มวลราษฎรไทยส่วนมากที่มีความอัตคัดฝืดเคืองและถูกกดขี่เบียดเบียนจากอํานาจเผด็จการปฏิกิริยาอย่างสาหัสนั้นย่อมได้บทเรียนแล้วว่า จะหันหน้าไปพึ่งใครให้ปลดเปลื้องความทุกข์ยากนั้นได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ฉะนั้น จึงได้สมานกําลังกันพึ่งตนเองภายใต้การนําของศูนย์นิสิตนักศึกษากระทําการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของตน สมดั่งพระพุทโธวาทที่ว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” แปลว่า “ตนของตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน” คติธรรมนี้ก็ตรงกับที่ศาสนาคริสต์สอนไว้ว่า “ช่วยตนเอง แล้วพระเจ้าจึงจะช่วย” อิสลามิกแท้ย่อมถือคติธรรมของพระมะหะหมัดทํานองเดียวกับที่กล่าวนั้น
-1-
ในการพิทักษ์ชัยชนะก้าวแรกของวีรชนให้มั่นคงและพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนั้น มวลราษฎรไม่อาจหวังพึ่งบุคคลใดแต่คนเดียวหรือคณะใดคณะเดียวเท่านั้นได้ นอกจากพึ่งพลังของมวลราษฎรเอง ซึ่งเป็นพลังอันแท้จริง โดยมีศูนย์ที่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งทั้งในทางคุณภาพและปริมาณ อันเป็นกองหน้าของมวลราษฎรที่จะต้องต่อสู้ไปอีกเป็นระยะยาวนานในการป้องกันมิให้อํานาจเผด็จการปฏิกิริยาส่วนที่พ่ายแพ้ไปแต่ในนามเท่านั้น แต่ซากแห่งพลังนั้นยังคงมีอยู่ รวมทั้งต้องต่อสู้ซากแห่งพลังโต้ประชาธิปไตยชนิดต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่แม้จะมิใช่เป็นพวกโดยตรงเองหรืออํานาจเผด็จการที่สิ้นอํานาจไปแล้วเพียงในนามนั้นก็ตาม
ศูนย์ที่เป็นกองหน้าของมวลราษฎร รวมทั้งมวลราษฎร จะต้องกุมชัยชนะนั้นโดยตนเองอย่างเข้มแข็ง ทุกคนมีวินัยโดยจิตสํานึกซึ่งตั้งไว้ให้มั่น ต้องระวังระไวมิให้ศัตรูของประชาธิปไตยช่วงชิงเอาไปเป็นของพวกเขาโดยเฉพาะได้ และจะต้องยึดทรรศนะให้มั่นคงบนรากฐานแห่งทรรศนะประชาธิปไตยสมบูรณ์ จึงจะเป็นหลักนํา การดําเนินไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เพื่อมวลราษฎรได้ บุคคลใดยึดถือทรรศนะกึ่งประชาธิปไตย ก็ดําเนินการปฏิบัติไปได้เพียงกึ่งประชาธิปไตย บุคคลใดยึดถือทรรศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาส ก็ดําเนินการปฏิบัติให้มีการปกครองเยี่ยงระบบทาสและเป็นกําลังเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการที่ปกครองราษฎรเยี่ยงระบบทาสกลับฟื้นขึ้นมาได้ ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์
-2-
ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้ในหลายบทความ และหลายปาฐกถาว่า ก่อนที่จะมีระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกและแบบสมัยใหม่ชนิดอื่น ๆ นั้น มนุษยชาติได้มีระบบสังคมหลายประเภทมาแล้วในอดีต คือ ประเภทระบอบประชาธิปไตยปฐมสหการ ประเภทระบบทาส ประเภทระบบศักดินา
ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า แม้ระบบสังคมใดในอดีตได้ล้มเลิกไปแล้ว โดยอํานาจของฝ่ายสถาปนาระบบสังคมใหม่ก็ดี หรือจะเป็นโดยทางนิตินัยก็ดี แต่ในทางพฤตินัยนั้นทรรศนะอันเกิดจากระบบเก่ายังมิได้หมดสิ้นไป คือ ยังถ่ายทอดสืบต่อมาถึงชนรุ่นใหม่บางจําพวกที่แม้จะเกิดมาภายหลังที่ระบบเก่าได้สิ้นสุดไปในทางนิตินัยแล้ว ในประเทศประชาธิปไตยแผนใหม่และประเทศที่เข้าสู่ระบบสังคมนิยมแล้ว และมีชนรุ่นใหม่เกิดขึ้นภายใต้ระบบสังคมใหม่ก็ดี แต่ทรรศนะแห่งระบบเก่าโดยเฉพาะแห่งระบบทาสก็ยังคงมีซากตกค้างและแทรกซึมอยู่ในจิตใจของชนรุ่นที่เกิดใหม่บางจําพวกเป็นเวลาอีกช้านานนัก ซึ่งพยายามดิ้นรนที่จะฟื้นระบบเก่าและระบอบที่ปกครองราษฎรอย่างทาสขึ้นมาอีก ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎที่ว่า สิ่งที่กําลังจะดับสูญก็ดี และสิ่งที่ดับสูญแต่ยังคงมีซากเหลืออยู่นั้น ก็ย่อมดิ้นรนที่จะคงชีพไว้หรือฟื้นสิ่งที่สูญไปแต่ในนามให้กลับฟื้นคืนมีชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป
ในประเทศไทยนั้น แม้ระบบทาสจะสุดสิ้นในทางนิตินัยตามพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2449) และพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณายกเลิกขนบธรรมเนียมหลายอย่างที่สืบมาจากระบบทาสก็ดี แต่ซากแห่งทรรศนะอันเกิดจากระบบทาสยังคงมีเหลืออยู่ ซากทรรศนะทาสนี้มิได้เกาะแน่นอยู่กับทุกคนแห่งระบบเก่าเพราะเชื้อพระวงศ์หลายท่าน และขุนนางกับชาวไทยหลายคนแห่งระบบเก่าได้เจริญรอยตามพระราชประสงค์ของพระพุทธเจ้าหลวงอย่างแท้จริงแล้ว ได้ปลดเปลื้องซากทรรศนะทาสให้หมดหรือลดน้อยไป แต่ชนรุ่นเก่าบางจําพวกที่เกาะแน่นในทรรศนะทาสได้ถ่ายทอดทรรศนะนั้นสืบต่อมาให้สิงสถิตอยู่ในจิตใจของคนรุ่นใหม่บางจําพวก
ดังปรากฏตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส ภายหลังเลิกระบอบสมบูรณาฯ ในทางนิตินัยแล้ว ต่อมาอีกประมาณ 100 ปีก็มีชนรุ่นใหม่บางจําพวกบําเพ็ญตนเป็น “Ultra royaliste” คือ “เป็นผู้นิยมราชาธิบดียิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี” (ข้าพเจ้ากล่าวในหนังสือว่าด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฯ และภายในคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2515)
ในประเทศไทยเราก็ย่อมเห็นได้ว่า คนรุ่นใหม่บางจําพวกที่ถือทรรศนะทาสนั้นนิยมชมชอบผู้เผด็จการบางคนที่ปกครองราษฎรเยี่ยงทาส โดยคนจําพวกนั้นไม่พิจารณาว่า ผู้เผด็จการนั้นได้ตัดพระราชอํานาจที่พระมหากษัตริย์พึงมีตามระบอบประชาธิปไตย และไม่คํานึงว่า ผู้เผด็จการนั้นใช้อํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาฯ เมื่อคนจําพวกนั้นมีทรรศนะทาสแล้ว เขาก็สนับสนุนผู้เผด็จการที่ปกครองราษฎรเยี่ยงทาส และไม่ช้าก็เร็ว คนจําพวกที่มีทรรศนะทาสก็จะเกื้อกูลสนับสนุนให้มีระบอบเผด็จการปกครองเยี่ยงทาสขึ้นมาอีก ดั่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของไทยในระยะเวลา 26 ปีมานี้ [คือ พ.ศ. 2490-2516 ...บ.ก.]
-3-
เพื่อประกอบการพิจารณาของนิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรที่รักชาติ ในวิธีการรักษาและพัฒนาเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคมนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้ท่านทั้งหลายศึกษาความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรและคณะอื่น ๆ ที่ปรากฏในทางประวัติศาสตร์ว่า ไม่สามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้ และไม่อาจพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ ทั้งนี้ เพื่อท่านทั้งหลายจะอาศัยเป็นบทเรียนที่ไม่ทําการผิดพลาดซ้ำอีก และในขณะเดียวกันก็ควรศึกษาถึงวิธีการที่คณะหรือองค์การอื่นสามารถรักษาชัยชนะก้าวแรกไว้ได้อย่างมั่นคง แล้วสามารถพัฒนาก้าวต่อไปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ทั้งนี้ เพื่อนําเอาความถูกต้องมาประยุกต์ตามสภาพท้องที่กาลสมัยของประเทศไทย
3.1
คณะราษฎรมีความผิดพลาดหลายประการอันเป็นผลประจักษ์อย่างหนึ่งที่รู้กันว่า มีความแตกแยกกันภายในคณะราษฎร ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ เหตุใดคณะราษฎรจึงมีความแตกแยกกัน ความแตกแยกกันนั้นเกิดขึ้น เพราะความแตกต่างกันในระดับจิตสํานึกแห่งความเสียสละ การเห็นแก่ตัวภายหลังที่ได้ชัยชนะก้าวแรกแล้ว และแตกต่างกันในทรรศนะทางสังคม ที่แต่ละคนและกลุ่มบุคคลที่มีซากทรรศนะเก่าค้างอยู่น้อยบ้างมากบ้าง สมาชิกทุกคนมีทรรศนะตรงกันและยอมพลีชีพร่วมกัน เฉพาะการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น
เมื่อได้ชัยชนะก้าวแรกแล้ว ได้แตกแยกกันตามทรรศนะคงที่ ถอยหลัง ก้าวหน้า ที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มมีอยู่ ฝ่ายทรรศนะคงที่ ก็พอใจที่ล้มระบอบสมบูรณาฯ แล้ว ฝ่ายก้าวหน้าต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฝ่ายถอยหลังต้องการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการที่แม้ดูผิวเผินว่าเป็นคนละอย่างกับระบบทาส แต่ถ้าวิจารณ์ให้ถ่องแท้ คือ การปกครองอย่างระบบทาสที่ถอยหลังไปยิ่งกว่าระบบศักดินา
3.2
การแตกแยกกันภายในคณะ หรือภายในพรรคต่าง ๆ นั้นเป็นปรากฏการณ์มีอยู่ทั่วไป
ไม่ปรากฏว่า มีพรรคหรือคณะการเมืองใดในโลกนี้ ทั้งที่เป็นมาแล้วในอดีตและปัจจุบัน ที่ไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในพรรค หรือคณะนั้น ซึ่งจะเป็นจารีตนิยมหรือกลาง ๆ หรือสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เราจะได้ยินว่า ภายในพรรคต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วมีความขัดแย้งกันอันเป็นเหตุให้ส่วนหนึ่งแตกแยกออกมาตั้งเป็นหลายพรรคใหม่ขึ้น หรือได้ยินว่าสมาชิกส่วนหนึ่งของพรรคนั้น ๆ ถูกขับไล่ออกจากพรรค หรือบางพรรคที่ได้อํานาจรัฐแล้ว เช่น พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ชําระล้างสมาชิกบางส่วนที่ทรยศต่ออุดมการณ์ของพรรคในการฟื้นแนวทางเก่า ดังนั้น ถ้าสมมุติว่า เราได้ข่าวมาว่า ภายในศูนย์นิสิตนักศึกษามีความขัดแย้งเกี่ยวกับทรรศนะหรือวิธีการรักษากับพัฒนาชัยชนะแล้ว เราก็ไม่ควรท้อแท้ว่า มีเหตุการณ์ตามที่สมมุตินั้นเกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งการขัดแย้งระหว่างทรรศนะเก่ากับทรรศนะใหม่
ปัญหาสําคัญอยู่ที่พรรค หรือศูนย์กลางแห่งขบวนการสามารถจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นให้หมด หรือลดน้อยลงไปได้อย่างไร และรักษาส่วนที่ดําเนินตามอุดมคติของพรรค หรือศูนย์ฯ นั้นไว้ได้หรือไม่ แทนที่จะผิดพลาดซ้ำอย่างคณะราษฎรที่ต้องสลายไป เพื่อประกอบการพิจารณา จึงควรศึกษาวิธีการของพรรคต่าง ๆ ที่ภายในเกิดขัดแย้งกัน แต่พรรคนั้นสามารถแก้ข้อขัดแย้งภายในได้ โดยรักษาพรรคนั้นไว้ได้อย่างสมบูรณ์หรือถ้าจําเป็นก็รักษาส่วนที่มั่นคงในอุดมคติของพรรคนั้นให้เป็นพลังสําคัญในการรักษาพรรคหรือศูนย์ฯ นั้นให้มั่นคงอยู่ได้ตลอดไป จนบรรลุตามเจตนารมณ์ที่สมบูรณ์
สิ่งที่จะช่วยให้พรรคหรือศูนย์ฯ ดํารงคงอยู่ได้ แม้มีข้อขัดแย้งภายใน อันเป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้น คือ การยึดมั่นในทัศนคติประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นหลักนําในการบรรลุถึงซึ่งเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันเป็นสัมมาทิฏฐิ และการหมั่นสํารวจตนเองอยู่เนืองนิตย์เพื่อแก้ไขความผิดพลาด และหลงผิดของตนเอง และช่วยเพื่อนให้แก้ไข
3.3
จริงอยู่ ที่มีปรากฏการณ์ว่า นายทหารส่วนหนึ่งในคณะราษฎรได้ใช้อํานาจทหารเป็นกําลังให้นายทหารนั้น ๆ เป็นใหญ่ในรัฐบาลแล้วปกครองราษฎรตามระบอบเผด็จการทหาร แต่ความจริงนั้น สมาชิกคณะราษฎรที่เป็นทหารยังมีอีกหลายคนที่ซื่อสัตย์ต่ออุดมคติประชาธิปไตยของราษฎร อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ในระหว่างเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ดี เป็นนายกรัฐมนตรีก็ดี ไม่เคยกระทําการใดขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่เกาะแน่นในการครองตําแหน่งนั้น ๆ คือ เมื่อถึงกําหนดออกตามวาระในรัฐธรรมนูญ ก็ลาออกโดยดุษณียภาพ นายทหารบก เรือ คณะราษฎรอีกหลายคนก็ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย คงมีเฉพาะนายทหารส่วนน้อยเท่านั้นที่เมื่อได้อํานาจแล้ว ก็ผนึกกําลังกันแผลงการปกครองประชาธิปไตยให้เป็นระบอบเผด็จการ สมาชิกคณะราษฎรที่เป็นพลเรือนหลายคนที่มีทรรศนะเห็นแก่ตัว หวังในลาภยศจากอํานาจเผด็จการได้หันไปเกื้อกูลสนับสนุนอํานาจนั้น
ฉะนั้น ปัญหามิได้อยู่ที่ว่า ถ้าผู้ใดเป็นทหารแล้วย่อมนิยมลัทธิเผด็จการ หรือผู้ใดเป็นพลเรือนแล้วย่อมสนับสนุนประชาธิปไตย ปัญหาอยู่ที่ซากทรรศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาสยังคงฝังอยู่ที่บุคคลใด ไม่ว่าคนนั้นเป็นทหารหรือพลเรือน ก็ทําให้บุคคลนั้น ๆ ถือเป็นหลักนำดําเนินการปฏิบัติไปในแนวทางที่ต้องการ หรือสนับสนุนให้มี ระบอบเผด็จการที่ปกครองราษฎรอย่างระบบทาส
อันที่จริงนั้นหลักการตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมาได้กําหนดไว้ชัดแจ้งว่า ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร ซึ่งเมื่อคนที่มีอายุย่างเข้า 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินอัตราที่อาจถูกระดมเป็นทหารประจําการได้ พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 นั้นคือ ต้องการให้ชายไทยเป็นทหารของราษฎรไทย
หากการอบรมฝึกฝนทหารในสมัยหลังภายใต้อํานาจเผด็จการ ได้ทําให้ทหารประจําการเป็นเครื่องมือของอํานาจเผด็จการ
เจตนารมณ์ของนายทหารผู้ใหญ่ในคณะราษฎรนั้นต้องการให้กองทัพไทยดําเนินเยี่ยงกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองชายเป็นทหารรักษาท้องถิ่น คือ เป็นกองทัพของราษฎร ในการนั้นได้เริ่มทําไปเป็นเบื้องแรกแล้ว โดยกองทัพไทยในยามปกตินั้น นายทหารมียศสูงสุดเพียงนายพันเอก คงมีนายพลเพียงคนเดียวซึ่งเป็นสมุหราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และได้จัดระเบียบกองทัพตามเขตมณฑลและจังหวัด มิใช่ในรูปกองพล กองทัพน้อย กองทัพเหมือนสมัยระบอบสมบูรณาฯ
กองทัพไทยสมัยแรกของคณะราษฎรมีผู้ให้ฉายาว่า “ทหารจังหวัด” ถ้าหากนายทหารส่วนที่นิยมอํานาจเผด็จการไม่ขัดขวางแล้ว แผนการจัดตั้งชายไทยให้เป็นทหารของราษฎรก็จะดําเนินต่อไปได้สําเร็จ และจะเป็นพลังของฝ่ายราษฎรในการรักษาและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ของราษฎรได้
ขบวนอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ไม่อาจใช้ทหารแห่งระบอบราชาธิปไตยเก่าได้ นอกจากบางคนที่มาเข้าข้างฝ่ายราษฎร ดังนั้น จึงได้อาศัยราษฎรฝรั่งเศสนั้นเองติดอาวุธขึ้นต่อสู้ศัตรูภายในของราษฎร และต่อสู้นานาประเทศที่ยกกําลังปฏิกิริยามาประชิดประเทศฝรั่งเศสเพื่อทําลายระบอบประชาธิปไตย
ขบวนอภิวัฒน์ของหลายประเทศในสมัยต่อมา ที่สามารถรักษาและพัฒนาชัยชนะได้นั้น ก็อาศัยการจัดตั้งราษฎรให้เป็นทหารของฝ่ายราษฎรเป็นหลักสําคัญและต้อนรับทหารแห่งระบอบเก่าที่ถือประโยชน์ของราษฎรเหนือส่วนตัว จึงได้อาสามาอยู่ในกองทัพของราษฎร
ในประเทศไทย ก็ปรากฏว่าหลายขบวนการที่ต่อสู้อํานาจเผด็จการนั้น ได้มีนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน พลทหาร ที่นิยมประชาธิปไตยได้ร่วมต่อสู้ในฝ่ายราษฎร
ดังนั้น ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าขบวนอภิวัฒน์ปฏิเสธความสําคัญของทหาร แต่ทหารที่ว่านี้ คือ ทหารของฝ่ายราษฎร ที่มาจากราษฎร โดยราษฎร ได้รับการฝึกฝนอบรมให้ปฏิบัติการเพื่อราษฎร ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของอํานาจเผด็จการที่ปกครองทหารอย่างทาส
ประวัติศาสตร์ของบางประเทศปรากฏว่า เมื่อทหารที่ถูกเกณฑ์มีทางรู้ได้ว่าขบวนการของราษฎรทําเพื่อพ่อแม่ของทหารนั้นเองซึ่งได้รับความเดือดร้อน เช่น ทหารลูกชาวนารู้ว่า ขบวนการนั้นนําผลไปสู่พ่อแม่ชาวนาด้วย ทหารลูกคนจนและลูกกรรมกรรู้ว่า ขบวนการนั้นนําผลไปสู่พ่อแม่ที่มีฐานะนั้นด้วย ทหารลูกผู้มีทุนน้อยและลูกข้าราชการผู้น้อยรู้ว่า ขบวนการนั้นนําผลไปสู่พ่อแม่ที่มีฐานะนั้นด้วย ทหารลูกนายทุนรักชาติที่ถูกอภิสิทธิ์ชนข่มเหงรู้ว่า ขบวนการนั้นนําผลไปสู่พ่อแม่ที่มีฐานะนั้นด้วย ทหารเหล่านี้ก็ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอภิสิทธิ์เบียดเบียนข่มเหงพ่อแม่ ทหารเหล่านี้ก็จะหันมาประกอบเป็นพลังส่วนหนึ่งของขบวนการราษฎรที่แท้จริงแห่งชาตินั้น ๆ (ไม่ใช่ขบวนการที่ทําเพื่อการรักษาอํานาจ การแผ่อํานาจ การแผ่อิทธิพลของชาติอื่น)
3.4
คณะราษฎรได้เชิญขุนนางเก่ามาร่วมประกอบเป็นรัฐบาล โดยมีพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์ฯ ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และให้งดใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 บางมาตราแล้ว ได้มีพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ลงโทษผู้ที่มีความคิดสังคมนิยมชนิดต่าง ๆ แม้มิใช่เป็นคอมมิวนิสต์
มีหลายท่านที่หวังดีสมัยนั้นได้วิจารณ์ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถอดถอนบทเรียนจากการที่ซุนยัดเซ็นได้มอบอํานาจให้หยวนซีไขขุนนางแห่งระบอบเก่าของจีนเป็นประมุขรัฐบาลจีนภายหลังที่การอภิวัฒน์ ค.ศ. 1911 ของจีนได้ชัยชนะก้าวแรกแล้ว จึงเป็นเหตุให้หยวนซีไขทําลายชัยชนะก้าวแรกของการอภิวัฒน์นั้น แล้วตนเองได้ดําเนินถอยหลังเข้าคลองที่ละขั้น ๆ แล้วก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิจีน (อยู่ได้ชั่วคราวก็ถึงแก่กรรม)
ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าผู้เดียวที่ทําผิดในการเสนอคณะราษฎรให้เชิญพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เพราะสมาชิกคณะราษฎรอื่น ๆ มิได้คุ้นเคยกับพระยามโนปกรณ์ฯ มาก่อนเท่ากับข้าพเจ้าที่ได้เคยร่วมงานกับท่านผู้นี้ในกรมร่างกฎหมาย และในการร่วมเป็นกรรมการสอบไล่นักเรียนกฎหมายหลายครั้ง จึงได้มีการสนทนากับท่านผู้นี้ที่แสดงว่าท่านนิยมประชาธิปไตย และการปฏิบัติของท่านในระหว่างเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์นั้นแสดงว่า ท่านกล้าตัดสินคดีโดยมิได้เกรงกลัวอํานาจสมบูรณาฯ ซึ่งนักเรียนกฎหมายหลายคนในสมัยนั้นได้นิยมชมชอบท่าน ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ท่านมีลักษณะต่างกับหยวนซีไขที่เคยทรยศพระจักรพรรดิกวงสูของจีนที่ประสงค์จะพระราชทานระบบรัฐธรรมนูญให้แก่จีน
ข้าพเจ้ามีความผิดที่ไม่ได้วิจารณ์ให้ลึกซึ้งว่า พระยามโนปกรณ์เป็นบุคคลที่มีซากความคิดแห่งระบอบเก่าเหลืออยู่มาก แต่ข้าพเจ้าขอให้ความเป็นธรรมแก่พระยามโนปกรณ์ฯ ว่า ถ้าโดยลําพังท่านผู้เดียวแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะกระทําการโต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ หากท่านได้รับความสนับสนุนจากบางส่วนของคณะราษฎรเองที่มีทรรศนะอันเป็นซากตกค้างมาจากระบอบเก่าและบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นขุนนางเก่าที่ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมรัฐบาล
ความผิดพลาดของข้าพเจ้าดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นบทเรียนของศูนย์นิสิตนักศึกษาและนักเรียนและชนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ที่จะไม่ทําผิดซ้ำอีก โดยต้องวิจารณ์ลักษณะอันเป็นธาตุแท้ของบุคคลที่จะร่วมมือหรือมอบหมายในการรักษาและพัฒนาชัยชนะก้าวแรกของวีรชน คือ บางคนอาจแสดงความเป็นประชาธิปไตยชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อถึงระยะที่จะพัฒนาชัยชนะต่อไปแล้ว ก็อาจจะดําเนินไปตามทรรศนะอันเป็นซากแห่งความคิดเก่าของตนที่ตกทอดมา อันเป็นการบันทอนไปถึงรากฐานแห่งการที่จะรักษาชัยชนะที่ได้มาในก้าวแรกนั้นด้วย
3.5
พันเอก พระยาพหลฯ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ดําเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตยทุกประการ และเมื่อถึงกําหนดออกตามวาระที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ได้ลาออกโดยพันเอก หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนต่อมา
ในระยะแรกที่พันเอก หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ดําเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติผิดไปจากอุดมคติเดิมของคณะราษฎร ที่นายทหารในยามปกติมียศอย่างสูงเพียงชั้นนายพันเอกเท่านั้น แต่หลวงพิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นนายพลตรี
ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานก็มีบุคคลที่มีทรรศนะสืบเนื่องจากระบบทาสสนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองราษฎรอย่างทาส
คนสมัยนั้นได้กล่าวขวัญกันถึงว่า มีบางคนได้เข้าไปกราบไหว้ว่า ได้แลเห็นแสงรัศมีอันเป็นอภินิหารออกจากกายของหลวงพิบูลฯ คําเล่าลือนั้นอาจขยายมากเกินไป ความจริงมีเพียงว่า ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการหลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังคงจํากันได้ว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นําละครมาแสดงและในบางฉาก ท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบํา - ฝูงไก่ (หลวงพิบูลฯ เกิดปีระกา) ระบําฝูงนั้นแสดงว่า คนมีบุญได้มาจุติมาเกิดในปีระกา ซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการแสดงเป็นชายชราง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้มีบุญได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชรานั้นก็หมดสิ้นไป หลวงพิบูลฯ ได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้าแสดงอาการขวยเขิน แล้วได้หันไปประณมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ
ข้าพเจ้าเห็นว่า ขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ต่อมาเมื่อซากทรรศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อย ๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่า จตุสดมภ์ ที่คอยยกยอปอปั้น ก็ทําให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไปได้
3.6
เมื่อได้มีการสงบศึกกับอินโดจีนฝรั่งเศสแล้ว มีผู้สนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ขอพระราชทานเลื่อนยศสูงขึ้น หลวงพิบูลฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าและอีกหลายคนว่า จะคงมียศเพียงนายพลตรีเท่านั้น แต่คณะผู้สําเร็จราชการซึ่งเวลานั้นประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ในพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เลื่อนยศหลวงพิบูลฯ จากนายพลตรีเป็นจอมพล โดยขอให้หลวงอดุลเดชจรัสช่วยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เรื่องนี้หลวงพิบูลฯ มิได้รู้ตัวมาก่อน แต่เมื่อได้ทราบจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ยังไม่สมัครใจที่จะรับยศจอมพลนั้น และไม่ยอมไปรับคทาจอมพลจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จึงได้นําคทาจอมพลไปมอบให้จอมพล ป. ที่ทําเนียบวังสวนกุหลาบ
ต่อมาคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อันเป็นโอกาสให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดําเนินการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น แล้วได้นําประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
เราสังเกตได้ว่า ถ้าคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมลงนามตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นจอมพลและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว หลวงพิบูลฯ จะมียศและมีตําแหน่งนั้นได้อย่างไร แม้จะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คณะผู้สําเร็จฯ ก็ปฏิเสธได้ เพราะร่างพระราชบัญญัติก็สามารถยับยั้งไม่ยอมลงนามได้ ปัญหาอยู่ที่คณะผู้สําเร็จฯ จะถือเอาประโยชน์ของชาติเหนือกว่าความเกรงใจหลวงพิบูลฯ หรือไม่
เมื่อการปฏิบัติของจอมพล ป. นําความเสียหายทั้งภายในและภายนอกมาสู่ประเทศชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ซึ่งมีสมาชิกคณะราษฎรที่รักษาอุดมคติประชาธิปไตยอยู่ด้วยนั้น ได้พร้อมใจกันจัดการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้จอมพล ป. ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้ปฏิบัติตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น แล้วต่อมาข้าพเจ้าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการปลดจอมพล ป. จากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วได้ยุบตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตั้งตําแหน่งแม่ทัพใหญ่อันเป็นตําแหน่งที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และตั้งให้พระยาพหลฯ ดํารงตําแหน่งแม่ทัพใหญ่นี้ เพื่อบังคับบัญชาทหารตามหลักประชาธิปไตย [สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่มีการจัดพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. 2563 … บ.ก.]
ที่มา: คัดจากตอนที่ 3 ในบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ของนายปรีดี พนมยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516
บทความที่เกี่ยวข้อง :