ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เสรีไทยและปฏิบัติการเสรีไทยในตาก

17
พฤศจิกายน
2565

จุดกำเนิดของขบวนการเสรีไทย

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในวันประวัติศาสตร์ของชาติไทย เมื่อกองทัพอันเกรียงไกรของญี่ปุ่นได้ยาตราบุกประเทศไทยทางชายแดนด้านตะวันออกจากกัมพูชา และยกพลขึ้นบกตามจุดต่างๆ บริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ทหาร ตำรวจ และพลเรือนได้รวมตัวกันต่อต้านผู้รุกรานอย่างกล้าหาญได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับคำสั่งให้หยุดยิงจากรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านเข้ามาได้ โดยมีข้อตกลงว่าญี่ปุ่นจะเคารพเอกราชอธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ก็มีบุคคลสำคัญในรัฐบาลส่วนหนึ่งไม่พอใจกับการรุกรานของญี่ปุ่น ได้ปรึกษาหารือกันและเห็นพ้องกันว่า จะพลีชีพเพื่อชาติ ร่วมกันกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชาติ พร้อมกับจะจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ขึ้นมาโดยมอบให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะ องค์การนี้ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ขบวนการเสรีไทย” ตามเสรีไทยสายอเมริกา และเสรีไทยสายอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว

องค์การต่อต้านญี่ปุ่นมีภารกิจสำคัญ 2 ประการ คือ (1) ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานและร่วมมือกับสัมพันธมิตร (อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ) และ (2) ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายเขา ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตรแล้ว ภารกิจขององค์การได้เพิ่มขึ้นเป็น (3) การปฏิบัติเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาเมื่อสงครามยุติลง

 

การขยายตัวของขบวนการเสรีไทย

พลเอก เนตร เขมะโยธิน สมาชิกสำคัญคนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย (ยศขณะนั้นเป็นพันเอก ชื่อรหัสลับว่า “พันเอกโยธี”) ได้บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง “งานใต้ดินของพันเอกโยธี” (พ.ศ. 2500) ตอนหนึ่ง ดังนี้

 

“ขบวนการเสรีไทย ได้ขยายตัวและก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือมีหน่วยงานใต้ดินของไทยและสัมพันธมิตรแทรกซึมอยู่ทั่วดินแดนประเทศไทย มีทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชนผู้รักชาติ ได้ร่วมมือกับเสรีไทยนอกประเทศ รวมทั้งทหารอังกฤษและอเมริกา ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที แผนการต่างๆ ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นขั้นๆ ดังนี้

ขั้นต้น เมื่อได้จัดส่วนบัญชาการขึ้นแล้ว ได้แยกสายงานออกเป็นสาขาย่อยๆ แต่ละสายจะส่งคนออกไปรับการฝึกอบรมการใช้อาวุธและวิทยุในประเทศอินเดียและลังกา ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กับเสรีไทยในประเทศได้ฝึกกัน เตรียมการทุกอย่างให้พร้อม จนกว่าจะถึงโอกาสที่เหมาะ จึงจะลุกฮือขึ้นขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย

ขั้นสุดท้าย เมื่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดการรุกใหญ่ เพื่อกวาดล้างกองทัพญี่ปุ่น กองทัพไทยและขบวนการเสรีไทย (เกือบหนึ่งแสนคน) จะเปิดฉากการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเปิดเผย”

 

การเริ่มต้นของเสรีไทยสายอเมริกา และเสรีไทยสายอังกฤษ

ทันทีที่รัฐบาลไทยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน และมีคำสั่งให้หยุดการต่อต้าน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ได้ประชุมเจ้าหน้าที่สถานทูต และแจ้งต่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนของสถานทูตไทยตกลงใจจะอยู่ในสหรัฐต่อไป จะร่วมกันต่อสู้กับญี่ปุ่นทุกวิถีทางเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติไทย รวมทั้งได้ปราศรัยทางวิทยุถึงประชาชนว่าจะอยู่ในสหรัฐต่อเพื่ออิสรภาพของประเทศไทย ขอให้คนไทยทั้งชาติร่วมใจกันกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชาติ

ทางด้านคนไทยในอังกฤษ นายเสนาะ นิลกำแหง นักเรียนไทย ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้รับมอบหมายจากบรรดาเพื่อนนักเรียนไทยให้ทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แจ้งให้ทราบว่าคนไทยในอังกฤษมีความปรารถนาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย และขอเชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เดินทางมาอังกฤษ

ก่อนหน้านั้นนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่ง อาทิ นายเสนาะ นิลกำแหง  นายเสนาะ ตันบุญยืน  นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ปรึกษากันว่า ควรจะได้จัดตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในอังกฤษ เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา แต่มีปัญหาที่ตัวผู้นำ คือ พระมนูเวทย์วิมลนาถ อัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ไม่เห็นด้วย และต้องการกลับประเทศไทยตามคำสั่งของรัฐบาล  ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน สนใจจะเข้าร่วมกับคณะเสรีไทยที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น

ในที่สุดเสรีไทยสายอังกฤษก็จัดตั้งขึ้นได้ โดยการช่วยเหลือประสานงานของนายมณี สาณะเสน (เข้ามาเรียนที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 5 ขวบ) ซึ่งคุ้นเคยกับประเทศอังกฤษและคนอังกฤษดี ได้ติดต่อขออนุญาตเดินทางมายังกรุงลอนดอนเพื่อดำเนินการจนสำเร็จ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมขบวนการเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นพลเรือน และที่เป็นทหาร

 

ปฏิบัติการเสี่ยงชีวิตโดดร่มลงในไทยของเสรีไทยสายอังกฤษและเสรีไทยสายอเมริกา

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (ราชบัณฑิต) ผู้ซึ่งรวบรวมเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติการของเสรีไทยไว้อย่างละเอียด ในหนังสือเล่มโตขนาด 1,411 หน้า ชื่อ “ตำนานเสรีไทย The Free Thai Legend” ได้กล่าวถึงปฏิบัติการต่างๆ ของเสรีไทยที่อยู่ในต่างประเทศหลายชุดด้วยกัน แต่ในที่นี้ จะนำมาเล่าเพียงบางส่วนบางชุดเท่านั้น คือ ปฏิบัติการโดดร่มที่จังหวัดชัยนาทของเสรีไทยสายอังกฤษที่เรียกว่า “ปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น (Operation Appreciation)” และปฏิบัติการโดดร่มที่จังหวัดแพร่ของเสรีไทยสายอเมริกา ที่เรียกว่า “ปฏิบัติการฮอทฟู้ด (Operation Hotfood)” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 และวันที่ 9 กันยายน 2487 ตามลำดับ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น (Operation Appreciation)

ร.อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วย ร.ต.ประทาน เปรมกมล และ ร.ต.เปรม บุรี จากกองกำลัง 136 ของอังกฤษเดินทางโดยเครื่องบินแบบลิเบอเรเตอร์จากกัลกัตตาประเทศอินเดีย พร้อมด้วยเครื่องรับส่งวิทยุสำหรับการตั้งสถานีวิทยุลับในประเทศไทย เพื่อการติดต่อกับฐานทัพสัมพันธมิตรที่อินเดียและลังกา และสาส์นจากกองบัญชาการสัมพันธมิตรถึงหัวหน้าขบวนการเสรีไทย โดดร่มลงมาที่บ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 แต่โชคไม่ดีทั้ง 3 ถูกจับกุมส่งมาควบคุมตัวที่กองตำรวจสันติบาลในกรุงเทพฯ ในความอารักขาของ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ สารวัตรกอง 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจให้คุ้มครองดูแล

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล (จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลาออกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487) ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ ได้นำ ร.อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้าพบบุคคลชั้นนำในขบวนการเสรีไทยหลายคน และอนุญาตให้ส่งวิทยุติดต่อกับกองกำลัง 136 ในอินเดียได้ และ ร.อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สามารถติดต่อได้สำเร็จตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2487

หลังจากนั้นไม่นานประมาณปลายเดือนกันยายน พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสก็ได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย ซึ่งยังผลให้ปฏิบัติการรับ-ส่งวิทยุของเสรีไทยสายอังกฤษสะดวกคล่องตัวขึ้นเป็นอย่างมาก

(2) “ปฏิบัติการฮอทฟู้ด (Operation Hotfood)”

ทางด้านสหรัฐอเมริกา ข่าวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศของไทย ทำให้ โอ.เอส.เอส. หรือหน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐมีความมั่นใจมากขึ้นในการที่จะลอบส่งคนเข้าไปปฏิบัติงานในไทย ซึ่งจะทำได้สะดวกขึ้น ถ้าหากสามารถติดต่อหรือประสานกับบุคคลสำคัญของขบวนการเสรีไทยได้ ดังนั้นจึงตัดสินใจส่ง ร.ท.บุญมาก เทศบุตร และ ร.ต.วิมล วิริยะวิทย์ เสรีไทยสายอเมริกาไปทำการโดดร่มลงที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในคืนวันที่ 6 กันยายน 2487 เมื่อโดดร่มลงมาแล้ว ทั้งสองได้พลัดจากกัน ร.ต.วิมล ได้ใช้เวลา 5 วัน ตามหา ร.ท.บุญมาก เทศบุตร จนพบรอยรองเท้าบูทที่มุ่งเข้าสู่หมู่บ้าน แต่ ร.ท.บุญมากได้หนีไปแล้ว ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านได้ควบคุมตัว ร.ต.วิมล ไว้ และส่งไปยังอำเภอร้องกวาง ก่อนส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดซจรัส อธิบดีกรมตำรวจ

ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน 2487 ร.ต.วิมล ได้พบ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส  ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ ดร.ดิเรก ชัยนาม ในคืนวันเดียวกัน ร.ต.วิมล ได้แจ้งว่า ทางการสหรัฐจะให้การสนับสนุนแก่เสรีไทยภายในประเทศทุกวิธีทางและย้ำเตือนว่าหากไม่มีการร่วมมือกัน การปฏิบัติงานจะมีอุปสรรคและสหรัฐจะไม่สามารถสนับสนุนได้อย่างเต็มที่

ส่วน ร.ท.บุญมาก เทศบุตร ที่พลัดกับ ร.ต.วิมล วิริยะวิทย์ นั้น ดร.ปรีดี หัวหน้าเสรีไทย ได้สั่งให้นายทอง กันทาธรรม (อดีต ส.ส.แพร่ 5 สมัย) ไปตามหาจนพบและนำตัวมากรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็สั่งให้ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ แห่งสันติบาลส่งคืนเครื่องรับวิทยุที่ยึดไว้ให้แก่เสรีไทยทั้งสายอังกฤษและอเมริกา พร้อมทั้งอนุญาตให้ส่งวิทยุติดต่อกับฐานปฏิบัติการสัมพันธมิตรซึ่งอยู่นอกประเทศได้ หลังจากที่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรและขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย สามารถติดต่อกันทางวิทยุได้แล้ว การติดต่อประสานงานระหว่างกันของทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะการนัดหมายเพื่อส่งนายทหารเดินทางเข้าไทยโดยทางเรือดำน้ำหรือโดยการโดดร่ม ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ณ จุดนี้เอง ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติงานของเสรีไทยในเวลาต่อมาอย่างเหนือความคาดหมาย นั่นคือทำให้การดำเนินงานของเสรีไทยมีเอกภาพเป็นครั้งแรก และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและเข้มแข็งของเสรีไทยในประเทศ ในการติดต่อร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรนอกประเทศ จนได้รับความเห็นใจจากสัมพันธมิตรเมื่อสงครามยุติลง

 

การเข้ามาปฏิบัติงานใต้ดินในประเทศของเสรีไทยที่อยู่ในต่างประเทศ

การติดต่อกันระหว่างกองบัญชาการ กองทัพสัมพันธมิตรกับขบวนการเสรีไทยในประเทศโดยทางวิทยุ และโดยการลอบเดินทางเข้า-ออก ประเทศ ได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2487 และทวีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนเมื่อถึงปลายปีมีการติดต่อกันเกือบตลอดเวลา มีการจัดตั้งหน่วยพลพรรคเสรีไทยตามจังหวัดต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสัมพันธมิตรส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทางเครื่องบินมาให้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการสร้างสนามบินลับขึ้นมาหลายแห่ง เช่นที่จังหวัดสกลนคร เลย นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ และตาก ซึ่งทำให้การเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยทำได้สะดวก ทั้งโดยเครื่องบินบก และเครื่องบินทะเล

การปฏิบัติงานของเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและอเมริกา แยกกันเป็นรายจังหวัดในเขตพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีภารกิจหลัก 3 ประการ คือ (1) การรับอาวุธยุทธภัณฑ์ (2) การฝึกการรบแบบกองโจรของพลพรรคซึ่งเป็นชาวบ้าน และ (3) การติดต่อส่งข่าวสารกับฐานทัพสัมพันธมิตร

 

แผนปฏิบัติการในภารกิจสำคัญของเสรีไทยสายอังกฤษที่จังหวัดตาก

หลังจากที่เตรียมการมานาน ในที่สุดกองกำลัง 136 แห่งกองทัพอังกฤษก็ตัดสินใจส่งนายทหารที่คัดสรรแล้วเข้าประเทศไทย เพื่อติดต่อกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย รวม 3 นาย คือ (1) พ.ท.หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือท่านชิ้น พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (ชื่อรหัสลับว่า พันโทอรุณ) (2) พลจัตวาวิกเตอร์ เจคส์ และ (3) พันตรีทอมมัส ฮอบส์

จากหนังสือเรื่อง “บันทึกของพันโทอรุณ 136” ซึ่งพิมพ์เผยแพรในวาระ 50 ปี เสรีไทย เมื่อปี 2538 พันโทอรุณหรือท่านชิ้นและคณะ ได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยโดยเครื่องบินทะเล เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2488 และได้พบกับหัวหน้าเสรีไทย (ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในค่ำวันเดียวกัน หัวหน้าเสรีไทยได้แจ้งท่านชิ้นว่า คณะต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยได้เกิดขึ้นแล้ว ในหลายจังหวัดทางภาคอีสานหัวหิน และกรุงเทพฯ ส่วนท่านชิ้นได้ตกลงกับหัวหน้าคณะเสรีไทย ว่าจะดำเนินการจัดการภารกิจที่มีความสำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้

  1. จัดการจัดตั้งคณะต่อต้านและค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทยขึ้นที่แม่สอด ตาก และสุโขทัย ตามแผนที่ที่พันโทอรุณได้ทำไว้ที่อินเดีย
  2. จัดการจัดตั้งคณะต่อต้านและค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทยขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตัดทางคมนาคมของญี่ปุ่น ยาวไปจนถึงด่านเจดีย์สามองค์
  3. ติดต่อกับกองทัพบก เพื่อวางแผนที่จะใช้กำลังของกองทัพบก กระทำการต่อต้านญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับการดำเนินการของกองทัพสัมพันธมิตร
  4. จัดการจัดตั้งคณะต่อต้านในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
  5. จัดเตรียมวิธีการในการอพยพหลบภัยของกองบัญชาการคณะเสรีไทยและพลเมืองทั่วไป เมื่อญี่ปุ่นเข้าทำการโจมตี

 

ปฏิบัติการจัดตั้งคณะต่อต้านญี่ปุ่นและค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทยที่บ้านห้วยเหลือง จังหวัดตาก

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เสรีไทยสายอังกฤษ ได้รับคำสั่งให้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยการกระโดดร่มลงที่จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2488 ภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการเนโรเนียน” (Operation Neronian) ซึ่งมี ร.อ.อรุณ สรเทศ เป็นหัวหน้า และหม่อมเจ้าการวิก ทรงรับเป็นพนักงานวิทยุซึ่งโดยปกติจะเป็นนายสิบฝรั่ง

คณะของ ร.อ.อรุณ บินจากกัลกัตตาข้ามประเทศพม่า ถึงจุดหมายที่สุโขทัยราวห้าโมงเย็น เร็วกว่ากำหนด กระโดดร่มลงมาพร้อมทั้งอาวุธ อาหารและสัมการะอื่นๆ มีนายแสวง กุลทองคำ หัวหน้าสถานีทดลองเกษตร “ศรีสำโรง” (ต่อมาได้เป็นปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และภรรยา พร้อมทั้งเสรีไทยหลายคน ทั้งเสรีไทยในประเทศและจากต่างประเทศคอยให้สัญญาณและคอยรับ ต่อจากนั้นเดินทางโดยรถยนต์ไปจังหวัดตาก เพื่อพบกับนายพึ่ง ศรีจันทร์ ส.ส.จังหวัดอุตรดิตถ์ (ภายหลังได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร) ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าเสรีไทย ให้รับผิดชอบภารกิจในภาคกลางตอนบนทั้งหมด

ชุดปฏิบัติการ “เนโรเนียน” ได้จัดตั้งค่ายพรรคเสรีไทยขึ้นที่บ้านห้วยเหลืองซึ่งเป็นหมู่บ้านม้ง ตั้งอยู่บนเขาระหว่างอำเภอเมืองตาก กับอำเภอแม่สอด ห่างจากเมืองตากประมาณ 50 กม. หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทยบ้านห้วยเหลือง จังหวัดตาก ไว้ในหนังสือเรื่อง “ปฏิบัติการเนโรเนียน” มีความบางตอนที่น่าสนใจ ดังนี้

 

“ผู้ใหญ่บุญธรรม อินทรสุวรรณโณ ผู้รู้ทางในป่า นำทางพวกเราขึ้นเขาไประหว่างวังเจ้ากับแม่สอด ผ่านนาโบสถ์ ค้างในป่าหนึ่งคืน เที่ยงวันรุ่งขึ้นไปถึงบ้านม้งห้วยเหลือง เราตกลงตั้งค่ายพลพรรคเพื่อฝึกอาวุธสู้กับญี่ปุ่น มีกองบัญชาการที่ผาวอกใกล้ๆ หมู่บ้านนี้ (ปัจจุบัน บ้านห้วยเหลือง อยู่ในเขตตำบลแม่ท้อ อ.เมืองตาก)

ค่ายที่เราเลือกนี้มิดชิดดีมาก ทางหนีทีไล่ดี มีน้ำใสเย็นตลอดปี อาหารสมบูรณ์ สำคัญที่สุดคือ ทิศทางยอดเยี่ยมเหมาะสำหรับส่ง-รับวิทยุ ได้ยินเสียงต๊อดๆ จากกัลกัตตา ชัดแจ๋วเหมือนส่งมาจากระยะร้อยเมตร

ข้าวของที่เครื่องบินมาทิ้งให้ครั้งนี้ มีปืนคาร์บิน ปืนสเตน (ปืนเล็กยาวธรรมดาสำหรับยิงระยะไกล) ปืนกลเบา ลูกระเบิดมือ ลูกปืนทุกชนิด ฯลฯ

รับของจากเครื่องบินครบถ้วน และฝึกพลพรรคไปบ้างแล้ว “ค่ายห้วยเหลือง” ก็ดูเหมือนกองร้อยทหาร

จริงๆ ค่ายนี้มีกำลังไม่เกิน 500 คน ระเบียบวินัยดี และคล่องตัวดีมากพร้อมรบตั้งแต่เดือนมิถุนายน (2488) คอยคำสั่งจู่โจมเท่าไรก็ยังไม่มี คอยตีญี่ปุ่นเวลาเขาถอยจากพม่ามาตามถนนแม่สอด - ตาก ตอนนี้รี้พลชักจะคันมือคันไกปืนกันแล้ว ยากที่สุดของการรบคือ การคอย”

 

ประสบการณ์ของเสรีไทยที่จังหวัดตาก

นายพยุง ย. รัตนรมย์ (ธ.บ.) อดีตประธานสภาจังหวัดตาก ได้บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับปฏิบัติการเสรีไทยที่จังหวัดตากไว้ในหนังสือ “นามานุกรมเสรีไทย เล่ม 2” ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เมื่อ พ.ศ. 2538 และครั้งหลังสุดในหนังสือ “ด้วยเดชะพระบารมี และบารมี” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บพิธการพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 สรุปได้ ดังนี้

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบให้ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ส.ส.อุตรดิตถ์ เป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยภาคเหนือ จังหวัดตากมีนายหมัง สายชุ่มอินทร์ ส.ส.จังหวัดตากเป็นหัวหน้า แต่งานส่วนใหญ่ดำเนินการโดยลูกน้อง คือ ผู้ใหญ่บุญธรรม อินทรสุวรรณโณ (ต่อมาได้เป็นกำนัน) ลูกน้องของนายหมังฯ เป็นคนที่ใจนักเลงทำงานเข้มแข็งดีมาก

การปฏิบัติงานของเสรีไทยในจังหวัดตาก ได้เริ่มขึ้นประมาณต้นปี 2488 โดยกำนันบุญธรรมเป็นผู้ดำเนินการในการติดต่อเตรียมหาสถานที่ตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยที่ห้วยเหลืองทั้งหมด ท่านข้าหลวงจังหวัดตาก (ขุนสิมะสิงห์สวัสดิ์) เคยชวน นายพยุง และนายอำเภอเมืองตาก (นายหยด รามสุต) ขึ้นดอยไปร่วมปรึกษาหารือเรื่องงานกับคณะเสรีไทยสายอังกฤษ คือ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ และ ร.อ.อรุณ สรเทศ ที่ค่ายห้วยเหลือง และได้พบกับผู้ที่มาอยู่ในค่ายหลายคน เช่น นายลิขิต อังศุสิงห์ (นายไปรษณีย์โทรเลข) และ ร.ต.อ.สนั่น บุณโยทยาน (รองผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดตาก)

งานสำคัญที่นายพยุง ย. รัตนารมณ์ ดำเนินการจัดการหรือสนับสนุนภารกิจของปฏิบัติการเสรีไทยในตาก ตามที่ได้รับมอบหมายจากข้าหลวงประจำจังหวัดตาก มีดังนี้ (1) ร่วมกับปลัดจังหวัด (ขุนสิริบุรานุการ) ไปจัดหาซื้อข้าวสารที่จังหวัดกำแพงเพชร และนำมาส่งที่บ้านกำนันบุญธรรม ที่ปะดาง (2) ร่วมกับนายใหญ่ สวิตชาติ ส.ส.นครสวรรค์ นำท่านชิ้น (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน) กับฝรั่งอีก 1 คน (พลจัตวา วิกเตอร์ เจคส์) ขึ้นรถยนต์ผ่านสุโขทัย และพิษณุโลกไปกรุงเทพฯ ส่งขึ้นที่ทำเนียบท่าช้าง (ที่พำนักของ ดร.ปรีดี พนมยงค์) และ (3) ร่วมกับปลัดจังหวัดไปคุมเจ้าหน้าที่มหาดไทย และชาวบ้านจัดสร้างสนามบินลับที่ตำบลโป่งแดง อำเภอเมืองตาก เป็นงานใหญ่ และระยะเวลานานที่สุด

นอกจากประสบการณ์จากบันทึกของนายพยุง ย. รัตนารมย์ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่นของชาวบ้านแม่สลิด ในตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โดยการนำของนายเขียน ชูโฉม (ภายหลังได้เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน) เขาเป็นน้องชายของนายจำเนียร ชูโฉม พ่อค้าไม้ที่ร่ำรวยที่สุดของจังหวัดตากในยุคนั้น

นายเขียนหรือกำนันเขียนที่คนตากรุ่นเก่ายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รู้จักกันดี มีบทบาทอย่างมากในการปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่น โดยให้ลูกน้องคอยปล้นอาหาร รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยที่มาจากเชียงใหม่และลำปางหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งได้ทราบข่าวว่าจะมีทหารญี่ปุ่นลงแพไปยังที่แห่งหนึ่ง จึงวางแผนจัดการโดยซุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัง ที่แพของทหารญี่ปุ่นจะผ่านมา พอแพใกล้เข้ามาก็ผลักซุงที่เตรียมไว้ลงไปทับจนแพล่ม และระดมยิงลงไปทำให้ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตหลายคน แต่มีคนหนึ่งรอดตายหนีกลับไปรายงานผู้บังคับบัญชาได้ ญี่ปุ่นโกรธมากถึงขนาดจะเอาทหารพร้อมอาวุธหนักไปถล่มชุมชนในแม่สลิด ดีที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอร้องและบอกว่าจะจัดการลงโทษเอง โดยได้ส่งตำรวจร่วมกับทางจังหวัดตากไปจับชายฉกรรจ์ทั้งหมดมาไต่สวน จนผู้หญิงอยู่ไม่ได้ ต้องพากันหนีไปหลบซ่อนตัวที่บ้านยางโองน้ำ

ส่วนกำนันเขียน ชูโฉม ภายหลังการโจมตีญี่ปุ่นแล้วก็หนีหายไป และเมื่อทราบว่ามีคณะเสรีไทยมาตั้งค่ายฝึกพลพรรคอยู่ที่บ้านห้วยเหลือง จึงพาสมัครพรรคพวกส่วนหนึ่งที่หนีรอดการจับกุมของตำรวจ มาสมัครเข้าร่วมฝึกด้วย และได้รับการยอมรับว่าเป็นพลพรรคที่มีฝีมือดีชุดหนึ่งทีเดียว

 

ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ประกาศสันติภาพ

ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยึดเยื้อยาวนานกว่า 4 ปี ก็ถึงคราวที่ต้องสิ้นสุดลงเสียที เมื่อสหรัฐอเมริกาตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 แต่ญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ สหรัฐจึงทิ้งอีกลูกหนึ่งที่เมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 สิงหาคม และสมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ได้ประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2488

หลังจากนั้นสองวัน คือ วันที่ 16 สิงหาคม 2488 ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และหัวหน้าเสรีไทย ก็ได้ประกาศสันติภาพ (โดยการสนับสนุนช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา) มีสาระสำคัญว่า การประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 นั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย”

ผลจากการประกาศสันติภาพดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ กล่าวคือ รอดพ้นไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยยืนเคียงข้างฝ่ายญี่ปุ่นเป็นเวลานานถึง 4 ปี ความจริงที่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ ก็คือ ถ้าปราศจาก “ขบวนการเสรีไทย” อันประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกหมู่เหล่าทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศภายใต้การนำของ ดร.ปรีดี พนมยงค์แล้ว ฐานะของประเทศไทยก็คงต้องกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งต้องถูกปลดอาวุธ สูญเสียเอกราช เสรีภาพ รวมทั้งต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นเป็นแน่แท้

ต่อมาในวันที่ 25 กันยายน 2488 ตัวแทนพรรคเสรีไทยทั่วประเทศกว่า 8,000 คน ได้ทำการสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นประธาน และในเย็นวันเดียวกันนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เชิญผู้แทนกองกำลังเสรีไทยทุกหน่วย ไปร่วมงานสโมสร ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และได้กล่าวคำปราศรัยต่อหน้าผู้แทนหน่วยต่างๆ ของเสรีไทยทั่วประเทศด้วย ถือว่าเป็นการปิดฉากขบวนการเสรีไทยที่เป็นการรวมตัวของคนไทยผู้รักชาติ ที่มีความหลากหลายทั้งที่มาและอุดมการณ์ ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน คือ “การรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ให้ได้”

 

ตัวแทนพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศกว่า 8,000 คน สวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488

 

ตัวแทนพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศกว่า 8,000 คน สวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488
ตัวแทนพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศกว่า 8,000 คน สวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488

 

ที่มา : ชรินทร์ หาญสืบสาย, เสรีไทยและปฏิบัติการเสรีไทยในตาก, ใน ร้อยเรื่องเมืองตาก บันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ เรื่องราวแห่งอดีตสู่ปัจจุบัน, (พิษณุโลก : รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3, 2564), หน้า 169-179.