จากใจผู้เขียน
นับแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกจนถึงวันที่ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งขนานคู่ไปกับเรื่องราวผันผวนและแปรเปลี่ยนของสังคม ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ - พ.ศ. ๒๕๐๓ ทั้งในบ้านเกิดและต่างแดนและในที่สุดสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ หลากรสหลากอารมณ์ที่แผ้วผ่านเข้ามาในชีวิต ได้หลอมเป็นประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าและยากที่จะลืมเลือน
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสักขีพยานชีวิตของเธอผู้นี้ จึงได้เรียงร้อยวันวานในโลกกว้างฝากไว้ในบรรณพิภพ ด้วยหวังให้บันทึกนี้เป็นเพื่อนเดินทางของนักอ่านรุ่นเยาว์ท่องไปในโลกกว้างและย้อนรอยสู่อดีต
ผู้เขียนระลึกด้วยความขอบคุณทุกท่านที่อยู่เบื้องหลังการนำวันวานในโลกกว้างสู่สายตาของผู้อ่าน โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่เป็นกำลังใจ ให้คำติชม ตั้งแต่ต้นร่างจนถึงฉบับสมบูรณ์
ว.ณ. พนมยงค์
พฤษภาคม ๒๕๔๓
“ปลาย ไหนลูกลองเล่าให้พ่อฟังหน่อยซิว่า เวลาปลายอ่านพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ให้คุณยายฟัง คุณยายมักพูดอะไร”
พ่อนั่งบนเก้าอี้หวายหน้าตึก นัยน์ตาเหม่อมองไปที่กอไผ่มุมสนามหญ้าอย่างครุ่นคิด
“มิคสัญญีค่ะ” ปลายโพล่งออกไปโดยไม่ต้องคิด
“เวลาอ่านข่าวปล้นฆ่าทีไร...” ปลายหยุดหายใจ ขณะเดียวกันก็ทบทวนความทรงจํา
“อ้อ ปลายจําได้แล้วค่ะ ข่าว 4 อดีตรัฐมนตรี[1] โดนโจรมลายูลอบยิงที่บางเขน... คุณยายบอกว่า โจรมลายูที่ไหนกัน โจรในเครื่องแบบสีกากีกระมัง คุณยายยังบอกอีกว่า บ้านเมืองเข้าสู่กลียุค มิคสัญญียุค”
“คุณพ่อคะ ยุคมิคสัญญีหมายความว่าอะไรคะ” ปลายถือโอกาสถามต่อ
“ตั้งแต่พ่อยังเด็กอยู่ ได้ยินพระภิกษุสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังและอ้างบ่อยๆ ว่า มีพุทธทํานายไว้ว่า มนุษยสังคมจะเข้าสู่ยุคมิคสัญญี ศีลธรรมเสื่อมทรามลง มีแต่การรบราฆ่าฟันและเบียดเบียนกัน”
“ปลายเอาสมุดกับดินสอมาเขียนคําบอกหน่อย” พ่อบอก
ปลายวิ่งเข้าบ้านไปหยิบสมุดกับดินสอ นั่งลงตรงเชิงบันได สมุดวางบนตัก เตรียมพร้อมจรดดินสอ
“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
ผู้ดีจะเดินตรอก
ขี้ครอกจะเดินถนน”
เหมือนครูกับศิษย์ในห้องเรียน พ่อท่องคําร้อยกรองที่มีผู้ประพันธ์ไว้อย่างชัดถ้อยชัดคํา ปลายปั้นตัวหนังสือลงในสมุดทีละตัว ทีละตัว การเรียนเช่นนี้ช่วยทําให้ปลายไม่ลืมภาษาไทย
“ปลายเรียนวิชาเคมีมาแล้ว คงจําสูตร 2H2 + O2 = 2H2O ได้ ไฮโดรเจนก็ดี ออกซิเจนก็ดี ล้วนเป็นอากาศธาตุ แต่เมื่อสองสิ่งเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ก็กลายเป็นน้ำ ซึ่งเป็นของเหลว ทั้งนี้เหมือนกับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง จากสิ่งหนึ่งกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดคงที่เหมือนเดิม”
ปลายใช้มือเท้าคาง แหงนหน้าฟังพ่อพูด ตาไม่กะพริบ
“คําในพุทธทํานายยังกล่าวอีกว่าไฟบรรลัยกัลป์จะล้างโลกที่โสมม ครั้นแล้วยุคใหม่คือ ยุคศรีอารยเมตไตรยก็จะอุบัติขึ้น มนุษยชาติอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาปรานีระหว่างกัน ไม่มีจนมีรวย มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ถ้วนหน้า...”
ฟังถึงตรงนี้ ปลายกึ่งเข้าใจกึ่งไม่เข้าใจ วันนี้ไม่เข้าใจ วันพรุ่งนี้ หรือวันมะรืนนี้ เมื่อปลายโตขึ้น ปลายคงจะเข้าใจ ปลายบอกกับตนเอง
พ่อปลายเป็นคนใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เสมอ ชอบค้นคว้าศึกษาหาความรู้ อ่านๆ ขีดๆ เขียนๆ เป็นประจําทุกวัน การพูดคุยในวันนั้น เป็นที่มาของหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม พ่อเขียนไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณยาย
... ... …
“ขบวนการก้าวกระโดดครั้งใหญ่” คงดําเนินต่อไปทั่วแผ่นดินจีน มีอยู่วันหนึ่ง ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์จีน มีภาพหญิงชาวนานั่งขัดสมาธิบนต้นข้าวรวงข้าวอวบอ้วนรอวันเก็บเกี่ยว รายงานข่าวกล่าวว่าคอมมูนประชาชนแห่งนี้ปลูกข้าวได้ผลเก็บเกี่ยวเป็นที่น่าพอใจ ต้นข้าวปลูกแน่นเต็มขนัดในแปลงนาผืนนั้น
ปลายเอาหนังสือพิมพ์ ไป่ซิ่งรึเป้า ให้พ่อดู
“คุณพ่อว่ามหัศจรรย์ไหมคะ คนสามารถขึ้นไปนั่งบนต้นข้าว” ปลายตั้งคําถามแบบไม่รอคําตอบ
“ปิดเทอมที่แล้ว ปลายไปเก็บเกี่ยวข้าวที่คอมมูนไป๋หยุน ต้นข้าวล้มระเนระนาด ลําต้นข้าวเปราะบางเมื่อต้องลมพายุ แค่น้ำหนักของรวงข้าว ลําต้นก็รับไม่ไหว แล้วจะรับน้ำหนักของคนได้หรือคะ สงสัยจะเป็นมายากลกระมังคะ”
พ่อรอจนปลายพูดจบ จึงบอกกับปลายว่า
“ดีแล้วลูก ฟังเรื่องใดแล้วก็ตาม ต้องใช้สมองตรึกตรองหาเหตุ ต้องไต่ถามเพื่อสอบความแน่นอน แล้วจึงขีดเขียนกันลืม ดังโคลงโลกนิติบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า
สุ เสาวนิตย์ถ้อย ทั้งผอง
จิ เจตนาตรอง ตริค้น
ปุ จฉาสอบสวนลอง เลาเลิศ
ลิ ขิตข้อคําต้น เกี่ยงแก้กันลืม”
ปลายฟังไปพลาง ไม่ลืมที่จะจดสุภาษิตบทนี้ลงในสมุด
“สุ. จิ. ปุ. ลิ. ” เพียง 4 ตัวนี้ ท่องขึ้นใจได้ไม่ยากนัก แต่หากจะยึดเป็นคติเตือนใจอยู่เสมอ... ปลายรู้ว่า ตัวเองมักเหมือนคนตาบอดคลําช้างมะงุมมะงาหรา อยู่ในป่าดงแห่งความมืดทึบทางปัญญาอยู่เป็นนิจ
ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “สุ. จิ. ปุ. ลิ.”, ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 322 - 325.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว
- ตอนที่ 2 - เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า
- ตอนที่ 3 - ไปโรงเรียน
- ตอนที่ 4 - จุดหักเห
- ตอนที่ 5 - นกน้อยในกรงเหล็ก
- ตอนที่ 6 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 7 - ฉันเป็นชาวสยาม
- ตอนที่ 8 - การเดินทาง 15,000 กิโลเมตร
- ตอนที่ 9 - บ้านหลังใหม่
- ตอนที่ 10 - ปู้หวา
- ตอนที่ 11 - พระราชวังต้องห้าม
- ตอนที่ 12 - ตามล่าหาสายลับ
- ตอนที่ 13 - น้ำพริกแอปเปิ้ล
- ตอนที่ 14 - กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ
- ตอนที่ 15 - ยามดอกเหมยบาน
- ตอนที่ 16 - สวนสนามวันเมย์เดย์
- ตอนที่ 17 - กำแพงสีเขียว
- ตอนที่ 18 - ลาก่อนเพื่อนรัก
- ตอนที่ 19 - จดหมายจากกว่างโจ๊ว
- ตอนที่ 20 - โรบินสัน ครูโซ
- ตอนที่ 21 - สัตว์รัก สัตว์เลี้ยง
- ตอนที่ 22 - เสียงกลองรบลั่น นกกระจอกเข้ารัง
- ตอนที่ 23 - ทองคำสีดำ
- ตอนที่ 24 - ถลุงเหล็กกล้า
[1] “4 รัฐมนตรี” หมายถึง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง ดร.ทองเปลว ชลภูมิ และนายถวิล อุดล อดีตเสรีไทย ได้ถูกตำรวจไทยในยุค “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” สังหารโหดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492.