ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิทยาศาสตร์กับอุตสาหกรรม

9
มกราคม
2567

Focus

  • แม้ว่าราษฎรในประเทศสยามจะทำการกสิกรรมกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลจึงส่งเสริมการอุตสาหกรรมขึ้นอีกทางหนึ่ง และต้องการความรู้ในทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน
  • การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใดๆ เช่น โรงงานสุรา โรงงานทอผ้า และการผลิตยา ย่อมต้องการสัมภาระดิบ (วัตถุดิบ) ในประเทศ และต้องจัดเตรียมให้เพียงพอแก่การที่จะป้อนให้กับโรงงาน รวมถึงการคำนึงถึงมาตรฐานของผลผลิต
  • ข้อจำกัดของรัฐบาลสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในการจัดตั้งโรงงาน อุตสาหกรรม ก็คือ การที่ยังไม่ได้สำรวจและศึกษาคุณภาพของสัมภาระดิบที่จะใช้ป้อนโรงงานและในการผลิต เพราะไม่มีคนที่มีความรู้และความสามารถที่จะควบคุมเครื่องจักรที่ต้องอาศัยหลักวิชาวิทยาศาสตร์
  • การศึกษาวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลา รัฐบาลจึงได้เร่งให้กระทรวงธรรมการเตรียมคน เช่น ปลุกข้าราชการและประชาชนให้ศึกษาอบรมให้เกิดความรู้ความสามารถ การส่งข้าราชการไปดูกิจการในต่างประเทศ  รวมถึงชักชวนให้มีผู้สนใจศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น

 

เนื่องด้วยความตื่นตาไหวตัวขึ้นของประชาชาติไทย อันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่ เราจึงได้มองเห็นรูโหว่ที่โน่นช่องว่างที่นั่นปรากฏขึ้น ณ นาวาแห่งรัฐ ซึ่งจำต้องอุดให้เรียบร้อยและซ่อมแชมใหม่จึงจะได้รัฐนาวาอันจะสามารถโต้คลื่นลมไปได้โดยปลอดภัย ในขณะที่ห้วงทะเลการเมืองของโลกมีการผันแปรกันอยู่เสมอเช่นบัดนี้ สิ่งเหล่านี้ผู้นำของรัฐได้รู้สึกและรับเร่งในการจัดทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ผลของงานอันจำต้องกระทำอย่างระมัดระวังรอบคอบ จะบังเกิดขึ้นในทันที่ทันใดหาได้ไม่ เราต้องมีความมานะพากเพียรและอดทน การร่วมมือกันทั้งรัฐบาลและราษฎรประกอบด้วยความเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งอันจำเป็นยิ่ง ซึ่งจะยังความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้

ไทยเป็นประเทศกสิกรรมมาแล้วช้านาน และแม้ในเวลาต่อไปการกสิกรรมก็ยังต้องเป็นกระดูกสันหลังของเราอยู่ แต่เรากำลังส่งเสริมให้การอุตสาหกรรมเป็นกำลังของเราอีกกำลังหนึ่ง อันงานอุตสาหกรรมนั้นย่อมต้องการโรงงานและสัมภาระดิบเป็นสำคัญ ปัญหาสำคัญก็คือเราต้องใช้สัมภาระดิบซึ่งมีในประเทศเพื่อป้อนโรงงานที่จะตั้งขึ้น ประการหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้มีอาชีพ เช่น โรงทำน้ำตาลต้องการอ้อย เมื่ออุตสาหกรรมทำน้ำตาลเกิดขึ้นแล้ว ประชาชนก็ย่อมปลูกอ้อยเป็นอาชีพ สำหรับส่งให้แก่โรงงาน อีกประการหนึ่งคือเราไม่ต้องหวังพึ่งคนอื่นเขา เป็นต้นว่าเราทำสุราจากน้ำอ้อย (Molasses) เมื่อโรงงานทำน้ำตาลของเรายังไม่เกิดขึ้น เราก็ไม่มีปริมาณน้ำอ้อยพอสำหรับใช้กับโรงงานทำสุรา จำเป็นต้องซื้อมาจากต่างประเทศ ถ้าเขาเกิดไม่ขายให้หรือขายให้ด้วยราคาแพงจนเรารับซื้อไม่ได้ การทำสุราของเราก็จำต้องหยุดชะงัก แต่ถ้าเรามีโรงงานทำน้ำตาลเอง เราก็มีน้ำอ้อยอันเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากโรงงาน ทำน้ำตาลเพื่อนำไปใช้ในการทำสุราอีกต่อหนึ่ง ไม่จำต้องพึ่งประเทศอื่น นอกจากปริมาณที่ต้องการจะยังไม่มีพอ ดั้งนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า เมื่อจะทำโรงงานอุตสาหกรรมอย่างใดขึ้น เราจำต้องคิดหาสัมภาระดิบอันเกิดภายในประเทศใช้ รัฐบาลไม่มีนโยบายจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นเพื่อซื้อสัมภาระดิบจากต่างประเทศล้วนๆ มาดัดแปลงเป็นสัมภาระสำเร็จขึ้นเลย

โรงงานทอผ้าไทยได้เกิดขึ้นก็เพราะเราแน่ใจว่าไทยสามารถจะปลูกฝ้ายเป็นสัมภาระดิบเลี้ยงโรงงานได้ และไม่ว่าที่ไหน แม้ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นมีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มากก็เพราะมีแมนจูเรียเป็นบ่อกำเนิดของสัมภาระดิบ ทำนองเดียวกัน อังกฤษก็มีอินเดีย และประเทศราชอื่นๆ ซึ่งอยู่ในความปกครองเป็นแดนกำเนิดของสัมภาระดิบ ลำพังญี่ปุ่นหรืออังกฤษโดยฉะเพาะมีเนื้อที่เล็กนิดเดียว แต่มีพลเมืองหนาแน่นจะกระทำการอุตสาหกรรมมากมายใหญ่โตโดยปราศจากสัมภาระดิบจากประเทศเมืองขึ้นของตนหาได้ไม่

เมื่อเราจะทำการอุตสาหกรรม เป็นต้นว่าเรามีโรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น โดยตระหนักว่าจะต้องใช้สัมภาระดิบอันเกิดภายในประเทศแล้ว ปัญหาสำคัญต่อไปก็คือต้องศึกษาว่า ปริมาณของสัมภาระนั้นๆ จะมีพอแก่การที่จะป้อนโรงงานหรือไม่ และจะทำการปลูกเพาะขึ้นเองให้พอแก่ความต้องการได้เพียงใด และยังต้องการศึกษาต่อไปอีกว่าสัมภาระดิบนั้นๆ มีคุณภาพอันจะใช้ในโรงงานได้หร่อไม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นในการตั้งโรงงานทอผ้า เราก็ต้องพิจารณาในปัญหาเรื่องฝ้ายว่าจะมีปริมาณพอใช้หรือไม่ ถ้ายังไม่พอจะแนะนำให้ราษฎรปลูกหรือขยับขยายอย่างไรและฝ้ายนั้นมีคุณภาพดีพอใช้หรือไม่ ถ้ายังไม่ดีจะต้องแก้ไขอย่างไร ? ทำนองเดียวกัน ในการที่กรมวิทยาศาสตร์ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเภสัชกรรมอันมีจุดประสงค์ว่าจะทำยา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ขึ้นเองนั้น ก็จะกระทำเป็นขั้นๆ คือ ศึกษาและตรวจสัมภาระดิบอันจะใช้เป็นตัวยา พิจารณาปริมาณที่จะหาได้ ประกอบขึ้นเป็นตัวยา และตรวจยาที่ได้ประกอบขึ้นแล้วว่าจะเข้าในมาตรฐานแห่งเภสัชตำรับหรือไม่

ในการพิจารณาทุกๆ ระยะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิชาวิทยาศาสตร์ คือนับตั้งแต่การพิจารณาคุณภาพของสัมภาระดับและการแก้ไขให้ดีพอแก่ความต้องการ ตลอดจน การควบคุมการทำภายในโรงงานด้วย

ปัญหาต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว แม้จะนับว่าสำคัญ แต่ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับอีกปัญหาหนึ่งซึ่งเรายังแก้ไม่ตก ถ้าจะไล่ชักกันไปทีละข้อก็จะได้ดั้งนี้ ทำไมเราจึงไม่ประดิษฐ์สินค้าขึ้นใช้เองในประเทศ ? ตอบว่า เพราะเรายังไม่มีโรงงาน ทำไมเราจึงไม่ตั้งโรงงาน ? ตอบว่า เพราะเรายังไม่ได้สำรวจและศึกษาคุณภาพของสัมภาระดิบที่จะใช้ป้อนโรงงาน ทำไมเราจึงไม่สำรวจและ ศึกษาคุณภาพของสัมภาระดิบเหล่านั้น ? ตอบว่า เพราะเราไม่มีคน

เมื่อพูดว่าเราไม่มีคน ผู้อ่านและคนทั้งหลายคงจะร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันเป็นของแก้ตัวที่ง่ายๆ และน่าขบขันอะไรเช่นนั้น” แต่ขอยืนยันว่าที่กล่าวดั่งนี้มิได้มีสิ่งใดที่เกินไปจากความจริงเลยแม้แต่น้อย ผู้เขียนได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาการสร้าง และจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ หลายแห่งของรัฐบาล และได้พบกับปัญหาที่ขบไม่ค่อยแตก คือปัญหาเรื่องคนนี้อยู่เสมอ

จะขอเล่าเรื่องจริงเท่าที่ได้ผ่านมาให้ทราบเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลดำริจะสร้างโรงงานใหญ่ขึ้นแห่งหนึ่ง เมื่อมีการพิจารณาในการก่อสร้างโรงงานนี้แล้ว ก็มีห้างชาวต่างประเทศห้างหนึ่งรับจะเป็น ผู้สร้างโรงงานและขายเครื่องจักรรายนี้ ปัญหาสำคัญได้เกิดขึ้นว่า เราจะได้คนไทยจากไหนมาทำงานในโรงงานนี้ หมายความว่าผู้ที่มีความรู้สามารถจะควบคุมเครื่องจักรและควบคุมการกระทำทุกๆ ระยะโดยหลักวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะงานที่เราจะจัดทำนี้เป็นของใหม่ไม่มีผู้ใดชำนาญมาก่อนเลย ฝ่ายห้างต่างประเทศนั้นก็เสนอว่าเราจำเป็นต้องส่งคนไปเรียนในประเทศที่จะขายเครื่องจักรนี้เสียก่อน เมื่อเรียนสำเร็จแล้วเขาก็จะได้มอบโรงงานให้เราดำเนินการเองต่อไป เขาขอให้เราส่งคนไปหลายสิบคน แต่เราก็ตันใจด้วยจะหาคนที่มีพื้นความรู้พอจะไปเรียนงานนี้ให้ได้ผลสักสิบคนก็ไม่ได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันได้กล่าวไว้โดยทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนศกนี้แล้วมา ตอนหนึ่งว่า “ปัญหาเรื่องการขาดคนนี้ ได้เกิดขึ้นเมื่อเราได้ตื่นตาไหวตัวขึ้นจากผลของระบอบใหม่ และเมื่อไหวตัวขึ้นแล้วก็รู้สึกว่ามีกิจการมากหลายซึ่งขาดความเอาใจใส่แต่เดิมมา อันจะต้องรีบเร่งขยายและทำ จึงทำให้เกิดการขาดคนขึ้น ความบกพร่องข้อนี้รัฐบาลได้ตระหนัก และกำลังพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ลุล่วงไปโดยเร็ว ดั่งได้ปรากฏในเรื่องการขยายการศึกษาของกระทรวงธรรมการอย่างรีบเร่ง การวางวิธีการเพื่อปลุกข้าราชการและประชาชนให้ศึกษาอบรมให้เกิดความรู้ความสามารถ การส่งข้าราชการไปดูกิจการในต่างประเทศ แต่ถึงแม้จะมีความต้องการคนอย่างรีบเร่งเช่นนี้ก็ดี รัฐบาลก็ไม่สามารถจะสร้างคนขึ้นมาได้ภายในเวลาอันน้อยเหมือนกันเพราะการสร้างผู้มีความรู้ความชำนาญนั้นมิใช่เป็นของง่าย จะต้องอาศัยเวลาเป็นข้อสำคัญอยู่”

งานอุตสาหกรรมจะเป็นงานสำคัญของประชาชาติในอนาคต และงานอุตสาหกรรมกับวิทยาศาสตร์ จะต้องไปด้วยกันเสมอ อนึ่ง ไม่แต่ในทางอุตสาหกรรมเท่านั้น แม้ในกิจการอื่นๆ ก็ต้องการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยเหมือนกัน ผู้เขียนขอเสนอเป็นเรื่องด่วนให้ชาวเราจงพากันเอาใจใส่ในวิชาวิทยาศาสตร์ ศึกษาวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้มาร่วมมือกันสถาปนาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประชาชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเรานั้น

ในขณะที่เรากำลังขาดคน กำลังเพาะคน กำลังต้องการคนอยู่นี้ เราได้ปล่อยอารมณ์ดูดายด้วยการงอมืองอเท้าอยู่หรือ ? มิได้เลย เรากำลังเดินรุดหน้าไป เท่าที่จะไปได้อยู่แล้ว คนของเราซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยในเวลานี้ ต่างได้ให้เวลาของเขาแก่งานประจำซึ่งมีอยู่อย่างล้นมือแล้ว และแก่งานที่กำลังขยายต่อไปอีกด้วย เท่าที่กล่าวมาโดยยืดยาวนี้ ก็เพื่อขอความร่วมมือความเห็นใจ และชักชวนให้มีผู้สนใจศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น

 

ที่มา : ตั้ว ลพานุกรม. “วิทยาศาสตร์ กับ อุตสาหกรรม”, ใน, ที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484. [ม.ป.ท.] : บริษัท การพิมพ์ไทย จำกัด; 2484. น. 76-81.