Focus
-
มูลเหตุจูงใจในการปฏิวัติ 2475 ในส่วนของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรผู้ผ่านการเรียนรู้ทางการทหารในต่างประเทศมาอย่างดี ก็คือ การที่ในวงการทหารนั้น ข้าราชการทหารชั้นผู้น้อย ผู้มีความรู้ และความเห็นที่ดีและเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง มักจะไม่ได้รับการรับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการทหารผู้ใหญ่ จนเกิดความท้อถอยที่จะแสดงความคิดเห็น
-
การบริหารราชการบ้านเมืองที่ดำเนินไปตามความเห็นของพวกผู้ใหญ่ไม่กี่คนที่มีความคิดเห็นอย่างเก่าๆ และแคบๆ อาจชักนำให้บ้านเมืองไปสู่ความเสื่อมและความล่มจมได้ง่าย
การเมืองของหนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติ
มูลเหตุจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หนึ่งในปากคำประวัติศาสตร์สำคัญของเหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษในวันที่ 6 พฤษภาคม 2484 จากชุดบทความชื่อ เบื้องหลังการปฏิวัติ รายตอนในหนังสือที่พิมพ์สุภาพบุรุษ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2484 และนำมาจัดพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกใน พ.ศ. 2490 ในชื่อเดิม
หนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติเล่มนี้มีการเมือง โดยหลังจากที่การตีพิมพ์จบตอนลง กุหลาบสายประดิษฐ์ ได้เล่าว่า
“เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ข้าพเจ้าได้รับจดหมายฉะบับหนึ่งจากผู้เผด็จการไทย จอมพลพิบูลสงคราม จดหมายฉะบับนั้นได้มีมาถึงข้าพเจ้าในขณะที่ได้มีการกะทบกันอย่างแรก ระหว่างหนังสือพิมพ์ของเรา (“สุภาพบุรุษ”) กับทางการวิทยุกระจายเสียงไทย อย่างไรก็ดี ท่านผู้เผด็จการไทย ได้เขียนจดหมายฉะบับนั้นถึงข้าพเจ้าด้วยฉันทไมตรีอ่อนหวาน และข้าพเจ้าก็ได้ตอบจดหมายฉะบับนั้นไป ด้วยรับรู้ในอัธยาศัยไมตรีของท่านผู้นั้น ต่อมาในวันที่ ๑ กรกฎาคม ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้เผด็จการไทยฉะบับที่สอง ตอบรับรู้อัธยาศัยไมตรีของข้าพเจ้า จดหมายสองฉะบับนั้นเขียนโดยลายมือของผู้เผด็จการไทยเอง และบรรจุในหน้ากระดาษจดหมายสีเหลืองราว ๔ หน้า
จดหมายสองฉะบับนั้นมีมูลกำเหนิดมาจากการลงพิมพ์เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ในหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ที่ตีพิมพ์รวมเล่มฉบับนี้เอง...เมื่อระบอบพิบูลสงครามได้ถูกโค่นล้มลงและตัวท่านผู้นำแห่งระบอบ ได้ออกไปดำรงชีวิตเยี่ยงสามัญชนอยู่ ณ ลำลูกกาตลอดมาจนถึงเวลาแล้ว ในระหว่างนั้นได้มีผู้มาขอต่อข้าพเจ้า ๓-๔ รายเพื่อจัดพิมพ์เรื่องราว...”
แต่เวลาก็ได้ล่วงมาราว 6 ปี หนังสือเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติ ฉบับนี้จึงจัดพิมพ์เผยแพร่โดยเจ้าของสำนักพิมพ์รายที่ 3-4 คือคุณสนิท กิจเลิศ ได้มาขอพบกุหลาบ และขอให้รวบรวมเรื่องชุดนี้และระหว่างการจัดการต้นฉบับก็มีฝ่ายของระบอบเก่าโจมตีให้งดการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ภายหลังจากที่ทางวิทยุกระจายเสียงไทยนำเนื้อหาของหนังสือออกไปโฆษณาทางรายการวิทยุและบทสัมภาษณ์ของเชษฐบุรุษ พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่แสดงถึงความขัดแย้งภายในคณะราษฎรหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในอีกมุมหนึ่งโดยกุหลาบเล่าไว้ว่า
“…ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงเรื่องนี้จากการสัมภาษณ์ท่านเชษฐบุรุษ เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา เมื่อหนังสือพิมพ์ของเรา (สุภาพบุรุษ-กองบรรณาธิการ) ได้นำเรื่องนี้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรกในวันที่ ๔ พฤษภาคม ท่านเชษฐบุรุษก็เชิญข้าพเจ้าไปพบ ณ วังปารุสกวัน และแจ้งให้ทราบว่า มีผู้ก่อการผู้หนึ่งมาพบท่าน และเรียนให้ท่านทราบเป็นใจความว่า เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ที่ท่านให้สัมภาษณ์แก่ข้าพเจ้านั้น อาจก่อความกระทบกระเทือนแก่ผู้ใหญ่บางคนได้ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า หมายถึงผู้เผด็จการของไทยในเวลานั้น และขอให้แจ้งแก่ข้าพเจ้าให้ระงับการพิมพ์เสีย...”
กุหลาบกล่าวตอบพระยาพหลพลยุหเสนาต่อเรื่องนี้ว่า ในเรื่องการเรียบเรียงนี้เป็นการวินิจฉัยของตน หาใช่กิจการของผู้ก่อการผู้นั้นหรือของผู้ก่อการผู้ใด ในท้ายที่สุดหนังสือเล่มนี้จึงปรากฏต่อบรรณพิภพอักษรสะท้อนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วยการบอกเล่าเรื่องของคณะราษฎรก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2490
มูลเหตุจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่า ความคิดที่จะปฏิวัติระบอบการปกครองนั้น ได้เกิดขึ้นก่อนหน้าลงมือเปลี่ยนการปกครองเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๒-๓ ปี ยิ่งทางฝ่ายคณะพลเรือนคือคณะหลวงประดิษฐ์ฯ นั้น ท่านได้รับทราบว่า ได้คิดกันมาตั้งแต่ยังอยู่เมืองนอกเป็นเวลา ๖-๗ ปี เมื่อได้รับข้อถามว่า มีเหตุอะไรดลใจให้ท่านคิดเปลี่ยนการปกครอง เจ้าคุณพหลฯ ตอบว่า “ผมเป็นทหาร เหตุทางฝ่ายผมจึงได้เริ่มมาจากหน้าที่ทางการทหารของผม”
ในเบื้องต้นทีเดียว เกิดความรู้สึกว่า ราชการบ้านเมืองในเวลานั้น ดูพวกข้าราชการผู้ใหญ่และพวกเจ้านายทำกันตามอำเภอใจ ไม่ใคร่จะเอาใจใส่ในความเห็นของผู้น้อย ซึ่งแม้ว่าจะมีเหตุผลควรเชื่อถือก็ตาม พวกผู้ใหญ่มักจะถือเสียว่า ความเห็นของผู้น้อยนั้นจะดีหรือไม่ดีไม่สำคัญ หากสำคัญอยู่ที่ว่าจะถูกใจท่านหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้พวกผู้น้อยซึ่งอาจมีสติปัญญาดีๆ ก็เกิดความท้อถอยไม่อยากแสดงความคิดเห็น ทั้งๆ ที่เชื่อแน่ว่าจะมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง และเมื่อการบริหารราชการบ้านเมืองดำเนินไปตามความเห็นของพวกผู้ใหญ่ไม่กี่คน ซึ่งถ้าท่านเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างเก่าๆ และแคบๆ ด้วยแล้ว ก็อาจชักนำให้บ้านเมืองไปสู่ความเสื่อมและความล่มจมได้ง่าย
ตามประวัติการศึกษาของพระยาพหลฯ แสดงว่า ท่านเป็นผู้มีการศึกษาอย่างดี กล่าวคือเมื่อศึกษาอยู่ในโรงเรียนทหารบกนั้นจากผลแห่งการสอบไล่ซึ่งได้เป็นที่ ๑ ท่านได้รับทุนเล่าเรียนของรัฐบาลให้ไปศึกษาวิชาต่อที่เยอรมนี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ครั้งสำเร็จวิชาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่นั่นแล้ว ก็ยังได้รับการฝึกฝนราชการทหารอยู่ในกองทัพบกเยอรมัน อยู่จนปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๕ จึงได้ไปศึกษาวิชาเฉพาะต่อไปอีกในเดนมาร์ก รวมเวลาที่ท่านได้ใช้ศึกษาวิชาการในต่างประเทศร่วม ๑๐ ปี
เมื่อได้รับการศึกษามาอย่างดีเช่นนี้ และทั้งเมื่อกลับเข้ามารับราชการในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ก็ยังเอาใจใส่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ก็เป็นธรรมดาในระหว่างที่รับราชการ พระยาพหลฯ ย่อมจะใส่ใจในความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองเป็นอันมาก และถ้าความคิดความเห็นที่ได้แสดงออกไปเพื่อประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองไม่ได้รับความนำพาจากผู้ใหญ่แล้วก็คงจะไม่พอใจเป็นแน่
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ความรู้สึกไม่พอใจอย่างแรงอันแรก เกิดขึ้นเนื่องในการประชุมประจำปีของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หรือก่อนหน้านั้นท่านจำไม่ได้แน่ การประชุมปรึกษาข้อราชการประจำปีที่กระทรวงกลาโหมนั้น มีประเพณีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานเป็นจอมทัพทรงนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่ พวกแม่ทัพและผู้บัญชาการต่างๆ ชั้นนายพล ประมาณไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เข้าร่วมในการประชุมด้วย ในตำแหน่งจะเรทหารปืนใหญ่ ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นผู้อ่อนอาวุโสที่สุดในที่ประชุม การประชุมนายทหารผู้ใหญ่ประจำปีเช่นนี้เป็นการประชุมเพื่อที่จะฟังความคิดความเห็นนายทหารผู้ใหญ่ในเรื่องทั่วๆ ไปในราชการทหาร พระยาพหลฯ ได้เสนอเรื่องสำคัญให้ที่ประชุมพิจารณา ๒ เรื่อง ท่านจำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่จำได้แน่นอนว่าได้รับการโต้แย้งคัดค้านจากพระยาสุรเสนา เจ้ากรมเกียกกาย เมื่อได้ตอบโต้กันอยู่พักหนึ่ง ปรากฏว่าความเห็นของเจ้าคุณพหลฯ มีน้ำหนักเป็นที่พอใจของที่ประชุม แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อนายทหารผู้ใหญ่ได้คัดด้านความเห็นของท่านแล้ว องค์จอมทัพผู้เป็นประธาน ก็ให้ถือตามความเห็นของผู้มีอาวุโส เรื่องสำคัญสองเรื่องที่ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เสนอขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมนายทหารผู้ใหญ่ชั้นนายพลนั้นก็เป็นอันตกไป
อีกครั้งหนึ่ง มีเรื่องรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอขายปืนสโตร๊คบันให้แก่กองทัพไทย ท่านจเรทหารปืนใหญ่เป็นผู้ที่อ่านหนังสือว่าด้วยการทหารของเยอรมันอยู่เป็นนิจ ความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอาวุธยุทธภัณฑ์จึงไม่ใคร่จะผ่านความรู้ของท่านไปได้ และเกี่ยวกับปืนสโตร๊คบันที่ฝรั่งเศสได้เสนอขายให้แก่กองทัพไทยนี้ พระยาพหลฯ ได้ทราบว่าเป็นปืนที่ได้นำออกใช้ตั้งแต่มหายุทธสงคราม ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘ ซึ่งเมื่อตกมา ถึงสมัยนี้ก็นับว่าเป็นปืนที่ล้าสมัยเสียแล้ว ดังนั้นในการประชุมนายทหาร ผู้ใหญ่เพื่อปรึกษาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งมีกรมขุนสิงห์ฯ[1] เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่หลายท่าน มีหม่อมเจ้าอลงกฎ พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาเสนาสงคราม พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ พระยาอภัยสงคราม (ท่านผู้นี้เวลานี้เป็นกรรมการที่ปรึกษาป้องกันพระราชอาณาจักร) และนายทหารผู้ใหญ่อื่นๆ อีก โดยที่ได้รู้ประวัติของปืนสโตร๊คบันดังกล่าวแล้ว เจ้าคุณพหลฯ จึงได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบ ว่าปืนสโตร๊คบันเป็นปืนที่ล้าสมัย ไม่สมควรจะซื้อไว้ใช้ในกองทัพไทย ถึงแม้จะได้อ้างหลักฐานประกอบคำชี้แจงแล้วก็ดี แต่ก็ไม่ได้รับความสนับสนุนจากที่ประชุม เป็นอันว่าความเห็นของนายพันเอกจเรทหารปืนใหญ่ ยังเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้อยู่นั่นเอง แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่ประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผลก็ตาม
เมื่อเอ่ยพระนามพระยาอภัยสงคราม เจ้าคุณพหลฯ หัวเราะแล้วพูดว่า “ผมจำได้ดีว่าในครั้งนั้น เมื่อเลิกประชุมแล้วผมยังได้พูดต่อว่าพระยาอภัยสงคราม ว่าทำไมไม่ช่วยกันคัดค้านเล่า พระยาอภัยฯ ยังได้ตอบว่าก็อยากจะช่วยค้านเหมือนกัน แต่เห็นว่าจะค้านไปก็ไม่ไหวจึงเลยนิ่งเสีย”
ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เล่าต่อไปว่า ต่อมาในคืนหนึ่งก็มีการกินเลี้ยงกันในบรรดานายทหารผู้ใหญ่ที่วังพญาไท ซึ่งมีทูตทหารฝรั่งเศสร่วมรับประทานอยู่ด้วย เจ้าคุณพหลฯ ได้โอกาสจึงถามทูตทหารฝรั่งเศสตามตรงว่า “ปืนที่รัฐบาลของท่านเสนอขายให้แก่กองทัพไทยนั้น เป็นปืนรุ่นเก่าแต่ครั้งมหาสงครามใช่หรือไม่” ท่านทูตผู้นั้นอึกอักอยู่ครู่หนึ่งแล้วกลับย้อนถามว่า “ท่านทราบได้อย่างไรเล่า” เจ้าคุณพหลฯ จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าทราบ เพราะว่าข้าพเจ้าศึกษาความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอาวุธต่างๆ จากหนังสือข่าวทหารต่างประเทศอยู่เสมอ” เมื่อได้รับการยืนยันเช่นนั้นทูตทหารฝรั่งเศสจึงยอมรับว่าเป็นความจริง เจ้าคุณพหลฯ จึงถามต่อไปว่า “เมื่อท่านเองก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ปืนสโตร๊คบันเป็นอาวุธที่ล้าสมัยดังนั้นแล้ว เหตุใดจึงเสนอขายให้แก่กองทัพของเราเล่า ท่านมิได้คิดหรือว่า กองทัพไทยควรจะมีอาวุธที่ทันสมัยไว้ใช้ในการป้องกันประเทศของตน” ทูตทหารฝรั่งเศส ผู้นั้นตอบเลี่ยงไปว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดว่า เมืองไทยจะต้องรบกับใคร ในเวลานี้กองทัพไทยควรจะมีอาวุธก็แต่สำหรับใช้ปราบการจลาจลภายในบ้านเท่านั้น และถ้าเพื่อความประสงค์ข้อนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่าปืนสโตร๊คบัน จะทำประโยชน์ได้อย่างเป็นที่พอใจทีเดียว”
อ้างอิงภาพ: the101world และเอกสารส่วนบุคคลรวินทร์ คำโพธิ์ทอง
หมายเหตุ: คงอักขร วรรคตอน และวิธีสะกดตามต้นฉบับ
ที่มา : กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ: ชนนิยม, 2557), หน้าที่ 1-11, 38-41.
[1] กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร