ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นอนิจจังของสังคม : บทสุดท้าย

28
ธันวาคม
2566

Focus

  • ในบทสุดท้ายของความเป็นอนิจจังของสังคม นายปรีดี พนมยงค์ ได้ขมวดปมการนำเสนอ โดยอ้างถึงพุทธทฤษฎีผัสสะสำหรับใช้วิจารณญาณถึงกฎแห่งอนิจจังว่าเป็นสัจจะสำหรับโลกและสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งมนุษยสังคม และอภิปรายว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมของมนุษย์ย่อมดำเนินจากยุคมิคสัญญีไปสู่ยุคศรีอารยเมตไตรย โดยหากบุคคล เช่น ปุถุชนแห่งวรรณะเบียดเบียนยึดถือวัตถุ เช่น ลาภยศ แต่มิได้ยึดจิตใจเป็นรากฐาน อันเป็นจิตธรรมิกหรือสสารธรรมิกทางวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมทำให้ศีลธรรมของสังคมเสื่อมโทรม และก่อเงื่อนไขให้เกิดยุคมิคสัญญี
  • การต่อสู้ของสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมโดยวิธีสันติ คือวิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ จะกำจัดการเบียดเบียนให้หมดไปทางปริมาณที่ละน้อยๆ และถ้าสมาชิกในสังคมประนีประนอมกันได้ สมาชิกส่วนมากของสังคมก็จะต้องได้ชัยชนะตามที่ประชาธิปไตยย่อมถือเอาเสียงข้างมาก หากผู้เบียดเบียนกับผู้ถูกเบียดเบียนไม่ประนีประนอมกัน แต่รบราฆ่าฟันกัน  สมาชิกส่วนมากของสังคมที่มีพลังมากกว่าส่วนน้อยย่อมได้ชัยชนะเช่นกัน
  • เมื่อการเบียดเบียนหมดไป ยุคมิคสัญญีย่อมสิ้นสุดลง และยุคใหม่คือยุคศรีอารยเมตไตรยก็เกิดขึ้นมาแทนที่ สอดคล้องกับแก่นธรรมที่พระอรรถกถาจารย์นำมาสอน เราจึงควรศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ว่าอะไรเป็นจิตธรรมและอะไรเป็นสสารธรรม และเข้าใจกฎแห่งอนิจจังของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำมาใช้อย่างถูกต้องตรงกับกฎธรรมชาติและกฎวิทยาศาสตร์ทางสังคม

 

 

บทสุดท้าย

ก่อนจบบทความเรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังคม ข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายที่ยังไม่อาจตัดทางโลกแห่งมนุษยสังคมได้อย่างเด็ดขาดตามที่ได้พรรณนามาแล้ว โปรดใช้ ทฤษฎีผัสสะ แห่งพระพุทธศาสนาสมานกับกิจกรรมของมนุษยชาติที่สัมผัสท่านอยู่ในปัจจุบันและเคยสัมผัสมาแล้วในอดีต ท่านก็อาจใช้วิจารณญาณมองเห็น กฎแห่งอนิจจัง ว่าเป็นสัจจะสำหรับโลกและสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษยสังคม ท่านคงเห็นได้ด้วยตนเองว่า คำสั่งสอนของพระอรรถกถาจารย์เรื่องการวิวรรตของมนุษยสังคมที่จะต้องเข้าสู่ ยุคมิคสัญญี และยุคศรีอารยเมตไตรย นั้นได้ประจักษ์ขึ้นบ้างแล้วในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหาไม่

ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงในการที่ท่านได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะพยายามที่จะให้มนุษย์มีศีลธรรมอันดี แต่ปุถุชนผู้เบียดเบียนและข่มเหงผู้อื่นได้ฟังพระธรรมเทศนาเพียงเป็นพิธีโดยมิได้ปฏิบัติตาม บางคนกราบไหว้พระพุทธรูปวันละหลายๆ ครั้งเพื่อแสดงเปลือกนอกว่านับถือพุทธศาสนาเคร่งครัด แต่ภายในจิตก็ดี การกระทำที่ประจักษ์ก็ดี เป็นการทำลายล้างศีสธรรม คือเอาศีลเอาสัตย์ไปแลกกับวัตถุ คือลาภยศ โดยไม่เกรงต่อบาปกรรม ว่าที่แท้แล้วเขาเหล่านั้นมิได้ถือเอาจิตเป็นรากฐานในการตัดกิเลสและตัณหาให้น้อยลง แต่เขาถือเอาวัตถุสิ่งของเป็นสรณะ จึงมิใช่จิตธรรมิกหรือ สสารธรรมิกทางวิทยาศาสตร์ แต่อย่างใด ปุถุชนแห่งวรรณะเบียดเบียนได้ทำให้ศีลธรรมของสังคมเสื่อมโทรม อันเป็นการก่อเงื่อนไขให้เกิดขึ้นในการนำมนุษยสังคมเข้าสู่ยุคมิคสัญญี

การเบียดเบียนกันและข่มเหงกันย่อมไม่คงอยู่กับที่ คือจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด โดยการต่อสู้ของสมาชิกส่วนมากแห่งสังคม ซึ่งอาจเป็นวิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือวิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ สังคมก็จะได้กำจัดการเบียดเบียนให้หมดไปทางปริมาณที่ละน้อยๆ ถ้าสมาชิกในสังคมมีทางประนีประนอมกันได้ ในที่สุดสมาชิกส่วนมากของสังคมก็จะต้องได้ชัยชนะ เพราะประชาธิปไตยย่อมถือเอาเสียงข้างมาก ถ้าหากผู้เบียดเบียนกับผู้ถูกเบียดเบียนไม่มีทางประนีประนอมกัน และจะต้องมีการรบราฆ่าฟันกันแล้ว สมาชิกส่วนมากของสังคมที่มีพลังมากกว่าส่วนน้อยก็ต้องได้ชัยชนะอย่างไม่เป็นปัญหาเช่นเดียวกันเมื่อการเบียดเบียนหมดไป ยุคมิคสัญญีก็ย่อมสิ้นสุดลง และยุคใหม่คือยุคศรีอารยเมตไตรยก็เกิดขึ้นมาแทนที่

ปุถุชนคนใดจะค้านแก่นธรรมแห่งคำสั่งสอนของพระอรรถกถาจารย์ว่า ท่านคิดอย่างจิตธรรมหรือจิตนิยมแล้ว ก็ควรศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน ว่าอะไรเป็นจิตธรรมและอะไรเป็นสสารธรรม พระอรรถกถาจารย์ได้ก้าวหน้ากว่าคนรุ่นเรามาก่อนแล้วหลายศตวรรษ ในการที่ท่านเข้าใจกฎแห่งอนิจจังของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง และได้นำมาใช้แก่กรณีของมนุษยสังคมได้อย่างถูกต้องตรงกับกฎธรรมชาติและกฎวิทยาศาสตร์ทางสังคม

ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการพระอรรถกถาจารย์องค์นั้นที่ได้สั่งสอนเราและ สัปปุรุษทั้งหลายดั่งกล่าวมาแล้วไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ขอพลานุภาพแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โปรดช่วยให้ท่านสาธุชนผู้มีศีลมีสัตย์ทั้งหลายจงหลุดพ้นจากการเบียดเบียนทั้งปวง

 

ภวตุสพฺพมงฺคลํ
รกฺขนฺตุสพฺพเทวดา
สพฺพพุทธานุกาเวน
สถาโสตุถีภวนฺตุเต

ภวตุสพฺมงฺคลํ
รกฺขนฺตุสพฺพเทวดา
สพฺพธรรมานุภาเวน
สถาโสตุถีภวนฺตุเต

ภาวตุสพฺพมงฺคลํ
รกฺขนฺตุสพฺพเทวดา
สพฺพสงฺฆานุภาเวน
สถาโสตฺถีภวนฺตุเต

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ทฤษฎีแห่ง “วิชชา” หรือ “สัมวุทธิวิทยา”, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9). 2543, น. 52-54.