Focus
- ผลของการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางทางการเมืองที่ผ่านช่องทางปกติ กำลังได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ด้วยการใช้เครื่องมือทางกฎหมาย เครื่องมือทางอุดมการณ์ และเครื่องมือของชุดผลประโยชน์ต่างๆ แต่กระนั้น ชนชั้นนำอนุรักษนิยมก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
- ในหนังสือเรื่อง The Rhetoric of Reaction (โวหารแห่งปฏิกิริยา) ของเขา Albert O. Hirschman อธิบายว่า กลุ่มอนุรักษนิยมมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของฝ่ายก้าวหน้า มักจะก่อให้เกิดสามเงื่อนไข คือ "Perversity" (ความเลวทราม) "Futility" (ความเปล่าประโยชน์) และ "Jeopardy" (ความเสี่ยง ความอันตราย) จึงนำไปสู่การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
- ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจถอนตัวจากแนวคิดอนุรักษนิยม ด้วยปัจจัยสำคัญๆ ดังต่อไปนี้ (1) ประสบการณ์ส่วนตัวที่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เคยเชื่อมั่นในอดีต (2) การศึกษาและเข้าถึงข้อมูลที่เพิ่มขึ้นและหลากหลาย อาจส่งผลให้บุคคลเปลี่ยนแนวคิดใหม่ (3) การเปลี่ยนแปลงสังคมและการความเปลี่ยนแปลงทางสังคม อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในมุมมองทางสังคมและค่านิยมของบุคคล (4) การปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและสื่อมวลชนส่งผลให้บุคคลมีมุมมองทางการเมืองที่กว้างขวางมากขึ้น และการสื่อสารของกลุ่มต่างๆ มีความเสมอภาคมากขึ้นกว่าเดิม และ (5) การเปลี่ยนแปลงในครอบครัวและสังคมใกล้เคียง อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในความคิดทางการเมืองของบุคคล เช่น ได้รับอิทธิพลจากลูกหลานและคนในครอบครัว
ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าปัญหา อำนาจ และทรัพยากรของกลุ่มอนุรักษนิยมกำลังเป็นปัญหาสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เราจะเห็นได้ว่า ฝั่งอนุรักษนิยมได้ใช้ทุกเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางกฎหมาย เครื่องมือทางอุดมการณ์ และเครื่องมือของชุดผลประโยชน์ต่างๆ ที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้นได้ยาก ฟังดูแล้วเหมือนทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านช่องทางปกติแล้ว ชนชั้นนำอนุรักษนิยมก็ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงด้วย เราจะคุ้นเคยกับคำอธิบายที่ว่า “เราไม่มีอะไรไปให้เขา” เขาย่อมไม่มีแรงจูงใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบทความนี้จะพาพิจารณาถึงมูลเหตุสำคัญที่อาจทำให้ชนชั้นนำอนุรักษนิยมเปลี่ยนแปลงความคิด อาจไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานของผลประโยชน์อย่างเดียว บางเงื่อนไขอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะที่บางเงื่อนไขใช้เวลา แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ชนชั้นนำอนุรักษนิยมเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าพวกเขาจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
Albert O. Hirschman ได้เผยแพร่หนังสือ The Rhetoric of Reaction (โวหารแห่งปฏิกิริยา) ซึ่งเป็นหนังสือที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายของรัฐและกลุ่มอนุรักษนิยมในสังคมรูปแบบต่างๆ อัลเบิร์ต โอ. เฮิร์ชแมน เสนอการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างความคิดฝั่งอนุรักษนิยมและความคิดฝั่งก้าวหน้า โดยอธิบายว่าความคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมมักมองว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมักจะก่อให้เกิดสามเงื่อนไขได้แก่ "Perversity" (ความเลวทราม), "Futility" (ความเปล่าประโยชน์), และ "Jeopardy" (ความเสี่ยง ความอันตราย) บ่อยครั้งที่คำอธิบายข้างต้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง แต่บ่อยครั้งก็เป็นความเชื่อที่ฝังลึกในกลุ่มอนุรักษนิยมที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ
Perversity (ความเลวทราม) การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงสังคมต่างๆ ของฝ่ายก้าวหน้าเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมดีงามมากขึ้น พวกเขากลับมองว่าเป็นสิ่งที่เลวทราม เช่น การขยายรัฐสวัสดิการ การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าแก่กลุ่มคนมั่งคั่งเพื่อสร้างความเสมอภาค พวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้สร้างผลเสียทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องเลวร้าย เช่น จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่เกิดการลงทุน หรือการสร้างผีต่างๆ ขึ้นมา เช่น หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเศรษฐกิจจะถดถอย เกิดการว่างงาน หรือการข่มขู่ว่าถ้ามีวันลาคลอดเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงจะตกงาน ขึ้นภาษีมากขึ้นนายทุนจะย้ายประเทศหนี
Futility (ความเปล่าประโยชน์) คือเมื่อนโยบายหรือกิจกรรมที่เป้าหมายให้ความสำคัญเป็นนโยบายที่ไม่สามารถให้ผลเพื่อส่วนรวมหรือมีประสิทธิภาพอย่างที่คาดคิด เช่น พวกเขาอาจข่มขู่หรือสร้างข้อกังวลว่า ถ้าเกิดมีเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า สุดท้ายพ่อแม่ที่ยากจนไร้การศึกษาก็จะแข่งกันมีลูกและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด หรือหากมีบำนาญให้ผู้สูงอายุ สุดท้ายแล้วพวกคนที่ไม่มีวินัยทางการเงินก็เอาเงินไปกินเหล้าเมายา คำอธิบายที่อุปโลกน์ขึ้นมาเหล่านี้ เพื่อยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อให้สังคมเท่าเทียม ล้วนเป็นสิ่งไร้ประโยชน์
Jeopardy (ความเสี่ยง ความอันตราย) คือเมื่อนโยบายหรือการกระทำที่เกิดขึ้นตามความต้องการของฝั่งก้าวหน้า ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสังคมหรือส่งผลกระทบต่อประเทศชาติที่มีอยู่แล้ว เช่น การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารหรือการตัดงบประมาณด้านกลาโหม จะทำให้ประเทศเผชิญกับวิกฤติความมั่นคงอย่างรุนแรง
ความคิดของอนุรักษนิยมวางอยู่บนฐานสมมติว่าด้วยความกลัว แต่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมก็เป็นมูลเหตุให้พวกเขาถอนความคิดจากแนวคิดอนุรักษนิยมดังต่อไปนี้
1.ประสบการณ์ส่วนตัว บางครั้งคนที่มีแนวคิดทางการเมืองอนุรักษนิยมอาจเปลี่ยนแปลงเมื่อพวกเขาได้ประสบกับประสบการณ์ส่วนตัวที่ส่งผลให้พวกเขาเห็นภาพมากขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เขาเชื่อมั่นในอดีต เมื่อพวกเขาเห็นความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารของฝั่งอำนาจนิยม และกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่น้อยกว่าสิ่งที่พวกเขาหวาดกลัวกลุ่มก้าวหน้า
2.การศึกษาและเข้าถึงข้อมูล การศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้บุคคลที่มีแนวคิดทางการเมืองอนุรักษนิยมได้รับข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น อาจมีการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอื่นหรือมุมมองทางการเมืองอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมและค่านิยมของแนวคิดเดิมของพวกเขาใหม่ ทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า การยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอาจนำสู่เงื่อนไขที่เลวร้ายที่สุด
3.การเปลี่ยนแปลงสังคม สังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจมีผลต่อแนวคิดทางการเมืองของบุคคล การเปลี่ยนแปลงในมุมมองทางสังคม ค่านิยม หรือเกิดเหตุการณ์สำคัญในสังคมอาจส่งผลให้บุคคลเลือกที่จะปรับปรุงและปรับเปลี่ยนความคิดทางการเมืองของพวกเขา เมื่อสังคมสถาปนาความปกติใหม่ สิ่งที่ผิดปกติต่างๆ ก็จะเผยตัวออกมา กลายเป็นสิ่งที่น่าอับอายและน่าตลก
4.ปรับตัวกับเทคโนโลยี เทคโนโลยีและสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูล การเข้าถึงข่าวสารและมุมมองทางการเมืองที่หลากหลายผ่านสื่อออนไลน์อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้บุคคลมีมุมมองทางการเมืองกว้างขวางมากขึ้น และมองเห็นความหลากหลายของวิสัยทัศน์ ถึงแม้ว่าสื่อออนไลน์จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ความเข้าใจวนในกลุ่มพวกเดียวกัน แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้การสื่อสารของกลุ่มต่างๆ มีความเสมอภาคมากขึ้น และการผูกขาดความรู้และข้อมูลน้อยลง
5.การเปลี่ยนแปลงในครอบครัวและสังคมใกล้เคียง บุคคลอาจมีการเปลี่ยนแปลงในความคิดทางการเมือง เนื่องจากการกระทำและการแสดงออกทางการเมืองของครอบครัวหรือกลุ่มสังคมใกล้เคียง การได้ยินและการถ่ายทอดความคิดเห็นทางการเมืองจากบุคคลใกล้เคียงในสังคมอาจมีผลต่อเหตุผลและมุมมองทางการเมืองของบุคคลเอง ผู้สูงอายุหรือกลุ่มอนุรักษนิยมจำนวนมากที่ได้รับอิทธิพลจากลูกหลานและคนในครอบครัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด
การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของฝั่งอนุรักษนิยมนั้นมีปัจจัยที่มากกว่าการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่การสร้างเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา การพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งการลุกฮือ เดินขบวนเคลื่อนไหวของประชาชน การรณรงค์ทั้งออนไลน์และโลกจริง สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อความคิดอนุรักษนิยมได้เช่นกัน
รายการอ้างอิง
- Hirschman, Albert O. The Rhetoric of Reaction: Perversity, Futility, Jeopardy. (Cambridge, MA: The Belknap Press of Harvard University Press, 1991).