ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ละเมิดรัฐธรรมนูญ - ทหารคุมสภา

1
เมษายน
2567

ไม่มีการปฏิวัติในประเทศใดๆ ที่บรรลุจุดประสงค์แห่งการปฏิวัติอย่างแท้จริง ถ้าหากไม่วางนโยบายและดำเนินการเพื่อปฏิรูปการเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ประเทศใดก็ตามที่ไม่มีโครงการหรือแผนการเศรษฐกิจ ที่จะบริหารและดำเนินการไปตามลำดับ ประเทศนั้นย่อมเจริญได้ยากหรือไม่เจริญเลย

กล่าวคือราษฎรยังมีความเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็นมาก่อน ตามแบบพริมิตีฟนั้นเอง ขอให้ดูประเทศไทยเป็นตัวอย่าง ด้วยเหตุนี้ภายหลังการปฏิวัติไร้เลือด แล้วคณะราษฎรจึงยึดมั่นอยู่ในหลักการที่จะต้องวางโครงการเศรษฐกิจขึ้น และต้องดำเนินการเศรษฐกิจตามโครงการที่วางขึ้นแล้วนั้นไปตามระยะเวลา

เมื่อร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจถูกเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีพร้อมกับรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการ พระยามโนฯ กับพวกของตนได้หน่วงเหนี่ยวการพิจารณาเรื่องนี้เสีย แต่พระยามโนฯ และพวกที่ไม่เห็นด้วยนั้น มิได้อยู่เฉย ตรงข้ามได้กระทำการเป็นศัตรูต่ออุดมคติและความปรารถนาของคณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์

กล่าวคือ นอกจากการเพ็ดทูลต่อพระปกเกล้าฯ แล้วยังได้แพร่ข่าวอันเป็นเท็จออกไปในหมู่ราษฎรและบรรดาพ่อค้าพาณิชย์ว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” นั้น เป็นคอมมูนิสม์ และคณะราษฎรจะใช้โครงการเศรษฐกิจอันเป็นคอมมูนิสม์ในการดำเนินการเศรษฐกิจของประเทศ และซ้ำหาว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมูนิสต์ ที่สำคัญที่สุด การกระทำของพระยามโนฯ และพวกนี้พระยาทรงสุรเดชกับพวก อันเป็นฝ่ายกุมกำลังทหารอยู่ก็ได้ทราบและมีได้ทำการคัดค้านอย่างใด เป็นการแน่นอน เพราะพระยาทรงฯ และพวกเป็นใจกับพระยามโนฯ เช่นนั้น พระยามโนฯ จึงได้กำลังและได้โอกาสในการที่จะฟาดฟัน ดร.ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ผู้มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับตนให้ยับลงไปด้วยกัน

พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ย่อมนำความไม่พอใจมาสู่คณะราษฎร ทั้งที่เป็นพลเรือนและแม้ทหารที่ยังยืนหยัดต่อสู้ในอุดมคติของตน เขาเหล่านั้นต้องการที่จะวางนโยบายและโครงการเศรษฐกิจของชาติขึ้น เมื่อหากมีอุปสรรคจากคณะรัฐบาล เขาก็ยังสู้ที่จะเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อสภาผู้แทนราษฎร และต่อราษฎรทั้งหลาย

ในเวลาเดียวกันนี้ราษฎรเป็นจำนวนมากได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎร เพื่อเป็นกำลังหนุนและสนับสนุนการกระทำของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และราษฎรส่วนหนึ่ง ก็คือข้าราชการซึ่งเป็นผู้ที่ันับได้ว่าได้รับการศึกษาดี และมีความรู้ความคิดดีกว่าราษฎรทั่วๆ ไป

 


พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)

 

พระยามโนฯ เห็นปฏิกิริยาของราษฎรเกิดขึ้นแก่ตนเช่นนั้น ก็มีมติสั่งข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไม่ว่าประเภทใดๆ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ทรงเลือกตั้งด้วย ให้ลาออกจากสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเสีย และยิ่งกว่านั้น ข้าราชการผู้ใดไม่ลาออกไม่นำใบอนุมัติให้ออกของสมาคมไปยื่นต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว จะไม่ได้รับเงินเดือน

การกระทำของพระยามโนฯ ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๕ นายมังกร สามเสน กล่าวตำหนิการกระทำนี้ว่า……

“การที่ห้ามมิให้ข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมดั่งคำสั่งที่ออกไปแล้วนั้นไม่ชอบ เป็นการทำลายรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔ นี้ เพราะเป็นการตัดสิทธิของราษฎร….เป็นการตัดกำลังของชาติ และการที่คณะรัฐมนตรีได้ทำไปแล้วนั้นเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ….”

พระยานิติศาสตร์ไพศาล กล่าวว่า

“...... วิธีการที่ทำนี้ควรอาศัยอำนาจกฎหมายห้าม….”

คือไม่ใช่ทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายอันเป็นแบบเผด็จการแบบ “มโนเครซี่”และแล้วการโต้คารมระหว่างผู้ก่อการ ควง อภัยวงศ์ ซึ่งในเวลานั้นก็คือหลวงโกวิทอภัยวงศ์ กับขุนนางเก่า พระยาศรีวิสารวาจาก็ได้มีขึ้น โดยที่พระยาศรีวิสารวาจาแถลงว่า

“....ในเรื่องที่รัฐบาลห้ามมิให้ข้าราชการประจำเข้าสมาคมการเมืองใดๆ นี้ ไม่ใช่เป็นการตัดสิทธิแต่อย่างใด กล่าวคือถ้าผู้ใดอยากเข้าสมาคมการเมืองก็ควรลาออกจากราชการ

และแถลงถึงวิธีการเช่นนี้ที่มีทำอยู่ในบางประเทศ

 


การประชุมสภาครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ที่มาของภาพ : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

นายควง อภัยวงศ์ กล่าวว่า…

“ตามที่พระยาศรีวิสารวาจาแถลงมาแล้วเป็นคนละกิ่ง……ควรออกเป็นพระราชบัญญัติห้ามเสียแล้วจะถอนเอาคำสั่งนั้นคืนจะได้ถูกต้อง ไม่ควรจะชักช้าอยู่ เมื่อรู้ตัวว่าผิดและถ้าเป็นตัวข้าพเจ้าเองแล้วในการทำผิดยังขืนผิดอยู่เช่นนี้แล้วจะรู้สึกละอายมาก”

นายจรูญ สืบแสง ตำหนิการกระทำของพระยามโนฯ ว่า

“....คณะรัฐมนตรีก็รู้สึกว่าตัวผิดแต่ไม่ยอมรับ....ที่ตอบมานี้ก็ไม่ตรงคำถาม ปัญหาของเรื่องมีว่า คำสั่งที่ออกนั้นผิดหรือถูกและเมื่อรู้ว่าผิด ทำไมจึงมาทำผิด และการที่จะห้ามข้าราชการไม่ให้เกี่ยวข้องการเมืองว่าไม่สมควรนั้น ทำไมจึงเพิ่งมารู้ตัวว่าไม่ควร เดี๋ยวนี้ไม่มี foresight พิจารณาสืบสวนให้แน่นอนจนกระทั่งได้ตั้งสมาคมขึ้นให้ข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกทั้งประเทศแล้วจึงมาตื่นขึ้น ก็แหละเดี๋ยวนี้รู้ตัวดีแล้ว ก็ควรถอนคำสั่งและออกเป็นกฎหมายเสีย”

เมื่อพระยาศรีวิสารฯ แก้ตัวว่า ข้าราชการนั้นเสมือนเป็นลูกจ้างรัฐบาล อย่างที่เป็นอยู่ในบางประเทศ นายควง อภัยวงค์ก็โต้เอาว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ treat ข้าราชการเป็นลูกจ้าง เพราะไม่มีกฎหมายเป็นลูกจ้าง และยกตัวอย่างว่า

“เช่นตัวอย่างคนในบังคับบัญชาของข้าพเจ้าเป็นพนักงานโทรศัพท์ขึ้นต่อสายที่ยศเสตกลงมาตายก็ไม่ได้รับเงินตอบแทนเลี้ยงชีพบุตรภรรยาอะไร เพราะไม่มี assurance จะไปถือว่าเป็นลูกจ้างไม่ได้”

ดร. ปรีดี พนมยงค์ ภายหลังที่ได้อภิปรายว่า

“การที่จะห้ามข้าราชการเข้าสมาคมนั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่ แล้วก็ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า สภานั้นทรงไว้ซึ่งอำนาจเต็มที่ที่จะตีความรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเมื่อสภาลงมติไปเช่นนั้น คำสั่งที่ออกไปแล้วก็เป็นโมฆะ”

และในที่สุดรัฐบาลก็ให้คำตอบที่เป็นเหตุผลไม่ได้ ได้แต่จะรับไปปรึกษากัน รัฐบาลพระยามโนฯ ทำผิดรัฐธรรมนูญละเมิดสิทธิราษฎรเสียแล้ว

 


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

 

เมื่อเอาชนะด้วยเหตุผลไม่ได้ ก็ต้องเอาชนะด้วยวิธีการอย่างอื่นต่อไปอีก ความประสงค์ของพระยามโนฯ ก็คือต้องการคุมสภา ต้องการให้รัฐบาลคุมสภา ไม่ใช่สภาคุมรัฐบาล เจตนาของพระยามโนฯ เช่นนี้ พระยามโนฯ ได้แสดงต่อ ดร. ปรีดี พนมยงค์เมื่อคราวพิจารณากฎหมายเลือกตั้งที่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้ยกร่างขึ้นและเท่าที่ปรากฏมาแล้วการควบคุมสภาด้วยเหตุผลนั้น พระยามโนฯ ไม่มีเหตุผลพอที่จะให้สภาเชื่อถือ ฉะนั้นในขั้นต่อมาการกระทำของพวกขุนนางเก่าเหล่านี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และไม่ต้องสงสัย มีท่าทีอันเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ

ในการประชุมสภาครั้งต่อมาในวันที่ ๓๑ มีนาคม นั้น โดยคำสั่งพระยามโนฯ ร่วมกับพระยาทรงสุรเดช ทหารหนึ่งกองร้อยได้เข้าควบคุมสภา ทำการตรวจค้นตัวสมาชิก ว่าเพื่อค้นหาปืน และเมื่อสมาชิกเข้าสู่ที่ประชุมแล้วจะออกไปมิได้ การกระทำเช่นนี้นำความไม่พอใจมาสู่สมาชิกเป็นอันมาก ไม่ต่างอะไรกับ การกระทำของครอมแวลล์ต่อสภา อันปรากฏมาในประวัติศาสตร์อังกฤษ ม.ล.กรีเดชาติวงศ์ ลุกขึ้นและถามในสภาว่า

“ทหารได้คำสั่งมาจากใครและมีอำนาจอันใดจึงตรวจปืนเช่นนี้”

พระยามโนฯ แถลงตอบว่า

“ทหารนั้นว่าเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องความสงบ เมื่อวานนี้ความปรากฏแก่เขาว่ามีบางคนพกอาวุธเข้ามา เป็นที่น่าหวาดเสียวแก่สมาชิกเมื่อเขาถือว่าเป็นหน้าที่จะระงับความสงบ จึงขออย่าให้พกอาวุธเข้ามาในที่ประชุมเลย”

ม.ล.กรีฯ กล่าวว่า

“เหตุใดจึงไม่ขออนุญาตต่อสภานี้ ความจริงสภานี้เป็นสภาอันสูงสุดของแผ่นดิน”

นายควง อภัยวงศ์ กล่าวตำหนิอย่างรุนแรงว่า

“การกระทำครั้งนี้ผิดมาก รู้สึกว่าคณะรัฐมนตรีนี้จะกลับกลายเป็นดิคเตเตอร์ไปเสียแล้ว อำนาจของสภาย่อมอยู่เหนือคณะรัฐมนตรีซึ่งทราบอยู่ทุกคนแล้ว และประธานสภาฯ มีอำนาจเพียงใด เมื่อวานนี้พูดกันอยู่หยกๆ เรื่องการห้ามข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมการเมือง มาวันนี้ก็เอาเข้าอีก ดูช่างไม่ให้เกียรติยศแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย.......หรือจะเดินแบบดิคเตเตอร์ชิปก็ให้รู้ไป”

นายจรูญ สืบแสง กล่าวตำหนิการกระทำนี้ว่า…

“....ทหารที่เอามานี้ดูเหมือนว่าไม่เอามาเพื่อรักษาการ แต่เอามาเพื่อท้าทายให้รบ ซึ่งใครจะรู้สึกอย่างไร อำนาจที่บังคับบัญชาทหารเช่นนี้เป็นอำนาจของดิคเตเตอร์ ผิดกับการปกครองอย่างที่มีรัฐธรรมนูญ เมื่อคราวก่อนนี้ก็ทีหนึ่งคือเมื่อวันพุธประชุมพิเศษ คณะรัฐมนตรีนึกว่าจะมีโว๊ตคอนพีเดนซ์ สังเกตดูมีทหารเข้ามาอยู่มากตามบริเวณข้างนอกและดูเหมือนเอาลูกบอมป์มาด้วยสำหรับคอยระวังเราโว๊ต การที่ทำเช่นนี้เพราะอะไร...จะนำทหารเข้ามาเพื่อล้มสภาหรือ...ถ้ามัวใช้อำนาจอยู่เช่นนี้แล้วตราบใด พลเมืองก็จะไม่มีความสงบสุขอยู่ตราบนั้น”

สมาชิกอื่นๆ อีกหลายนายที่ได้กล่าวตำหนิการกระทำของรัฐบาลว่า เป็นการเผด็จการ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรจะเกิดขั้น ถ้าระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญยังอยู่และศักด์สิทธิ์ และต้องการที่จะรู้ว่า ถ้าไม่ใช่ทหารกระทำการเช่นนี้แล้ว กำลังตำรวจที่มีอยู่นั้นพอที่จะให้ความคุ้มกันแก่สภาได้หรือไม่ เพราะกำลังตำรวจก็มีอยู่มากมายถมไป

เป็นความจริงที่ว่า สมาชิกหลายนายที่เป็นคณะราษฎรได้พกอาวุธติดตัว โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจตามระเบียบ แต่มีใช่พกติดตัวเพื่อที่จะทำร้ายใคร แต่เพราะกลัวว่าจะมีการถูกลอบทำร้าย เพราะในเวลานั้นเป็นระยะที่เปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ บรรดาผู้ที่เสียอำนาจไป ก็อาจจะมีที่ไม่พอใจ และที่คอยคิดร้ายคณะราษฎรอยู่

แต่การกระทำของพระยามโนฯ และรัฐบาลอันมีพระยามโนฯ เผด็จการอยู่เช่นนี้ หาได้กระทำไปโดยที่จะเป็นการคุ้มกันสมาชิกมิให้ถูกทำร้ายหรือทำร้ายกันเองไม่ พระยามโนฯ ทำเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น คือ ข่มขู่สภาและสมาชิกเท่านั้น ในที่สุดแห่งการอภิปราย พระยามโนฯ หรือรัฐบาลก็ไม่อาจให้คำตอบที่เป็นเหตุผลพอที่จะรับฟังได้แน่นอน เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ได้อาศัยเหตุผลที่ชอบอันใด รัฐบาลเผด็จการอย่างที่สมาชิกสภาได้กล่าวแล้ว

ดร. ปรีดี พนมยงค์ได้แถลงในที่ประชุมวันนั้น วันที่เขาไม่คิดเลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น และจะเป็นวันสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นสภา สถาบันแห่งประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นด้วยสมองของเขาและด้วยกำลังของเพื่อนร่วมตายทั้งหลาย โดยมุ่งหมายสั่งสอนพระยามโนฯ ผู้อาวุโสว่า

“ในเรื่องพกอาวุธนี้ ความจริงเมื่อตกลงกันว่า จะไม่พกอาวุธปืนแล้วก็ยินดี แต่การที่ยินดีนี้ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่พกอาวุธปืน ยินดีในฐานะที่ว่าเป็นวิธีอันหนึ่งที่ฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายจะต้องรู้สึกว่า การกระทำต่อไปนั้นต้องเป็นแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่กระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในอันที่จะใช้อำนาจ เราต้องทำตามรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะทำการปฏิญาณกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมุ่งหวังที่จะทำการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีพลิกแพลงอย่างใดแล้วก็จะทำให้ความรู้สึกระลึกเหตุผลที่จะดำเนินต่อไปได้ดี อีกประการหนึ่งขอให้เป็นที่เข้าใจเสียด้วยว่า ในการที่เราพูดตำหนิการตรวจค้นอาวุธปืนกันครั้งนี้ ความจริงไม่ได้ตำหนิการกระทำตามคำสั่ง เรากลับเคารพต่อผู้ที่ปฏิบัติการจริงจังต่อคำสั่ง อันควรต้องชมเชย ฉะนั้นขอผู้ที่กระทำการนั้นอย่าได้เข้าใจผิดหรือน้อยใจ ขอได้รับความขอบใจและเห็นใจจากพวกเราด้วย”

ดร. ปรีดี พนมยงค์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถตลอดมาตั้งแต่ต้น ทุกๆ ด้าน ในอันที่จะนำประเทศชาติไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและราษฎรได้ประสบความสุขสมบูรณ์ และแม้ในวันที่ ๓๑ นี้ ก็ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี ๒๔๗๖ ใครๆ ผู้สุจริตจะนึกบ้างว่า ค่ำวันนั้นจะมีอะไรที่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ. พระนคร: สิริธรรมนคร, 2493, หน้า 247-256.