Focus
- ในวาระชาตกาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเดือนมีนาคม บทความนี้จึงนำเสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับพระยาพหลฯ เรื่องตรวจราชการยังภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2476 โดยมุ่งทำความเข้าใจสภาพท้องถิ่นของอีสานหลังการอภิวัฒน์สยาม และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสมัยคณะราษฎรได้มีนโยบายเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเพื่อราษฎรในท้องถิ่นห่างไกล ซึ่งได้ดำเนินตามหลัก 6 ประการ

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
ที่มา: ชีวิตที่โคจรมาพบกันของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ พระยาพหลพลพยุหเสนา
29 มีนาคม นับเป็นวันครบรอบชาตกาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำคณะราษฎรสายทหารที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 2 เนื่องจากท่านเจ้าคุณลืมตายลโลกหนแรกในวันนี้เมื่อ พ.ศ. 2430
จำแม่นว่า ผมเคยเขียนถึงเรื่องราวที่ พระยาพหลฯ ได้ออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนถิ่นแคว้นแดนอีสานภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ล่วงผ่านมาประมาณ 10 เดือน หรือตรงกับช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งขณะนั้นยังปฏิบัติภารกิจในฐานะรัฐมนตรีผู้บัญชาการทหารบกในรัฐบาลที่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยท่านเจ้าคุณหมั่นสนทนากับผู้ปกครองท้องที่และราษฎรตามรายทาง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน อีกทั้งยังสังเกตการณ์ด้วยตนเอง

คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา
ที่มา: พระยาพหลพลพยุหเสนา : “อยู่ในที่เปนผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลน”
ครั้นเดินทางกลับคืนสู่กรุงเทพมหานครแล้ว พระยาพหลฯ จึงเขียนบันทึกรายงานตรวจราชการทหารทางภาคอีสานเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ จำนวน 10 หัวข้อ อันได้แก่
1. พลเมือง
2. อาชีพ
3. ภาษีอากร
4. การศึกษา
5. การสาธารณสุข
6. คมนาคม
7. คนต่างด้าวเข้าเมือง
8. การตำรวจ
9. การบำรุงข้าราชการผู้ประจำตามชายแดน
10. ความรวม
สำหรับข้อเขียนนี้ จะมุ่งเน้นให้ความสนใจไปที่ด้านการคมนาคมเป็นหลัก ซึ่ง พระยาพหลฯ เขียนไว้ในบันทึกการตรวจราชการหัวข้อที่ 6 ว่า
“ ๑. ชาวมณฑลอุดรพากันร่ำร้องในเรื่องคมนาคมเป็นอันมาก ถ้ามีถนนหนทางเรียบร้อยให้ยวดยานบรรทุกขนสินค้าไปจำหน่ายต่างท้องที่ได้สะดวกรวดเร็วและเสียค่าบรรทุกน้อยแล้ว จะเป็นอุบายชักจูงราษฎรประกอบการอาชีพให้เจริญยิ่งขึ้น.
ภูมิภาคแห่งมณฑลอุดรเป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ มีลักษณะคล้ายลูกคลื่น ที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา.ที่ดอนเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์และเต็มไปด้วยไม้เบญจพรรณ์อันมีค่า และทราบว่าตามภูเขาก็มีแร่เช่นเหล็กและตะกั่วเหล่านี้อีก
แม้ธรรมชาติจะอำนวยผลให้เพียงใด ถ้าขาดการคมนาคมที่ดี ความเจริญย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะทำได้แล้ว, หาได้แล้ว ไม่ทราบว่าจะนำไปจำหน่ายได้อย่างไร ถึงจะนำไปได้ ราคาค่าบรรทุกก็มากจนเหลือกำลังสู้, ดังนี้จึ่งเป็นเหตุให้ราษฎรระอาใจ คงทำแต่เพียงพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กลายเป็นผู้มักน้อย เป็นนิสสัยสืบเนื่องกันมา ฉะนั้นจึงเห็นว่าถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องคมนาคมเสียก่อนแล้ว จะคิดบำรุงส่งเสริมอาชีพของพลเมืองมณฑลอุดรอย่างใดๆ อื่น จะเป็นผลสำเร็จตามความมุ่งหมายได้ยาก ปัจจัยสำคัญที่สุดจึงตกอยู่ที่การ คมนาคม
อนึ่ง ถนนหนทางยังเป็นสิ่งสำคัญในทางยุทธศาสตร์อีกด้วย.
รัฐบาลได้ตกลงจะสร้างทางรถไฟจากขอนแก่นไปอุดรแล้ว จึงขอส่งเสริมให้เร่งรัดรีบทำ, ทางเส้นนี้จะเป็นสายหลัก, ให้ถนนจากจังหวัดต่างๆมาเชื่อม คือ ให้อุดรเป็นศูนย์กลางแล้วทำถนนไปหนองคายสายหนึ่ง, ไปเมืองเลยสายหนึ่ง, ไปสกลนครและนครพนมสายหนึ่ง
แม้ทางจากกรุงเทพ ฯ ไปถึงเมืองหนองคายเดิรได้สะดวกทุกฤดูกาล จะยังประโยชน์ในทางได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีก ด้วยเวียงจันทร์เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณทลหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส มีชาวฝรั่งเศสอยู่ที่นั่นมาก และเวียงจันทร์นับว่าเป็นเมืองมีชื่อเสียงควรแก่การชมเพื่อการศึกษา เหมาะแก่พวกนักท่องเที่ยวจะเดิรทางไปดู, การเดิรทางไปที่นั้นโดยผ่านสยาม จะใช้เวลาเพียง ๔ วันเป็นอย่างมาก, แต่ถ้าจะไปขึ้นบกที่ไซง่อน จะต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า.
การทำถนน จะต้องทำทางให้เกวียนเดิรได้. ขนานกันไปต่างหาก ถ้ามิฉะนั้นถนนจะเสีย ในเวลานี้แม้จะมีถนนพูนดินหลายแห่งซึ่งทำทางให้เกวียนเดิรเป็นคนละสายอยู่แล้ว. พวกเกวียนยังคงขืนเดิรไปตามถนน. ทำให้ถนนเสียมากขึ้นและเร็วขึ้น ทางฝ่ายผู้ปกครองพากันอึกอักอยู่ว่าจะบังคับการนี้ได้สถานใด จะใช้บทกฎหมายลักษณะอาชญาซึ่งว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอันชอบด้วยกฎหมายจะได้หรือไม่ หรือจะต้องมีบทกฎหมายสำหรับบังคับการนี้เพิ่มขึ้นอีก ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นสมควรให้ได้รับความพิจารณาด้วย เพื่อหาทางป้องกัน.
การทำถนนตามวิธี โดยใช้ดินพูนขึ้นแต่อย่างเดียวนั้นไม่เป็นการถาวร และเมื่อถนนชำรุด ก็เกณฑ์ขอแรงราษฎรมาทำปีหนึ่งไม่เกิน ๑๐ วัน โดยเอาดินมาเพิ่มเติมและกลบร่องที่ลึกๆ ดินที่เพิ่มเติมและคุ้ยเขี่ยขึ้นใหม่ไม่แน่น มิช้ามินานก็ชำรุดอีก , และพอถูกฝนกลับเป็นหล่มโคลนทำให้รถติดยิ่งขึ้นเป็นการเสียเวลา เสียแรงราษฎรโดยได้ประโยชน์น้อยเต็มที และพอเข้าฤดูฝนรถก็คงเดิรไม่ได้ตามเคย ฉะนั้น จึ่งเห็นควรให้ทำเป็นถนนโรยหินเสียทีเดียว แม้จะไม่เร็วทันใจก็เป็นประโยชน์อยู่ถาวรยืดยาว.
ในระหว่างเวลาที่การเงินฝืดเคือง มีหนทางลดรายจ่ายในการสร้างถนนลงได้บ้าง คือให้ทางผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นหัวหน้า มีเจ้าพนักงานกรมทางเป็นผู้ช่วยในทางวิทยาการ ส่วนแรงงานนั้น ใช้วิธีเกณฑ์แรงราษฎรตามท้องถิ่น และรัฐบาลจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้คนหนึ่งวันละ ๑๕ สตางค์ ให้สูงกว่าเบี้ยเลี้ยงนักโทษเล็กน้อย เพื่อเป็นทางช่วยเหลือและให้พ้นข้อครหา ถ้ายังไม่มีเงินจะจ่ายได้ ก็จำต้องใช้วิธีเกณฑ์แรงราษฎรโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. ๑๑๙ และประกาศเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. ๑๒๐ กับกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ ในข้อที่ผู้ทำจะได้รับประโยชน์เองโดยตรงหรือโดยทางอ้อม แต่การที่ทำนั้นอาจเป็นการสร้างขึ้นใหม่ปนกับซ่อมแซมของเก่า จึ่งควรที่รัฐมนตรีจะต้องให้อนุมัติ.
รัฐบาลจะต้องลงทุนค่าเครื่องมือ เครื่องเหล็ก และรถบดถนน ส่วนหินถ้าหาให้ไม่ได้ ก็น่าจะพอเก็บรวบรวมศิลาแลงข้างๆทางมาใช้แทนได้พอ แต่พึงอย่าให้ราษฎรต้องถือศิลาแลงคนละก้อนหรือเอาผ้าห่อขนมา เพราะไม่มีเครื่องมือในการขนนั้นเลย ส่วนไม้ก็เช่นเดียวกัน,
อนึ่ง รัฐบาลจะต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองที่ไปคุมงานคนหนึ่งวันละ ๒๕ สตางค์ และค่าพาหนะอีกบ้างตามสมควร
การสร้างสะพาน จำเป็นยิ่งจะต้องมีผู้ทรงคุณความรู้ไปออกแบบและแนะนำ สะพานบางแห่งมีขนาดยาว บางแห่งเวลาหน้าน้ำทนความปะทะของสิ่งที่พัดมาตามลำน้ำไม่ได้ เพราะไม่ทราบแบบที่เหมาะ สะพานจึ่งชำรุดและต้องซ่อมกันอยู่เสมอ อนึ่งในกาลต่อไปถ้าจะสร้างสะพานขึ้นถาวร ควรให้ทานน้ำหนักรถขนาด ๗ ตันได้ด้วย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อทางการทหารอีกโสดหนึ่ง.
หลักบอกระยะทางและป้ายต่างๆตามถนน ดูยังทำแตกต่างกันอยู่ น่าจะวางระเบียบให้เป็นอย่างเดียวกัน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เดิรทางจริง ๆ เช่น หลักกิโลเม็ตร์ควรเริ่มจากเมืองหนึ่งไปจบยังอีกเมืองหนึ่ง หรือจากต้นสายไปยังปลายสาย ตามทางแยก ตำบลสำคัญ ๆ สะพานใหญ่ควรมีป้ายบอกว่าไปทางไหน. มีนามว่าอย่างไร. พร้วมด้วยบอกระยะทางจากตรงนั้นไปยังตำบลสำคัญๆ ทั้ง ๒ ข้างด้วย.
๒. โทรเลข โทรศัพท์. จำเป็นจะต้องมีติดต่อกันในระหว่างจังหวัดกับอำเภอ เท่าที่ได้ผ่านมา เห็นที่อำเภอบุ่งและอำเภอม่วงสามสิบในเขตต์จังหวัดอุบลราชธานี ไม่มีเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ติดต่อกับจังหวัดได้ นับว่าขัดข้องต่อทางการมากอยู่
ถ้าขาดแคลนในการเงิน จะใช้วิธีขอแรงทางบ้านเมืองให้ช่วยหาเสาและปักเสาให้อย่างที่ทำกันในจังหวัดหนองคายและนครพนมก็ได้ แถบนี้หาได้ดี ๆ ได้ง่ายและใกล้มือ.
๓. ที่ทำการไปรษณีย์มีโทรเลขโดยมากเปิดทำการแต่เวลา ๘ นาฬิกาตามกำหนดทั่วไป ซึ่งเว้นจากศาล แต่ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขประจำจังหวัดอุบลราชธานีเปิดทำการเวลา ๙ นาฬิกาตามกำหนดเดิม และชี้แจงว่ายังมิได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงเป็นที่น่าสงสัยอยู่ ควรสอบสวนและพิจารณาให้ดำเนิรไปโดยสม่ำเสมอกัน.”
จะเห็นชัดว่า พระยาพหลฯ ตระหนักถึงความสำคัญของด้านคมนาคม ซึ่งไม่เพียงแค่การสร้างถนนหนทางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์ โทรเลข และโทรศัพท์ด้วย เนื่องจากตอนที่ท่านเจ้าคุณได้ตรวจราชการในพื้นที่ภาคอีสานนั้น พบว่ามีปัญหาเรื่องการคมนาคมที่ส่งผลกระทบหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของราษฎร ทั้ง ๆ ที่เป็นดินแดนอันเต็มไปด้วยทรัพยากรหรือสินค้าอย่างมากมาย ทว่าการขนส่งเพื่อจะนำทรัพยากรหรือสินค้าเหล่านั้นไปสร้างมูลค่าหรือทำให้แพร่กระจายออกไปในวงกว้างกลับไม่ค่อยสะดวก เพราะเผชิญอุปสรรคเรื่องถนนหนทางที่จะใช้ในการลำเลียง
สอดคล้องกับที่ พระยาพหลฯ เขียนบันทึกในหัวข้อที่ 2 เรื่อง “อาชีพ” ไว้อีกตอนหนึ่งว่า
“พลเมืองในภาคนี้ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยทำนา, เลี้ยงสัตว์, หาของป่า เป็นส่วนใหญ่.
การทำนา คาดกันว่า ถ้าได้ผลโดยปกติ จะมีปริมาณเหลือจากเลี้ยงพลเมืองในท้องที่ได้เกือบ ๑ ใน ๒ ส่วนที่เหลือโดยมากซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในท้องที่ภายในเขตต์มณฑล (อุดร) บ้าง ขายออกไปนอกมณฑลบ้างแต่มีน้อยแห่ง เช่น ที่ขอนแเก่นซึ่งมีทางรถไฟไปถึงแล้ว ที่กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีซึ่งส่งโดยทางเรือไปขายที่อุบลบ้าง, ขายทางฝั่งซ้ายบ้าง แต่เหล่านี้เป็นเพียงแห่งละเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นล่ำสันอันใด.
เมื่อทำได้แล้วไม่มีที่ขาย หรือถ้าจะขายก็ต้องเสียค่าพาหนะบรรทุกแพงไม่คุ้มกัน ราษฎรจึงทำแต่เพียงพอรับประทานเสียโดยมาก อุปสรรคทั้งนี้เกิดแต่ ทางคมนาคม อันเป็นมูลสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง…”
หากพิจารณาตามบันทึกรายงานตรวจราชการทหารทางภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2476 ของ พระยาพหลฯ จะพบว่าพื้นที่ซึ่งท่านเจ้าคุณเล็งเห็นว่ามีปัญหาเรื่องการคมนาคมอย่างมาก นั่นคือในเขตมณฑลอุดร โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงระหว่างขอนแก่นไปยังอุดรธานี เพราะถนนหนทางยังไม่สะดวก และเป็นถนนดินลุ่ม ๆ ดอน ๆ หรือทางเกวียนอยู่ ถึงแม้ช่วงเวลานั้น รัฐบาลได้ตกลงที่จะสร้างทางรถไฟจากขอนแก่นไปยังอุดรธานีแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร การเดินทางของราษฎรก็มิวายต้องลำบากยากเข็ญเช่นเดิม
การเดินทางไปตรวจราชการทางภาคอีสานในขณะที่เป็นรัฐมนตรีผู้บัญชาการทหารบกเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 ทำให้ พระยาพหลฯ ลิ้มรสชาติการเดินทางอย่างทุลักทุเลและสุดแสนทรหด ครั้นท่านเจ้าคุณก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนปีเดียวกันแล้ว ก็พยายามนำความเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคมไปสู่ดินแดนภาคอีสาน โดยเฉพาะการสร้างถนนหนทางระหว่างขอนแก่นไปยังอุดรธานีให้ดียิ่งขึ้น อาณาบริเวณที่รัฐบาลให้ความเอาใจใส่คือ ที่ตำบลดงเสอเพลอ แห่งอำเภอกุมภวาปี ซึ่ง พระยาพหลฯ เคยเดินทางผ่านและมีประสบการณ์ยากลำบากแทบจะลืมไม่ลง
กุมภวาปีขณะนั้นมี พระศุภอรรถวินิจ (เจียก ฤกษะสุต) ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ซึ่งเขาได้เขียนจดหมายลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ส่งถึง พระยาพหลฯ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ความว่า


เอกสารจากนายอำเภอกุมภวาปีถึงนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี
เขียนที่อำเภอกุมภวาปี
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖
กราบเรียน นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี
เดิมกระผมรับราชการเปนนายอำเภอหนองหาน ได้พบใต้ท้าวเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.นี้ คราวไปตรวจราชการมณฑลอุดร ซึ่งเลยไปตรวจราชการที่อำเภอหนองหาร บัดนี้ทางราชการได้ย้ายกระผมมาเปนนายอำเภอกุมภวาปี กระผมมาอยู่ที่อำเภอกุมภวาปี ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ การที่ต้องย้ายนี้ กระผมเข้าใจว่าทางราชการต้องการให้กระผมมาช่วยทำทางรถยนต์ดงเสอเพลอให้เปนการสดวกขึ้น เพราะได้ทราบว่าเมื่อใต้ท้าวผ่านไปได้รับความลำบากมาก ผู้ใหญ่จึงดำริห์ให้กระผมมาอยู่ที่อำเภอกุมภวาปี กระผมได้เห็นแนวทางในตอนดงเสอเพลอแล้ว เป็นการลำบากมากจริง ถ้าจะทำให้เปนการสดวกแล้ว จักต้องเปลืองแรงไม่น้อย เพราะพื้นที่เปนที่ลุ่ม มูลดินไม่แห้งสนิท ถูกน้ำเข้าละลายไปง่ายกว่ามูลดินแห่งอื่น แม้จะถมมูลดินให้สูงก็ทนไม่ได้นาน กระผมคิดว่าเมื่อจะทำให้พอใช้การได้แล้ว ควรจะลงหินลูกรัง เช่นที่ขอนแก่นกับอำเภอน้ำพอง คิดว่าจะได้ลงมือทำในคราวราษฎรเก็บเกี่ยวต้นข้าวแล้วปีนี้ ทางราชการได้อนุญาตเงินให้สำหรับซ่อมทางในดงเสอเพลอนี้ ๑,๐๐๐ บาท แบ่งกับอำเภอหมากแข้งอำเภอละ ๕๐๐ บาท เพื่อให้เปนค่าเบี้ยเลี้ยงผู้ควบคุมและค่าเครื่องมือ กระผมรู้สึกว่าเงินเพียงเท่านี้คงไม่สำเร็จ จำเปนทางราชการจะต้องช่วยแรง คือเกณฑ์ราษฎรทำกันคนละ ๑๐ วัน จึงจะเปนผลสำเร็จตามประสงค์
กระผมขอโอกาศกราบเรียนให้ทราบถึงสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกุมภวาปี เดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านน้ำฆ้องริมทางรถยนต์ บัดนี้ย้ายไปตั้งอยู่ที่ดงเมือง ห่างจากทางรถยนต์ตั้ง ๒๐๐ เส้นเศษ ที่ดงเมืองนี้แต่กาลเรียกว่าดงเยอ จะเปลี่ยนกันโดยเหตุผลอย่างไรไม่ทราบ ที่ดงเมืองนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำปาวด้านตวันตก มีทุ่งล้อมเกือบรอบทิศ ลำน้ำปาวมีสนุ่นทับถมเปนแห่งๆติดต่อกับหนองหาร น้ำในหนองหารไหลซึมใต้สนุ่นเข้ามาตามลำน้ำปาวๆไหลตกลำน้ำชีที่กาฬสินธุ์ ดงเมืองตั้งอยู่ห่างหนองหารระยะทางราว ๑๖๐ เส้น ต่อจากหนองหารมาดงเมืองมีดรแก้วคั่่น แล้วมีทุ่งโล่งรอบดรแก้ว ดงเมืองกับดรแก้วถึงคั่นกันด้วยทุ่งโล่งอีกต่อหนึ่ง ดรแก้วอยู่ติดริมฝั่งหนองหาร ตัวหนองหารกว้างใหญ่ไม่แพ้ที่จังหวัดสกลนคร ณที่ดงเมืองในฤดูฝนมีทางเข้าออกได้ด้านเดียวแต่ด้านทิศใต้ นอกนั้นต้องใช้เรือพายไปมาจึงจะได้ ลำน้ำปาวคดเคี้ยวมากมีหินและแก้งหลายแห่ง เรือไปมาได้แต่ฤดูน้ำถึงลำน้ำชี ฤดูแล้งน้ำขาดเปนห้วงเปนตอน ทางราชการได้มาหักร้างถางพงดงเมือง ตั้งเปนที่ว่าการอำเภอเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๗๑ ครั้นปลาย พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงได้ย้ายสถานที่มาทำราชการที่ดงเมือง ราษฎรมาอยู่อาศัยเพียงเล็กน้อย ยังอีกนานปีจึงจะเปนปึกแผ่น ไม่เหมือนที่อำเภอเก่า ผู้คนพลเมืองหนาแน่น ทั้งใกล้กับทางรถยนต์ด้วย สดวกแก่การงานทุกอย่าง ปีนี้กระผมคิดไว้ว่า จะจองถนนแต่ดงเมืองข้ามทุ่งหนองหาร มาบันจบที่บ้านน้ำฆ้องที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเก่า กว่าจะเสร็จก็เห็นจะนานปี เพราะกำลังแรงที่จะทำจะต้องรวมไปทำที่ดงเสอเพลอก่อน ถือว่าเปนส่วนใหญ่ เมื่อในดงเสอเพลอเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะได้ลงมือในตอนทุ่งต่อไป ตราบใดทางในตอนทุ่งนี้ไม่เสร็จ ทางเข้าออกไปยังที่ว่าการอำเภอกุมภวาปี ก็หาความสดวกมิได้ทุกฤดูกาล แต่กระผมจะพยายามที่สุดที่จะให้เปนการสดวกจนได้
อนึ่งเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งเปนวันเลือกตั้งผู้แทนตำบล กระผมได้ออกไปเปนประธานดูแลการเลือกตั้งด้วยตนเองสายหนึ่ง ให้ปลัดขวาออกไปอีกสายหนึ่ง เพราะท้องที่กว้างขวาง เกรงจะไม่รวดเร็วทันกำหนด จึงต้องแบ่งเปน ๒ สาย สายที่กระผมออกไปเปนผู้แทนนี้ กระผมได้นำเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงไปด้วย ถึงเวลาได้เปิดรับให้ราษฎรที่มาประชุมเลือกตั้งผู้แทนตำบลฟังทั่วกัน พอถึงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.นี้ ซึ่งเปนวันเลือกตั้งผู้แทนตำบลตูมใต้ ได้ยินคำแถลงการณ์ของรัฐบาลประกาศเรื่องมีผู้คิดการขบถต่อรัฐบาลๆจะทำการปราบขบถให้เป็นการราบคาบ ราษฎรทั้งหลายที่มาฟังแล้ว ได้พากันมีความตื่นเต้นตกใจบ้างโดยไม่ทราบเหตุผล กระผมได้พยายามชี้แจงเหตุผลและความเปนไปของรัฐบาลให้ทราบ และถึงความจำเปน ที่รัฐบาลต้องจัดการปราบปรามขบถ ทั้งปลุกใจให้ราษฎรมีความรักชาติ รักรัฐธรรมนูญ รักพระมหากษัตริย์ รักศาสนา กับมิให้พากันมีความตื่นเต้นตกใจ ให้ตั้งใจพร้อมกันช่วยรัฐบาลปราบปรามขบถให้ราบคาบลง ราษฎรที่ได้ฟังวิทยุกระจายเสียงเข้าใจกันดีแล้ว ก็คลายความหวาดกลัวตื่นเต้นลงเปนอันมาก ทุกๆหมู่บ้านตำบลที่กระผมผ่านไป กระผมได้พยายามชี้แจงให้ฟังทุกแห่ง สังเกตดูราษฎรไม่สู้จะมีความตื่นเต้นมากมายนัก เสร็จจากการเลือกผู้แทนตำบลแล้ว กระผมกลับเข้ามายังอำเภอ ก็ได้ตั้งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง ให้ราษฎรฟังทั่วๆกันอีก มีราษฎรหลายหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอ เข้ามาฟังกันเปนอันมาก ทั้งหญิงทั้งชายลูกเล็กเด็กอ่อน กระผมเองได้คอยพยายามชี้แจงแนะนำให้ทราบและเข้าใจในคำแถลงการณ์ของรัฐบาล เสมอทุกๆวัน
ต่อมาได้ทราบว่ากองทหารที่จังหวัดอุดรธานีจะเดินทางเคลื่อนกองไปปราบปรามขบถที่จังหวัดขอนแก่น กระผมได้สั่งเกณฑ์ราษฎรหลายตำบลออกช่วยกันซ่อมแซมทางรถยนต์ในฤดูฝน ทั้งกลางวันกลางคืน ตั้งแต่ต่อเขตต์อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานีไปจนต่อเขตต์อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้รถยนต์ที่บันทุกทหารไปมาได้สดวกรวดเร็ว, ตั้งเจ้าพนักงานควบคุมราษฎรเปนตอนๆ และให้คอยช่วยเหลือกองทหารให้ได้รับความสดวกตลอดเขตต์อำเภอกุมภวาปี กับให้มีพนักงานประจำอยู่ที่บ้านน้ำฆ้องที่ตั้งอำเภอกุมภวาปีเก่า ๑ แห่ง เพื่อทำความติดต่อกับหน่วยทหารที่ผ่านไป สิ่งใดเปนการขัดข้องให้ช่วยเหลือโดยทันที ราษฎรทั้งหลายที่ถูกเกณฑ์มาซ่อมแซมทางรถยนต์ และกรมการอำเภอเจ้าพนักงาน มิได้มีการท้อถอยหรือย่อท้อต่อการกระทำเลย ยินดีช่วยกันสละแรงทำการทั้งกลางวันกลางคืน จนเปนที่สดวกเรียบร้อยดี พอได้ข่าวกลับแห่งกองทหารที่ผ่านไป ประจวบกับฝนตกหนัก ๓ วัน ๓ คืน ทางรถยนต์ที่ซ่อมไว้แล้วกลับชำรุดทรุดโทรมอีกบางตอน ที่ตอนไหนไม่มากเท่ากับตอนในดง เสอเพลอ รถยนต์บันทุกทหารกลับต้องใช้แรงคนรุนส่งจึงไปได้สดวก กระผมได้ให้ปลัดอำเภอนายหนึ่ง ออกไปจัดการซ่อมแซม ทั้งตัวกระผมก็ได้ไปเห็นด้วยตนเอง หมดหนทางที่จะซ่อมให้ทันการด้วย จึงต้องเรียกเกณฑ์ขอแรงเอาราษฎรมาคอยช่วยรุนรถยนต์ส่งไปจนสุดเขตต์ บางคันต้องให้ทหารลงจากรถยนต์เดินไปขึ้นรถยนต์ต่อทางเขตต์อำเภอหมากแข้ง ส่วนนายทหารก็จัดหาม้าให้ขี่ไปจนถึงรถยนต์ที่มารับต่ออีกทีหนึ่ง กระทำเช่นนี้อยู่จนหน่วยทหารผ่านไปหมดแล้วจึงเลิกกัน ส่วนที่บ้านน้ำฆ้องที่ตั้งอำเภอเก่า ในเมื่อหน่วยทหารผ่านมานี้ ราษฎรพากันมีความปีติยินดี จัดข้าวห่อมาไว้คอยต้อนรับแจกให้ทหารที่กลับหลายเวลา สังเกตเห็นได้ว่าราษฎรทั้งหลายปลาบปลื้มยินดียิ่ง ในการที่รัฐบาลจัดการปราบปรามขบถให้พ่ายแพ้ไป โดยมิได้ให้ความหวาดกลัวแก่พวกเขาให้เปนการเดือดร้อนลำบาก กระผมเองก็มีความยินดีหาที่สุดไม่ได้ ในระวางที่มีการรุกรบกันอยู่ กระผมถึงกับนอนไม่หลับด้วยความเปนห่วง อุส่าห์สวดมนต์ภาวะนาเอาใจช่วย ให้ฝ่ายรัฐบาลได้ไชยชำนะทุกวันคืน พร่ำให้ทหารของรัฐบาลปราบปรามขบถให้พ่ายแพ้ไปโดยเร็ว เพื่อประชาราษฎร์จะได้อยู่เย็นเปนสุขทั่วกัน กระผมได้พยายามสังเกตความเปนไปของข้าราชการในอำเภอกุมภวาปีตลอดจนพ่อค้าราษฎร ต่างแสดงน้ำใจให้เห็นว่าเปนผู้เอาใจช่วยทหารรัฐบาลเปนใจเดียวกันที่สุด พฤติการณ์ทั้งนี้กระผมได้รายงานเสนอผู้บังคับบัญชาเปนทางราชการส่วนหนึ่งแล้ว ที่กราบเรียนมาทั้งนี้เปนการเคารพใต้ท้าวเปนการส่วนตัว
อนึ่งกระผมได้ยินกรรมกรก่อสร้างทางรถไฟสายขอนแก่น-อุดร ที่กำลังทำอยู่ท้องที่อำเภอกุมภวาปี พูดลือกันว่า การสร้างทางรถไฟที่กำลังทำกันอยู่นี้ กลัวว่าทางราชการจะสั่งหยุดเสียชั่วคราว เนื่องจากว่ารัฐบาลทำการปราบปรามขบถคราวนี้ ต้องใช้จ่ายเงินสิ้นเปลืองไปมาก วิตกว่าการก่อสร้างทางรถไฟจะต้องชะงักไว้ จนกว่าจะมีรายได้อื่นทดแทน จึงจะจัดทำต่อไป ตามข่าวลือนี้กระผมได้ชี้แจงให้พวกกรรมกร ในท้องที่อำเภอกุมภวาปีทราบทั่วกันว่า คงจะไม่เปนไปได้ เพราะการสร้างทางรถไฟสายนี้ รัฐบาลลงทุนทำด้วยเงินกู้จากราษฎร ไม่ใช่เงินในงบประมาณแผ่นดิน และทั้งเปิดโอกาศให้ราษฎรที่เปนกรรมกร ได้มีงานทำทั่วกัน ฉนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งมือทำให้แล้วเร็วที่สุดที่จะเปนได้ สังเกตดูกรรมกรที่ได้ฟังคำชี้แจงของกระผมแล้ว พากันคลายความวิตกที่ว่าจะไร้งานทำลงไปบ้าง
ในที่สุดนี้ เพื่อการภักดีต่อใต้ท้าว ซึ่งกระผมได้เห็นนายดาบอิน ไชยวงษ์ บุตร์เขยของกระผม ยังได้รูปถ่ายของใต้ท้าวไว้เปนที่สักการะเคารพรูปหนึ่ง กระผมเปนผู้หมั้นในความภักดีต่อใต้ท้าวผู้หนึ่งเหมือนกัน หากไม่เปนการรบกวนใต้ท้าวเกินไปแล้ว กระผมอยากได้รูปถ่ายของใต้ท้าวไว้เปนที่ระฤกสักรูปหนึ่ง
ควรมิควรแล้วแต่ก็จะโปรด”
ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือตอบกลับมายังนายอำเภอกุมภวาปีว่า “เรื่องได้ย้ายไปเป็นนายอำเภอกุมภวาปี และได้ทำทางที่ดงเสอเพลอ กับขอรูปถ่ายมานั้น ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว มีบัญชาว่า สำหรับรูปถ่ายนั้นจะได้ส่งมาให้ท่านภายหลัง และขอให้ท่านสร้างถนนทางดงเสอเพลอให้ค่อยยังชั่วสักหน่อยด้วย”
กุมภวาปีนับเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ ช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มคนจากหลายท้องที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำหนองหาน ซึ่งมีปลาชุกชุม ชาวบ้านยึดอาชีพจับปลาน้ำจืด และปั้นหม้อดินเผา ละแวกย่านนี้จึงเรียกขานกันว่า “บ้านบึงหม้อ”
ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระวรฤทธิฤาไชย ผู้ครองเมืองได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานตราตั้งชื่อเมืองว่า “กุมภวาปี” เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและตามที่คนเรียกขานกัน ซึ่งมาจากคำว่า “กุมภะ” แปลว่า หม้อ และ “วาปี” แปลว่า หนองหรือบึง
ล่วงมาถึง พ.ศ. 2440 ทางกระทรวงมหาดไทยได้รวมเมืองกุมภวาปี หนองหาน หนองบัวลำภู และบ้านหมากแข้งก่อตั้งขึ้นเป็นจังหวัดอุดรธานี ทำให้กุมภวาปีมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่ออุดรธานี โดยตั้งที่ว่าการอำเภอกุมภวาปีอยู่บริเวณบ้านน้ำฆ้อง ตำบลพันดอน พระประสิทธิสรรพกร (บุปผา สีหะไตร) เป็นนายอำเภอคนแรกสุด
คราวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาตรวจราชการมณฑลอุดรและมณฑลอีสาน เมื่อ พ.ศ. 2463 ก็เขียนถึงกุมภวาปีว่า “…ข้ามห้วยอ้ายเต้นถึงเขตรเมืองกุมภวาปี เมืองนี้ยกเอาบ้านบึงหม้อ ตั้งขึ้นเปนเมือง เมื่อรัชกาลที่ 5 พระวรฤทธิฤาไชยผู้ว่าราชการเมืองกุมภวาปี มารับ…” อีกทั้งยังไปเยือนหนองหาน และบันทึกว่า “…หนองหารนี้มีชื่อเสียงมาในพงศาวดารเป็นบึงใหญ่กว้างมาก มีชาวบ้านตั้งหาปลาอยู่โดยรอบ ทางเดินรอบหนองหารประมาณสองวัน มีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว ระยะทางห่างจากเมืองกุมภวาปี 200 เส้น มีเกาะในหนองหาน เรียกกันว่า “เกาะดอนแก้ว” มีหมู่บ้านและวัดบนเกาะนั้นด้วย น้ำหนองหารที่ไหลลงปาวไปตกลำพาชี เมืองกุมภวาปีมีราษฎรอยู่ประมาณ 6,000 คน มีชาวเมืองนครราชสีมา มาตั้งทำมาค้าขายอยู่หลายครัว…”
ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2468-2472 หลวงนิคมพรรณาเขต (เขียน สีหะอำไพ) นายอำเภอคนที่ เก้าได้ย้ายที่ว่าการอำเภอกุมภวาปีจากบ้านน้ำฆ้องมาตั้งที่บ้านดงเมือง ตำบลตูมใต้ ด้วยเหตุผลคือ ที่ตั้งเมืองเก่าเป็นที่ลุ่ม ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ส่วนที่ตั้งเมืองใหม่ น้ำท่วมไม่ถึง ประกอบกับตั้งอยู่ริมน้ำปาว มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดปี เป็นศูนย์กลางของทุกตำบล เหมาะแก่การขยายชุมชนใหม่ในอนาคต และสามารถรองรับกับทางรถไฟสายใหม่ ที่แยกจากเส้นทางอุดรธานีผ่านบ้านดงเมือง สู่สกลนครและนครพนม
อย่างไรก็ดี การย้ายที่ว่าการอำเภอดังกล่าวมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยของนายอำเภอคนที่ 10 คือ หลวงพินัยทัณฑสิต (ยิ้ม ปาณทึก)
พระศุภอรรถวินิจ คือนายอำเภอกุมภวาปีคนที่ 11 เป็นบุตรชายของนายฤกษ์ ขณะที่เป็นนายอำเภอหมากแข้ง ได้ขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งก็ได้รับนามสกุลพระราชทานว่า "ฤกษะสุต" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ช่วงต้นทศวรรษ 2470 เคยเป็นนายอำเภอหมากแข้ง ก่อนจะถูกย้ายมาเป็นนายอำเภอหนองหานเมื่อกลางปี พ.ศ. 2472 กระทั่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จึงถูกย้ายมาเป็นนายอำเภอกุมภวาปีแทนหลวงพินัยทัณฑสิต
การเดินทางไปเยี่ยมเยือนถิ่นแคว้นแดนอีสานของพระยาพหลพลพยุหเสนา ใน พ.ศ. 2476 สะท้อนถึงความเอาใจใส่และห่วงใยประชาชนของหัวหน้าคณะราษฎร อีกทั้งยังพยายามทำความเข้าใจสภาพความเป็นไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วบันทึกรายละเอียด รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นในการที่จะจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ส่วนจดหมายของ พระศุภอรรถวินิจ ก็สะท้อนให้เห็นบรรยากาศของภาคอีสานในช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังจะเห็นการเอ่ยถึงสถานการณ์ปราบปรามกบฏบวรเดช ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 และการเลือกตั้งผู้แทนตำบล เพื่อที่ผู้แทนตำบลจะได้ไปเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาวิเคราะห์ยิ่งนัก
หมายเหตุ:
- คงอักขรและการสะกดตามหลักฐานชั้นต้น และต้นฉบับของนักเขียน
เอกสารอ้างอิง:
- หจช. มท.0601.4.5/3 บันทึกรายงานการตรวจราชการทหารทางภาคอิสาณ พ.ศ. 2476 ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐมนตรีผู้บัญชาการทหารบก (6 มิ.ย. 2476).
- หจช.สร. 0201.8/41 พระศุภอัถถ์วินิจ (พ.ศ. 2476).
- "ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ 74" ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 34 (3 กุมภาพันธ์ 2460). หน้า 3226-3244.
- "ให้ปลดข้าราชการชั้นนายอำเภอ และให้ตั้งย้ายเปลี่ยนราชการแทนกัน" ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 46 (สิงหาคม 2472). หน้า 1723-1728.