ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

หัวใจของรัฐบาลใหม่ คือความชอบธรรมทางการเมือง ไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้

25
กรกฎาคม
2566

Focus

  • การเมืองไทยที่ดูจะยังคงติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ของเผด็จการอำนาจนิยม แสดงให้เห็นอีกครั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิถึงร้อยละ 75.71 แต่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง พร้อมการร่วมมือกับพันธมิตรพรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง จนได้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามครรลองของประชาธิปไตย
  • ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจของประชาชนที่เป็นผลจากการเลือกตั้ง ได้รับการเหนี่ยวรั้งจากวุฒิสมาชิก และสถาบันหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการอาศัยกติกาในระดับข้อบังคับรัฐสภาให้เหนือกว่าตัวบทของรัฐธรรมนูญ สภาวะเช่นนี้จึงมิใช่ “ความชอบธรรมทางการเมือง” (political legitimacy) แต่อย่างใด
  • “ความชอบธรรมทางการเมือง” อันหมายถึงสิทธิอันชอบธรรมพื้นฐานที่รองรับอำนาจการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่แสดงออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นพลังในการผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในการรักษาหลักการทางการเมืองการปกครอง คือความชอบธรรมทางการเมืองดังกล่าวนี้ ให้เป็นหัวใจของบ้านเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านของสังคม

 

ดูเหมือนว่าการเมืองไทยจะยังคงติดอยู่ในวงจรอุบาทว์เผด็จการอำนาจนิยมต่อไป วิกฤติที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 หรือเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา นั่นคือสังคมไทยว่ายเวียนกับการรัฐประหาร - ร่างรัฐธรรมนูญ - จัดการเลือกตั้ง - ยุบพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง - การจับมือกันของพรรคการเมืองระดับรอง - การปราบปรามประชาชน ฯลฯ หมุนวนเป็นกงล้อแห่งความถดถอยทางการเมืองไม่รู้จบ

เยาวชนที่มีอายุ 18-25 ปี ต่างเกิดและเติบโตขึ้นมาเป็นพยานพบเห็นทุกขั้นตอนในวงจรอุบาทว์นี้ โดยที่เขายังไม่พานพบบรรยากาศประชาธิปไตย ตรงกันข้ามบ้างต้องพบเห็น เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง จำนวนไม่น้อยคนถูกจับกุมคุมขังอันมาจากความเห็นต่างทางการเมือง

 

เสียงประชาชนที่ไม่ได้รับการเคารพ

แม้ว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 แสดงให้เห็นชัดเจนถึงเจตจำนงของประชาชน ที่ออกมาใช้เสียงมากเป็นประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทยจากจำนวนทั้งหมด 27 ครั้ง นั่นคือร้อยละ 75.71[1]

ทว่ากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา กระบวนการทางการเมืองที่ดูเหมือนปกติกลับหมุนกงล้อกลับไปยังจุดที่สังคมไทยเคยเผชิญ นั่นคือการที่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามครรลองของประชาธิปไตย  แม้ว่าพรรคการเมืองดังกล่าวได้ร่วมมือกับพรรคอื่นๆ จนสามารถรวมกันเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราฎรได้แล้วก็ตาม หากถูกขัดขวางจากกลุ่มอำนาจที่ตกค้างมาจากการรัฐประหาร 2557 ไม่ว่าจะเป็น องค์กรอิสระ วุฒิสภา หรือศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมรัฐสภา ร่วมกันทั้ง สส. และ สว. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ยืนยันให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อีกด้านหนึ่งก็แตกต่างจากระบอบผสม (mixed regime)[2] หมายถึง การที่อำนาจของประชาชนยังได้รับการยอมรับผ่านการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่ายังมีสถาบันหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญคอยเหนี่ยวรั้งทานอำนาจนั้น

กรณีการพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นราว 2 เดือนหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 สะท้อนให้เห็นว่าเสียงจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับการเคารพ โดยเห็นได้จากท่าทีของวุฒิสมาชิกบางคนที่แสดงบทบาทที่มากกว่าการรับรองผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี กลับอภิปรายระบุไปถึงว่านโยบายอะไรที่ สส. ควรทำหรือไม่ควรทำ พรรคร่วมรัฐบาลควรจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองลักษณะอย่างไร

ที่สุดการลงมติในวันที่ 19 ก.ค. 2566 ว่าด้วยญัตติการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ก็นำมาสู่ความผิดพลาดครั้งสำคัญของรัฐสภา นั่นคือการตีความให้ข้อบังคับรัฐสภาเหนือกว่าตัวบทรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้มีการเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้รับการเสนอชื่อเพื่อลงมติเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สอง ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่จากการรับคำร้องของ กกต. ในกรณีมีหุ้นในกิจการสื่ออันเป็นไปด้วยข้อกังขาถึงความโปร่งใสและกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง

แม้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม อันได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ จะสามารถรวมจำนวน สส. ได้ถึง 312 คน คิดเป็นสัดส่วนที่นั่งร้อยละ 62.4 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพ ซึ่งมากกว่ารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในปี 2562 อย่างชัดเจน แต่ทว่ากลับถูกขัดขวางด้วยจำนวนเสียงวุฒิสมาชิกที่มีผู้สนับสนุนมติมหาชนเพียง 13 คน จาก สว. ทั้งสิ้น 250 คน ทำให้มีจำนวนไม่เกิน 375 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

เราคงไม่ต้องกล่าวถึงที่มาของวุฒิสภา ที่ถูกออกแบบอย่างแสนประหลาด เพราะการอนุญาตให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสิทธิลงมติรับรองนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบรัฐสภาทั่วโลกไม่ทำ จึงเป็นที่จับตาว่า รัฐบาลที่ยังไม่เกิดหลังการเลือกที่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้จะลงเอยเช่นไร

 

ปกป้องความชอบธรรมทางออกของประเทศ

กล่าวกันว่าหัวใจสำคัญในการปกครองของระบบรัฐสภา อันเป็นหลักการหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในทางการเมืองยุคสมัยใหม่ นั่นคือ “ความชอบธรรมทางการเมือง” (political legitimacy) ซึ่งหมายถึงสิทธิอันชอบธรรม อันเป็นพื้นฐานในการยอมรับสิทธิอำนาจในทางปกครอง[3] ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีรูปแบบรัฐสภานี้ การเลือกตั้งนับว่าเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีพัฒนาการนับร้อยปี ก่อนจะมีพัฒนาการต่อเนื่องและขยายสิทธิก้าวหน้าไปถึงคนทุกกลุ่มในสังคม

และแม้ว่าสังคมไทยจะติดอยู่กับกับดักของการรัฐประหาร 13 ครั้ง หรือการปกครองในระบอบเผด็จการที่มีระยะถึง 2 ใน 3 แต่ถึงอย่างไรก็ตามนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา การเลือกตั้งก็นับเป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยเลือกรัฐบาลของตัวเองขึ้นมาบริหารประเทศ[4]

 

ตารางที่ 1 คะแนนระบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566[5]

รายชื่อบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคการเมือง คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก้าวไกล 14,438,851
แพทองธาร ชินวัตร
เศรษฐา ทวีสิน
ชัยเกษม นิติสิริ
เพื่อไทย 10,962,522
ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
รวมไทยสร้างชาติ 4,766,408
อนุทิน ชาญวีรกูล ภูมิใจไทย 1,138,202
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประชาธิปัตย์ 925,349
ประวิตร วงษ์สุวรรณ พลังประชารัฐ 537,625

 

 

 

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิมากที่สุดในการเลือกตั้งที่เคยเกิดขึ้นในไทยแล้ว ผลการเลือกตั้งยังแสดงให้เห็นถึงมติมหาชนที่ชี้ตรงกันว่า ประชาชนปฏิเสธพรรคการเมืองในกลุ่มรัฐบาลเดิมที่สืบทอดอำนาจต่อเนื่องจากการเลือกตั้งในปี 2562

จึงทำให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากสองพรรคใหญ่ (grand coalition) ที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 และ 2 กลายเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในกระบวนการทางการเมืองของระบบรัฐสภา แต่เคยเกิดขึ้นเช่นกันในหลายประเทศที่ต้องการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ความชอบธรรมทางการเมืองของเสียงข้างมากในรัฐสภาเช่นนี้ ย่อมกลายไปเป็นพลังในการผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตามท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐของสังคม ข้อจำกัดของการเปลี่ยนผ่านก็ได้เกิดขึ้นระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ ดังที่ปรากฏในภาษาของอันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci)[6] ที่ว่า

 

“เมื่อสิ่งเก่ากำลังจะตายไป ขณะที่สิ่งใหม่จะเกิดก็ยังเกิดไม่ได้ ในช่วงผลัดเปลี่ยนเช่นนี้ อาการวิปลาสนานัปการจะปรากฏตัวให้เห็น”

 

ด้วยความที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะรักษาหลักการทางการเมืองการปกครอง คือความชอบธรรม อันเป็นหัวใจของบ้านเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน

 

บรรณานุกรม

สื่อออนไลน์

วิทยานิพนธ์

  • Prajak Kongkirati. “Bosses, Bullets and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011” Unpublished Ph.D. thesis, Department of Political and Social Change, School of International, Political and Strategic Studies, The Australian National University, 2013

หนังสือภาษาอังกฤษ

  • Marc Askew.ed. Legitimacy Crisis in Thailand. (Chiangmai: Silkworm Books, 2010), 1-2.
  • Samuel Issacharoff. Fragile Democracies: Contested Power in the Era of Constitutional Courts. (Cambridge: Cambridge University Press, 2015).

[1] จำนวนนี้มาจากรายงานผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง โปรดดู คณะกรรมการการเลือกตั้ง, รายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี พ.ศ.2566 อย่างเป็นทางการ, [ออนไลน์] เข้าถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

[2] โดยการอภิปรายกรณีบทบาทของศาลรัฐธรรมนุญเปรียบเทียบทั่วโลก ซึ่งหลายประเทศมีแนวโน้มหันไปสู่ระบอบผสม โดยเฉพาะกรณีของไทยได้ที่ Samuel Issacharoff, Fragile Democracies: Contested Power in the Era of Constitutional Courts, (Cambridge: Cambridge University Press, 2015).

[3] Marc Askew.ed, Legitimacy Crisis in Thailand. (Chiangmai: Silkworm Books, 2010), 1-2.

[4] ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอว่าระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งของไทยเริ่มลงหลักปักฐานจริงๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา และตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง, โปรดดู Prajak Kongkirati. “Bosses, Bullets and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011” Unpublished Ph.D. thesis, Department of Political and Social Change, School of International, Political and Strategic Studies, The Australian National University, 2013

[5] คณะกรรมการการเลือกตั้ง, รายงานผลการเลือกตั้ง สส. ปี พ.ศ.2566 อย่างเป็นทางการ, https://official.ectreport.com/overview, เข้าถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

[6] นักทฤษฎีการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสม์ชาวอิตาเลียน