ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

วิลาศ โอสถานนท์ เหล็กฝรั่งแห่งการเมืองไทย ลูกชายเจ้าเมือง ลูกเขยนักหนังสือพิมพ์ชาวจีน และการแสดงปาฐกถาว่าด้วยภัยทางอากาศ

7
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • นายวิลาศ โอสถานนท์ อดีตนักเรียนไทยในอังกฤษ ได้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองกับคณะราษฎร และเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งยังเคยเป็น สส. ประเภทที่สอง (มาจากการแต่งตั้งเมื่อเริ่มต้นรัฐสภาไทย) และเป็นประธานพฤติสภาคนแรก ผู้ทำหน้าที่แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒิสมาชิก ในการอัญเชิญพระอนุชา คือ รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8
  • นายวิลาศเป็นลูกชายพระยาประชากิจกรจักร อดีตเจ้าเมืองในหลายจังหวัด ในสมัยเป็นเด็กมีความคุ้นเคยกับชนชั้นสูงและคนในวังเป็นอย่างดี ทั้งยังได้รับการเอ็นดูยิ่งจากรัชกาลที่ 5 และ 6 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ประจำประเทศจีนคนแรก และต่อมาเป็นข้าหลวงพาณิชย์ประจำฮ่องกงคนแรกเช่นกัน
  • นายวิลาศเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกรมโฆษณาการในช่วงต้นทศวรรษ 2480 และดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีคนแรกของกรม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการให้มีการโฆษณาของรัฐบาลเกี่ยวเนื่องกับสงครามเพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชน เช่น กรณีการป้องกันภัยทางอากาศ ในทางปาฐกถา เอกสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง ภาพยนตร์ และกระจกฉายหรือภาพนิ่ง เป็นต้น

 

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นวาระครบรอบ 123 ปี ชาตกาลของ วิลาศ โอสถานนท์ บุคคลผู้มีบทบาททางการเมืองหลายด้านนับแต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรื่อยมา โดยเฉพาะห้วงยามที่คณะราษฎรได้ครองอำนาจในการบริหารประเทศ  บทบาทอันโดดเด่นของ วิลาศ คือเขาเป็นทั้งหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน และต่อมาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ก็เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น

 

วิลาศ โอสถานนท์
วิลาศ โอสถานนท์

 

คุณผู้อ่านอาจนึกสงสัย ทำไมผมจึงเรียกขาน วิลาศ ว่า “เหล็กฝรั่งแห่งการเมืองไทย” นั่นเพราะเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อเขา ซึ่งได้รับการประทานจาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องจากบิดาของเขาคือ พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) เคยถวายงานในฐานะเลขานุการ ครั้นมีบุตรชายคนโต จึงกราบทูลขอให้สมเด็จฯประทานชื่อ วิลาศ บอกเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

 

“เมื่อคุณพ่อท่านทราบว่าประทานชื่อ “วิลาศ” ท่านเข้าใจว่าจะแปลว่า เยื้องกราย ร่ายรำ สวยงาม แต่เสด็จในกรมฯ ได้ทรงอธิบายว่า นั่นเป็น “วิลาส” แต่ท่านพระราชทานชื่อ “วิลาศ” แปลว่า ฝรั่งอังกฤษ เนื่องจากคุณพ่อเป็นนักเรียนอังกฤษ ก็เลยตั้งชื่อลูกเป็นลูกอังกฤษ”

 

กระทั่งในตอนหลังที่ วิลาศ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489  ซึ่งต้องแข่งขันกับ ควง อภัยวงศ์  ช่วงนั้น ประชาชนได้ฮือฮากับการโฆษณาหาเสียงที่ฝ่ายนายควงใช้ถ้อยคำเรียกคะแนนว่า “เหล็กวิลาศ หรือจะสู้ตะปูควง” สะท้อนบรรยากาศยุคสมัยที่พอคนทั่วไปนึกถึงคำว่า “วิลาศ” ก็มักจะนึกถึงเหล็กที่นำเข้ามาจากประเทศทางยุโรปหรือจัดทำโดยพวกฝรั่ง  ท้ายสุด วิลาศ  ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ ควง มิได้เป็น ส.ส. จากการเลือกตั้งครั้งนั้น

ส่วนเหตุที่ผมนิยามให้ วิลาศ เป็น “ลูกชายเจ้าเมือง” ก็เนื่องจาก พระยาประชากิจกรจักร เคยรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองอยู่หลายจังหวัดเลย

 

“คุณพ่อ พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ) เป็นบุตรพระสุพรรณสมบัติ (ถมยา โอสถานนท์) ผู้บังคับการโรงทองและคลังเครื่องทองฝ่ายพระราชวังบวรฯ ตามประวัติต้นตระกูลโอสถานนท์ ได้อพยพมาจากเวียงจันท์ และตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลนาเหล่าน้ำและนาเหล่าบก อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คุณพ่อท่านเป็นพระยาถึง 5 ครั้ง 5 ชื่อ เป็นเทศาภิบาล หรือเจ้าเมือง (ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน) อยู่ถึง 4-5 แห่ง คุณพ่อเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นหลังรัชกาลที่ 6 คุณแม่คือ คุณหญิงนิล สกุลเดิมศรีไชยยันต์ เป็นธิดาบุญธรรมของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ สมุหกลาโหมครั้งรัชกาลที่ 5”

 

วิลาศ ลืมตาดูโลกหนแรกตอนเช้าตรู่ของวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 ณ เรือนไม้สองชั้นย่านสำราญราษฎร์ ริมคลองโอ่งอ่าง ในวัยเยาว์ เขาเป็นเด็กซุกซน และตั้งตนเป็นหัวโจกของเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวแห่งย่านนั้น ซึ่งมักจะพากันไปกระโดดลงคลองโอ่งอ่าง หรือเล่นฟุตบอลกันบนชานเรือน

ครอบครัวของ วิลาศ นับว่ามีความใกล้ชิดกับชนชั้นนำระดับสูง เขาจึงสบโอกาสได้เข้าเฝ้าเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมมหาราชวังเนืองๆ

 

“ตอนนั้นอายุประมาณ 10 ขวบแล้ว สำหรับเด็กผู้ชายจะถือว่าเกินวัยที่จะให้เข้าไปในบริเวณที่ “ฝ่ายใน” ประทับ  แต่เนื่องจากคุณยายใกล้ชิดกับเจ้าจอมมารดาแสในรัชกาลที่ 5 น้องสาวทั้งสองคนคือ ระยับกับชำนัญ ก็ได้ถวายตัวตั้งแต่ยังไม่หย่านม พระธิดาทั้งสองพระองค์ของท่านคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอภันตรีปชาและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ เวลาท่านประชวร ต้องจัดส่งหมอฝรั่งเข้าไปตรวจพระอาการ คณะที่จะไป ประกอบด้วย คนจุดคบเดินนำหน้า  หมอฝรั่งเดินกลาง และตบท้ายด้วยเด็กชายวิลาศ คุณท้าว กรมวัง เสนาบดีโขลน ซึ่งคุ้นเคยกับครอบครัวและเรียกตัวเองว่าย่า ท่านจะแกล้งทักว่า “ตาลาศเป็นหนุ่มแล้วเข้าวังไม่ได้แล้วนะ” แต่ที่ได้สิทธิพิเศษก็เพื่อมิให้หมอเข้าไปตรวจพระอาการโดยลำพัง”

 

สิ่งที่สำคัญยิ่งคือ วิลาศ ยังเคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังเสียงเล่าของเขาว่า

 

“ในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านทรงมีหมายรับสั่งให้ข้าราชการที่เป็นชั้นพระยาพาครอบครัวเข้าเฝ้าในงานฤดูหนาวเดือนธันวาคมของทุกปี เขาจัดที่ไว้ให้ที่สนามตรงพระบรมรูปทรงม้า (ขณะนั้นยังไม่มี) ทุกคนที่เป็นพระยาต้องนำครอบครัวไปหมด  เอาพรมปูกับสนามหญ้าเป็นวงกลม  มีการจัดลำดับที่ไว้ให้ เช่น พระยาราชวินิจจัย พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) คุณพ่อนั่งอยู่ประมาณแถวที่ 3 มีทั้งคุณแม่ คุณน้า และคุณยายไปด้วยกัน ส่วนตัวเองยังเด็กมาก คุณพ่อให้ใส่เสื้อราชปะแตน และนุ่งโจง ซึ่งเกลียดมาก จึงได้รับอนุญาตให้นุ่งกางเกงแพรได้ เพราะยังเป็นเด็ก เจ้าจอมมารดาแสได้เตือนให้ใส่เสื้อข้างในให้อุ่นไว้เพราะอากาศเย็น เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านทุกคนก้มลงกราบ ท่านจะทรงทักทายกับคุณพ่อเรื่องการถ่ายรูป เพราะคุณพ่อชอบเล่นกล้อง และมีห้องอัดรูปส่วนตัวที่บ้าน บางครั้งก็นำเอาฟิล์มที่พระองค์ท่านได้ทรงถ่ายนำไปล้างและอัดถวาย และทรงทักคุณยายว่า แม่อุ่นปีนี้สาวขึ้นนะ ส่วนตัวเองนั้น ท่านทรงเอ็นดูด้วยเห็นว่าเป็นเด็ก ทรงไถ่ถามชื่อ และเอาพระหัตถ์กดหัว เด็กชายวิลาศจอมแก่นก็พยายามแข็งขืน”

 

ในคราวนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรง “...รับสั่งว่าตาลาศนี่หัวแข็ง และทรงจับหัวบิดไปมา พร้อมกับรับสั่งว่า “เสนาเปีย-แกเป็นเสนาฉัน”” ครั้นพระองค์เสด็จผ่านไปแล้ว วิลาศ เอ่ยปากถามบิดา ทำไมเขากลายเป็น “เสนาเปีย” ก็ได้ความว่า “เพราะเราไม่ยอมตัดผม ชอบไว้ผมยาว บอกให้ตัดทีไรก็วิ่งหนีขึ้นกำแพงเมือง พระองค์ท่านคงทรงเห็นว่า ผมเรายาวเกือบจะถักเปียได้อยู่แล้ว”

วิลาศ เริ่มต้นเรียนหนังสือโดยท่านเจ้าคุณบิดาส่งให้ไปเป็นลูกศิษย์ “ท่านมหาอยู่” แห่งวัดสระเกศใกล้บ้าน (ต่อมาภายหลัง “ท่านมหาอยู่” ยังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช และมีพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย)) หัดอ่านเขียน ก. ข. จนรู้ความ  ต่อมาได้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขามัวแต่เล่นซนไม่ค่อยเป็นอันเรียน บิดาจึงส่งให้ไปโรงเรียนสวนกุหลาบ ก็ยังไปทำตนเป็นหัวโจกอีก ท่านเจ้าคุณประชากิจกรจักรจึงส่งบุตรชายคนโตให้ไปอยู่โรงเรียนประจำคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กินนอนอยู่กับอาจารย์นอกซ์และมิสเตอร์แอทกินส์ เพื่อจะได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษ เพราะทางโรงเรียนห้ามพูดภาษาไทย ถ้านักเรียนคนใดพูดจะถูกตัดเงินเบี้ยเลี้ยง ประกอบกับช่วงนั้นทางครอบครัวได้ย้ายบ้านจากสำราญราษฎร์ไปอยู่ย่านสีลม ความที่บิดาต้องย้ายไปเป็นเทศาภิบาลประจำจังหวัดต่างๆและมารดาก็ตามไปด้วย วิลาศ เลยอยู่ในความดูแลของผู้เป็นยาย

สำเร็จจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนแล้ว วิลาศ เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) เขาใช้เวลาเรียนนานถึง 9 ปี เพราะซ้ำชั้นปีสุดท้ายติดต่อกัน 3 ปี แต่เกิดขึ้นเพราะความเจตนาโดยร่วมกับเพื่อนไม่ส่งข้อสอบ เจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นผู้ปกครองแทน พระยาประชากิจกรจักร เรียกไปตักเตือนและดุทำนองว่า ถ้าความทราบไปถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์จะทรงกริ้ว

ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง วิลาศ เป็นนักกีฬาฟุตบอล และเขามีโอกาสได้ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 6 เสมอ เขาย้อนความหลังว่า

 

“เวลาพระองค์ท่านเสวย  โดยมากท่านไม่เสวยพระองค์เดียวหรอก ท่านมีอันเต คือ มีข้าราชการผู้ใหญ่ไปนั่งด้วย อย่างเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เจ้าพระยาต่างๆ เวลาพระองค์ท่านเสวยพวกเราต้องไปคอยอยู่นะครับ ท่านเรียกผม วิลาศมานี่ ท่านเรียกให้ผมไปปัดยุงให้ท่าน แล้วท่านเสวยอะไรท่านจะแบ่งใส่จาน ผมยังนึกเลยว่าทำไมท่านต้องให้เรากิน บังคับด้วยนะว่าอย่ากินข้าวมานะ มากินกับฉัน ท่านให้นั่งกินกับพื้นมีพนักงาน เอาช้อนส้อมน้ำท่าอะไรมาเสร็จ วางกับพื้นพรม ท่านจะเลี้ยงเด็ก  นักเรียนทุกคนเห็นท่านยิ่งกว่าพ่ออีก”

 

ตามความทรงจำของ วิลาศ ในหลวงรัชกาลที่ 6 จะเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนมหาดเล็กหลวงทุกวันเสาร์ เวลา 10 โมงเช้า ซึ่งครูบาอาจารย์และนักเรียนต้องมายืนรับเสด็จฯ  โดยนักเรียนร้องเพลงถวายพระพร เพลงพุทธานุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลน้อยใหญ่ให้พระองค์ทรงสดับ สมัยนั้น ที่โรงเรียนมีนักเรียน 120 คน

ระหว่างที่อยู่โรงเรียนแห่งนี้ วิลาศ ได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งนาม ทวี บุณยเกตุ แม้ว่า ทวี จะอายุอ่อนกว่าหลายปี แต่ทั้งสองคนก็ทันได้เจอกันและเล่นฟุตบอลด้วยกัน เพราะ  วิลาศ เรียนซ้ำชั้นหลายปี

ภายหลังจากที่ วิลาศ และ ทวี สำเร็จชั้นมัธยม ทั้งสองคนก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ วิลาศ เป็นนักเรียนทุนของกรมชลประทาน หมายมั่นจะสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ต่อมา พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษแจ้งให้ทราบว่า กรมชลประทานมีนักเรียนทุนอยู่ถึง 6 คนแล้ว ทางกระทรวงเกษตราธิการจึงขอให้เขาย้ายไปเรียนวิชาการเกษตรกรรมที่  Sylhale Agricultural College, Devenshire

 

วิลาศ โอสถานนท์
วิลาศ โอสถานนท์

 

วิลาศ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีก็หวนกลับคืนมาถึงเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2472  ได้เข้ารับราชการ เริ่มจากตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าพนักงานนา กรมเกษตร พอชึ้นปี พ.ศ. 2474 เขาเป็นผู้จัดการแปลงนาทดลองของกรมการข้าว ณ ท้องทุ่งริมคลองรังสิต ช่วงนี้เอง เขาสามารถคัดข้าวพันธุ์ดีส่งไปประกวดยังประเทศแคนาดา จนคว้ารางวัลชนะเลิศ ดังเสียงเล่าที่ว่า

 

“กลับจากเมืองนอกได้ไม่กี่เดือน ทางราชการเขาให้ไปเป็นผู้จัดการสถานีทดลองข้าวที่รังสิตของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ เวลานั้นเขามีการประกวดข้าวที่แคนาดา เขาบอกเรามาทางราชการเขาสั่งผมคัดเอาข้าวพันธุ์ที่ดีที่สุดของเราส่งประกวดตอนนั้นผมเป็นผู้จัดการนาทดลองคลองรังสิต เอาข้าวทั้งหมดที่เรามีเยอะแยะนะครับ ไปเลือกเอาข้าวหอมทดลองบ้าง ทองระย้าดำบ้าง ทีนี้ผมถามว่าข้าวอะไรที่เราเรียกว่าข้าวชั้นหนึ่ง เขาบอกว่าข้าวขาวทดลอง เขาบอกว่าเป็นข้าวที่หุงเป็นอาหารดีที่สุด

ผมไปดูข้าวขาวทดลอง โอ ข้าวเม็ดยาวด้วยครับ ผมให้แกะไม้เป็นเม็ดข้าว เอาข้าวขาวทดลองละเลงๆ ในไม้ แล้วเอามาเคาะๆ มันก็ได้ของดีทั้งนั้น มันถูกต้องตามสเปค เวลานั้นเจ้าคุณอาหารบริรักษ์ท่านเป็นหัวหน้าใหญ่กับเจ้าคุณโภชากร ผมมีนายเป็นพระยา 2 คน เจ้าคุณโภชากรบอกผมว่าพยายามคัดพันธุ์ข้าวของเราที่ดีที่สุดส่งไปประกวดที่แคนาดา เราประกวดได้รางวัลที่ 1 เจ้าคุณอาหารฯ ท่านให้เงินผม 200 บาท บอกคุณวิลาศคุณหัวดีเหลือเกิน ต้มฝรั่งได้ (หัวเราะ) ถ้าดูตามประวัติผมเป็นแจ็ค ออฟ ออล เทรด (JACK OF ALL TRADE) ครับ”

 

ดังที่ผมกล่าวไว้ว่า วิลาศ เป็น ลูกเขยนักหนังสือพิมพ์ชาวจีน” นั่นก็เพราะเขาได้สมรสกับ อมร บุตรสาวของ เซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง นักหนังสือพิมพ์ชาวจีนผู้นิยมประชาธิปไตย และเป็นนักต่อสู้เพื่อสวัสดิภาพของชาวจีนทั้งหลายในสยาม อีกทั้ง เซียวฮุดเส็ง ยังมีบทบาทสำคัญที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในเมืองจีนด้วย

หลังกลับจากอังกฤษได้ไม่นานนัก วิลาศ ถูกชักชวนให้เข้าร่วมในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แน่นอนผู้ที่ชวนเขาย่อมมิใช่ใครอื่นนอกจาก ทวี บุณยเกตุ เพราะ  ทวี ถือเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้หารือและคลุกคลีกันกับ นายปรีดี พนมยงค์ และผองเพื่อนที่ประเทศฝรั่งเศส  ด้วยความเป็นคนหนุ่มที่อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย  วิลาศ จึงตัดสินใจเข้าร่วมคณะผู้ก่อการ

 

“ตอนร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ใช่ไม่กลัวตาย กลัว แต่ถึงได้บอกว่าก่อนที่เขาจะเอาไปเป็นพวกนี่เขาถามว่านอนกรนหรือเปล่า เขาถามว่าละเมอหรือเปล่า (หัวเราะ) คือ ว่าถ้าละเมอแล้วมันอาจจะไปเปิดเผย ผมนี่นะครับเขาให้เป็นช่าง เขารู้ว่าผมชอบทำเครื่องอะไรต่ออะไร เขาเอาปืนมาให้ผมคนละกระบอกให้ถูเลขออก คือ ปืนทุกกระบอกจะมีเลขให้เอาตะไบถู ที่นี้ผมมีเครื่องมือ เมื่อก่อนผมซ่อมรถเอง ก็เอาเครื่องมือถู แหม มันมา 3 กระบอก 5 กระบอก พ่อตาผม (นายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง) เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวรศัพท์ เขาเดินไป เดินมา เขาได้ยินเสียงใครตะไบไอ้นี่ทุกวันๆ ก็ขึ้นมาดู ถามว่าวิลาศตะไบปืนไปทำไมล่ะ แหม เวลานั้นหัวดี ผมบอกเดี๋ยวนี้รัฐบาลเขาจะออกตัวเลขปืนใหม่ เขาจะเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว แกบอกว่า ไม่ต้องไปถูเอง ไปเรียกคนที่โรงพิมพ์มาถูให้ ผมนึกแหมเรายิ่งปิดอยู่ ไม่อยากให้ใครรู้”

 

เช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 วิลาศ  ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติการร่วมกับ ควง อภัยวงศ์  เพื่อตัดสายโทรเลขที่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพุทธ

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  วิลาศ ยังคงรับราชการที่กรมสหกรณ์ จวบจนช่วเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476  เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (ขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการ คือ  พระยาพหลพลพยุหเสนา) ต่อมาช่วงปลายปี พ.ศ. 2478 ก็ได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (ขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการ คือ พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ)

ถัดมาอีกไม่กี่เดือน  วิลาศ ได้เป็นข้าหลวงพาณิชย์ต่างประเทศคนแรกของกระทรวงเศรษฐการประจำประเทศจีน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง ดำรงตำแหน่งอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2478-2481 เขาเล่าถึงหน้าที่นี้ว่า

 

“ผมมีโอกาสดีกว่าข้าราชการคนอื่น เพราะว่าไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ คนแรกที่ฮ่องกง ชีวิตผมนี่แปลก เป็นคนแรกเรื่อย เขามีงานที่ไหนผมมักจะเข้าไปเป็นคนแรกเรื่อยไม่รู้มันอะไรนะ ข้าหลวงพาณิชย์ประจำประเทศจีนนี่ ผมก็เป็นคนแรก เป็นข้าหลวงพาณิชย์ตอนปี 2478 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปี เขาก็ให้ผมไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ที่ฮ่องกง ผมยังหนุ่มอยู่ ผมนุ่งกางเกงขาสั้นจะไปตีเทนนิสที่สโมสร มีฝรั่งพ่อค้าคนหนึ่งเขามานั่งรออยู่ที่ห้องรับแขกตอนเช้า อยากจะพบผม เขามีการ์ดมาด้วย เขาอยากจะ ติดต่อค้าขาย แหม ฝรั่งมันลุกขึ้นยืนบอกว่าบอกคุณพ่อคุณนะ เทล ยัวร์ ฟา เธอร์ ไอ ค้านท์ เวท ฟอร์ ฮิม มันคิดว่าผมเป็นลูกข้าหลวงพาณิชย์ ผมบอกมันว่า มาย ฟาเธอร์ อิส อิน ไทยแลนด์ มันตกใจเลย”

 

ช่วงต้นทศวรรษ 2480 วิลาศ ได้ร่วมก่อตั้งกรมโฆษณาการและได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมนี้เป็นคนแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม  พ.ศ. 2482 โดยมี ไพโรจน์ ชัยนาม เป็นรองอธิบดี ขณะเดียวกัน เขายังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่ไปด้วย เฉกเช่นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2484 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มี ควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ

ในฐานะอธิบดีกรมโฆษณาการ ห้วงยามที่สังคมไทยกำลังตกอยู่ในความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยทางอากาศ สืบเนื่องจากสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกำลังคับขันในทวีปยุโรป วิลาศ จึงจำเป็นต้องสื่อสารต่อประชาชนในเรื่องการป้องกันภัยทางอากาศ เพื่อตระเตรียมให้ประชาชนมีความรู้ แม้สงครามจะยังแพร่ลามมาไม่ถึงก็ตามที  วิลาศ แสดงปาฐกถาเรื่อง “การโฆษณาเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอากาศ” ณ กรมป้องกันการต่อสู้อากาศยานเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482  ตอนนั้น เขาเองยังเป็นกรรมการอำนวยการป้องกันภัยทางอากาศแห่งราชอาณาจักรด้วย ซึ่งเขากล่าวเนื้อความว่า

 

“ท่านผู้เป็นประธาน และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติยศอย่างมากในการที่รับเชิญจากกรมป้องกันการต่อสู้อากาศยานให้มาแสดงปาฐกถา เรื่อง “การโฆษณาเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอากาศ” ในท่ามกลางท่านผู้มีเกียรติและทรงวิทยาคุณทั้งหลายในวันนี้ ท่านย่อมทราบอยู่แล้วว่า ในขณะที่สถานการณ์ของโลกกำลังเข้าสู่ความคับขันเช่นในบัดนี้ การป้องกันภัยทางอากาศย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่จะพึงใฝ่ใจเป็นพิเศษ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมการอำนวยการผู้แทนกรมโฆษณาการ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกในหน้าที่สำคัญร่วมกับท่านคณะกรรมการป้องกันภัยทางอากาศแห่งราชอาณาจักรอยู่ อย่างหนึ่งคือ งานในด้านโฆษณาให้ประชาชนตระหนักถึงภัยทางอากาศ และให้ประชาชนมีความเข้าใจในวิธีป้องกันรักษาตัวในเมื่อประสพเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นจริงๆ งานในโฆษณานี้เมื่อก่อนที่จะได้มีพระราชบัญญัติป้องกันภัยทางอากาศนั้น กระทรวงกลาโหมและกรมโฆษณาการ ได้เคยร่วมมือกันปฏิบัติงานมาครั้งหนึ่งแล้วคือ คราวซ้อมป้องกันภัยทางอากาศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ศกก่อน การโฆษณาในครั้งนั้น เราได้กระทำกันพอสถานประมาณ เพราะว่าการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศคราวนั้นเป็นครั้งแรกและยังไม่มีเครื่องอุปกรณ์พร้อมเพรียง เราจึงขอให้ประชาชนพลเมืองปฏิบัติเพียงเท่าที่จะทำได้ ให้รู้รูปการณ์ไว้เป็นเบื้องต้นก่อน

บัดนี้ ทางราชการก็ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันภัยทางอากาศ พุทธศักราช 2482 แล้ว เรามีคณะกรรมการป้องกันภัยทางอากาศแห่งพระราชอาณาจักร ซึ่งตั้งขึ้นตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินั้น เมื่อวันที่ 13 กันยายนศกนี้ ภาระซึ่งคณะกรรมการคณะนี้จะต้องจัดดำเนินการโดยเร็วคือ การพิจารณาหาวิธีป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศอย่างหนึ่งกับทำคำชี้แจงแนะนำอันเกี่ยวแก่การป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสรุปว่า หน้าที่ทั้งสองนี้จำต้องอาศัยการโฆษณาอยู่เป็นส่วนมาก

ผลจากการโฆษณาป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งเราได้ทำไปแล้วเมื่อคราวก่อน อาจกล่าวได้ว่า ในเรื่องการขอร้องให้ประชาชนดับและพรางแสงไฟ เมื่อได้ยินสัญญาณก็ดี และการหยุดยวดยานทั้งทางบกทางน้ำก็ดี เราได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอันดี เพราะเป็นเวลาที่ประชาชนมีความสนใจและตื่นเต้นในกิจการที่ยังไม่เคยมีเลยในประเทศไทย แต่การพร้อมเพรียงของประชาชนในเรื่องนี้ เราจะถือว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันภัยทางอากาศดีแล้วหาได้ไม่ เพราะเท่าที่ประชาชนปฏิบัติตามได้แล้วนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลายส่วน ซึ่งประชาชนจะต้องปฏิบัติตาม เช่น การศึกษาให้ทราบวิธีการป้องกันภัยทางอากาศในยามปกติและในยามสงคราม ข้อปฏิบัติต่างๆ เมื่อถูกโจมตี และภายหลังการโจมตี การปฐมพยาบาลตลอดจนหน้าที่ของตนตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยทางอากาศเหล่านี้เป็นต้น การโฆษณาของเราในระยะต่อไปนี้ เรามีจุดหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะให้ประชาชนตระหนักชัดถึงความร้ายแรงของภัยทางอากาศ อันจะทำให้เกิดความกระตือรือร้น สนใจในการศึกษาวิธีป้องกันภัยทางอากาศยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติตนตามความต้องการของทางราชการได้โดยเร็วที่สุด

แต่การโฆษณาเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอากาศเป็นของสำคัญที่สุด ซึ่งถ้าหากมีการผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องตรงกับความประสงค์ของทางราชการแล้ว อาจนำมาซึ่งผลเสียหายอันใหญ่หลวง ฉะนั้น ทางราชการจึงประสงค์ที่จะเป็นผู้ดำเนินการโฆษณาเสียเอง เพื่อป้องกันความเสียหายดั่งกล่าวแล้ว แม้ในบางกรณีซึ่งเอกชนอาจได้รับอนุญาตให้ทำการโฆษณาเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอากาศได้ก็ดี ทางราชการก็ยังประสงค์ที่จะทำการควบคุมการโฆษณานั้นอย่างใกล้ชิดอยู่อีก ดั่งจะเห็นได้ตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งมีว่า การแสดงความคิดเห็นหรือการพิมพ์ แนะนำหรือโฆษณาภาพ หรือข้อความใดๆ แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันภัยและบรรเทาภัยทางอากาศ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้ง เพื่อการนี้ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าการโฆษณาในเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทางราชการที่จะพึงกระทำเองและเมื่อไม่จำเป็นแล้วก็ไม่ควรจะอนุญาตให้เอกชนหรือหมู่คณะใดรับไปทำ นอกจากจะเป็นองค์การหรือนิติบุคคล เช่น สันนิบาตช่วยป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศซึ่งทางราชการได้ตั้งขึ้นเองตามความในมาตรา 32แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว

การโฆษณาที่จะให้ได้ผลสมความมุ่งหมายของเรานั้น อยู่ที่ความพยายามทุกทางในอันจะให้เรื่องการป้องกันภัยทางอากาศนี้ติดหูติดตาตรึงใจประชาชนอยู่บ่อยๆ ให้ประชาชนตื่นอยู่เสมอและมองเห็นภัยทางอากาศได้ดีแม้ในยามสงบซึ่งนับว่าเป็นของยากไม่ใช่เล่น เพราะประชาชนในประเทศไทยเรายังไม่เคยประสพด้วยตนเอง การที่พยายามให้คนเข้าใจในสิ่งหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยเห็นหรือแม้แต่การนึกคิดเลยนั้น จึงเป็นความยากลำบากมาก จะต้องกระทำหลายอย่างด้วยกันและติดต่อกันไปในการนี้ข้าพเจ้าเห็นควรแบ่งแยกกิจการออกกระทำหลายๆ ทางสุดแต่กาลเทศะที่จะดำเนินการให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชน คือบางอย่างอาจจะใช้กับคนในท้องที่หนึ่งไม่ได้ แต่ใช้กับคนในท้องที่อื่นได้หรือบางท้องที่ก็อาจจะใช้การโฆษณา ได้หลายอย่าง การโฆษณาที่นึกไว้และเห็นว่าพอจะทำให้ได้ผลแน่ๆ ในระยะนี้มี 6 ทางด้วยกัน”

 

แนวทางที่ วิลาศ เสนอ ได้แก่

  1. การโฆษณาทางปาฐกถา
  2. การโฆษณาทางเอกสาร
  3. การโฆษณาทางหนังสือพิมพ์
  4. การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง (เฉพาะสถานีคลื่นยาวภายในประเทศ)
  5. การโฆษณาทางภาพยนตร์
  6. การโฆษณาทางกระจกฉายหรือภาพนิ่ง

 

ซึ่งเขาแจกแจงรายละเอียดแต่ละหัวข้อว่า

 

1. การโฆษณาทางปาฐกถา

การโฆษณาที่ได้ผลมากและเหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ภายในประเทศของเราที่สุดคือ การแสดงปาฐกถา ทั้งนี้  เพราะพลเมืองของเราที่อยู่ห่างออกไปจากเมืองยังอ่านหนังสือไม่ออกเป็นอันมาก  ถ้าหากเราไม่ออกไปชี้แจงให้เขาทราบชัดถึงวิธีการป้องกันภัยทางอากาศที่ทางราชการกำลังดำเนินอยู่แล้ว  เสียงเล่าลือต่างๆอาจทำให้เขาเข้าใจผิด และตื่นตกใจจนไม่เป็นส่ำได้  ดั่งได้มีตัวอย่างอยู่แล้วเมื่อคราวซ้อมป้องกันภัยทางอากาศคราวก่อนเป็นต้น อนึ่ง ถึงแม้ผู้ที่อ่านหนังสือออกแล้วก็ตาม  การแสดงปาฐกถาก็ยังมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะทำให้เข้าใจความที่ได้อ่านจากหนังสือยิ่งขึ้น  และมีโอกาสที่จะซักไซ้ไล่เรียงข้อติดใจสงสัยต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ได้โดยละเอียด

แต่งานโฆษณาในด้านนี้   จัดว่าเป็นงานใหญ่ที่จะต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่และกำลังเงินเป็นอันมาก โดยฉะเพาะอย่างยิ่งคือเจ้าหน้าที่ที่จะออกไปแสดงปาฐกถาแก่ประชาชนพลเมือง  เราจำเป็นจะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ในเรื่องป้องกันภัยทางอากาศเป็นอย่างดี  สามารถให้ความเข้าใจอันถูกต้องแก่ประชาชนพลเมืองด้วยการใช้ภาษาสามัญที่ชนทุกชั้นพอฟังเข้าใจได้  การให้คำอธิบายที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน   ย่อมเป็นภัยแก่ประชาชนพลเมืองเห็นชัดอยู่แล้ว  ฉะนั้นเพื่อให้งานโฆษณาในด้านนี้ได้ผลดีจริงๆ ก่อนที่เราจะส่งเจ้าหน้าที่แผนกนี้ออกดำเนินการ  จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนอบรมเจ้าหน้าที่เสียก่อน  การอบรมนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมที่จะพึงกระทำ หรือเมื่อมอบหมายให้สันนิบาตช่วยป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศแล้ว ก็คงจะเป็นการสะดวกมาก

วิชาการที่จะนำมาใช้ในการอบรมเจ้าหน้าที่ปาฐกถา ควรให้เป็นความรู้สามัญทั่วไป  ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่ก็พอแล้ว วิชาการทางเทฆนิคโดยฉะเพาะ  เช่น  ส่วนประกอบของหน้ากากป้องกันไอพิษ  ส่วนผะสมของไอพิษชะนิดต่างๆ การยิงต่อสู้อากาศยานนี้ไม่จำเป็นต้องบังคับให้เจ้าหน้าที่ปาฐกถาต้องรู้ก็ได้

สำหรับตัวบุคคลที่จะคัดเลือกให้เป็นเจ้าหน้าที่ทำการปาฐกถานี้  เห็นว่าพอที่จะหามาได้หลายทางคือ นอกจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารแล้ว  ยังมีสมาชิกสันนิบาตช่วยป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศอีก อนึ่ง กรมโฆษณาการมีความยินดีที่จะส่งเจ้าหน้าที่แผนกปาฐกถาของกรมนี้มารับการอบรมด้วย  เพราะโดยปกติเจ้าหน้าที่แผนกปาฐกถาของกรมโฆษณาการ  มีหน้าที่ต้องไปแสดงปาฐกถาเผยแพร่ระบอบการปกครองยังต่างจังหวัดอยู่แล้ว  ถ้าหากได้รับการอบรมในการป้องกันภัยทางอากาศไปด้วย ก็จะได้ช่วยกิจการส่วนนี้อีกด้วย

ในส่วนการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการแสดงปาฐกถานั้น  การที่จะให้ทั่วถึงกันทั้งประเทศในเวลาอันสมควร  จะต้องสิ้นเปลืองเจ้าหน้าที่และค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก วิธีที่จะให้ทุ่นเวลาและค่าใช้จ่าย  และให้ได้ผลเร็วขึ้นนั้น  เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยทางอากาศ  ก็ได้มีบทบัญญัติให้เทศบาลและจังหวัด  มีอำนาจหน้าที่จัดการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศให้เหมาะสมกับสภาวะแห่งท้องถิ่นอยู่แล้ว  เราควรแนะนำให้ทางเทศบาลและคณะกรมการจังหวัดจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ปาฐกถาขึ้น  เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น  เพื่อใช้ในการโฆษณาสำหรับท้องถิ่นหรือส่วนภูมิภาคนั้น  โดยเหตุที่ปาฐกถาเหล่านี้  มีหน้าที่อันสำคัญที่จะพึงกระทำต่อไป  ฉะนั้น  จึ่งควรอบรมกันให้เพียงพอเสียก่อนที่จะปล่อยออกไปทำการและถ้าทำได้ ในชั้นต้นนี้ก็ควรคัดเลือกตัวมารับการอบรมในกรุงเทพ ต่อไปจึ่งค่อยผ่อนไปรับการอบรมทางภาค

การที่ข้าพเจ้าเสนอความเห็นเพื่อให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ปาฐกถาทางต่างจังหวัดขึ้น  ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่แต่จะทำให้งานของเราลุล่วงไปโดยเร็วแล้ว ยังได้ผลดีอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งเจ้าหน้าที่ปาฐกถาส่วนกลางของเราอาจดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จอย่างเขาไม่ได้  คือการใช้สำเนียงภาษาให้เหมาะสมกับความเข้าใจของคนไทยในท้องที่ต่างๆ  เพราะเราย่อมทราบแล้วว่าภาษาที่เราพูดกันเข้าใจดีในกรุงเทพฯ นี้ทางต่างจังหวัดที่ไกลๆบางแห่งไม่สู้เข้าใจนักก็มีมาก  ถ้าเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นช่วยเราในเรื่องนี้ได้ดีแล้ว  เราจะเบาใจขึ้นมากทีเดียว

โดยหลักการดังที่กล่าวแล้วนี้  การแสดงปาฐกถาควรมีทั้งในพระนครและต่างจังหวัด  ในพระนครนั้น  ไม่ต้องมีบ่อยครั้งนักก็ได้ ถึงแม้พระนครจะเป็นศูนย์กลางสำคัญก็ตาม  แต่เราอาจทำการโฆษณาโดยทางเอกสารได้ผลมาก เพราะชาวพระนครได้รับการศึกษาพอควรแล้วเป็นส่วนใหญ่  สถานที่ที่จะจัดให้มีการแสดงปาฐกถา ควรจัดให้มีการแสดงตามห้องประชุมของสโมสรหรือสมาคมต่างๆ โดยขอความช่วยเหลือจากสโมสรหรือสมาคมนั้นๆ ให้เชิญสมาชิกและบุคคลภายนอกเข้าฟังด้วย  นอกจากนี้ก็ควรจัดให้มีได้อีกที่ห้องประชุมของกรมโฆษณาการ  ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  กับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย   ตลอดจนห้องประชุมของโรงเรียนต่างๆ และสถานที่สาธารณะบางแห่ง ซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าไปฟังได้โดยสะดวก  การที่จัดให้มีการแสดงปาฐกถาในที่สาธารณะบางแห่งนั้น  ก็เพื่อเป็นการชักชวนประชาชนในพระนครได้ทั่วทุกหมู่เหล่า เช่น ตามวัด สวนสาธารณะและวงเวียน ซึ่งเป็นที่ประชาชนบางหมู่อาจเข้าฟังได้โดยเผอิญหรือโดยไม่นึกตะขิดตะขวง เข้าใจว่าจะเป็นผลดีอย่างหนึ่งซึ่งควรทดลองทำดู

สำหรับในต่างจังหวัดนั้น  เจ้าหน้าที่ปาฐกถาควรได้แสดงตามที่ตั้งเมืองต่างๆ ทุกแห่งในจังหวัดใหญ่ๆ และจะแสดงหลายครั้งตามสถานที่ซึ่งมีชุมนุมชนคับคั่งอีกก็ควร คือ ที่ศาลากลางจังหวัด สโมสรข้าราชการ สโมสรเอกชน โรงเรียนและในสถานที่สาธารณะบางแห่ง อนึ่ง ถ้าสามารถทำได้ ก็ควรทำตามที่ตั้งของอำเภอต่างๆ อีกด้วย ไม่ควรจะทำฉะเพาะที่ตั้งจังหวัดเท่านั้น

ในการแสดงปาฐกถานั้น ถ้าใช้คำพูดและท่าทางให้ประชาชนเห็นจริงเห็นจังและสนใจอยู่ตลอดเวลาได้แล้ว ก็นับว่าได้ผลมาก และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น จะต้องมีเครื่องใช้ประกอบในการแสดงปาฐกถาด้วย โดยฉะเพาะอย่างยิ่งการแสดงปาฐกถาเรื่อง ป้องกันภัยทางอากาศนี้ บางตอนถ้าไม่มีเครื่องใช้ประกอบการแสดงด้วยแล้ว ผู้ฟังจะไม่เข้าใจได้ ฉะนั้น จึงควรหาเครื่องใช้ไปแสดงด้วย เช่น หน้ากากป้องกันไอพิษ รูปภาพต่างๆ  เครื่องใช้ในการพรางแสง และถ้าจะมีการฉายภาพนิ่ง หรือภาพยนตร์ประกอบด้วยก็ยิ่งดี นอกจากนั้น เอกสารต่างๆเกี่ยวกับการป้องกันบรรเทาภัยทางอากาศก็ควรคิดไปเพื่อถือโอกาสแจกให้แก่ผู้มาฟังปาฐกถานั้นด้วย

เท่าที่ได้แสดงถึงการจัดเจ้าหน้าที่ปาฐกถานี้  เมื่อจัดตั้งสันนิบาตป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศขึ้นแล้ว  ก็คงจะทำได้ง่าย  และดูเหมือนจะไม่ต้องอาศัยหน่วยราชการแห่งอื่นอีก  เพราะตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยทางอากาศบ่งให้สันนิบาตช่วยป้องกันและบรรเทาภัยทาอากาศ มีสภาพเป็นนิติบุคคลภายใต้ความควบคุมดูแลของกระทรวงกลาโหม  โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแนะนำฝึกฝน  อบรมประชาชนให้รู้จักหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ และจัดหาผู้ช่วยเหลือ  และอุปกรณ์ในการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ

2. การโฆษณาทางเอกสาร

ในหมู่ผู้อ่านหนังสือออกนั้น ต้องนับว่าการโฆษณาทางเอกสารมีประโยชน์มาก  เพราะเราสามารถแจกจ่ายเอกสารไปได้แพร่หลายที่สุดโดยลงทุนก็น้อย  ทั้งมีวิธีการที่เราจะคิดประดิษฐ์ให้ประชาชนสนใจได้โดยง่ายและติดตาอยู่นาน สำหรับการเรียบเรียงเอกสารต่างๆนั้น กรมโฆษณาการมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือแก่กระทรวงกลาโหมอย่างเต็มกำลังและยินดีที่จะร่วมมือในการแจกจ่ายเอกสารนี้แก่ประชาชนอีกด้วย

การเรียบเรียงเอกสารสำหรับพิมพ์เป็นเล่มนั้น ควรนำมากล่าวฉะเพาะข้อความที่จำเป็น คืออย่าให้ประชาชนต้องรู้สึกว่า เป็นตำราที่อ่านยากและมีจำนวนหน้ากระดาษมากจนไม่อยากอ่าน แต่หน้าที่ของพลเมืองในการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศจำต้องกล่าวไว้ให้ทราบทุกอย่าง ฉะนั้นถ้าจำเป็นที่จะแบ่งออกเป็นหลายเล่ม  เพื่อกันความเบื่อหน่ายในการอ่าน  ก็น่าที่จะทำให้เหมาะสมกับความต้องการทางจิตต์ใจของประชาชนด้วย

ในการพิมพ์เอกสารชะนิดทำเป็นเล่มนั้น เพื่อให้เป็นที่สนใจแก่ผู้อ่านควรทำเล่มให้กะทัดรัดมีความสวยงามพอควร  ภายในเล่มบรรจุภาพถ่ายหรือภาพเขียนที่คนสามัญดูเข้าใจได้ไว้ให้มากพอประมาณเพื่อทำความเข้าใจแก่ผู้อ่าน  และจำได้แม่นยิ่งขึ้น  การพิมพ์เอกสารชะนิดนี้  ก็ควรพิมพ์จำนวนมากที่สุด  อย่างน้อยประมาณ 3,000,000 เล่ม เท่ากับคำอธิบายประมวลรัษฎากรซึ่งทางราชการได้เคยทำมาแล้วเพื่อแจกจ่ายไปทั่วทุกครัวเรือน  โดยอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการป้องกันภัยทางอากาศส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น งานนี้ก็คงจะลุล่วงไปสำเร็จสมประสงค์ได้

นอกจากการทำเอกสารเป็นรูปเล่มดั่งกล่าวแล้ว ควรทำการโฆษณาด้วยการใช้โปสเตอร์อีกด้วย โปสเตอร์นั้นควรให้มีคำพูดสั้นๆ มีภาพสอดสีเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงความร้ายแรงของภัยทางอากาศ  และสนใจในการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศยิ่งขึ้น  และควรปิดโปสเตอร์นี้ไว้ในที่ที่ประชาชนเห็นได้ง่าย เช่น ริมถนนหนทาง  ทางแยก  สถานที่ทำการรัฐบาลต่างๆ โรงเรียน สถานีตำรวจ สวนสาธารณะ วัด โรงมหรสพ สถานีรถไฟ ฯลฯ

การโฆษณาทางเอกสารที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำปฏิทินแผ่นแจกประชาชน แบบปฏิทินสุขศึกษาของกรมสาธารณสุข ตามธรรมดาผู้ที่ได้ปฏิทินแผ่นไปแล้วมักไม่ใคร่อยากจะทิ้งหรือทำให้ฉีกเสียไป  และมักติดไว้ที่บ้านในที่ที่เห็นได้ง่าย เพื่อจะได้เก็บไว้ดูวันเดือนปี บางบ้านตามชนบทเราจะเห็นได้ว่าเขาอุตส่าห์เก็บปฏิทินเหล่านี้ไว้นับตั้งสิบปีก็มี บางบ้านก็ใส่กรอบไว้เลยทีเดียว ถ้าเราทำปฏิทินป้องกันภัยทางอากาศชะนิดแผ่นแจกประชาชนดูบ้าง  ก็น่าจะได้รับผลหาน้อยไม่ นอกจากปฏิทินแผ่น  จะคิดปฏิทินฉีกประจำวันหรือปฏิทินประจำเดือนแจกอีก ก็สุดแต่กำลังเงินที่เราจะพอดำเนินงานกันต่อไป

3. การโฆษณาทางหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์เป็นสื่อสำคัญในการให้ข่าวและการชักจูงและแนะนำประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่า เพราะมีผู้อ่านหนังสือพิมพ์กันเป็นจำนวนมาก  ในประเทศเรา  ถึงแม้ปริมาณการจำหน่ายหนังสือพิมพ์เมื่อนำไปเทียบส่วนกับจำนวนพลเมืองแล้ว  จะยังห่างไกลกันอยู่ก็จริง แต่เราก็ต้องรับว่าการโฆษณาการทางหนังสือพิมพ์มีผลยิ่งใหญ่ในประชาชนหมู่มากเหมือนกัน ฉะนั้น ในการโฆษณาป้องกันภัยทางอากาศ  เราจะต้องอาศัยหนังสือพิมพ์เป็นผู้ช่วยเหลืออย่างสำคัญอันจะลืมเสียไม่ได้เลย

ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศนั้น  เมื่อเราได้ขอร้องให้ บรรดาหนังสือพิมพ์ช่วยโฆษณากิจการของเราด้วย  เขาคงไม่ปัดคำขอร้องของเรา เพราะหนังสือพิมพ์ย่อมทราบดีว่า  เป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนเพื่อความวัฒนาของชาติบ้านเกิดอย่างยิ่ง  และการนี้ก็เป็นสาธารณประโยชน์  ซึ่งหนังสือพิมพ์ย่อมถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว ก็แหละโดยเหตุที่กรมโฆษณาการมีงานติดต่ออยู่กับหนังสือพิมพ์โดยฉะเพาะเป็นส่วนหนึ่ง ฉะนั้น งานในด้านการติดต่อขอความร่วมมือจากหนังสือพิมพ์  ให้ช่วยโฆษณากิจการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศนี้  กรมโฆษณาการมีความยินดีที่จะรับไปดำเนินการให้

แต่ในการที่จะให้หนังสือพิมพ์ช่วยเหลือโฆษณากิจการของเรานั้น  เราจำเป็นจะต้องอำนวยความสะดวกแก่หนังสือพิมพ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เช่น อนุญาตให้หนังสือพิมพ์คัดข้อความในสมุดคำแนะนำป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศที่ทางการได้พิมพ์แจกแล้วลงในหนังสือพิมพ์ได้  ทำบล๊อกรูปแจกให้ เขียนข้อความสั้นๆ ให้ลงท้ายคอลัมน์  และเขียนบทความต่างๆ จะเป็นแปลเรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางอากาศ ที่เห็นว่ามีประโยชน์แก่ประชาชน หรือจะเรียบเรียงขึ้นใหม่ก็ได้เพื่อมอบให้นำลงเหล่านี้ การเอื้อเฟื้อต่อหนังสือพิมพ์ดังกล่าว  ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายหนังสือพิมพ์ก็ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก  และทางฝ่ายโฆษณาก็ได้โฆษณาเปล่าๆโดยการโฆษณานั้นเป็นไปตามความต้องการทุกประการ

ประโยชน์ที่เราจะได้จากหนังสือพิมพ์  นอกจากการขอร้องให้ลงคำชี้แจงและแนะนำความต้องการนั้นแล้ว  ในบางกาละ เรายังอาจขอแทรกใบปลิวเป็นใบแทรกหนังสือพิมพ์อีกก็ได้ นานๆ เราขอแทรกสักครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าทางหนังสือพิมพ์คงไม่รังเกียจเป็นแน่

4. การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง

เมื่อจะกล่าวถึงการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง  ท่านย่อมจะเห็นพ้องกันว่าเรามีโอกาสที่จะโฆษณาได้อย่างเต็มที่  เพราะกรมโฆษณาการเป็นเจ้าของวิทยุกระจายเสียงอยู่แล้ว  และท่านย่อมจะเห็นพ้องอีกด้วยว่า  การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงนั้นได้ผลดีอย่างยิ่ง เพราะได้ผลรวดเร็วทันใจ แม้แต่คนอ่านหนังสือไม่ออกเเละคนที่อยู่กับบ้านไม่ต้องไปไหนมาไหนก็ยังมีโอกาสได้ฟังวิทยุกระจายเสียงแนะนำชักจูงได้ ประกอบทั้งวิทยุกระจายเสียงก็มีเครื่องล่อใจอยู่แล้ว  คือดนตรี  ฉะนั้น จึงย่อมดึงดูดผู้ฟังได้มาก เวลานี้ประมาณว่ามีเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยราว 40,000 เครื่อง เครื่องหนึ่งคำนวณว่า  คงมีผู้ฟังเฉลี่ยแล้วราว ๕ คนเป็นอย่างต่ำ  ฉะนั้นในคืนหนึ่งๆ จะมีผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงราว 200,000 คน  นี่เป็นจำนวนเฉลี่ยอย่างต่ำที่สุด  ความจริงคงมีมากกว่านี้  ต่อไปเมื่อกรมโฆษณาการจัดให้มีวิทยุสาธารณะได้ทั่วทุกจังหวัดแล้ว  จำนวนผู้ฟังจะเพิ่มกว่านี้อีกหลายเท่า  แต่จำนวนผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงเท่านี้ที่อ้างไว้นั้น ก็นับว่าได้สามารถชักจูงใจประชาชนได้มากอยู่เหมือนกัน

การโฆษณาป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศโดยทางวิทยุกระจายเสียงนั้น  ควรโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงคลื่นยาวให้หนักไว้  เพราะผู้รับวิทยุกระจายเสียงในประเทศมีเครื่องรับคลื่นยาวกันแทบทั้งหมด นานๆ เราจะโปรยทางคลื่นสั้นบ้างก็ได้ เพื่อให้ถึงบางแห่งที่กระแสคลื่นยาวไปไม่สะดวก แต่การโฆษณาทางคลื่นยาวซึ่งเป็นการภายในประเทศ  เป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด

การโฆษณาการวิทยุกระจายเสียงนั้น  มีวิธีโฆษณาแบ่งลงไปได้อีก 5 ทาง คือ

  1. ทางปาฐกถา
  2. ทางบทสนทนา
  3. ทางข่าว
  4. ทางความรู้เบ็ดเตล็ด
  5. ทางการบรรเลง และการเล่นต่างๆ

การโฆษณาทางปาฐกถานั้น กระทรวงกลาโหมควรจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิไปแสดงปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งคราว  โดยใช้ภาษาพื้นๆ อย่าให้หนักไปทางหลักวิชามากเกินควร เพราะผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงส่วนมากเป็นบุคคลสามัญ  และถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาการก็ยังปรารถนาฟังเรื่องที่ไม่หนักสมองเกินไป  เพราะเวลาฟังวิทยุกระจายเสียงเป็นเวลาเสร็จสิ้นจากการงานประจำวัน ร่างกายต้องการพักผ่อนแล้ว วิธีปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงที่จะให้จูงใจเป็นอันดี ควรเล่าเรื่องตัวอย่างต่างๆ แปลกๆ ประกอบด้วยเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องที่ทดลองได้ผลแล้ว  และเรื่องที่กำลังปฏิบัติอยู่เหล่านี้เป็นต้น ตัวอย่างชะนิดนี้แม้ผู้ที่ไม่สมัครจะฟังแต่แรก  เราก็อาจจูงใจให้เขามาสนใจเรื่องได้  เพราะเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็อยากทราบอยู่แล้ว  เวลาปาฐกถามี ๒๐ นาที ฉะนั้นปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงจึงไม่ควรเขียนให้ยาวกว่า ๖ หน้ากระดาษฟุลสแกป และไม่ควรน้อยกว่า ๔ หน้าด้วย

ส่วนการโฆษณาทางบทสนทนานั้น  กรมโฆษณาได้ทดลองทำดูราว 6 เดือนแล้ว ปรากฏว่าได้ผลดีมาก  ฉะนั้นนับแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป  กรมโฆษณาการจะได้จัดให้มีรายการสนทนาลงประจำในรายการวิทยุกระจายเสียง  ภายหลังปาฐกถาด้วย สัปดาห์ละ ๔ ครั้ง  ครั้งละ ๑๐ นาที การสนทนาทางวิทยุกระจายเสียงดึงดูดผู้ฟังได้มาก  พราะผู้ฟังได้ฟังเสียงและสำเนียงแปลกกัน  ได้ฟังข้อปุจฉาวิสัชนา เป็นข้อๆ ไป  ง่ายแก่การฟังและการกำหนดจดจำ  การสนทนาครั้งหนึ่งๆ ควรเขียนบทในระยะประมาณ 3 หน้ากระดาษฟุลสแกป กรมโฆษณาการยินดีให้ความสะดวกในการจัดหาคู่สนทนาทั้งชายและหญิง  และยินดีจะช่วยในการเขียนบทสนทนาให้ตามกำลังอีกด้วย

ในด้านโฆษณาทางข่าวนั้น  เวลานี้กรมโฆษณาการได้จัดแบ่งโฆษณาข่าวทางวิทยุกระจายเสียงในเวลากลางคืนออกเป็น ๒ ภาคคือ ภาคหัวค่ำ ภาคหนึ่ง และภาคดึกอีกภาคหนึ่ง ข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ จะได้จัดโฆษณาให้ในภาคหัวค่ำ และถ้าข่าวนั้นมีสาระสำคัญเป็นพิเศษ  ก็จะโฆษณาซ้ำๆ ในภาคดึกอีกด้วย

ในด้านโฆษณาทางความรู้เบ็ดเตล็ดนั้น  นับตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป กรมโฆษณาการจะจัดให้มีความรู้เบ็ดเตล็ด สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หลังปาฐกถาครั้งละ 10 นาที เวลาความรู้เบ็ดเตล็ดนี้ ถ้าจะมีการโฆษณาการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศด้วย  กรมโฆษณาก็จะยินดีให้ความสะดวกเสมอ แต่ควรเขียนข้อความที่จะโฆษณานั้น ควรอย่าให้เกินกว่า ๒ หน้ากระดาษฟุลสแกป โดยคัดเลือกเอาแต่เนื้อเรื่องที่สำคัญและจำเป็นจริงๆ แต่ถ้าหากข้อความนั้นยืดยาวไปถึง 3 หน้ากระดาษฟุลสแกป ก็จะต้องเลื่อนไปโฆษณาให้ในเวลาเรื่องน่ารู้ระหว่างเวลา 20.45 - 23.00 น. เวลาเรื่องน่ารู้นี้คั่นอยู่ในระหว่างแสดงดนตรีเพื่อให้ดนตรีมีเวลาพัก  ในเดือนหนึ่งมีเรื่องน่ารู้ราวๆ 5 เรื่อง  ครั้งละ 15 นาที

การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงยังทำได้ผลดีอีกประการหนึ่ง คือการโฆษณาด้วยการบรรเลงเพลงและการเล่น  เพราะมีผู้ฟังเป็นจำนวนมากและมีเวลามากด้วย  ที่ว่าโฆษณาด้วยการบรรเลงนั้น หมายถึงการขับร้องต่างๆ ซึ่งเราอาจให้ขับร้องด้วยเนื้อเพลงที่เตือนถึงการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศได้  ส่วนการโฆษณาด้วยการเล่นนั้น  หมายถึงการแสดงต่างๆ เช่น ละครดนตรี  ละครปริศนาภาษิต  เหล่านี้ ซึ่งเราอาจให้แสดงเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศได้ทั้งโดยตรงและโดยแทรกบางตอน  การโฆษณาด้วยวิธีนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นวิธีที่ดียิ่งวิธีหนึ่ง  เพราะผู้ฟังมีความสนใจในการฟังอยู่แล้วย่อมไม่เบื่อหน่ายต่อการที่จะฟังข้อความที่เราจะแทรกไปในบางตอนเป็นแน่  การโฆษณาด้วยการบรรเลงและการเล่นนี้  กรมโฆษณาการมีความยินดีที่จะช่วยเหลือร่วมมือทุกประการ และจะพยายามแนะนำให้คณะดนตรีหรือละครซึ่งกรมโฆษณาการจ้างหรือได้รับความเอื้อเฟื้อมาแสดงทางวิทยุกระจายเสียงให้ทราบความมุ่งหมายนี้และขอให้ช่วยโฆษณากิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์นี้ด้วย

สรุปว่า  การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงนั้น  กรมโฆษณาการมีโอกาสที่จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนได้อย่างเต็มที่  และพร้อมอยู่เสมอที่จะดำเนินการแล้ว

5 การโฆษณาทางภาพยนตร์

โดยปกติ  ภาพยนตร์เป็นอุปกรณ์โฆษณาที่ดีอย่างหนึ่ง  เพราะทำให้ผู้ดูเห็นจริงเห็นจังในสิ่งต่างๆ ด้วยตาตนเอง  และเป็นสิ่งที่ไม่น่าเบื่อหน่าย  ใครๆ ก็มาดูได้  การโฆษณาการป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ ถ้าเว้นการโฆษณาทางด้านภาพยนตร์นี้แล้ว  ก็นับว่าได้ขาดสิ่งสำคัญไปอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักประชาชนจะเห็นความร้ายแรงของภัยทางอากาศได้ดี  เห็นวิธีป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศอย่างชัดเจน  ก็ด้วยได้เห็นภาพเหล่านี้จากภาพยนตร์เป็นสำคัญฉะนั้นเราจำเป็นต้องหาภาพยนตร์ที่เป็นประโยชน์ในการโฆษณานี้ไว้  แม้จะเป็นของต่างประเทศก็ใช้ได้  หรือถ้าจะคิดทำขึ้นใหม่  ก็เป็นการสมควรอยู่

การฉายภาพยนตร์นี้  ควรส่งไปฉายตามโรงภาพยนตร์ทุกแห่งและทุกจังหวัด  โดยขอร้องทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองให้ช่วยจัดฉายในวันที่มีภาพยนตร์เรื่องดีๆ ซึ่งเก็งว่าประชาชนจะไปดูกันมากๆ นอกจากนั้น ควรจัดส่งไปฉายตามสมาคม สโมสร โรงเรียนต่างๆ เท่าที่จะทำได้  การฉายภาพยนตร์นี้ที่กลางแปลงในเวลามีงานเทศกาล เช่น นมัสการพระ  และในงานประจำปี  ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ  เพราะในโอกาสนั้น  มักมีผู้ไปงานกันมาก

รวมความว่า  การโฆษณาทางภาพยนตร์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งควรรีบดำเนินการด้วย

6. การโฆษณาทางกระจกฉายหรือภาพนิ่ง

การโฆษณาทางกระจกฉายหรือภาพนิ่งนี้  แม้จะได้ผลไม่เท่าภาพยนตร์ก็ตาม  แต่โอกาสจะใช้มีมากกว่าภาพยนตร์  คือโฆษณาได้บ่อยครั้งกว่า  และไม่สู้สิ้นเปลืองรายจ่ายในการสร้างมากเหมือนภาพยนตร์  เมื่อทำเสร็จแล้วเราก็ส่งไปให้โรงภาพยนตร์ต่างๆ ขอให้ช่วยขายในระหว่างเวลาพักทุกคืนๆ เราคอยเปลี่ยนกระจกให้ใหม่ในระยะเวลาอันสมควร เชื่อว่าโรงภาพยนตร์ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดคงยินดีช่วยเหลือร่วมมือกับทางราชการเป็นแน่  ซึ่งนอกจากจะฉายในโรงมหรสพแล้ว  ก็มีโอกาสอีกหลายโอกาสที่พอจะใช้ได้อีก เช่น ในเวลาแสดงปาฐกถา เป็นต้น

ข้อความในกระจกฉายควรกระทำให้สั้นๆ และกินความมากๆ ถ้าให้คล้องจองกันได้ก็ยิ่งดี  เพราะจะทำให้จำได้ง่ายและขึ้นใจ  ยิ่งกว่านั้นถ้าจะลงสีหรือมีภาพด้วยก็ยิ่งดี

เท่าที่ได้แสดงวิธีโฆษณาทั้ง ๖ มาเช่นนี้  ท่านจะเห็นได้แล้วว่า การโฆษณาในเรื่องป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศนี้  ถ้าเราตั้งใจทำงานกันจริงๆ แล้ว  ย่อมหวังผลได้แน่นอน วิธีการต่างๆ เท่าที่ได้นำมากล่าวนี้  ความจริงได้กล่าวแต่เพียงหลักใหญ่ๆ เท่านั้น  เวลาได้ลงมือทำกันจริงๆ แล้ว  กลเม็ดต่างๆ ที่จะคิดพลิกแพลงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  เราก็จะคิดและนำมาใช้กันต่อไป  การโฆษณานั้น เราก็จะดัดแปลงให้ใช้เหมาะกับกาละเทศะเป็นสำคัญ  คือการโฆษณาบางอย่างจะใช้ไม่ได้ในท้องที่บางแห่ง  เราก็จะคิดแก้ไขใช้อย่างอื่นแทนกันให้เหมาะสมจงได้  เพราะการโฆษณาทุกทางจะใช้ในท้องที่ต่างๆให้เหมือนกันทั้งหมดไม่ได้ เช่น เอกสาร  ก็มีคนเป็นอันมากอ่านหนังสือไม่ออก วิทยุกระจายเสียงก็ใช้ได้ฉะเพาะผู้ที่มีเครื่องรับและผู้ฟัง เป็นต้น ฉะนั้น เราจึ่งต้องหาวิธีโฆษณาหลายทางด้วยกัน  บัดนี้ข้าพเจ้าขอยุติการบรรยายลงเพียงเท่านี้  และขอขอบคุณท่านทั้งหลาย  ซึ่งสละเวลามาฟังด้วยความสนใจยิ่ง”

 

ขณะที่เป็นรัฐมนตรี วิลาศ ยังได้รับการประดับยศเป็น “พันตรี”แห่งกรมการสื่อสารทหารบก

สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยเมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และเดินทัพเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถผ่านประเทศไทยได้ พวกทหารญี่ปุ่นจึงเข้ามาตั้งฐานและตบเท้าเพ่นพ่านอยู่เต็มเมือง

ทางกองทัพญี่ปุ่นทราบว่า ที่กรมโฆษณาการมีเครื่องมือและอุปกรณ์การกระจายเสียงอย่างดีเยี่ยม จึงต้องการยึดกรมนี้ เป็นเหตุให้นายทหารญี่ปุ่นมักแวะเวียนเข้าออกกรมแทบทุกวัน วันละหลายๆหน  สร้างความคับข้องหมองใจให้ วิลาศ จนเกือบระงับอารมณ์ไม่ได้  ในที่สุด เขาจึงลาออกทั้งจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและอธิบดีกรม ภายหลังการยกพลขึ้นบกผ่านไปเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์

วิลาศ ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์  ผู้มาชักชวนคือ สงวน ตุลารักษ์ เขาสมัครใจจะปฏิบัติภารกิจในสายของ หลวงนฤเบศร์มานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) หน้าที่หลักคือการรับอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งพวกเสรีไทยในต่างประเทศจะนำเข้ามาทิ้งลงสู่พื้นดินพร้อมกับร่มชูชีพ  เขายังชักชวนน้องชายคือ ทวีลาภ โอสถานนท์ ให้เข้าร่วมขบวนการอีกคน

พื้นที่ซึ่ง วิลาศ ปฏิบัติภารกิจรับอาวุธนั้น ส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก เขาจึงนัดแนะเสรีไทยให้ทิ้งร่มชูชีพพร้อมอาวุธลงมาในไร่อ้อยของเขาเองในเขตอำเภอศรีราชา แล้วลำเลียงอาวุธไปจัดเก็บในถังน้ำของโรงพยาบาล ฝ่ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ให้ความร่วมมืออย่างดี

วิลาศ จะสั่งให้คนงานไร่อ้อยคอยระวังพวกญี่ปุ่น โดยสังเกตจากวิธีการเดินซึ่งแตกต่างจากคนไทย พวกทหารญี่ปุ่นยังชอบกินอ้อย และตัดลำอ้อยมาทำเป็นไม้เท้าถือติดตัว

มิสเตอร์คูล เป็นชาวต่างชาติรายหนึ่งที่กระโดดร่มชูชีพลงมากลางไร่อ้อยของ วิลาศ อย่างปลอดภัย วิลาศ ไปรับฝรั่งผู้นี้และให้นั่งขดตัวอยู่ท้ายรถที่ขับจากศรีราชามาส่งยังบ้านพักของ หลวงนฤเบศร์มานิต ที่กรุงเทพฯ น่าเศร้าใจที่ตอนหลัง มิสเตอร์คูล ถูกทหารญี่ปุ่นจับกุมตัวได้และถูกกักขังทรมา ส่งผลให้มิสเตอร์คูลถึงกับพิการเป็นง่อย

อีกพื้นที่หนึ่งที่ วิลาศ มีบทบาทในการไปรับอาวุธคือทางภาคใต้ เขาได้ร่วมมือกับขยวนการเสรีไทยที่ไปปฏิบัติการที่นั่นหลายคน เช่น เฉียบ ชัยสงค์ เป็นต้น มีอยู่คราวหนึ่ง วิลาศ ได้ไปขนอาวุธจากพื้นที่ภาคใต้เพื่อลำเลียงเข้ากรุงเทพฯโดยรถกระบะ ซึ่งตอนนั้นมีผู้โดยสารอยู่ 3 คน ได้แก่ นายถนอม คนขับ หลวงนฤเบศร์มานิต และตัววิลาศเอง ซ่อนอาวุธในกระบะแล้วนำลูกมะพร้าวแห้งวางทับปกปิดไว้ ขณะรถกำลังแล่นบ่ายหน้าสู่เมืองหลวงมาถึงปราณบุรี  ก็พบทหารญี่ปุ่น 4 นายมายืนโบกมือให้รถหยุด พอสื่อสารกันก็ทราบว่าทหารพวกนี้จะขออาศัยโดยสารไปด้วย ทั้งสามคนจึงบอกให้ทหารญี่ปุ่นขึ้นนั่งบนกองมะพร้าวในกระบะหลังรถ ตลอดทางนั่งครุ่นคิดกันว่าจะจัดการกับทหารญี่ปุ่นทั้ง 4 นายอย่างไร ควรจะฆ่าเสียก่อนที่พวกนั้นจะมาฆ่าตนหรือไม่ เมื่อรถแล่นถึงจังหวัดเพชรบุรี พวกทหารญี่ปุ่นบอกให้รถหยุดจอด พอรถนิ่งสนิทก็ลงจากกระบะ โบกมือลา และกล่าวขอบคุณคนไทยทั้งสาม

อีกเรื่องหนึ่งที่ วิลาศ มีความคับแค้นใจต่อพวกทหารญี่ปุ่น คือการที่เขาถูกยึดม้าแข่งตัวโปรดไปใช้งานในการทำสงคราม  ม้าตัวนั้นชื่อ “พิมลแมน” เขาสงสารม้าที่ถูกใช้งานหนัก พยายามจะเสนอม้าตัวอื่นๆเพื่อขอแลก “พิมลแมน” กลับคืนมา แต่พวกทหารญี่ปุ่นไม่ยินยอม

ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488  ต่อมา วิลาศ ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 1 ประจำจังหวัดพระนครเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายปรีดี  คู่แข่งคนสำคัญของเขาคือ ควง อภัยวงศ์ เพื่อนร่วมก่อการตัดสายโทรเลขในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเคยทำงานร่วมกันที่กระทรวงคมนาคม แม้ “เหล็กวิลาศ” จะได้รับความสนใจจากประชาชนล้นหลาม แต่ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้ง สส. ประเภท 1 ให้แก่ “ตะปูควง”  อย่างไรก็ดี เขาได้เข้าสภาในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 ทั้งยังได้เป็นสมาชิกพฤฒิสภาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 มิหนำซ้ำยังได้รับเลือกให้เป็นประธานพฤฒสภาช่วงต้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน  ดำรงตำแหน่งเพียง 5 วัน ก็บังเกิดเหตุการณ์วิปโยคอันไม่มีใครคาดฝันคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต

วิลาศ ในฐานะประธานพฤฒสภาต้องรับหน้าที่ในการอัญเชิญพระอนุชาคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังเขาเล่าว่า

 

“วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต ผมกำลังเล่นบิลเลียดอยู่ที่สโมสรราชตฤณมัยฯ เขาไปบอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต ผมก็รีบไปพบนายกฯ เสร็จแล้วต้องเรียกประชุมสภาด่วนเพื่อซาวเสียงกันว่าใครจะขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ตามกฎมณเฑียรบาล ตามรัฐธรรมนูญต้องมีพระเจ้าแผ่นดินภายใน 3 วัน จากนั้นผมจึงไปพบพระยานุรักษ์ราชมณเฑียรขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีด่วน เพื่อกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระอนุชาขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ สมเด็จพระราชชนนีท่านโปรดให้พวกเราเข้าเฝ้าได้ตอนบ่าย 2 โมง ผมก็กลับไปสภา ผมบอกสำเร็จแล้ว บ่ายสองโมงสมเด็จพระราชชนนีท่านโปรดให้พวกเราเข้าเฝ้าเพราะฉะนั้น ขอเชิญท่านรองประธานพฤฒิสภา (ปัจจุบันคือ วุฒิสภา) สองคน แล้วบอกไปทางสภาผู้แทนด้วย 2 สภารวมเป็น 6 คน คือ ประธานและรองประธานสภาละ 2 คน สมเด็จฯ ท่านจะจัดที่ให้นั่ง มีมหาเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนและผมเป็นประธานรัฐสภากับรองอีก 4 คนเข้าเฝ้า

พอไปถึงเจ้าคุณอนุรักษ์ฯ ท่านก็พาผมขึ้นไปบนพระที่นั่ง สมเด็จพระราชชนนีประทับนั่งรออยู่แล้ว ท่านชี้แจงว่านี่นะคุณวิลาศนั่งตรงนี้ สมเด็จพระอนุชาท่านจะประทับตรงนั้น มากันพร้อมหรือยัง เราทูลท่านว่ามากันพร้อมแล้ว ท่านก็เสด็จฯ เข้าไป เชิญเสด็จฯ พระอนุชาออกมาประทับนั่งบนพระเก้าอี้ พอท่านเสด็จออกมาเราก็ลุกขึ้นยืนหมดท่านรับสั่งว่าเชิญนั่ง พวกผมก็คุกเข่ากราบบังคมทูลท่านว่าพวกข้าพระพุทธเจ้ามากันวันนี้พร้อมกันหมดทั้งรัฐสภาขณะนี้ รัฐสภาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ขอให้เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทขึ้นเสวยราชสมบัติแทนสมเด็จพระเชษฐาธิราช”

 

วิลาศ ดำรงตำแหน่งประธานพฤฒสภาจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489  ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คอยดูแลแก้ปัญหาปากท้องและข้าวยากหมากแพง เรื่องจากเป็นสภาวะหลังสงคราม อีกทั้งทางเมืองไทยยังต้องส่งข้าวให้ชาติตะวันตกอย่างเสียเปรียบ เพราะการเคยร่วมประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

เหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการอันเลวร้ายในเมืองไทย ทั้งยังส่งผลให้ นายปรีดี ต้องลี้ภัยทางการเมืองไประหกระเหินในต่างประเทศอีกยาวนาน นับแต่นั้น บทบาททางการเมืองของ วิลาศ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มก้อนของ นายปรีดี ก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ  เขาหันไปมุ่งเน้นดำเนินกิจการธุรกิจของตนคือ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ซึ่งเคยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับบทบาททางการเมืองบ้างเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2502 และเป็นประธานสมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2508

วิลาศ ครองอายุยืนยาวมาจวบจนล่วงวัยเก้าสิบปลายๆใกล้เฉียดร้อย ก่อนเขาจะสูญสิ้นลมหายใจอำลาจากโลกไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2540

แม้ปัจจุบันนี้ วิลาศ โอสถานนท์ อาจไม่ใช่บุคคลที่ชนรุ่นหลังส่วนใหญ่คุ้นเคยชื่อเสียงเรียงนามเท่าใดนัก แต่ก็ใช่ว่าความสำคัญของเขาจะต้องถูกหลงลืมเลือนหายไป เพราะตลอดช่วงเวลาที่เขาแสดงบทบาททางการเมืองในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรบริหารประเทศ  “เหล็กฝรั่ง” ผู้นี้ก็ได้สร้างคุณูปการให้กับเมืองไทยเอาไว้มิใช่น้อย

 

เอกสารอ้างอิง

  • เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันท์. มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า. พระนคร : รวมสาส์น. 2501.
  • วิลาศ โอสถานนท์. “การโฆษณาการป้องกันภัยทางอากาศ.” ยุทธโกษ. 48(3). (ธันวาคม 2482). หน้า 63-76.
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์. ป.ม., ท.ช., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานครฯ วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2440. กรุงเทพฯ : ศิริชัยการพิมพ์. 2540.