ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร : ฝ่ายเผด็จการ (ตอนจบ)

17
ตุลาคม
2566

Focus

  • การเสื่อมลงของสังคมทาสในยุโรปตะวันตกในปลายสมัยอาณาจักรโรมัน ทำให้สังคมศักดินาเข้ามาแทนที่ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของชาว “บูรชัวส์” หรือ “ชาวบุรี” ที่ผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนและต่อสู้กับเจ้าศักดินา และปรับตัวไปเป็นฐานันดรที่ 3 ของสังคม คือเป็นชนชั้นกลางระหว่างฐานันดรสูงกับผู้ไร้สมบัติ และต่อมาพัฒนาไปเป็นชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต “บูรชัวซี” หรือ ชนชั้นเจ้าสมบัติ
  • ชนชั้นเจ้าสมบัติผู้เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมสมัยใหม่สามารถร่วมกับราษฎรที่มีทรรศนะประชาธิปไตยทำการต่อต้านเผด็จการศักดินาเพื่อเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยสันติวิธีหรือการใช้กำลังอาวุธ
  • ผู้พยายามเปลี่ยนแปลงสังคม สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม อาทิ (1) นักอภิวัฒน์ที่ต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ (2) พวกที่ต้องการให้ประชาธิปไตยคงอยู่ในรูปประชาธิปไตยของชนชั้นขั้นเจ้าสมบัติ (3) ผู้ต้องการให้พลเมืองชายมีสิทธิออกเสียงได้โดยทั่วไป และ (4) ผู้ที่มีซากทรรศนะระบบทุนศักดินา ซึ่งกลุ่มใดมีอำนาจสำคัญก็ย่อมนำผู้คนไปสู่การสร้างสังคมที่ต้องการ เช่น การส่งเสริมผู้มีสมบัติหรือส่งเสริมผู้ไร้สมบัติ โดยการอาศัยพรรคการเมืองที่หลากหลาย และสำหรับกรรมกรก็จะมีแนวทางการสร้างพรรคการเมืองแบบเผด็จการชนชั้นคนงาน เป็นต้น

 

2.8

เมื่อระบบทาสในยุโรปตะวันตก ได้เสื่อมลงในปลายสมัยอาณาจักรโรมันโดยระบบศักดินาได้พัฒนาขึ้นมาแทนที่แล้ว แต่ซากทรรศนะทาสยังคงเหลืออยู่ในระบบศักดินาเป็นเวลาช้านานหลายศตวรรษ

ต่อมาในปลายสมัยยุคกลางของยุโรปตะวันตก คือ เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 (ประมาณ 700 ปีมาแล้ว) ก็ได้มีบุคคลจำพวกที่ออกสำเนียงตามภาษาฝรั่งเศสว่า “บูรชัวส์” เขียนเป็นอักษรฝรั่งเศสว่า “Bourgeois” คือ พ่อค้าและผู้ประกอบหัตถกรรมที่อยู่ในย่านตลาดการค้าซึ่งเรียกว่า “บูรก์” เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Bourg” คำนี้เทียบได้กับคำไทยว่า “บุรี” ฉะนั้น “บูรชัวส์” เทียบได้กับคำไทยว่า “ชาวบุรี” ได้เป็นผู้เริ่มแรกในการจัดตั้งเป็นขบวนการต่อต้านเผด็จการศักดินาซึ่งปกครองท้องที่ ชาวบุรีได้รวมกำลังกันเป็นองค์การร่วมที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “กอมมูน” (Commune) ซึ่งแผลงมาจากคำลาติน “Communis” อันเป็นองค์การที่ชาวบุรีผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตน และต่อสู้เจ้าศักดินาท้องที่ เพื่อมีอิสระในการปกครองท้องที่ของตนเอง ออกต่างหากจากเผด็จการของเจ้าศักดินาท้องที่ แต่ยังยอมขึ้นตรงต่อพระราชาธิบดีซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของรัฐ การต่อสู้นั้นใช้วิธีทัดทานดื้อด้านไม่ยอมอ่อนข้อให้เจ้าศักดินาท้องที่ การต่อสู้ได้ใช้เวลายาวนาน ชาวบุรีจึงได้รับสัมปทานจากพระราชาธิบดีให้มีสิทธิปกครองท้องถิ่นของตนเองอันเป็นประวัติระบบเทศบาลในฝรั่งเศสและในหลายประเทศของยุโรปตะวันตก

ชาวบุรีก็หมดสภาพเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินาแห่งท้องที่โดยพระราชาธิบดีรับรองให้มีฐานันดรที่ 3 ของสังคม คือเป็นฐานันดรถัดลงมาจากขุนนางบรรพชิตและขุนนางฆราวาส คือมีสภาพเป็นชนชั้นกลางระหว่างฐานันดรสูงกับผู้ไร้สมบัติ (Proletariat) ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินาท้องถิ่น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวบุรีมีฐานะเป็นนายทุนชั้นกลาง ต่อมาชาวบุรีได้พัฒนาเครื่องมือหัตถกรรมให้มีสมรรถภาพดีขึ้นตามลำดับ ได้ขยายการค้ากว้งขวางขึ้น สะสมสมบัติเป็นทุนได้มากขึ้น และเมื่อได้เกิดมีผู้ประดิษฐ์เครื่องมือใช้พลังไอน้ำในปลายคริสต์ศตรรษที่ 18 ชาวบุรีก็อาศัยทุนอันเป็นสมบติที่สะสมไว้นั้นเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมและวิสาหกิจสมัยใหม่ สภาพของชาวบุรีซึ่งเดิมเป็นเพียงนายทุนชั้นกลางจึงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นนายทุนใหญ่สมัยใหม่

แม้สภาพของชาวบุรีหรือบูรชัวส์ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ซึ่งในภาษาสามัญยังหมายถึงคนชั้นกลางก็ดี แต่ในตำราวิทยาศาสตร์สังคมก็ยังคงเรียกนายทุนสมัยใหม่ตามศัพท์เดิมว่า “บูรชัวส์” และชนชั้นนายทุนใหญ่สมัยใหม่ว่า “บูรชัวซี” (Bourgeoisie) ตำราวิทยาศาสตร์สังคมที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันก็ใช้วิธีทับศัพท์คำฝรั่งเศสดังกล่าวนั้นเพื่อเรียกชนชั้นนายทุนใหญ่สมัยใหม่ ซึ่งมีความหมายเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์สังคม เองเกลส์ได้ทำเชิงอรรถอธิบายความหมาย ของคำนี้ว่า

บูรชัวซี (Bourgcoisie) หมายถึงชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ เจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคมและเป็นนายจ้างของแรงงาน”

เพื่อกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น ขอให้ท่านศึกษาประวัติลัทธิเศรษฐกิจเบื้องต้น ท่านก็จะพบว่าระบบทุนสมัยใหม่ได้ก่อตัวจาก “ระบบทุนพาณิชย์” (Capitalisme Commercial) แล้ว “ระบบทุนการคลัง” (Capitalisme Financier) แล้วมาถึง “ระบบทุนอุตสาหกรรม” (Capitalisme Industriel)

ส่วนชนชั้นผู้มีทุนน้อยมีชื่อเรียกว่า “เปอติเตอะ บูรชัวซี” (Petite Bourgeoisie) และนายทุนชั้นกลางมีชื่อเรียกว่า “มัวแยนน์ บูรชัวซี” (Moyenne Bourgeoisie)

ฉะนั้น ผมจึงได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ว่าด้วยความเป็นอนิจจังของสังคม” ว่า “บูรชัวซี” ไม่ใช่ชนชั้น “กระฎุมพี” หากเป็นชนชั้นเศรษฐีสมัยใหม่ ซึ่งผมถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยใหม่ว่า “เจ้าสมบัติ

เมื่อชนชั้นเจ้าสมบัติได้เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องจักรกลสลับซับซ้อนมากขึ้น จำต้องใช้คนงานที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องจักรกล เพราะถ้าจะใช้ข้าไพร่ที่ชินต่อการใช้เครื่องมือหัตถกรรมตามระบบศักดินาก็ไม่สามารถที่จะทำให้ชนชั้นเจ้าสมบัติได้ผลผลิตอันเป็นกำไรได้มากขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้คนงานได้มีเสรีภาพขึ้นกว่าข้าไพร่

ท่านที่ใช้สามัญสำนึกย่อมทราบได้ว่าชนชั้นเจ้าสมบัตินั้นเป็นคนจำนวนน้อยในสังคม ฉะนั้น แม้ชนชั้นเจ้าสมบัติเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบอบศักดินามาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่โดยลำพังชนชั้นนั้นก็ย่อมไม่เป็นพลังเพียงพอ คือ จำต้องอาศัยข้าไพร่ตามระบศักดินาที่เป็นคนจำนวนส่วนข้างมากของสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะทำให้ข้าไพร่เกิดมีสำนึกในชนชั้นข้าไพร่ของตนที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากระบบศักดินาและให้เกิดจิตสำนึกในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษยชาติของตนที่จะต้องมีความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม และมีสิทธิเสรีภาพคือ สิทธิประชาธิปไตย ในการนั้นบทความของนักปรัชญาหลายคนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาทิ ฮอบบส์ (Hobbes) ล็อกค์ (Locke) และในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อาทิ มองเตสกิเออ (Montesquieu) ดิเดอโรต์ (Diderot) วอลแตร์ (Voltaire) จ.จ.รูสโซ (J.J.Rousseau) ได้มีอิทธิพลที่ทำให้ราษฎรจำนวนไม่น้อยเกิดจิตสำนึกที่ต้องการความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมและสิทธิเสรีภาพ นักปรัชญาเหล่านี้ไม่ใช่เป็นนายทุนมั่งมีเงินมหาศาล ท่านแสดงทรรศนะเพื่อประชาธิปไตยของราษฎร มิใช่เพื่อชนชั้นเจ้าสมบัติโดยเฉพาะ

ชนชั้นเจ้าสมบัติจึงร่วมกับราษฎรที่มีทรรศนะประชาธิปไตยทำการต่อต้านเผด็จการศักดินาเพื่อเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เจ้าศักดินาของประเทศใดยอมเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีการอภิวัฒน์โดยใช้กำลังอาวุธก็มิได้เกิดขึ้น แต่เจ้าศักดินาใดดื้อดึงเกาะแน่นอยู่ตามระบบเผด็จการศักดินาของตน การอภิวัฒน์โดยใช้กำลังอาวุธจึงเกิดขึ้น อาทิการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789

2.9

การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสครั้งกระนั้นที่ได้ก่อระบอบประชาธิปไตยขึ้น ได้ส่งผลสะท้อนไปยังพลเมืองส่วนมากของหลายประเทศในยุโรปที่ตื่นตัว โดยการต่อต้านระบอบเผด็จการศักดินาที่แสดงออกเป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ ได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและของพลเมือง ฉบับ ค.ศ. 1789 ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคแก่พลเมืองทางนิตินัย

รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ขบวนการประชาธิปไตยของฝรั่งเศสประกาศขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1791 นั้น ได้เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป แต่ใน ค.ศ. 1792 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้แอบขอร้องให้จักรพรรดิออสเตรียส่งกองทัพมาช่วยตน เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่งกับออสเตรียซึ่งมีปรัสเซียเป็นพันธมิตรอีกฝ่ายหนึ่ง ราษฎรกรุงปารีสจึงเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรปลดพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ครั้นแล้วจึงได้ประกาศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ขึ้น เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1792 แล้วต่อมาสภาผู้แทนราษฎรจึงได้พิจารณาคดีว่า หลุยส์ที่ 16 มีความผิดฐานทรยศต่อชาติต้องโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ครั้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตแล้ว พระราชาธิบดีอังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฮอลแลนด์ เนเปิลส์ ปรัสเซีย ออสเตรีย จึงรวมกันเป็นพันธมิตรยกกองทัพมาประชิดประเทศฝรั่งเศส เพื่อแทรกแซงกิจการภายใน

รัฐบาลอภิวัฒน์ฝรั่งเศษได้ระดมพลเมืองเป็นทหารเพื่อต่อสู้ป้องกันปิตุภูมิ แต่โดยที่ไม่มีนายทหารของฝ่ายอภิวัฒน์เพียงพอ จึงจำต้องใช้นายทหารที่เคยมาจากระบอบเก่า รัฐบาลอภิวัฒน์จึงคิดวิธีให้มี “กรรมการราษฎร” (Commissaire du peuple) เป็นผู้นำทางการเมืองประจำกองทัพซึ่งผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารต้องเชื่อฟัง

(ต่อมาเมื่อรัสเซียได้มีการอภิวัฒน์ตุลาคม 1917 แล้ว ก็ได้นำวิธีกรรมการราษฎรของการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสนั้นไปประยุกต์แก่กองทัพโซเวียต ซึ่งหลายประเทศในค่ายสังคมนิยมก็ได้เอาตัวอย่างนั้นเช่นกัน)

การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นนั้นมิเพียงมีผลสะท้อนไปยังหลายประเทศในยุโรปตะวันตกเท่านั้น หากต่อมามีผลสะท้อนไปยังยุโรปตะวันออก รวมทั้งรัสเซีย และในเอเชียด้วย ท่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์ ย่อมทราบถึงสาระสำคัญที่นักอภิวัฒน์รัสเซีย และเอเชียได้รับอิทธิพลจากการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนผิวเผินเช่นเพลงอภิวัฒน์ ฝรั่งเศสก็ปรากฏว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยรัสเซียในขณะที่ยังมิได้แตกแยกออกเป็นบอลเชวิคกับแมนเชวิคนั้น ก็ใช้ทำนองเพลง “มาเซยแยส” อันเป็นเพลงอภิวัฒน์ฝรั่งเศส (ต่อมาเป็นเพลงชาติของฝรั่งเศส) นั้นเป็นเพลงอภิวัฒน์รัสเซียโดยเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นคำรัสเซีย ต่อมาการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศสก็มีผลสะท้อนไปยังเอเชียและอีกหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศจีนนั้น ก่อนที่นาย “เนี่ยเอ๋อร์” แต่งเพลงอภิวัฒน์ของจีนขึ้นโดยเฉพาะนั้น คนงานอภิวัฒน์จีนก็ใช้ทำนองเพลง “มาเซยแยส” ของฝรั่งเศสเป็นเพลงอภิวัฒน์ของคนงานจีนแต่เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นคำจีน

2.10

ในการวิเคราะห์ขบวนการอภิวัฒน์ใดๆ นั้น ควรพิจารณาจำแนกส่วนต่างๆ ที่ประกอบขบวนการนั้นประดุจทำการวิจัย “กายวิภาค” ของขบวนการอภิวัฒน์นั้นๆ อันเป็นวิธีวิทยาศาสตร์แห่งการวิเคราะห์สภาพทั้งหลาย รวมทั้งสังคมของมนุษย์ด้วย ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์สังคมในโบราณก็ดี ในสมัยปัจจุบันก็ดี จึงได้สั่งสอนให้ผู้ที่จะทำการวิเคราะห์ตั้งทรรศนะโดยปราศจากคติอุปาทาน (Preconceived idea) เพราะถ้าผู้ใดตั้งทรรศนะอุปาทานมาก่อน ก็จะมองเห็นคนอื่นที่เป็นมิตรให้เป็นศัตรูไปทั้งหมด ผู้นั้นก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นศัตรูและเป็นมิตร ต่อต้านเผด็จการไม่มีทางสำเร็จได้ โดยเฉพาะขบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 นั้น เราอาจจำแนกส่วนต่างๆ ออกเป็นหลายจำพวกดังต่อไปนี้

ก. จำพวกที่ 1 ได้แก่ นักอภิวัฒน์ที่ต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยคือ “บาเบิฟ” (Babeuf) เกิด ค.ศ.1760 (ก่อนมาร์กซเกิด 58 ปี) เมื่อก่อนอภิวัฒน์ 1789 บาเบิฟทำงานเป็นเสมียนของเจ้าที่ดินมีหน้าที่เร่งรัดให้ชาวนาเสียค่าเช่านาให้เจ้าที่ดิน แต่โดยที่ท่านผู้นี้เห็นความไม่เป็นธรรมของระบบศักดินา ท่านจึงเข้าร่วมขบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น บาเบิฟได้ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองโดยนิตินัยเท่านั้นไม่ไช่ประชาธิปไตยแท้จริง เพราะในทางพฤตินัย ผู้ใดมีทุนมากก็สามารถใช้สิทธิประชาธิปไตยได้มากกว่าคนมีทุนน้อย และผู้ไร้สมบัติยากจน ท่านเห็นว่าประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ก็ต้องให้ปวงชนมีความ เสมอภาคกันในทางปฏิบัติ ในการนั้นก็จักต้องให้ปัจจัยการผลิตทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ท่านจึงได้จัดตั้งสมาคมที่เรียกว่า “สมาคมของผู้เสมอภาค(Société des égaux) เตรียมทำการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นบริหารโดย “คณะอำนวยการ” (Directoire) รัฐบาลจึงจับตัวบาเบิฟขึ้นศาล ตัดสินประหารชีวิตฐานเตรียมการโค่นล้มรัฐบาลโดยใช้กำลังอาวุธเมื่อ ค.ศ. 1797 แต่คนงานฝรั่งเศสส่วนหนึ่งก็ได้โฆษณาลัทธิของบาเบิฟโดยสันติวิธีได้ต่อๆ มา (ในสมัยต่อมาเทศบาลกรุงปารีสได้ตั้งชื่อถนนหนึ่งว่า “บาเบิฟ” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้นี้ สถานีรถไฟใต้ดินจากโทรกาเดโรไปยังเอตวลก็มีชื่อว่า “บาเบิฟ”)

ข. จำพวกที่ 2 ได้แก่ พวกที่ต้องการให้ประชาธิปไตยคงอยู่ในรูปประชาธิปไตยของชนชั้นเจ้าสมบัติ โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1791 ว่า พลเมืองจะต้องมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนได้ก็เฉพาะผู้ที่เสียภาษีอากรทางตรง (Contribution Directe) เป็นอัตราเท่ากับค่าแรงงาน 3 วันเป็นอย่างน้อย ในทางปฏิบัติผู้เสียภาษีอากรทางตรงคือผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่นายทุนน้อยขึ้นไป ส่วนคนงานและผู้ไร้สมบัติแม้เสียภาษีอากรทางอ้อมก็ไม่อยู่ในข่ายแห่งการมีสิทธิ วิธีออกเสียงชนิดนี้ภาษากฎหมายของวิชารัฐธรรมนูญเรียกว่า “Suffrage Censitaire” คำว่า “Suffrage” แปลว่าการออกเสียง คำว่า “Censitaire” แปลว่าผู้เสียส่วยให้แก่เจ้าศักดินา วิธีออกเสียงชนิดนี้จึงถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้ว่า “วิธีออกเสียงแบบคนส่งส่วย” จึงแสดงว่า “เจ้าสมบัติจำพวกประชาธิปไตยชนิดนี้มีซากทรรศนะศักดินา หลายคนในจำพวกนี้ได้ร่วมกับบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าสมบัติ แต่มีชากทรรศนะศักดินาตกค้างอยู่สนับสนุนเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการศักดินาฟื้นคืนมาอีก” ดั่งที่ผมจะกล่าวในข้อ ง.

ค. จำพวกที่ 3 ได้แก่ ผู้ต้องการให้พลเมืองชายมีสิทธิออกเสียงได้โดยทั่วไป (Suffrage Universel) และสำเร็จได้โดยรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับ 1793

ง. จำพวกที่ 4 ได้แก่ ผู้ที่มีซากทรรศนะระบบทุนศักดินา (Feudal Capitalism) ซึ่งขัดขวางมิให้ประชาธิปไตยดำเนินก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ พวกนี้เกื้อกูลให้ระบบเผด็จการศักดินาฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลให้พวกนายทุนชนิดนี้เป็นเจ้าสมบัติใหญ่ร่ำรวยยิ่งขึ้นอีก อาทิ

  1. ใน ค.ศ. 1799 นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ได้อาศัยกำลังทหารของตน และโดยความสนับสนุนของผู้แทนราษฎร แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีสภาต่างๆ แต่งตั้งโดยคณะอภิมุขรัฐเรียกว่า “กงสุลาต์” (Consulat) ตามเยี่ยงโรมัน คณะนั้นประกอบด้วยกงสุล 3 คน อยู่ในตำแหน่ง 10 ปี นายพลโบนาปาร์ตเป็นกงสุลคนที่ 1 ซึ่งรวบอำนาจรัฐไว้ในมือของตนเอง ขั้นต่อไปก็เอาอย่างผู้เผด็จการโรมัน คือตนเป็นกงสุลแต่ผู้เดียว แล้วสภาที่ตนตั้งขึ้นจากชากทรรศนะศักดินาได้สนับสนุนให้เป็นกงสุลตลอดชีวิต ต่อมาสภาชนิดนั้นได้สนับสนุนให้เป็นกงสุลตลอดชีวิตที่มีสิทธิแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นกงสุลคนต่อไปได้ ซึ่งเท่ากับเป็นจักรพรรดินั่นเองครั้นแล้วไม่เป็นการยากที่สภาชนิดนั้นได้ลงมติเปลี่ยนชื่อตำแหน่งกงสุลที่มีสิทธิอย่าง จักรพรรดิ ทรงพระนามว่า “นโปเลียนที่ 1”  แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตั้งสภาต่างๆ ไว้ แต่นโปเลียนที่ 1 ก็เรียกประชุมนานๆ ครั้งหนึ่ง โดยทรงปกครองประเทศฝรั่งเศสอย่างระบบเผด็จการ ส่วนพระองค์เรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า “Dictature Personnelle” นโปเลียนมิได้หยุดยั้งสงครามป้องกันปิตุภูมิเท่านั้น หากทำสงครามรุกรานประเทศอื่นๆ อย่างไม่หยุดยั้ง พลเมืองฝรั่งเศสต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารซึ่งล้มตายบาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่งก็พากันร่ำรวยในการขายอาวุธยุทธภัณฑ์และการให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน เจ้าสมบัติจำพวกนี้ก็พัฒนาเป็นนายทุนอุตสาหกรรมและนายธนาคารใหญ่ยิ่งขึ้น
  2. ใน ค.ศ. 1814 นโปเลียนนำทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่ประเทศพันธมิตรสมัยนั้น จึงต้องสละราชสมบัติ ครั้งแรกไปอยู่ที่เกาะเอลบา เจ้าฟ้าซึ่งเป็นท่านเจ้าเขตแห่งโปรวองซ์ (Comte de Provence) แห่งราชวงศ์บูร์บองสายเชษฐา หรือ Legitmiste ได้รับความสนับสนุนจากประเทศพันธมิตร และเจ้าสมบัติใหญ่ซากทรรศนะศักดินาให้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า “หลุยส์ที่ 18” ต่อมา นโปเลียนกลับมาจากเกาะเอลมาขึ้นครองราชย์อีก หลุยส์ที่ 18 ต้องเสด็จหนีไป ต่อมานโปเลียนแพ้ในการรบที่วอเตอร์ลูว์ แล้วต้องสละราชสมบัติเป็นครั้งที่ 2 ถูก อังกฤษจับไปขังไว้ที่เกาะเซ็นต์เอเลนา ครั้นแล้วหลุยส์ที่ 18 จึงกลับมาทรงราชย์อีก จนสวรรคตใน ค.ศ. 1824เจ้าฟ้าซึ่งเป็นท่านเจ้าเขต อาร์ตัวส์ (Comte d’Artois) แห่งราชวงศ์บูร์บองสายเชษฐาขึ้นครองราชย์ต่อไป ทรงพระนามว่า “ชาร์ลที่ 10” พระองค์ได้ฟื้นระบอบเผด็จการศักดินาขึ้นมาเต็มที่ ทรงตัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรหลายอย่าง นักประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เจ้าสมบัติได้ร่วมกับราษฎรทำการต่อต้านระบอบเผด็จการศักดินาของราชวงศ์บูร์บองสายเชษฐา
  3. ใน ค.ศ. 1830 ฝ่ายเจ้าสมบัตินายธนาคารใหญ่ อาทิ “ลาฟิตต์” และ “รอธไซลด์”  เห็นว่าถ้าปล่อยให้ขบวนการประชาธิปไตยของราษฎรขยายตัวต่อไประบอบเผด็จการศักดินาของราขวงศ์บูร์บองสายเชษฐาจะต้องล้มแล้วจะนำไปสู่การทำลายระบบทุนของตนด้วย ดังนั้นจึงได้สมคบกับเจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์แห่งราขวงศ์บูร์บองสายอนุชา (Branche Cadette) ทำการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งสายเชษฐาแล้ว เจ้าฟ้าหลุยส์ฟิสิปป์ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า หลุยส์ฟิลิปป์ที่ 1 พระองค์ได้สถาปนาระบอบการปกครองผสมระหว่างเผด็จการศักดินากับนายธนาคารใหญ่

    เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ นิตยสารฝรั่งเศสชื่อ “ปารีส แมตซ์” ได้นำประวัติของตระกูล “รอธไชลด์” (Rothchild) มหาเศรษฐีเจ้าของธนาคารใหญ่ในสากลที่ลือนามมาช้านานเกือบ 200 ปีและสมาชิกแห่งตระกูลนี้หลายคนได้รับฐานันดรศักดิ์จากพระราชาธิบดีหลายประเทศให้มีฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินาเป็น “บารอง” นั้น ได้เคยให้เงินยืมจำนวนหลายล้านแฟรงค์แก่เจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์ในการใช้จ่ายเพื่อร่วมขบวนการล้มพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แล้วเจ้าฟ้านั้นขึ้นทรงราชย์ดังกล่าวแล้ว “บารอง” (Baron) คนนั้นจึงเป็นพระสหายใกล้ชิดกับพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ (ตรงตามความหมายคำว่า “เศรษฐี” สมัยพุทธกาลที่ถือว่าเศรษฐีเป็นพระสหายของพระราชา) ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ต้องสละราชสมบัติใน ค.ศ. 1848 โดยมีการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในฝรั่งเศส เจ้าฟ้าหลุยส์นโปเลียน หลานลุงของนโปเลียนที่ 1 ได้ยืมเงินจำนวนหลายล้านแฟรงค์จากบารองรอธไชลด์มาใช้จ่ายในการสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีอันเป็นผลให้เจ้าฟ้าองค์นี้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ดำเนินการปกครองเผด็จการส่วนพระองค์อย่างสมเด็จพระเจ้าลุง ครั้นแล้วก็ทรงกระทำรัฐประหารล้มสาธารณรัฐ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิทรงพระนามว่า นโบเลียนที่ 3 ครองราชย์ต่อมาจนถึง ค.ศ. 1870 จึงต้องสละราชสมบัติ เพราะนำทัพฝรั่งเศสเข้ารบแพ้ปรัสเซียกับพันธมิตร ต่อมาร่วมกันจัดตั้งเป็นจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)

2.11

แม้ว่าประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นในยุโรปตะวันตกสมัยนั้น จะเป็นเพียงประชาธิปไตยทางนิตินัย แต่ปวงชนได้สิทธิประชาธิปไตยในการแสดงความคิดเห็นที่จะให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในทางพฤตินัยด้วย อันสิทธิเช่นนี้ราษฎรไม่เคยมีในสมัยเผด็จการทาสและศักดินา

ดังนั้นต่อจาก “บาเบิฟ” จึงได้มีผู้แสดงทัศนะที่จะปรับปรุงให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยให้ปัจจัยการผลิต (ฝรั่งเศส Moyens de production, อังกฤษ Means of production) เช่น ที่ดิน อุตสาหกรรม วิสาหกิจ เป็นกรรมสิทธิส่วนรวมของสังคม ซึ่งมนุษย์ในสังคมออกแรงร่วมมือกันในการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีพตามความเป็นธรรม ในระยะแรกๆ ก็ยังมิได้มีชื่อเฉพาะว่าลัทธิเช่นว่านั้นมีชื่ออย่างไร โดยเรียกตามชื่อของผู้เป็นเจ้าของลัทธินั้น

ต่อมาใน ค.ศ. 1826 วารสารอังกฤษชื่อ “Co-operation Magazine” ได้ เรียกลัทธิเศรษฐกิจจำพวกที่กล่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Socialism” ครั้นแล้วใน ค.ศ. 1832 วารสารฝรั่งเศสชื่อ “Globe” ได้เรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Socialisme” ตั้งแต่นั้นมาก็มีผู้ใช้ศัพท์อังกฤษและฝรั่งเศสนี้เรียกลัทธิ จำพวกดังกล่าวที่เป็นอยู่ในสมัยนั้นและที่จะเป็นไปในสมัยต่อมา และได้ใช้ศัพท์นั้นเรียกย้อนหลังไปถึงสิทธิที่มีผู้คิดขึ้นทำนองโซเชียลิสม์ตั้งแต่สมัยโบราณกาลเป็นต้นมา เดิมในประเทศไทยเรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้โดยทับศัพท์ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น แต่ภายหลัง พ.ศ. 2475 จึงมีผู้ถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยว่า “สังคมนิยม

สังคมนิยมมีมากมายหลายชนิด ซึ่งในตำราเกี่ยวกับลัทธิเศรษฐกิจได้ประมาณว่ามีราว 80 ชนิด เราอาจจัดเป็นจำพวกใหญ่ได้ดังต่อไปนี้ คือ จำพวกสังคมนิยมศักดินา (Feudal Socialism) จำพวกสังคมนิยมผู้มีทุนน้อย (Petit Bourgeois Socialism) จำพวกสังคมนิยมจารีตนิยม (Conservative Socialism) จำพวกสังคมนิยมเจ้าสมบัติ (Bourgeois Socialism) จำพวกสังคมนิยมเพียงแต่อุดมคติ (Utropian Socialism) จำพวกสังคมนิยมของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (Proletarian Socialism) จำพวกสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ (Scientific Socialism) จำพวกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (Communist Socialism) ฯลฯ

โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสภายหลังที่บาเบิฟตายแล้วนั้น ได้มีลัทธิสังคมนิยมเกิดขึ้นมากมายอันเป็นแหล่งที่นักอภิวัฒน์สังคมจากหลายประเทศได้มาศึกษาอยู่ในปารีส ดังนั้นเลนินจึงได้กล่าวว่าลัทธิมาร์กซเป็นการพัฒนาต่อจากพื้นฐาน 3 ประการ คือปรัชญาแบบฉบับเยอรมัน เศรษฐกิจวิทยาแบบฉบับอังกฤษ สังคมนิยมและทฤษฎีอภิวัฒน์แบบฝรั่งเศส เพราะมาร์กซได้มาศึกษาค้นคว้าอยู่ในปารีสชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเลนินเองก็เคยมาอยู่ในปารีสเป็นเวลาหลายปี

2.12

ท่านทั้งหลายอาจได้ยินผู้กล่าวอ้างถึง “ระบอบเผด็จการของชนชั้นคนงาน” (Dictatorship of the working class) “ระบอบเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” (Dictatorship  of the Proletariat)  “ระบอบเผด็จการของชนชั้นเจ้าสมบัติ” (Bourgeois Dictatorship)

ก. “โอกึสต์ บลองกี” (Auguste Blanqui) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1798 (อายุแก่กว่ามาร์กซ 20 ปี เคยศึกษาทางนิติศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ ได้ประสบพบเห็นความไม่เป็นธรรมทางสังคมฝรั่งเศสต่อคนงานและคนยากจน คือ

ใน ค.ศ. 1830 นายธนาคารซึ่งเป็นเจ้าสมบัติใหญ่ที่มีซากทรรศนะศักดินา ร่วมมือสนับสนุนเจ้าฟ้าหลุยล์ฟิลิปป์สายอนุชาแห่งราชวงศ์บูร์บองทำรัฐประหารล้มพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งสายเชษฐาสำเร็จ แล้วได้ขึ้นครองราชย์มีพระนามว่าหลุยส์ฟิลิปป์ที่ 1 นั้น กฎบัตรซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศขึ้นนั้นได้จำกัดจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้น้อยลงโดยวิธีที่วางเงื่อนไขว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงจะต้องเป็นผู้เสียภาษีอากรโดยตรงในอัตราที่สูงขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 1791 และวางเงื่อนไขว่าผู้ที่จะออกเสียงได้ในเขตใดต้องมีภูมิลำเนาในเขตนั้น อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งเป็นการกีดกันคนงานจำนวนมากที่จากชนบทเข้ามาทำงานในกรุงปารีส เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่าฝ่ายเจ้าสมบัติได้แผลงประชาธิปไตยที่ปวงชนได้ไว้ เมื่อ ค.ศ 1789 ให้เป็นประชาธิปไตยเฉพาะพวกเจ้าสมบัติเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นสภาสูงก็ประกอบด้วยสมาชิกที่พระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งจากเชื้อพระวงศ์ นายพล และเจ้าสมบัติอื่นๆ “บลองกี” จึงได้จัดตั้งขบวนการอภิวัฒน์ประกอบด้วยคนงานเป็นพลังกองหน้าทำการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มระบอบราชาธิปไตยซึ่งร่วมกับเจ้าสมบัติเศรษฐี แต่บลองกีต้องถูกจับลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แล้วได้อภัยโทษเพราะป่วยหนัก พ้นโทษ แล้วท่านได้นำคนงานเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการอภิวัฒน์ ค.ศ. 1848โค่นล้มระบอบราชาธิปไตยซึ่งเจ้าสมบัติสนับสนุนนั้น

บลองกี” เป็นคนแรกที่ชี้ว่า เจ้าสมบัติได้แปลงประชาธิปไตยเป็น “เผด็จการของเจ้าสมบัติ” (ฝ. Dictature Bourgeois, อ. Bourgeoise Dictatorship) ไปแล้ว ทั้งนี้เขามิได้กล่าวเพ้อฝัน หากกล่าวตามที่รูปธรรมที่ประจักษ์ดังกล่าวแล้ว “บลองกี” จึงเห็นว่าทางที่จะทำลายเผด็จการของเจ้าสมบัติให้หมดไปโดยมิให้ฟื้นฟูขึ้นมาอีกก็ต้องโดยสถาปนา “ระบอบเผด็จการของชนชั้นคนงาน” ขึ้น ดังนั้นในระหว่างการอภิวัฒน์เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 ซึ่งคนงานในกรุงปารีสที่เป็นสาวกของบลองกี ก็ได้เข้ามีส่วนร่วมกับนักประชาธิปไตยอันประกอบด้วยผู้มีทุนน้อย นายทุนชั้นกลางบางส่วนและปัญญาชนบางส่วนทำการโค่นล้มระบอบราชาธิปไตยของพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์นั้น ฝ่ายคนงานของบลองกีจึงได้เสนอคำขวัญปิดตามกำแพง และกู่ร้องไปตามถนนว่า “โค่นล้มชนชั้นเจ้าสมบัติ (สถาปนา) เผด็จการของชนชั้นคนงาน” (ฝ. Renversement de la Bourgeoisie! Dictature de la Classe Ouvriere!, อ. Overthrow of the Bourgeoisie!, Dictatorship of the Proletariat!)

(เทศบาลกรุงปารีสได้ตั้งชื่อถนนสายหนึ่งในเขต 14 ตามชื่อของผู้นี้และเทศบาลเมืองตูรส์ก็ตั้งชื่อถนนสายหนึ่งตามนามของผู้นี้)

ข. ส่วนทางมาร์กซกับเองเกลส์นั้น ท่านที่เคยอ่านแถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ฉบับพิมพ์เมื่อก่อนหน้าการอภิวัฒน์กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848ของฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อย จะเห็นว่าขณะนั้นท่านทั้งสองยังมิได้กล่าวไว้โดยเฉพาะเจาะจงถึงคำว่าเผด็จการของชนชั้นคนงาน คือท่านกล่าวเกี่ยวกับการสถาปนาอำนาจของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (Proletariat) ไว้เพียงว่า

ก้าวแรกของการอภิวัฒน์โดยชนชั้นคนงาน (Working Class)” คือการผดุงชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (Proletariat) ขึ้นสู่ฐานะเป็นชนชั้นปกครองในการเอาชนะซึ่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (On the first step in the revolution by the working class, is to raise the proletariat to the position of ruling class, to win the battle of democracy)

ต่อมาใน ค.ศ. 1850 จึงพบบทความของมาร์กซที่ได้อ้างถึงเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ (Dictatorship of the proletariat) โดยเฉพาะในจดหมายของมาร์กซถึง Weydemer ใน ค.ศ. 1852 มาร์กซจึงได้อธิบายถึงเผด็จการของชนชั้นไร้สมบัติว่า จำเป็นต้องมีขึ้นในระยะหัวต่อเพื่อทำลายทุกชนชั้นให้หมดสิ้นไป เพื่อเข้าสู่สังคมที่ไม่มีชนชั้น หรือนัยหนึ่ง ในระยะหัวต่อระหว่างระบบทุนที่เป็นเผด็จการของชนชั้นเจ้าของสมบัติกับระบบสังคมนิยมกับระบบคอมมิวนิสต์นั้น ต้องมีระบอบเผด็จการของชนชั้นไร้สมบัติจึงจะปราบนายทุนเจ้าสมบัติ และซากของระบบเก่าให้หมดสิ้นไปได้

เมื่อกล่าวถึงตอนนี้ บางท่านอาจฉงนว่าเผด็จการของชนชั้นคนงานกับเผด็จการของชนชั้นไร้สมบัตินั้นดูเป็นคนละเรื่อง แต่อันที่จริงนั้นในสาระก็คือ เผด็จการชนชั้นคนงานอย่างเดียวกัน การที่มาร์กซใช้คำว่า “Proletariat” ก็เป็นคำ ที่แผลงมาจากศัพท์ละติน “Proletarius” ซึ่งตามระบบแห่งการแบ่งชนชั้นวรรณะ สมัยโรมันถือว่าคนไร้สมบัติที่จะรับใช้สังคมได้ก็ได้โดยการมีลูก คือไม่ใช่คนมีสมบัติในสังคมโรมันโบราณได้แบ่งชนชั้นของบุคคลตามฐานะแห่งการมีสมบัติ ผู้ไร้สมบัติ จึงเป็นชนชั้นวรรณะต่ำที่สุดของสังคม เองเกลส์ได้ทำเชิงอรรถอธิบายไว้ว่า

“โปรเลตาริอาต์ หมายถึงชนชั้นวรรณะลูกจ้างสมัยใหม่ ซึ่งไม่มีปัจจัยการผลิตของตนเองจึงจำต้องขายพลังงานของตน เพื่อการดำรงชีพ”

เมื่อศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับชนชั้นคนงานมีรูปต่างกัน ผมจึงถ่ายทอดคำ “โปรเล ตาริอาต์” (Prolerariat) เป็นคำไทยว่า ชนชั้นวรรณะไร้สมบัติ

ความต่างกันระหว่างบลองกีกับมาร์กซก็อยู่ที่บลองกีเห็นว่า เมื่อชนชั้นคนงาน ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ก็ดำเนินการให้สังคมเป็นคอมมิวนิสต์ได้ทันที ส่วนมาร์กซเห็นว่ายังเข้าสู่ระบบคอมมิวนิสต์ในทันทีไม่ได้ คือจะต้องผ่านระบบเฉพาะกาลของชนชั้นไร้สมบัติก่อนแล้วจึงเข้าสู่ระบบสังคมนิยม ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกช้านานหลายชั่วคน จนกว่าพลังการผลิตได้พัฒนาถึงขีดสูงสุด บังเกิดผลอันอุดมสมบูรณ์ ประดุจหลั่งไหลมาตามที่มนุษยต้องการ และจิตสำนึกของบุคคลได้พัฒนาถึงขีดสูงสุดหมดความเห็นแก่ตัว มุ่งหน้าทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความแตกต่างกันในบุคคลที่ทำงานทางสมองกับทางแรงงานกายได้หมดสิ้นไป ความแตกต่างระหว่างคนที่อยู่ในเมืองกับชนบทก็หมดสิ้นไป ดังนั้นในทุกวันนี้ไม่มีประเทศในค่ายที่เรียกว่า สังคมนิยมที่เข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ได้เลย แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะถูกเรียกว่า ประเทศคอมมิวนิสต์

ในบรรดาสาวกของมาร์กซก็มีความเห็นแตกแยกกันว่า จะจัดเผด็จการของชนชั้นคนงาน หรือของชนชั้นผู้ไร้สมบัติในรูปใด เมื่อครั้งเองเกลส์ยังมีชีวิตอยู่ได้ เคยกล่าวไว้ เมื่อ ค.ศ. 1895 ว่าให้ดูตัวอย่างระบอบปกครองของสหการปารีสเมื่อ ค.ศ. 1871 (Commune de Paris 1871) ซึ่งมาร์กซกับเองเกลส์ถือว่าเป็นรัฐแรกของชนชั้นคนงาน องค์การปกครองสหการปารีสนั้นคือสภาใหญ่ (Conseil General) ของสหการซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากคนงาน สมาชิกเหล่านั้นมาจากหลายฐานะทางสังคม คือนอกจากคนงานสาวกของบลองกี สาวกของปรูดอง สาวกของมาร์กซแล้ว ก็มีนายทุนน้อย ปัญญาชน นักประชาธิปไตย นักอภิวัฒน์อื่นๆ มิใช่ เป็นการผูกขาดตัดตอนอำนาจรัฐไว้เป็นของคนงานแห่งพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ

ค. ต่อมาเลนินได้อธิบายว่าระบอบเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัตินั้นว่า ที่แท้เป็น “ประชาธิปไตย” ระหว่างชนชั้นผู้ไร้สมบัติซึ่งเป็นคนส่วนมากในสังคม (ประเทศอุตสาหกรรม) แต่เป็น “เผด็จการ” ที่ชนชั้นไร้สมบัติใช้บังคับแก่ชนชั้นเจ้าสมบัติซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม เพื่อมิให้กดขี่ชนชั้นผู้ไร้สมบัติได้อีกต่อไปและเพื่อมิให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก

โดยเฉพาะปัญหารูปแบบของเผด็จการแห่งชนชั้นผู้ไร้สมบัติหรือชนชั้นคนงานนั้น ในสมัยที่เลนินยังมีชีวิตอยู่ ได้เคยวิจารณ์หลายพรรคคอมมิวนิสต์ไว้หลายบทความชื่อ “คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย ความคิดระส่ำระสาย อย่างเด็กไร้เดียงสา” (Left-Wing Communism, An Infantile Disorder) ที่มีความคิดเห็นแปลกประหลาดดังปรากฏรายละเอียดในบทความนั้นแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ในบางประเทศเขียนบทความโต้แย้งบทบาทของผู้นำพรรค เลนินจึงได้กล่าวว่าความรู้เบื้องต้นที่ชาวคอมมิวนิสต์ต้องรู้คือ ชาติหนึ่งๆ แบ่งออกเป็นชนชั้นต่างๆ ชนชั้นหนึ่งๆ มีพรรคเป็นองค์การนำ พรรคหนึ่งๆ มีองค์คณะนำประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่สุดโดยเข้าใจทฤษฎีและมีประสบการณ์ในทางปฏิบัติ

ใน ค.ศ. 1963 ครุฟชอฟได้โจมตีพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าบูชาตัวบุคคลที่เป็นผู้นำ ดังนั้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงโต้ตอบเปิดเผยว่า ฝ่ายจีนมิได้บูชาตัวบุคคลผู้นำ และได้นำเอาคำกล่าวของเลนินทั้งบทนั้นมาอ้างไว้ด้วย คำตอบของจีนนี้ได้พิมพ์และแปลออกแจกจ่ายหลายภาษารวมทั้งภาษาไทย ซึ่งผู้ศึกษาเรื่องนี้ได้อ่านและศึกษาแล้วจะเข้าใจดีว่า เลนินและเหมาเจ๋อตุงมิได้พูดที่ใดว่าให้คนนับถือแต่หลักการโดยไม่ให้นับถือบุคคล เพราะหลักการจะเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ ก็โดยบุคคลที่สามารถทำให้หลักการนั้นบังเกิดผลแท้จริงได้ แต่บางคนโฆษณาบิดเบือนทำให้มีผู้หลงเชื่อว่าทฤษฎีมาร์กซ-เลนินนั้นสอนแต่ให้คนนับถือหลักการโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของบุคคลในองค์การนำดั่งที่เลนินและเหมาเจ๋อตุงได้กล่าวไว้

ง. ในประเทศจีนนั้น ผู้อยู่นอกประเทศจีนที่ได้ฟังวิทยุหรือได้อ่านข่าว ภายหลังการอภิวัฒน์ใหญ่ทางวัฒนธรรมฯ แล้ว ซึ่งกล่าวว่าประเทศจีนต้องใช้ระบอบเผด็จการของชนชั้นคนงานหรือชนชั้นผู้ไร้สมบัตินั้น ไม่ควรลงมติง่ายๆ ว่าในประเทศของตนจะต้องมีระบอบเผด็จการของชนชั้นคนงานหรือของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ ขึ้นมาทันทีบ้าง คือจำต้องศึกษาให้รอบคอบถึงประวัติแห่งความเป็นมาเสียก่อน

เดิมทีนั้นหัวหน้าพรรคฯ ก่อนเหมาเจ๋อตุงได้นำเอา “ระบอบเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” ที่โฆษณากันในประเทศอุตสาหกรรมมาสอนเป็นคำขวัญไว้อย่างไม่ครบถ้วน ซึ่งทำให้ผู้ดำเนินตามของอดีตหัวหน้าพรรคฯ แปลคำขวัญนั้นเผยแพร่เป็นภาษาต่างๆ

ต่อมาเหมาเจ๋อตุงเป็นหัวหน้าพรรคฯ แล้ว เห็นว่ารูปแบบเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาสูงแล้วนั้น ไม่เหมาะสมแก่สภาพของสังคมจีน ดังนั้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1949 (ก่อนสถาปนาสาธารณะของราษฎรจีน 3 เดือน) เหมาเจ๋อตุงจึงได้เสนอระบอบปกครองที่จะใช้ในระยะหัวต่อระหว่างระบบทุนกับระบบสังคมนิยมเรียกว่า “ระบอบเผด็จการประชาธิปไตยของราษฎร” (People’s Democratic Dictatorship) ระบอบเผด็จการชนิดนี้ถือว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ของราษฎรส่วนมากแห่งสังคมประกอบด้วยชนชั้นคนงาน ชนชั้นชาวนา ชนชั้นผู้มีทุนน้อย และนายทุนหรือเจ้าสมบัติแห่งชาติ ซึ่งรวมทั้งผู้รักชาติ และนักอภิวัฒน์ทั้งหลาย ร่วมกันใช้อำนาจปกครองประชาธิปไตยระหว่างกัน แต่ใช้อำนาจ “เผด็จการ” บังคับเฉพาะบุคคลที่เป็นปฏิกิริยาจำนวนน้อยแห่งสังคม อันได้แก่ เจ้าสมบัติอำมาตย์ที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่กอบโกยโดยไม่สุจริต เจ้าสมบัตินายหน้า สมุนจักรวรรดินิยม ชนชั้นเจ้าที่ดิน ชาวกั๋วะมินตั๋งปฏิกิริยา และสมุนของพวกเหล่านั้น เหมาเจ๋อตุงมิได้โจมตีชาวกั๋วมิ่นตั๋งดะไปหมด คือถือว่ามีชาวกั๋วมิ่นตั๋ง ส่วนหนึ่งเป็นผู้รักประชาธิปไตยเรียกว่า “กั๋วะมิ่นตั๋งอภิวัฒน์” (Revolutionary Kuo Min Tang) ซึ่งจัดเข้าอยู่ในจำพวกร่วมกับราษฎรจีนส่วนมากในการใช้อำนาจปกครองประชาธิปไตย

ระบอบเผด็จการประชาธิปไตยของราษฎรนั้นได้ใช้อยู่ในประเทศจีนเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งประเทศจีนได้เข้าสู่ระบบสังคมนิยมและจัดตั้งสหการ (Commune) ขึ้นแล้ว ซึ่งชาวนาได้พัฒนาเป็นชนชั้นคนงานในชนบท และนายทุนแห่งชาติได้ร่วมทุนหรือโอนกิจการเป็นของรัฐและส่วนมากได้สมัครเป็นคนงานในวิสาหกิจเดิมของตนโดยเป็นประธานอำนวยการหรือผู้จัดการตามความสามารถ นายทุนก็เปลี่ยนสภาพเป็นคนงานของวิสาหกิจสาธารณะ (Public Enterprise) ใน ทางนิตินัยคนจีนเกือบทุกคนจึงเปลี่ยนสภาพเป็นคนงานระบอบเผด็จการประชาธิปไตยของราษฎรจึงเปลี่ยนสภาพเป็นเผด็จการของชนชั้นคนงานหรือของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ ซึ่งจะต้องมีอยู่ในระบบสังคมนิยมเพราะซากความคิด เก่าความเคยชิน เก่าประเพณี เก่ายังมีตกค้างอยู่ ซึ่งจะต้องใช้ระบอบเผด็จการนี้ดำเนินการกวาดล้างและป้องกันมิให้กลับฟื้นขึ้นอีก ฉะนั้นผู้ใดจะเอาตัวอย่างของสังคมอื่นใดมาใช้แก่ประเทศของตนก็ต้องตั้งทรรศนะตามหลักเบื้องต้นแห่งการใช้ความคิดตามวิทยาศาสตร์สังคม คือ พิจารณาตัวอย่างนั้นตามสภาพ ท้องที่ กาลสมัยของสังคมอื่นนั้นว่าจะประยุกต์ให้ เหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาลสมัยแห่งสังคมของตนได้หรือไม่

จ. ปัจจุบันในหลายประเทศนอกค่ายสังคมนิยม มีพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถือลัทธิและนิกายของลัทธิแตกต่างกันในเรื่องเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติหรือของชนชั้นคนงาน และที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือตัวคนงานซึ่งมีส่วนได้เสียในการที่พรรคแห่งลัทธินิกายต่างๆ เสนอว่าจะนำเผด็จการชนชั้นมาให้ได้นั้น ยังแยกย้ายกันเป็น สหภาพแรงงานอิสระที่บางส่วนยอมขึ้นแก่บางพรรค บางส่วนไม่ยอมขึ้นแก่พรรคใด คือมุ่งดำเนินการคุ้มครองประโยชน์ของคนงานโดยเฉพาะ ฉะนั้นพรรคต่างๆ จะมีทรรศนะอย่างใดในเรื่องเผด็จการของชนชั้นคนงานและในรูปการอย่างใด ถ้าคนงานเป็นตัวการที่พรรคใดจะนำเผด็จการของชนชั้นมายื่นในรูปใดก็ตามนั้นไม่สมัครใจที่จะยอมรับได้ ข้อเสนอของพรรคนั้นๆ ก็ไม่อาจปฏิบัติได้ ถ้าหากปวงคนงานยอมรับเผด็จการของชนชั้นในรูปใด แต่มวลราษฎรอีกจำนวนมาก ซึ่งมิใช่คนงานไม่อาจยอมรับรูปการแห่งเผด็จการของชนชั้นคนงานแล้ว ระบอบเผด็จการของชนชั้นก็ไม่อาจได้รับการสนับสนุนจากมวลราษฎรกว้างใหญ่ไพศาล ท่านที่อยู่ประเทศใดนอกค่ายสังคมนิยมก็อาจศึกษาเรื่องที่พรรคต่างๆ และองค์การคนงานต่างๆ ในประเทศ นั้นๆ ต้องการเผด็จการของชนชั้นคนงานในรูปใดบ้างและมวลราษฎรในประเทศ ต่างๆ จะพอใจรูปการปกครองเผด็จการอย่างไรหรือไม่

โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในฝรั่งเศส ถ้าสนใจก็อาจสังเกตแผ่นป้ายของหลายพรรคหลายนิกายติดไว้ที่หลายตึกในนิคมมหาวิทยาลัยหลายแห่ง หรือจะสังเกตจากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งประธานาธิบดี ว่ามีผู้แทนพรรคกับนิกายใด ส่งตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งบ้าง หรือคัดค้านการเลือกตั้งบ้าง หรือในการแสดงกำลังในโอกาสต่างๆ ก็มีพรรคและนิกายต่างๆ แสดงตนออกมาอีกหลายพรรคหลายนิกาย อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส อักษรย่อ P.C.E. ซึ่งเคยเป็นสมาชิกองค์การคอมมิวนิสต์สากลครั้งที่ 3 พรรคและกลุ่มที่นับถือตรอสกี ซึ่งแยกออกเป็นหลายนิกาย เช่น สันนิบาตคอมมิวนิสต์ (Ligue Communiste) ถูกรัฐบาลสั่งยุบ ใน ค.ศ. 1973 ฐานใช้กำลังทำร้ายตำรวจและทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติยังคงดำเนินต่อไป กลุ่ม “การต่อสู้ของกรรมกร” (Lutte Ouvriere) ขบวนการตรอสกีที่พยายามก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลครั้งที่ 4 กลุ่ม “ฝ่ายซ้ายของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” (Gauche Proletarienne) ซึ่งนับถือความคิดเหมาเจ๋อตุง กลุ่มนับถือแนวทางคาสโตรและเช เกววาลา ฯลฯ พรรคและนิกายต่างๆ นั้นมีทรรศนะต่างกันเกี่ยวกับเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ

ส่วนองค์การกรรมกรนั้น ท่านจะเห็นรูปธรรมในหลายประเทศ และโดยเฉพาะในฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศที่อุตสาหกรรมก้าวหน้ามาก คนงาน มีความตื่นตัวในชนชั้นของตนมาช้านานแล้ว แต่ก็ยังแยกย้ายกันเป็นสหภาพอิสระ ต่อกัน อาทิ

(1) “สหภาพแรงงานทั่วไป” ใช้อักษรย่อ “C.G.F” ชื่อเต็มว่า “Confédération Générale du Travail” มีสมาชิกประมาณ 3,200,000 คน

(2) “สหภาพแรงงานฝรั่งเศสประชาธิปไตย” ใช้อักษรย่อว่า “C.F.D.T” ชื่อเต็มว่า “Confédération française démocratique du travail” มีสมาชิกประมาณ 1,000,000 คน

(3) “สหภาพแรงงานฝรั่งเศสคริสเตียน” ใช้อักษรย่อว่า “C.F.T.C.” ชื่อเต็มว่า “Confédération française des travailleurs chrétiens” ประกอบด้วยสมาชิกคนงาน ที่นับถือศาสนาคริสเตียน มีสมาชิกประมาณ 100,000 คน

(4) “สหภาพพลังคนงาน” ใช้อักษรย่อว่า “C.G.T.F.O.” ชื่อเต็มว่า “Confédération générale du travail - Force ouvrière” ซึ่งแยกออกมาจาก “สหภาพแรงงานทั่วไป” มีสมาชิกประมาณ 100,000 คน

(5) “สหพันธ์การศึกษาแห่งชาติ” ใช้อักษรย่อว่า “F.E.N.” ชื่อเต็มว่า “Fédération de l'Éducation nationale” ซึ่งสมาชิกเป็นผู้มีอาชีพครู มีสมาชิก ประมาณ 500,000 คน

(6) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสหภาพแรงงานปลีกย่อย

คนงานเหล่านี้มีทรรศนะต่างกันในรูปแบบแห่งระบอบเผด็จการของชนชั้นคนงานและรูปแบบแห่งการปกครอง เมื่อชนชั้นคนงานได้ชัยชนะ บางส่วนต้องการเผด็จการของชนชั้นผู้ไร้สมบัติ แต่ต้องการให้พรรคที่ถือนิกายซึ่งตนนิยมชมชอบเป็นผู้ดำเนินการระบอบเผด็จการนั้นโดยกีดกันนิกายอื่น บางส่วนต้องการระบอบปกครองประชาธิปไตย โดยถือว่าเป็นอำนาจรัฐของปวงชน ซึ่งยอมให้ชนชั้นวรรณะอื่น มีสิทธิต่อสู้ได้ทางรัฐสภา เพราะเห็นว่าถ้าทำแนวร่วมกับพรรคฝ่ายซ้ายต่างๆ ได้สำเร็จ จนสามารถได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลมีเสียงข้างมากในรัฐสภาแล้ว ก็ไม่ต้องเกรงกลัวฝ่ายขวาซึ่งมีเสียงข้างน้อยในรัฐสภา การแก้ไขลัทธิมาร์กซสมัยใหม่จึงเกิดขึ้น อันเป็นบ่อเกิดแห่งการโจมตีระหว่างนิกายต่างๆ ของลัทธิมาร์กซเลนินอย่างรุนแรง ซึ่งจะเห็นได้ในระหว่างการรณรงค์เลือกตั้งผู้แทนราษฎร ค.ศ. 1973 และการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1974 ซึ่งพรรคและกลุ่มของบางนิกายโจมตีนิกายคอมมิวนิสต์ชนิดอื่นรุนแรงยิ่งกว่าโจมตีฝ่ายขวา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ฝ่ายเผด็จการ. ใน เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร. กรุงเทพฯ : โครงการกำแพงประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4 ในวาระ“รำลึก 33 ปี 6 ตุลาคม 2519” น.19-34.