียง ศิริขันธ์
- ถวิล อุดล
- กรี เดชาติวงศ์
- หลวงกาจสงคราม
- เสนีย์ ปราโมช
- ขาบ กุญชร
- เสนาะ ตันบุญยืน
- เสนาะ นิลกำแหง
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์
- สว่าง สามโกเศศ
- สุภาพ ยศสุนทร
- มณี สาณะเสน
- สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
- รัชกาลที่ ๗
- ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
- หลวงประเจิดอักษรลักษณ์
- สงวน ตุลารักษ์
- มาลัย ชูพินิจ
- เจียงไคเช็ก
- การะเวก ศรีวิจารณ์
- สมพงษ์ ศัลยพงษ์
- ประทาน เปรมกมล
- ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน
- ควง อภัยวงศ์
- ทวี บุณยเกตุ