“พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่า พวกพี่ๆ ต่อไป”
นี่คือวาทะของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นสถานที่บัญชาการการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่กล่าวถึงคณะบุคคลผู้วางแผนลงมือเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 6 แต่ประสบความล้มเหลว
ปรีดีไม่เพียงยกย่องแค่ลมปากเท่านั้น แต่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดอุดมคติประชาธิปไตยนี้ ปรีดียังผลักดันให้ “พวกพี่ๆ” ของเขาบันทึกประวัติศาสตร์ของความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญนี้ไว้อีกด้วย
ร.ศ. 130 ในความทรงจำ
ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2443-2526) ในช่วงท้ายของชีวิตได้ฟื้นความหลังถึงความทรงจำครั้งยังเยาว์เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454 ตามปฏิทินเก่า) ไว้ความตอนหนึ่งว่า
“ปลายปี ร.ศ. 130 ก็มีข่าวแพร่ไปถึงบ้านปรีดีที่อยุธยาว่า นายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางคนได้เตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำ ก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินลงโทษขนาดหนัก ปรีดีสนใจในข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่าเมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ. 130 รักชาติ กล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เรื่อง เพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความเห็นใจมาก”
ใครคนหนึ่งที่ปรีดีกล่าวถึงนั้นก็คือ นายร้อยเอก ขุนยุทธกาลกำจร (แต้ม คงอยู่) ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็น หลวงสินาดโยธารักษ์ และ พระยากำแพงราม ตามลำดับ ก่อนที่ท้ายที่สุดบุรุษผู้นี้จะผูกคอตายเมื่อต้องโทษในคราวกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476
นอกจากนี้แล้ว ปรีดียังสงสัยด้วยว่า “ครูของผม แม้จะเป็นครูบ้านนอก คือครูที่อยุธยา ไม่ใช่ครูกรุงเทพฯ แต่ท่านมีลักษณะก้าวหน้า ผมสงสัยว่า ท่านได้รับการจัดตั้งจากพวก ร.ศ. 130” เพราะครูที่อยุธยานี่เองที่ “พูดเปรยๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่า ระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน”
บทเรียนจากพวกพี่ๆ
20 ปีต่อมา ปรีดี พนมยงค์ ผู้นี้เองที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘มันสมอง’ ของคณะบุคคลที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม โดยที่ปรีดีได้กล่าวถึงบทเรียนที่ได้จากคณะ ร.ศ. 130 ไว้ด้วยว่า “ร.ศ. 130 เขาจะทำ แต่ถูกหักหลัง ถ้าไม่ถูกหักหลัง เขาก็ทำสำเร็จ ก็เป็นเช่นนี้…ผมก็เอาบทเรียนที่เขาพลั้งพลาดมาแล้วศึกษา”
อนึ่ง เมื่อคณะราษฎรสามารถยึดอำนาจรัฐสำเร็จแล้ว ได้เชิญ “คณะ ร.ศ. 130” ไปพบที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในเวลา 13 นาฬิกาเศษของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม!” และกล่าวเป็นพิเศษกับ นายร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าคณะ ร.ศ. 130 ว่า “ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนที่เยอรมนี ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนหนึ่งเป็นแน่”
หลังจากนั้นอีก 5 เดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยการถวายคำปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง เมื่อ ร.ศ. 130 ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คณะ ร.ศ. 130 มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมองแต่อย่างใด
บันทึกประวัติศาสตร์
นอกจากการสืบสานต่อยอดจนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ปรีดียังช่วยรักษาเรื่องราวของคณะ ร.ศ. 130 เอาไว้ด้วย ดังที่ในปี 2484 สมจิตร เทียนศิริ ได้เรียบเรียงเรื่องราวของคณะ ร.ศ. 130 จากบันทึกของ ร.อ. เนตร พูนวิวัฒน์ และได้รับการตรวจทานจาก ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ จนสามารถตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรื่อง ปฏิวัติ ร.ศ. 130 ได้ ซึ่งสมจิตรปรารภไว้ในตอนต้นว่า
“ท่านรัฐมนตรี (หมายถึงปรีดี) ได้เป็นผู้หนึ่งซึ่งร่วมมือในการปฏิวัติ เมื่อ 24 มิถุนายนนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งที่สองที่สำเร็จลง ท่านรัฐมนตรีได้คิดที่จะเรียบเรียงประวัติของคณะราษฎรนี้ไว้ แต่เมื่อท่านเห็นว่า ประวัติศาสตร์ชิ้นนี้จะสมบูรณ์ก็โดยที่ควรจะมีใครคนหนึ่งทำเหตุการณ์ในสมัย ร.ศ. 130 ขึ้นก่อน”
ไม่เพียงแต่คิด แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมในเวลานั้นยัง “ได้เรียกร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการที่เข้มแข็งผู้หนึ่งในสมัย ร.ศ. 130 ไปพบ และแจ้งความคิดในการเรียบเรียงที่จะกระทำของท่านขึ้น กับขอให้นายร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ เล่าเหตุการณ์ของคณะ ร.ศ. 130 ให้ฟังตั้งแต่ต้น แล้วจึงขอให้นายร้อยตรี เนตร ถ้ามีเวลาให้สละเพื่อทำการบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้”
กองหน้าประชาธิปไตย
แม้คณะราษฎรของปรีดีและคณะจะเปลี่ยนแปลงการปกครองยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยามได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว แต่ปรีดียังนึกถึงคนอื่นๆ อีกด้วย นอกจาก “พวกพี่ๆ” คณะ ร.ศ. 130 ที่กล่าวไปในตอนต้นแล้ว ปรีดียังกล่าวถึงคณะราษฎร “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือที่เรียกว่า “ดี.1” นั้น “เป็นเพียงกองหน้า (Vanguard) ของมวลราษฎรที่มีความต้องการเสรีภาพ และความเสมอภาคยิ่งกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
ทั้งนี้ เพราะได้บทเรียนเรื่องการรักษาความลับในวงจำกัดมาจากคณะ ร.ศ. 130 แล้วนั่นเอง คณะราษฎรจึงมีสมาชิกประเภทดี.1 นี้เพียง 100 คนเศษ แต่ก็ “เป็นการเพียงพอที่จะลงมือทำการเป็นกองหน้าของราษฎร”
บรรณานุกรม
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2542)
- นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปฏิทินป๋วย2565 THE VANGUARD คณะราษฎร (มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อโครงการอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2564)
- ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (ปราโมทย์ พึ่งสุนทร, 2515)
- เหรียญ ศรีจันทร์, เนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130, บรรณาธิการโดย ณัฐพล ใจจริง, พิมพ์ครั้งที่ 2 (มติชน, 2564)
ที่มา : กษิดิศ อนันทนาธร. ปรีดี พนมยงค์ กับพวกพี่ๆ คณะ “ร.ศ.130” . เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2021, สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2022 https://www.the101.world/pridi-and-revolution-130/