ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 25)

22
มกราคม
2568

Focus

  • พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี เขียนในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า ไว้ว่างานที่ตนได้รับความสำเร็จ มี 1.ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ 2. ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจของ อ.ปรีดี 3.ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เลิกคณะราษฎรและพุทธสมาคม โดยนายปรีดี ได้โต้แย้งจากบันทึกคำประกอบฯ ฉบับนี้
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องคดีฟ้องฯ
หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 

ข้อสังเกต

ประการที่ 1

ในหนังสือของ พล.ท. ประยูรฯ หน้า 236 ท่านผู้นี้โยนความรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว ข้างบนนั้นไปให้พระยาทรงคนเดียว โดยพล.ท. ประยูรฯ เขียนว่า

“ขอยืนยันว่าการปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นเรื่องของพระยาทรงสุรเดช ผู้มีอำนาจฝ่ายทหารเป็นผู้สั่งการ หาใช่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีประการใดไม่”

แต่ตามเอกสารหลักฐานทางราชกิจจานุเบกษาที่พระยามโนฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีลงนามพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 นั้น พร้อมกับรัฐมนตรีอีกหลายท่านด้วย

ประการที่ 2

แม้พล.ท.ประยูรฯ จะได้เขียนบ่ายเบี่ยงดังกล่าวในประการที่ 1 นั้นก็ดี แต่โบราณไทยกล่าว ไว้ว่า “ไก่จะร้องกะต๊าก” ขึ้นเอง ดังนั้นในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 289 ท่านจึงได้กล่าวถึงงานที่ท่านได้รับความสำเร็จไว้ดังต่อไปนี้

 “แต่ข้าพเจ้าได้รับความสําเร็จของผลงานทุกท่านคือ :

1. ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ

2. ได้ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจพลิกแผ่นดินของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

3. ได้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ และเลิกคำว่า กรรมการราษฎร (แทนเสนาบดี) มาเป็นรัฐมนตรี ที่ยังใช้กันอยู่จนกาลปัจจุบันเป็นพรรคการเมือง ได้เลิกคณะราษฎรและพุทธสมาคมที่จะเอาพระสงฆ์องค์เจ้ามาแตกแยก

ทั้งนี้แสดงว่าพล.ท.ประยูร มีส่วนเป็นตัวการดังกล่าวนั้น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่า พล.ท.ประยูรฯประสบความสำเร็จในการฟื้นทรรศนะเจ้าขุนมูลนายของท่าน และการดําเนินต่อไปตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับ 1 เมษายน 2476 ซึ่งมีการสถาปนาระบบเผด็จการชนิดหนึ่งขึ้นแทนระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475

(2)

ฟื้นทรรศนะเผด็จการทหารกับเผด็จการนาซี

การปฏิบัติของ พล.ท. ประยูรภายหลัง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่แสดงถึงจิตใจของท่านที่ นิยมระบบเผด็จการมาให้ปรากฏออกมานั้น ก็มีคนจำนวนไม่น้อยทราบกันอยู่แล้ว

ส่วนเอกสารหลักฐานนั้นก็ปรากฏตามคำให้การของ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อดีตอธิบดีตำรวจและอดีตรองนายกรัฐมนตรี, พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, นายทวี บุญยเกตุ อยู่นายกรัฐมนตรี. ซึ่งทั้ง 3 ท่านได้ปฏิญาณตนแล้วให้การต่อคณะกรรมการอาชญากรสงครามไว้ดังต่อไปนี้

(ก)

คำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งให้การต่อคณะกรรมการอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2489 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“(4) พล.ต. ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้นิยมฝ่ายอักษะเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมัน ความรู้ในทางการเมืองมีบ้างพอสมควร เป็นผู้ที่อยากจะดำรงตำแหน่งในราชการสูง ๆ หลายตำแหน่ง การสั่งงานและการปกครองของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ที่บุคคลผู้ที่ดำรงอยู่หรือสั่งไปไม่เป็นที่นิยมชมชอบ บุคคลผู้ที่เป็นผู้นิยมชมชอบในลัทธิเผด็จการอย่างเยอรมัน ด้วยเหตุนี้ จอมพลป. จึงได้ใช้บุคคลผู้นี้เป็นเครื่องมือเพื่อจะดำเนินการตามระบอบลัทธิเผด็จการอย่างประเทศเยอรมัน เช่น แต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมยุวชนและเป็นรองอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย...บุคคลผู้ที่เป็นผู้นิยมชมชอบจอมพล.ป. และอยากให้จอมพลป. ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเรียบ ๆ ไป ตัวจะได้มีตำแหน่งมีอำนาจอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อจอมพลป. ลาออกแล้วไม่ออก พล.ต. ประยูรฯ ก็ได้พูดโทรศัพท์มาถึงข้าฯเป็นเชิงข่มขู่โดยเอานายทหารญี่ปุ่นขึ้นมาบังหน้าดังที่ข้าฯ ได้ให้การมาแล้ว…”

(ข)

คําให้การของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ปฏิญาณตนแล้วให้การต่อคณะกรรมการอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 มีความตอนดังต่อไปนี้

“คนในคณะรัฐมนตรีหรือบุคคลที่สนิทชิดชอบจอมพลป. มีหลายคนที่นิยมชมชอบฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะ และมีการพูดในเชิงโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นดีเห็นงามกับฝ่ายอักษะ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังด้วยตนเอง มีฝ่ายที่นิยมอักษะและพูดว่าฝ่ายอักษะจะต้องชนะสงครามแน่นอน และฝ่ายอังกฤษและอเมริกาจะต้องเป็นฝ่ายแพ้แน่ มี ๑) นายประยูร ภมรมนตรี…”

(ค)

คําให้การนายทวี บุณยเกตุ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี

ได้ปฏิญาณตนแล้วให้การต่อคณะกรรมการอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๘ มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“เมื่อเกิดสงครามด้านยุโรปแถว ข้าพเจ้าจำได้ว่าจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ส่งพลตรีประยูร ภมรมนตรีไปยุโรปที่จำได้ไปหลายประเทศรวมทั้งประเทศอิตาลีและเยอรมันด้วย จะไปด้วยเรื่องอะไรไม่ทราบ ไปสักประมาณ ๖-๘ เดือนกลับมา นายประยูร ภมรมนตรีได้เล่าให้ฟังว่าได้พบบุคคลสำคัญในคณะนาซี เช่น จอมพลเกอริง กลับมาแล้วนายพลตรีประยูร ภมรมนตรี ได้ปรับปรุงงานยุวชน…ท่าทีของนายประยูร ภมรมนตรีนิยมชมชอบอยู่ในลัทธินาซีและฟัสซิส นอกจากนี้ยังเล่าให้ฟังถึงกำลังของเยอรมนีและอาวุธยุทธภัณฑ์ว่าเข้มแข็งใหญ่โตและพูดจูงใจให้คนคล้อยตามว่าเยอรมนีจะต้องชนะสงครามเด็ดขาด…”

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์,      (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :