ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร : ปรัชญาทางยุทธศาสตร์

7
ตุลาคม
2566

Focus

  • ในงานชุมนุมฤดูร้อน พ.ศ. 2517 ของสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี พนมยงค์ ได้ปาฐกถาในหัวข้อ “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” เพื่อสนับสนุนชัยชนะของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 และให้ข้อคิดเห็นถึงวิธีการต่อต้านเผด็จการ
  • การต่อต้านเผด็จการเป็นเรื่องกว้างขวาง พิสดาร และมีหลายชนิด ผู้ที่นิยมชมชอบเผด็จการ อาจแสดงออกอย่างเปิดเผยและไม่สนใจว่าเผด็จการจะกลับฟื้นคืนอีกหรือไม่ ส่วนฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ก็มีหลายจำพวก รวมถึงพวกที่ต่อต้านระบอบเผด็จการ และต่อต้านเฉพาะตัวคนที่เป็นเผด็จการ
  • คติของซุนจื่อนักปรัชญายุทธศาสตร์ชาวจีนที่ว่า "รู้จักเขาและรู้จักเรา รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งร้อยครั้ง” เป็นประโยชน์แก่ขบวนการใดๆ ก็ตามที่จะนำไปใช้ในการต่อสู้ โดยพึงรู้จักสภาพกำลังของฝ่ายปรปักษ์ และสภาพกำลังที่แท้จริงของฝ่ายตนที่จะใช้ในสภาพอย่างใด ในท้องที่อย่างใด ในกาลสมัยใด และควรต่อสู้อย่างไร

 

สวัสดีท่านทั้งหลาย

ผมขอขอบคุณท่านประธานกรรมการ ท่านกรรมการและสมาชิกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสที่ได้เชิญผมกับภรรยามาร่วมสังสรรค์ในงานชุมนุมฤดูร้อน พ.ศ. 2517 ของสมาคม ท่านประธานกรรมการในนามของสมาคมขอให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า


“เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร”

ผมเห็นว่าปัญหาที่ท่านเสนอขึ้นนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของนิสิตนักศึกษา นักเรียน และราษฎรไทยส่วนมากที่รักชาติรักความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งปรารถนาพิทักษ์ชัยชนะก้าวแรกที่วีรชน 14 ตุลาคม 2516 ได้เสียสละชีวิต ร่างกายและความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้เผด็จการเพื่อให้ชาติและราษฎรไทยได้บรรลุซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ ปรากฏตามข่าวสารหลายกระแสที่ท่านทั้งหลายได้รับโดยตรงจากประเทศไทยก็ดี จากวารสารกับหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของต่างประเทศและของคนไทยในต่างประเทศก็ดี รวมทั้งวารสารนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้พยายามนำข่าวเท่าที่รวบรวมได้เสนอต่อสมาชิกและผู้อ่านก็ดีนั้น พอสรุปใจความได้ว่าประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามโดยมีบุคคลจำนวนหนึ่งต้องการฟื้นเผด็จการขึ้นมาอีก และบุคคลอีกจำนวนหนึ่งดำเนินการอย่างสุดเหวี่ยงยื้อแย่งผลแห่งชัยชนะซึ่งวีรชน 14 ตุลาคม 2516 นำมาให้ปวงชนนั้นไปเป็นประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนโดยเฉพาะเพื่อสถาปนาเผด็จการของอภิสิทธิ์ชนขึ้น

การต่อต้านเผด็จการนั้นเป็นเรื่องกว้างขวางพิสดารมาก เพราะเผด็จการมีหลายชนิด ผู้นิยมชมชอบเผด็จการชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด ก็มีอยู่ในทางแสดงออกอย่างเปิดเผยและในทางไม่สนใจว่าเผด็จการจะกลับฟื้นคืนอีกหรือไม่ ส่วนฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นก็มีหลายจำพวก บางพวกต่อต้านระบอบเผด็จการ แต่บางจำพวกต่อต้านเฉพาะตัวคนบางคนที่เป็นผู้เผด็จการ ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่าบางคนต่อต้านเฉพาะจอมพลถนอมและจอมพลประภาส แต่นิยมชมชอบจอมพลสฤษดิ์เพราะเหตุที่ตนเองหรือญาติมิตรได้ประโยชน์จากจอมพลสฤษดิ์ และมีเสียงเรียกร้องให้วิญญาณของจอมพลผู้นี้กลับคืนชีพขึ้นมาอีก บางคนเอาคำกลอนของสุนทรภู่ตอนหนึ่งที่ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” นั้น มาเป็นสุภาษิตเพื่อใช้เป็นหลักนำในการปฏิบัติตน แต่อันที่จริงกลอนนั้นเป็นคำรำพึงของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นปราชญ์ที่มีปัญญาสูง รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในรัชกาลที่ 2 แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ต้องระเหเร่ร่อน ส่วนพวกประจบสอพลอแม้ไม่มีความรู้ก็สามารถรับราชการมีตำแหน่งสูง สุนทรภู่ไม่มีความประสงค์ให้ชนรุ่นหลังคิดเอาตัวรอดเฉพาะตน วิธีต่อต้านเผด็จการนั้น ก็มีมากมายหลายชนิด ฉะนั้นวันนี้ผมจึงขอสนองศรัทธาท่านทั้งหลายเพียงกล่าวความโดยสังเขปพอสมควรแก่เวลาเท่านั้น ถ้าท่านผู้ใดสนใจ ก็ขอให้ค้นคว้าต่อไปให้สมบูรณ์ทั้งทางทฤษฎีและตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมประจักษ์อยู่ในสังคมต่างๆ ให้สมานด้วย แล้วพิจารณาประยุกต์ให้เหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาลสมัยของแต่ละสังคมที่วิวรรตอยู่ในระดับต่างๆ

ผมต้องขอแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า ในการกล่าวถึงประเด็นต่างๆ นั้น บางตอนก็จำเป็นต้องอ้างถึงลัทธิและชื่อของผู้ตั้งลัทธิที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับประเด็น ขอให้ท่านเข้าใจว่าผมมิใช่เป็นโฆษกของลัทธิใดๆ หรือนิกายใดๆ ท่านผู้ใดจะเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใสในลัทธิใดหรือนิกายใด ก็เป็นเรื่องเสรีภาพตามสิทธิมนุษยชนที่ท่านพึงมีคือ มีสิทธิ์ในการเลือก ถือลัทธินิยมใดๆ ได้ตามความสมัครใจ เมื่อได้พิจารณาลัทธิหรือนิกายนั้น โดยถี่ถ้วนแล้วตามวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ในกาลามสูตร

 

ปรัชญาทางยุทธศาสตร์

ก่อนที่ผมจะเข้าสู่ประเด็นของเรื่อง ผมขอให้ข้อสังเกตว่าการต่อต้านเผด็จการนั้น มิใช่ฝ่ายต่อต้านจะกระทำตามอำเภอใจต่อฝ่ายเผด็จการ เพราะฝ่ายหลังย่อมทำการตอบโต้โดยตรงและโดยปริยายต่อฝ่ายที่ทำการต่อต้าน ดังนั้น การต่อต้านเผด็จการจึงหมายถึงการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย เมื่อมีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายแล้ว ก็เข้าสู่รูปแบบที่เรียกว่า “สงคราม” ซึ่งมีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ สงครามทางการเมือง สงครามทางจิตวิทยา และสงครามทางศาสตราวุธ

ผมจึงขอให้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ระลึกถึงปรัชญาทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นยอดสรุปแห่งวิชาว่าด้วยการทำสงครามไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามชนิดใด โรงเรียนนายทหารชั้นสูงหลายแห่งในยุโรปได้นำเอาคติของนักปรัชญายุทธศาสตร์ต่างๆ กล่าวไว้ บางโรงเรียนได้กล่าวถึงนักปรัชญายุทธศาสตร์ชาวเอเชียผู้หนึ่งไว้ด้วย ท่านผู้นี้มีชื่อว่า “ซุนจื่อ” (Sunzi) เกิดในประเทศจีนประมาณ 400 ปี ก่อนพระเยซูหรือประมาณ 2,400 ปีมาแล้ว ได้ให้คติไว้สรุปเป็นใจความว่า รู้จักเขาและรู้จักเรา รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งร้อยครั้ง ในการที่ผมนำคติของท่านผู้นี้มาอ้างก็เพราะเห็นว่ามีเหตุผลที่พิสูจน์ได้ในทางตรรกวิทยา ถ้าผู้ใดขบวนการใดสามารถเอาคตินั้นมาประยุกต์แก่การต่อต้านเผด็จการแล้ว ก็สามารถกำหนดยุทธวิธีต่อสู้ให้เหมาะสมแก่กำลังของทั้งสองฝ่ายได้ว่า ในสภาพอย่างใด ในท้องที่อย่างใด ในกาลสมัยใด ควรต่อสู้อย่างไร ถ้าหากผู้ใด ขบวนการใด ไม่รู้จักสภาพกำลังของฝ่ายปรปักษ์ และไม่รู้จักสภาพกำลังแท้จริงของฝ่ายตน หรือรู้จักเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่สามารถใช้ยุทธวิธีให้เหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาลสมัยได้

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ปรัชญาทางยุทธศาสตร์. ใน เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร. กรุงเทพฯ : โครงการกำแพงประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4 ในวาระ“รำลึก 33 ปี 6 ตุลาคม 2519” น. 6-8.