Focus
- “เผด็จการ” ตรงกันข้ามกับ “ประชาธิปไตย” (หมายถึง “การปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”) โดยเผด็จการอาจได้แก่ หัวหน้าฝ่ายทหารผู้เผด็จการชั่วคราว ผู้เผด็จการตลอดชีวิต จักรพรรดิ รวมถึงเผด็จการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น โดยสังคมทาสเป็นจุดเริ่มต้นของการมีผู้นำแบบเผด็จการ และสืบเนื่องถึงสังคมศักดินา
- ระบบทุนนิยมก็เป็นเผด็จการได้ ทั้งระบบทุนผูกขาด ระบอบทุนผูกขาดที่กำลังเสื่อม ระบบทุนกำลังจะตาย ระบบทุนผูกขาดเข้าแทนที่การแข่งขันเสรี โดยอาจเป็นการสมานนายทุนเป็นองค์การผูกขาด การผูกขาดของธนาคารใหญ่ การยึดแหล่งวัตถุดิบ และอื่นๆ จนกลายเป็น “จักรวรรดินิยม” ที่เป็นระบอบเผด็จการของระบบทุนผูกขาด
- ระบบทาสและศักดินาที่เสื่อมสลายไปในทางระบบเศรษฐกิจการเมือง แต่ซากทรรศนะที่เกาะแน่นอยู่ในหมู่ชนที่ถ่ายทอดกันหลายชั่วคน ก็ยังคงมีอยู่ช้านาน และเป็นพลังต่อต้านระบอบประชาธิปไตย โดยพยายามที่จะฟื้นฟูระบบเผด็จการทาสและศักดินาในรูปสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่าหรือรูปที่ใช้ชื่อใหม่ เช่น เผด็จการฟาสซิสต์ นาชี เผด็จการทหาร ดังที่เกิดขึ้นในเยอรมนี จีน และไทย เป็นต้น
ฝ่ายเผด็จการ
2.1
เมื่อก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะก่อตัวขึ้นในยุโรปนั้น ลัทธิปกครอง ซึ่งฝ่ายบริหารประเทศมีอำนาจเด็ดขาด ปกครองคนส่วนมากในสังคมอย่างทาส และข้าไพร่ของเจ้าศักดินาได้กลับฟื้นขึ้นมาอีกในหลายประเทศ แล้วได้แพร่ไปยังประเทศไทยด้วย อาทิ ลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธินาชี ลัทธินายทหารผู้ใหญ่ มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ จึงได้มีผู้เอาคำว่า “เผด็จ” ซึ่งแผลงมาจากภาษาขอม “ผดาด” แปลว่าเด็ดขาด ผสมเข้ากับคำว่า “การ” เป็นศัพท์ไทยว่า “เผด็จการ” ต่อมาราชบัณฑิตยสถานได้รับเอาคำว่า “เผด็จการ” บรรจุไว้ในพจนานุกรมโดยให้ความหมายว่า “การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด”
คำว่า “เผด็จการ” จึงตรงกันข้ามกับ “ประชาธิปไตย” (ซึ่งหมายถึง “การปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”)
2.2
คำไทย “เผด็จการ” จึงใช้ถ่ายทอดคำอังกฤษ “Dictatorship” หรือคำฝรั่งเศส “Dictature” ฉะนั้นท่านที่ประสงค์ทราบความหมายเพิ่มขึ้น จึงขอให้ศึกษาความหมายของคำฝรั่งทั้งสองนั้นด้วย
คำฝรั่งทั้งสองนั้นแผลงมาจากคำละติน “Dictatura” แปลว่า อำนาจสั่งการเด็ดขาด เมื่อประมาณ 2,400 ปี สมัยที่ชาวโรมันได้สถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นโดยมีพฤฒสภาและคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ควบคุมฝ่ายบริหารนั้น บางครั้งเกิดสงครามเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงได้ตั้งหัวหน้าฝ่ายทหารมีอำนาจเด็ดขาดในการ รักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเวลาเพียงครั้งละ - เดือน บุคคลที่มีอำนาจเด็ดขาดนี้เรียกเป็นภาษาละตินว่า “ดิกตาตอร์” (Dictator) ฝรั่งเศสแผลงเป็น “Dictateur” อังกฤษ “Dictator”
ต่อมาผู้เผด็จการชั่วคราวบางคนได้อาศัยพวกที่มีซากทรรศนะทาสและศักดินาสนับสนุนตนเป็นผู้เผด็จการระยะเวลา 10 ปีบ้าง โดยไม่มีกำหนดเวลาบ้าง ซึ่งเท่ากับเป็นผู้เผด็จการตลอดชีวิตของตน ครั้นแล้วก็ได้แผลงตำแหน่งผู้เผด็จการตลอดชีวิตเป็นผู้เผด็จการซึ่งมีอำนาจตั้งทายาทสืบสันตติวงศ์เปลี่ยนตำแหน่ง “ดิกตาเตอร์” เป็น “อิมเปราเตอร์” (Imparator) ซึ่งตามความหมายเดิมแปลว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้นเป็นตำแหน่งอิสริยยศให้แก่ประมุขสูงสุดของสังคมโรมันที่มีอำนาจเผด็จการ ภาษาฝรั่งเศสแผลงคำละตินนั้นมาเป็น “Empereur” อังกฤษแผลงเป็น “Emperor” ภาษาไทยเรียกตำแหน่งที่ตรงกันนี้ว่า “จักรพรรดิ” มาช้านานตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “หวงตี้” ส่วนระบอบปกครอง สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดิและอาณาจักรที่จักรพรรดิครอบครองนั้นเรียกเป็นภาษาละตินว่า “เอมเปริอุม” (Imperium) ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษแผลงเป็น “Empire” ภาษาไทยเรียกว่า “จักรรรดิ” มาช้านานตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “ตี้โก๊วะ” (คำว่า “จักรพรรดิ” ในภาษาไทยจึงมีความหมายต่างกับคำว่า “จักรวรรดิ” แม้หลักทั่วไปในภาษาไทยมีว่าคำที่มาจากบาลีสันสกฤตจะเปลี่ยน “พ” เป็น “ว” หรือเปลี่ยน “ว” เป็น “พ” ได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าคำใดที่คนไทยใช้มาโดยมีความหมายเฉพาะแล้วก็จะเปลี่ยนเช่นนั้นไม่ได้ เช่น “พิธี” กับ “วิธี” นั้น หลายกรณีมีความหมายผิดเพี้ยนกัน)
ต่อมาใน ค.ศ. 1836 คนฝรั่งเศสได้เอาคำวา “isme” เป็นปัจจัยต่อท้ายคำว่า “impérial” ซึ่งเป็นคุณศัพท์ของคำว่า “Empire” นั้นเป็น “impérialisme” แล้วคนอังกฤษก็แผลงเป็น “Imperialism” ซึ่งหมายถึง นโยบายและการปฏิบัติของชาติหนึ่งที่ยึดเอาชาติอื่นมาอยู่ใต้อำนาจเศรษฐกิจหรือการเมืองหรือทั้งสองอย่างคือ เอาเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมหรืออยู่ใต้อิทธิพล ทั้งนี้มิได้หมายความเฉพาะชาติมีอำนาจเช่นนั้นจะมีระบอบปกครองที่มี “จักรพรรดิ” (Emperor) เป็นประมุขเท่านั้น หากหมายรวมถึงชาติที่เป็นสาธารณรัฐ ซึ่งไม่มีจักรพรรดิเป็นประมุขด้วย ตามความหมายนั้น “Imperialism” ย่อมถ่ายทอดเป็นภาษาไทยว่า “จักรวรรดินิยม” ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า “ตี้โก๊วะจู๋อี้” (เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนบางคนในสยามได้แจกใบปลิวเขียนเป็นภาษาไทยเรียกร้องให้ต่อสู้ “จักรพรรดิญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นการเหมาะสมสำหรับจีนสมัยนั้นถือว่าพระจักรพรรดิประมุขยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบในการรุกรานประเทศจีน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วจึงมีผู้ตัดคำว่า “ญี่ปุ่น” ออกแล้วเอาคำว่า “นิยม” ต่อท้ายคำว่า “จักรพรรดิ” เป็น “จักรพรรดินิยม”)
ใน ค.ศ. 1916 เลนินได้อธิบายความหมายของคำว่า “Imperialism” ว่าเป็นระยะวิวรรตการของระบบทุนนิยมซึ่งพัฒนาถึงขีดสูงสุดในอเมริกา ยุโรป แล้วต่อมาในเอเชีย ซึ่งพัฒนาเต็มที่ระหว่าง ค.ศ. 1893-1914 คือสงครามระหว่าง สหรัฐอเมริกากับสเปน ค.ศ. 1898 สงครามระหว่างอังกฤษกับพวกปัวร์ ค.ศ. 1900-1902 สงครามระหว่างรุสเซียกับญี่ปุ่น ค.ศ. 1904-1905 และวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในยุโรป ค.ศ. 1900
เลนินอธิบายว่า “อิมพีเรียลิสม์” มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ (1) ระบบทุนผูกขาด (2) ระบอบทุนผูกขาดที่กำลังเสื่อม (3) ระบบทุนกำลังจะตาย ระบบทุนผูกขาดเข้าแทนที่การแข่งขันโดยเสรี แสดงออกโดยรูปแบบ 5 ประการ คือ (1) การสมานนายทุนเป็นองค์การผูกขาด (2) การผูกขาดของธนาคารใหญ่สี่หรือห้า ธนาคารที่กุมเศรษฐกิจในอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ (3) การยึดเอาแหล่งวัตถุดิบของคณาธิปไตยการคลัง (4) การแบ่งปันเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยกลุ่มทุนผูกขาด (5) การแบ่งดินแดนในโลก (ปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นอาณานิคมแบบใหม่คือจักรวรรดินิยมมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ)
ดังนั้น “จักรวรรดินิยม” จึงเป็นระบอบเผด็จการของระบบทุนผูกขาด
2.3
ในพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษได้ให้คำที่มีความเหมือนกัน (synonym) กับคำว่า “Dictature” หรือ “Dictatorship” ไว้ คือคำว่า “(ฝรั่งเศส) Absolutisme, (อังกฤษ) Absolutism” ที่แปลเป็นไทยว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คำว่า "ฝ. Despotisme, อ. Despotism" ที่แปลเป็นไทยว่า “ทารุณราชย์” และคำว่า “ฝ. Tyrannie, อ. Tyranny” ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกัน
2.4
พิจารณาตามสาระแห่งความหมายของ “เผด็จการ” ดังกล่าวนั้น ระบอบเผด็จการเริ่มเกิดมีขึ้นเมื่อระบบทาสได้เข้ามาแทนที่ระบอบประชาธิปไตยปฐมกาลของมนุษยชาติแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าสังคมถือว่าคนในสังคมเป็นทรัพย์สินของตน
ประดุจสัตว์พาหนะ เช่น วัว ควาย ข้าง ม้า ซึ่งหัวหน้าสังคมมีอำนาจบังคับให้ทำงานเพื่อตน และมีอำนาจเฆี่ยนตีเข่นฆ่าได้ กฎหมายเก่าของสยามบัญญติว่า ทาสเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งจำพวกเดียวกับสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายเรียกว่า “วิญญาณกทรัพย์” (ส่วนทรัพย์สินประเภทไม่มีชีวิตเรียกว่า “อวิญญาณกทรัพย์” ผู้ศึกษากฎหมายโรมันย่อมทราบว่า กฎหมายนั้นบัญญัติว่าทาสเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งของเจ้าทาส ระบบปกครองสังคมทาสจึงเป็นระบอบเผด็จการชนิดทารุณโหดร้าย
ต่อมาเจ้าทาสได้ผ่อนผันให้ทาสบางส่วนประจำทำงานในที่ดินของเจ้าทาสเพื่อทำการเพาะปลูกในที่ดิน นำดอกผลที่ทำได้ส่งเป็นบรรณาการหรือที่เรียกว่า “ส่งส่วย” แก่เจ้าทาสและหัวหน้าสังคมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหลายในสังคม ระบบที่เรียกว่า “ศักดินา” จึงเกิดขึ้นตามที่ผมเคยกล่าวไว้ในปาฐกถาเมื่อปีกลายนี้ในงานชุมนุมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน
แม้จะได้มีระบบศักดินาแล้ว ระบบทาสก็ยังไม่หมดสิ้นไปในทันใดคือยังอยู่คู่เคียงกับระบบศักดินาเป็นเวลาอีกช้านานมาก ในประเทศไทยนั้นระบบทาสอยู่คู่เคียงกับระบบศักดินา จนกระทั่ง ร.ศ. 124(พ.ศ.2448 ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้ทรงประกาศยกเลิกทางนิตินัย แม้กระนั้นซากของทรรศนะทาสอันเป็นระบบที่มีอยู่เป็นเวลาช้านานหลายหมื่นปีก็คงยังมีเหลืออยู่ซึ่งตกทอดต่อๆ กันมายังสังคมศักดินาด้วย ระบบปกครองสังคมศักดินาเป็นระบอบเผด็จการทำนองระบอบเผด็จการทาส
โดยที่ในสมัยโบราณมนุษย์ยังไม่มีความเข้าใจในกฎธรรมชาติอันเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง จึงหลงเชื่อว่าความเป็นไปแห่งความเป็นอยู่ของตนนั้นก็โดยอภิเทวดาบันดาลขึ้น จึงได้มีลัทธิทางไสยศาสตร์ชนิดหนึ่งที่สอนให้บุคคลหลงเชื่อว่าผู้เผด็จการทาสและศักดินาเป็นผู้ที่อภิเทวดาส่งมาให้เกิดในมนุษยโลกเพื่อปกครองมนุษย์ ทุกลัทธิไสยศาสตร์ชนิดนั้นมีสาระตรงกันว่า หัวหน้าสังคมเป็นผู้ที่ พระเจ้าบนสวรรค์ส่งมาให้เกิดในมนุษย์โลก จะต่างกันก็อยู่ที่ว่าเทพเจ้าใดเป็นผู้ส่งมา เช่น ฝ่ายยุโรปอ้างว่า “อภิเทวา” (God) ลัทธิขงจื้ออ้างว่าจักรพรรดิจีนเป็นโอรสของสวรรค์ เรียกเป็นภาษาจีนว่า “เทียนจื่อ” จักรพรรดิเวียดนามถือคติอย่างจีนจึงอ้างตนว่าเป็น “เทียนตื่อ” แต่คนไทยออกสำเนียงเพี้ยนไปในการเรียก “องเยียลอง” ที่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ในสยามสมัยกรุงธนบุรีว่า “องเชียงสือ” คติญี่ปุ่นอ้างว่า จักรพรรดิเป็นโอรสของดวงอาทิตย์ ลัทธิฮินดูอ้างว่าพระนารายณ์แบ่งภาคมาเกิดประดุจเป็นพระอินทร์แห่งมนุษยโลก คำสั่งของเทพสมมตินั้นมีพลานุภาพ ประดุจเสียงคำรามของราชสีห์ซึ่งเรียกว่า “สุรสีหนาท” อันแสดงให้เห็นชัดถึงอำนาจเผด็จการที่น่าเกรงขาม
สาระสำคัญของระบบทาสและศักดินา คือเจ้าทาสและเจ้าศักดินาซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยในสังคมมีอำนาจบังคับทาสและข้าไพร่ซึ่งเป็นราษฎรส่วนข้างมากของสังคมจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือ “สุรสีหนาท” ของเจ้าทาสและเจ้าศักดินา และจำต้องเชื่อฟังอย่างหลับหูหลับตา ซึ่งเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Obéissance Aveugle” อังกฤษ “Blind Obedience” ถ้าไม่เชื่อฟังก็จะต้องถูกเจ้าทาสและเจ้าศักดินาลงโทษตามอำเภอใจ เช่น ทรมานกลั่นแกล้ง เฆี่ยนตีให้อดอยาก เข่นฆ่า ระบบทาสและศักดินาจึงเป็นรากเหง้าของระบอบเผด็จการที่ปกครองสังคมโดยวิธีการเช่นเดียวกันนั้น อาทิ ระบอบฟาสซิสต์ นาชี ระบอบเผด็จการทหาร
แม้เผด็จการทาสและศักดินาจะใช้วิธีหลอกลวงให้คนส่วนมากของสังคมหลงเชื่อว่า หัวหน้าสังคมเป็นผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ให้จุติมาเกิดในมนุษย์โลกดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วในข้อก่อนก็ดี แต่ก็มีทาสและข้าไพร่ที่ถูกกดขี่อย่างหนักในสังคมต่างๆ ได้เกิดจิตสำนึกที่ตนถูกกดขี่แล้วได้รวมกำลังต่อสู้โดยวิธีสันติบ้าง โดยใช้กำลังอาวุธบ้าง เช่น ขบวนการทาสนำโดย “สปาตากุส” (Spatacus) ผู้นี้สามารถ รวบรวมทาสจำนวนน้อยไปสู้จำนวนมาก เริ่มต่อสู้ทางอาวุธกับระบบเผด็จการทาสโรมันเมื่อประมาณ 74 ปี ก่อนพระเยซูเกิด ผู้นี้พัฒนากำลังของตนสามารถรวมกำลังได้ถึง 2 แสนคน ทำการต่อสู้ได้เป็นเวลาถึง 2 ปี แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายเผด็จการทาส เพราะเหตุที่ขบวนการนั้นมีเจตนารมณ์สูงที่ไม่ยอมเสียศักดิ์ศรีของมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์ของมนุษยสังคมที่จะคงมีอยู่เป็นเวลานานจึงจารึกวีรกรรมของขบวนการต่อต้านเผด็จการทาสและศักดินาที่มีต่อวิวรรตการของสังคม
2.5
ในบทความปลีกย่อยที่เขียนขึ้นในยุโรปเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาในเอเชีย) นั้น ระบบทุนสมัยใหม่ได้พัฒนาไปไกลมากในยุโรปนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ผู้เขียนจะต้องเน้นหนักถึงการเผชิญหน้ากันและความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ “Bourgeoisie” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นเจ้าสมบัติ” กับ “Proletariat” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” หรือ “Working Class” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นคนงาน”
แต่ในประเทศด้อยพัฒนาหรือที่มีศัพท์ใหม่เรียกว่าประเทศกำลังพัฒนานั้น มีซากทาสและซากศักดินาอยู่ ฉะนั้นเราไม่ควรมองข้าม “ระบอบทุนศักดินา” 12 (Feudal Capitaism) ที่ได้มีขึ้นตั้งแต่ระบบศักดินาได้เกิดขึ้น คือส่วนหนึ่งของข้าไพร่ที่พ้นจากฐานทาสนั้น เมื่อมีทุนเล็กน้อยก็เริ่มทำการซื้อผลิตผลที่ข้าไพร่ส่วนมากได้ สิทธิจากเจ้าศักดินาให้มีไว้เป็นส่วนของข้าไพร่ โดยผู้มีทุนน้อยนี้เอาของที่ข้าไพร่อื่นมาแลกเปลี่ยน ครั้นต่อมาเมื่อได้มีวัดถุอื่นเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน เช่น สัตว์บางชนิด เบี้ยบางชนิด โลหะบางอย่าง เช่น ดีบุก ทองแดง เงิน ทอง จึงได้ใช้วัตถุสื่อกลางนั้นแลกเปลี่ยน อันเป็นวิธีที่เรียกว่า “ซื้อขาย” ข้าไพร่ที่ทำการค้าขายนี้ ได้ทำการเอาเปรียบข้าไพร่ซึ่งเป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นเหตุให้ข้าไพร่ที่ทำการค้าขายมีกำไรสะสมเป็นทุนขยายการค้าขายกว้างขวางขึ้นและมีทุนให้ข้าไพร่อื่นๆ ยืมโดยมีดอกเบี้ยบ้าง โดยให้ข้าไพร่อื่นๆ ซื้อของเชื่อโดยกำหนดราคาขายอย่างแพง ซึ่งเป็นการเอาดอกเบี้ยอย่างแพงไปในตัว ดังนั้นข้าไพร่ส่วนมากซึ่งต้องส่งส่วยให้แก่เจ้าที่ดินและเจ้าศักดินาแล้ว ก็ยังถูกขูดรีดจาก “นายทุนศักดินา” อย่างหนักอีกด้วย ท่านทั้งหลายที่มีใจเป็นธรรมต่อชาวนาสยาม โดยพิจารณาความจริงที่ประจักษ์ในชนบทก็ย่อมเห็นได้ แม้ในปัจจุบันนี้ว่าชาวนาสยามผู้ยากจนได้ถูกนายทุนพ่อค้าซากศักดินานี้ขูดรีดเพียงใดบ้าง
นายทุนศักดินามีอยู่ตั้งแต่โบราณกาลในสังคมที่เกิดระบบศักดินาขึ้นแล้ว หากแต่ในสังคมต่างๆ เรียกนายทุนศักดินานี้ในชื่อต่างๆ กันตามภาษาของแต่ละสังคม เช่น ในอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น จำแนกนายทุนศักดินาออกเป็น 3 อันดับ จากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง คือ กระฎุมพี คหบดี เศรษฐี ซึ่งเป็นศัพท์บาลีสันสกฤตที่คนไทยแผลงเป็นศัพท์ไทยตั้งแต่โบราณกาล แม้ในปัจจุบันนี้สามัญชนคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ได้ใช้ศัพท์นี้ตามความหมายนั้น คือ
ก. กระฎุมพี ได้แก่ผู้ที่ทำการค้าเมล็ดพืชในชนบทเป็นคนมีที่ดินและเป็นคน มีเงินในชนบท เป็นเจ้าที่ดินในชนบทนับว่าเป็นคนมั่งมีในอันดับต่ำสุดกว่าคหบดีและเศรษฐี ซึ่งจะกล่าวต่อไปคนไทยจึงเติมคำว่า “ไพร่” ไว้หน้าคำว่า “กระฎุมพี” เป็น “ไพร่กระฎุมพี” ซึ่งแสดงว่ายังอยู่ในฐานะที่เป็นไพร่ จึงต่างกับคำฝรั่งเศส “Bourgeois” และ “Bourgeoisie” ซึ่งภาษาอังกฤษและเยอรมันก็ใช้ทับศัพท์ฝรั่งเศสนั้น เพื่อหมายถึง “นายทุนสมัยใหม่เจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคมผู้เป็นนายทุนจ้างแรงงาน” ตามที่วิทยาศาสตร์สังคมและเองเกลส์ได้ให้ความหมายไว้ซึ่งผมจะกล่าวในข้อ 2.7 ต่อไป
ข. คหบดี ได้แก่ผู้มีเคหสถานครอบครัวข้าทาสใช้สอย ซึ่งเป็นคนมั่งมีกว่า “กระฎุมพี”
ค. เศรษฐี เป็นผู้มั่งมีทรัพย์สินมากมายอันดับหนึ่ง เมื่อครั้งพุทธกาลถือว่าเศรษฐีเป็นพระสหายของพระราชา
ระบบทุนศักดินานี้ยังมีตกค้างอยู่ในประเทศด้อยพัฒนาซึ่งรวมทั้งสยามปัจจุบันด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนเป็นนายทุนสมัยใหม่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งยังมิได้เปลี่ยนแปลงไปหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่ยังคงมีซากทรรศนะทาสและศักดินา ซึ่งเป็นพลังสนับสนุนเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการทาสและศักดินายังคงอยู่ต่อไปหรือกลับฟื้นขึ้นมาอีกในรูปสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่าหรือในรูปใหม่อย่างอื่นแต่ในสาระคือ เผด็จการทาสและศักดินา
2.6
ความเป็นอยู่ตามระบบทาสและศักดินา ก่อให้บุคคลเกิดทรรศนะทาสและศักดินา คือ
ก. ฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินาเกิดจิตสำนึกว่า ระบอบเผด็จการที่ฝ่ายตนปฏิบัติต่อคนส่วนมากของสังคมนั้นทำให้ฝ่ายตนครองชีพได้อย่างผาสุก จิตสำนึกนี้เป็นทรรศนะของฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินายึดมั่นอยู่ตามปกติวิสัย
ข. ฝ่ายทาสและข้าไพร่นั้นตามปกติวิสัยย่อมต้องการหลุดพ้นจากความเป็นทาสและข้าไพร่ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับทาสและข้าไพร่จำนวนหนึ่งที่เมื่อถูกอยู่ภายใต้ระบบทาสและศักดินาจนเคยชินเป็นเวลานานก็กลายเป็นคนที่เชื่องต่อการถูกกดขี่ ประดุจสัตว์ซึ่งเดิมอยู่ป่าอย่างอิสระ ครั้นเมื่อมนุษย์จับสัตว์นั้นมาเลี้ยงเริ่มต้นด้วยทรมานให้เกรงกลัว ในที่สุดก็เป็นสัตว์ที่เชื่องยอมทำงานตามคำสั่งของเจ้าของ
ครั้นนานๆ เข้าก็เกิดทรรศนะเห็นชอบในการอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการนั้น อีกประการหนึ่งลัทธิที่ปลุกใจให้ทาสและข้าไพร่เกิดความเชื่อถือว่าผู้เผด็จการทาสและศักดินาเป็นผู้ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งมาให้เกิดในมนุษยโลกดังกล่าวแล้วในข้อ 2.4 นั้น มีอิทธิพลที่ทำให้สภาพทางจิตใจของทาสและข้าไพร่ยึดมั่นในทรรศนะนั้นเหนียวแน่นขึ้นและเมื่อได้ถ่ายทอดเป็นมรดกสืบมาหลายชั่วคนก็เป็นทรรศนะที่เกาะแน่นอยู่ในหมู่ชนส่วนหนึ่งหรือส่วนมาก สมดั่งที่ปรัชญาหลายสำนัก (รวมทั้งสำนักมาร์กซ์-เลนิน) กล่าวไว้ว่า ทฤษฎีหรือทรรศนะใดเกาะแน่นอยู่ในหมู่ชนใดก็มีพลังที่สะท้อนกลับไปสู่สภาพเศรษฐกิจและการเมืองของระบบนั้นเองอันทำให้ระบบสังคมนั้นดำรงอยู่ได้
ทาสและข้าไพร่ที่เชื่องแล้วและที่เกาะแน่นในทรรศนะดังกล่าวนั้นก็กลายเป็นสมุนที่ดีของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาที่สามารถใช้ทาสและข้าไพร่นั้นเอง เป็นลูกมือต่อสู้ทาสและข้าไพร่ส่วนที่ต้องการอิสรภาพ ตัวอย่างในประวัติศาสตร์มีมากหลาย ผมขออ้างตัวอย่างบางประการพอเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้
ขบวนการปลดแอกทาสนำโดยสปาตาคุสดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายเผด็จการทาส เพราะเจ้าทาสได้อาศัยทาสที่เชื่องแล้วเป็นกำลังสนับสนุนเกื้อกูลกำลังทหารของเจ้าทาสทำการปราบปรามขบวนการปลดแอกทาส
ประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็แสดงว่าคนนิโกรทาสจำนวนหนึ่งในรัฐภาคใต้ของอเมริกากลับร่วมกับเจ้าทาสทำสงครามกับรัฐภาคเหนือซึ่งต้องการให้ทาสเป็นอิสระ
ค. ทรรศนะทาสและศักดินาได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเหยียดหยามระหว่างมนุษย์ในสังคมเดียวกันด้วย คือฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินาก็เหยียดหยามทาสและ ข้าไพร่ว่าเป็นคนเลวทรามอยู่ในอันดับต่ำหรือวรรณะต่ำของสังคม ส่วนทาสและข้าไพร่จำพวกที่เป็นสมุนของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาก็พลอยมีความรู้สึกเหยียดหยามทาสและข้าไพร่ที่มิใช่สมุนของเจ้าทาสและเจ้าศักดินา
ฝ่ายข้าไพร่ที่เป็นนายทุนศักดินาก็ทะนงตนว่าเป็นคนมั่งมีเหยียดหยามข้าไพร่ส่วนมากที่เป็นคนยากจน
จากพื้นฐานความรู้สึกนี้ภายในสังคมก็พัฒนาไปสู่ทรรศนะที่สังคมหนึ่งถือตนว่าเป็นใหญ่กว่าสังคมอื่นที่มีพลังน้อยกว่าและเหยียดหยามสังคมที่เป็นเมืองขึ้นหรือเมืองออกที่ต้องส่งบรรณาการ ทรรศนะคลั่งเชื้อชาติ (Racism) และคลั่งชาติ (Chauvinism) จึงเกิดขึ้น
2.7
แม้ระบบทาสและศักดินาจะเสื่อมสลายไปทางระบบเศรษฐกิจการเมือง แต่ซากทรรศนะที่เกาะแน่นอยู่ในหมู่ชนใดที่ถ่ายทอดต่อๆ กันมาหลายชั่วคน ก็ยังคงมีอยู่เป็นเวลาอีกช้านานมากที่เป็นพลังต่อต้านระบอบประชาธิปไตย และพยายามที่จะฟื้นฟูระบบเผด็จการทาสและศักดินาในรูปสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่าหรือรูปที่ใช้ชื่อใหม่ เช่น เผด็จการฟาสซิสต์ นาชี เผด็จการทหาร ฯลฯ ดั่งจะเห็นได้ตามตัวอย่างต่อไปนี้
ก. เราไม่ต้องดูอื่นไกลคือดูตัวอย่างตามรูปธรรมในสยามของเราเองก็จะเห็นว่า แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงยกเลิกระบบทาสใน พ.ศ.2448 แล้ว แต่ซากทรรศนะทาสก็ยังตกค้างอยู่ในชนบางหมู่บางเหล่า อันที่จริงก่อนประกาศยกเลิกระบบทาส พระองค์ก็ได้มีประกาศยกเลิกธรรมเนียมทาสและศักดินามาก่อนแล้ว เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 5 ปี คือ ในจุลศักราช 1235 ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 2416 มีความดั่งต่อไปนี้
“ศุภมัสดุ จุลศักราช 1235 กุกุฎสังวัจฉระกะติกมาศกฤษณปักษพาระลี ดิถีรวิวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์บดินทร เทพยมหามงกุฎบุรุศรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษบริพัตวรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิ์ราชสังกาศบรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมหัยสวริยพิมาน โดยสฐานอุตราภิมุขพระบรมวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ฝ่ายทหาร พลเรือน เฝ้าพร้อมกันโดยลำดับ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ทรงประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาก็ตั้งพระราชหฤทัยที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความสุขความเจริญแก่พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งสมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เป็นการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริห์จะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชาอาณาจักรต่อไป ด้วยได้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าในมหาประเทศต่างๆ
ซึ่งเป็นมหานครอันใหญ่ในทิศตะวันตก ในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตะวันออกคือ ประเทศจีน ประเทศญวน ประเทศญี่ปุ่น และฝ่ายตะวันตกคือ อินเดีย และประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ประเทศเหล่านั้นก็ได้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมนั้น หมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว การที่เขาได้พร้อมกันเลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้น ก็เพราะเพื่อจะให้เห็นความดีที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมือง นั้นอีกต่อไป ประเทศใด เมืองใด ที่ได้ยกธรรมเนียมที่เป็นการกดขี่ซึ่งกันและกัน ประเทศนั้นเมืองนั้นก็เห็นว่ามีแต่ความเจริญมาทุกๆ เมือง โดยมากก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เป็นการกดขี่แก่กัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่างหลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง แต่การที่จะจัดผลัดเปลี่ยนธรรมเนียมจะให้แล้วไปในครั้งเดียวคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ควรแก่กาลที่จะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึงจะได้มีความเจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป
แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้เห็นว่าเป็นการกดขี่แก่กันแข็งแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยลำบาก เพราะจะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมือง แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เป็นใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่จนพ้นวาระของตนแล้ว จึงจะได้ออกมาพ้นท่านผู้ที่เป็นใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้แลเห็นว่าเป็นต้นแห่งการที่เป็นการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงจะต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเป็นการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย ด้วยทรงพระมหากรุณาที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความสุข ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลานเหมือนอย่างแต่ก่อน แลธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมแลกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ ธรรมเนียมที่ยืนที่เดินแลก้บศีรษะนี้ใช้ได้เหมือนกับธรรมเนียมที่หมอบคลานถวายบังคมแลกราบไหว้ บางที่ท่านผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ซึ่งชอบธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ตามเดิม เห็นว่าดีนั้นจะมีความสงสัยสนเท่ห์ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมหมอบคลานให้ยืนให้เดินจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองด้วยเหตุไร ก็พึงรู้ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ เลิกหมอบคลานให้ยืนให้เดินนั้น เพราะจะเห็นเป็นแน่ว่าจะไม่มีการกดขี่แก่กันในการที่ไม่เป็นยุติธรรมอีกต่อไป เมืองใดประเทศใดผู้ที่เป็นใหญ่มิได้ ทำการกดขี่แก่ผู้น้อย เมืองนั้นประเทศนั้น ก็คงมีความเจริญเป็นแน่ ตั้งแต่นี้สืบไป พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งจะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระที่นั่งแลที่เสด็จออกแห่งหนึ่งแห่งใด จงประพฤติตามพระราชบัญญัติที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดไว้เป็นข้อบัญญัติสำหรับข้าราชการต่อไปจงทุกข้อทุกประการ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงษ พิสุทธมหาบุรุศย์รัตนโนดม ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตั้งเป็นข้อพระราชบัญญัติไว้สำหรับแผ่นดินต่อไปดังนี้”
พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระอาจารย์กฎหมายสยามได้ทรงสั่งสอนตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา ครั้นต่อมา ภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 โดยความเกื้อกูลสนับสนุนจากซากทรรศนะทาสและศักดินาแล้ว รัฐบาลที่ตั้งขึ้นหลายชุด ต่อมาได้ทำการฟื้นขนบธรรมเนียมทาสที่เลิกแล้วนั้นขึ้นมาอีก ดังปรากฏในภาพจากนิตยสารหนังสือพิมพ์ นิสิตนักศึกษานักเรียนก็ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมนั้น ซึ่งท่านย่อมทราบแล้ว คำพิพากษาฎีกาบางฉบับก็มีผู้พิพากษาบางนายได้ตัดสินคดีโดยอาศัยประเพณีเก่าเป็นข้ออ้างลงโทษผู้ต้องหา ผมจึงคิดว่าถ้ารัชกาลที่ 5 มีญาณวิถี และโดยเฉพาะกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เห็นการฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีทาส อันเป็นการขัดพระราชประสงค์และขัดต่อเจตนารมณ์ทางกฎหมายแล้ว พระองค์จะทรงมีความรู้สึกอย่างไร
ข. แม้ในประเทศจีนใหม่ปัจจุบัน ที่เข้าสู่ระบบสังคมนิยมเบื้องต้นแล้ว ท่านก็จะได้ทราบข่าวที่ปรากฏจากเอกสารของสาธารณรัฐแห่งราษฎรจีนเองว่า เมื่อไม่ นานมานี้ได้มีการรณรงค์ต่อต้านซากทรรศนะ “ขงจื๊อ” อันเป็นซากทรรศนะศักดินา (ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ขงจื๊อคิดขึ้นในสมัยโบราณ ขณะที่ประเทศจีนยังมีระบบทาสผสมกับระบบศักดินา) แม้ว่า “หลินเปียว” ตัวแทนซากทรรศนะนี้จะตายไปแล้ว แต่เขาก็ยังมีลูกสมุนตกค้างอยู่ ซึ่งทำการเผยแพร่ในประเทศจีน และในบางประเทศอื่นที่เคยมีบุคคลโฆษณาสรรเสริญหลินเปียวอยู่พักหนึ่ง แม้ในปารีสท่านอาจสังเกตว่า เมื่อข่าวสารบางกระแสแจ้งว่าหลินเปียวขึ้นเครื่องบินหนีจากประเทศจีน แล้วเกิดอุปัทวเหตุเครื่องบินตก ทำให้หลินเปียวกับพวกตายนั้น ผู้สดุดีหลินเปียวก็คัดค้าน ข่าวนั้นว่าไม่จริง เพราะลุ่มหลงทรรศนะศักดินาของหลินเปียวอย่างหลับหูหลับตา
ก่อนนั้นขึ้นไปการอภิวัฒน์ใหญ่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นผู้ไร้สมบัติจีน ได้ทำการต่อสู้บุคคลที่มีซากทรรศนะศักดินาและซากความคิดนายทุนที่แทรกตัวเข้ามา อยู่ในพรรค อาทิ หลิวเซ่าฉี อดีตรองหัวหน้าพรรคฯ เผิงเจิน อดีตนายกเทศมนตรี ปักกิ่ง หลิวหนิงอี้ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการจีนเพื่อสันติภาพโลกและอดีตกรรมการสันติภาพโลก (WPC) ฯลฯ และได้ฟื้นการรณรงค์ต่อต้านหลีลี่ซาน อดีตหัวหน้าพรรคฯ ระหว่าง ค.ศ. 1928-1930 (ก่อนหวังหมิง และก่อนเหมาเจ๋อตุงเป็นหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. 1935) บทความของบุคคลเหล่านี้เคยมีผู้แปลเป็นภาษาอื่นในบางประเทศ
เมื่อกล่าวถึงแนวทางทุนนิยมของหลิวเซ่าฉีย่อมหมายถึงทรรศนะนายทุนศักดินาด้วย ซึ่งแสดงออกถึงการผูกขาดอภิวัฒน์และการอวดอ้างคุณภาพแห่งพวกของตนโดยเฉพาะประดุจพ่อค้าที่ชอบการผูกขาดและโฆษณาสินค้า หลิวเซ่าฉีเคยสอนสานุศิษย์ว่า “ชาวคอมมิวนิสต์เป็นผู้ที่ได้รับการหล่อหลอมเป็นพิเศษ” ซึ่งผิดจากคำสอนของมาร์กซ์เลนินที่สอนว่า ซากทรรศนะของบุคคลที่เกิดมาในสังคมเก่ายังไม่หมดไปง่ายๆ จึงจำต้องทำการสำรวจตนเป็นเนืองนิตย์ เพื่อแก้ไขขจัดซากเก่าที่คอยฟื้นอยู่เสมอ หนังสือที่หลิวเซ่าฉีเขียนไว้ให้ชื่อว่า “จะเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดีได้อย่างไร (How to be a good communist)” นั้น มีซากทรรศนะศักดินาและซากนายทุนศักดินาและนายทุนสมัยใหม่เจือปนอยู่มาก ฉะนั้นการอภิวัฒน์ใหญ่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นผู้ไร้สมบัติจีน จึงได้จัดทำขึ้นใหม่อีกเล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่า “จะเป็นคอมมินิสต์ที่แท้จริงได้อย่างไร” (How to be a real communist) ส่วนหลีลี่ซาน อดีตหัวหน้าพรรคฯ นั้น แนวทางของเขาเรียกว่า “เอียงซ้ายจัด” แต่ก็ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งซากทรรศนะศักดินา
บทความที่เกี่ยวข้อง
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ฝ่ายเผด็จการ. ใน เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร. กรุงเทพฯ : โครงการกำแพงประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4 ในวาระ“รำลึก 33 ปี 6 ตุลาคม 2519” น.8-19.
- เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร
- ปรีดี พนมยงค์
- ฝ่ายเผด็จการ
- เผด็จการ
- Dictatorship
- Dictatura
- ประชาธิปไตย
- จักรพรรดิ
- อิมเปราเตอร์
- ผู้เผด็จการ
- ตี้โก๊วะ
- สมบูรณาญาสิทธิราชย์
- จักรวรรดินิยม
- วิวรรตการ
- ระบบทุนนิยม
- เลนิน
- ระบบทุนผูกขาด
- ระบอบเผด็จการของระบบทุนผูกขาด
- ระบบทาส
- ระบอบประชาธิปไตยปฐมกาล
- ระบบศักดินา
- ทรรศนะทาส
- ระบอบเผด็จการทาส
- ลัทธิไสยศาสตร์
- ลัทธิฮินดู
- องเชียงสือ
- องเยียลอง
- เทียนจื่อ
- สุรสีหนาท
- ระบอบฟาสซิสต์
- ระบอบเผด็จการทหาร
- สปาตากุส
- ฝ่ายเผด็จการทาส
- กระฎุมพี
- ไพร่กระฎุมพี
- Bourgeois
- เองเกลส์
- คหบดี
- เศรษฐี
- ระบบทุนศักดินา
- มาร์กซ์
- หลิวเซ่าฉี
- คอมมิวนิสต์
- ขงจื๊อ
- หลินเปียว