Focus
- การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เพราะเหตุแห่งการถือหุ้นสื่อตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอคำร้องหรือไม่ กำลังเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดคำถามต่อบทบาทอันควรของศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง
- บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศใดๆ ที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายไปสู่การตรวจสอบการกระทำต่างๆ ที่อาจเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบป้องกันตนเอง (militant democracy) กลับดูเหมือนว่าเป็นการให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเกินเลย (หรือไม่) ในการจะวินิจฉัยเรื่องใดๆ ที่เข้าใจว่าจะเป็นการป้องกัน มิให้มีการทำลายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อาทิ การให้อำนาจยุบพรรคการเมือง หรือการกระทำอื่นๆ ที่สะท้อนถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
- วิสัยทัศน์ของนายอิสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญพึงธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมุ่งพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันซึ่งประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อถือ” จึงกำลังได้รับการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นไปเช่นดังกล่าวนี้ได้หรือไม่
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องของ กกต. ในประเด็นข้อกล่าวหาว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขาดคุณสมบัติการเป็น สส. เพราะถือหุ้นสื่อไว้พิจารณา และได้มีคำสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติดังกล่าวแล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงสปิริตประกาศในสภาผู้แทนราษฎรยอมรับการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว โดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นสอดคล้องกับเหตุการณ์ในที่ประชุมรัฐสภาวันเดียวกัน เมื่อที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมาก (395:312 เสียง) มีมติไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่จะรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้เป็นครั้ังที่สอง
คำถามที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมจึงนำมาสู่ประเด็นที่ว่า การพิจารณาในครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกไปในลักษณะใด สถานการณ์แบบนี้จึงควรย้อนกลับมาทบทวนเกี่ยวกับสถานะของศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นตามหลักการอย่างไร เมื่อพิจารณาจากการเดินทางแห่งการพิพากษาในเรื่องทำนองนี้มาแล้วของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนจึงใคร่ขอย้อนดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตเพื่อทำนายผลในอนาคต
ศาลรัฐธรรมนูญเดินมาไกลจนเลยเถิด
แต่ดั้งแต่เดิมวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญในโลกนี้ มีเป้าหมายแรกและเป้าหมายสำคัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย เพื่อไม่ให้รัฐสภาหรือรัฐบาลตรากฎหมายที่จะขัดต่อหลักการหรือคุณค่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ[1] แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดแรกของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1920) โดยเป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ศาลเข้ามาทำหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญให้คงคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุด[2] และพิทักษ์หลักนิติรัฐที่ได้รับการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี ในระยะหลังบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายมาสู่การตรวจสอบการกระทำในลักษณะใดๆ ที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยอมให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการที่จะทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากแนวคิดประชาธิปไตยแบบป้องกันตนเองได้ (militant democracy) โดยกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีกลไกในการทำลายการกระทำดังกล่าว[3] ซึ่งนำมาสู่การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองหรือดำเนินการในลักษณะใดๆ ต่อการกระทำที่คิดว่าจะทำลายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือพฤติกรรมที่สะท้อนการเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
กรณีของประเทศไทยศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540[4] โดยในช่วงเริ่มต้นจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญไทยใหม่ๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญและนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่น่าเคารพท่านหนึ่งได้เคยให้อธิบายความมุ่งหมายของท่านในการแสดงวิสัยทัศน์ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญพึงธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมุ่งพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันซึ่งประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อถือ”[5] ทว่า ภาพของศาลรัฐธรรมนูญที่สร้างความน่าเชื่อถือทางการเมืองเป็นไปเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ภายหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาจนถึงช่วงภายใต้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 จนถึงรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฏเด่นชัดในฐานะคู่ขัดแย้งทางการเมือง ในฐานะกลไกในการรักษาอำนาจของฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกรับรองโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และวุฒิสภาของ คสช.
ศาลรัฐธรรมนูญมาพาประเทศไทยมาสู่ทางตันหลายครั้งหลายหน
ตลอดช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกตั้งคำถามจากประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำลายคู่ตรงข้ามทางการเมือง เช่น ในคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช เท่ากับนายสมัครปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้าง จึงเป็นการขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีและพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือคำวินิจฉัย 5/2563 กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ศาลวินิจฉัยว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่ก็เป็นรายรับและเงินทางการเมือง ซึ่งจะได้มาและใช้จ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง กระทำได้ตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือเป็นกรณีที่ศาลถูกนำมาใช้สร้างอุปสรรคต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยต่างๆ อาทิ คำวินิจฉัยที่ 15-18/2550 ศาลวินิจฉัยว่า รัฐสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลายเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ อาทิ คำวินิจฉัยที่ 19/2565 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า การปราศรัยของแกนนำเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือคำวินิจฉัยที่ 20/2564 เรื่องขอให้ศาลพิจารณาว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดให้การสมรสเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นที่จะชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการวินิจฉัยต่างๆ เหล่านี้ของศาลรัฐธรรมนูญกำลังพาสังคมไปสู่ทางตันทีละเล็กละน้อย และบีบให้ประชาชนไม่มีจุดให้ไปต่อ เพราะศาลได้บีบให้การเมืองต้องมาถึงทางตันที่จะไปอย่างไรตามหลักการประชาธิปไตย ทำให้เกิดการสลายขั้วทางการเมือง หรือทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ศาลควรจะพิทักษ์ไว้กลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะทำได้จริงตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างสภาวะที่ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นใหญ่ (the supremacy of constitutional court)
ในกรณีของการรับคำร้องของ กกต. ตามเรื่องพิจารณาที่ 23/2566 ถึงสมาชิกภาพของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ครั้งนี้ อาจจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพาสังคมไทยไปสู่ทางตันและความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่ง หรือไม่?
ย้อนดูคดีเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญคิดอย่างไร
เจตนารมณ์ที่ต้องกำหนดคุณสมบัติมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้นก็เพื่อมุ่งหมายมิให้ได้ประโยชน์จากกิจการดังกล่าวที่จะส่งผลให้มีอิทธิพลสั่งการกำหนดทิศทางของกิจการเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเอื้อประโยชน์ตอบแทนของบริษัทในฐานะว่าที่ หรือผู้อยู่ในตำแหน่งผู้แทนราษฎร[6] อย่างไรก็ดี คำอธิบายใดๆ ทางวิชาการในประเทศนี้อาจจะไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในเวลานี้ได้
สิ่งที่สังคมรู้ตอนนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ กกต. แล้ว และยังไม่อาจทราบได้ว่า ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาในลักษณะใด แต่สิ่งที่อาจจะพอคาดเดาได้ก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอาจจะพอเป็นกระจกสะท้อนภาพของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ โดยที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่ามีการถือหุ้นสื่อมาแล้ว 3 ครั้ง
ในครั้งแรกในคดีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตามคำวินิจฉัยที่ 14/2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในระหว่างสมัครรับเลือกตั้ง แม้จะได้โอนหุ้นก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุชื่อ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้นแทนธนาธรหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งศาลไม่เชื่อว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โอนหุ้นก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ประกอบกับกิจการออกหนังสือพิมพ์ฯ และในเอกสารแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ (แบบ สสช.1) ระบุว่า ประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์ฯ รวมถึงในเอกสารนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ยังระบุว่า มีรายได้จากการให้บริการโฆษณา ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงเป็นธุรกิจประกอบการสื่อ แม้ว่าบริษัทจะหยุดประกอบกิจการไปแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการตามกฎหมาย จึงยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ตามคำวินิจฉัยที่ 20/2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าคุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จะแจ้งว่าได้ทำการโอนหุ้นก่อนวันเลือกตั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นว่ามีพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอว่ามีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง และพบความผิดปกติในการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้น จึงไม่เชื่อว่ามีการโอนหุ้นจริง และคุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ยังถือครองหุ้นดังกล่าวอยู่ ประกอบกับบริษัททั้งสองมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ และประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่างๆ ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย และในเอกสารนำส่งงบการเงิน รวมถึงเอกสารนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ระบุว่า ธุรกิจยังมีการดำเนินการที่มีรายได้อยู่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้ คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดังจะเห็นได้ว่า เงื่อนไขสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการวินิจฉัยว่า บุคคลดังกล่าวถือหุ้นสื่อหรือไม่ก็คือ บุคคลดังกล่าวถือหุ้นของบริษัทที่มีวัตถุประสงค์เป็นการจัดทำสื่อในลักษณะต่างๆ และบริษัทยังคงมีรายได้จากการประกอบกิจการจากผลิตสื่อ ซึ่งหลักการนี้ได้รับการรับไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยที่ 18-19/2563 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ (ผู้ถูกร้องที่ 20) ซึ่งถือหุ้นบริษัท ทาโร่ทาเลนท์ จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์ พิมพ์หรือรับจ้างพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ และสิ่งพิมพ์อื่นๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศทุกภาษาตามข้อ 28 โดยศาลรัฐธรรมนูญในเสียงข้างมากได้ให้ความเห็นว่า ตามแบบ สสช.1 ระบุว่าประกอบกิจการการบริการ และรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ การโฆษณาตามสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และประกอบกิจการจัดฝึกอบรม แต่บริษัทดังกล่าวไม่ได้มีรายได้ใดๆ จากการให้บริการ และผลประกอบการขาดทุนสุทธิเป็นเงินจำนวน 97,415.51 บาท ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเสีย
ชวนทำนายผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในความเห็นของผู้เขียน ถ้าเราคิดตามหลักการของรัฐธรรมนูญและเป้าหมายของการป้องกันการถือหุ้นสื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะนำไปสู่การใช้อำนาจครอบงำ ซึ่งในกรณีนี้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีข้อมูลสู่สาธารณะว่าได้ยุติการให้บริการเนื่องจากไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ตามกฎหมายองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ และปัจจุบันก็ไม่ได้มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อโฆษณาแต่อย่างใด[7]
หากถือตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ควรจะต้องไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพและศาลรัฐธรรมนูญจึงควรมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเสีย
อย่างไรก็ดี ความไม่ชอบมาพากลของเรื่องยังมีอยู่อีกมาก เพราะหากพิจารณางบการเงินล่าสุดพบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 (นำส่งวันที่ 10 พฤษภาคม 2566) งบกำไรขาดทุน รายได้รวม 19,974,084.00 บาท กำไรสุทธิ 8,635,285.00 บาท งบดุลรวมสินทรัพย์ 1,266,191,686.00 บาท หนี้สิน 2,891,997,086.00 บาท ขาดทุนสะสม 7,480,276,245.00 บาท[8] ซึ่งไม่ตรงกับที่มีการกล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้น[9]
ประเด็นการขาดคุณสมบัติของการเป็น สส. ดังกล่าวนี้ จึงน่าสนใจมากอยู่เสมอ เพราะด้วยสถานการณ์การเมืองดังกล่าวที่ผ่านมา อาจจะกล่าวได้ว่า หลักการใดๆ ก็อาจจะไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ได้ตามหลักวิชาการ นอกจะบอกว่าการเมืองตอนนี้คือผลรวมของการละเมิดกฎเกณฑ์ของกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เหลืออยู่จึงเป็นความสับสนทางการเมือง
ท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่สังคมไทยควรจะต้องทำมากที่สุดก็คือ การกลับมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการออกแบบสถาบันตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้น และมีบทบาทหน้าที่จำกัดอย่างเหมาะสมในฐานะขององค์กรตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น
บรรณานุกรม :
บทความ
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. “หลักประชาธิปไตยเชิงรุก: ตุลาการภิวัฒน์กับการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย,” วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3, (กันยายน 2557)
- สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. “ความเคลื่อนไหวในแวดวงศาลรัฐธรรมนูญ,” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 4 เล่มที่ 10, (มกราคม – เมษายน 2545) น.3-7.
รัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.
สื่อออนไลน์
- มติชน (12 พฤษภาคม 2566), “พรสันต์ ยก 3 เหตุผล ชี้ พิธา ถือหุ้นสื่อ itv ไม่ส่งผลให้สถานะ ส.ส.ต้องพ้นไป,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
- วัชชิรานนท์ ทองเทพ (28 พฤษภาคม 2566), “ไอทีวี ยุติธุรกิจสื่อไปแล้ว ยังถือเป็นสื่อมวลชนหรือไม่,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
- สำนักข่าวอิศรา (9 มิถุนายน 2566), “สถานะไอทีวีปมหุ้นพิธา! หมายเหตุประกอบงบฯ ฉบับล่าสุดชัดดำเนินการค้าตามปกติ,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
- โพสต์ทูเดย์ (15 มิถุนายน 2566), “ITV แจงปมคลิปประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกัน,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
หนังสือ
- ธีระ สุธีวรางกูร. ระบบศาลและการพิจารณาคดีของศาลในทางกฎหมายมหาชน, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563)
- อานนท์ มาเม้า. ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558) น.27.
[1] ธีระ สุธีวรางกูร,ระบบศาลและการพิจารณาคดีของศาลในทางกฎหมายมหาชน, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), น.37; การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้น นอกเหนือจากการใช้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วอาจจะมีองค์กรของรัฐรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การใช้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแบบฝรั่งเศสหรือประเทศไทยก่อนหน้าการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ หรือการใช้ศาลสูงสุด (supreme court) แบบสหรัฐอเมริกา.
[2] เพิ่งอ้าง, น.37 และ อานนท์ มาเม้า, ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558) น.27.
[3] ดู ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “หลักประชาธิปไตยเชิงรุก: ตุลาการภิวัฒน์กับการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย,” วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3, (กันยายน 2557) : น.634 – 635 และ 643 – 644.
[4] ดู หมวด 8 ศาล ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.
[5] สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, “ความเคลื่อนไหวในแวดวงศาลรัฐธรรมนูญ,” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 4 เล่มที่ 10, (มกราคม – เมษายน 2545) : น.3-7.
[6] มติชน (12 พฤษภาคม 2566), “พรสันต์ ยก 3 เหตุผล ชี้ พิธา ถือหุ้นสื่อ itv ไม่ส่งผลให้สถานะ ส.ส.ต้องพ้นไป,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
[7] วัชชิรานนท์ ทองเทพ (28 พฤษภาคม 2566), “ไอทีวี ยุติธุรกิจสื่อไปแล้ว ยังถือเป็นสื่อมวลชนหรือไม่,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
[8] สำนักข่าวอิศรา (9 มิถุนายน 2566), “สถานะไอทีวีปมหุ้นพิธา! หมายเหตุประกอบงบฯ ฉบับล่าสุดชัดดำเนินการค้าตามปกติ,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
[9] โพสต์ทูเดย์ (15 มิถุนายน 2566), “ITV แจงปมคลิปประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกัน,” [Online] สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566.
- ศาลรัฐธรรมนูญ
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
- รัฐธรรมนูญ
- พรรคก้าวไกล
- เลือกตั้ง 2566
- ประชาธิปไตย
- การเมือง
- กกต.
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง
- ส.ส.
- สภาผู้แทนราษฎร
- อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
- คสช.
- สมัคร สุนทรเวช
- พรรคอนาคตใหม่
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
- ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
- ภาดาท์ วรกานนท์
- สำนักข่าวอิศรา
- โพสต์ทูเดย์
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ
- สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
- มติชน
- วัชชิรานนท์ ทองเทพ
- ธีระ สุธีวรางกูร
- อานนท์ มาเม้า