ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สยามบนทางสองแพร่ง: หนึ่งศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. 130

11
มิถุนายน
2564

แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อ “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากกระบวนการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองกลับเข้าสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ปรากฏผลสำเร็จขึ้นในปี 2435 แต่เพียงราว 2 ปี ภายหลังรัชกาลของพระผู้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพระผู้ทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของสยามได้สิ้นสุดลง (2453) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นพระราชมรดกของพระองค์ได้ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากกระแสความคิดสมัยใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มคนชั้นใหม่ภายในสังคมสยาม

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 130 (2455) [1] รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เข้าจับกุมกลุ่มนายทหารและพลเรือนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

กล่าวอย่างกระชับแล้ว เหตุการณ์ ร.ศ. 130 ที่เกิดเมื่อ 1 ศตวรรษ (2455) นั้น คือ ความพยายามปฏิวัติทางการเมืองครั้งแรกในสยาม เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการปรากฏตัวของความพยายามปฏิวัติทาง การเมืองที่สะท้อนให้เห็นพลังของภาวะสมัยใหม่ที่ผลักดันให้นายทหารรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่เรียกตนเองใน เวลาต่อมาว่า “คณะร.ศ. 130”

พวกเขามีความสำนึกว่า พวกเขาเป็นทหารของชาติและมองเห็นความเสื่อมของการปกครองแบบเดิมจึงต้องการปฏิวัติเพื่อสถาปนาการปกครองอย่างใหม่และผลักดันให้สยาม เคลื่อนสู่ภาวะ “ศรีวิลัย”

ดังนั้น การกระทำของพวกเขาจึงเปรียบเสมือนกองหน้าในการเพรียกหาการปกครอง อย่างใหม่ที่วางอยู่บนอำนาจของประชาชนและหลักการประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค และ การจำกัดอำนาจรัฐให้เกิดขึ้น ในขณะที่เวลานั้น สยามยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ตาม ความพยายามผลักดันให้สยามเคลื่อนตามคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงตามสากลสมัยของพวกเขาประสบความล้มเหลว

ที่ผ่านมามีการศึกษาประวัติศาสตร์ของความพยายามปฏิวัติทางการเมืองในช่วงดังกล่าวหลายชิ้น เช่น ‘แถมสุข นุ่มนนท์’ (2522) มุ่งเน้นการศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏ ร.ศ. 130” ‘อัจฉราพร กมุทพิสมัย’ (2540) ได้ศึกษาการปรับตัวของกองทัพสยามสมัยใหม่ ส่วน ‘กุลลดา เกษบุญชู - มี้ด’ (2003) ได้ศึกษาการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามโดยพินิจไปที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเคลื่อนไปสู่รัฐประชาชาติ ในเวลาต่อมานั้นเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชั้นศักดินากับกลุ่มคนชั้นใหม่ที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก สำหรับ ‘วรางคณา จรัณยานนท์’ (2549)ได้ศึกษาการจัดองค์กรและภาพรวมอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา ตลอดจนการศึกษาของ ‘ณัฐพล ใจจริง’ (2554) ที่ได้ศึกษาเป้าหมายของการปฏิวัติและความคิดทางการเมือง พวกเขาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ของไทย[2]

บทความนี้จะพิจารณาถึงปัญหาของการเคลื่อนสู่ภาวะสมัยใหม่ (Modernity) ของสยามโดยนำหลักฐานพระราชหัตถเลขาและเอกสารเกี่ยวข้องที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดทางการเมืองและพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเอกสาร “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” ที่ถือเป็นแก่นแกนความคิดทางการเมืองของ “คณะร.ศ. 130”[3] มาพิจารณาในประเด็นการเมืองของการเคลื่อนสู่ภาวะสมัยใหม่ของสยามภายใต้รัชสมัยของพระองค์ โดยมุ่งพินิจแง่วิวาทะทางภูมิปัญญาที่แตกต่างกันระหว่าง “พวกหัวเก่า” กับ “พวกหัวใหม่” (The Quarrel Between Ancient and Moderns) ในสยาม

โดยทั้งสองฝ่ายพยายามตีความภาวะสมัยใหม่ที่แตกต่างกัน[4] ฝ่ายหนึ่งมีโลกทรรศน์ที่ชื่นชอบความมีเหตุผลและต้องการที่จะผลักดันสยามให้ก้าวไปสู่ภาวะสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้า มีเสรีภาพและความเสมอภาค โดยความคิดใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสยามนี้ได้เป็นเสมือนหนึ่งอาชญากรรมทางความคิดที่ท้าทายขัดแย้งต่อโลกทรรศน์และความต้องการของคนชั้นปกครองเดิมที่พยายามยื้อยุด ตีความ ปฏิเสธภาวะและการเมืองสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นอันทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจ

 

การพยายามสร้างสภาวะ “ศรีวิลัย” ให้กับสยามของ “คณะร.ศ. 130”

ไม่แต่เพียง คลื่นพลังของภาวะสมัยใหม่ที่พุ่งทะยานสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญในยุโรปตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ได้ถั่งโถมสาดซัดเข้าสู่คาบสมุทรในภูมิภาคเอเชีย ซัดกลบการปกครองอันเสื่อมทรามของจีนโดยราชวงศ์ชิงด้วยการปฏิวัติสาธารณรัฐในต้นศตวรรษที่ 20 (2454) สยามก็เป็นอีกประเทศหนึ่งเช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้

ภาวะ “ความเสื่อมซาม” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่เกิด ณ เวลานั้น ได้กลายชนวนเหตุให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาในสยาม เมื่อนายทหารชั้นผู้น้อยหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้เริ่มพูดคุยกันถึงการสร้าง “สมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน” หรือสภาวะ “ศรีวิลัย” ให้สยามทัดเทียมกับสากลโลก[5] พวกเขาได้เคลื่อนไหวเพื่อทำให้ประกายความฝันของพวกเขากลายเป็นความจริงด้วยการประชุมจัดตั้งคณะนักปฏิวัติ ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “คณะร.ศ. 130”

 

พวกเขาได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายของระบอบการปกครองของสยามในอนาคต วิธีการเปลี่ยนแปลง การขยายแนวร่วม และวันเวลาที่จะลงมือปฏิวัติผลักดันสยามให้มีความก้าวหน้า โดย ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้นำของคณะนักปฏิวัติที่มี เป้าหมายชูธงความเปลี่ยนแปลงสยามไปพร้อมกับขบวนของนานาชาติที่มีความ “ศรีวิลัย” ทั้งปวง

เราสามารถเข้าใจโลกทรรศน์และประเด็นการถกเถียงของที่ประชุมเหล่านักปฏิวัติในครั้งนั้นผ่านหลักฐานร่วมสมัยชิ้นสำคัญ คือ บันทึกที่ชื่อ “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” เอกสารชิ้นนี้เป็นลายมือของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยึดได้จากบ้านของเขาในช่วงแห่งการจับกุม

ภาพ: ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

คาดว่าสาระสำคัญในเอกสารชิ้นนี้ถูกใช้เป็นแนวทางในการอภิปรายถกเถียงกันในที่ประชุมนักปฏิวัติที่กำลังจะตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตทางการเมืองสมัยใหม่ของสยามให้บังเกิดขึ้น แต่แผนการปฏิวัติของพวกเขามิได้ปรากฎขึ้นในสยาม เนื่องจากพวกเขาถูกจับกุมก่อนการลงมือปฏิวัติไม่กี่นาน

สาระสำคัญของบันทึกดังกล่าวนี้ ปรากฏการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของสยามภายใต้โลกทรรศน์สมัยใหม่ที่ต้องการสร้างภาวะ “ศรีวิลัย” ให้กับสยาม อันวางอยู่บนความคิดเสรีนิยม (Liberalism) ที่เชื่อมั่นในหลักการความมีเหตุมีผล (rationality) ความมีเสรีภาพ (liberty) ความเสมอภาค (equality) และการจำกัดอำนาจรัฐ (limited government)

บันทึกดังกล่าวได้ให้ภาพเส้นทางไปสู่ภาวะ “ศรีวิลัย” ของสยามโดยได้แยกแยะให้เห็นว่า การปกครองของโลกขณะนั้นมี 3 แบบ คือ แบบแรก “แอ็บโซลู๊ด มอนากี” ซึ่งเป็นรูปแบบที่สยามปกครองขณะนั้น กับทางเลือกในการปกครองรูปแบบใหม่ระหว่าง “ลิมิตเต็ค มอนากี” กับ “รีปัปลิ๊ก” โดยแนวความคิดทางการเมืองอย่างใหม่ที่ปรากฏนั้นวางอยู่บนความต้องการของพวกเขาที่จะทำให้อำนาจของประชาชนที่อยู่เบื้องล่างลอยขึ้นไปสถิตอยู่เบื้องบนแทนแบบเดิมและการจำกัดอำนาจรัฐมิให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตอันกระทบต่อเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ 

อาจเป็นเรื่องปกติที่การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องเผชิญหน้ากับทางสองแพร่งของเป้าหมาย แผนการปฏิวัติของ “คณะ ร.ศ.130” ก็ตกอยู่บนทางสองแพร่งที่สำคัญระหว่างการปฏิวัติที่กระทำเพียงครึ่งทางซึ่งเป็นการประนีประนอมเพื่อการสถาปนาระบอบ “ลิมิเต็ด มอนากี” กับอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การปฏิวัติไปให้สุดทางซึ่งถือเป็นการถอนรากถอนโคนการปกครองระบอบ “แอ็บโซลู๊ด มอนากี” เพื่อการสถาปนาระบอบ “รีปัปลิ๊ก” ขึ้นแทน

ทางสองแพร่งของการปฏิวัตินี้ นำไปสู่การถกเถียงกันในที่ประชุมอย่างกว้างขวางซึ่งนำไปสู่การแกว่งไปมาของความคิดระหว่างแนวทางประนีประนอม และแนวทางถอนรากถอนโคนขึ้นเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอถึงรูปแบบการปกครองชนิดใหม่ให้กับสยามที่ไม่มีพื้นที่ให้กับผู้ปกครองแบบจารีตอีกต่อไป

จากบันทึกความทรงจำที่หลงเหลืออยู่นั้น พวกเขาบันทึกว่า มติที่การประชุมครั้งแรกๆที่พวกเขา ร่วมกันกำหนดอนาคตของการปกครองสยามนั้น สมาชิกกลุ่มที่สนับสนุนแนวถอนรากถอนโคนมีชัยเหนือแนว ประนีประนอม สมาชิกบางคนของ “คณะร.ศ. 130” ได้บันทึกบรรยากาศในประชุมเมื่อครั้งนั้นว่า

“ที่ประชุม เอนเอียงไปในระบอบแผนการปฏิวัติของประเทศจีน เนื่องจาก [จีน] มีฐานะและสภาพไม่ต่างจากเรา [สยาม] ”[6]

สอดคล้องกับ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ หนึ่งในสมาชิกได้ย้อนความทรงจำว่า แนวทางในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง ปกครองของพวกเขาได้แบบจากจีน แต่แนวความคิดในการปกครองได้มาจากตะวันตก[7]

จากการศึกษาหลักฐานคำให้การของพวกเขาภายหลังการถูกจับกุมพบว่า สมาชิกที่ “โหวต” ให้การปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคน ประกอบด้วย ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์  ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์  ร.ท.จรูณ ณ บางช้าง  ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์  ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์  ร.ต. เขียน อุทัยกุล  ร.ต. วาส วาสนา  พ.ต. หลวงวิฒเนศประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช) ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ และ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นต้น[8]

พวกเขาได้ให้เหตุสนับสนุนการปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคนในการประชุมลงมติในครั้งนั้น ดังนี้ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง) ผู้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติให้เหตุผลว่า สยามเหมาะกับการปกครองแบบ “รีปัปลิ๊ก” มากกว่า “ลิมิเต๊ด มอนากี” เนื่องจาก หากสยามปกครองแบบ “ลิมิเต๊ด มอนากี” กษัตริย์อาจกลับไปอยู่เหนือกฎหมายแบบเดิม ได้อีก

‘ร.ท. จรูญ’ สนับสนุนว่า ระบอบ “รีปัปลิ๊ก” มีคุณต่อสยามมากกว่า “แอบโซลู๊ด มอนากี” ดังนั้น สยามควรมีการปกครองแบบ “รีปัปลิ๊ก” เฉกเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือจีน และทหารควรรักชาติและกตัญญูต่อชาติสูงสุด เขาต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามต้องทำอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันมิให้เกิด การหมุนกลับไปสู่ระบอบเดิมอีก

‘ร.ต.วาส’ สนับสนุนการปกครองแบบ “รีปับลิ๊ก” เพราะประชาชน สยามมีอำนาจสามารถถอดถอนผู้ปกครองได้ อีกทั้ง ประชาชนไม่ต้องใช้ราชาศัพท์และประหยัดงบประมาณ ในการบริหารประเทศเนื่องจากราชสำนักใช้งบประมาณมาก เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป เหตุผลของกลุ่มที่ต้องการปฏิวัติไปให้สุดทางนั้น เนื่องจากพวกเขาต้องการทำให้ประชาชนสยามมีความเสมอภาคอย่างแท้จริง และเป็นการเปลี่ยนแปลงสยามไปสู่สังคมที่ “ไม่มีใครเป็นค่าเจ้าบ่าวนาย” อีกต่อไป เนื่องจากระบอบใหม่ชนิดนี้ ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครอง โดยระบอบใหม่ชนิดนี้จะทำให้สยามมีความก้าวหน้ามากกว่าและไม่ต้องกังวลกับการที่สยามหวนกลับไปปกครองตามระบอบเดิมได้อีกต่อไป

ในขณะที่ เหตุผลกลุ่มสนับสนุนแนวทางประนีประนอมให้เหตุผลว่า ประชาชนสยามยังคง “โง่เขลา” ดังนั้น สยามจึงเหมาะกับระบอบ “ลิมิเต็ด มอนากี” มากกว่า เนื่องจาก กษัตริย์มีพระเดชพระคุณเหนือประชาชนจะทำให้สยามมีความเจริญ และพวกเขา

“ไม่ต้องการให้เกิดความชอกช้ำมากเกินไป [จนทำให้] ฝ่ายที่ถูกชิงอำนาจก็จะไม่เคียดแค้นถึงกับทำตัวเป็นศัตรูอยู่ตลอดกาล”[9]

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเมื่อคณะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทให้เกิดกลุ่มประนีประนอมมีมากขึ้นด้วยเช่นกันส่งผลให้การประชุมครั้งสุดท้ายก่อนการลงมือปฏิวัติที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนไปในทาง “ลิมิเต็ด มอนากี” มากกว่าทาง “รีปัปลิ๊ก” เพียงเล็กน้อย[10]

ในที่สุด ที่ประชุมได้ตกลงยืนมตินั้น และได้มีการเตรียมแผนการลงมือปฏิวัติเพื่อสร้างภาวะ “ศรีวิลัย” ให้กับสยาม ในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในเดือนเมษายน 2455 แต่ทว่า การดำเนินการปฏิวัติแบบประนีประนอมตามที่สมาชิกตกลงกันนั้นก็หาได้เกิดขึ้นบนสยาม เนื่องจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้จับกุมเหล่านักปฏิวัติก่อนลงมือ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน”

ไม่กี่วันต่อมาเมื่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ตัดสินลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรงซึ่งมีอัตราโทษตั้งแต่การประหารชีวิต การจำคุกตลอดชีวิตจนถึงจำคุก 12 ปี สมาชิกแกนนำคนหนึ่งที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตได้บันทึกถึงความมั่นคงในความคิดของเขาก่อนถูกส่งตัวไปลงทัณฑ์ว่า

“เมื่อเป็นฝ่ายแพ้อำนาจก็ต้องตายหรือรับทัณฑ์ แต่เมื่อวิญญาณของประชาธิปไตยยังไม่ตาย ลัทธิประชาธิปไตยก็คงคลอดภายในแผ่นดินไทยได้สักครั้งเป็นแน่”

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงลดหย่อนโทษและอภัยโทษพวกเขาในปลายรัชกาล

 

วิวาทะของ“พวกหัวเก่า” กับ “พวกหัวใหม่” ว่าด้วย Civilization: ความเสื่อม ฤาความก้าวหน้า

แม้ความพยายามปฏิวัติของ “คณะร.ศ. 130” ที่จะนำพาสยามไปสู่ภาวะ “ศรีวิลัย” จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่มิได้หมายความว่าจินตนาการถึงภาวะอุดมคติของพวกเขาจะปราศจากคุณค่าในการศึกษา จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องระหว่างฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาพเดิมกับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทำให้เราสามารถตีความขัดแย้งทางความคิดในความพยายามปฏิวัติครั้งนั้นได้ว่า มีความคล้ายคลึงกับการเผชิญหน้า กันระหว่าง “พวกหัวเก่า” (Ancient) ที่ต่อต้านภาวะสมัยใหม่กับ “พวกหัวใหม่” (Modern) ที่เชื่อมั่นในภาวะสมัยใหม่อันเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของยุโรป

วิวาทะระหว่าง “พวกหัวเก่า” กับ “พวกหัวใหม่” เป็นความขัดแย้งทางภูมิปัญญาระหว่าง “พวกหัวเก่า” ที่เชื่อว่าภูมิปัญญาของมนุษยชาติในอดีตได้ค้นพบ “ความจริง” อันประเสริฐในยุคโบราณแล้ว ไม่จำเป็นต้องแสวงหาของใหม่ใดๆ อีก “ความจริง” อันประเสริฐมีเกี่ยวพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาและเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่แตกต่างกันหรือความไม่เสมอภาคกันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ “พวกหัวใหม่” กลับเห็นว่า “ความจริง” จะถูกค้นพบได้มากขึ้นในอนาคตด้วย ความสามารถของมนุษย์ ด้วยความเชื่อมั่นในสติปัญญา ความเป็นเรื่องทางโลก (secularity) ความมีเหตุมีผล (rationality) ของมนุษย์และวิทยาศาสตร์จะนำพามนุษย์ไปสู่ภาวะที่มีความก้าวหน้า (progress) อย่างไม่สิ้นสุด

ภาวะดังกล่าว มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเสมอภาคกัน (equality) ด้วยเหตุนี้ “พวกหัวใหม่” จึงมิอาจทนต่อภาวะหยุดนิ่งและความไม่เสมอภาคให้ปรากฏอยู่บนโลกได้ส่งผลให้พวกเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความต้องการเปลี่ยนแปลงโลกให้เคลื่อนไปข้างหน้า

ดังนั้น หากพิจารณาในความคิดทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายแล้ว “พวกหัวเก่า” เชื่อในความสามารถของอภิชน และอำนาจในการปกครองย่อมสถิตอยู่ที่เบื้องสูงตามจารีตการปกครองแบบโบราณ

กล่าวให้ถึงที่สุด คือ พวกเขาชื่นชมในการปกครองโดยกษัตริย์ หรือชนชั้นสูงผู้ทรงภูมิปัญญา ในขณะที่ “พวกหัวใหม่” กลับปฏิเสธการปกครองโดยอภิชนตามจารีต แต่กลับชื่นชมในการปกครองสมัยใหม่ที่มีที่มาแห่งอำนาจมาจากเบื้องล่างหรือจากมวลชนที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม พวกเขาเชื่อว่าระบอบการเมืองที่มีรากฐานจากอำนาจเบื้องล่างเป็นสิ่งที่พึงสถาปนาขึ้นและภาวะที่จะเกิดขึ้นอนาคตมีความก้าวหน้ามากกว่าอดีต

หากนำแก่นแกนการวิวาทะข้างต้นมาพิจารณาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การพยายามปฏิวัติ ร.ศ.130 แล้ว จะพบว่า พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์งานขึ้นหลายชิ้น หลังเหตุการณ์ความพยายามปฏิวัติร.ศ.130 ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราชดำริคล้ายคลึงกับวิวาทะข้างต้นในฝ่าย “พวกหัวเก่า”[11] โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจของพระองค์ หรือ กลับหัวกลับหางที่มาแห่งอำนาจ หรือการทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และแทนที่ด้วยระบอบ “รีปัปลิ๊ก” ตลอดจนการทำลายจารีตการถือครองทรัพย์สินของ“โสเชียลลิสต์” นั้น ทรงแสดงพระราชดำริโต้แย้ง “โสเชียลลิสต์” ด้วยการทรงพาหวนกลับไปยังแหล่งอ้างอิงในอดีต ไม่ว่าอาณาจักรสุโขทัย ศาสนาและตำราโบราณเก่าแก่ (ancient book) เช่น ทรงไม่เห็นว่า “โสเชียลลิสต์” เป็น “ของใหม่” ที่จะนำไปสู่การสร้าง “สยามใหม่” (Modern Siam) แต่อย่างใด หากแต่จะนำไปสู่ความเสื่อมมากกว่า

สำหรับ “ของใหม่” ที่เรียกกันว่า “โสเชียลลิสต์” นั้น ทรงพระบรมราชวินิจฉัยว่า แท้จริงแล้ว “โสเชียลลิสต์” คือความคิดเก่าที่พบได้ในตำราเก่าแก่โบราณของสยามที่ชื่อ “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพุทธศาสนาที่ถูกแต่งขึ้นโดยกษัตริย์นักปราชญ์แห่งอาณาจักรสุโขทัยเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา

ในตำราเก่าแก่โบราณนี้ ได้กล่าวถึงภาวะอุดมคติที่เรียกว่า ดินแดน “อุตรกุรุ”  ที่ผู้คนไม่ต้องทำงาน เนื่องจากมีต้นกัลปพฤกษ์ ดลบันดาลให้หมดทุกอย่าง รวมทั้งทรงยกประเด็นศีลธรรม และระเบียบของสังคมขึ้นมาพิจารณาว่า การที่ชายและหญิงที่อยู่ในดินแดนนี้อยู่กินกันเพียง 7 วันแล้วเลิกร้างกันไปและพ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยงดูบุตรภาวะดังกล่าวนั้น พระองค์ทรงตั้งคำถามเทียบเคียงกับภาวะอุดมคติของ “โสเชียลลิสต์” ที่มีนัยว่า ภาวะนั้นเป็นภาวะความเจริญจริงๆ หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ พระองค์ทรงตั้งคำถามต่อ “ของใหม่” ที่คล้ายคลึงกับ “พวกหัวเก่า” ที่เชื่อว่า ตำราอันเก่าแก่โบราณของพุทธศาสนาได้กล่าวถึงภาวะความเสื่อมดังกล่าวนานมากแล้ว และไม่มี “ของใหม่” แท้จริงใดที่ไม่มีรากฐานจาก “ของเก่า” ดังนั้น จึงไม่มี “ของใหม่” ใดที่น่าตื่นเต้น[12] พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเรียกชาวสยามที่ต้องการภาวะสมัยใหม่ตามสากลโลกว่า “พวกบ้าของใหม่” (New Mania) โดยคนเหล่านี้เป็นพวกที่นิยมชมชอบในภาวะความเสื่อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าตามคำทำนายในตำราเก่าแก่โบราณ

ความแตกต่างกันของการมองไปข้างหน้าในประเด็นภาวะ Civilization ของสยามระหว่าง “พวกหัวเก่า” กับ “พวกหัวใหม่” คือ ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันในคุณลักษณะของภาวะดังกล่าวว่าเป็นเช่นไรกันแน่ ระหว่างความเสื่อมหรือความเจริญก้าวหน้า และสยามควรเดินไปสู่ทิศทางใดนั้น ภาวะดังกล่าวได้กลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างผู้ที่หวาดวิตกในความเปลี่ยนแปลงกับผู้ที่ชื่นชอบความก้าวหน้าของการเปลี่ยนไปแห่งสยาม

การติดตามความเข้าใจของ “คณะร.ศ. 130” ที่มีต่อความหมายของคำว่า Civilization นั้น เราสามารถเข้าใจความคิดของพวกเขาได้จากบันทึก “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” พวกเขาใช้ทับศัพท์ด้วยคำว่า “ศรีวิลัย” โดยในบันทึกได้กล่าวถึงภาวะดังกล่าวในความหมายเชิงบวกว่า

“ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใด รู้จักจัดการปกครองดี โดยใช้กฎหมายแลแบบธรรมเนียมที่ยุติธรรมซึ่งไม่กดขี่และเบียดเบียนให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประเทศนั้นก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองแลศรีวิลัยยิ่งขึ้นทุกที เพราะราษฎรได้รับความอิศรภาพเสมอหน้ากัน ไม่มีใครที่จะมาเป็นเจ้าสำหรับกดคอกันเล่นดังเช่นประเทศซึ่งอยู่ในยุโหรปแลอเมริกา…”

ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ศรีวิลัย” ของพวกเขาจึงหมายถึงภาวะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมสยามอย่างลึกซึ้งที่ทำให้ชาวสยามทุกคนมีเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่มีความสูงต่ำในสังคมอีกต่อไป ภาวะใหม่นี้จะเคลื่อนพ้นไปจากภาวะเดิมที่ดำรงอยู่ไปสู่ความเจริญให้กับสยามเหมือนดั่งสากลโลก

แต่ในทางกลับกันพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีจินตนาการถึงภาวะข้างต้นสวนทางกับจินตนาการของ “คณะร.ศ. 130” พระองค์ทรงใช้ทับศัพท์ด้วยคำว่า “ซิวิไลซ์" ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยความหมายของคำว่า “ซิวิไลซ์” ในความหมายเชิงลบ กล่าวคือ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ภาวะดังกล่าวจะนำมนุษย์ไปสู่ความตกต่ำเสื่อมทรามทั้งคุณธรรมและจริยธรรม [13] ภาวะเสื่อมทรามดังกล่าวเกิดจาก “โทษของความเจริญตามแบบแผนยุโรป”

เนื่องจาก คนสยามคบหาสมาคมกับชาวยุโรปจึงเลียนแบบ “ความประพฤติชั่วจากชาวยุโรปมามากแล้วหลายประการ ที่แลเห็นถนัด คือ ในทางกินเหล้าจัดอย่าง ๑ การเที่ยวเล่นผู้หญิงอีกอย่าง ๑ จริงอยู่ ความชั่ว ๒ ประการนี้ ไม่ใช่เปนที่เกิดขึ้นใหม่ ถึงในเวลาก่อนๆก็เคยมีอยู่แล้ว แต่ต้องนับว่าเปนส่วนน้อยและ ไม่สู้เห็นปรากฎมากเช่นสมัยนี้...แต่มาในชั้นหลังๆนี้ เมื่อได้คบค้ากับชาวยุโรปมากขึ้นและเมื่อคนไทยที่ไป เรียนที่ประเทศยุโรปกลับมามากขึ้น ชักจูงให้คนไทยประพฤติเมาเหล้าและเปนคนเล่นผู้หญิงมากขึ้น โดยอ้างว่าเปนของเก๋ เปนคน ‘ซิวิไลซ์’ อย่างฝรั่ง เรื่องนี้ทำให้เราวิตกอยู่มาก เพราะถ้าปล่อยให้เปนไปเช่นนี้แล้วก็แลเห็นอยู่ถนัดว่า ชาติไทยกำลังจะเดินไปสู่ทางพินาศฉิบหายแน่แล้ว...”[14]

ในสายพระเนตรของพระมงกุฎเกล้าฯ “พวกหัวใหม่” หรือ คน “ซิวิไลซ์” คือ ผู้ตกต่ำทางคุณธรรมและจริยธรรม คนเหล่านี้เป็นพวกคนขี้ขลาด พระองค์ทรงอรรถาธิบายคนชนิดนี้ว่าเป็นพวก “ขุดอุโมงค์วางดินระเบิดมากกว่าการประจัญบานด้วยดาบปลายปืนหรือยิงต่อสู้ด้วยปืนใหญ่” ทรงเห็นว่า “พวกหัวใหม่” มีพฤติกรรมและความคิดหยุมหยิม

นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระบรมราชวิจารณ์คุณค่าของ “พวกหัวใหม่” ว่า มิอาจเปรียบได้กับวีรกรรมของเหล่ากษัตริย์ในอดีต เช่น พระร่วงและพระเจ้าอู่ทองที่ทรงไม่ยอมสยบต่อขอม หรือพระนเรศวรผู้กู้เอกราช หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่ทรงสถาปนากรุงเทพฯ[15] ตลอดจนทรงมีพระบรมราชวิจารณ์การนำเข้าความคิดทางการเมืองจากต่างประเทศของ “พวกหัวใหม่” ชาวสยามว่า คนเหล่านี้เป็นพวก “ลัทธิเอาอย่าง” ความว่า “ลัทธิเอาอย่างมีอยู่แพร่หลายในสยามประเทศเรา มีรากเง่าฝังอยู่มาช้านาน...เมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอสารภาพเสียต่อท่านโดยตรงว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งซึ่งรู้สึกว่าเบื่อหน่ายในลัทธิเอาอย่างนี้มานานแล้ว...” สุดท้ายแล้วทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ผู้ใดที่เอาอย่างฝรั่งนั้นทรงเห็นว่าผู้นั้นเป็นเสมือน “ลูกหมา” ให้ฝรั่งเขาตบหัวเอ็นดู[16]

ดังนั้น โลกทรรศน์และการเสนอข้อโต้แย้งของพระมงกุฎเกล้าฯ มีความคล้ายคลึงกับ “พวกหัวเก่า” ที่ลักษณะต่อต้านภาวะสมัยใหม่อันเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงมีพระบรมราชวิจารณ์ชาวสยามผู้ “ซิวิไลซ์ยิ่ง” (highly civilized) และมีความต้องการความทันสมัย (up-to-date) ผู้ที่แสดงความเย้ยหยันต่อ “ของเก่า” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนแก่ จารีตโบราณ สถาบันจารีต และความคิดจารีตให้มีตกต่ำด้อยค่าว่า คนเหล่านี้เป็น “พวกบ้าของใหม่” (New Mania) ที่มีอาการของ “โรคบ้าของใหม่” (New Mania Plague) พระองค์ทรงพระบรมราชวินิจฉัยอีกว่า ในโลกนี้ไม่มี “ของใหม่” ในสารัตถะใดนอกจากเพียงชื่อเท่านั้นที่ใหม่ แต่ “ของเก่า” มีประโยชน์มากกว่า “ของใหม่” นอกจากนี้ ในสายพระเนตรของพระองค์ทรงเห็นว่า “พวกบ้าของใหม่” มีอาการของโรคเรียกร้องการปฏิรูปสังคม และชอบอ้างว่า พวกเขาเป็นผู้รักมนุษยชาติหรือเป็นผู้หยั่งรู้การฟื้นฟูชาติ ทรงมีพระราชวิจารณ์คนเหล่านี้ว่าเป็นเพียงพวกนักปลุกระดมมวลชน (demagogues) เท่านั้น[17]

ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นประมุขของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงประทับอยู่บนจุดสูงสุดของปิรามิดทางการเมืองของสยาม ผู้ทรงทอดพระเนตรลงมาเห็นความเป็นไปของพสกนิกรในราชอาณาจักรของพระองค์ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยคุณลักษณพสกนิกรของพระองค์ว่าเป็นโรคริษยาที่ “ …ฝังอยู่ในสันดานคนไทยหลายชั่วมาแล้ว... ”[18]

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ต่อต้าน ‘ซิวิไลซ์’ ความว่า “เรานี้ก็กลัวโรค ‘ซิวิไลซ์’ นี้ และยิ่งกว่าโรคอื่น ไทยเรายังมิทันจะได้ทลึ่งขึ้นไปเท่าเทียมเขา เราจะมาเริ่มเดินลงเสียแล้วฤา อย่างไรๆก็จะยอมนิ่งไม่ได้...ต้องพยายามแก้ไขต่อสู้โรคนั้นจนเต็มกำลัง...”

แม้พระองค์มีแนวพระราชดำริในการสร้าง “ชาติ” แต่ความหมายของคำว่า “ชาติ” ของพระองค์จำกัดเฉพาะเพียงผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์เท่านั้น[19] ส่งผลให้การสร้าง “ชาติ” ด้วยการใช้เสือป่าของพระองค์กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจาก “คณะร.ศ. 130” จนทำให้ทรงมีพระราชวิจารณ์ตอบโต้ว่า

“อ้ายพวกคิดกำเริบกลับยกเอาไปอ้างเปน พยานอัน ๑ แห่งความที่เรากดขี่ข่มเหงคนไทย...มีผู้หน้าด้านพอที่จะแสดงมาแล้วก็ยังมีอีกหลายข้อ เช่น ข้อที่ว่าฝึกหัดมากเกินไปและไปซ้อมรบมีความเหน็จเหนื่อยฉนี้เปนต้น”

 

อีกทั้งทรงมีพระบร ราชวินิจฉัยเพิ่มเติมถึงความพยายามปฏิวัติ ร.ศ.130 ว่า

 

ชาติไทยเรามีความเน่าเปื่อย มีโรคร้ายเข้ามาแทรกอยู่ คือ โรคฤศยาซึ่งกันและกันในการส่วนตัวและพวกพ้อง แม้อ้ายพวกฟุ้งสร้านซึ่งคิดการกำเริบนั้น ก็มีฤศยาส่วนตัวนั้นเปนพื้น และเปนแม่เหล็กเครื่องฬ่อให้คนนิยมในความคิดของมันมาก...” [20]

 

ดูประหนึ่งว่าแม้พระมงกุฎเกล้าฯ จะทรงพยายามโปรยหว่านเมล็ดพันธ์แห่งความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและในกองทัพ แต่ปราฏว่า นายทหารใน “คณะร.ศ. 130” กลับประกอบขึ้นจากนายทหารที่สังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์หลายหน่วยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของนักปฏิวัติในครั้งนั้น เช่น ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์  ร.ต. วาส วาสนา  ร.ต. บุญ แตงวิเชียร สังกัดกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์  ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. ปลั่ง บูรณโชติ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ สังกัดกองปืนกลที่ 1 รักษาพระองค์ ร.ต. อาจ  ร.ต. บรรจบ สังกัดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ร.ต. ลี้  ร.ต. แฉล้ม  ร.ต. สอน สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ร.ต. นารถ  ร.ต. ประยูร  ร.ต. ช่วง สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เป็นต้น[21]

ดังนั้น คำถามจึงเกิดขึ้น คือ "เกิดอะไรขึ้นกับความคิดของนายทหารในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

 

การปะทะกันของความคิดทางการเมืองบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสยาม

ไม่แต่เพียง ความเข้าใจการตีความหมายที่แตกต่างกันของผู้มีโลกทรรศน์แบบ “พวกหัวเก่า” และ “พวกหัวใหม่” ครั้งนั้นผ่าน “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” ของ “คณะร.ศ. 130” [22]  กับ พระราชนิพนธ์หลายชิ้นของพระมงกุฎเกล้าฯ ที่เปิดฉากการวิวาทะจนทำให้เราสามารถเข้าใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังแรงผลักดันกับแรงเหนี่ยวรั้งสยามบนคลื่นของความเป็นสมัยใหม่เท่านั้น แต่เรายังสามารถเข้าใจความขัดแย้งของความคิดทางการเมืองระหว่างความคิดเสรีนิยม (Liberalism) กับอนุรักษนิยม (Conservative) ที่ปรากฏบนแผ่นดินสยามเมื่อ 1ศตวรรษที่แล้วได้ด้วยเช่นกัน[23]

ความคิดทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ใน “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” ของ “คณะร.ศ. 130” นั้นได้วิจารณ์การปกครองแบบ “แอ็บโซลู๊ด มอนากี” ว่าเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของสยาม เนื่องจากกษัตริย์มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย

 

“กระษัตริย์จะทำชั่วร้ายอย่างใดก็ทำได้” จะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้รับความทุกได้ทุกประการ เงินภาษีอากรจะถูกนำมาบำรุงความสุขให้ส่วนตัว พระราชวงศ์และบ่าวไพร่ เงินบำรุงบ้านเมืองจึง “ไม่เหลือหรอ”

 

ด้วยเหตุที่สยามปกครองในระบอบดังกล่าว และมีพวกที่คอย “ล้างผลาญภาษีอากรที่เข้ามา “กัดกันกินเลือดเนื้อของประเทศ” จะทำให้สยามทรุดโทรมและถึงแก่กาลวินาศ ความคิดทางการเมืองเช่นนี้ สะท้อนออกมาในคำให้การของสมาชิกคนหนึ่งที่กล่าวว่า “พระเจ้าแผ่นดินหาง่าย บ้านเมืองหายาก”

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเป็นประมุขของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ได้ทรงเห็นความพยายามปฏิวัติของ “คณะร.ศ. 130” นั้น พระองค์ทรงได้มีพระราชวิจารณ์ความคิดทางการเมืองต่อเหล่านักปฏิวัติว่าเป็นผู้มี “ความคิดฤศยาหยุมหยิม” ความว่า

“...คนยังมีความคิดฤศยาหยุมหยิมอยู่ ฉนี้ฤาจะเป็นผู้ที่จัดการปกครองบ้านเมืองอย่างรีปับลิคได้ อย่าว่าแต่ริปับลิคเลย ถึงแม้จะปกครองอย่างลักษณเจ้าแผ่นดินมีคอนสติตูชั่นก็ไม่น่าจะทำไปได้…”[24]

ในสายของเหล่านักปฏิวัติการปกครองแบบ “ลิมิตเต็ด มอนากี” หมายถึงการปกครองที่ “กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” เมื่อกษัตริย์ไม่มีอำนาจจะทำให้ “พวกเต้นเขนและพวกเทกระโถนตามวังเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนางเลย” และพวกเขามีวิจารณ์เพิ่มเติมว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่แบบใหม่ได้เกิดขึ้นไปทั่วโลกแล้ว คงเหลือแต่ประเทศสยามเท่านั้นที่ยังคงระบอบการปกครองที่ทำให้ “พวกกระษัตริย์ได้รับความสุขสนุกสบายมากเกินไปจนไม่มีเงินจะบำรุงประเทศ”

สำหรับ พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระราชวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของสยามที่จะมีระบอบการปกครองแบบ “ลิมิตเต็ด มอนากี” หรือ “กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” ว่า สยามไม่สามารถปกครองแบบที่มี “คอนสติตูชั่น” ที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีความรู้ และหากให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาชนจะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ประชาชนไม่มีความสามารถที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจได้ทุกคน แต่เมื่อต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนฯ จะทำให้เกิดการเกลี้ยกล่อม “ฬ่อใจ” ประชาชนด้วยถ้อยคำ การเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ และติดสินบนประชาชน ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ภายใต้การปกครองดังกล่าวจะเกิดพวก “ปอลิติเชียน” มาทำมาหากินในทางการเมือง อีกทั้งการปกครองดังกล่าวจะนำไปสู่ความแตกแยก เช่น การมี “ปาร์ตี ลิสเต็ม” ทำให้การปกครองไม่มั่นคง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง “เคาเวอร์เมนต์” เสมอ ทำให้บ้านเมืองยิ่งชอกช้ำมากขึ้น[25]

ส่วนการปกครองแบบ “รีปัปลิ๊ก” ซึ่งเป็นแบบสุดท้ายที่ “คณะร.ศ. 130” นำเสนอนั้น พวกเขานิยามว่า การปกครองชนิดนี้จะ “ยกเลิกไม่ให้มีกระษัตริย์ปกครองอีกต่อไป แต่มีที่ประชุมสำหรับจัดการบ้านเมืองอย่าง แข็งแรง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประธานสำหรับการปกครองประเทศ” พวกเขาเชื่อว่า ประชาชนในระบอบนี้ จะมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากกว่าระบอบอื่น ดังนั้น การปกครองรูปแบบนี้ “ราษฎรทุกประเทศจึง อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นรีปัปลิ๊กทั้งหมด เวลานี้ ประเทศใหญ่น้อยต่างๆเป็นรีปัปลิ๊กกัน เกือบทั่วโลกแล้ว” เช่น ประเทศในยุโรป อเมริกาและจีน

ในกรณีที่ ประเทศใดมีการปกครองแบบ “รีปัปลิ๊ก” แล้ว ประชาชนจะมีความเสมอภาคมากกว่าระบอบอื่นตามข้อเสนอของ “คณะร.ศ. 130” นั้น พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเห็นว่า ความเสมอภาคไม่มีอยู่จริง แม้จะมี

“...การเลิกเจ้าแผ่นดิน เลิกเจ้าและเลิกขุนนางเสียให้หมด เปลี่ยนลักษณการปกครองเปนประชาธิปไตย (ริปับลิค) อันตามตำราว่าเปนลักษณการปกครองซึ่งให้โอกาสให้พลเมืองได้รับความเสมอหน้ากันมากที่สุด เพราะใครๆก็มีโอกาสจะได้เปนถึงประธานาธิบดี ข้อนี้ดีอยู่ (ตามตำรา) แต่พิจารณาดูความจริงก็จะแลเห็นได้ ว่า ไม่มีพลเมืองแห่งใดในโลกนี้ที่จะเท่ากันหมดจริงๆ เพราะทุกคนไม่ได้มีความรู้ปัญญาเสมอกัน... เช่น จีน ที่ได้เปนขบถต่อเจ้าวงษ์เม่งจูจนสำเร็จตั้งเปนริปับลิคขึ้นได้แล้ว ในชั้นต้นก็ได้เลือกซุนยัดเซนเปนประธานาธิบดี แต่ตัวซุนยัดเซนเองเปนคนที่ฉลาดพอที่จะรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถพอที่จะทำการในน่าที่ผู้ปกครอง ต่อไปได้จึ่งต้องมอบอำนาจให้ยวนซีไก๋เปนประธานาธิบดีต่อไป นี่เปนพยานอยู่อย่าง ๑ แล้วว่าคนไม่เท่ากัน....”

นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกว่า ไม่มีทางสร้างความเสมอภาคให้บังเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใดในโลกได้ แม้แต่สถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย (รีปัปลิ๊ก) ขึ้นก็ตาม นอกเสียจากจะต้อง แก้ไขความอิจฉาภายในตัวมนุษย์เสียก่อนว่า

“การที่จะแก้ไข ความไม่เสมอหน้ากันและแก้ความไม่พอใจอัน บังเกิดขึ้นแต่ความไม่เสมอหน้ากันนั้น ก็เห็นจะมียาอยู่ขนานเดียวที่จะแก้ได้ คือ การจัดลักษณการปกครองเปนอย่างประชาธิปไตย แต่ยาขนานนี้ก็ได้มีชาติต่างๆลองใช้กันมาหลายรายแล้ว มีจีนเปนที่สุด ก็ยังไม่เห็นว่าเปนผลได้จริง ไม่บำบัด ‘โรคอิจฉา’ และ ‘โรคมักใหญ่มักมาก’ แห่งพลเมือง จึ่งเปนที่จนใจอยู่…”

นอกจากนี้ พระมงกุฎเกล้าฯ ยังทรงได้โต้แย้งข้อกล่าวหาของ “คณะร.ศ. 130” ที่ได้วิจารณ์การบริหารราชการภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเหตุให้เกิดคนยากจนมากมายในราชอาณาจักรนั้น พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ไม่มีหลักฐานใดชี้ว่า พสกนิกรของพระองค์อดตาย ทรงเห็นว่า พสกนิกรของพระองค์ไม่ยากจนดังข้อกล่าวหานั้น พระองค์ได้ทรงยกตัวอย่างว่า ณ เวลานั้น รถไฟของสยามยังบรรทุกคนหัวเมืองหรือ “ชาวบ้านนอก” เข้ามายังกรุงเทพฯ ตลอดเวลา คนเหล่านั้นเข้าเมืองมาเพื่อมาเล่นการพนันและหวย ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า หากพสกนิกรของพระองค์ที่หัวเมืองยากจนจริง พวกเขาจะไม่สามารถเดินทางเข้ามาเล่นการพนันในเมืองได้ นอกจากนี้ทรงยืนยันว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าเขาไม่จนเลย” เนื่องจากพสกนิกรของพระองค์มีที่ดิน มีอาหารบริบูรณ์สำหรับพระองค์แล้ว เงินไม่มีความสำคัญกับพวกเขา ในสายพระเนตรของพระองค์นั้น เงินมีประโยชน์สำหรับพสกนิกรของพระองค์เพียง 2 ประการเท่านั้น คือ “(๑) เสียภาษีและ (๒) เล่นการพนัน” [26]

แม้การพยายามสร้างความ “ศรีวิลัย” ให้กับสยามด้วยการปฏิวัติทางการเมืองของ “คณะร.ศ. 130” เมื่อครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ สมาชิกของคณะฯ ถูกตัดสินลงโทษและหลายคนเสียชีวิตในคุก แต่การจองจำอิสรภาพของพวกเขามิได้ทำให้พวกเขาอับจนความใฝ่ฝันแต่อย่างใด ดังที่ ร.ต.วาส วาสนา หนึ่งในสมาชิกได้กล่าวกับเพื่อนๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตนักปฏิวัติว่า

“เพื่อนเอ๋ย กันต้องลาเพื่อนไปเดี๋ยวนี้ ขอฝากลูกของกันไว้ด้วย กันขอฝากไชโย ถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น”

กระนั้นก็ดี ตลอดรัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าฯ แม้พระองค์จะทรงพยายามรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นพระราชมรดกให้สืบทอดต่อไปในสยาม แต่ไม่นานภายหลังการสิ้นรัชสมัยของพระองค์ (2468) [27] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาของพระองค์ได้เผชิญพระพักตร์กับพลังของภาวะสมัยใหม่และความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่ผลักดันสยามไปสู่ปฏิวัติทางการเมืองอีกครั้งใน “การปฏิวัติ 2475” 

 

การปฏิวัติ ร.ศ. 130 ในบันทึกความทรงจำ

การรวบรวมบันทึกความทรงจำถึงความพยายามปฏิวัติของ “คณะร.ศ. 130” ที่มีความกระจัดกระจายให้ครบถ้วนนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีความเป็นได้ว่างานศพของสมาชิกที่จากไปในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจไม่มีหนังสือที่ระลึกงานศพของพวกเขา เนื่องจากคงไม่มีผู้ใดอาจหาญประกาศตัวเขียนคำอาลัยถึงนักโทษการเมืองที่มุ่งโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ กล้าเปิดเผยแพร่บันทึกการเตรียมการปฏิวัติทางการเมืองออกสู่สังคมสยามในขณะนั้น แต่กระนั้นก็ดี เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มลงจาก “การปฏิวัติ 2475” และต่อมา “คณะราษฎร” ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับพวกเขาซึ่งอาจทำให้พวกเขาอาจรู้สึกเป็นอิสระและได้เริ่มเขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวลงในหนังสืองานศพของสมาชิก

งานเขียนที่พบมักเป็นคำอาลัยเฉพาะบุคคลซึ่งให้ข้อมูลเหตุการณ์เป็นห้วงๆ ตามบทบาทของผู้วายชนม์ อย่างไรก็ตาม แกนนำสำคัญบางคนได้เริ่มลงมือบันทึกความทรงจำถึงเหตุการณ์นั้นในเวลาต่อมา ดังที่ผู้เขียนสามารถรวบรวมหลักฐานจำนวนหนึ่งจึงนำเสนอเรียงตามลำดับต่อไปนี้

บทความ “ชีวิตนักการเมืองและวิบากกรรมของคณะร.ศ. 130” (2475)[28] เป็นงานเขียนที่บันทึกถึง “คณะร.ศ. 130” ที่เก่าที่สุดที่พบขณะนี้ บทความชิ้นนี้เขียนโดย ร.ต.สอน วงษ์โต[29] เขาเป็นหนึ่งในสมาชิก “คณะร.ศ. 130” บทความชิ้นนี้เขาได้เขียนลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ “สยามราษฎร์”[30] ในเดือนสิงหาคม 2475 หรือ หลังจากการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ไม่นาน

ต่อมาบทความนี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำในหนังสืองานศพของ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา เนติบัณฑิต สมาชิกกลุ่มพลเรือนที่มีความคิดสนับสนุนการปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน[31] สาระสำคัญในบทความชิ้นนี้กล่าวเชิดชูวีรกรรมของ “คณะราษฎร”  ในการปฏิวัติ 2475 การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามปฏิวัติใน ร.ศ.130 โดยสังเขป แต่ ร.ต.สอน เน้นเรื่องราวไปยังความทุกข์ทรมานของชีวิตนักโทษในเรือนจำเป็นพิเศษ ในส่วนท้ายบท เขาได้วิจารณ์ความเสื่อมทรามของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิวัติฝรั่งเศส และความเสื่อมทรามและการแย่งชิงอำนาจและความเหลวแหลกในหมู่ชนชั้นปกครองในประวัติศาสตร์สยาม

ภาพ: ปกหนังสือ "หมอเหล็งรำลึก"

ที่มา: ระบบคลังข้อมูลดิจิทัล กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

สำหรับ ปฏิวัติ ร.ศ.130 (2484) ของ ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์  ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ และสมจิตร เทียนศิริ เป็นบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ความพยายามปฏิวัติของพวกเขา เนื้อหาภายในเรียบเรียงมาจากบันทึกของ ร.ต.เนตร และความทรงจำของ ร.ต.เหรียญ บันทึกเล่มนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องจาก ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง) โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผลักดันให้พวกเขาเปิดเผยเรื่องราวในอดีตออกสู่สังคมภายหลังการปฏิวัติ 2475 ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้ถูกขยายและกลายเป็นส่วนหนึ่งใน “หมอเหล็งรำลึก”

บันทึกความทรงจำชิ้นต่อไป คือ คน 60 ปี (2494) ของ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ งานชิ้นนี้มีลักษณะเป็น งานเขียนอัตชีวประวัติ ร.ต.เนตร ได้เริ่มบันทึกเรื่องราวที่สะท้อนถึงโลกทรรศน์ของเขา โดยเริ่มจากสิ่งที่กว้างที่สุด คือ ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นจาก “องค์ธรรมชาติ” “องค์เหตุผล” และ “องค์ความดี” ในบันทึกชิ้นนี้เขาได้อธิบายสาเหตุของการตัดสินใจหมุนสยามให้ทันสมัย เนื่องจากเขาตระหนักถึงการวิวัฒน์ของโลก และมนุษย์ที่มุ่งสู่ความก้าวหน้า

ดังนั้น สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อมา เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความพยายามผลักดันให้สยามเคลื่อนไปบนเส้นทางของความเป็นสมัยใหม่ทางการเมือง เริ่มจากฉากชีวิตนักปฏิวัติของสามัญชน ชีวิตของผู้พ่ายแพ้ในเรือนจำ การถูกปลดปล่อยในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ความใฝ่ฝันถึงอนาคตใหม่ของพวกเขายังคงแรงกล้าทำให้พวกเขาสนับสนุนให้การปฏิวัติ 2475 และปิดท้ายด้วยเรื่องราวชีวิตใหม่ของเขาภายหลังการปฏิวัติ 2475

บันทึกความทรงจำเล่มสุดท้ายที่จะเขียนถึง คือ หมอเหล็งรำลึก (2503) ของ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์  ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์  บันทึกความทรงจำร่วมของ ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร เขียนขึ้นเพื่ออุทิศเป็น อนุสรณ์งานศพของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้า “คณะร.ศ. 130” เมื่อปี 2503 สาระภายในบันทึกถึงความเป็นมาของการก่อตัวของความคิดในการพยายามปฏิวัติทางการเมืองของ “คณะร.ศ. 130” เป้าหมายของการปฏิวัติ การขยายแนวร่วม การทรยศหักหลัง น้ำใจของเพื่อนนักปฏิวัติ การถูกจับกุม และไต่สวนจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การถูกคุมขังลงทัณฑ์ ชีวิตนักโทษการเมืองในคุกชีวิตนัก ปฏิวัติหลังการพ้นโทษ การสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 ของพวกเขา กล่าวได้ว่า "บันทึกความทรงจำเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่สำคัญและถูกใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาเหตุการณ์ในครั้งนั้นมากที่สุด"

เหตุการณ์นี้ไม่เป็นแต่เพียงความเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของสยามเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดฉากวิวาทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการรักษากับฝ่ายมุ่งเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองที่จินตภาพถึงอนาคตของสยามที่วางอยู่บนทางสองแพร่งระหว่าง “ซิวิไลซ์ หรือ ศรีวิลัย” “ความเสื่อม หรือ ความเจริญ” “อนุรักษนิยม หรือ เสรีนิยม” “ราชาธิปไตย หรือ ประชาธิปไตย” หรือแม้ระทั่ง “ลิมิเต็ด มอนากี หรือ รีปัปลิ๊ก”

แม้สยามจะเดินผ่าน เหตุการณ์ครั้งนั้นมานานถึงร้อยปีแล้วก็ตาม แต่การวิวาทะถึงความเปลี่ยนแปลงของไทยยังคงดำเนินต่อไป บนเส้นทางของความไม่สิ้นสุดของภาวะสมัยใหม่ ดังนั้น ณ ช่วงเวลานี้จึงอาจมีความเหมาะสมที่จะหวนกลับมาอ่านบันทึกความทรงจำของพวกเขาใน “หมอเหล็งรำลึก” ที่ทรงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ถึงความพยายามและเหตุผลในการปฏิวัติครั้งนั้นควบคู่ไปกับเอกสารสำคัญร่วมสมัย เช่น “กฎข้อบังคับสำหรับสโมสร” “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ” “คำให้การของนักปฏิวัติ” “จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “ชีวิตนักการเมืองและวิบากกรรมของคณะร.ศ. 130” เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ตลอดจนร่วมกันการประเมินความสำเร็จและล้มเหลวของเส้นทางสังคมไทยและการพัฒนาประชาธิปไตยไทยอีกครั้ง

 

ที่มา: ณัฐพล ใจจริง. “สยามบน “ทางสองแพร่ง”: หนึ่งศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. 130”,  สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564

หมายเหตุ:

  • บทความชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • คำสะกดในบทความอิงตามเอกสารชั้นต้น
  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ

[1] ยังคงมีข้อถกเถียงกันในวันที่ “คณะ ร.ศ. 130” ถูกจับกุม จากบันทึกความทรงจำของ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ใน คน 60 ปี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม 21 ธันวาคม 2523 (กรุงเทพฯ : หจก.เซ็นทรัลเอ็กเพรสศึกษาการพิมพ์, 2523), หน้า 111 และ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์, หมอเหล็งรำลึก: ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 19 เมษายน 2503 , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กิมหลีหงวน), หน้า 83 ระบุว่า วันที่ถูกจับกุมคือ 27 กุมภาพันธ์ 2454 (นับอย่างใหม่ คือ 2455) แต่การศึกษาของแถมสุข นุ่มนนท์, ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ : เรืองศิลป์, 2522),หน้า196 และอัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย : แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2540), หน้า 188 ระบุว่า วันที่ถูกจับกุม คือ 1 มีนาคม 2455

อย่างไรก็ตาม ควรบันทึกด้วยว่า ราวหนึ่งปีก่อนแผนการปฏิวัติของ “คณะร.ศ. 130” จะถูกยุติลง พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าฯ ทรงได้มีพระราชหัตถเลขาถึงเหตุการณ์ในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์ (กุมภาพันธ์ 2454) ที่พระองค์ทรงได้รับจดหมายสนเท่ห์ฉบับหนึ่งจากกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “สมาคมที่ถือความยุติธรรมเป็นเป้าหมาย” มีเนื้อหาวิจารณ์พระองค์ว่าทรงขาดความยุติธรรม ทรงใช้อำนาจตามอำเภอใจ ทรงไม่เมตตาต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า กษัตริย์เลี้ยงตนอยู่ได้ด้วยการ “กินเลือดเนื้อราษฎร” และวิจารณ์ตรงไปยังตัวพระองค์ว่า ทรงเป็นคนเลวทรามไม่ควรจะอยู่บนพื้นโลก ด้วยเหตุนี้ “สมาชิกสมาคมฯ” จึงเตรียมการที่จะลงโทษพระองค์ด้วยปืนบราวนิ่งและลูกระเบิดที่พร้อมจะสละชีพเพื่อประโยชน์แห่งเพื่อนมนุษย์ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยสำนวนในจดหมายว่าเป็นโวหารแบบ “โซ๊ดๆ ห่ามๆ ที่เรียกกันภายหลังว่า ‘สำนวนรักชาติ’ ” ของพวกนิยม “รีปัปลิ๊ก” ในสยาม ต่อมา เมื่อเกิดการจับกุม “คณะร.ศ. 130”แล้ว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า “บัตรสนเท่ห์ฉบับนั้นเป็นของอ้ายพวกก่อกำเริบทิ้งมา” (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545), หน้า 245-249.) ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามเพื่อรอการค้นคว้าต่อไปในอนาคตว่า กลุ่มดังกล่าว คือ “คณะร.ศ. 130” ในเวลาต่อมาหรือไม่ หากเป็นกลุ่มเดียวกันย่อมแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเคลื่อนไหวมาก่อนหน้าที่จะถูกจับกุม แต่หากไม่ใช่ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองและตัวพระองค์ดำรงอยู่ภายในสังคมสยามขณะนั้นเช่นกัน

[2] แถมสุข, อ้างแล้ว , 2522. ; .; อัจฉราพร ,อ้างแล้ว, 2540.; Kullada Kesboonchoo Mead, The rise and decline of Thai absolutism (London :Routledge Curzon , 2003). ; วรางคณา จรัณยานนท์ , “คณะร.ศ. 130 : ชีวิต อุดมการณ์และการจัดตั้ง” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต(ไทยศึกษา) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2549. และ ณัฐพล ใจจริง “จาก ‘คณะร.ศ. 130’ ถึง ‘คณะราษฎร’: ความเป็นมาของความคิด ‘ประชาธิปไตย’ในประเทศไทย” ศิลปวัฒนธรรม ปี 32 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 หน้า 80-99.

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 บ.17/3 หนังสือที่ค้นได้จากบ้านหลวงวิฆเนศวร, ขุนทวยหาญ, ร.ต. ชลอ , (16 ตุลาคม- 1 มีนาคม 2454), “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ”, เอกสารลายมือ

[4] โปรดดูสาระสำคัญการวิวาทะระหว่าง “พวกหัวเก่า” กับ “พวกหัวใหม่” ในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของยุโรป เพิ่มเติม ใน Tilo Schabert, “Modernity and History I: What is Modernity?,” in The Promise of History: essays in political philosophy, ed. Athanasios Moulakis (New York: Walter de Gruyter: 1985),pp. 9-21. และอะไรคือความคิดก่อนสมัยใหม่ใน ไชยันต์ ไชยพร, Pre Modern (กรุงเทพฯ: way of book, 2551)

[5] ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร, อ้างแล้ว, หน้า 22. และโปรดดูการกล่าวถึง ความก้าวหน้าที่เรียกว่า “ศรีวิลัย” ใน “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ”, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 บ.17/3 หนังสือที่ค้นได้จากบ้านหลวงวิฆเนศวร, ขุน ทวยหาญ, ร.ต. ชลอ , (16 ตุลาคม- 1 มีนาคม 2454), เอกสารลายมือเอกสารชิ้นนี้เป็นลายมือของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้เป็นหัวหน้า “คณะร.ศ. 130” ที่เป็นแก่นแกนความคิดทางการเมืองของพวกเขา

[6]  ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์, สมจิตร เทียนศิริ, ปฏิวัติ ร.ศ.130 (พระนคร: การพิมพ์กรุงเทพฯ,2489), หน้า 100.พิมพ์ครั้งแรก 2484

[7] พลกูล อังกินันท์, “เผชิญหน้าผู้ก่อการเก็กเหม็ง”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ปี 12 ฉบับ ธันวาคม 2514, หน้า 72.

[8] วรางคณา จรัณยานนท์ , “คณะร.ศ. 130 : ชีวิต อุดมการณ์และการจัดตั้ง” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยศึกษา) มหาวิทยาลัยรามคำแหง,2549, หน้า 124-152

[9] ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, คน 60 ปี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 21 ธันวาคม 2523 (กรุงเทพฯ : หจก.เซ็นทรัลเอ็กเพรสศึกษาการพิมพ์,2523), หน้า 108. ร.ต. เนตร ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะได้ประเมินความคิดของกลุ่มประนีประนอมว่า “ไม่ได้ความเลย”

[10] จากการศึกษาของวรางคณาพบว่า ในคำให้การของสมาชิก “คณะร.ศ. 130” จำนวน 118 คนนั้น มีผู้ที่ยอมรับว่านิยม “รีปับลิ๊ก” มีจำนวน 10 คน พวกที่นิยมไปในทาง “ลิมิเต็ด มอนากี” มีจำนวน 12 คน ส่วนพวกที่วิจารณ์เรื่องทั่วไปมีจำนวน 16 คน และพวกที่ไม่แสดงความคิดทางการเมืองจำนวน 80 คน (วรางคณา,อ้างแล้ว, หน้า 154)

[11] พระมงกุฏเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “Uttarakuru : An Asiatic wonderland” เป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Siam Observer คาดว่าภายหลังเหตุการณ์ความพยายามปฏิวัติร.ศ.130 พระองค์ทรงใช้ภาษาในการจำแนกของเก่าและของใหม่ เช่น คำว่า “ancient” “old” “old man” “old customs, old institutions, and old ideal ” กับคำว่า “highly civlised” “up-to-date” “young” “new” “ultra-modern” “New Mania” และ “New maniacal Plague” สะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงในจุดยืนและการตั้งประเด็นโต้แย้งระหว่าง “พวกหัวเก่า” และ “พวกหัวใหม่” ของพระองค์ (โปรดดู พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “Uttarakuru : An Asiatic wonderland” ใน อุตตรกุรุ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประโมทย์จรรยาวิภาช ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 29 สิงหาคม 2517(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2517)

[12] โปรดดู แนวพระราชดำริของพระมงกุฏเกล้าฯใน, “Uttarakuru : An Asiatic wonderland” , อ้างแล้ว , หน้า 4. อย่างไรก็ตาม เกษียร เตชะพีระ มีความเห็นว่า พระราชนิพนธ์ชิ้นดังกล่าว มุ่งทำลายโซเชียลลิสต์เป็นหลัก ด้วยการที่ทรงจับคู่ความหมายให้คำว่า “โสเชียลสิลต์” กับสิ่งเพ้อฝัน/ “Uttarakuru” กล่าวคือ ทรงต่อต้านโซเชียลลิสต์ ด้วย “หมากการเมืองวัฒนธรรมที่ทรงวางไว้เพื่อดิสเครดิตหรือทำให้ลัทธิโซเชียลสิลต์กลายเป็นยูโทเปียไปเสียตั้งแต่ต้นมือก่อนที่มันจะหยั่งรากในสยาม” (เกษียร เตชะพีระ, “วิวาทะอุตตรกุรุ: อัศวพาหุVS ศรีอิทรายุทธ” ศิลปวัฒนธรรม ปี 14 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2536, หน้า 142-146.) แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่า ไม่ใช่แต่เพียง พระองค์ทรงมีพระราชดำริมุ่งทำลายโซซียลลิสต์ให้กลายเป็นสิ่งเพ้อฝันเท่านั้น แต่ด้วยโลกทรรศน์ที่คล้ายคลึงกับ“พวกหัวเก่า” ของพระองค์ ทรงทำให้ภาพภาวะที่โซเชียลลิสต์มุ่งหวังจะสร้างให้เกิดขึ้นนั้นกลายเป็นภาวะความเสื่อมตามคำทำนายของตำราเก่าแก่โบราณอีกด้วย

[13] พระมงกุฏเกล้าฯ ทรงให้ความหมายคำ “Civilization” ในทิศทางที่คล้ายคลึงกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลักษณะการยอมรับภาวะดังกล่าวเพียงความเปลี่ยนแปลงในเชิงวัตถุหรือรูปแบบภายนอกมากกว่าในเชิงจิตใจและความสำนึก ทั้งนี้ พระจอมเกล้าฯ พระจุลจอมเกล้าฯ และชนชั้นนำอื่นๆ จำกัดความหมายความเปลี่ยนแค่เพียงมารยาท ความก้าวหน้าทางวัตถุ ถนนหนทาง ไฟฟ้า ระบบราชการแบบใหม่ การแต่งกายหรือแม้แต่การมีฟันขาว (โปรดดูเพิ่มเติมใน Thongchai Winichakul, “The Quest for ‘Siwilai’: A Geographical Discourse of Civilizational Thinking in the Late Nineteenth and Early Twentieth-Century Siam”, The Journal of Asian Studies Vol. 59 no. 3,9 (August 2000), p.530.) และดู การวิวาทะระหว่างปัญญาชนสยาม เช่น เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับมิชชันนารีชาวตะวันตก เช่น หมอบลัดเลย์ ในช่วงต้นพุทธศักราช 2400 ใน ทวีศักดิ์ เผือกสม, “การทำตะวันตกให้เป็นตะวันออกของสยาม (Orientalizing the occidental of Siam): การตอบโต้รับมือกับวาทกรรม” รัฐศาสตร์สาร ปี 20 ฉบับที่ 3 (2541) หน้า 253-313

[14] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 1 วันที่ 1 เมษายน ถึง วันที่ 12 มกราคม” ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 1 สิงหาคม 2517 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,2517), หน้า 37-38

[15] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “โคลนติดล้อ” ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปกิณกะ

[16] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “ลัทธิเอาอย่าง” ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปกิณกะ, หน้า 1-3

[17] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “Uttarakuru : An Asiatic wonderland” , อุตตรกุรุ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 2,4 .

[18] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม” ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ,หน้า 64-67.

[19]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 1 วันที่ 1 เมษายน ถึง วันที่ 12 มกราคม ” จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,หน้า 39.

[20]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม”ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว , หน้า 64-67.

[21] โปรดดูรายชื่อนายทหารที่เป็นสมาชิก “คณะร.ศ. 130” และ สังกัดของพวกเขา เพิ่มเติมใน อัจฉราพร, อ้างแล้ว, หน้า 215- 219.

[22] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 บ.17/3 หนังสือที่ค้นได้จากบ้านหลวงวิฆเนศวร , ขุนทวยหาญ, ร.ต.ชลอ (16 ตุลาคม –1 มีนาคม 2554) “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ”, เอกสารลายมือ

[23] ผู้ที่เชื่อในความคิดเสรีนิยมนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของมนุษย์ ชื่นชมในสติปัญญาและความมีเหตุผล เชื่อมั่นในความเสมอภาค และต้องการจำกัดอำนาจรัฐ ส่วนผู้ที่เชื่อในความคิดอนุรักษ์นิยมให้ความสำคัญกับการยึดถือจารีตประเพณีมองเห็นแต่ความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ เชื่อว่าสังคมมนุษย์เป็นดั่งอินทรียภาพที่มีลำดับชั้นความสูงต่ำของคนและความไม่เสมอภาคในอำนาจหน้าที่และทรัพย์สินเป็นเรื่องธรรมชาติ

[24] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม” ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 48

[25] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม” ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 49-59

[26] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม” ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 72

[27] พันโท พระสารสารสน์พลขันธ์ อดีตนายทหารร่วมสมัยความพยายามปฏิวัติในปี ร.ศ.130 (2455) และ การปฏิวัติ 2475 คนหนึ่ง เขาได้วิจารณ์พระมงกุฎเกล้าฯ ว่า พระองค์น่าจะเป็นนักปราชญ์มากกว่าพระราชา พระองค์ไม่สนพระราชหฤทัยในเจตจำนงของปวงประชา และการเอาแต่พระราชหฤทัยนั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ข้าราชการ พระองค์ผู้มีพระวรกายอ้วนและพระเกศาบาง ผู้พิศสมัยการแต่งบทละครและโคลงกลอน อีกทั้งพระราชดำริของพระองค์ละม้ายคล้ายหญิงแก่ แม้ว่าพระองค์จะพยายามโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์ชาตินิยมลงในหมู่ปวงประชา แต่เคราะห์ร้ายที่การผลิดอกแตกใบนั้นแตกต่างไปจากที่พระองค์มีพระราชประสงค์ เขาสรุปว่า ถึงแม้ว่าพระองค์จะประดุจดั่งดวงดาราแห่งความยุติธรรม ประหนึ่งปราการแห่งศาสตร์ เปรียบปานพระฉายแห่งสัจจะ แต่พระองค์ก็หาได้เป็นพระราชาที่ดีไม่ (Phra Sarasas, My Country Thailand.1st. ; Tokyo : Maruzen,1942,p.130, 133-137.) โปรดดูบทบาทและความคิดทางการเมืองของเขาใน ณัฐพล ใจจริง, “ 555 กับ My Country Thailand: ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ความคิดทางเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบชาตินิยมวิพากษ์ของพระสารสน์พลขันธ์” รัฐศาสตร์สาร ปี 25 ฉบับที่ 1 (2547) หน้า 254-327

[28] ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์(รวบรวม) เพื่อนตาย : ชาวคณะ ร.ศ.130. พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา วันอังคารที่ 11 มกราคม 2480 ณ เมรุเชิงบรมบรรพต (พระนคร : โรงพิมพ์จันหว่า, 2480)

[29] ต่อมา เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท พร้อมกับเพื่อนสมาชิก “คณะร.ศ. 130” คนอื่นๆ ที่มีความกล้าหาญและมีฝีปากกล้าในการคัดค้านพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในช่วงเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์สภา (โปรดดูบทบาทของพวกเขาในการคัดค้านพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ อย่างดุเดือด ใน, แถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, (พระนคร : ศรีกรุง,2478 ) และ สุพจน์ แจ้งเร็ว. “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” ศิลปวัฒนธรรม ปี 23 ฉบับที่8 (มิถุนายน 2545), หน้า 63-80.)

[30] หนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” และ “สยามราษฎร์” เป็นของมานิต วสุวัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนการปฏิวัติ 2475

[31] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 6 บ.17/1 หนังสือและถ้อยคำที่กรรมการพิเศษได้พิจารณาเพิ่มเติม “คำให้การนายเซี้ยง ลงวันที่ 24 เมษายน ร.ศ.130”.ระบุว่า นายอุทัย ได้ยกมือโหวต ให้กับ “รีปับลิ๊ก”